วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

งานปีผีมด

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  เพชรบุรี

  • ลักษณะความเชื่อ

งานปีผีมดเป็นการเซ่นสรวงต่อเทพที่มีประจำอยู่ในเขตหมู่บ้าน เพื่อขอความเป็นสิริมงคล และอัญเชิญท่านเข้าร่างทรง ช่วยปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยแก่ชาวบ้านที่มาชุมนุมในพิธี

  • ความสำคัญ

งานปีผีมด มีมานานแล้วแต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยใด ผู้เฒ่าผู้แก่ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อสมัยพ่อแม่ปู่ย่าตายายของท่านก็มีอยู่แล้ว คงเป็นเวลาร้อยปีขึ้นไปแล้วเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน เพราะเป็นความเชื่อของผู้ที่รับมรดกมา

  • พิธีกรรม

งานปีผีมด แบ่งเป็น ๒ เวลา คือเวลาภาคเช้ากับเวลาภาคกลางคืน เวลาเช้าเริ่มตั้งแต่ ๙.๐๐-๑๒.๐๐ น. ในพิธีต้องมีศาลเพียงตาหนึ่งที่ มีอาหารคาวหวานเรียบร้อย อาหารคาวมีต้มยำปลากระเบน ไข่ต้ม ๑ ฟอง ต้มจืด ขนมจีน น้ำยา แกงเผ็ด อาหารหวานมี ขนมเปียก กาละแม ข้าวเหนียวแดง ขนมกงเกวียน ขนมสามเกลอ (ชะมด) ข้าวตอกกวนน้ำตาลปั้นเป็นก้อน นายนิมนต์เป็นผู้จุดธูปเทียนบอกคุณพ่อเจ้าบ้าน (เทพที่มีประจำอยู่ในเขตหมู่บ้านนั้นและจะเข้าประทับทรงในพิธีกรรม) ที่ทำในเรื่องงานนี้จากนั้นก็จัดอาหารคาวหวานสำหรับเจ้าที่เข้าประทับทรง ทั่ว ๆ ไปอีก ๖ องค์ ซึ่งมีอาหารคาวหวาน ๑๒ สำรับ วางไว้ข้างหน้าที่ประทับทรง เจ้าของงานเป็นผู้จุดธูปเทียนทุกสำรับ เพื่อบอกเจ้าพ่อของเจ้าของงานและเจ้าพ่ออื่น ๆ ให้มาเสวยเพื่อเป็นความสุขของเจ้าของงานและปราศจากโรคภัยต่าง ๆ

ต่อไปคนทรงเริ่มเชิญเจ้าเข้าประทับทรงเพื่อเสวยอาหาร ขณะที่เจ้าแต่ละองค์จะเข้าประทับทรง นายนิมนต์จะต้องขับกล่อมพร้อมกับตีโทนเชิญเจ้าเข้าทรง เจ้าจะร่ายรำก่อนที่จะเสวยอาหารทุกองค์ ซึ่งจะมีราว ๆ ๗ -๑๒ องค์
เจ้าที่เข้ามาประทับทรงในภาคเช้า

๑. เจ้าพ่อเจ้าของงาน ชื่อเจ้าโหรามและเจ้าโหรี ซึ่งเป็นเจ้าในเรื่องพิธีกรรมอันนี้ จะทำให้คนหายเจ็บหรือเจ็บป่วยก็ได้
๒. เจ้าพ่อเจ้าของบ้าน คือเจ้าพ่อที่มีอยู่ในตำบลนั้น
๓. เจ้าพ่อหลักเมือง หรือบางทีก็เรียกว่าเจ้าพ่อเสื้อเมืองทรงเมือง
๔. เจ้าพ่อยี่สุ่น
๕. เจ้าพ่อหงษ์ทอง (เป็นต้นบัญชีของเจ้าของงานทั้งกลางวัน กลางคืน) จะเป็นผู้สำรวจไว้ว่าบ้านใดทำมาแล้วกี่ครั้ง ยังเหลืออีกกี่ครั้งจึงจะครบ
๖. เจ้าพ่อหลวงเพชร
๗. เจ้าพ่อหลวงดง
๘. เจ้าพ่อหลวงพงษ์
(เจ้าพ่อ ๖ ๗ ๘ ทั้ง ๓ องค์ เป็นเจ้าของงานมาทั้งกลางวันและกลางคืน)
๙. เจ้าพ่อเจ้าของร่างทรง

เมื่อร่ายรำและเสวยเสร็จแล้ว จึงออกมารำตีคลี กับคนที่เคยครอบเอาไว้ให้แล้ว ถ้าคนอื่นจะมาตีต่อภายหลังก็ได้ (เวลากลางวันเจ้าจะเป็นใหญ่)

เวลากลางคืน เริ่มตั้งแต่ ๑๗.๐๐ น. เรื่อยไปจนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. หรือมากกว่านั้น ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ระยะ ดังนี้
เวลา ๑๗.๐๐ น. ใช้ศาลเพียงตาเดิม จัดอาหารใหม่ตามรายการเดิมเหมือนถาดเช้า และจัดอาหาร
เสวยใหม่อีก ๑๒ ชุด พร้อมทั้งโต๊ะอีก ๓ โต๊ะ (เจ้าของบ้านต้องจุดธูปเทียนบอกใหม่เพราะเจ้าคนละองค์) พิธีการในตอนเย็นมีการร่ายรำแทงแหลน ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายนิมนต์ หรือคนที่ครอบแล้ว (คนที่มีครูทำพิธีให้เป็นผู้ทำพิธีกรรมต่อไปได้ โดยไม่มีอันตรายใด ๆ หรือผิดครู) ถ้าคนอื่นจะรำต่อจากนายนิมนต์ก็ได้

  • พิธีการแทงแหลนมีอุปกรณ์ดังนี้ คือ

๑. มีแหลน ๑ อัน
๒. มีรูปวัวปั้นด้วยแป้ง ๑ ตัว ไว้สำหรับแทง
๓. มีเครื่องแกง และเครื่องต้มวัวอย่างละหม้อ
๔. มีขาหยั่งสำหรับย่างเนื้อ
๕. มีเตาสำหรับต้ม แกง
๖. มีเหล้า ๑ ขวด
๗. มีบันได ๓ ขั้น ทำด้วยก้านกล้วย หรือก้านมะละกอก็ได้
๘. กระด้ง ๑ ใบ ใส่หินลับมีด ๑ ทราย ๑ น้ำ ๑ ถ้วย เหล้า ๑ ถ้วย ข้าว ๑ ถ้วย กระจ่า ๒ อัน

ในขณะทำพิธีแทงแหลนจะต้องมีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นแม่ประสพเมือง ซึ่งอยู่ในคณะของนายนิมนต์ แต่งตัวนุ่งผ้าจีบยกหน้านาง เอาชายสไบพาดบ่าข้างละชาย แม่ประสพเมืองเป็นผู้บอกผีเรือนให้ลงมาเพื่อจะทำงาน แม่ประสพเมืองถือถาดใบหนึ่ง ในถาดมีหย่อง มีดโกน กรรไกร หวี นำเข้าไปในปะรำพิธีที่จะแทงแหลน ต่อไปนายนิมนต์ก็เริ่มพิธีรำแทงแหลน แม่-ประสพเมืองยืนถือถาดอยู่อย่างเดิม จนเสร็จพิธี ต่อจากนั้นก็ต้ม แกงจนสุกแล้วนำไปเก็บเอาไว้ และเอากระบุงครอบหม้อแกง พอแทงแหลนเสร็จแม่ประสพเมืองก็เอาเท้าจุ่มน้ำในถ้วยแล้วเช็ดเท้าที่หิน จากนั้นก็ก้าวขึ้นบันไดที่ทำไว้ แต่ก่อนจะก้าวขึ้นไปนายนิมนต์จะเอากระจ่าทั้งสองไปเสยข้าง ๆ แม่ประสพเมืองสลับกันข้างละ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีตอนเย็น แล้วเชิญผู้มาร่วมงานรับประทานอาหาร เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. (๒ ทุ่ม) รายการที่เริ่มในเวลานี้เป็นกรรมวิธีที่แปลกออกไปอีกดังนี้

ปลูกโรงพิธี จัดเป็น ๒ ห้อง มีห้องนอกและห้องใน ถ้าเครื่องบนไม้ไผ่ให้สังเกตจากโคนไม้อยู่ด้านใดด้านนั้นเป็นห้องใน จะสังเกตจากหลังคาโรงพิธีไม่ได้ให้ดูลักษณะของบ้านซึ่งห้องในจะอยู่ด้าน เดียวกับห้องของเจ้าบ้านของงาน เพราะปลูกคู่ขนานกัน อาหารจะจัดเตรียมไว้อย่างเดิม จัดพานครูซึ่งมีดอกไม้ ธูปเทียน และเงินค่ายกครู ๖ บาท สำหรับนายนิมนต์และคนทรงเพื่อไหว้ครูเสียก่อนจะเริ่มรายการ การไหว้ครูของนายนิมนต์จะต้องทำดังนี้ คือ จัดเรียงโทน ฉาบ ฉิ่ง กรับ ไปทางกับข้าว การไหว้ครูจะต้องเริ่มด้วย นะโม ๓ จบ แล้วชุมนุมเทวดา บอกครูบา-อาจารย์ของตนเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยดีราบรื่นปราศจาก อุปสรรค ฝ่ายคนทรงเมื่อบอกครูเสร็จแล้วก็หันมากราบโทน เพื่อไหว้ครูของนายนิมนต์แล้วเข้านั่งประจำที่ นายนิมนต์จะทำเพลงเชิญเจ้าประจำตัวของคนทรงเข้าประทับทรง
จบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเจ้าประทับทรง ในการขับเพลงจะเริ่มด้วย
๑. เชิญเจ้าเข้าประทับทรง
๒. เพลงร่ายรำ
๓. เพลงเสวย
๔. เพลงส่งกลับ

ในขณะที่ขับกล่อมจะมีจังหวะโทน ฉาบ ฉิ่ง กรับ ตีประกอบไปด้วย
เครื่องเล่นสำหรับเจ้าทุกองค์
๑. ช้าง ๑ เชือก ทำด้วยไม้ทองหลางหรือไม้สบู่
๒. ดาบ ๒ เล่ม ทำด้วยไม้ทองหลางหรือไม้สบู่
๓. เขน ๒ อัน ทำด้วยไม้ทองหลางหรือไม้สบู่
๔. กระพั้น ๑ อัน
๕. ถ้ำ ๑ ที่
๖. เรือ ๑ ลำ
๗. ตะกลบ ๑ อัน
๘. หิ้ง ๑ ที่
๙. ไก่ ทำด้วยผ้า ๒ ตัว แดงตัวหนึ่งขาวตัวหนึ่ง
๑๐. เครื่องเล่นเป็นของจริง คือ แหวน ๒ วง ไก่ ๒ ตัว กำไล ๒ วง
เจ้าที่เล่นเข้าของดังกล่าว ได้แก่ เจ้าประจำของผู้ประทับทรงเท่านั้น