วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
12/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ดนตรีร็องเง็ง

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  ยะลา

  • อุปกรณ์การละเล่น

เครื่องดนตรีรองเง็งประกอบด้วยไวโอลิน แอคโคเดียน แมนโดลิน รำมะนา ฆ้อง ปัจจุบันได้มีการประยุกต์ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านชิ้นอื่นเข้าผสม คือใช้กลองบานอ และกลองกรือโต๊ะแทนฆ้อง

  • วิธีเล่น

รองเง็งตามปกติใช้บรรเลงประกอบการแสดงรองเง็ง แต่ในปัจจุบันโอกาสที่จะแสดงร็องเง็งมีไม่มากนักประกอบทั้งผู้เต้นร็องเง็ง ในปัจจุบันก็ไม่ค่อยมี แต่ดนตรีร็องเง็งยังพอมีอยู่ ใช้แสดงในงานมงคลต่าง ๆ เพลงที่เล่นประกอบด้วยเพลงพื้นฐานของการเต้นร็องเง็ง เพลงภาษามลายูทั่วไป เพลงไทย สากลที่กำลังเป็นที่นิยม เพลงเต้นซำเป็ง แม้กระทั่งเพลงไทยเดิม
เพลงพื้นฐานของการเต้นร็องเง็ง มีชื่อต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เช่น เพลงเลนัง เพลงปูโจ๊ะปีซัง เพลงเมาะอินังชวา เพลงจินตาซายัง เพลงเมาะอินังลามา เพลงอาเนาะดีดิ๊ เพลงบุหงารำไป เพลงมาศแมเราะห์ เพลงซำเป็ง เพลงโยเก็ตร็องเง็ง เพลงซำมาริซำ เพลงบุราคำเปา เพลงแกแนะอูแด เป็นต้น

  • โอกาสที่เล่น

ตามปกติดนตรีรองเง็งบรรเลงประกอบการเต้นรองเง็ง แต่ปัจจุบันนิยมบรรเลงในงานมงคลทั่ว ๆ ไป

  • คุณค่า

ดนตรีร็องเง็งประกอบด้วยเครื่องดนตรีหลายอย่างเช่น เครื่องบรรเลงทำนองจากยุโรป เครื่องกำกับจังหวะ (ฆ้อง) จากเอเซีย เครื่องประกอบจังหวะ (รำมะนา บานอ กรือโต๊ะ) อันเป็นดนตรีพื้นบ้าน และยังแทรกด้วยดนตรีไทยบางชิ้น แสดงถึงว่าในโลกของดนตรี มีการผสมผสานโดยไม่มีอุปสรรคทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือวัฒนธรรม เป็นศิลปะที่มีคุณค่าทางด้านจิตใจเป็นอย่างยิ่ง