แหล่งโบราณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - แหล่งโบราณคดีภูพระบาท

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

แหล่งโบราณคดีภูพระบาท

ภาค     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด  อุดรธานี

  • สถานที่ตั้ง เทือกเขาภูพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
  • ประวัติความเป็นมา

บริเวณเทือกเขาภูพานนี้มีโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมายทั้งในสมัยก่อน ประวัติศาสตร์และในสมัยประวัติศาสตร์ ซึ่งส่วนมากจะเป็นโบราณวัตถุในศิลปะสมัยทวาราวดี ลพบุรี และล้านช้าง
ความสำคัญของแหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีปรากฏในตำนานอุรังคธาตุที่ว่าด้วยเรื่อง ราวของบ้านเมืองโบราณและศาสนสถานที่ในภาคอีสาน ที่เกี่ยวข้องกับภูพระบาทก็คือพระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาทรงทรมานและโปรดสั่ง สอน

  • ลักษณะทั่วไป

แหล่งโบราณคดีบนภูพระบาทนั้นอยู่ในพื้นที่ป่าไม้เบญจพรรณที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เรียกว่า "ป่าเขือน้ำ" และยังมีโขดหินรูปร่างแปลกมากมาย ซึ่งเกิดจากการเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็งในยุคหลายล้านปีมาแล้ว ดังนั้น โบราณสถานและโบราณวัตถุที่พบบนเทือกเขาภูพระบาทนี้ จึงมีลักษณะแปลกกว่าที่อื่นที่เคยพบในประเทศไทย คือ ในบริเวณนี้ไม่ปรากฏโบราณสถานที่ก่อสร้างโดยฝีมือมนุษย์โดยตรง แต่เป็นการตกแต่งดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติให้เป็นสถานที่เคารพ บูชาอันศักดิ์สิทธิ์ เช่น ตกแต่งโขดหินให้เป็นสถูปแล้วปักใบเสมาล้อมรอบ ได้แก่ หอนางอุสา ดัดแปลงเพิงหินโดยการสกัดใต้เพิงให้เรียบ เพื่อเป็นที่ทำศาสนกิจและปักใบเสมาล้อมรอบไว้ ได้แก่ คอกม้าท้าวบารส คอกม้าน้อย เป็นต้น หรือการสกัดหินเป็นรูปรอยพระพุทธบาท

กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเขตโบราณสถาน และ ประกาศเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ครอบคลุมพื้นที่ ๓,๔๓๐ ไร่ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๔

  • หลักฐานที่พบ

๑. พระพุทธบาทบัวบก ตั้งอยู่ภายในวัดพระพุทธบาทบัวบก เดิมเป็นภาพสกัดรอย รอยพระพุทธบาทบนลานหินธรรมชาติ ต่อมาได้สร้างรอยพระพุทธบาทจำลองทับไว้ภายในพระธาตุเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยมแบบ องค์พระธาตุพนม
๒. พระพุทธบาทหลังเต่า ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระพุทธบาทบัวบก มีลักษณะเป็นพระบาทสกัดลงไปในพื้นหิน ใจกลางรอบพระบาทสลักเป็นรูปดอกบัว กลีบแหลมนูนขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจนและเนื่องจากพระพุทธบาทแห่งนี้ตั้งอยู่ ใกล้หินธรรมชาติรูปร่างคล้ายเต่า จึงเรียกว่า พระพุทธบาทหลังเต่า
๓. พระพุทธบาทบัวบาท ตั้งอยู่บนเนินเขาในตำบลเมืองพาน นอกจากพบพระพุทธบาทจำลองแล้วยังพบใบเสมาทรายสกัดเป็นรูปบุคคล ศิลปะแบบทวาราวดีเป็นจำนวนมากอีกด้วย
๔. ศาสนสถานที่ดัดแปลงจากโขดหินธรรมชาติ
๕. ใบเสมาหินทราย
๖. พระพุทธรูปและรูปเคารพแกะสลักหินทราย
๗. ภาพเขียนสีที่ถ้ำคน ถ้ำวัวแดง ถ้ำลายมือ และถ้ำโนนสาวเอ้
๘. ขวานหิน

นอกจากนี้ยังมีสถานที่สำคัญ เช่น คอกม้าบารส คอกม้าน้อย หอนางอุสา บ่อน้ำนางอุสา กี่นางอุสา วัดพ่อตา วัดลูกเขย ถ้ำนายอุทัย (ถ้ำห้วยหินลาด) ถ้ำพระ ถ้ำวัวถ้ำคน ถ้ำฤาษี ถ้ำพระเสี่ยง หีบศพนางอุสา หีบศพบารส ซึ่งแต่ละสถานที่ก็จะมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง

  • เส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีภูพระบาท

จากจังหวัดอุดรธานีไปตามเส้นทางสายอำเภอบ้านผือ จะพบแนวเทือกเขาภูพาน ภูพระบาทอยู่บนเทือกเขาภูพาน