ความเชื่อภาคเหนือ - ประเพณีรับขวัญข้าว

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
23/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ประเพณีรับขวัญข้าว

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  พิษณุโลก

  • ลักษณะความเชื่อ

ประเพณีรับขวัญข้าว หรือ ประเพณีรับขวัญแม่พระโพสพจากกลางนามาประทับในยุ้งข้าว เมื่อทำพิธีนี้แสดงว่า ฤดูทำนาได้สิ้นสุดลง ช่วงเวลาที่ทำพิธีมี ๒ วัน คือ
วันศุกร์ข้าวลาน หมายถึง ประเพณีรับขวัญแม่พระโพสพเมล็ดข้าวที่ตกอยู่ตามลานไปไว้ที่ยุ้ง
วันจันทร์ข้าวยุ้ง คือ การอัญเชิญแม่โพสพ(ข้าว) จากลานไปไว้ในยุ้ง

  • ความสำคัญ

เป็นพิธีกรรมสำคัญที่ชาวนาต้องทำเพื่อจะทำให้ได้ผลผลิตข้าวดีในปีต่อไป

  • พิธีกรรม

ทำพิธีรับขวัญข้าว มีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
๑. เตรียมเครื่องเซ่น กระบุงทำบายศรีปากชาม(เครื่องขอขมา) ขนม ได้แก่ ขนมแดกงา ขนมถั่ว ขนมปลา เผือก มัน (เป็นเครื่องบรรณาการ) ข้าวปากหม้อ ไข่ต้ม หมากพลู ด้ายขาว ด้ายแดง และธูป
๒. เตรียมเครื่องอัญเชิญ น้ำหอม แป้ง หวี กระจก น้ำมันใส่ผม ผ้านุ่ง เสื้อ ผ้าแดง ผ้าขาว ผ้าขาวม้าและบายศรี (เป็นเครื่องขออัญเชิญแม่พระโพสพ)
๓. ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม
๓.๑ นำเครื่องเซ่นทั้งหมดบรรจุลงในบายศรีอย่างละเล็กน้อย
๓.๒ นำผ้าแดงวางลงในขันและปูผ้าขาวทับแล้วนำกระทงบายศรีใส่ลงในขัน
๓.๓ นำขันเครื่องเซ่น เครื่องอัญเชิญใส่ลงในกระบุง หาบไปกลางนาที่จะทำพิธี
๓.๔ เริ่มพิธีโดยนำเครื่องเซ่นเครื่องอัญเชิญใส่ลงในขันและพรมน้ำหอม วางไว้ข้างนอกระบุง ส่วนผ้านุ่ง เสื้อผ้า ให้วางพาดไว้ปากกระบุง จุดธูป แล้วกล่าวอัญเชิญแม่พระโพสพ
๓.๕ ผู้ประกอบพิธีเดินไปรอบ ๆ ที่นาของตน อัญเชิญแม่โพสพ โดยเก็บรวงข้าวที่ตกอยู่กลางนาแทนแม่พระโพสพ พร้อมกล่าวอัญเชิญ
๓.๖ เมื่ออัญเชิญแม่โพสพเข้าอยู่ในบายศรีแล้ว นำขันเครื่องเซ่นใส่ลงในกระบุง ใช้ขอฉายหาบกลับบ้าน ก่อนหาบใช้ผ้าขาวม้าคลุมกระบุง เพื่อกันแดดเป็นการแสดงความเคารพต่อพระแม่โพสพ
๓.๗ เมื่อหาบกระบุงถึงยุ้งข้าว หรือที่เก็บข้าวพันธุ์แล้ว จึงนำเครื่องเซ่น เครื่องอัญเชิญวางลงที่กองข้าวพร้อมทั้งจุดธูปอัญเชิญแม่พระโพสพให้มาประทับ อยู่ที่ยุ้งข้าว เป็นเสร็จพิธี