พิธีกรรมภาคใต้ - โนราโรงครูวัดท่าแค

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

โนราโรงครูวัดท่าแค

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  พัทลุง

  • ลักษณะ

โนราโรงครู หมายถึงโนราที่แสดงเพื่อประกอบพิธีเชิญโรงครู หรือบรรพบุรุษโนรามายังโรงพิธี เพื่อรับการเซ่นสังเวย รับของแก้บน และเพื่อครอบเทริด หรือผูกผ้าใหญ่แก่โนรารุ่นใหม่
ในสมัยปัจจุบันโนราโรงครูยังกระทำกันอยู่ทั่วไปในภาคใต้โดยเฉพาะแถบจังหวัด นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสงขลา แต่โนราโรงครูที่สำคัญและน่าสนใจยิ่งคือ โนราโรงครูวัดท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

  • ความสำคัญ

โนราโรงครูวัดท่าแค มีความมุ่งหมายในการจัดเพื่อให้ครูหมอโนรา หรือตายายโนราทั้งหมดมาร่วมชุมนุมกัน เพราะชาวบ้านเชื่อว่า บ้านท่าแคเป็นแหล่งกำเนิดโนรา และเป็นแหล่งสถิตหรือพำนักของครูโนรา จึงทำให้โนราโรงครูวัดท่าแคมีรูปแบบและขั้นตอนพิธีกรรม แตกต่างไปจากโนราโรงครูทั่วไป

  • พิธีกรรม

การจัดพิธีกรรมโนราโรงครูวัดท่าแค เริ่มตั้งแต่การไหว้พระภูมิโรงพิธีพระ แล้วเข้าโรงในวันแรกซึ่งเป็นวันพุธตอนเย็น จากนั้นจึงทำพิธีเบิกโรง ลงโรง กาศครู เชิญครู กราบครู โนราใหญ่รำถวายครู จับบทตั้งเมือง การรำทั่วไป วันที่สองซึ่งเป็นวันพฤหัสบดีถือเป็นพิธีใหญ่ เริ่มตั้งแต่ ลงโรง กาศโรง เชิญครู เอาผ้าหุ้มต้นโพธิ์ที่เชื่อกันว่าเป็นที่เผาศพและฝังกระดูกของขุนศรีศรัทธา เซ่นไหว้ครูหมอตายายโนราทั่วไป รำถวายครู การรำสอดเครื่องสอดกำไล ทำพิธีตัดจุก ทำพิธีครอบเทริด หรือผูกผ้าใหญ่ พิธีแก้บนด้วยการรำถวายครูและออกพราน พิธีผูกผ้าปล่อย การรำทั่วไปในเวลากลางคืน ส่วนวันที่สาม เริ่มตั้งแต่ลงโรง กาศครู เชิญครู การรำทั่วไป รำบทสิบสองเพลง สิบสองบท เหยียบเสน ตัดผมผีช่อ รำบทคล้องหงส์ รำบทแทงเข้ เป็นอันเสร็จพิธี

  • สาระ

โนราโรงครูวัดท่าแค มีรูปแบบและขั้นตอนพิธีกรรมที่เป็นของตนเอง แตกต่างไปจากโนราโรงครูที่ อื่น ๆ เช่น มีการทำพิธีไหว้พระภูมิ และประกอบพิธีทางพุทธศาสนาก่อนนำคณะโนราเข้าโรงเพื่อประกอบพิธี และไม่ต้องทำพิธีเชิญครูเข้าทรง ทำพิธีส่งครูหรือมีการตัดเหฺมฺรย เมื่อเสร็จพิธีอย่างโนราโรงครูทั่วไป เพราะเชื่อว่าวัดท่าแค เป็นที่อยู่ของครูโนรา หากทำพิธีตัดเหฺมฺรย เมื่อเสร็จพิธีเท่ากับทำพิธีตัดขาดจากครู พิธีกรรมโนราโรงครูวัดท่าแคจึงสิ้นสุดหลังจากทำพิธีแทงเข้ ในวันที่ ๓ ซึ่งเป็นวันศุกร์