วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
19/01/2009
ที่มา: 
มรดกใต้ดอทคอม http://www.moradokthai.com

ดนตรีหนังตะลุง

ดนตรีหนังตะลุงในอดีต มีความเรียบง่าย ชาวพื้นบ้านในท้องถิ่นประดิษฐ์ขึ้นได้เอง โดยใช้วัสดุในพื้นบ้าน มีทับ กลอง โหม่ง ฉิ่ง เป็นสำคัญ ปี่ ซอ เกิดขึ้นภายหลังก็คงใช้วัสดุพื้นบ้านอยู่ดี ต่อมาวัฒนธรรมภายนอกโดยเฉพาะดนตรีไทยสากล หนังตะลุงจึงเพิ่มดนตรีใหม่ๆ เข้ามาเสริม เช่น กลองชุด กีตาร์ ไวโอลีน ออร์แกน จำนวนลูกคู่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ค่าราดเพิ่มขึ้น ยิ่งในปัจจุบันคนยากจนไม่มีทุนรอนพอที่จะรับหนังตะลุงไปแสดงได้เลย

  • ดนตรีหนังตะลุง คณะหนึ่งๆ มีดังนี้

    ๑.ทับ ครื่องกำกับจังหวะและท่วงทำนอง ที่สำคัญที่สุด ผู้บรรเลงดนตรีชิ้นอื่นๆ ต้องคอยฟังจังหวะยักย้ายตามเพลงทับ ที่นิยมใช้มีถึง ๑๒ เพลง คือ เพลงเดิน เพลงถอยหลังเข้าคลอง เพลิงเดินยักษ์ เพลงสามหมู่ เพลงนาดกลายออกจากวัง เพลงนางเดินป่า เพลงสรงน้ำ เพลงเจ้าเมืองออกสั่งการ เพลงชุมพล เพลงยกพล เพลงยักษ์ และเพลงกลับวัง ผู้ชำนาญที่เรียกว่ามือทับเท่านั้นจึงสามารถตีทับครบ ๑๒ เพลงได้ ทับหนังตะลุงมี ๒ ใบ ใบหนึ่งเสียงเล็กแหลม เรียกว่า "หน่วยฉับ" อีกใบหนึ่งเสียงทุ้ม เรียกว่า "หน่วยเทิง" ทับหน่วยฉับเป็นตัวยืน ทับหน่วยเทิงเป็นตัวเสริม หนังตะลุงในอดีตมีมือทับ ๒ คน ไม่น้อยกว่า ๖๐ ปีมาแล้วใช้มือทับเพียงคนเดียว ใช้ผ้าผูกไขว้กัน บางคนวางบนขา บางคนวางขาข้างหนึ่งบนทับ กดไว้ไม่ให้ทับเคลื่อนที่

    โดยทั่วไป ทับนิยมทำด้วยแก่นไม้ขนุน ตบแต่งและกลึงได้ง่าย ตัดไม้ขนุนออกเป็นท่อนๆ ยาวท่อนละประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ฟันโกลนด้วยขวานให้เป็นรูปคล้ายกลองยาว นำมาเจาะภายใน และกลึงให้ได้รูปทรงตามต้องการลงน้ำมันชักเงาด้านนอก หุ้มด้วยหนังค่าง ตรงแก้มทับร้อยไขว้ด้วยเชือกด้วยหรือไนลอน ร้อยด้วยหวาย ลอดเข้าในปลอกหวายส่วนหลัง ดึงหวายให้ตึงเสมอกัน ก่อนใช้ทุกครั้ง ต้องชุบน้ำที่หนังหุ้ม ใช้ผ้าขนาดนิ้วก้อยอัดที่แก้มทับด้านใน ทำให้หนังตึงมีเสียงไพเราะกังวาน

    ๒.โหม่ง เป็นเครื่องกำกับการขับบทของนายหนัง โหม่งมี ๒ ใบ ร้อยเชือกแขวนไว้ในรางไม้ ห่างกันประมาณ ๒ นิ้ว เรียกว่า "รางโหม่ง" ใบที่ใช้ตีเป็นเหล็กมีเสียงแหลมเรียกว่า "หน่วยจี้" อีกใบหนึ่งเสียงทุ้ม เรียกว่า "หน่วยทุ้ม" ในอดีตใช้โหม่งราง โหม่งลูกฟากก็เรียก ทำด้วยเหล็กหนาประมาณ ๐.๔ เซนติเมตร ยาว ๑๐ นิ้ว กว้าง ๔ นิ้ว อัดส่วนกลางให้เป็นปุ่มสำหรับตี ส่วนโหม่งหล่อใช้กันมาประมาณ ๖๐ ปี หล่อด้วยทองสำริดรูปลักษณะเหมือนฆ้องวง  การซื้อโหม่งต้องเลือกซื้อที่เข้ากับเสียงของนายหนัง อาจขูดใต้ปุ่มหรือพอกชันอุงด้านใน ให้มีใยเสียงกลมกลืนกับเสียงของนายหนัง ไม้ตีโหม่งใช้อันเดียว ปลายข้างหนึ่งพันด้วยผ้าหรือสวมยาง ทำให้โหม่งมีเสียงนุ่มนวล และสึกหรอน้อยใช้ได้นาน

    ๓.ฉิ่ง ใช้ตีเข้าจังหวะกับโหม่ง คนตีโหม่งทำหน้าที่ตีฉิ่งไปด้วย กรับเดี๋ยวนี้ไม่ต้องใช้ นำฝาฉิ่งกระแทรกกับรางโหม่งแทนเสียงกรับได้


    ๔.กลองตุก มีขนาดเล็กกว่ากลองมโนห์รา รูปแบบเหมือนกัน ใช้ไม้ ๒ อัน โทนใช้ตีแทนกลองตุกได้


    ๕.ปี่ หนังตะลุงใช้ปี่นอกบรรเลงเพลงต่างๆ ถือเอาเพลงพัดชาเป็นเพลงครู ประกอบด้วยเพลงไทยเดิมอื่นๆ ได้แก่ เพลงสาวสมเด็จ เขมรปี่แก้ว เขมรปากท่อ ชะนีกันแสง พม่ารำขวาน พม่าแทงกบ สุดสงวน เขมรพวง ลาวดวงเดือน เพลงลูกทุ่งหลายเพลงอาศัยทำนองเพลงไทยเดิม คนเป่าปี่ก็เล่นได้ดี แม้เพลงไทยสากลที่กำลังฮิต ปี่ ซอ ก็เล่นได้ โดยไม่รู้ตัวโน๊ตเลย ซออู้ ซอด้วง ประกอบปี่ ทำให้เสียงปี่มิเล็กแหลมเกินไป ชวนฟังยิ่งขึ้น ปี่ ซอ สามารถยักย้ายจังหวะให้ช้าลงหรือเร็วขึ้นตามจังหวะทับได้อย่างกลมกลืนและลงตัว

  •  การบรรเลงดนตรีหนังตะลุง แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ

    ๑.บรรเลงดนตรีล้วน เช่น ยกเครื่อง ตั้งเครื่อง ลงโรง
    ๒.บรรเลงเพลงประกอบการรับบท ขึ้นบท ถอนบท เลยบท เชิด บรรเลงประกอบการขับกลอนแปด กลอนคำกลอน กลอนลอดโหม่ง ประกอบการบรรยาย อิริยาบทของตัวละครและบรรเลงประกอบบทบาทเฉพาะอย่าง เช่น บทโศก ลักพา ร่ายมนต์

     ปัจจุบันนี้ ดนตรีหนังตะลุงเปลี่ยนแปลงไปมาก มีเครื่องดนตรีมากขึ้น บางท่านว่าเป็นการพัฒนาให้เข้ากับสมัยนิยม แต่เป็นการทำลายเอกลักษณ์ของดนตรีหนังตะลุงไปอย่างน่าเป็นห่วง เวลา ๑๒.๐๐ น. ของวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๐ มีนายหนังระดับปริญญาโท ๒ ท่าน คือ หนังนครินทร์ชาทอง จังหวัดสงขลา หนังบุญธรรม เทอดเกียรติชาติ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ให้สัมภาษณ์ออกทีวีช่อง ๙ ยอมรับในความลืมตัวของนายหนังรุ่นใหม่ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง โอกาสการแสดงน้อยลง ลูกคู่ยิ่งหายาก เพราะไม่มีคนสืบสานต่อ นี่เป็นลางบอกให้ทราบล่วงหน้า หนังตะลุงสัญลักษณ์ของภาคใต้ จะลงเอยในรูปใด
          


ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ