วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
12/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

การเส็งกลอง

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  กาฬสินธุ์

อุปกรณ์
๑. กลองเส็ง หรือกลองกิ่ง ๑ คู่ (๒ ใบ)
๒. ไม้ตีกลอง มีความยาว ๗๐ ซม.

  • วิธีการเล่น

การเส็งกลองนิยมตีกันเป็นคู่ๆ แต่ละคู่จะต้องตีกลอง ๒ ใบ เจ้าของกลองจะต้องตรึงหน้ากลอง ให้ตึงที่สุด โดยการหมุน (ขัน) หนังชักกลองเข้าที่จะค่อยๆปรับระดับเสียงกลองแต่ละคู่ให้มีเสียงเดียวกัน (ภาษากลองเรียกว่า "เค่งกลอง") นำกลองที่เตรียมมาดีแล้วเข้าประกบคู่บนเวที หันหน้ารูแพกลองเฉียงเข้าหาคู่แข่งขันไปสู่ผู้ฟัง การตีกลองแข่งขันตีกันฝ่ายละ ๕ คน คนละ ๑ ยกๆละประมาณ ๒ นาที การตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาจากเสียงกลอง คู่ที่ชนะต้องมีเสียงใสแหลม สูง และต้องตีให้ชนะ ๓ ใน ๕ ยก กลองต้องไม่ขาดจึงจะถือว่าชนะ

  • โอกาส และเวลาที่เล่น

การเล่นกลองกิ่ง หรือกลองเส็งไม่มีใครทราบว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่จะนำมาใช้แห่ในบุญเดือน หก (บุญบั้งไฟ) เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน เสร็จแล้วจะมีการเส็งกลอง คือแข่งขันตีกลองอย่างสนุกสนาน ในปัจจุบันจังหวัดกาฬสินธุ์จะมีการเส็งกลองกัน (ตีกลองกิ่งแข่งขัน) จึงเรียกตามภาษาชาวบ้านว่า "การเส็งกลอง"

  • คุณค่า / สาระ

ชาวบ้านโคกล่าม อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ นิยมการละเล่น สนุกสนานเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน เสียงเร้าใจ เกิดความสามัคคี กลมเกลียวกันในกลุ่มแต่ละหมู่บ้าน และเป็นการแสดงออกถึงความสามารถ ภูมิปัญญาในการจัดทำอุปกรณ์การเล่นเอง

ลักษณะของกลองกิ่ง
เป็นกลองที่ทำมาจากไม้ประดู่แดงทรงกระบอกกลวง ด้านหน้ากลองยาว ๔๐ ซม. ด้านล่างกลอง (ก้นกลอง) กว้าง ๓๐ ซม. สูงประมาณเท่าครึ่งของความกว้างหน้ากลอง หุ้มด้วยแผ่นหนังทั้งด้านหน้าและแผ่นหลัง ดึงเข้าหากันโดยหนังที่เรียกว่า หนังชัก และหนังหูกลองข้างกลอง ห่างจากหน้ากลองประมาณ ๒๐ ซม. เจาะเป็นรู สี่เหลี่ยมขนาด ๑๐ x ๑๕ ซม. เรียกว่า "รูแพ" เพื่อเป็นการระบายเสียงขณะตี ข้างในกลองเหนือรูแพจะเป็นปุ่มเรียกว่าลิ้นกลอง เพื่อทำหน้าที่ปรับระดับเสียงของกลอง (เหมือนลิ้นแคน)

การขุดกลอง ก่อนจะลงมือขุดกลอง ช่างต้องเลือกต้นไม้ ไม้ที่นิยมทำกลองได้แก่ไม้ประดู่แดง ต้องเลือกต้นที่มีลักษณะของเซลล์ไม้ตรง ไม่คู้ หรือมีตา มีเส้นผ่าศูนย์กลางของแก่นไม้ประมาณ ๕๐ ซม. สูงประมาณ ๑ เมตร จำนวน ๒ ท่อน ไม้ชนิดอื่นก็ทำได้ แต่ไม่นิยม อาจเป็นเพราะขุดยากเมื่อทำเป็นกลองแล้วเวลาตีไม่ค่อยดัง และไม่แข็งแรง เครื่องมือที่ใช้ขุดกลองได้แก่ ขวาน สิ่ว สว่าน แชลง กบ และ "ง่อง" โดยการขุดตรงกลางไม้ให้กลวงเป็นโพรง มีความหนา บาง ตามความต้องการของช่าง

การทำหนังหน้ากลอง ในสมัยก่อนนิยมทำมาจากหนังโค ปัจจุบันนิยมใช้หนังกระบือเพราะจะเหนียว และทนกว่า โดยเลือกหนังกระบือที่มีอายุระหว่าง ๕-๑๐ ปี และไม่อ้วนเกินไป กระบือ ๑ ตัวจะทำหนังหน้ากลองได้ สองหน้า ส่วนที่เหลือจะใช้ทำหนังก้นกลอง หนังหูกลอง และหนังชัก ก่อนจะนำหนังกระบือไปหุ้มหน้ากลอง ต้องผึ่งแดดให้แห้ง แล้วนำมาขูดโดยใช้มีดที่คมมาก ให้บางจนเป็นที่พอใจ (ยิ่งบางกลองยิ่งมีเสียงดัง)

ไม้ตีกลอง นิยมมาจากไม้เค็ง เพราะจะมีคุณสมบัติที่เหนียวทนทาน เวลาตีน้ำหนักดี มีความยาวประมาณ ๗๐ ซม. เหลาให้กลม ปลายไม้เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ ซม. ตรงโคนไม้บริเวณมือจับพันด้วยผ้าให้พอดีเวลาตีแข่งขัน