วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าม้ง :ปีใหม่

ประเพณีขึ้นปีใหม่หรือประเพณีฉลองปีใหม่ ซึ่งเป็นงานรื่นเริงของชาวม้งของทุก ๆ ปี จะจัดขึ้นหลังจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อย และเป็นการฉลองถึงความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งจะต้องทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า - ผีป่า – ผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง และดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปี รวมถึงผลผลิตที่ได้ในรอบปีด้วย ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะทำการฉลองกันอย่างพร้อมเพรียงกัน หรือตามวัน และเวลาที่สะดวกของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งโดยมากจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ประเพณีฉลองปีใหม่ม้งนี้ชาวม้งเรียกกันว่า “น่อเป๊โจ่วฮ์” แปลตรงตัวได้ว่า “กินสามสิบ” สืบเนื่องจากชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ (ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติจะแบ่งออกเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ และข้างแรม 15 ค่ำ) เมื่อครบ 30 ค่ำ จึงนับเป็น 1 เดือน ดังนั้นในวันสุดท้าย (30 ค่ำ) ของเดือนสุดท้าย(เดือนที่ 12) ของปีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงวันฉลองปีใหม่ส่วนใหญ่จะตกอยู่ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม ในวันดังกล่าวหัวหน้าครัวเรือนของแต่ละบ้าน จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลของครัวเรือน ถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าไป 3 วัน คือวันขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำและ 3 ค่ำของเดือนหนึ่ง จัดเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกคนจะหยุดหน้าที่การงานทุกอย่างในช่วงวันดังกล่าวนี้ และจะมีการจัดการละเล่นต่าง ๆ ในงานขึ้นปีใหม่ เช่น การละเล่นลูกช่วง การตีลูกข่าง การร้องเพลงม้ง

1. การละเล่นลูกช่วง
ในวาระขึ้นปีใหม่ม้งจะมีการละเล่นเพื่อฉลองวันปีใหม่โดยเฉพาะ การเล่นลูกช่วง (ntsum pob) หรือที่เรียกกันว่า “จุเป๊าะ” ลูกช่วง (pob) มีลักษณะกลมเหมือนลูกบอลทำด้วยเศษผ้า มีขนาดเล็กพอที่จะถือด้วยมือข้างเดียวได้ การละเล่นลูกช่วง จะแบ่งกลุ่มผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชายโดยที่ก่อนจะมีการละเล่น ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ที่เอาลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย หรือญาติ ๆ ของฝ่ายหญิงเป็นผู้ที่นำลูกช่วงไปให้ฝ่ายชาย เมื่อตกลงกันได้ก็จะทำการโยนลูกช่วงโดยฝ่ายหญิง และฝ่ายชายแต่ละฝ่ายจะยืนเป็นแถวหน้า กระดานเรียงหนึ่ง หันหน้าเข้าหากันมีระยะห่างกันพอสมควร แล้วโยนลูกช่วงให้กันไปมาและสามารถทำการสนทนา กับคู่ที่โยนได้

จุดประสงค์ของการเล่น
เพื่อความสนุกสนานเป็นการฉลองปีใหม่ และเป็นการหาึึคู่ให้กับหนุ่มสาว เพื่อมิตรภาพที่ดีต่อกัน ส่วนหญิงที่แต่งงานแล้วจะไม่มีสิทธิ์ในการเล่นลูกช่วงอีก เพราะถือว่าผิดตามธรรมเนียมของม้ง ส่วนฝ่ายชาย สามารถเล่นได้แต่อยู่ที่ว่าฝ่ายหญิงจะทำการยินยอมเล่นกับตนหรือไม่ แล้วแต่ฝ่ายหญิงสาวคนนั้น การเล่นลูกช่วง ยังเป็นการช่วยฝึกทักษะความชำนาญในการคว้าจับสิ่งของที่พุ่งเข้ามาปะทะใบหน้า อันเป็นการฝึกป้องกันตัวจากสิ่งของที่ลอยมาหาใบหน้าอย่างกระทันหันได้ด้วย ในช่วงระหว่าง การเล่นลูกช่วงหนุ่มสาวที่เล่นลูกช่วงจะร้องเพลงโต้ตอบกัน เพิ่มความสนุกสนานในการเล่น


การละเล่นลูกช่วง

กติกาการเล่น
มีการปรับผู้แพ้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้เล่นเอง ไม่มีกติกากำหนดตายตัวแต่ประการใด ชาวม้งมีการเล่นลูกช่วงเป็นวัฒนธรรมประจำเผ่ามาช้านานแล้ว ชนเผ่าอื่นในไทยไม่มีการละเล่นในทำนองนี้ ม้งได้สืบทอดวัฒนธรรมการเล่นลูกช่วงมาตั้งแต่สมัยที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศจีน ซึ่งในสมัยที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศจีนนั้น ในทุกๆปีของช่วงเดือนแรกในฤดูใบไม้ผลิจะมีการเล่น "ระบำดวงจันทร์ (Moon dance)" โดยจะประดิษฐ์จากเศษผ้าสีต่าง ๆ เป็นลูกบอลเล็ก ๆ เรียกว่า ลูกบอลลี เป้าหมายอยู่ที่คนรักของแต่ละคน (ม้งที่อยู่ในประเทศจีนจะมีงานฉลองลูกช่วงในเดือนแรกของฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งตรงกับเดือนมีนาคม -เมษายนของทุกปี ส่วนม้ผที่อยู่ในประเทศไทยจะมีการฉลองงานลูกช่วงในเืดือนธันวาคม - มกราคมของทุก ๆ ปี ) ลูกช่วง หรือลูกบอลที่ใช้เล่นกันในหมู่บ้าน ม้งในประเทศไทยนั้นบางหมู่บ้านทำด้วยผ้าสีดำ ซึ่งตรงกันข้ามกับม้งในประเทศจีนที่นิยมเล่นลูกบอลที่มีสีสันสดใส

2. การเล่นลูกข่าง การเล่นลูกข่าง หรือที่เรียกกันว่า “เดาต้อลุ๊” เป็นการละเล่นอีกอย่างหนึ่งที่นิยมเล่นกันในวันขึ้นปีใหม่ของม้ง เป็นการละเล่นสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ การเล่นลูกข่างในโอกาสเช่นนี้จะแยกเล่นเป็นวงผู้ใหญ่และวงเด็ก

จุดประสงค์การเล่น เพื่อความสนุกสนานสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้วยกัน

การประดิษฐ์ลูกข่าง

สำหรับลักษณะของลูกข่าง จะทำมาจากไม้ กล่าวคือจะมีการนำท่อนไม้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 - 5 เซ็นติเมตร ตามความต้องการ และความเหมาะสมของผู้เล่น นำมาตัดเป็นท่อนๆยาวประมาณท่อนละ 5 นิ้ว แล้วนำไม้ที่ตัดเป็นท่อนนั้นมาทำการตัดแต่งตามต้องการ โดยส่วนหัวจะมีลักษณะทู่ ๆ ราบเรียบในขณะที่ส่วนหางหรือส่วนที่ใช้ หมุนยืนพื้นนั้นจะทำให้มีลักษณะแหลมคล้าย ๆ ดินสอ
วิธีการละเล่น
เมื่อต้องการเล่นก็จะนำไม้ที่ผูกเชือกยาวประมาณสองถึงสามเมตรมาม้วนรอบลูกข่าง โดยมือข้างหนึ่งจะถือลูกข่างที่ถูกเชือกหมุนพันรอบไว้ และมืออีกข้างจะถือไม้ที่ผูกเชือกที่หมุนรอบลูกข่างไว้ แล้วเอามือทั้งสองสะบัดไปข้างหน้า พร้อมดึงไม้ที่ผูกเชือกไว้อย่างแรง แล้วลูกข่างจะตกสู่พื้นแล้วหมุน ซึ่งในกติกาในการเล่นจะถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่าย โดยที่ฝ่ายหนึ่งจะเป็นฝ่ายตีลูกข่างที่กำลังหมุนอยู่ของอีกฝ่าย โดยฝ่ายที่ตีนั้นจะต้องพยายามตีลูกข่างให้ถูกมากที่สุด ซึ่งถ้าหากสามารถทำการตีถูกมาก ก็จะสามารถทำการตีต่อไปได้ แต่หากตีไม่ถูกก็จะต้องเปลี่ยนมาเป็นฝ่ายหมุนลูกข่างให้อีกฝ่ายผลัดไปเป็นฝ่ายตีแทน การเล่นลูกข่างนี้ นอกจากจะได้รับความสนุกสนานจากการเล่นแล้ว ยังเป็นการฝึก และทดสอบความแม่นยำทางด้านสายตาด้วย ป้ัััั้ีัจจุบันการละเล่นลูกข่างเริ่มหายไปตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม การเล่นลูกข่างก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้างในช่วงเทศกาลปีใหม่ม้ง หรือเทศกาลต่าง ๆ ของชนเผ่า   

3. เพลงม้ง ม้งจะมีเพลงหลายชนิดซึ่งจะใช้ร้องแตกต่างกันไปตามเทศกาล ตัวอย่างเพลงที่ใช้ร้องในงานเทศกาลปีใหม่ม้งได้แก่

3.1 เพลงใบไม้
บรรพบุรุษม้งรู้จักนำใบไม้มาเป่าเป็นเสียงเพลงตั้งแต่อดีตกาลมาแล้ว อย่างเช่นชาวจีนทั่ว ๆ ไป เนื่องจากแต่ไหนแต่ไรมาม้งอาศัยอยู่กับธรรมชาติป่าไม้้ และหุบเขามาโดยตลอด จึงรู้จักสร้างเสียงเพลงจากใบไม้ออกมาเป็นเสียงเพลง ซึ่งใบไม้ที่ใช้เป่า และเสียงก้องกังวานดีที่สุด และไกลกว่าใบไม้ชนิดใด ๆ ก็คือ “ใบกล้วย” ด้วยเหตุนี้ในยามที่เดินไปทำไร่ทำสวนในป่า ก็จะมีการนำใบกล้วยมาเป่าเป็นเสียงเพลงเรียกกัน หรือบ่งบอกที่อยู่ หรือจุดของตนเองว่าในขณะนั้นตัวเองอยู่ ณ จุดใดของเส้นทางหรือป่า อีกทั้งหนุ่มสาวยังใช้เป็นสื่อในการใช้เรียกกัน หรือเกี้ยวกัน และกันด้วย โดยจะใช้เป่า โต้ตอบ หรือเรียกหากันข้ามหุบ หรือดอยในขณะที่กำลังทำไร่ทำสวนกัน ในการเป่าใบไม้ออกมาเป็นเสียงเพลงนี้ต้องใช้แรงลมในการเป่ามาก จึงมักเหนื่อยเร็ว ต่อไปนี้เป็น ลักษณะเนื้อร้องของเพลงใบไม้

"เราไปจากที่นี่ เธอเศร้าใจไหม ถ้าเธอเศร้าใจ เราจะมาหาเธอถ้าเศร้าใจ จะมาหาเธอ เธอจะว่าอย่างไร หากเธอมีใจ ขอให้บอกเรามา เรามีใจจะไปหาเธอ"


3.2 เพลงจิ๊งหน่อง หรือเพลง Ncaag (จั่น)

เป็นเพลงที่ใช้เรียกหากันของหนุ่มสาวในยามค่ำคืน เวลาพักผ่อนหรือยามว่างหนุ่มม้งจะออกไปหาสาวคนรักที่บ้านสาว การจะเอ่ยเสียงร้องเรียกสาวนั้นอาจรบกวน และทำให้พ่อแม่ฝ่ายสาวคนรักตื่นได้ และย่อมรู้ว่าผู้เรียกนั้นเป็นใครได้ การจะกระทำเช่นนั้นแสดงว่าเป็นสิ่งไม่สมควร และเป็นการไม่ให้ความเคารพนับถือผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงสาว เพลง จิ๊งหน่อง "ncaag" จึงเป็นสื่อช่วยให้หนุ่มสาวม้งได้พบกัน โดยไม่กวนใจพ่อแม่ของสาว หนุ่มจะไปยืนดีดเพลงจิ๊งหน่อง "ncaag" นอกบ้านบริเวณใกล้กับห้องนอนของสาวคนรัก เมื่อสาวคนรักได้ยินเสียงเพลงก็จะโต้ตอบด้วย เพลงจิ๊งหน่อง "ncaag" เช่นกัน เพลงจิ๊งหน่อง " ncaag" นี้จะเป็นเพลงรหัสเฉพาะตัวของหนุ่มสาวแต่ละคู่ ซึ่งต่างก็จะรู้ความหมายซึ่งกันและกันเฉพาะในคู่รักของตน หรือผู้ที่คุ้นเคยเท่านั้น อีกอย่างหนึ่ง เพลงจิ๊งหน่อง "ncaag" ทำหน้าที่เป็นภาษาใจของกันและกันให้หนุ่มสาวม้ง

3.3 เพลงร้องในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่
งานฉลองวันขึ้นปีใหม่มีความหมายสำหรับหนุ่มสาวม้งโดยเฉพาะ เป็นโอกาสที่ผู้ใหญ่อนุญาตให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสพบปะกันอย่างเต็มที่ ในวันขึ้นปีใหม่หนุ่มสาวจะเล่นลูกช่วง และมีการร้องเพลงโต้ตอบกัน ในโอกาสนี้หนุ่มสาวมีสุข สนุกสนานกับการเล่น และการร้องเพลง ความหมายของเพลงที่ใช้ร้องโต้ตอบกัน เป็นไปในทำนองเกี้ยวพาราสีกัน บางคู่อาจถือโอกาสสารภาพความในใจของตนเอง หรือขอแต่งงานเลยก็ได้ ต่อไปนี้เป็น ตัวอย่างเนื้อร้องของเพลงที่ร้องในเทศกาลขึ้นปีใหม่

“พ่อแม่บอกว่าเราโตเป็นหนุ่ม/สาวแล้ว พ่อแม่ว่าดีอย่างไร พ่อแม่ไม่อาจห้ามลูกสาวได้ ลูกสาวจำต้องแต่งงานกับหนุ่ม บ่าวสาวตกลงจะแต่งงานกันตกลงกันแล้ว พ่อแม่จะว่าเช่นไร”


4. การเต้นรำของม้ง การแสดงเต้นรำในเทศกาลปีใหม่ม้ง ม้งมีการแสดงอยู่มากมาย เช่น การรำกระโด้ง การรำเก็บใบชา การฟ้อนงิ้ว

การเป่าขลุ่ยม้ง

การแสดงการเป่าขลุ่ยของม้ง จะแสดงในงานเทศกาลและวันสำคัญอื่นๆเท่านั้น เป็นการสื่อถึงเครื่องดนตรีของม้ง และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของม้ง ซึ่งขลุ่ยนั้นเป็นเครื่องดนตรีคู่กายของชายม้ง ซึ่งชายม้งจะไม่ค่อยกล้าที่จะบอกรักสาว ดังนั้นจึงต้องอาศัย ขลุ่ยเป็นสื่อในการบอกรักสาว จึงดูเป็นที่น่าสนใจมาก


การฟ้อนงิ้วม้ง   
การฟ้อนงิ้วของม้ง จะแสดงในงานเทศกาลปีใหม่ และงานสำคัญต่างๆเป็นการแสดงถึงความอ่อนช้อยของม้ง

5. การแสดงการรำกระด้งของม้ง จะแสดงในงานเทศกาลปีใหม่ และวันสำคัญต่าง ๆเ ท่านั้น เป็นการสื่อถึงเครื่องมือเครื่องใช้ของม้ง ซึ่งอดีตนั้นม้งนิยมใช้กระด้งในการฟัดข้าว หรือใช้เป็นอุปกรณ์ในการทำขนมม้ง ดังนั้นม้งจะขาดกระด้งไม่ได้เลย ซึ่งกระด้งมี ความสำคัญต่อม้งมากเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน    

การรำกระด้งม้ง

6. การแสดงการรำเก็บใบชาของม้ง จะแสดงในงานเทศกาลปีใหม่ และวันสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น เป็นการสื่อถึงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของม้งซึ่งอดีตม้ง นิยมเก็บใบชานำมาต้มเป็นน้ำชาดื่มในชีวิตประจำ ม้งจึงได้มีการรำลึกถึงคุณค่าของใบชาที่ช่วยทำให้ร่างกายม้งสมัยก่อนค่อนข้างแข็งแรง สามารถตรากตรำทำงานหนักได้ตลอดทั้งป

การรำเก็บใบชาม้ง

7. การแสดงการเป่าแคนของม้ง จะแสดงในงานเทศกาลปีใหม่ และวันสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น เป็นการสื่อถึงวิถีชีวิตม้ง เนื่องจากเครื่องดนตรีแคน หรือเฆ่น (ภาษาม้ง) นั้นเป็นอุปกรณ์คู่กายของชายม้ง เช่นกันที่ใช้ในการสื่อถึงการบอกรักกับหญิงสาว หรือสามารถที่จะใช้แคนในการทำ พิธีกรรมต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน งานศพ เป็นต้น     

การรำเป่าแคนม้ง 


การรำใบพัดม้ง
8. การแสดงการรำใบพัดของม้ง
จะแสดงในงานเทศกาลปีใหม่ และวันสำคัญต่าง ๆ เท่านั้น เป็นการสื่อถึงความอ่อนช้อยของหญิงสาวม้ง และเป็นการอวดถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่ ซึ่งการแสดงชุดนี้ได้รับวัฒนธรรมจากชนเผ่าพื้นเมือง


9. การแสดงการนั่งรถแข่งของม้ง การแข่งขันรถสามล้อจะมีเฉพาะในเทศกาลปีใหม่เท่านั้น จะเป็นการเล่นของเด็ก และผู้ใหญ่ ซึ่งสมัยก่อนม้งไม่มีรถ หรือยวดยานพาหนะใช้ในการเดินทาง และไม่มีของเล่นให้กับเด็ก ๆ ได้เล่นกัน เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากความเจริญมาก ดังนั้นไม่สามารถที่จะหาซื้อของเล่นให้กับเด็ก ๆ เล่นได้ ดังนั้นผู้ใหญ่จึงได้คิดค้นสร้างรถสามล้มขึ้นให้กับ เด็ก ๆ ได้เล่นกัน ต่อมาจึงได้มีการนำมาขี่แข่งขันกัน และได้มีวิวัฒนาการที่จะพัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ผู้ใหญ่สามารถที่จะเล่นได้ จึงได้มีการประกวดแข่งขันกันว่า รถคันไหนไปไกลที่สุด และรถคันไหนตกแต่งได้สวยงามที่สุด