ฟ้อนผี ประเพณีการนับถือบรรพบุรุษ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

ฟ้อนผี ประเพณีการนับถือบรรพบุรุษ
ศรีจันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน


วิถีชีวิตชาวชนบทล้านนาในอดีต ผูกพันเชื่อมโยงกับธรรมชาติในทุกขั้นตอนของการดำเนินชีวิต ผู้คนมีความเชื่อและวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องจิตวิญญาณ ว่าเป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ เป็นพลัง ซ่อนเร้นที่สามารถดลยันดาลเหตุการณ์ดีร้ายต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ พลังเร้นลับเหล่านี้รวมเรียกว่า ผี

     ผี เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งลี้ลับที่ผู้คนต่างให้ความเคารพนับถือและเกรงกลัว ผีมีทั้งดีและร้าย

     ผีร้าย ได้แก่ ผีตายโหง ผีพราย ผีป่า ผีนางไม้ ผีปกกะโหล้ง ผีกองกอย ผีกะ ผีโพง ผีกระสือเป็นต้น ผีเหล่านี้จะคอยหลอกหลอนให้ผู้คนหวาดกลัว บางครั้งรบกวนหรือเข้าสิงคนขอสิ่งที่ตนต้องการ เช่น อาหาร หรือที่อยู่อาศัย เรียกว่า ผีทักจนผู้นั้นเจ็บไข้ได้ป่วย จะต้องนำข้าวปลาอาหารและ เหล้าสังเวย จึงจะหาย

      ส่วนผีดี ได้แก่ ผีบรรพบุรุษ มีผีปู่ย่า ผีมด ผีเม็ง ผีอารักษ์ มีผีเสื้อวัด ผีเสื้อเมือง ผีเจ้าบ้าน ผีนา ผีเจ้านาย ผีเจ้าพ่อต่างๆ ที่คอยปกปักรักษาป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร จะมีชื่อเรียกตามสถานที่นั้นๆ เช่น ผีห้วยหลวง ผีห้วยทราย ผีดงฮัก เป็นต้น ผีเหล่านี้จะเป็นผีที่มีฤทธิ์เดชมาก ถ้าใครไม่นับถือหรือลบหลู่ จะทำให้มีอันเป็นไปต่างๆ นานา หรืออาจทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย รักษาไม่หายจนกว่าจะทำพิธีขอขมา ลาโทษ ภาชนะเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันยังมีผีสิงสถิต เช่น ผีกระด้ง ผีหม้อนึ่ง ผีบ่ากวัก (อุปกรณ์ใช้ พันด้าย) ผีดีเหล่านี้จะคอยช่วยเหลือให้ความคุ้มครองผู้คน ผีจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนชาวล้านนาเสมอมา

ตามความเชื่อของชาวล้านนา ผีมีอำนาจในการดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และความ เจริญงอกงามในการเพาะปลูกถ้าคนทำให้ผีพึงพอใจ จึงมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการนับถือผี ได้แก่ การเลี้ยงผี

เสียงดนตรีปี่พาทย์บรรเลงเร้าใจ ผู้คนมีทั้งหญิงผู้เฒ่าผู้แก่หญิงสาวแต่งตัวสวยงาม นุ่งโสร่ง ลายโตตาหมากรุก ใส่เสื้อคล้ายเสื้อหม้อห้อมสีต่างๆ โพกศีรษะด้วยผ้าหลากสี มีผ้าสะว้าน (สไบ) ใช้คล้องคอ ท่าเดินมองดูคล้ายผู้ชาย บ้างใช้สไบห่มเฉียงพาดไหล่บ้างนุ่งโสร่งเหมือนกัน แต่ไม่ ่โพกศีรษะท่าทางคล้ายผู้หญิง กำลังร่ายรำด้วยลีลาสนุกสนานตามจังหวะเสียงดนตรี สีหน้าจริงจัง
ไม่สนใจสิ่งใดๆ รอบกาย นอกจากท่วงทำนองจังหวะการร่ายรำ บางครั้งจากคนที่เอียงอาย เรียบร้อย ไม่กล้าแม้แต่จะตะโกนแหกปากหรือเปล่งเสียงหัวเราะดัง กลายเป็นท่าทางขึงขัง เอาจริงเอาจัง เหมือนนักแสดงที่ได้รับบทบาทและแสดงตามบทนั้นได้อย่างดี ต่างพากันร่ายรำโดยไม่รู้สึกอ่อนล้า ตั้งแต่เช้าจนถึงบ่ายจวนจะเย็นย่ำ ผู้คนสนุกสนานอิ่มเอิบกับงานบุญยิ่งใหญ่ ในการทดแทนบุญคุณ บรรพบุรุษ ในประเพณีที่เรียกว่า ฟ้อนผี

ประเพณีการฟ้อนผีของชาวล้านนา เป็นประเพณีที่คล้ายกับการลงผีหรือลงเจ้าพ่อของคนใน ท้องถิ่นอื่น บางครั้งเรียกว่าฟ้อนผีมดผีเม็ง

ผีมด หมายถึง ผีชาวบ้าน หรืออาจหมายถึงชนเผ่าอื่น เช่น เงี้ยว ไทยใหญ่

ผีเม็ง เป็นผีพวกแม่ทัพนายกอง หรืออาจเป็นผีชาวมอญ

ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา คนเรามีเจ้าของมาตั้งแต่ในอดีตชาติ ผู้เป็นเจ้าของตัวเราคือ ปู่ ย่า ตา ยาย บิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้ว จะนับถือตระกูลเครือญาติเดียวกันว่า ผีเดียวกัน หรือผีมดผีเม็ง เป็นผีใจดี คอยปกป้องคุ้มครองลูกหลานที่รักษาจารีตประเพณี ส่วนผู้ใดที่ทำผิดจารีตประเพณีที่เรียกว่า ผิดผี จะต้อง เสียผี คือทำพิธีขอขมาบอกกล่าวผีบรรพบุรุษ หากไม่ทำจะทำให้ป่วยไข้ จะต้องใช้ เครื่องสังเวย เช่น เหล้าไหไก่คู่เพื่อขอขมา ลูกหลานในบ้านเมื่อจะเดินทางไปยังที่ต่างๆ หรือไป
ทำมาหากินถิ่นอื่นจะต้องมีการบอกกล่าวให้ผีบรรพบุรุษได้รับทราบเพื่อคอยไปปกปักรักษา

คนที่นับถือผีเดียวกันจะมีความรักความผูกพัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามปกติและทุกข์ร้อน จะมีข้อห้ามไม่ให้คนผีเดียวกันแต่งงานกัน

ลูก หลานจะทำที่สิงสถิตของผีบรรพบุรุษ เรียกว่า หอผี ไว้ที่ทิศหัวนอน หรือมุมใดมุมหนึ่ง ของบ้านผู้เป็นเก๊าผี ซึ่งหมายถึงผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่ที่สุดของวงศ์ตระกูล หรืออาจสร้างหอผีไว้ตามจุด ที่เห็นว่าสมควร หอผีคล้ายเป็นบ้านรับรองผีอื่นๆ ที่จะมาเยือนในวันงานฟ้อนผี จะปลูกเป็นเรือนไม้ หลังเล็กไม่มีฝา กว้าง 4-5 เมตร ยาว 5-6 เมตร  มีหิ้งวางเครื่องบูชา เช่น พานดอกไม้ธูปเทียน น้ำต้น วางไว้เพื่อเซ่นผีปู่ย่าผีเหย้าผีเรือน

ผีประจำตระกูลนี้ จะมีการซื้อขายผี ชาวบ้านเรียกว่า ซื้อเข้าและซื้อออก

ซื้อเข้า หมายถึง สมาชิกใหม่เข้ามาอยู่ในครอบครัว เช่น ผู้ชายเข้ามาแต่งงานกับสาวในบ้านนั้น ต้องซื้อผีเพื่อเข้ามาเป็นสมาชิกของตระกูล หรือลูกหลานที่ออกไปสร้างครอบครัวใหม่ยังต่างถิ่น ก็จะมีการซื้อผีเพื่อให้ไปคุ้มครองต่อที่บ้านตนเอง

ส่วนการซื้อออกหรือขายผี คือ เมื่อเครือญาติในตระกูลไม่ต้องการหรือไม่มีความพร้อมในการ เลี้ยงผีอาจเพราะอยู่ห่างไกลจะซื้อออกหมายถึงตัดความสัมพันธ์ ไม่มายุ่งเกี่ยวกับตระกูลผีเดิม ไม่ว่าจะมีการเลี้ยงผี หรือทำพิธีใดๆ ก็จะไม่มายุ่งเกี่ยวอีกต่อไป

ราคา ซื้อขาย จะใช้เงินไม่กี่บาท อาจเป็น 10 บาท 12 บาท ตามสภาพฐานะของตระกูล โดยมีการบอกกล่าวผีพร้อมเครื่องสังเวยก็ถือว่าเป็นการเสร็จพิธีการซื้อขายผี

การ ฟ้อนผีมดผีเม็ง จะทำกันช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เป็นช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ชาวบ้านจะว่างเว้นจากงานในไร่นาและสบายใจที่ได้ข้าวเก็บใส่ยุ้งฉางไว้กินได้ ตลอดทั้งปี จะฟ้อนผี ในผาม (ปะรำ) ขนาดผามแล้วแต่ตามจำนวนสมาชิกในตระกูลหรือจำนวนแขกที่เชิญ หลังคามุงด้วย ทางมะพร้าว หญ้าคา หรือใบตองตึง มีการตกแต่งประดับผามให้สวยงามโดยใช้ทางมะพร้าว ต้นกล้วย ขี้ผึ้ง หม้อน้ำ น้ำต้น มีผ้าขาวยาวถึงพื้นผูกตรงกลางผามสำหรับโหนเชิญผีเข้าทรง ด้านหน้าผาม จะทำเป็น ยกพื้นสำหรับวางเครื่องเซ่นต่างๆ ได้แก่ หัวหมูต้ม ไก่ต้มทั้งตัว เหล้า ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ขนม ผลไม้ เช่น กล้วย อ้อย มะพร้าว ถัดจากอาหารคาวหวานจะมีผ้าโสร่งผ้าโพกศีรษะ สีต่างๆ และเครื่องแต่งตัว สำหรับผู้ที่จะฟ้อนนุ่งทับลงไป

ประเพณีการฟ้อนผีจะจัด 2 วัน วันแรกเรียกว่า วันข่าว หรือป่าวข่าว เป็นการบอกให้ญาติพี่น้อง ในตระกูลเดียวกัน ไปร่วม ชุมนุมกันที่บ้านงานหรือเตรียมงานก่อนจะถึงวันงาน ส่วนอีกวันเป็นวันจริง ที่มีการเชิญผีเข้าทรงและมีการฟ้อนสังเวย

หอผีแต่ละหอ หรือตระกูลผีแต่ละตระกูลจะจัดงานฟ้อนผีไม่ให้ซ้ำวันกับงานของตระกูลอื่น จะมีการเชิญคนทรงและผีตระกูลอื่นมาร่วมงานด้วย    

ในวันงานจะเริ่มโดยมีการทำพิธีสักการะบูชาผีบรรพบุรุษซึ่งอยู่บนแท่นบูชา ณ หอผีประจำบ้านก่อน นำโดยเก๊าผี มีการ อธิษฐานขอให้ผีบรรพบุรุษคุ้มครองให้คนในตระกูลอยู่เย็นเป็นสุข ประกอบอาชีพ เจริญก้าวหน้า จากนั้นจะกล่าวเชิญผีไปยังผามที่ทำพิธีเพื่อเข้าคนทรงของตระกูล การเข้าทรงของผีมด ไม่ยุ่งยากเพราะพออธิษฐานเสร็จผีก็จะเข้า ส่วนผีเม็งนั้นต้องโหนผ้าขาวที่อยู่กลางผามแล้วหมุนตัว ไปรอบๆ ผีจึงจะเข้า แต่มีบางรายถึงจะทำอย่างไรผีก็ไม่ยอมเข้า

ผีจะเข้าเก๊าผีก่อนเป็นคนแรก ต่อมาก็จะเข้าคนอื่นๆ ในตระกูล บางคนพอผีเข้าแล้วจะฟุบลงกับพื้น จะมีคนนำเครื่องบวงสรวงมีขันข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อยและมะพร้าวอ่อนมาให้ ผีจะรับไว้ จากนั้นจึงลุกไปที่เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัว และเลือกเสื้อผ้าที่ชอบสวมทับ จะมีการซักถามกันเล็กน้อย โดยมี ล่ามซึ่งเป็นคนที่ชอบพูดคุยซักถาม ถ้าเป็นคำตอบที่ถูกผีก็จะผงกหัว คำถามที่ใช้ เช่น เป็นใคร มาจากไหน มาด้วยวิธีใด เป็นต้น ภาษาที่ผีใช้ส่งเสียงพูดคุยกันไม่ใช่ภาษาพื้นเมืองเหนือ สำเนียงคล้ายภาษาพวกมอญ เงี้ยว หรือไทยใหญ่ จากนั้นจะเป็นการฟ้อนสังเวย มีวงปี่พาทย์บรรเลง ใช้กลองเต่งเทิงให้จังหวะ มีการร้อง ฮิ้วๆ ประกอบการรำไปด้วย ผู้รำจะเป็นผู้หญิงส่วนใหญ่ ทั้งคนแก่อายุเจ็ดสิบแปดสิบ และเด็กรุ่นสาวอายุ สิบกว่า ถ้าเป็นผู้ชายรำจะรำดาบ ร่างทรงที่เป็นเก๊าผีหรือผู้อาวุโสผีจะเข้านานตลอดทั้งวัน และร่ายรำ ตลอดทั้งวันเช่นกัน โดยไม่มีท่าทางเหนื่อยอ่อน ส่วนผีเครือญาติที่อาจเป็นผีวัยรุ่นหรือผู้ที่อ่อนวัยกว่า ผีจะ เข้าๆ ออกๆ ร่างทรงบางคนพอผีออกจะอาย ไม่รู้ว่าตัวเองแต่งตัวหรือทำอะไรลงไปบ้าง เหมือนตกอยู่ใน ภวังค์เด็กๆ จะชอบดูฟ้อนผีจะยืนดูอยู่ขอบผาม  บางตัวเป็นผีซนจะเที่ยววิ่งไล่จับผู้คน ในตระกูลเดียวกัน
ให้มาโหนผ้าขาวกลางผามเพื่อให้ผีเข้า บางคนไม่ยอมจึงมีการวิ่งหนีไล่กันเป็นที่สนุกสนาน ผีจะเข้าเฉพาะ คนในตระกูล คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตระกูลเดียวกันจะไม่เข้า แม้จะผ่านการโหนผ้าขาวกลางผามแล้วก็ตาม ผีแต่ละตัวจะมีเอกลักษณ์ในการฟ้อนรำที่แตกต่างกัน มีทั้งผีที่แสดงความก้าวร้าว บางตัวเรียบร้อย บางตัว ซุกซน ลักษณะไม่แตกต่างไปจากคนทั่วไป

กลางผามที่ฟ้อนผีจะพลุกพล่านไปด้วยคนทรงผี ต่างฟ้อนรำกันขวักไขว่ บางครั้งมีการกระทบกระทั่ง ชนกันบ้าง แต่จะไม่มี การโกรธหรือทะเลาะกันในวงฟ้อนรำนั้น

บางครั้งจะมีการหามคนป่วยที่เป็นสมาชิกในตระกูลเข้าร่วมพิธีด้วย เพื่อให้ผีบรรพบุรุษช่วยรักษา ให้หาย จะมีการเป่าน้ำมนต์ พรมไปที่ตัวของคนป่วย บางคนอาการดีขึ้นลุกเดินเหินได้สบาย อาจเป็น เพราะจิตใจที่ดีขึ้นจากการได้ฟังเสียงดนตรี ได้พบปะญาติพี่น้อง และได้กำลังใจจากบรรพบุรุษที่คอยรักษา ลูกหลานจะเล่าเรื่องราว เหตุการณ์ที่ตนประสบมา    อาจเป็นว่าปีนี้ฝนไม่ตกต้อง ตามฤดูกาล ตนได้ทำขึด (สิ่งไม่ดี) ต่างๆ เช่น ทำห้างนาพาดกับต้นไม้โดยไม่ขุดเสา เอาหม้อแกงไปตักน้ำกิน ปิดทางเดินของ
ลำห้วย พูดลบหลู่ผีป่าอารักษ์ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เจอโชคร้าย จะต้องขอให้ผีบรรพบุรุษช่วยแก้ไข หรือมีการ ขอพรขอโชคลาภให้แก่ตนเองและคนในตระกูล เป็นต้น

การเริ่มพิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า เวลาประมาณ 09.00 น. ไปจนกระทั่งเย็น จะมีการฟ้อนสังเวยไปเรื่อยๆ พอถึงเวลาพักเที่ยง จะหยุดพักรับประทานอาหาร จะมีการถวายอาหารให้ผีกินก่อน จากนั้นคนจึงกินต่อ เจ้าภาพจะถวายอาหารคาวหวานต่างๆ ที่เตรียมไว้ โดยจัดใส่ขันโตกเป็นชุดๆ จากนั้นจะมอบดาบ ให้คนทรงคนละอัน และจุดเทียนไขผูกปลายดาบ คนทรงจะรับดาบ ไปเวียนรอบๆ อาหารทุกจาน เมื่อครบแล้วถือว่าเสร็จพิธี

ในการรับประทานอาหาร ผีมดจะรับประทานอาหารทุกชนิดทั้งอาหารคาวและหวาน ส่วนผีเม็งจะเลือก รับประทานเฉพาะอาหาร หวานและน้ำมะพร้าวเท่านั้น

หลังจากฟ้อนมาตลอดทั้งวันแล้ว ได้เวลาที่ผีจะกลับคืนถิ่น ดนตรีปี่พาทย์จะเงียบเสียงลง ร่างทรง จะเดินไปที่หอผี จะมีการขับจ้อยซอเป็นกลอนสดเสียงโหยหวน จะมีขันดอกไม้ธูปเทียนพร้อมอาวุธ เช่น ดาบ จะฟ้อนแบบโบราณเป็นจังหวะเนิบนาบอ่อนช้อยก่อนผีจะออกจะรับขันข้าวตอกดอกไม้ เสร็จแล้วจะ ล้มฟุบกับพื้น ถือว่าผีออก คนทรงก็เข้าสู่สภาพปกติ

หลังจากเสร็จพิธีแล้ว ผู้คนในตระกูลก็จะช่วยกันรื้อผามทำความสะอาดสถานที่ และกินอาหารเย็น ร่วมกัน ต่างมีความสุขกับ งานบุญใหญ่ที่มอบให้แก่บรรพบุรุษ ได้ตอบแทนผู้มีพระคุณ ได้รับพรและ สิ่งดีงามจากท่าน อาการป่วยไข้ที่มีก็จะหายไป โชคลาภความเจริญจะเข้ามาแทนที่ สนุกกับการได้เจอะเจอ ญาติมิตรต่างบ้านที่เป็นผีตระกูลเดียวกัน ได้ไต่ถามสารทุกข์สุขดิบ เล่าขานปัญหาเรื่องราวในชีวิต ช่วยกัน แก้ไขให้คำแนะนำ ความสัมพันธ์ฉันญาติมิตรแน่นแฟ้นเพิ่มขึ้น

ฟ้อนผี ประเพณีรื่นเริงของเครือญาติ ก่อเกิดความสามัคคี รักษากฎระเบียบของสังคมด้วยการไม่ผิดผี ผู้น้อยนับถือผู้ใหญ่ที่ให้คุณ ชีวิตที่มีความเอื้ออาทร สะท้อนภาพความงดงามของวิถีชีวิตชาวชนบทล้านนา มาตั้งแต่อดีตกาล