วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

รำโทน

ภาค    ภาคกลาง
จังหวัด  ลพบุรี

  • อุปกรณ์การเล่นและวิธีการเล่น

อุปกรณ์การเล่น
โทน เครื่องดนตรี เดิมใช้ "โทน" ตีให้จังหวะ "ป๊ะ โท่น ป๊ะ โท่น ป๊ะ โท่น โท่น" หรือ "ป๊ะ โท่น โท่น ป๊ะ โท่น โท่น" ใช้โทนใบเดียวหรือหลายใบก็ได้ ต่อมานิยมใช้ "รำมะนา" แทนเพราะเสียงดังไพเราะและเร้าใจดีกว่า อาจใช้อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ถังน้ำมันตีให้จังหวะแทนก็ได้ นอกจากนี้อาจจะใช้ฉิ่งตีให้จังหวะได้อีกด้วย

วิธีการเล่น
ผู้เล่นชายจะโค้งชวนหญิงออกมารำเป็นคู่ ๆ ช่วยกันร้องรำตามกันไปเป็นวง นักดนตรีก็ตีโทนให้จังหวะเร้าใจ เพลงหนึ่งๆ จะร้องซ้ำ ๓-๔ เที่ยวก็จะเปลี่ยนเพลงต่อไป การรำไม่มีท่ารำแน่นอนตายตัวมักเป็นการใส่ท่าตามเนื้อร้อง ใครต้องการรำคู่กับใครก็เปลี่ยนคู่รำกันตามใจ เด็กๆ หรือผู้มาดูก็ยืนล้อมวง อาจช่วยปรบมือและร้องตามไปด้วยอย่างสนุกสนาน ผู้เล่นรำโทนแต่งกายสวยงามตามสบายตามสมัย ไม่มีระเบียบแบบแผนอะไรแน่นอนตายตัว

  • โอกาสที่เล่น

การเล่นรำโทน ไม่มีโอกาสที่แน่นอน ชาวบ้านนึกอยากจะเล่นเมื่อใดก็ชวนกันมาเล่นที่ลานบ้านคนใดคนหนึ่ง จะเล่นตอนกลางคืนเท่านั้นมักเริ่มเล่นตอนหัวค่ำ เล่นกันไปเรื่อยๆ จนไม่มีคนเล่นหรือง่วงนอนกันมากแล้วก็จะเลิกเล่น แยกย้ายกันกลับบ้านของตน

  • คุณค่า

รำโทนเป็นการละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่งของชาวบ้านเมืองลพบุรี นิยมเล่นกันแพร่หลายในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๘ หรือในช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังสงครามเลิกความนิยมเล่นรำโทนลดลงตามลำดับ ส่วนหนึ่งพัฒนาไปเป็นการละเล่น "รำวง" และ "รำวงมาตรฐาน" เหตุที่เรียกชื่อว่ารำโทน เพราะเดิมเป็นการรำประกอบจังหวะการตี "โทน" ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีหลักในการเล่น ภายหลังแม้ใช้เครื่องดนตรีอื่น เช่น รำมะนา ตีให้จังหวะแทนก็ยังเรียกชื่อเช่นเดิม หนุ่มสาวสมัยก่อนเล่นรำโทนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง เพื่อพักผ่อนหย่อนใจยามเหงาหรือยามสงครามที่ค่ำลงก็ไม่มีอะไรจะทำกัน เป็นการเพิ่มชีวิตชีวาให้กับชีวิตที่ต้องเสี่ยงภัยในยามศึกสงคราม
เพลงที่ใช้ร้องมักเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องง่ายๆ เป็นเพลงสั้นๆ ไม่มีชื่อเพลงเฉพาะ มักเรียกชื่อตามวรรคแรกของเนื้อร้อง ไม่บอกชื่อผู้แต่งใครอยากแต่งขึ้นมาใหม่ก็ได้ จำกันร้องตามกันต่อๆ มา เนื้อร้องมักเป็นการเกี้ยวพาราสี ปลุกใจหรือสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่หรือมาจากวรรณคดีไทย เช่น เพลงลพบุรีของเรานี่เอ๋ย เจ็ดนาฬิกา ใครรักใครโค้งใคร เชื่อผู้นำของชาติ ศิลปากร ฯลฯ