ความเชื่อภาคกลาง - เลี้ยงผีกลางทุ่ง

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

เลี้ยงผีกลางทุ่ง

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  ปราจีนบุรี

  • ลักษณะความเชื่อ

เป็นความเชื่อเรื่องการเลี้ยงผีของชาวบ้านวัดแจ้ง ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี มีมานานนับ ๑๐๐ ปี จะต้องทำพิธีเลี้ยงผี หลังการทำบุญวันสงกรานต์

  • ความสำคัญ

ชาวบ้านจะกำหนดวันนัดหมายที่จะทำบุญเลี้ยงผีกลางทุ่งขึ้นโดยมีความเชื่อกัน ว่า การเลี้ยงผีจะทำให้คนในหมู่บ้านปลอดภัยไม่เจ็บไข้ หรือมีเคราะห์ร้าย จะทำให้อยู่เย็นเป็นสุข ตรงกันข้ามหากไม่มีการเลี้ยงผีชาวบ้านจะเจ็บไข้ ไม่สบาย ประสบแต่ทุกข์โศก เคราะห์ร้าย

  • พิธีกรรม

ชาวบ้านจะพร้อมใจกันปลูกโรงพิธีขึ้นกลางทุ่งนา แล้วนิมนต์พระมาสวดมนต์เย็น และบริจาคเงินช่วยกันจัดเตรียมเครื่องเซ่น ซึ่งประกอบด้วย ไก่ หัวหมู เหล้า อาหารคาว-หวาน ผลไม้และผ้าแพรพรรณ เตรียมไว้ที่ปะรำพิธี รุ่งเช้าจึงนำอาหารมาร่วมถวายพระ เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ ชาวบ้านจะไปทำกระทงบัดแพ เพื่อมาเลี้ยงผี ในบัดแพ จะมีข้าวดำ ข้าวแดง อาหารคาว-หวาน น้ำ และที่จะขาดเสียมิได้คือตัวตุ๊กตาที่ทำขึ้นจากกาบกล้วยเท่าจำนวนสมาชิกใน บ้าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์การไถ่ตัวแทนคนในบ้านของตน แล้วนำธงสามเหลี่ยมสีต่างๆ ปักลงในบัดแพ ร้อยมุมทั้ง ๔ ของกระทงบัดแพด้วยเชือก หิ้วไปวางที่คันนาในบริเวณพิธี ขณะที่ทำพิธีจะมีวิญญาณต่างๆ เข้ามาสิงร่างทรงกินเครื่องเซ่นและอาหารในบัดแพ

  • สาระ

การทำพิธีนี้ส่งผลให้ชาวบ้านรู้สึกมั่นใจในความปลอดภัย ไม่มีโรคภัย เศรษฐกิจ การทำงานในหมู่บ้านเป็นไปด้วยความราบรื่น ร่มเย็น แสดงถึงความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวบ้านวัดแจ้ง ในการประกอบพิธีทำบุญร่วมกัน ส่วนของความเชื่อในเรื่องร่างทรงและวิญญาณ อาจเป็นอุบายในการน้อมนำใจให้เชื่อถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การทำความดี ไม่ทำความชั่ว ไม่เหยียดหยามและให้ความเคารพในเรื่องที่บรรพบุรุษเชื่อถือสืบต่อกันมา