การจัดทำทะเบียนวัตถุพิพิธภัณฑ์

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/12/2007
ที่มา: 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

การจัดทำทะเบียนวัตถุพิพิธภัณฑ์

เมื่อมีการรับวัตถุเข้ามาสิ่งแรกที่ต้องดำเนินการคือ

1.การให้เลขวัตถุ

1.1เป็นเลขวัตถุที่ให้แก่วัตถุแต่ละชิ้น โดยใช้หลักสากลเป็นเลขวิ่งประจำปี โดยให้เลขเป็น 2 ส่วน คือ ลำดับที่/ปีพุทธศักราช เช่น 1/2530 คือวัตถุที่ได้รับเป็นลำดับที่ 1 ในปี พ.2530 และให้เลขเรียงลำดับไปจนสิ้นปี เมื่อขึ้นพุทธศักราชใหม่ คือ  1/2531

1.2การให้เลขวัตถุกรณีเป็นชุดเดียวกัน  การให้เลขวัตถุจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ลำดับที่/ปีพ../ของชิ้นที่ เช่น มีวัตถุลำดับที่ 2 ของปี 2530 ให้เลขดังนี้ 2/2530/1, 2/2530/2, 2/2530/3, 2/2530/4, 2/2530/5  เป็นชุดที่มี 5 รายการ

 2.ลงบัญชีชั่วคราว

 เป็นการทำบัญชีสำหรับใช้ควบคุมรายการวัตถุ ตามห้อง ตู้ หรือคลัง เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแล ก่อนลงบันทึกในสมุดทะเบียนฯ มีรายการที่ต้องบันทึกดังนี้

1.เลขที่ 2.เลขวัตถุ 3.ชื่อวัตถุ 4.ขนาด 5.ชนิด 6.สมัยหรือฝีมือช่าง 7.ตำนาน/ประวัติ

3.ทำบัตรวัตถุชั่วคราว

เป็นการทำป้ายบัตรผูกติดกับวัตถุทุกชิ้น เมื่อยังไม่ได้มีการทำทะเบียนและถ่ายภาพ เพื่อใช้ในการแบ่งแยกประเภทชนิดต่าง ๆ

มีรายการที่ต้องบันทึกในบัตรชั่วคราวดังนี้

1.เลขประจำวัตถุ

2.ชื่อวัตถุ

3.ประวัติ

4.ถ้าวัตถุมีสภาพชำรุด ก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินการอนุรักษ์  อาจทำการอนุรักษ์เบื้องต้นก่อน แล้วจึงส่งหน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุรักษ์วัตถุโดยเฉพาะ

5.นำส่งภัณฑารักษ์  เพื่อศึกษา วิเคราะห์ กำหนด อายุ สมัย พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการจัดเก็บหรือควรนำไปจัดแสดงที่ใดตามความถูกต้องเหมาะสม

6.ลงบันทึกในสมุดทะเบียน  เป็นการบันทึกข้อมูลรายละเอียดของวัตถุที่เข้ามาเป็นสมบัติถาวรของพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งข้อมูลทางวิชาการที่ภัณฑารักษ์ หรือนักวิชาการเฉพาะด้านกำหนด มีรายการที่ต้องบันทึกดังนี้

   -เลขลำดับ หมายถึงเลขที่เรียงลำดับ

   -เลขวัตถุ หมายถึงเลขทะเบียนของวัตถุแต่ละชิ้นตามระบบการให้เลขของพิพิธภัณฑสถาน

   -เลขอื่นที่เคยใช้ หมายถึงเลขอื่นๆ ที่เคยมี เช่น อาจเป็นเลขทะเบียนจากการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดี

   ชื่อวัตถุ หมายถึง ชื่อวัตถุแต่ละรายการ

-ลักษณะวัตถุ หมายถึงการอธิบายรายละเอียดของวัตถุ

   -แบบสมัย หมายถึงการกำหนดแบบศิลปะต่างๆ ตามหลักการจำแนกอายุสมัย

   -อายุ หมายถึงการกำหนดอายุของโบราณวัตถุโดยกำหนดเป็นปีพุทธศักราช

   -ชนิด/วัสดุ หมายถึงการบันทึกว่าวัตถุ นั้นทำจากวัสดุอะไร เช่น หิน ไม้ แก้ว ผ้า ฯลฯ

   -ขนาด หมายถึง การวัดขนาดของวัตถุแต่ละรายการ โดยใช้ระบบเมตริก

   -สภาพ หมายถึง การบรรยายสภาพวัตถุ สมบูรณ์ หรือชำรุดอย่างไร

   -ประวัติที่มา หมายถึง การอธิบายรายละเอียดที่มาของวัตถุ ได้มาอย่างไร

   -ที่เก็บ หมายถึง สถานที่เก็บรักษาของวัตถุ

   -หมายเหตุ ใช้บันทึกประวัติของวัตถุด้านการจัดแสดง การให้ยืม การเคลื่อนย้าย รวมถึงการอนุรักษ์

7.การเขียนเลขทำเครื่องหมายบนวัตถุ

     วัตถุของพิพิธภัณฑสถานจำเป็นต้องมีสัญลักษณ์ เพื่อป้องกันการสูญหาย และเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ ก่อนเขียนควรศึกษาวัตถุแต่ละชนิดก่อนอย่างรอบคอบ ตำแหน่งที่เขียนและขนาดตัวอักษรต้องเหมาะสม ไม่เด่นชัดเกินไป และไม่ทำลายคุณค่าความสำคัญของวัตถุ วัสดุที่ใช้เขียนมีหลายชนิด ควรเลือกใช้วัสดุ ที่ไม่ทำลายความเสียหายต่อวัตถุ เช่น เลือกหมึกชนิดไร้กรด วัตถุประเภทไม้ โลหะ เครื่องปั้นดินเผา  ก่อนการเขียนเลข ควรทาสารเคลือบผิวชนิดใสเป็นชั้นรองพื้น เลือกสารเคลือบผิวชนิดที่สามารถขจัดออกได้ด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ วัตถุประเภทผ้าควรตรึงแถบผ้าที่เขียนเลขแล้วบนวัตถุ อย่าเขียนเลขบนวัตถุโดยตรง

8.การวัดขนาด

เกณฑ์การวัด

  มาตราที่ใช้วัด คือระบบเมตริก วัดเป็นเซ็นติเมตร การวัดมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน คือ วัดส่วนที่สูงที่สุด ส่วนที่กว้างที่สุด เริ่มต้นวัดความสูงเป็นสิ่งแรก ต่อไปคือ กว้าง หนา หรือเส้นผ่าศูนย์กลาง หากมีฐานต้องวัดฐานด้วย หากเป็นเครื่องทอง เครื่องเงิน อัญมณี ฯลฯ นอกจากวักความสูง กว้าง หน้า หรือเส้นผ่าศูนกลางแล้ว ต้องชั่งน้ำหนักด้วย

9.การถ่ายภาพเพื่อการจัดทำทะเบียนโบราณวัตถุ

         ควรสวมถุงมือและจับต้องวัตถุด้วยมือทั้งสองข้าง หลีกเลี่ยงการหยิบยกบริเวณที่อาจชำรุดหรือแตกหัก วัตถุควรวางอย่างมั่นคงบนภาชนะ หรือรถเข็นขณะรอถ่ายภาพ

         ภาพที่ถ่ายต้องเห็นรูปทรงของวัตถุชัดเจน เป็นแบบ 3 มิติ เน้นมุมหรือด้านของวัตถุที่มีจุดเด่นพิเศษ เช่น ลวดลาย สี หรือรอยชำรุดต่าง ๆ หากวัตถุ มีจุดเด่นพิเศษอยู่ด้านหลัง  ก็จะต้องถ่ายวัตถุนั้น ๆ ทั้ง 2 ด้าน ตัวอย่างเช่น การถ่ายวัตถุพวกภาชนะ ก็ควรให้เห็นทั้งด้านข้างที่มีลวดลาย พร้อมทั้งเห็นลักษณะของปาก ของภาชนะนั้น ๆ ด้วย หรือวัตถุที่มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ก็ควรให้เห็นทั้งด้านกว้าง ด้านยาว และด้านบนด้วย เป็นต้น     นอกจากนั้นจะต้องมีการเขียนหมายเลขทะเบียนประจำวัตถุนั้น ๆ วางกำกับ พร้อมกับมีสเกลเทียบขนาดในขณะถ่ายทำด้วย

 10.การทำบัตรประจำวัตถุ                                  

เมื่อลงทะเบียนโบราณวัตถุ ในสมุดทะเบียนแล้ว ต้องทำบัตรประจำวัตถุ เป็นบัตรขนาด 6x8 " พร้อมติดรูปถ่ายวัตถุ ขนาด 2x3 " และรายละเอียดเช่นเดียวกับสมุดทะเบียน

 

 

 

 

11. การเก็บรักษาหลักฐาน

-สมุดทะเบียนเก็บรักษาในตู้ที่ใส่กุญแจ เพราะเป็นเอกสารที่สำคัญที่สุดสูญหายไม่ได้

-.บัตรประจำวัตถุ เก็บในตู้เหล็กมีลิ้นชักสำหรับเก็บบัตรโดยเฉพาะ

-จัดถ่ายไมโครฟิล์ม เพื่อเก็บรักษาข้อมูลอีกทางหนึ่ง

-.บันทึกลงในระบบคอมพิวเตอร์รูปแบบของฐานข้อมูล เพื่อให้บริการสืบค้นต่อไป