วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
15/01/2009
ที่มา: 
ประเพณีไทยดอทคอม http://www.prapayneethai.com

ถ้ำเขาสามบาตร

ภาค     ภาคใต้
จังหวัด  ตรัง

  • สถานที่ตั้ง ถ้ำเขาสามบาตร ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ ๔ ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง
  • ประวัติความเป็นมา

๑. จากตำนานปริศนาลายแทงเขาสามบาตร ซึ่งชาวบ้านแถบนั้นเล่าสืบต่อกันมาว่า ภายในถ้ำเขาสามบาตรนี้ได้มีผู้นำเอาทรัพย์สมบัติมาซุกซ่อนเอาไว้มากถึง ๓ บาตรพระ และยังได้ผูกปริศนาลายแทงเอาไว้ว่า "ขึ้นต้นขาม (มะขาม) ข้ามต้นทึง (กระทิง) ถึงต้นข่อยคอย (ก้ม) ลงมา ไม้ค่า (แค่) วา คัดออก ใครทายออกกินไม่รู้สิ้น" และเล่ากันว่ามีเจ้านายคนหนึ่งขี่ช้างมาแก้ปริศนานั้นตกจึงได้เอาสมบัติไป หมดแล้ว
๒. จากการสำรวจทางโบราณคดี ในปัจจุบันถ้ำเขาสามบาตร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณคดีแล้ว มีรายงานของคณะสำรวจหลายคณะที่ได้เข้าสำรวจถ้ำเขาสามบาตรดังนี้
๑) สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เสด็จมาสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ และได้ทรงบันทึกถึงการพบร่อยรอยบันทึกบนผนังถ้ำ และทรงวินิจฉัยว่า เป็นตัวอักษรไทยสมัยอยุธยาแบบเดียวกับที่วัดป่าโมกข์ ร่วมสมัยพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. ๒๒๕๒-๒๒๗๕)
๒) นายวรรณยุทธ ณ วิลาศ จากหน่วยศิลปากรที่ ๙ เข้ามาสำรวจเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ และรายงานว่าเป็นถ้ำที่มีหนังสือไทยจารึกไว้บนผนังถ้ำ
๓) คณะสำรวจแหล่งโบราณคดี จากกองโบราณคดีกรมศิลปากรเข้ามาสำรวจเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ และรายงานไว้ว่าพบจารึกอักษรไทยสมัยอยุธยา และหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น เศษภาชนะดินเผา และเครื่องมือหิน
๔) คณะชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง เข้าทำการสำรวจเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ และรายงานว่าพบหลักฐานทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์อยู่ร่วมกัน และยังได้ค้นพบหลักฐานชิ้นใหม่เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือภาพเขียนสีแดง เป็นรูปภาพคล้ายภูเขาสามลูกต่อกัน อยู่ในซอกผนังถ้ำเขาสามบาตร

  • ลักษณะทั่วไป

ถ้ำเขาสามบาตรเป็นถ้ำแห้ง ปากถ้ำกว้างประมาณ ๔ เมตร และอยู่สูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๓-๔ เมตร ทางขึ้นสู่ถ้ำชันมาก ปากถ้ำกว้างประมาณ ๔ เมตร เพดานถ้ำมีลักษณะโค้งรูปโดม ตามผนังทั้งสองข้างมีหลืบเป็นซอกเล็ก ๆ หลายหลืบ ถ้ำเขาสามบาตรแบ่งออกได้ ๔ ส่วนดังนี้
๑. ถ้ำส่วนหน้า คือส่วนที่เริ่มตั้งแต่ปากถ้ำ เข้าไปประมาณ ๔ เมตร จนถึงส่วนที่พื้นถ้ำค่อยลาดต่ำลงกว่าส่วนหน้า
๒. ถ้ำเสาภูมิ ส่วนนี้เริ่มต้นจากบริเวณพื้นถ้ำที่เริ่มลาดชันลงไปจนถึงส่วนที่มีหินงอกลง มาจากเพดานถ้ำ เป็นรูปเสาค้ำยันถ้ำ ชาวบ้านเรียกเสาหินนี้ว่า เสาภูมิ
๓. ถ้ำพระ เป็นส่วนที่ ๓ ของถ้ำเขาสามบาตร เริ่มต้นจากส่วนที่ติดต่อจากถ้ำเสาภูมิ (เสาหินงอก) ไปจนถึงช่องทะลุด้านหลังสุดของถ้ำทางทิศใต้ บนเพดานถ้ำมีช่องแสงลอดลงมาได้ทำไม่มืดมาก ที่เรียกส่วนนี้ว่าถ้ำพระเพราะในอดีตเคยมีพระพุทธรูปปูนปั้นอยู่องค์หนึ่ง แต่ปัจจุบันได้พังทลายไปแล้ว
๔. ถ้ำน้ำ เป็นถ้ำที่แยกจากส่วนถ้ำพระไปตามซอกแคบ ๆ ยาวประมาณ ๓ เมตร ภายในถ้ำน้ำมีลักษณะกว้าง เพดานถ้ำไม่สูงนัก ภายในถ้ำมีทางออกได้อีกทางหนึ่งบริเวณทิศเหนือ สูงจากระดับพื้นดินประมาณ ๑๗ เมตร

  • หลักฐานที่พบภายในถ้ำเขาสามบาตร

ภายในถ้ำเขาสามบาตรมีหลักฐานในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และหลักฐานสมัยประวัติศาสตร์ จำแนกหลักฐานได้ดังนี้
๑. หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์
๑.๑ ภาพเขียนสี รูปทรงคล้ายภูเขาสามลูกต่อกัน ซึ่งเขียนด้วยสีแดง อยู่บริเวณซอกผนังถ้ำทางด้านซ้ายมือห่างจากปากถ้ำประมาณ ๓ เมตร ในถ้ำส่วนหน้า ภาพเขียนสีนี้อยู่บนผนังที่สูงจากพื้นถ้ำประมาณ ๑.๕ เมตร
๑.๒ เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ที่มีเนื้อดินหนา สีแดง และสีดำ รูปทรงแตกต่างกันหลายรูปแบบ หลักฐานเหล่านี้พบมากบริเวณส่วนถ้ำเสาภูมิ ถ้ำพระ และถ้ำน้ำ
๑.๓ พบเครื่องมือหิน ขวานหินขัด เปลือกหอย และลูกปัดที่ทำด้วยเปลือกหอย
๒. หลักฐานสมัยประวัติศาสตร์
๒.๑ จารึกบนผนังถ้ำ เป็นจารึกที่เขียนด้วยอักษรไทยร่วมสมัยอยุธยา เขียนด้วยสีแดงบนพื้นสีขาว เป็นบันทึกที่บอกเรื่องราวการประดิษฐานพระพุทธรูปในถ้ำ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๗ จารึกนี้พบบริเวณถ้ำส่วนหน้า สูงจากพื้นถ้ำประมาณ ๓ เมตร
ข้อความจารึกมีดังนี้

"กำไวเมือพระบาดเจ้าพระเพด พระศรีค่งพระพรมพระพุทรัก ษาแลเจาเน่นทังหลายมาเลิกสาด สนาพระเจาในเขาสะบาปและพระเจานัน ธรรมาณรายมา... แลวแลพระบาดเจ้ามาเปนพระ...แก...ขุนนางกรมการทัง...เมืองแลสัปรุศชายญ...ให้ เลิกสาศนาพระพุท่เจา กํบริบูน แลวแลสัปรุศ...ชวนกันฉลองกุสลบุญแล เพือวาจะปรา ถนาพ่นจากทุก...หาสุ่กกุราชได้สองพัน ร้อยหาสิบ เจ็ดปี เจดวันนันแล...สุ่กกุราชใด...ปี เมือญกพระเจาวัน สุกเดือนเจดขึ้นสองค่า...นักสัตร่ฉสบกบอก ไวให้เปน... สิน...
แลผูจํ...นาไปเมือหน้า"

แปลความได้ว่า พุทธบริษัท มีพระภิกษุ เณร ขุนนาง กรมการเมือง และสัปบุรุษชายหญิง ได้มายกพระพุทธรูปของเดิมซึ่งชำรุดนั้น บูรณะให้ดีขึ้นสมบูรณ์ แล้วร่วมกันฉลองแห่ส่วนบุญกุศล ปรารถนาให้พ้นจากทุกข์

๒.๒ เศษภาชนะดินเผา เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มีเนื้อดินสีขาว เนื้อดินละเอียด รูปทรงคล้ายคณโฑ มีพวยแบบกาน้ำซึ่งพบอยู่บริเวณถ้ำน้ำ มีทั้งแบบมีลายเชือกทาบและแบบเรียบมีสีดำ สีแดง บางภาชนะมีขาลักษณะคล้ายหม้อสามขา
๒.๓ เปลือกหอย มีทั้งหอยน้ำจืดและน้ำเค็ม หอยประเภทสองฝาและหอยฝาเดียว
๒.๔ พบพระดินดิบมาก กองอยู่ในถ้ำเสาภูมิ แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปหมดแล้ว

  • เส้นทางเข้าสู่ถ้ำเขาสามบาตร

จากตัวเมืองจังหวัดตรังไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๕ กิโลเมตร จะถึงเขาสามบาตรซึ่งเป็นภูเขาลูกโดดขนาดย่อม ตั้งอยู่ในเขตธรณีสงฆ์วัดไพรสณฑ์ หมู่ที่ ๔ ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรัง