ความเชื่อภาคเหนือ - ประเพณีตานสลากย้อม

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ประเพณีตานสลากย้อม

ภาค     ภาคเหนือ
จังหวัด  ลำพูน

  • ลักษณะความเชื่อ

เป็นการนำเอาหลักธรรมของพุทธศาสนามาใช้ในการดำรงชีวิตในภายหน้า โดยการสร้างความดีด้วยการให้ทาน และเป็นการฝึกหัดให้เด็กรู้จักเก็บหอมรอมริบ รู้จักมัธยัสถ์

  • ความสำคัญ

ประเพณีตานสลากย้อม เป็นประเพณีสำคัญของชาวยองที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล สลากย้อมนี้ผู้ถวายทานมักเป็นหญิงสาวโสดบริสุทธิ์ กล่าวคือ หญิงสาวจะต้องเก็บหอมรอมริบเงินทองไว้ ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยสาวเป็นเวลาแรมปี เมื่อได้เงินทองมากพอสมควรและเป็นสาวเต็มตัวแล้ว ในคราวที่ตำบลที่อาศัยอยู่มีการทานสลาก หญิงสาวจะต้องเตรียมสลากย้อมไว้ทำบุญด้วย หญิงสาวผู้ใดที่ยังไม่ได้ทานสลากย้อมก็ยังไม่ควรแต่งงานมีครอบครัว ต่อเมื่อทานสลากย้อมแล้ว จึงจะมีครอบครัวได้ ชีวิตการครองเรือนก็จะมีความสุขความเจริญ

  • พิธีกรรม

การเตรียมสิ่งของถวายทาน หรือการดานั้น จะใช้เวลายาวนานกว่าการสลากภัตร ต้นสลากย้อมนิยมทำสูงประมาณ ๕ - ๖ วา ที่สุดของยอดต้นสลากนี้เขามักปักร่มกางกั้นไว้ ตามกลอนและเชิงชายของร่มจะห้อยไปด้วยสร้อยคอและเงินเหรียญประดับประดาอย่าง งดงาม ลำต้นจะใช้ฟางมัดล้อมรอบเพื่อง่ายแก่การปักไม้สำหรับแขวนสิ่งของต่างๆ ตามแต่เจ้าภาพจะปรารถนา ถ้าสลากย้อมโดยสมบูรณ์จะต้องมีประวัติของเจ้าของสลาก อ่านให้คนทั้งหลายฟัง ด้วยการเขียนประวัติ จะต้องไปจ้างผู้มีความชำนาญในการแต่งกลอนพื้นเมือง ซึ่งเรียกว่า กะโลง (โคลง) เล่าถึงชีวประวัติของเจ้าของสลากย้อม และจะสอดแทรกคติธรรมหรือตลกขบขัน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟัง เมื่อแต่งดาเสร็จถึงวันตานสลากแล้วเขาจะช่วยกันหามแห่จากบ้าน ไปสู่วัดที่มีงานตานสลากภัตร ก่อนถวายทานแด่พระหรือสามเณรจะต้องหาคนมาอ่านกะโลง เมื่อจบเสร็จแล้วจึงประเคนสลากย้อมและรับพร เป็นอันเสร็จพิธี