ความเชื่อภาคกลาง - ไหว้แม่ย่านางเรือ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

ไหว้แม่ย่านางเรือ

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  สมุทรสาคร

  • ลักษณะความเชื่อ

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับความเชื่อเรื่องวิญญาณ

  • ความสำคัญ

ชาวประมงเชื่อว่า เรือประมงทุกลำมีแม่ย่านางเรือ ซึ่งเป็นวิญญาณของเทพอาศัยอยู่ที่โขนเรือ หากให้
ความเคารพนับถือ เซ่นไหว้เป็นประจำจะทำให้เจ้าของเรือและลูกเรือมีสวัสดิมงคลต่อการประกอบอาชีพ มี
ความสุขและปลอดภัย

  • พิธีกรรม

การเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ ปฏิบัติเมื่อชาวประมงจะออกเรือเพื่อจับปลาทุกครั้ง หรือออกเรือจับปลา
ทุกน้ำ (การนับน้ำเริ่มนับตั้งแต่แรม ๓ ค่ำ ถึงขึ้น ๑๑ ค่ำเรียกว่า ๑ น้ำ)
อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบพิธี ได้แก่ ขนมจันอับ เป็ด ปลาหมึกแห้ง เนื้อหมูสามชั้นข้าว ผลไม้ ๓ อย่าง
ผ้าสามสี กระดาษเงิน กระดาษทอง ธูป ๑ กำ น้ำ ๑ ขัน กิ่งทับทิม ๑ กำ
การประกอบพิธีจะทำโดยเจ้าของเรือ จะนำขนมจันอับ เป็ด ปลาหมึกแห้ง เนื้อหมูสามชั้น ข้าว ผลไม้
ผ้าสามสี กระดาษเงิน กระดาษทอง ธูป ดอกไม้ น้ำ กิ่งทับทิมใส่ในถาด นำถาดไปวางที่โขนเรือ ต่อจากนั้น
จุดธูปแล้วกล่าวคำอัญเชิญแม่ย่านาง มารับเครื่องเซ่นไหว้และขอพรให้คุ้มครอง ปกปักรักษามิให้เกิดอันตราย
และให้ประสบความเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพ เสร็จแล้วนำผ้าสามสี ดอกไม้ ธูป ไปผูกที่โขนเรือ
เผากระดาษเงิน กระดาษทอง จุดประทัด ปะพรมน้ำในขันด้วยกิ่งทับทิมจนทั่วลำเรือ ต่อจากนั้นจึงเริ่มออกเรือ