วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
12/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

บูสุ

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  สตูล

  • อุปกรณ์และวิธีการเล่น

อุปกรณ์ เช่น ลูกฟุตบอลเล็ก ก้อนอิฐ หรือไม้ขนาดพอสมควร สำหรับวางเพื่อทอยลูกบอลเล็กให้สัมผัส ผู้เล่นไม่จำกัดเพศ วัย จำนวนต้องเหมาะสมกับสถานที่

  • วิธีเล่น

แบ่งผู้เล่นเป็น ๒ ฝ่าย ๆ ละ เท่า ๆ กัน จับฉลากว่าฝ่ายใดเล่นก่อน อีกฝ่ายหนึ่งตั้งรับ เล่นจากท่าที่ ๑ - ๑๐ (แต่ละท่ามีชื่อต่างกันเล่นทีละคน ตีบอลตามขั้นตอนของการเล่นจนหมด ถ้าผู้ใดตีบอลไปแล้วผู้เล่นฝ่ายรับ รับไม่ได้ ลูกบอลตีไปไกลเพียงใด เอาจุดที่ลูกบอลตก เป็นจุดเริ่มต้น ทอยลูกบอลไปหาเสาหลัก (ก้อนอิฐ หรือ ไม้) การวางหลักตั้งขีดเส้นด้านหน้าหลัก ๑ เส้น เพื่อให้ผู้เล่นตีบอลให้พ้นเส้นคือว่าผ่าน มีสิทธิตีลูกบอลต่อไป ในแต่ละท่า ให้ตี ๓ ครั้ง จึงได้ ๑ คะแนน หากฝ่ายรับทอยลูกไม่ถูกหลัก ถือว่าผู้เล่นนั้นตายเหมือนกัน และฝ่ายเล่นก็จะเล่นท่าต่อไป หากฝ่ายเล่นตีลูกตายทุกคน ก็จะเปลี่ยนข้าง ฝ่ายรับจะเป็นผู้เล่นต่อไป สลับกันเลื่อย ๆ จนเหนื่อย และหยุดไปเอง ผู้เล่น เล่นท่าที่ ๑ ถึง ๑๐ ได้ก่อนก็จะชนะ
ท่าบูสุมี ๑๐ ท่า
๑. ลูกบูสุ ๒. ลูกมือเดียว ๓. ลูกสองมือ ๔. ลูกตบอก ๕. ลูกซีกู
๖. ลูกคีดแขน ๗. ลูกตบเพียะ ๘. ลูกเท้าเอว ๙. ลูกกังกัง ๑๐. ลูกเซปะ

  • โอกาสหรือเวลาที่เล่น

ยามว่าง หรือยามบ่าย ๆ หรือเวลาที่เหมาะสมในการพักผ่อน

  • คุณค่าและแนวคิด

บูสุเป็นการละเล่นพื้นเมืองชนิดหนึ่งของจังหวัดสตูล จุดมุ่งหมายเพื่อความสนุกสนานสมานสามัคคีฝึกให้เป็นผู้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา สอนให้ผู้เล่นรู้จักการผ่อนปรน การใช้ทักษะ ความสามารถ สร้างเสริมปัญญา และความสมบูรณ์ของร่างกาย รู้จักทางหนีที่ไล่ รู้แพ้รู้ชนะ