ปั๊กกะตืนตักข้าว ภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องการเคารพธรรมชาติ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

ปั๊กกะตืนตักข้าว ภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องการเคารพธรรมชาติ
ศรี จันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน

 

แม่ล้อมหญิงชราวัยหกสิบกว่า กำลังอธิบายการอ่านปั๊กกะตืนตักข้าวแก่กลุ่มเด็กนักเรียนที่สนใจ โดยมีอารี เด็กหญิงหน้าตาน่ารักตั้งคำถามถามแม่หลวงอย่างสนใจ เด็ก ๆ กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ ที่ไม่เคย รู้จักมาก่อนทั้งที่ตนเองเป็นสมาชิกคนหนึ่งในหมู่บ้าน ยิ่งสนใจศึกษายิ่งรู้ว่าสิ่งที่คุณครูบอกในห้องเรียนช่างน้อยนิด พวกเขาเรียนรู้สังคมในเมือง บางครั้งไปไกลถึงต่างแดน นอกโลกคุณครูยังเคยสอน แต่พอเอาเข้าจริง ๆ สิ่งที่มี หรือเรื่องราวใกล้ตัวในหมู่บ้านกลับไม่เข้าใจ

ปั๊กกะตืนตักข้าว ยันต์ตักข้าว ไม้ตักข้าว หรือปฏิทินตักข้าวของคนภาคเหนือ เป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งของ อย่างเดียวกัน ใช้เป็นตำราหรือปฏิทินในการตักข้าว เป็นการกำหนดวันเพื่อตักข้าวออกจากยุ้งฉาง ไม่ว่าจะตัก เพื่อนำไปตำ นำไปสี ตักเพื่อขาย ตักเพื่อแบ่งปันให้ผู้อื่น ตักเพื่อนำไปทำบุญทำทาน หรือตักไปทำพันธุ์ เป็นต้น ในปั๊กกะตืนตักข้าวจะบอกว่าวันไหนเป็นวันดีหรือเป็นวันเสียที่ไม่ควรตักข้าวออกไปใช้

ปั๊กกะตืนตักข้าว ทำมาจากไม้เนื้อแข็ง พวกไม้สัก ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้เหียง หรือไม้ตึง นำมาตัดเป็น ท่อนถากให้เกลี้ยง กว้าง 2.5 - 3 นิ้ว ยาว 12 นิ้ว แบ่งตามแนวยาวเป็นสองซีกซ้ายขวา ด้วยรอยขีดลึกเป็นร่อง ตรงกลาง แนวขวางจะแบ่งเป็นช่อง ช่องละเท่ากัน 15 ช่อง รวมซ้ายขวาก็จะได้ทั้งหมด 30 ช่อง ด้านบนสุด ทำเป็นรูปโค้งเจาะรูตรงกลางเพื่อใช้เชือกร้อยสำหรับแขวนเก็บ ถัดจากรูร้อยเชือกลงมา ด้านซ้ายเจาะเป็น รูปวงกลมเป็นสัญลักษณ์แทนข้างขึ้น ส่วนด้านขวาเจาะเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวแทนข้างแรม นับจากด้านบนลงมา จะเป็นข้างขึ้นหรือแรมหนึ่งค่ำ สองค่ำ สามค่ำ ลงมาจนกระทั่งด้านล่างสุดจะเป็นสิบห้าค่ำ ในแต่ละช่องซ้ายขวา จะเจาะรูเป็นรูปวงกลมเล็ก ๆ บางช่อง 1 รู 2 รู 3 รู หรือมากกว่า หรือบางช่องไม่เจาะรูไว้เลย

การเจาะรูตามช่องต่าง ๆ นั้น แม่ล้อมอธิบายว่า เป็นการบอกว่าวันไหนควรตักข้าวหรือวันไหนไม่ควรตัก จำนวนจุดจะแทนจำนวนผีที่จะคอยมากินข้าวของชาวบ้าน ถ้าตักข้าววันที่มีรูในปั๊กกะตืนมากผีก็จะมีมาก เชื่อว่า ผู้เป็นเจ้าของข้าวจะเกิดความเสียหายต่าง ๆ เช่น ข้าวอาจร่วงหล่น หรือข้าวในยุ้งจะหมดเร็ว ขายข้าวไม่ได้หรือได้ ในราคาต่ำ อาจถูกคดโกง กล่าวคือ ผีที่คอยจ้องทำลายจะทำความเสียหายต่าง ๆ แก่เจ้าของข้าว ที่เรียกว่า ขึด ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าสิ่งใดที่บรรพบุรุษ ผู้เฒ่าผู้แก่ห้ามไม่ให้ทำ แต่ไม่เชื่อผู้นั้นจะเจอสิ่งชั่วร้าย เสียหายแก่ตนเอง และทรัพย์สิน

ชาวบ้านจะแขวนปั๊กกะตืนตักข้าวไว้ที่ถุข้าวหรือหลองข้าว (ยุ้งข้าว) หรือถุข้าวม่อ (แหล่งเก็บข้าวที่นำออก มาใช้ได้อย่างสะดวก) ถุข้าว เป็นโรงเรือนสำหรับเก็บข้าวเปลือก เป็นเรือนไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีใต้ถุนสูง สำหรับมัดวัว ควายที่เลี้ยงไว้ใช้งาน หรือใช้เป็นที่เก็บเกวียน หลังคารูปจั่ว ด้านในโรงเรือนจะกั้น เป็นห้องมิดชิด เพื่อกันหนูเข้าไปกินข้าวเปลือก ด้านนอกจะทำเป็นชานเพื่อเป็นทางเดินโดยรอบ ใช้สำหรับเก็บเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ไถ คราด กระบุง ตะกร้า เป็นต้น ขนาดของถุข้าวจะแตกต่างกันแล้วแต่ว่าใครจะทำนาได้ข้าวมากน้อย     

ปกติช่วงเสาของถุข้าวมีระยะประมาณ 3 เมตร เพื่อให้กว้างพอที่จะแขวนแอ่วตีข้าวไว้ที่ใต้ถุนได้ด้วย

ส่วนถุข้าวม่อ อาจทำเป็นภาชนะที่เรียกว่า เสวียน เป็นภาชนะเก็บข้าวเปลือกอีกชนิดหนึ่ง ทำมาจากซีกไม้ไผ่ ขนาดกว้าง 1 - 2 นิ้ว สานเป็นลายสะลาบ ยาแนวด้วยมูลวัวควายผสมดินเหนียว เป็นรูปทรงกลม ด้านในกลวง ปูด้วยเสื่อก่อนเพราะเสวียนจะเป็นภาชนะที่ไม่มีก้น ขนาดโดยทั่วไปจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 - 2.5 เมตร สูงประมาณ 1 - 2 เมตร ใช้สำหรับใส่เจื๊อข้าว(เมล็ดพันธุ์ข้าว) หรือข้าวเปลือกที่สามารถตักนำไปใช้ได้ง่าย (ม่อ หมายถึง ง่าย)

ชาวบ้านจะเก็บข้าวไว้ในถุข้าว และถุข้าวม่อให้แยกจากกัน เพราะเวลาเกิดเหตุร้ายเช่น ไฟไหม้จะได้ เหลือข้าวไว้ที่ใดที่หนึ่ง เป็นการไม่ประมาทในการดำรงชีวิตเด็ก ๆ สงสัยว่า ทำไมคนสมัยก่อน ถึงไม่เขียน บันทึกรายละเอียดไว้เพราะอ่านง่ายกว่า ไม่ต้องมาตีความสัญลักษณ์ให้เสียเวลา แม่ล้อมไขข้อข้องใจเหล่านี้ว่า สมัยก่อนคนไม่ได้เรียนหนังสืออ่านหนังสือไม่ออก เรียกว่า คนดิบ จึงต้องทำเป็นสัญลักษณ์แทน รุ่นพ่อสอนรุ่นลูก รุ่นลูกสอนรุ่นหลานเป็นความรู้ที่ถ่ายทอดกันในครอบครัว ทุกคนปฏิบัติตาม ข้าวปลาอาหารจึงอุดมสมบูรณ์ ไม่อดอยากขาดแคลน

แม่ล้อมยังเล่าให้เด็ก ๆ ฟังว่า คนสมัยก่อนเขานับถือข้าวเป็นสิ่งมีคุณต่อชีวิตคนถ้าไม่มีข้าวคนก็อยู่ไม่ได้ คนจึงรักและทะนุถนอมข้าวไว้เหมือนพระเจ้าไม่ทิ้งขว้างโดยไม่จำเป็น บางครั้งกินข้าวเคี้ยวไปเจอหัด (กรวดที่ปนอยู่ในข้าว) ก่อนทิ้งต้องกล่าวคำขอโทษก่อน โดยกล่าวว่า"เข้าเป็นเจ้าเป็นนาย กินบ่ดายก็ลำเหียเก่า" (ข้าวเป็นเจ้านายกินเปล่า ๆ ก็ยังอร่อย) กล่าวจบจึงคายทิ้งได้

เด็กนักเรียนได้รับรู้เรื่องราวที่มีในหมู่บ้าน เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อชีวิตพวกเขา หลายอย่างที่พวกเขาเห็น ตัวอย่างจากผู้ใหญ่บางคนหรือพวกเขากระทำไปอย่างไม่ตั้งใจจนทำให้เกิดความ เสียหาย วันนี้ อารีและเพื่อน ตั้งใจว่าต่อไปจะไม่ทำอะไรที่ "ขึด" เพื่อพวกเขาจะได้มีชีวิตที่มีความสงบสุขอย่างรุ่นพ่อหลวงแม่หลวงที่ได้รับรู้มา