วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

เพลงโคราช

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  นครราชสีมา

  • อุปกรณ์และวิธีการเล่น

เล่นบนโรงเพลงขนาด ๓x๓ เมตร หมอเพลงชาย ๒ คน หญิง ๒ คน นุ่งผ้าโจงกระเบน หญิงสวมเสื้อรัดรูป ชายสวมเสื้อคอกลมหรือเสื้อเชิ้ต มีผ้าขาวม้าคาดพุง หมอเพลงจะเริ่มลงโรงว่าเพลงตั้งแต่ ๒๑.๐๐ น. ไปจนถึง ๐๖.๐๐ น. ของวันใหม่ เริ่มจากพิธีการไหว้ครูแล้วหมอเพลงผู้ชายลงโรงก่อนร้องเพลงเกริ่น บอกให้รู้ถึงเหตุที่จัดให้มีการเล่นเพลงขึ้นเพื่ออะไร งานอะไร ใครเป็นเจ้าภาพ ให้ผู้ฟังทราบและมักจะมีการขออภัยผู้ชมหากการแสดงบกพร่อง จากนั้นจะร้องเชิญฝ่ายหญิงให้มาว่าเพลงกับตน เมื่อฝ่ายหญิงลงโรงแล้วจะร้องแก้ว่าที่ลงมาช้าเพราะเป็นผู้หญิงต้องแต่งกาย ให้สวยงาม จากนั้นก็ดำเนินการว่าเพลง เริ่มตั้งแต่เพลงถามข่าว เป็นการถามถึงชื่อบ้านเกิด การทำมาหากินของกันละกัน แล้วร้องเพลงเปรียบแล้วว่าเพลงไหว้ครู เพื่อระลึกถึงครูอาจารย์ คุณพระรัตนตรัย และพญามารที่จะมาขัดขวางการว่าเพลง แล้วว่าเพลงปรึกษากันว่าจะเริ่มเล่นเรื่องอะไรก่อนดี จากนั้นว่าเพลงเกี้ยวเป็นการเกี้ยวพาราสีกันเมื่อชอบพอกันแล้วก็ชวนกันหนี หรือชวนไปชมนกชมไม้ จากนั้นว่าเพลงชมธรรมชาติ จบจากเพลงชมธรรมชาติจึงว่าเพลงเรื่อง เช่น เวสสันดร ศุภมิตรเกศินี ฯลฯ จบจากเพลงเรื่องจึงเน้นเพลงลองปัญญาเพื่อซักถามประวัติบางสิ่งบางอย่างทดสอบ ปัญญากัน เมื่อใกล้สว่างก็จะว่าเพลงเกี้ยวแกมจากสั่งลากัน และเพลงปลอบที่จะต้องจากกัน ฝ่ายหญิงจะว่าเพลงคร่ำครวญ สุดท้ายเป็นเพลงให้พรเจ้า ภาพและเพลงลาเป็นการจำลาโรงเมื่อรุ่งเช้า

  • โอกาสที่เล่น

เล่นในงานนักขัตฤกษ์ งานสมโภชต่าง ๆ และการเล่นแก้บนท้าวสุรนารี

  • คุณค่า

๑. เนื้อหาของเพลงจะแสดงวิถีชีวิตของบุคคลในสังคมในแง่มุมต่าง ๆ รวมทั้งแทรกความสนุกสนานในรูปความบันเทิงอย่างดียิ่ง หมอเพลงโคราชในอดีตได้ทำหน้าที่เป็นผู้แพร่ข่าวสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่ หนึ่ง เป็นผู้มีประสบการณ์กว้างไกล เพราะพบเห็นเหตุการณ์และผู้คนหลากหลาย หมอเพลงโคราชและคนฟังเพลงโคราชในอดีตจึงมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะเป็นคนในสังคมเดียวกัน จึงเข้าใจปัญหาของกันและกัน ต่างก็เป็นปราชญ์ทางภาษาเช่นเดียวกัน จึงสื่อความคิดผ่านเพลงโคราชออกมาสู่กันได้
๒. เพลงพื้นบ้านเป็นคติชนวิทยา ซึ่งเป็นที่รวมความรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์โคราช ทั้งภาษา ความรู้ ความคิด วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนปรัชญาของชีวิต