วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

รำผีมอญ

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  ราชบุรี

  • ลักษณะความเชื่อ

ผีมอญเป็นความเชื่อของคนไทยเชื้อสายมอญที่ยึดถือผีเป็นความสำคัญในวิถีชีวิต ผีของชาวมอญมีหลายประเภท ได้แก่ ผีปู่ย่าตายาย ผีเมียหลวง ผีเมียน้อย ผีครูอาจารย์ ผีลูกหลาน ผีญาติ ผีแมว และผีไม่มีญาติ ลูกชายคนโตของตระกูลจะเป็นผู้สืบทอดต้นผี ผู้รับสืบทอดเสาผีไว้ที่บ้าน ในตระกูลหนึ่งจึงมีบ้านที่มีเสาผีเพียงบ้านเดียวเท่านั้น ต้นผีรับผิดชอบในการจัดพิธีรำผี ดูแลคนในตระกูลไม่ให้ผิดข้อห้ามต่าง ๆ และยังเป็นหัวหน้าในการนัดพบคนในตระกูลเดียวกันให้มาช่วยเหลืองานต่าง ๆ ของคนในตระกูล เช่น วันลงแขกเกี่ยวข้าว ตลอดจนการจัดงานพิธีต่าง ๆ การถือผีของชาวไทยเชื้อสายมอญเป็นการนับถือบรรพบุรุษ จึงเป็นความเชื่อที่มีลักษณะของการสืบทอดตระกูลแต่ละตระกูล ทำให้ได้รวมญาติในตระกูลเดียวกัน

  • ความสำคัญ

การรำผีมอญ หรือการรำผี เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในสังคมชาวไทยรามัญอยู่ ๒ ประการ คือ เป็นการจัดระเบียบสังคมผ่านความเชื่อเรื่องผีและคุณค่าแห่งการดำรงไว้ซึ่ง ความเป็นชาติพันธุ์รามัญ นอกจากการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของสังคมแต่ละครอบครัว แต่ละตระกูลแล้ว การนับถือผียังเป็นจารีตประเพณีที่ช่วยควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในครอบครัว ให้ดำรงอยู่อย่างสงบสุข และช่วยสร้างความสามัคคีในวงค์ตระกูล สิ่งที่เป็นตัวควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกคือ ผลร้ายที่จะถูกลงโทษจากผีบรรพบุรุษและสมาชิกในสังคม เนื่องจากกระทำผิดผี

  • พิธีกรรม

คนไทยเชื้อสายมอญไม่ต้องการให้มีการจัดพิธีรำผีบ่อย ๆ เพราะนอกจากจะสิ้นเปลืองเงินทองแล้ว ที่สำคัญเป็นการแสดงให้เห็นว่าครอบครัวนั้น ๆ เป็นคนไม่ดี ไม่เคารพบรรพบุรุษ สังคมไทยเชื้อสายมอญจะยกย่องครอบครัวที่ไม่ได้จัดพิธีรำผีเป็นเวลานาน ๆ

การรำผีมอญจะจัดพิธีเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นในครอบครัว เช่น การแสดงพฤติกรรมที่ไม่เคารพบรรพบุรุษ การละเมิดข้อห้ามต่าง ๆ ของสังคม ทำให้สมาชิกในตระกูลเกิดการเจ็บป่วยโดยหาสาเหตุไม่พบ จึงจัดพิธีกรรมรำผีขึ้นเพื่อเป็นการขอขมาต่อผี

การรำผีเพื่อขอขมาต่อผีนั้น ต้นผีจะต้องเรียกประชุมสมาชิกในเครือญาติเดียวกัน โดยนัด "โต้ง หรือหะด้ง" ซึ่งเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมว่าจะทำพิธีวันไหน การรำผีจะต้องกระทำในเดือนคู่เท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จ จะไม่รำผีในช่วงหน้านาเพราะทุกคนมีอาชีพทำนา จะไม่รำผีวันพระหรือวันเสาร์ และจะไม่รำผีในวันเข้าพรรษาเพราะผีบรรพบุรุษต้องไปจำศีลภาวนาที่วัด พิธีกรรมจะจัดที่โรงพิธีซึ่งต้องปลูกตามฤกษ์ยามที่คนทรงกำหนด ประกอบด้วยเสา ๖ หลัก เสาเอกอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จากหรือแผก ๓๖ ตับ ผ้าขาวขึงเพดาน เขาวัวสำหรับใส่น้ำรดที่เสาผี และข้าวสารใส่หม้อดิน ปักเทียน ด้านหน้าโรงพิธีปักต้นหว้า ๑ ต้น และโอ่งน้ำสำหรับอาบน้ำให้ต้นผี การจัดขนมเพื่อใช้ในพิธีนั้นแล้วแต่ว่าผีบรรพบุรุษเคยกินขนมประเภทไหน ถ้าเป็นขนมทอดจะต้องทอดในโรงพิธีเท่านั้น เมื่อตั้งเตาแล้วห้ามเคลื่อนย้ายเตาเป็นอันขาด เนื่องจากชาวมอญในจังหวัดราชบุรีเป็นพวกเชื้อสายมอญเตี้ยคือพวกที่เคยอาศัย อยู่ในเมืองหงสาวดี และเป็นพวกที่นับถือผีผ้า ของใช้ของผีประกอบด้วย

๑. ผ้านุ่งของผู้หญิง-ผู้ชาย อย่างละ ๑ ชุด
๒. เสื้อผู้หญิงและผู้ชายอย่างละ ๑ ชุด
๓. ผ้าขาวม้าและผ้าสไบอย่างละ ๑ ผืน
๔. แหวนหัวพลอย ๑ วง
๕. เทียน

การเตรียมของใช้ในการประกอบพิธีรำผี ประกอบด้วย กระบอกไม้ไผ่จำนวนเท่ากับผีแต่ละประเภทที่จะเซ่นไหว้ แต่ละกระบอกพันด้วยด้ายขาว ๗ รอบ ข้าวตอกสำหรับโปรยตอนต้นผีตัดต้นกล้วย ใบขาไก่ดำจำนวน ๖ มัด สำหรับรำ ด้ายสีขาว สีแดงไว้คล้องคอต้นผี ต้นกล้วย ๒ ต้น เป็นต้นกล้วยสาว ๑ ต้น ต้นกล้วยเล็ก ๑ ต้น ขมิ้นผงและใบส้มป่อยสำหรับอาบชำระล้างมลทินให้ต้นผี

  • ขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรม

๑. ทำพิธีเรียกผีบรรพบุรุษ
๒. ต้นผีและลูกหลานในตระกูลรำผีขอขมาบรรพบุรุษ
๓. เตรียมอาหารเซ่นบรรพบุรุษ
๔. อาบน้ำต้นผีเพื่อการชำระล้างสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ที่เคยทำไว้ และทำพิธีแยกผี
๕. ต้นผีนำอาหารเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
๖. รับผีและแยกผี

คนไทยเชื้อสายมอญไม่ต้องการจัดพิธีกรรมเลี้ยงผีบ่อยนัก เพราะแสดงถึงความไม่สงบสุขของคนในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวไม่เคารพบรรพบุรุษ และมีพฤติกรรมที่ไม่ดีประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือการสิ้นเปลืองเงินทองเป็นจำนวนมาก เพราะการรำผีเลี้ยงผีนั้นนอกจากเซ่นผีแล้วต้องเลี้ยงคนที่มาร่วมงานทั้งหมด อีกด้วย