ความเชื่อภาคเหนือ - การฟ้อนผีปู่ย่า

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
23/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

การฟ้อนผีปู่ย่า

ภาค     ภาคเหนือ

จังหวัด  ลำปาง

  • ลักษณะความเชื่อ

การฟ้อนผีปู่ย่า หรืออีกนัยหนึ่งคือ การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ มีองค์ประกอบสำคัญ คือ มีดนตรีมาประโคมให้ผีหรือเจ้าได้เสพอาหาร และมา ม่วน ฟ้อนรำกัน โดยมีช่วงเวลาในการประกอบพิธีกรรมตั้งแต่เดือน ๕ เหนือ (เดือน ๓) หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงย่างเข้าฤดูฝน

 

การฟ้อนผีปู่ย่า หรืออีกนัยหนึ่งคือ การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ มีองค์ประกอบสำคัญ คือ มีดนตรีมาประโคมให้ผีหรือเจ้าได้เสพอาหาร และมา ม่วน ฟ้อนรำกัน โดยมีช่วงเวลาในการประกอบพิธีกรรมตั้งแต่เดือน ๕ เหนือ (เดือน ๓) หรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงย่างเข้าฤดูฝน

การนับถือผีปู่ย่าของชาวเหนือนั้นมีแพร่หลายอยู่ทั่วทุกจังหวัด ปัจจุบันได้หายไปไม่น้อย แต่พิธีกรรมความเชื่อแบบนี้ยังมีอยู่ในจังหวัดลำปางมากพอสมควร จนอาจกล่าวได้ว่ามีมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ จะหาดูได้ตามเขตเมืองเก่า และตามชานเมืองทั่วไป

ยังไม่ทราบว่าประเพณีฟ้อนผีมีความเป็นมาตั้งแต่ยุคใด สันนิษฐานจากพฤติกรรมตลอดจนพิธีกรรมอันเป็นภาพรวมของประเพณีนี้แล้ว พอเป็นเค้าได้ว่าเป็นประเพณีที่มาจากความเชื่อแบบดั้งเดิม ก่อนที่พุทธศาสนาจะเผยแพร่เข้ามาในดินแดนในแถบนี้

การนับถือผีปู่ย่าหรือการฟ้อนผีปู่ย่าที่เมืองลำปางมีด้วยกันสองชนิด คือ ผีมดและผีเม็ง มีบางตระกูลที่มีผู้นับถือต่างกันมาแต่งงานร่วมตระกูลหรือวงค์ด้วยกัน เกิดเป็นการผสมผสานทางความเชื่อหรือการนับถือผีขึ้นมา เรียกว่าตระกูลผีมดซอนเม็ง การนับถือผีปู่ย่าทุกประเภทต่างมีโครงสร้างของการแบ่งหน้าที่ภายในตระกูล หรือวงค์จำแนกได้ดังนี้
เกี่ยวกับเจ้า

เจ้าที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นประธาน เรียกว่า เค้าผี ซึ่งจะมีหอผีตั้งอยู่ในบริเวณบ้าน นอกจากเค้าผีก็จะมีเจ้าตนอื่น ๆ อีก มากน้อยแตกต่างกันไป

ผีหรือเจ้ารับเชิญ ส่วนมากจะเป็นผีหรือเจ้าที่เคยฟ้อนร่วมผามร่วมปะรำกันมานานหรืออาจสนิทชิด เชื้อกัน หรืออาจเป็นด้วยความคุ้นเคยกันของญาติพี่น้อง ซึ่งเรียกว่า เติง (ถึง)กัน ดังนั้นการฟ้อนผีในผามหนึ่ง ๆ นั้น จึงมีเจ้าปู่เจ้าย่าจากผามอื่นหรือตระกูลอื่นที่ เติงกัน มาเป็นแขกรับเชิญในงานเลี้ยงที่ลูกหลานเจ้าภาพจัดเลี้ยง เรียกกันทั่วไปว่า มาม่วน กันไม่น้อยกว่า ๒๐ ตนขึ้นไป

เกี่ยวกับคนในตระกูล

ลูกหลานในตระกูล จะมีการแบ่งหน้าที่ในกิจกรรมต่างกันไปดังนี้
๑. ม้าขี่ บางครั้งเรียกว่า ที่นั่ง ของเจ้า หมายถึงผู้ทำหน้าที่เป็นคนทรงนั่นเอง ส่วนมาก ม้าขี่ จะเป็นเพศหญิง หน้าที่นี้จะเป็นหน้าที่ประจำถ้ามีความประสงค์จะเปลี่ยนต้องขออนุญาตจากเจ้า เสียก่อน จะเปลี่ยนโดยพลการไม่ได้
๒. ควาญ คือ ผู้มีหน้าที่ปรนนิบัติเจ้าปู่เจ้าย่า มีหน้าที่ช่วยกันแต่งองค์ทรงเครื่อง จัดหาน้ำดื่ม น้ำมะพร้าว สุราหรือเครื่องดื่ม หมาก เมี่ยง บุหรี่ ฯลฯ ตามแต่เจ้าจะเรียกหา เวลาเจ้าจะไปงานฟ้อนที่ผามอื่น ๆ ควาญก็จะติดตามทำหน้าที่หิ้วข้าวของเครื่องใช้ เช่น เครื่องแต่งกาย ถุงย่าม กระเป๋าถือ ร่วมยา ฯลฯ
๓. กำลัง หมายถึง พลังของวงค์ตระกูลที่มีอยู่ในรูปของกำลังกาย หรือแรงงานจากผู้คน และกำลังทรัพย์ที่สามารถระดมได้จากตระกูลนั่นเอง คำว่า กำลัง มักใช้กับบรรดาลูกหลานเพศชาย ซึ่งทำหน้าที่ต่าง ๆ เป็นต้นว่า ปลูกสร้างผาม แบกขนอุปกรณ์ ประกอบอาหาร ยกสำรับ ตักน้ำ ผ่าฟืน ฯลฯ

  • ความสำคัญ

ความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีปู่ย่าของชาวเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวลำปางนั้น อาจรวบรวมสาระซึ่งมีบทบาทต่อสังคมส่วนรวมได้ดังนี้
๑. ก่อให้เกิดการหลอมรวมทางเผ่าพันธุ์ของผู้คนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยการมีความคิดในการยกย่อง ให้เกียรติ และเห็นคุณค่าต่อผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในตระกูลหรือวงศ์ของตน เจ้าปู่ย่าจะมีความยินดีและชื่นชมในลูกสะใภ้และลูกเขยเป็นพิเศษ แม้จะต่างเผ่าพันธุ์กันก็ตาม ทั้งนี้โดยมีความเชื่อว่าสะใภ้หรือฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายแพร่พันธุ์และเป็นฝ่าย สืบทอดประเพณีสำหรับเขยที่เข้ามาก็เท่ากับเป็นการเพิ่ม กำลัง ในวงศ์ตระกูลให้แข็งแกร่งขึ้น หากมองในด้านการเมืองการปกครองแล้ว นับว่าเป็นการหลอมรวมเผ่าพันธุ์ที่ดีอย่างหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการซื้อผี หรือซื้อเข้าผี เช่น กลุ่มชนบางกลุ่มหรือบางตระกูล เมื่อเกิดศรัทธาเลื่อมใสผีปู่ย่าผามใดผามหนึ่งก็ขอซื้อ (ยกขันหรือบูชาครู) เพื่อขอเข้ามานับถือผีปู่ย่าด้วย พิจารณาอีกนัยหนึ่งก็คือ การขอเข้ามาร่วมอยู่ในเผ่าพันธุ์หรือสังคมนั่นเอง สภาพบ้านเมืองในสมัยโบราณนั้น การยอมให้คนอีกกลุ่มหนึ่งหรือเผ่าพันธุ์อื่นมาร่วมผีเดียวกับตน จึงเป็นนโยบายทางการเมืองในการเพิ่มกำลังผู้คนที่ลึกซึ้งยิ่งอย่างหนึ่ง
๒. การมีส่วนทำให้สังคมเป็นเอกภาพ นอกจากภาพรวมที่ประเพณีฟ้อนผีได้หลอมรวมผู้คนให้เป็นพวกเดียวกัน นับถือผีเดียวกันแล้ว ยังเป็นประเพณีที่ส่งเสริมให้ผู้คนมาร่วมแรงร่วมใจทำงานร่วมกัน ก่อให้เกิดความรู้สึกในการเป็นส่วนหนึ่งของงาน มีความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจในความสำเร็จร่วมกัน ได้มาสังสรรค์ สนุกสนานร่วมกัน ประการสำคัญ คือ เป็นการสร้างความรู้สึกว่านับถือผีเดียวกัน หรือที่เรียกกันว่า เป็นผีเดียวกัน ซึ่งเป็นผลส่งให้เกิดความสามัคคีและความเป็นปึกแผ่นในวงค์ตระกูลหรือชุมชน
๓. เป็นศูนย์กลางของที่พึ่งทางใจ เป็นความหวังและความอบอุ่นอีกอย่างหนึ่งที่สามารถขอพึ่งพาเจ้าปู่ย่าได้ เช่น การทำนายทายทัก การเสกเป่า รดน้ำมนต์ต่าง ๆ
๔. บทบาทความเชื่อผีปู่ย่าในการอนุรักษ์วัฒนธรรมทางดนตรี การฟ้อนผีมด ผีเม็ง ที่เคร่งในขนบประเพณีนั้น จะห้ามใช้ดนตรีต่างวัฒนธรรมเข้ามาบรรเลงในผาม แม้แต่วงปาต ก็จะต้องใช้แบบแผนการบรรเลงแบบลำปาง หากเล่นผิดแบบแผน เช่น สำเนียงและสำนวนดนตรี ผิดจากที่คุ้นเคย ผีจะไม่เข้าหรือไม่สามารถทำการทรงได้ หรือทรงได้แล้ว อาจฟ้อนไม่ได้ เป็นต้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ดนตรีประกอบการฟ้อนผีในเมืองลำปาง จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเปลี่ยนแปลงขนบหรือแบบแผนในการดนตรีให้แปลกออกไปจาก เดิม ดนตรีปี่พาทย์หรือวงพาทย์เมืองลำปาง จึงมีรายละเอียดหลายอย่างที่แสดงถึงความเป็นดนตรีแบบโบราณไว้ได้

  • พิธีกรรม

การนับถือผีปู่ย่าทั้งผีมดและผีเม็งนั้น อาจสรุปพิธีกรรมได้ดังนี้
๑. การเลี้ยงผี โดยนำเอาอาหารมาเซ่นสังเวย ซึ่งจะมีกำหนดเวลาที่แน่นอน บางแห่งเลี้ยงสามปีครั้ง บางแห่งอาจเลี้ยงทุกปี ชนิดของอาหารนั้นแต่ละตระกูลหรือแต่ละแห่งจะแตกต่างกัน เป็นต้นว่า บางแห่งเลี้ยงเฉพาะข้าวต้มและขนมไม่มีอาหารคาว บางแห่งต้องมีอาหารที่ทำจากเนื้อวัวหรือควาย บางแห่งนอกจากอาหารคาวอย่างอื่นแล้วต้องมีเนื้อหมูทั้งตัว บางแห่งต้องมีไก่ต้ม บางแห่งอาหารสำคัญคือปลาแห้ง บางแห่งต้องมีปลาร้า ที่สำคัญจะขาดไม่ได้ในการเลี้ยง คือ ต้องมีหมาก เมี่ยง บุหรี่ สุรา แต่อาจมีบางแห่งที่ไม่มีสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
การเลี้ยงอาจจะเลี้ยงทั้งแบบมีพิธีการเอิกเกริก เช่น มีดนตรีมาประโคม จัดทำผามหรือปะรำ ให้ผีได้มา ม่วน ฟ้อนรำกัน หรืออาจจะเลี้ยงแบบเงียบ ๆ ซึ่งเรียกว่า เลี้ยงดัก ไม่มีการประโคมดนตรี หรือมีการสนุกแต่อย่างใด
๒. การซื้อผี การที่ผู้คนซึ่งอยู่นอกตระกูลมีความประสงค์จะนับถือผีตระกูลนี้ หรือเจ้าองค์นี้เป็นที่พึ่ง ก็จะไปทำพิธีกับ เค้าผี ของตระกูล
๓. การแบ่งผี ผู้คนของตระกูลมีความประสงค์จะนำพิธีกรรมนี้ไปปฏิบัติในอีกที่หนึ่ง ซึ่งตนเองไม่สะดวกที่จะมาร่วมกิจกรรมหรือพิธีกรรม ณ ที่แห่งนี้ เช่น อยู่ห่างไกล หรืออยู่ต่างเมือง เป็นต้น ก็สามารถแบ่งผีไปนับถือในที่แห่งอื่นได้
๔. ข้อพึงปฏิบัติในพิธีกรรมการฟ้อนผีปู่ย่า มีดังนี้
๔.๑ ในการสร้างผามต้องระมัดระวังในการผูกโครงหลังคา เรียงหัวไม้ท้ายไม้ให้ไปในทางเดียวกัน
๔.๒ การประกอบอาหารสำหรับเลี้ยงผี ห้ามหยิบเครื่องปรุงต่าง ๆ มากิน แม้แต่การปรุงรสก็ห้ามชิม
๔.๓ ต้องแสดงถึงความเป็นผู้มีสัมมาคารวะต่อเจ้าปู่ย่าทั้งหลาย แม้ในความเป็นจริงของโลกมนุษย์ ม้าขี่ ที่เป็นร่างทรงของเจ้าปู่ย่าอาจเป็นภรรยา พี่ น้อง ลูกหลาน หรือเพื่อนก็ตาม ห้ามทำเล่นหัว ล้อเล่น หรือแสดงกิริยาไม่เป็นการเคารพ
๔.๔ บุคคลภายนอกเมื่อต้องการเข้าไปชม ควรขออนุญาตเจ้าของงานหรือญาติพี่น้องเสียก่อน
๔.๕ อุปกรณ์เครื่องใช้ในการสร้างผามเมื่อนำมาปลูกสร้างแล้ว จะเป็นของเจ้าปู่ย่า หากต้องการนำมาใช้เพื่อสร้างผามอีก หรือต้องการเอาไปทำประโยชน์ต้องขออนุญาตเจ้าปู่ย่าเสียก่อน