การละเล่นพื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - เจรียงซันตูจ (การเกี้ยวพาราสีในรูปร้องรำทำเพลง)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

เจรียงซันตูจ (การเกี้ยวพาราสีในรูปร้องรำทำเพลง)

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  สุรินทร์

  • อุปกรณ์และวิธีการเล่น

เจรียงซันตูจ แปลว่า ร้อง-ตกเบ็ด เป็นการร้องเล่นในงานเทศกาลต่าง ๆ หรืองานบวชนาคและที่แพร่หลายกันมากคือ ช่วงเดือน ๑๐ (ไงแซนโดนตา) และช่วงเดือน ๕ (แคแจด) ในวันฉลองส่วนมากจะจัดเป็นงานวัด หนุ่ม ๆ ที่มาร่วมงานจะมารวมกันเป็นกลุ่ม ๆ และหาคันเบ็ดมา ๑ อัน เหยื่อที่ปลาคันเบ็ดนั้นใช้ขนม ข้าวต้มมัด ผลไม้ผูกเป็นพวง วิธีการตกเบ็ดนั้นที่ใดมีกลุ่มหญิงสาวนั่งรวมกันอยู่ กลุ่มหนุ่ม ๆ จะพากันร้องรำทำเพลงแล้วก็หย่อนเบ็ดให้เหยื่อไปลอยอยู่ตรงหน้าสาวคนนี้บ้าง คนโน้นบ้าง ผู้ที่ถือคันเบ็ดจะเป็นผู้ร้องเพลง (เจรียง) เอง หากสาวผู้นั้นรับเหยื่อ (หรือขนม) ไปแสดงว่าพอใจ หลังจากเสร็จงานแล้วฝ่ายหนุ่มจะให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขอหรือทาบทามต่อไป

  • โอกาสที่เล่น

การเกี้ยวพาราสีในเดือนห้า
เดือนห้าหรือเดือนเมษายน ชาวสุรินทร์เรียกว่า "แคแจด" อากาศจะร้อนมาก เป็นเดือนแห่งการเล่นน้ำตลอดทั้งเดือน แบ่งเป็น ๖ ช่วงดังนี้

โจลแคแจค เป็นช่วงเตือนละแวกบ้านทุกเพศทุกวัยให้รับรู้ว่า เป็นช่วงเข้าสู่เดือนแห่งการเล่นน้ำ
ตอมตูจ เป็นช่วงกำหนดให้หยุดงานทุกอย่างที่เป็นงานหนัก ทุกคนเตรียมตัวเตรียมใจสนุกสนานรื่นเริง มีการรำตรุษอวยพรกันในวันปีใหม่ หนุ่มสาวขนทรายจาก ๘ ทิศ สำหรับก่อเจดีย์ทรายกำหนดไว้ ๓ วัน

โจลเวือด เป็นช่วงของการขนทรายเข้าวัด หนุ่มสาวจะพบกันที่วัดตั้งใจประดับเจดีย์ทรายให้สวยงาม
ตอมทม เป็นการหยุดงานครั้งสำคัญ หยุด ๗ วัน จะมีกิจกรรมให้ทำทั้งวันและคืน การละเล่นพื้นบ้าน เช่น เรือมจับกรับ เรือมอันเร เจรียงนอรแกว

ตราตระมอม เป็นช่วงของการแห่พระพุทธรูปประกอบพิธีสงฆ์ สรงน้ำพระพุทธรูปประกอบพิธีสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่และเยาวชนคนทั่วไป มีการเล่นน้ำเล่นมอม (ถ่าน) อย่างสนุกสนานฉลองเจดีย์ทรายในตอนกลางคืน
ปังเฮยแคแจด เป็นช่วงการลาเดือนห้าจะทำบุญตักบาตร กรวดน้ำ เป็นการลา

การเกี้ยวพาราสี ระหว่างหนุ่มสาวจะเริ่มกันในช่วงแคแจดหรือเดือนห้า เพราะหยุดงานหยุดภาระกิจ พ้นจากสายตาของผู้ใหญ่ เปิดโอกาสอย่างอิสระในการเล่นหัวอย่างสนุกสนาน เช่น การเล่นสะบ้า ที่ฝ่ายแพ้ต้องถูกปรับโดยให้ฝ่ายชนะเขกหัวเข่า เป็นกิจกรรมที่ทำให้หนุ่มสาวได้ใกล้ชิดกันและเกิดความประทับใจซึ่งกันและกัน การเล่นลูกโยนหรือที่ชาวสุรินทร์เรียกว่า "เล่นโชง" นั้น ฝ่ายแพ้จะถูกฝ่ายชนะไล่ตีหลังหรือตะโพก หรือบางกลุ่มอาจจะปรับให้ฝ่ายแพ้เจรียงหรือร้องเพลงให้ฟัง
การแสดงความในใจโดยการร้องเพลง หรือรำด้วยลีลาต่าง ๆ เป็นที่นิยมกันมากของชาวจังหวัดสุรินทร์ แม้แต่ในการรำตรุษ (หรือเรือมตรษ) เพื่อเดินอวยพรตามบ้านเรือน ก็จะเป็นการประชันกันในแต่ละคุ้มว่าผู้ร้องนำมีวาทศิลป์ระดับใด อันอาจแสดงความในใจต่าง ๆ แก่สาวที่ตนรักก็ได้

ในเดือนห้าหนุ่มสาวบางคนก็ยังไม่สนิทสนมกันแม้จะมีการละเล่นร่วมกัน เช่น เรือมอันเร ก็ยังอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ ซึ่งการกระทำให้ผู้ใหญ่พอใจเป็นเรื่องยากสำหรับหนุ่มสาวเช่นกัน ในกิจกรรมเรือมอันเรจึงมีเกมส์สนุกสนานให้ฝ่ายชายได้แสดงความสามารถในการ ร่ายรำกระทบสากในลีลาที่เสี่ยงภัย เป็นการทักทายแสดงความกล้าหาญให้อีกฝ่ายพอใจ
หลังจากพบปะสนิทสนมกันตลอดเดือนห้าก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจของ หนุ่มสาว ในช่วงเดือนสิบจึงมีการฉลองและเป็นโอกาสให้หนุ่มสาวมีการละเล่นกันอีกครั้งหนึ่ง

  • การเกี้ยวพาราสีในเดือนสิบ

เดือนสิบหรือเดือนกันยายน เป็นพิธีสารทหรือไงแซนโดนตา ของชาวสุรินทร์ งานจะจัดเป็น ๒ ช่วง ติดต่อกัน คือ ช่วงแรกขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนสิบเรียกว่า เบณฑ์ตู๊จ คือ สารทเล็ก ช่วงที่สองวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ เป็นพิธีเบณฑ์ทม คือสารทใหญ่ ประชาชนจะมาทำบุญกันอย่างเอิกเกริกที่วัด การถือกำหนดวันเช่นนี้ชาวบ้านยังถือปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ซึ่งบางแห่งยังอาจจะปฏิบัติครั้งเดียวโดยยึดวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนสิบ หรือวันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบวันใดวันหนึ่ง จังหวัดสุรินทร์ยังรักษาประเพณีเก่ามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

เมื่อถึงวันเบณฑ์ทมมีสวดมนต์เย็นและทุกครอบครัวจะมีภาชนะ เช่น กระจาด กระเชอ ใส่อาหารคาว หวาน ขนม ข้าวต้ม หมากพลู บุหรี่ เรียกว่า "กระเชอโดนตา" เป็นเครื่องพลีกรรม นำมาจุดธูปเทียนทำพิธีอุทิศต่อหน้าพระสงฆ์ เวลาสวดจะเชิญวิญญาณผู้ที่ล่วงลับมารับศีลฟังธรรม

กระเชอโดนตานี้ ก็มีการประดับตกแต่งสวยงามแล้วแต่ฐานะของครอบครัวคิดจัดทำ เสร็จจากการฟังเทศน์ ฟังธรรม อาจมีงานรื่นเริงตามแบบชาวบ้าน คนแก่ชอบฟังดีดจีแปย (พิณชนิดหนึ่งคล้ายกีตาร์) หรือเพลงแปยอังโกง (ปี่ใหญ่ทำด้วยไม้รวก) มีคนร้องเพลงประกอบ

ปี่เล็กอย่างหนึ่งเรียกว่าแปยเย็น (ปี่เย็น) เวลานี้หาคนเป่าได้ยากเกือบสูญหมดแล้วหนุ่ม ๆ ชอบเป่าตอนดึกสงัด เสียงวังเวง หวานเย็นเยือก หนุ่มสาวที่มาค้างคืนช่วยกันเตรียมอาหารไว้ตักบาตรก็จะมีการร้องรำเจรียงซัน ตูจ (เพลงตกเบ็ด) รำเกี้ยวพาราสีในหมู่หนุ่มสาว จะใช้กล้วยเป็นเหยื่อล่อเบ็ด ใช้ไม้เรียวเป็นคันเบ็ดสาวปลากลุ่มใดยึดเหยื่อไว้ได้ก็แสดงว่าต้องใจ
เมื่อเวลาใกล้ย่ำรุ่งจะต้องมีการทำพิธีที่วัดอีก ผู้อยู่ใกล้วัดต้องมาวัดแต่เช้ามืด เมื่อเสร็จพิธีในโบสถ์ก็พากันจุดธูปเทียนแบกกระเชอเดินเวียนรอบโบสถ์จนครบ รอบ เวลานี้เรียกว่า "ประเฮียม เยียะ ชะโงก" แปลว่า เวลาสงสารยักษ์ชะโงก เป็นเวลาที่ยักษ์ ผีเปรต ออกหากิน ทุกคนจะมายืนล้อมวงกันแล้วเทอาหารจากกระเชอลงลานหญ้ารวมกัน โอกาสนี้เป็นโอกาสที่เด็ก หนุ่มสาว ต่างก็ยื้อแย่งเอาขนม ข้าวต้มของกันและกันเป็นที่สนุกสนาน ช่วงนี้เรียกว่า "เพลาประเฮียม"

  • แนวคิด/คุณค่า

ผู้เล่นจะได้รับความสนุกสนาน มีเนื้อร้องทำนองเพลงจากวงดนตรีกันตรึมประกอบด้วย ทำให้ผู้ชมและผู้ฟังเพลิดเพลิน ปัจจุบันนี้เจรียงซันตูจได้รับความนิยมมากขึ้น สามารถนำมาเล่นเป็นการแสดงสมมุติในงานรื่นเริงต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรอย่างแพร่หลายมากขึ้น