แหล่งโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - เมืองนครจัมปาศรี

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
12/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

เมืองนครจัมปาศรี

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  มหาสารคาม

  • สถานที่ตั้ง ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม

  • ประวัติความเป็นมา

จากการขุดค้นของหน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น ระหว่างวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ถึง วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๒ พบว่าบริเวณบ้านนาดูน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เคยเป็นเมืองโบราณมาก่อน เพราะได้พบหลักฐานสถูปเจดีย์และวัตถุโบราณเป็นจำนวนมาก มีสถูปสัมฤทธิ์ และพระเครื่องดินเผา เป็นต้น และบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งขุดค้นนั้น ยังมีกู่ที่ก่อด้วยศิลาแลงแบบขอมอยู่หลายแห่ง จึงมีข้อสันนิษฐานว่าบริเวณนาดูนนี้น่าจะเป็น เมืองนครจัมปาศรี ตามที่มีจารึกไว้ในหนังสือก้อม ซึ่งเป็นหนังสือใบลานขนาดสั้นที่ค้นพบโดยพระอริยานุวัตรเขมจารีเถระ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ ที่วัดหนองทุ่ม ตำบลนาดูน และจากการขุดค้นพบซากเมืองโบราณนี้ จึงได้ข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า เมืองนครจัมปาศรีคงมีความรุ่งเรืองอยู่ ๒ สมัยคือ
สมัยทวาราวดี ระหว่าง พ.ศ.๑๐๐๐-๑๒๐๐
สมัยลพบุรี ระหว่าง พ.ศ.๑๖๐๐-๑๘๐๐

หลักฐานที่ชี้นำว่าเมืองนครจัมปาศรีเจริญรุ่งเรืองอยู่ในสมัยทวาราวดีคือ
๑. พระพิมพ์ดินเผาที่ขุดพบมีพุทธศิลป์ร่วมสมัยกับพระพิมพ์ดินเผาแบบพระปฐม เจดีย์ ซึ่งมีอายุประมาณ พ.ศ. ๙๕๐-๑๒๕๐ โดยมีจารึกอักษรคฤนถ์ทั้งแบบขีดและแบบเขียนด้วยอักษรสีแดง อยู่ด้านหลังเหมือนกัน
๒. ฐานสถูปเจดีย์ ที่ขุดพบเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบอุบลมณฑล ซึ่งนิยมสร้างในสมัยคลื่นที่ ๓ ของพระพุทธศาสนาที่เข้าสู่ประเทศสยาม ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ (ศ.ดร.จิตร บัวบุศย์ ๒๕๑๔)
หลักฐานที่ชี้นำว่านครจัมปาศรีเจริญรุ่งเรืองอยู่ในสมัยลพบุรีคือ
๑. หลักศิลาจารึก ๑๔ บรรทัด ที่ขุดพบที่ศาลานางขาว ในเขตเมืองนครจัมปาศรี เนื้อความในจารึกกล่าวถึงพระเจ้าชัยวรมัน กษัตริย์ของขอมซึ่งอาจเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ ๖ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.๑๖๐๐-๑๖๕๖) หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๐) ร่วมสมัยกับสมัยลพบุรีของสยามประเทศและนครจัมปาศรี (ไพยนต์ น้อยอาษา ๒๕๒๒)
๒. ศิลปวัตถุที่พบในบริเวณนครจัมปาศรีส่วนหนึ่ง เช่น พระวัชรธร พระอิศวร พระนารายณ์ ล้วนเป็นศิลปกรรมของขอมในยุคลพบุรีทั้งสิ้น
๓. โบราณสถานซึ่งอยู่ในเขตนครจัมปาศรี มีกู่สันตรัตน์ กู่น้อย ศาลานางขาว เป็นศิลปะขอมแบบบายน ซึ่งนิยมสร้างในช่วง พ.ศ.๑๗๒๔-๑๗๘๐ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ร่วมสมัยกับสมัยลพบุรีของสยามประเทศ
นาม "นครจัมปาศรี" มีจารึกไว้ในหนังสือก้อม (หนังสือใบลานขนาดสั้น) ซึ่งพบที่วัดหนองทุ่ม ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน (เดิมเป็น อำเภอวาปีปทุม) โดยพระอริยานุวัตร เขมจารีเถระ เจ้าอาวาสวัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ เนื้อความในจารึกกล่าวว่า เมืองนครจัมปาศรี รุ่งเรืองอยู่ในสมัยที่ศาสนาพุทธและพราหมณ์กำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ในสยาม ประเทศ มีพระยศวรราชเป็นเจ้าผู้ครองนคร มีพระนางยศรัศมีเป็นพระราชเทวี เมืองนครจัมปาศรีเป็นเมืองร่วมสมัยกับเมืองศรีโคตรบูร เมืองหนองหานหลวง เมืองหนองหานน้อย เมืองกุรุนทนคร เมืองอินทปัฐนคร เมืองจุลมณี และเมืองสาเกตุนคร ซึ่งล้วนเจริญรุ่งเรืองอยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๖ (พระอริยานุวัตร ๒๕๓๐)

  • ลักษณะทั่วไป

ภูมิประเทศที่ตั้งเมืองนครจัมปาศรี มีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวรี ตามแนวทิศเหนือไปทิศใต้ กำแพงเมืองประกอบด้วยเชิงเทินดิน ๒ ชั้น มีคูน้ำอยู่กลาง เชิงเทินดินสูงประมาณ ๓ เมตร กว้างประมาณ ๖ เมตร คูน้ำกว้างประมาณ ๒๐ เมตร
ลักษณะภูมิประเทศแนวทั่วไปเป็นที่คันดินสูง ๆ ต่ำ ๆ มีหนองน้ำและลำน้ำขาดตอนเป็นห้วง ๆ เรียกแต่ละห้วงว่า "กุด" มีกุดทอง กุดฮี กุดโด กุดลอบ กุดหล่ม กุดหล่มม้อง กุดอ้อ กุดบอน กุดสระบัว กุดฟ้าฮ่วน เป็นต้น กุดเหล่านี้น่าจะเกิดจากการขุดแต่งของชาวนครจัมปาศรีโบราณ เพื่อกักน้ำไว้อุปโภคบริโภค และเป็นคูเมืองป้องกันข้าศึกด้วย
บริเวณเมืองยังพบเศษกระเบื้อง เศษดินเผา จำพวกหม้อไหแตกกระจายอยู่ทั่วไป แสดงว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และยังมีโบราณสถานประเภทกู่ ซึ่งหมายถึงปรางค์ที่ก่อด้วยศิลาอยู่หลายกู่ เช่น กู่สันตรัตน์ กู่น้อย และศาลานางขาว เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐ เป็นเจดีย์ในสกุลช่างสมัยปัลลวะอยู่ถึง ๒๕ องค์

  • หลักฐานที่พบ

เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ ๗ ขอนแก่น ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดมหาสารคามด้วย ได้ทำการขุดบริเวณนครจัมปาศรี ที่อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ระหว่างวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ถึง วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๒ ได้พบโบราณวัตถุ คือ
๑. พระพิมพ์ดินเผา ที่สมบูรณ์ ๘๘๗ ชิ้น ที่ไม่สมบูรณ์ประมาณ ๑๑๓ ชิ้น และที่แตกหักจำนวน ๑๘,๒๕๗ ชิ้น
๒. ยอดสถูปสัมฤทธิ์ ๑ ชิ้น
ส่วนที่เป็นองค์สถูป และแผ่นทองรองรับได้หายไป เพราะการขุดค้นของประชาชน ซึ่งได้ขุดก่อนเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๒๒ เจ้าหน้าที่ได้ติดตามรวบรวมมาประกอบกันได้สำเร็จทั้งองค์ โดยพบองค์สถูป ซึ่งบรรจุตลับพระบรมสารีริกธาตุอยู่กับนายบุญจันทร์ เกษแสนศรี และแผ่นทองคำรูปกลีบบัวกับแผ่นทองสัมฤทธิ์รูปดอกบัวบานที่รองรับองค์สถูป อยู่กับนายธีรยุทธ พลีสิงห์
๓. เศษแผ่นทองคำ ๒ ชิ้น
๔. แม่พิมพ์ดินเผาชำรุด ๑ ชิ้น
๕. จารึกอยู่หลังพระพิมพ์บางชิ้น มี ๒ แบบคือ แบบขีดลงบนแผ่นดินเผาและแบบ เขียนด้วยอักษรสีแดง

  • เส้นทางเข้าสู่เมืองนครจัมปาศรี

เดินทางจากตัวอำเภอนาดูน ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตามถนนอำเภอนาดูน-ปากทาง ไปยังอำเภอวาปีปทุม ประมาณ ๒ กิโลเมตร แล้วแยกจากถนนลงไปยังทุ่งนาทางทิศเหนือราว ๑๐๐ เมตร