วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/12/2007
ที่มา: 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

" สำริด  : โลหะที่เปลี่ยนโลก "

สำริด : โลหะที่เปลี่ยนโลก" เป็นทั้งคำถามและคำตอบอยู่ในตัวเอง ผู้อ่านคงสงสัยตั้งแต่ชื่อนิทรรศการแล้ว ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น เปลี่ยนโลกในที่ไม่ได้หมายถึงด้านกายภาพเป็นสำคัญ แต่หมายถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการในสังคม วัฒนธรรม พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมของมนุษย์แล้วคำถามก็จะตรงประเด็นยิ่งขึ้น จริงหรือที่โลหะสำริดเป็นสิ่งหนึ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

อะไรคือสำริด

“สำริด” หมายถึงโลหะที่มีส่วนผสมของแร่ทองแดงเป็นหลัก และช่างตั้งใจที่จะผสมแร่ผสมแร่ดีบุกเข้าไปด้วย เผาในอุณหภูมิประมาณ ๑,๒๐๐ องศาเซลเซียส โดยทั่งไปคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการทำเครื่องมือใช้และเครื่องประดับสำริด จะใช้ดีบุกผสมราว ๑๐-๑๕ เปอร์เซ็นต์ แต่ตัวอย่างสำริดบางชิ้นจากแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี ช่างตั้งใจที่ผสมดีบุกเข้าไปถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผิวสำริดมีความขาวและมันวาว เรียกว่า High tin Bronze นิยมนำไปหล่อเป็นเครื่องประดับ

คนโบราณทำสำริดได้เองหรือ?

ในดินแดนประเทศไทยเมื่อราวเกือบ ๔๐๐๐ ปีมาแล้ว มีหลักฐานว่าคนโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์ รู้จักหล่อเครื่องมือเครื่องใช้สำริดขึ้นเอง ตัวอย่างที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ขุดค้นพบแม่พิมพ์ขวาน ใบหอกสำริด ตัวแม่พิมพ์เป็นแบบแม่พิมพ์ ๒ ชิ้นจากหินทรายพบเบ้าดินเผาที่ใช้หลอมทองแดงกับดีบุก บางชิ้นยังมีคราบเศษสำริดติดอยู่ข้างใน เมื่อทำด้วยแม่พิมพ์หินทราย ก็ทำได้ซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง ได้เป็นจำนวนมาก ขวานและใบหอกคงนำไปหักร้างถางพงเพาะปลูก ล่าสัตว์ พัฒนาที่อยู่อาศัย และเป็นสินค้าอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต จากยุคที่ต้องใช้ขวานหินขัด และเครื่องมือกระดูก ในการดำรงชีวิต มาสู่ยุคบุกเบิกและมีพัฒนาการอันเนื่องมาจากการค้นพบโลหะ ที่มีคุณสมบัติในการทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ได้เหมาะสมกว่า

พวกเขาหาแร่ทองแดงและดีบุกมาจากไหน?

เป็นที่ทราบว่า แหล่งโบราณคดีที่ผลิตเครื่องมือสำริดเช่น ที่บ้านเชียง หรือที่บ้านนาดีจังหวัดอุดรธานี ไม่มีทั้งทองแดงและดีบุก ทำให้มองเห็นภาพของตลาดการค้าขาย แลกเปลี่ยน สินค้า ที่เป็นวัตดิบและผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จรูป

ตัวอย่างของเหมืองทองแดงที่ทำกันในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย พบที่ภูโล้น อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย และที่เขาพุคา จังหวัดลพบุรี และยังพบแหล่งโบราณคดีที่ว่ามีกากแร่ ทับถมกันสูงมาก อันเป็นที่ผลิตก้อนทองแดงสำเร็จรูปรวมทั้งขวานทองแดงเช่นที่ แหล่งโบราณคดีอ่างเก็บน้ำนิลกำแหง จังหวัดลพบุรี อย่างน้อยน่าจะมีคำตอบให้แล้วว่า ทองแดงคนโบราณบ้านเชียง ไปได้มาจากไหน ส่วนดีบุกนั้นมีมากในภาคใต้ของประเทศไทย รวมทั้งกล่าวว่ามีในประเทศลาว

พวกเขารู้เรื่องโลหะกรรมที่ซับซ้อนเหล่านี้ได้อย่างไร?

ที่แหล่งโบราณคดีอ่างเก็บน้ำนิลกำแหง จากการศึกษาก้อนหินขี้แร่พบว่าการถลุงแร่ทำโดยเติมเชื้อคือ แร่ฮีมาไทด์ (hematite flux)เพื่อช่วยให้การเผาไหม้และหลอมเหลวแร่ทองแดงง่ายขึ้น ในระดับอุณหภูมิประมาณ ๑,๑๕๐- ๑,๒๕๐ องศาเซลเซียส หากกากแร่และตระกรันมีโลหะเจือปนอยู่เล็กน้อยแสดงว่าการหลอมแร่ทองแดงได้ผลดี ก้อนทองแดงก็จะนำไปหล่อวัตถุแบบไล่ขี้ผึ้งหรือเทลงในแม่พิมพ์ตามต้องการ เบื้องหลังภูมิปัญญาเหล่านี้ เชื่อว่ามาจากประสบการณ์ การบ่มซับความรู้จากช่างดลหะรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างต่างชุมชน

เรารู้จักสำริดดีแค่ไหน?

นิทรรศการครั้งนี้มีหลายๆ เรื่องที่จะทำให้เรารู้จักสำริดดีขึ้น ไม่ใช่เพียงแต่สำริดในประเทศไทยเท่านั้น ยังได้รู้เรื่องสำริดในถิ่นอื่นๆ ของโลกอีกด้วย สำหรับในประเทศไทย มีหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนเกี่ยวกับโลหะกรรมสมัยโบราณ ส่วนผสมของสำริด หรือแม้แต่เรื่องที่คิดว่ารู้แล้วแต่เอาเข้าจริง ก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ เช่น สีของสำริดจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่สีเขียวสนิมสำริดอย่างที่เห็นในพิพิธภัณฑ์ หรือสีของสนิมก็เช่นกัน มีทั้งสีเขียว สีฟ้า สีน้ำตาลอมเขียว สนิมเป็นสนิมโรคร้ายของสำริด แล้ววิธีการดูแลรักษาเครื่องใช้สำริด ไม่ให้เกิดสนิม ทำได้อย่างไร หรือจะหยุดสนิมสำริดไม่ให้เกิดอันตรายกับเครื่องใช้สำริดต่อไปอีก ควรใช้วิธีไหนถึงจะดี ท้ายสุดเรารู้ไหมว่า ตั้งแต่มนุษย์รุ้จักการทำโลหะผสมชนิดแรก คือ สำริด ปัจจุบันนี้ มนุษย์รู้จักการผสมผสานแร่โลหะ หรือ แร่อื่นๆ อีกหลายชนิด สร้างสรรค์ ให้เป็นเครื่องใช้ เป็นที่อยู่อาศัย เป็นสิ่งอำนวยความสะดวก แม้กระทั้งเป็นจรวดไปเหยียบดวงจันทร์

ที่มา :  พิพิธภัณฑสาร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม  ฉบับที่ ๒ มกราคม มีนาคม ๒๕๔๘