การขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/12/2007
ที่มา: 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

การขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ

มรดกทางศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษได้สรรค์สร้างขึ้นมา เป็นสมบัติอันมีค่าอย่างยิ่งยากที่จะหาสิ่งใดมาเทียบเทียมได้ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เป็นสิ่งที่หาค่ามิได้ หมายความว่า มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชน เกิดจากพุทธิปัญญาของชนเหล่าใด ย่อมแสดงคุณค่าในตัวของตนเองโดยสมบูรณ์ ผิดแผกแตกต่างกันไป เป็นสิ่งที่หายากยิ่ง ไม่สามารถเอาเงินตรา ทองคำหรือสิ่งอื่นใดอันมีค่าจำนวนมากมาตีค่าเทียบเป็นราคาตลาดได้ นอกจากนี้มรดกทางศิลปวัฒนธรรมสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรื่องทางอารยธรรมของประเทศชาตินับแต่อดีตกาล จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสงวนรักษา อนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุเหล่านี้ไว้มิให้สูญหายไปจากผืนแผ่นดินไทย

การขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จำแนกได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ซึ่งได้แก่โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เป็นทรัพย์แผ่นดิน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แหล่งโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ต่าง ๆ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจะจัดทำทะเบียนบัญชีแสดงทรัพย์สินของแผ่นดินไว้ในรูปของทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และบัตรประจำวัตถุแต่ละรายการไว้
๒. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในครอบครองของวัดและเอกชน โดยการสำรวจทำบัญชีและคัดเลือกโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นสำคัญและมีคุณค่าพิเศษและประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา
 

มาตรการการปกป้องมรดกวัฒนธรรม
เนื่องจากสังคมของโลกมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และทางวัฒนธรรม เป็นผลกระทบกับมรดกวัฒนธรรมของชาติ ที่มีการโจรกรรมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากวัดวาอาราม แหล่งโบราณสถานและแหล่งโบราณคดี เพื่อประโยชน์ทางการค้า ดังนั้น โครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทั่วราชอาณาจักร จึงเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหา การลักลอบโจรกรรม ป้องกันการทำลายสูญหาย ช่วยคุ้มครองและรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และทรัพย์สมบัติของชาติไว้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางตรง คือโบราณวัตถุใดที่กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนแล้ว บทลงโทษแก่ผู้ลักลอบโจรกรรม หรือทำลาย มีการลงโทษทั้งจำและปรับ ในทางอ้อมแม้ว่าโบราณวัตถุชิ้นใดที่ถูกโจรกรรมจะไปปรากฏขึ้นในประเทศใดก็ตามย่อมมีหลักฐานรายละเอียดและภาพถ่ายที่จะฟ้องร้องเรียกคืนได้
 

การประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของชาติ โดยอาศัยอำนาจของอธิบดีกรมศิลปากร ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๔ ความว่า "เมื่ออธิบดีเห็นว่าโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุที่มิได้อยู่ในความครอบครองของกรมศิลปากร มีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดีเป็นพิเศษ อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุนั้น" และเมื่อโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ ที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนแล้ว ยังคงอยู่ในความครองครองดูแลของเจ้าของต่อไป แต่ในกรณีที่อธิบดีเห็นว่าโบราณวัตถุใดไม่ว่าจะได้ขึ้นทะเบียนแล้วหรือไม่ สมควรสงวนไว้เป็นสมบัติของชาติ อธิบดีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้โบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุนั้นเป็นโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่ห้ามทำการค้า และหากเห็นสมควรเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติให้อธิบดีมีอำนาจจัดซื้อเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ
 

วัตถุประสงค์ที่สำคัญในการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
การขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เพื่อการป้องกันรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติที่กระจายอยู่ในความครอบครองของเอกชน และวัดวาอารามต่าง ๆ มิให้มีการเคลื่อนย้ายหรือลักลอบนำออกนอกประเทศ การสำรวจขึ้นทะเบียนทำให้ทราบถึงจำนวน ชนิด ประเภท ขนาด และลักษณะพิเศษของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีอยู่ในประเทศไทย เพื่อเป็นหลักฐานที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์และโบราณคดีของชาติสืบไป

กระบวนการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
การขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ มีขั้นตอนการดำเนินการ ๖ ขั้นตอน ดังนี้
๑. สำรวจโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีแหล่งที่ต้องไปสำรวจได้แก่
๑.๑ สำรวจวัดที่สำคัญ ๆ หรือวัดที่มีอายุเก่าแก่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
๑.๒ สำรวจตามบ้านเอกชนที่เก็บรักษาโบราณวัตถุไว้
๑.๓ สำรวจตามพิพิธภัณฑสถานของเอกชน
๑.๔ สำรวจตามร้านค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
๑.๕ สำรวจตามส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
๒. ทำบัญชีรายละเอียดและถ่ายภาพโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทุกชิ้นที่สำรวจพบ
๓. วิเคราะห์ วิจัย และประเมินคุณค่าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทุกชิ้นที่สำรวจพบ
๔. นำเสนอข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โดยละเอียดให้คณะกรรมการระดับกรมตรวจพิจารณาคัดเลือก
๕. นำบัญชีรายการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เสนอให้อธิบดีกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิมพ์ประกาศขึ้นทะเบียนในหนังสือราชกิจจานุเบกษา
๖. แจ้งให้แก่วัด หรือเจ้าของผู้ครอบครองโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้ขึ้นทะเบียนรับทราบพร้อมแจ้งระเบียบปฏิบัติและการดูแลรักษา ตลอดจนการเผยแพร่และติดตามเมื่อเกิดการโจรกรรมสูญหาย

ขั้นตอนในการประสานงานก่อนออกสำรวจ
๑. ติดต่อประสานงานกับกรมการศาสนา สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยการขอข้อมูลที่เกี่ยวกับวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
๒. ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ทราบถึงการขอสำรวจในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ และการขอข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีความสำคัญที่มีอยู่ตามวัดและเอกชน
๓. ติดต่อประสานงานกับเจ้าคณะจังหวัด เพื่อขอให้แจ้งแก่เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบลต่าง ๆ เพื่อขอความร่วมมือในการสำรวจโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตามวัดต่าง ๆ ตลอดจนการให้ข้อมูล ประวัติเรื่องราว ที่เกี่ยวข้องกับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุต่าง ๆ

ขั้นตอนการดำเนินการสำรวจ
๑. การสำรวจในส่วนภูมิภาค เนื่องจากการกระจายอำนาจในการบริหารงานของกรมศิลปากรการปฏิบัติงานของส่วนภูมิภาคจึงอยู่ในการดำเนินของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในส่วนภูมิภาค
๒. การสำรวจในส่วนกลาง ดำเนินงานโดยกลุ่มทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และทำหน้าที่ประสานกับส่วนภูมิภาคในการปฏิบัติงานการสำรวจทั่วประเทศ
๓. การจัดทำหนังสือจากหน่วยงานต้นสังกัดแจ้งแก่วัดและเจ้าของผู้ครอบครองในการขอสำรวจเพื่อเป็นหลักฐานประกอบและป้องกันการแอบอ้างจากบุคคลอื่น ๆ
๔. ตั้งคณะทำงานในการสำรวจ ได้แก่ ภัณฑารักษ์ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ และช่างภาพ จำนวนคณะทำงานขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดำเนินการแต่งตั้ง เมื่อสำรวจพบโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ชิ้นใดที่มีคุณค่าทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี เห็นสมควรประกาศขึ้นทะเบียน ให้จัดทำรายละเอียดต่าง ๆ ของวัตถุแต่ละชิ้น อาทิ ประวัติ ชนิด ขนาด สภาพ ลักษณะรายละเอียด กำหนดอายุสมัยโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ฯลฯ พร้อมถ่ายภาพอย่างละเอียด
๕. โบราณวัตถุชิ้นใดมีลักษณะพิเศษหรือรายละเอียดพิเศษ เช่น มีจารึกประกอบ ต้องถ่ายรูปหรือคัดลอกจารึกนั้นมาทั้งหมด เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณอ่านและแปลต่อไปด้วย
๖. จดบันทึกรายงานการสำรวจ อันเป็นข้อมูลหลักฐานทางวิชาการเกี่ยวกับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่เดินทางไปสำรวจพบเพื่อนำมาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีต่อไป

ขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกเพื่อขึ้นทะเบียน
ภัณฑารักษ์ที่สำรวจโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ต้องกำหนด วิเคราะห์ จำแนกโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในเบื้องต้น ตามหลักวิชาการในการกำหนดอายุสมัยโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ โดยยึดถือการวิเคราะห์จำแนก และกำหนดอายุสมัยตามรูปแบบศิลปะในประเทศไทย ตลอดจนการจัดทำบัญชีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ตามหลักการมาตรฐานการทำบัญชีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จากนั้นดำเนินการจัดแยกเป็นรายอำเภอ จังหวัด พร้อมภาพถ่ายประกอบ นำรายละเอียดที่ได้จัดทำเสนอคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเพื่อเตรียมการประกาศขึ้นทะเบียน คณะกรรมการพิจารณาประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะและโบราณคดี ทั้งภายในกรมศิลปากร และผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอก

หลักเกณฑ์ในการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในครอบครองของวัดและเอกชน
การพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ มีองค์ประกอบในการพิจารณา โดยการกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณา และประเมินคุณค่าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุแต่ละรายการโดยวัตถุดังกล่าวต้องมีเกณฑ์คุณค่า ดังนี้
๑. เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีคุณค่าทางด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี
๒. มีคุณค่าความสวยงามพิเศษ หรือแสดงถึงเอกลักษณ์ ฝีมือของท้องถิ่นโดยเฉพาะ
๓. เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่หาได้ยากในปัจจุบัน
๔. เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่มีหลักฐาน ประวัติความเป็นมาที่เด่นชัด เป็นที่เคารพนับถือของท้องถิ่น
๕. เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีหลักฐานการจารึกระบุบอกความเก่าแก่แห่งอายุสมัยในการสร้าง
๖. เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีคุณค่าทางศิลปกรรม เป็นแบบอย่างทางสกุลช่างศิลปะ และความรู้ทางเทคโนโลยี

ขั้นตอนการประกาศขึ้นทะเบียน
๑. จัดทำทะเบียนบัญชีรายละเอียดโบราณวัตถุตามจำนวนและรายการที่ผ่านคณะกรรมการคัดเลือกแล้วพร้อมภาพถ่ายประกอบแต่ละชิ้น
๒. ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย จากกลุ่มนิติการ กรมศิลปากรในการพิจารณาประกาศกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
๓. นำเสนออธิบดีกรมศิลปากรลงนามประกาศกรมศิลปากร และส่งสำนักเลขาธิการคณะ รัฐมนตรีเพื่อพิมพ์ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
๔. ทำหนังสือแจ้งผู้ครอบครอง และส่งสำเนาประกาศราชกิจจานุเบกษา และระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาให้กับเจ้าอาวาส หรือบุคคล หน่วยงาน ที่เป็นเจ้าของหรือดูแลรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้ประกาศขึ้นทะเบียน

๕. จัดทำบัตรประจำวัตถุ ฐานข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้ขึ้นทะเบียน เพื่อการเก็บ
หลักฐานและการศึกษาและค้นคว้าวิจัยต่อไป