ความเชื่อภาคเหนือ - เลี้ยงผีขุนน้ำ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

เลี้ยงผีขุนน้ำ

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  ลำปาง

  • ลักษณะความเชื่อ

การเลี้ยงผีขุนน้ำ คือ การทำพิธีสังเวยผีหรือเทวดาอารักษ์ ผู้เป็นหัวหน้าของผีอารักษ์ทั้งหลายที่ทำหน้าที่ ปกปักรักษาป่าไม้อันเป็นต้นน้ำลำธาร เพื่อเป็นการขอบคุณเทวดาที่บันดาลให้มีน้ำใช้ในการเกษตรกรรม โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำของลำน้ำนั้น ๆ และยังเป็นการขอให้ผีประจำขุนน้ำบันดาลให้ฝนตกและมีน้ำจากขุนน้ำหรือต้นน้ำ นั้นลงมาสู่พื้นราบได้
ผีขุนน้ำเป็นอารักษ์ประจำต้นน้ำแต่ละสาย ซึ่งสิงสถิตอยู่บนดอยสูงอันเป็นต้นแม่น้ำทั้งหลาย มักจะอยู่ตามใต้ต้นไม้ใหญ่ ๆ เช่น ไม้ไฮ (ไทร) ไม้มะค่า หรือไม้ยาง เป็นต้น ชาวบ้านก็จะอัญเชิญมาสถิตอยู่ในหอผีที่ปลูกขึ้นอย่างค่อนข้างถาวรใต้ต้นไม้ เหล่านั้น ผีขุนน้ำที่อยู่แม่น้ำใดก็จะได้ชื่อตามแม่น้ำนั้น เช่น ขุนลาว เป็นผีอยู่ต้นแม่น้ำ-ลาว เขตอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ขุนวัง อยู่ต้นแม่น้ำวัง ในจังหวัดลำปาง ขุนออน อยู่ต้นแม่น้ำ แม่ออน เขตอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

  • ความสำคัญ

เพื่อแสดงความขอบคุณผีขุนน้ำที่ปกปักรักษาป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธาร ให้ชาวบ้านมีน้ำเพื่อใช้ในการทำ การเกษตร เช่น ทำนา ทำไร่ และเป็นการเตรียมตัวเพื่อรับฤดูการทำการเกษตร และร่วมมือกันในการปฏิบัติตาม กฎเกณฑ์ของการใช้น้ำ ช่วยกันขุดลอกเหมืองฝาย จัดเตรียมอุปกรณ์ในการทำการเกษตรให้พร้อม

  • พิธีกรรม

เมื่อถึงเดือน ๘ เดือน ๙ เหนือ (ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) ชาวบ้านจะจัดทำพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำ กันเป็นประจำทุกปี โดยผู้ที่เป็นหัวหน้าในพิธีคือ แก่ฝาย หรือผู้ดูแลเหมืองฝาย ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมหรือจัดสรรการใช้น้ำแก่เกษตรกรในเขตท้องที่รับน้ำจากฝาย แก่ฝายจะเรียกประชุม ลูกฝาย หรือเกษตรกรผู้ใช้น้ำเพื่อหา ฤกษ์ยามที่เหมาะสม เมื่อถึงวันกำหนดสมาชิกก็จะได้เตรียมเครื่องสังเวยต่าง ๆ พากันไปยังหอผีขุนน้ำ ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธี

เครื่องสังเวยผีขุนน้ำประกอบด้วยเทียน ๔ แท่ง ดอกไม้ ๔ กรวย พลู ๔ กรวย หมาก ๔ ขด หรือ ๔ ท่อน ช่อ (ธงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก) สีขาว ๘ มะพร้าว ๒ ทะลาย กล้วย ๒ หวี อ้อย ๒ ท่อน หม้อใหม่ ๑ ใบ แกงส้มแกงหวาน อาหาร ๗ อย่าง หัวหมู เหล้าไห ไก่คู่ (ไก่ต้ม ๑ คู่ เหล้าขาว ๑ ขวด) ทั้งให้มีเมี่ยงบุหรี่ครบถ้วน

เมื่อจัดหาเครื่องสังเวยครบแล้ว จึงสานชะลอมขึ้น ๓ ใบ สำหรับบรรจุเครื่องสังเวยเหล่านั้นให้คนหาบและคอนชะลอมไปยังบริเวณพิธี หากที่ทำพิธีนั้นไม่มี หอผี หรือศาลเทพารักษ์ ชาวบ้านจะสร้างศาลชั่วคราวขึ้นใกล้ ๆ กับบริเวณด้านต้นน้ำ พร้อมทั้งจัดให้มี หลักช้าง หลักม้า คือ หลักผูกช้างหรือม้าของเทพารักษ์หรือผีขุนน้ำนั้นไว้ด้วย

เมื่อเตรียมการพร้อมแล้ว แก่ฝายหรืออาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะทำพิธีอัญเชิญเทวดาอารักษ์และสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ประจำรักษาขุนน้ำให้มารับเครื่องสังเวย พร้อมทั้งใช้ถ้อยคำเป็นโวหารอ้อนวอนขอให้มีน้ำอุดมสมบูรณ์และมีฝนตกต้องตาม ฤดูกาล
เมื่อประกอบอาหารเสร็จแล้ว ปู่จารย์ หรืออาจารย์ผู้ประกอบพิธีก็จะนำชิ้นลาบแกงอ่อมและเหล้าขาว ทั้งขวด ข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน และกระทง หรือ สะตวง ที่มีเครื่องเซ่นอยู่ภายในไปทำพิธีบวงสรวงหรือ เลี้ยง ผี ขณะที่ยกไปเลี้ยงบนหอผี อาจารย์ก็จะกล่าวคำอัญเชิญผีมากินโภชนาหารที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยง

เมื่อกล่าวคำเสร็จแล้ว อาจารย์ก็จะนำข้าวปลาอาหารเหล่านั้นยกขึ้นวางไว้บนหอผี และทิ้งระยะให้เวลาผ่านไปชั่วธูปหมดดอก ขณะที่รอผีรับเครื่องสังเวยนั้น ชาวบ้านซึ่งอยู่ในบริเวณพิธีก็จะพากันกินข้าวปลาอาหาร จนกว่าจะบ่ายได้เวลาอันสมควรก็จะชวนกันกลับ เป็นอันเสร็จพิธี