การละเล่นพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - รำมวยโบราณสกลนคร

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

รำมวยโบราณสกลนคร

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  สกลนคร

ภาคอีสานในสมัยโบราณ ก่อนที่จะมีมวยคาดเชือก มวยเวที มีมวยแบบหนึ่งเรียกกันหลายชื่อเช่น มวยลาวบ้าง เสือลากหางบ้าง มวยดังกล่าวนี้นิยมฝึกตามคุ้มวัดตามหมู่บ้าน เพื่อให้มีกำลังวังชา สามารถต่อสู้ป้องกันตัวได้ และในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความสวยงามของลีลาท่ารำ ท่าฟ้อน มีการร่ำเรียนเวทมนต์คาถา เสกเป่าหมัดเข่า ให้มีพละกำลังแข็งแกร่งจนคู่ต่อสู้ทำอันตรายไม่ได้

ในปัจจุบันจังหวัดสกลนคร เป็นแหล่งเดียวที่ยังมีมวยโบราณในงานเทศกาลบุญประเพณี เช่น เทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษา ในเทศกาลออกพรรษา ในเทศกาลงานบุญเหล่านี้ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่ของคุ้มวัดเข้าร่วมขบวนอย่างสนุก สนาน โดยเฉพาะชาวสกลนครในเขตรอบ ๆ เมืองถือกันมาแต่โบราณว่า เมื่อถึงเทศกาลบุญพระเวสเทศน์มหาชาติเดือนสี่แล้ว ชาวคุ้มจะจัดขบวนแห่ฟ้อนรำไปตามถนนผ่านหน้าบ้านผู้คนเพื่อบอกบุญ ทำบุญร่วมกันถวายแด่องค์พระธาตุเชิงชุม ขบวนแห่ของชาวคุ้ม นอกจากจะประกอบด้วยผู้คนทั้งหนุ่มสาว เฒ่าชรา แต่งกายสวยงามตามแบบพื้นเมือง ฟ้อนรำไปตามถนนหนทางแล้ว ยังมีนักมวยของแต่ละคุ้มนำหน้าขบวนเป็นที่สะดุดตาแก่ผู้พบเห็น นักมวยแต่ละคนจะนุ่งโจงกระเบนแบบหยักรั้งปล่อยชายกระเบนห้อยลงมาพองาม ด้วยเหตุนี้เองชาวบ้านจึงมักเรียกนักมวยว่า "พวกเสือลากหาง"

การแต่งกายของผู้รำมวยโบราณ นอกจากจะแต่งด้วยผ้าหยักรั้งปล่อยห้อยชายกระเบนแล้ว ตามเนื้อตัวตามขายังนิยมสักลาย ท่อนบนมักจะเป็นรูปสัตว์ที่แผงอก เช่น รูปครุฑ รูปงู รูปเสือ รูปหนุมาน ส่วนตามโคนขาจะสักลายเป็นรูปพืชผัก เช่น ลายต้นข้าว ผักกูด คติความเชื่อในเรื่องสักลายนี้แต่โบราณถือว่าเป็นสัญลักษณ์ความเข้มแข็ง เป็นที่พึงพอใจของสตรีเพศ บางรายอาจมีคติเรื่องความคงกะพัน ผสมกับความสวยงามด้วย นักมวยโบราณจะมีตะกรุดรัดแขน ภายในตะกรุดมีเครื่องรางของขลังที่ตนนับถือ สวมมงคลที่ศีรษะในขณะที่ไหว้ครู เช่นเดียวกับมวยเวทีในปัจจุบัน จะถอดมงคลออกเมื่อถึงบทที่จะต้องร่ายรำหรือต่อสู้

ความงดงามของมวยโบราณอยู่ที่ท่าทางการไหว้ครู ซึ่งใช้ลีลาจากอากัปกิริยาของสัตว์ เช่น เสือ ช้าง ม้า วัว ควาย มาดัดแปลงด้วยลีลาของนักมวยแล้วเคลื่อนไหวเหยาะย่างให้เข้ากับเสียงกลอง เสียงแคน นักมวยบางคนยังนำเอาท่าทางของลิง ยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์มาประดิษฐ์เป็นท่าทางร่ายรำอย่างสวยงาม อันเนื่องมาจากความงดงามของมวยโบราณ ซึ่งเป็นศิลปะผสมผสานระหว่าง นาฏศิลป์พื้นบ้านอิสานและชั้นเชิงของการต่อสู้จึงทำให้ครูมวยโบราณคิด ประดิษฐ์ ท่าทางของการแสดงมวยโบราณขึ้น การแสดงมวยโบราณแบ่งเป็น ๓ ตอน คือ ขบวนแห่มวยโบราณ ท่าไหว้ครูหรือรำเดียว และการต่อสู้

เป็นที่น่าสังเกตว่า มวยโบราณไม่ใช่การต่อสู้แบบคลุกวงใน เพราะจะทำให้เห็นลีลาท่าฟ้อนรำน้อยไป นักมวยจะเข้าไปเล่นงานคู่ต่อสู้พร้อมถอยมาร่ายรำเป็นระยะ ๆ แล้วจึงบุกเข้าไป หรือเตรียมตั้งรับหรือตอบโต้คู่ต่อสู่ กล่าวได้ว่าความสนุกของมวยโบราณ อยู่ที่ชั้นเชิงและกลเม็ดของนักมวย ผู้ที่จัดเจนมักมีลูกเล่น กลเม็ด แพรวพราว ทั้งท่ารุก ท่ารับ ซึ่งหมายถึงการฝึกหัดมาอย่างดี ในท่ารุกสามารถรุกเข้าพิชิตคู่ต่อสู้หลายแบบ นักมวยโบราณที่มีความคล่องตัวมักนิยมเล่นงานคู่ต่อสู้ด้วยเท้า ในขณะที่เสียเปรียบคู่ต่อสู้จนเสียหลักซวนเซ นักมวยจะแก้ปัญหา เช่น การหลบ โดยหลบลอดได้อย่างเร็ว พร้อมใช้เท้าถีบคู่ต่อสู้ให้ล้มลงหรือใช้ศอกถอง แต่ก็ต้องระวังท่าจระเข้ฟาดหางจากฝ่ายตรงข้ามด้วย

มวยโบราณจึงมิใช่มวยที่ชกกันเอาแพ้ชนะเช่นมวยในปัจจุบัน แต่หากเป็นการต่อสู้ที่เน้นศิลปะการร่ายรำ จึงควรให้เรียกว่าการรำมวยโบราณ มิใช่การชกมวย ต่อยมวยเช่นในปัจจุบัน