วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
25/12/2008
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com/

แห่นางแมว

ภาค     ภาคกลาง
จังหวัด  อ่างทอง

  • ลักษณะความเชื่อ

ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

  • ช่วงเวลา

กรณีฝนแล้งไม่ตกต้องตามฤดูกาล

  • ความสำคัญ

เพราะสังคมไทยเป็นสังคมแบบเกษตรกรรม ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นปัจจัยในการเพาะปลูก สมัยก่อนไม่มีระบบการชลประทาน หรือทำฝนเทียมเช่นปัจจุบัน ตามความเชื่อดั้งเดิม " ฝน" เป็นสิ่งที่เบื้องบนประทานลงมา เมื่อใดฝนไม่ตกต้อง ตามฤดูกาล การเพาะปลูกพืชพันธุ์ก็ดำเนินไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องทำพิธี "แห่นางแมว"

  • พิธีกรรม

ชาวบ้านเชื่อว่าแมวเป็นสัญลักษณ์ของความแห้งแล้ง เมื่อแมวถูกสาดน้ำจะหายแล้ง จึงจับแมวมาใส่ "ตะข้อง" แล้วพากันแห่ตระเวนไปทั่วหมู่บ้าน ในขบวนแห่มีคนตีกลอง ตีกรับ ตีฆ้อง หรือตีฉิ่ง และจะร่วมกันร้องเพลงแห่นางแมว โดยมีคำร้องสั้นๆ ง่ายๆแต่สัมผัสคล้องจองกันดังนี้
"นางแมวเอย มาร้องแจ้วแจ้ว
นางแมวขอไก่ ขอไม่ได้ ร้องไห้ขอฝน
ขอน้ำมนต์รดแมวข้าที
มีแก้วนัยน์ตา ออกมาเดือนหก ฝนตกทุกที
มาปีนี้ไม่มีฝนเลย
พ่อตาลูกเขย นอนก่ายหน้าผาก
พ่อหม้ายลูกมาก มันยากเพราะข้าว
คนหนุ่มคนสาว คนเฒ่าหัวห้อย
พาเด็กน้อย มาเล่นนางแมว
มาร้องแจ้วฝนก็เทลงมา ฝนก็เทลงมา .
ซึ่งสรุปเนื้อหาโดยรวมคือ "ขอให้ฝนตก" เมื่อขบวนแห่ผ่านไปที่บ้านใด ก็จะร้องเชื้อเชิญให้ออกมาร่วมพิธี เจ้าของบ้านก็จะนำกระบวยตักน้ำในตุ่มหน้าบ้าน สาดไปใน "ตะข้องนางแมว"หรือตะข้องที่ใส่แมว

  • สาระ

เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของประชาชน และเกี่ยวข้องกับอาชีพเกษตรกรรมพิธีแห่นางแมวนี้ชาวบ้านเชื่อกันว่า จะทำให้ฝนตกและบรรเทาสภาวะแห้งแล้งไปได้