วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
23/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

เซ่นควาย

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  พะเยา

  • ลักษณะความเชื่อถือ

เป็นการขอพรจากเทวดา

  • ความสำคัญ

ทำให้เกิดกำลังใจในวิถีชีวิตความเป็นอยู่

  • พิธีกรรม

ที่บ้านถ้ำ อ. ดอกคำใต้ จ.พะเยา บริเวณสวนรุกขชาติใกล้ ๆ กับวัดพระธาตุจอมศีล และวัดรัตนคูหาวราราม มีลานกว้างแห่งหนึ่ง กลางลานนั้นมีเสาไม้ปักอยู่ ถัดไปมีโรงเรือนเล็กๆ สภาพทรุดโทรม ด้านข้างมีเรือนไม้ขนาดย่อม ใต้ถุนสูง ไม่มีใครอยู่อาศัย จากคำบอกเล่าของ ครูอุทัย ชัยวุฒิ จึงทราบว่าบริเวณนี้เป็นที่เซ่นควายเพื่อเลี้ยงผีของชาวบ้านถ้ำ
การเซ่นควายเป็นความเชื่อของชาวบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ นิยมทำในเดือนเมษายน มิถุนายนและสิงหาคม เริ่มมีตั้งแต่เมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ปฏิบัติกันมานานจนถึงปัจจุบันแม้จะเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างและไม่ได้รับความ สนใจจากชาวบ้านมากเหมือนแต่ก่อน สถานที่ประกอบพิธีเซ่นควาย มี ผาม เป็นที่ฆ่าสัตว์ที่นำมาเซ่น มีโรงครัวและเรือนทรงเจ้าแต่เดิมชาวบ้านเชื่อกันว่าเมื่อใกล้ถึงวันเลี้ยงผี จะมีควายมาให้ชาวบ้านใช้เซ่นผีเอง เมื่อฆ่าเสร็จก็จะนำไปหุงต้มที่โรงครัว แล้วนำมาเซ่นไหว้ที่เรือนทรงเจ้า โดยจะไม่นำของคาวขึ้นบนเรือนทรง

เรือนทรงเจ้าเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง มีบันไดทางขึ้นประตูอยู่ทางทิศใต้ ภายในเป็นห้องโล่ง ทางขวามือมีแท่นไม้ยกสูงจากพื้นไว้สำหรับม้าทรง (คนทรง) และตั้งของหวานที่นำมาเซ่น ได้แก่ ขนมลอดช่อง ขนมชั้นส่วนของคาวจะนำไปไว้บนหลักที่อยู่ด้านหลังของเรือนทรง ซึ่งมีอยู่ ๓ หลัก ตรงกับประตูทางเข้าของเจ้าที่อยู่ทางทิศเหนือของเรือน เป็นประตูเจาะไม่มีบันไดทางขึ้น

การเข้าทรงนั้นแต่เดิมใช้ม้าทรงผู้ชาย ปัจจุบันหาม้าทรงผู้ชายที่เป็นคนดี ซื่อสัตย์ไม่ค่อยได้ จึงเปลี่ยนมาใช้ม้าทรงผู้หญิง โดยจะมีม้าทรงประมาณ ๒-๓ คน ในการทำพิธี มีล่ามเป็นผู้จัดเตรียมพิธีและเป็นตัวกลางการติดต่อระหว่างชาวบ้านกับม้าทรง เจ้าที่มาเข้าทรงก็ได้แก่ เจ้าพ่อล้านช้าง เจ้าแม่คำผง เจ้าพ่อประตูผา ชาวบ้านที่มาเซ่นไหว้จะถามถึงชะตาบ้านเมืองโชคลาภ (ใบ้หวย) หรือถ้าปีไหนฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลก็จะขอฝนจากเจ้าพ่อเจ้าแม่หรือมีเหตุอาเพศ อะไรก็จะให้เจ้าทำนายและสะเดาะเคราะห์ให้ ส่วนทางด้านล่าง(ใต้ถุนเรือน) จะมีวงดนตรีประเภท สะล้อ ซอ ซึง บรรเลงเพลงขับเพลงซึ่งส่วนใหญ่จะพรรณนาถึงเหตุการณ์บ้านเมือง