นิคมสร้างตนเองกิ่วลม เขต 16 ท้องถิ่นชนบทลำปางที่ยังเหลืออยู่

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

นิคมสร้างตนเองกิ่วลม เขต 16 ท้องถิ่นชนบทลำปางที่ยังเหลืออยู่
ศรี จันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน

เมื่อประมาณปี 2517 มีชาวบ้าน 2 กลุ่มที่มาอาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนี้กลุ่มแรกเป็นชาวบ้านที่อพยพมาจากการ สร้างเขื่อนกิ่วลม อีกกลุ่มเป็นชาวบ้านวังเลียบ-ทุ่งหนองที่ยากจนไม่มีที่ทำกิน ราชการได้จัดสรรป่าสงวนฯ ให้เป็น ที่ทำกิน ครอบครัวละ 15 ไร่ เริ่มแรกมีครอบครัวอพยพเข้ามาจำนวน ครอบครัว มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า หมู่บ้านนิคมสร้างตนเองกิ่วลม เขต 16 เป็น 1 เขตใน 17 เขต ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมประชาสงเคราะห์ แต่อีกประมาณ 1 ปี หลังจากนี้พื้นที่ทั้ง 17 เขต นี้จะตกอยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัดเหมือนหมู่บ้านอื่นในจังหวัดลำปาง ทางการคิดว่าการมีไฟฟ้าใช้ การตัดถนนผ่านหมู่บ้าน และระบบประปาที่มีอยู่คือ การพัฒนาที่สมบูรณ์

ก่อนที่ทางการจะจัดสรรที่ทำกินให้ชาวบ้าน ครอบครัวแรกที่เข้ามาอาศัยที่แห่งนี้คือ ครอบครัวของ ลุงชุม ป้ามอย เป็นครอบครัวที่อพยพมาจากบ้านทุ่งหนอง เข้ามาเลี้ยงควาย ทำปางควายในเขตป่าสงวนฯ เพื่อทำมาหากิน เพราะไม่มีที่ดิน ยากจน และมีลูกมาก ลุงชุม ป้ามอย เป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยมที่ยังหลงเหลืออยู่ขณะนี้

ถึงแม้หมู่บ้านแห่งนี้จะอยู่ห่างไกลความเจริญจากตัวเมืองและมีสภาพเป็นชนบทอย่างแท้จริง แต่กลับไม่ถูกเรียก "บ้านนอก" ชาวบ้านอื่นจะเรียกที่นี่ว่า "บ้านใน" แท้จริงก็คือบ้านที่อยู่ในป่านั่นเอง

สภาพแวดล้อมในสมัยนั้นเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ขนาดที่ยิงหนังสติ๊กไม่ทะลุเพราะต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น มีต้นไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80-100 เซนติเมตร อยู่มากมาย ชาวบ้านเล่าว่า เคยเห็นต้นไม้สักขนาดใหญ่ที่สุดมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 1 เมตร ต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ยังหลงเหลือตอให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

จากความสมบูรณ์ของป่าดังกล่าว จึงเป็นแหล่งกำเนิดของสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ ฟาน กระต่าย ไก่ป่า หนู จ่อน ไหน่ เห็น งูสิง ตุ่น บ่าง ฮอก กวาง หมูป่า ฯลฯ มีลำห้วยที่มีหาดทรายขาวทอดยาวสุดสายตา มีสัตว์น้ำ เช่น หอยจูบ หอยโข่ง หอยดีจ๋าน หอยเบี้ย หอยอี่เว้อ ปู ปูนา อี่ฮวก เตา เห็ดหิน ประเภทปลา เช่น ปลาดุก ปลาเสด็ด ปลาหลาด ปลาปีก ปลาหลิด ปลาปีก ปลาปก ปลาซิว ปลาสลาก ปลาตอง ปลาลิ้นหมา ปลาสุ่นทราย ปลาสะลัง ปลาค้าว ปลาเกล็ดถี่ ปลาบอก ปลาขาว ปลาน้ำบี้ แมงอี่นิ่ว แมงจอน แมงตั๊บคำ แมงเหนี่ยม ฯลฯ ที่เป็นแหล่งอาหารโปรตีนชั้นดีของชาวบ้านที่นี่

เริ่มแรกที่ชาวบ้านเข้ามาอยู่ที่นี่ยังไม่มีระบบชลประทาน แต่ท้ายหมู่บ้านจะมีลำห้วยที่ชาวบ้านเรียกว่า ห้วยหลวง ห้วยเดื่อ ห้วยทราย ห้วยก๋า นอกจากนี้ ยังมีป่าไม้ที่เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำ และลำห้วยที่เปรียบเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของคนนิคมในหลาย ๆ เขตชาวบ้านเล่าว่า ต้นน้ำจะไหลออกจากหินแล้วไหลรวมกันเป็นลำห้วย และแม่น้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งกำเนิดของน้ำตกวังงัว วังเงิน สอบถามชาวบ้านถึงชื่อของน้ำตก ชาวบ้านบอกว่าเป็นชื่อที่บรรพบุรุษเรียกมาก่อน คนรุ่นหลังอย่างพวกเขาก็เรียกตามกันมาคาดว่าถ้าไปสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่มี อายุมากกว่าลุงสง (ผู้ให้ข้อมูล) อาจจะได้คำตอบที่ชัดเจนกว่านี้ น้ำตกวังงัว วังเงินนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จฯ พระบรมราชินีนาท พร้อมพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ อาทิ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ เคยเสด็จฯ มาที่นี่ ยังความปลาบปลื้มให้พสกนิกร ในเขตนิคมกิ่วลมแห่งนี้เป็นอันมาก ชาวบ้านยังจำภาพที่ไปรอรับเสด็จฯ ผู้ใหญ่ปูผ้าขาวม้า เพื่อให้พระองค์เสด็จพระราชดำเนิน มีของป่าสำหรับถวาย เช่น กล้วย และผลไม้ต่าง ๆ ภาพเด็กที่นั่งยอง ๆ รอคอย ภาพความประทับใจเหล่านี้ชาวบ้านที่นี้ไม่เคยลืม แต่คนลำปางส่วนใหญ่ลืมไปแล้ว พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวบ้านที่นี้ ทรงให้มีการสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ สำหรับชาวบ้านนิคม ในหลาย ๆ เขต

ครั้งหนึ่งป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่นี่เกือบจะถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากนโยบายปลูกป่าของทางการให้ตัดป่าเพื่อปลูกป่า ต่อมาความอุดมสมบูรณ์เริ่มหายไป น้ำตกไม่มีน้ำ สัตว์ป่าไร้ที่อยู่อาศัย ซูเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้านเริ่มขาดแคลน แต่โชคดีที่ชาวบ้านร่วมมือกันปลูกป่าความอุดมสมบูรณ์จึงเริ่มฟื้นคืนชีพ แม้จะไม่เท่าในอดีตแต่ก็ยังถือว่าเป็นโชคดีของชาวบ้านในปัจจุบัน

ชาวบ้านเล่าว่า คนที่นี่เขารักป่าเพราะป่า คือ ชีวิต ป่ามีทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับพวกเขา เขาจะไม่ทำลายป่า แต่จะใช้ประโยชน์จากป่าเพื่อการยังชีพเท่านั้น แต่คนถิ่นอื่น โดยเฉพาะคนของทางการต่างหากคือตัวการในการทำลายป่า พวกเขาจะใช้อำนาจและความได้เปรียบทางสังคมเข้าไปขนเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในป่าแห่งนี้เพื่อนำไปขาย และหาผลประโยชน์สำหรับตนเองและพรรคพวก ชาวบ้านรู้แต่ไม่สามารถจัดการอะไรได้ เพราะความซื่อและไร้การศึกษา ชาวบ้านกลัวอิทธิพล เพราะถ้าใครกล้าไปขวาง นั่นหมายถึงชีวิต ชาวบ้านสงสัยว่านี่หรือ คือ การกระทำของคนชั้นปกครอง ที่มีการศึกษา มีวัตถุและได้รับการยอมรับในสังคมมากกว่าพวกชาวบ้านตาดำ ๆ อย่างพวกเขา

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมหัศจรรย์อีกหลายอย่างตามความคิดของชาวบ้าน เช่น "หลุมน้ำโผล่" เป็นหลุมที่มีน้ำออกมาเหมือนน้ำพุแต่น้ำจะเป็นน้ำเย็น น้ำจะออกในฤดูแล้งเท่านั้น และบางปีก็ออก บางปีก็ไม่ออก ไม่มีใครบอกเหตุผลตรงนี้ได้ นอกจากนี้ ยังมี "จำ" เป็นอ่างที่มีน้ำขังอยู่ในบริเวณที่กว้างและลึก มีน้ำไหลออกจากจำ แต่พอลงมาข้างล่างน้ำจำกลับไม่เห็นน้ำที่ไหลออกมา ชาวบ้านตอบไม่ได้เช่นกันว่า น้ำ มันหายไปไหน สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติที่รอการพิสูจน์

นอกจากมีลำห้วยดังกล่าวแล้ว ยังมีหลุม บวก (แหล่งน้ำขัง) เด่น เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้จะมีชื่อที่แสดงความเป็นเจ้าของ แต่เจ้าของไม่หวง ทุกคนในหมู่บ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ เพียงแค่เรียกชื่อ ให้เป็นที่นัดหมายเวลาพบกันแค่นั้นเอง ชื่อดังกล่าว ได้แก่ หลุมป้อเปี้ย หลุมอ้ายเลี่ยน หลุมอ้ายตื้อ หลุมอ้ายหลาน หลุมลุงมุ่น บวกบ่าป้อง บวกอ้ายอาด บวกอ้ายตื้อ บวกลุงชุม บวกลุงศรีวรรณ บวกลุงมี เด่นอินตา หนองเมา หนองไผ่ล้อม เป็นต้น

ชาวบ้านที่นี่จะมีซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นเยี่ยม คือป่า เป็นสถานที่ที่ทุกคนจะไม่ผิดหวังหลังจากที่เข้าไป ทุกคนจะมีของติดมือมาสำหรับสมาชิกในครอบครัวเสมอ ในซูเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้าน จะมีอาหารกินตามฤดูกาล มีเห็ดนานาชนิด เช่น เห็ดหล่ม เห็ดโคน เห็ดขะหล่าน ขะเหลียง เห็ดแดง เห็ดลม เห็ดมัน เห็ดไร่ เห็ดจั่น เห็ดหอม เห็ดไคร้ เห็ดหน้าม้า เห็ดหน้าม่อยหน้ามอม เห็ดขมิ้น เห็ดหัวเข่า เห็ดโจ๋โหล เห็ดถ่าน เห็ดหาด เห็ดถอบ เห็ดข่า ฯลฯ

มีผักป่า เช่น ผักตุ๊ด ผักนางจม ผักกระเจ๊าะ บุก ดอกก้าน หอมป้อมเป้อ ผักกูนก ผักก้นถุง ผักปู่ย่า ผักเผ็ด ผักแค ผักปาบ ผักแป๋ว มีหน่อไม้ เช่น หน่อไม้ไผ่ หน่อไม้ฮวก หน่อไม้ซาง หน่อไม้บง หน่อไม้ไร่ ผักแคบ ผักสลิด บ่าหลิดไม้ ผักลิ้นแลน ผักป้อก้าตี๋เมีย ผักก้อแก้ ผักเอื้องหมายนา ผักปู่เลย ผักแซ่ว บ่าน้ำ บ่าแฮะ บ่านอย ผักปั๋ง ผักต้าง ผักเสี้ยน ผักหม ถั่วแดง เป็นต้น

มีสัตว์ป่า ได้แก่ ฟาน หมูป่า ไก่ป่า กระต่าย ดังที่กล่าวไปข้างต้น นอกจากนี้ ยังมีนก เช่น นกคุ่ม นกแซว นกอีปู่ นกสามปี๋ นกแคะ นกกระถาบ นกบ่าแฮ้ นกจอก นกจอกนางฟ้า นกเป้า นกเขา นกไข่เล่า นกจี๋เจียบโค่ง นกปิ๊ดจะลุ่ม นกติ๊ดตี่ นกหวัก นกก๋าน้ำ นกเก๋า นกเป็ดน้ำ นกก๋อแก๋ นกก้นปู้ด นกเก๊า นกกวัก เป็นต้น

แมลงหรือแมงกินได้ เช่น ตั๊กแต๋นคา ตั๊กแต๋นอี่โป ตั๊กแต๋นเข้า จักจั่นโฮ่ จักจั่นโตด อึ่งข้างลาย อึ่งค่าว เขียดคา เขียดอีแอ้ม เต่า แมงนูน แมงกอม ด้วง จี้กุ่ง แมงมัน จ๊วก กว่างงวง กว่างแม่อี่ลุ่ม กว่างกิ กว่างโซ้ง กว่างแซม เป็นต้น

มีผลไม้ป่าที่เป็นอาหารเลิศรสของเด็ก ๆ ได้แก่ บ่ามื่น บ่าเกิ้ม บ่าต้นขอ ฝักกล้วยไม้ (ใส่ข้าวแล้วเผากิน) นมแมว นมงัว บ่าค่า ซอมพอ บ่าเม้า บ่าลิ้นแลน บ่าเคาะ บ่าม่วงขี้ขะยะ บ่าหำฟาน เป็นต้น

มีดอกไม้ป่าที่สวยงามสำหรับอ้ายนอกบ้านนอกไว้ เพื่อมอบให้สาวคนรัก จะมีในทุกฤดูกาล เช่น ดอกคราม ดอกกล้วยไม้ ดอกลมแล้ง เป็นต้น การจีบสาวของหนุ่มบ้านนอกจะต้องจีบตอนกลางคืน ถ้าหนุ่มไหนที่จีบสาวตอนกลางวันพ่อแม่สาวจะไม่ชอบ เพราะถือว่าขี้เกียจ ไม่ทำมาหากิน ถ้าจะจีบกันตอนกลางวันก็จะจีบช่วง การเอามื้อ (ลงแขก) ทำนา หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ของหมู่บ้านเท่านั้น การจีบสาวในตอนกลางคืน สาวบางคนอาจมีกิจกรรมที่ทำ หรือถ้าใครว่างก็นั่งคุยกันจะมีการใช้ภาษาที่ถ่ายทอดถึงความต้องการของหัวใจจากชายหนุ่มถึงหญิงสาว เช่น พอหนุ่มขึ้นไปที่บ้าน พ่อแม่ที่ชอบชายหนุ่มก็จะหลีกทางให้ทั้งสองมีโอกาสคุยกัน แต่ถ้าหนุ่มใดไม่เป็นที่พึงพอใจของพ่อแม่ก็จะถูกกลั่นแกล้ง เช่น พูดประชดประชัน ทำเสียงดัง หรือทำกิริยาที่แสดงความไม่พอใจต่าง ๆ หลังจากที่หนุ่มขึ้นไปบนบ้านสาว คำพูดส่วนใหญ่ที่จะทักก็คือ กินข้าวกับอะไร ถ้าสาวตอบว่ากินข้าวกับแกงฟัก หมายถึง สาวยอมรับรักมีไมตรีตอบ ทำให้หัวใจหนุ่มพองโตด้วยความดีใจ แต่ถ้าสาวเจ้าตอบกลับมาว่า กินข้าวกับแกงผักปั๋ง หมายถึงสาวเจ้าชิงชัง ไม่ยอมรับไมตรี หนุ่มก็อาจจะใจเหี่ยวเดินลงบันไดไป สาวบางคนอาจเป็นที่หมายปองของหนุ่มหลายคน ก็จะมีหนุ่มไปรอที่หน้าบ้านตอนกลางคืน รอให้หนุ่มคนที่ขึ้นไปบนบ้านก่อนหน้าตนกลับก่อนถึงจะสามารถขึ้นไปคุยกับสาวเจ้าได้ เพราะถ้าขึ้นไปขณะที่ยังคุยกับหนุ่มอื่นอยู่จะถือว่าเป็นการหยามเกียรติของหนุ่มบ้านนอกเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีใครเขาทำกัน ทุกคนเคารพซึ่งกันและกันเสมอ เพราะผู้ที่จะตัดสินใจเกมความรัก คือสาวเจ้านั่นเอง

นอกจากมีดอกไม้นานาชนิดแล้ว ยังมีต้นไม้สำหรับใช้สร้างบ้าน และใช้ทำเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ไม่กุ๊ก ต้นเหียง ต้นเปา ต้นสัก ต้นขะเจ๊าะ ต้นตีนนก ต้นบ่ากอก ต้นปี้ ต้นบ่าค่า ต้นแดง ต้นตึง ต้นบ่าเกิ้ม ต้นแพ่ง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะมีมากพอสำหรับคนในชุมชนและชุมชนนอก (ชุม-ชนท่าส้มป่อย เสด็จ วังเสียบ บ้านหมาก หัววัง ทุ่งหนอง)

การหากินของชาวบ้านจะหามื้อต่อมื้อ วันต่อวัน ไม่มีการสะสม ไม่มีการกักตุน ไม่มีการขาย และไม่มีการโลภ การล่าสัตว์ก็จะใช้วิธี ใส่แฮ้ว ใส่คุบ ไล่เหล่า ส่อนแซะ ผกป๋า น้ำค้าง โต้งเต้น ส่วนวิธีการหาปลาก็จะใช้เครื่องมือที่ทำขึ้นเองในหมู่บ้าน เช่น หะป๋า จ่อมเบ็ด ใส่ก้าง ใส่ซ่อน ใส่ไซ ใส่แซะ ใส่มอง ใส่แน่ง ใส่สา ใส่ขะต้ำ เป็นต้น ชาวบ้านจะอยู่กับฉันเครือญาติ พึ่งพาอาศัยกัน บ้านเล็ก ๆ หรือกระต๊อบ คือที่อยู่อาศัย ไม่มีกลอน ไม่มีประตูบ้าน ไม่มีรั้ว มิตรภาพและเพื่อนบ้านที่ดีคือรั้วที่ดีที่สุดที่ชาวบ้านคิด ไม่มีขโมย ถ้าใครเป็นขโมยจะถูกประทับตราบาปโดยสังคม จะไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย

การสร้างบ้านในสมัยนั้น จะสร้างโดยวานแรงงานจากเพื่อนบ้านในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่เลื่อยไม้ ขน จนกระทั่งสร้างเป็นบ้าน ชาวบ้านตัดต้นไม้มาใช้สำหรับให้เพียงพอกับการสร้างที่อยู่อาศัยเท่านั้น เงินไม่ใช่ปัจจัยที่จะใช้สร้างบ้าน แค่มีไก่ ฟัก เหล้าภูมิปัญญาชาวบ้าน (เหล้าเถื่อนที่ทางการเรียก) และข้าวเหนียว แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ทุกคนในหมู่บ้านเต็มใจ พร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือและทำกิจกรรมร่วมกัน ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชายจะประกอบตัวบ้าน ผู้หญิงทำอาหาร เด็ก ๆ วิ่งเล่น มีเสียงตะโกนโหวกเหวก มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะและความสนุกสนาน เป็นมิตรภาพที่ไม่ต้องลงทุนด้วย "เงิน"

การละเล่นยอดนิยม อันดับหนึ่งของเด็กที่นี่คือ ชนกว่าง จะเล่นช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวที่มีกว่างออกมา นอกจากนั้นในคืนเดือนแจ้ง เด็ก ๆ จะมารวมกลุ่มกัน เล่นกิจกรรมการละเล่นหลายอย่าง เช่น เอ็ดสะไพ ประตูหลง ยิงปืนสู้รบ เม็ดโดอ เม็ดดอแซะ บ่าบ้า เตย ตำรวจจับขโมย บ่าบ้าต๋าซุ บ่าบ้าต๋าแสง ลูกปุ้น ลูกเก็บ ไม้โกงเกง ไม้ก้องแก้ง แมงมุมขยุ้มหลังคา โอวา เขาควายจนกั๋น หญ้าควยงูจนกั๋น จนจู้จี้ เป็นต้น

พอย่างเข้าวัยรุ่นตั้งแต่ 10 ขวบ ขึ้นไป ก็จะเริ่มวิถีชีวิตพรานป่า เด็กในหมู่บ้านนี้จะเรียนรู้วิธีล่าสัตว์จาก พ่อเปี้ย และผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ผู้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่พร้อมจะถ่ายทอดความรู้ทุกอย่างให้เด็กเหล่านี้ ทุกคืนหลังอาหารค่ำ เด็ก ๆ ก็จะไปรวมกันที่บ้านพ่อเปี้ย เพื่อจะเรียนรู้วิธีจับแย้ กระต่าย งูสิง ที่บ้านพ่อเปี้ยจะเป็นแหล่งรวมของความรู้วิชาพรานป่า นับตั้งแต่เครื่องมือจับสัตว์ชนิดต่าง ๆ เครื่องมือตีมีด ดินเฝ่า (ดินประสิว) เป็นต้น บทเรียนแรกของพรานป่า เริ่มจากวิชาหาแย้ โดยใช้หนังสติ๊ก วิชาล่าแย้เป็นวิชาที่ทุกคนต้องเรียน กิจกรรมเหมือนหนังการ์ตูนคือ พอแย้วิ่งเด็กก็วิ่ง พอแย้หยุดเด็กก็หยุด เกมจะจบก็ต่อเมื่อแย้ถูกจับมัดเอวห้อยโตงเตง กิจกรรมนี้เด็ก ๆ จะทำกันช่วงกลางวัน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่าง เช่น การล่างูสิง ฯลฯ วิธีการล่างูสิงคือ เอาไม้ส้าวไปแยงกอไผ่ จะทำให้งูตกใจและเลื้อยขึ้นที่สูง เด็ก ๆ จึงเอาอาวุธที่เตรียมมาคือ หนังสติ๊กยิงงูสิง คือ อาหารที่วิเศษสุดของหมู่บ้านที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการกิน ส่วนกลางคืนก็จะส่องหนู บทเรียนต่อมาคือการส่องกระต่ายและบทเรียนที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ตามขนาดของสัตว์ที่ใหญ่ขึ้นและความยากในการล่า เช่น ไก่ป่า หมูป่า เป็นต้น ไม่มีตำรา ไม่มีหลักสูตร ไม่มีคะแนน แต่วัดความสำเร็จได้จากจำนวนสัตว์ที่ล่ามาได้ ใครที่ล่าสัตว์ใหญ่ได้ คือ ผู้ที่ผ่านหลักสูตรวิชาพรานป่า

การล่าสัตว์ใหญ่ของชาวบ้านที่เรียกว่า "ไล่เหล่า" จะมีเพียงปีละครั้งเท่านั้น เช่น อาจจะได้หมูป่าหรือแม้แต่ไก่ป่าตัวเดียว ชาวบ้านก็จะมาสุมกัน (กินด้วยกิน) ผู้หญิงจะประกอบอาหาร ผู้ชายเล่าเรื่องการผจญภัยที่ผ่านมาจากการล่าสัตว์ เด็ก ๆ วิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน เมื่ออาหารเสร็จทุกคนก็จะนั่งล้อมวงกินกัน พร้อมกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

ชาวบ้านมีอาชีพเกษตรกรทั้งหมด ยกเว้น ลุงอาดที่เป็นลูกจ้างของกรมประชาสงเคราะห์ แต่เมียและครอบครัวของลุงอาดก็คงเป็นเกษตรกรเหมือนครอบครัวอื่นในหมู่บ้าน นี้เช่นกัน

การทำเกษตรของชาวบ้านจะทำตลอดทั้งปี จากการปลูกข้าวซึ่งเริ่มในเดือนพฤษภาคม สิ้นสุดการเก็บเกี่ยวเดือนธันวาคม เดือนมกราคมจะเริ่มปลูกถั่วเหลือง มะเขือเทศ แตงกวา เป็นพืชหลัก ส่วนบางคนจะทำนารอบสอง หลังจากเพาะปลูกเสร็จชาวบ้านจะมีเวลาว่างช่วงรอการเก็บเกี่ยวผลผลิต บางส่วนจะออกไปรับจ้างตามที่ต่าง ๆ ผู้หญิงอยู่บ้านทอผ้า เพื่อใช้สำหรับสมาชิกในครอบครัว สิ่งที่ทอมีตั้งแต่เสื้อผ้าที่ใส่ ผ้าห่ม หมอน แม้กระทั่งมุ้งผ้าเมือง คนในหมู่บ้านนี้ทุกคนจะเคยใช้ของที่แม่บ้านผลิตเอง

หลังจากเกี่ยวถั่วเหลืองเสร็จประมาณมีนาคมถึงเมษายน ชาวบ้านจะสนุกสนานเต็มที่กับเทศกาลสงกรานต์ หลังสงกรานต์ก็เริ่มทำนา ชีวิตชาวบ้านจะเป็นวัฏจักรเช่นนี้ตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา มีประเพณีหลายอย่างที่น่าสนใจ เช่น ประเพณี ตานหลัวพระเจ้า งานเดือน 5 พิธีแฮกเข้าพิธีสู่ขวัญควาย พิธีเลี้ยงผี ฟ้อนผี ลงผีต่าง ๆ เช่น ผีมด ผีเม็ง ผีหม้อนึ่ง ผีชาวนา ผีจักคู ผีปู่ย่า ผีดงอัก ผีต้นน้ำ (จะเรียกตามชื่อ) ผีปกกะโล้ง ผีกะ ผีโพง ผีสือ ผีป๋วย ฯลฯ ยังมีความเชื่ออีกหลายอย่างที่น่าศึกษา เช่น ถ้ามดย้ายฮาง (รัง) จะแสดงถึงว่าฝนจะตก จักจั่นร้อง หมายถึง ปลูกพืชผักดี กี่ค่ำที่ห้ามใส่ข้าวหรือห้ามตีข้าว เป็นต้น

บทเรียนวิถีชีวิตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนนี้อีกมากมายที่ไม่สามารถบรรยายตรงนี้ได้ สิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างของชีวิตที่บริสุทธิ์ จะเป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก ถ้าภาพเหล่านี้จะหายไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมภายนอกที่หลงเงา เหมือนนิทานเรื่องหมากับเงา คือ ตัวเองมีสิ่งที่ดีอยู่กับตัวแล้ว แต่มองไม่เห็นคุณค่า กลับมองเห็นสิ่งที่เป็นมายาว่าดีกว่า จึงละทิ้งสิ่งที่ดีงามที่ตนมี แต่ในที่สุดก็ไม่เหลืออะไร เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นแค่เงา

ภาพความงดงามของธรรมชาติและความบริสุทธิ์ของวิถีชีวิตในชุมชนแห่งนี้จะเกิดขึ้น เองไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่ายที่ต้องร่วมมือกันเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและ รักษาไว้ซึ่งความเป็นท้องถิ่นชนบทลำปาง

รายชื่อผู้ให้ข้อมูล-แม่บอย ลุงแก้ว ลุงกี ลุงสง ลุงรัตน์ ป้าใส พี่เพ็ญ พี่นี พี่ลี อ้ายเพ็น พี่น้อย ขิง นิ่ม แน็ท หนิง โต้ง หวัง ทิพย์ นิคมฯ เขต 16