วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
11/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

การกระโดดเชือก

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  พังงา

  • อุปกรณ์และวิธีการเล่น

เป็นการเล่นที่หัดให้ผู้เล่นใช้กำลังแขน กำลังขา เป็นคนตาไว และคล่องแคล่ว เครื่องใช้ในการเล่น คือ เชือกเส้นหนึ่งขนาดโตเท่าปลายนิ้วก้อยยาววาศอก ถ้ากระโดดมากคนด้วยกันต้องยาวประมาณ ๔-๕ วา

วิธีเล่น
วิธีที่ ๑ สำหรับผู้เล่นคนเดียว ให้ผู้เล่นถือเชือกด้วยมือทั้งสองข้าง งอศอกเล็กน้อยให้กลางเชือกห้อยอยู่ข้างหลัง แล้วแกว่งเชือกให้เร็วขึ้นทุกที จนแทบแลไม่เห็นเส้นเชือกจึงจะสนุก
วิธีที่ ๒ วิธีนี้ต้องใช้เชือกให้ยาวสักหน่อย ให้ผู้เล่นสองคนจับปลายเชือกด้วยมือทั้งสอง เชือกจะแกว่งลงพื้นข้างหนึ่ง และขึ้นอีกข้างหนึ่งผู้เล่นนอกนั้นยืนอยู่ห่างๆ ทางด้านที่เชือกลงพื้นพอเห็นเชือกแกว่งดีแล้วก็ให้คนวิ่งเข้าไป ระวังอย่าให้ติดเชือก และยืนระหว่างกลางคนแกว่งเชือกทั้งสอง คอยกระโดดขึ้นเมื่อเชือกฟาดลงพื้นเพื่อให้เชือกลอดไป ต้องหมายตาคอยดูให้ดี พอกระโดดได้สักสิบครั้ง ก็วิ่งออกไปอีกด้านหนึ่ง แล้วคนที่สองจึงวิ่งไปกระโดดบ้าง ให้ผู้เล่นวิ่งทยอยเข้าไปกระโดด เช่นนี้จนครบผู้เล่นทุกคนจะต้องผลัดกันแกว่งเชือก และต้องแกว่งให้ดี คือให้เชือกตกลงเฉียดพื้นพอดี และเวลาเชือกแกว่งขึ้นก็ให้ข้ามศีรษะคนกระโดดไปได้ อย่าให้ฟาดถูกตัวเข้า ผู้เล่นต้องฝึกหัดแกว่งเชือกให้เป็นเสียก่อนทุกคน และให้ผู้เล่นผลัดกันแกว่งในเวลาเล่น เพื่อมิให้คนแกว่งประจำอยู่จนเมื่อยแขนเกินไป เมื่อกระโดดได้ชำนาญแล้ว จึงเปลี่ยนวิธีเล่นให้ยาวขึ้น ดังนี้
๑. ให้ผู้เล่นวิ่งไปทางเชือกที่แกว่งขึ้น
๒. ให้ยืนเท้าเดียวเวลากระโดด จะเปลี่ยนเท้าบ้างก็ได้แต่ต้องระวังมิให้เท้าถึงพื้นดินพร้อมกันทั้งสองข้าง
๓. แกว่งเชือกอย่าให้ถึงพื้น กะดูให้สูงกว่าพื้นหนึ่งคืบ เพื่อให้ผู้กระโดด กระโดดสูงขึ้นและกระโดดได้ยากเข้า
๔. แกว่งเชือกตามธรรมดา และให้ผู้เล่นวิ่งเข้าไปกระโดดพร้อมๆ กัน ราวครั้งละ ๑๐ คน
นอกจากนี้ ยังมีการดัดแปลงเป็นการกระโดดเชือกถือเชือกในระดับที่แตกต่างกันไป เพื่อให้ผู้เล่นเข้าตามที่กำหนดท่าต่างๆ ไว้

  • โอกาสหรือเวลาที่เล่น

เล่นได้ทุกโอกาสไม่จำกัดเวลา

  • คุณค่า/แนวคิด/สาระ

เป็นการฝึกกล้ามเนื้อและความว่องไว