ความเชื่อภาคเหนือ - การทานตุง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

การทานตุง

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด     เชียงราย

ตุง" ในภาษาถิ่นล้านนาหมายถึง "ธง" ในภาษาไทยกลางตรงกับลักษณะธงประเภท "ปฏากะ" ของอินเดีย คือ มีลักษณะเป็นแผ่นวัตถุส่วนปลายแขวนติดกับเสา ห้อยเป็นแผ่นยาวลงมา

  • ลักษณะความเชื่อ

จุดประสงค์ของการทำตุงในล้านนาก็คือ การทำถวายเป็นพุทธบูชา ชาวล้านนาถือว่าเป็นการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือถวายเพื่อเป็นปัจจัยส่งกุศลให้แก่ตนไปในชาติหน้า ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อตายไปแล้วก็จะได้เกาะยึดชายตุงขึ้นสวรรค์พ้นจากขุมนรก วันที่ถวายตุงนั้นนิยมกระทำในวันพญาวันซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์

  • ความสำคัญ

ตุงเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในงานพิธีทางพุทธศาสนา ทั้งในงานมงคลและอวมงคลต่างๆ โดยมีขนาดรูปทรงและรายละเอียดด้านวัสดุตกแต่งต่างๆ แตกต่างกันไปตามความเชื่อและพิธีกรรม ตลอดจนตามความนิยมในแต่ละท้องถิ่นด้วย ตุงจึงมีอยู่มากมายหลายชนิด เช่น ทำด้วยไม้แกะสลัก เรียกว่าตุงกระด้าง ทำด้วยผ้า ได้แก่ ตุงไชย ทำด้วยสังกะสีหรือทองเหลือง เรียกว่า ตุงเหล็กตุงตอง ซึ่งตุงชนิดนี้จะทำอุทิศให้แก่ผู้ที่ตายเพราะอุบัติเหตุ ลักษณะมีฐานเป็นไม้ เสาตั้งขนาดสูงประมาณ ๑ ฟุต แขวนด้วยตุงขนาดเล็ก ๆ รอบแผ่นเหล็กวงกลม ตัวตุงทำด้วยทองเหลืองหรือสังกะสีตัดเป็นแผ่นคล้ายรูปคน จำนวนของตุงที่แขวนไม่แน่นอนแต่จุดประสงค์ของผู้ทำทาน

  • พิธีกรรม

ปัจจุบันชาวล้านนาส่วนใหญ่ยังนิยมสร้างตุงเพื่อใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ทั้งทางศาสนา ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ประเพณีเกี่ยวกับความตาย งานเทศกาลและเฉลิมฉลองงานต่างๆ ตามคติความเชื่อเดิม แต่วัตถุประสงค์ในการใช้ตุงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากบรรดาหน่วยงานทั้งภาคราชการและเอกชนมักนิยมใช้ตุงประดับตามสถานที่ จัดงานต่างๆ เพื่อความสวยงาม