วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

เถียงเส่ากับการตีมีด
ศรีจันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน

เสียงหนุ่ม ๆ ที่ต่างหยอกล้อกัน ถึงเรื่องที่ไปแอ่วสาวมาเมื่อคืนก่อน fังมาจากเถียงเส่าของ ป้อเปี้ย ชายชราผู้ใจดี ที่ถ่ายทอด วิชาความรู้พื้นบ้านที่ตนมีแก่คนหนุ่มรุ่นใหม่ บุญมา เป็นอ้ายบ่าว ที่ถูกเอ่ยชื่อในวงสนทนามากกว่าเพื่อน เพราะใคร ๆ ก็รู้ว่า บุญมาจะต้องออกเรือน ไปก่อน เพื่อนคนอื่น บุญมาจึงทุ่มเทแรงกายใจกับการฝึกฝนเรียนรู้วิชาที่ป้อเปี้ยถ่ายทอดให้

เถียงเส่าของป้อเปี้ย เป็นแหล่งชุมชนนัดพบพูดคุยกันของบรรดาผู้ชายในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น ผู้เฒ่าผู้แก่ ที่มาคอยให้คำชี้แนะในการตีเหล็กและเครื่องมือจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นมีด จอบ เสียม หรืออุปกรณ์การเกษตรอื่น ๆ ที่ต้องการ แก่คนรุ่นใหม่วัยฉกรรจ์ เด็กเล็กมายืนดูด้วยความอยากรู้ บางครั้งได้ช่วยหยิบจับสิ่งของที่ผู้ใหญ่ต้องการ

  •      เถียง เป็นคำภาษาเหนือ นอกจากจะหมายถึงการพูดโต้แย้งกันแล้ว ยังหมายถึงเรือนพักชั่วคราว อาจเป็นโรงเรือนที่ยก ใต้ถุนสูง หรือเตี้ย ชนิดที่ใช้ขอนไม้รองรับพื้นก็ได้

  •      เถียงเส่า คือ โรงเรือนที่ทำขึ้นเพื่อการตีมีด ตีเหล็กหรือทำเครื่องเหล็ก ในเถียงเส่าหรือเถียงตีเหล็ก นี้จะมีอุปกรณ์ในการ ทำเครื่องเหล็กหลายชนิด ประกอบด้วย

  •      ตั้งเหล็ก (ทั่ง) เป็นแท่งเหล็กขนาดเขื่องฝังไว้กับท่อนไม้ขนาดใหญ่ เช่น ท่อนไม้แดง ใช้สำหรับรองเหล็กในขณะที่ตีเหล็ก อาจจะมีลักษณะเป็นทั่งสี่เหลี่ยมหน้าเรียบ หรือเป็นแท่งกลม หรือลักษณะอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับว่าจะตีขึ้นรูปในลักษณะใด
  •      เตาเส่า หรือเตาเผาเหล็ก เป็นเตาที่ใช้สำหรับเผาเหล็กให้ร้อนเพื่อให้เหล็กมีความอ่อนตัว ช่วยให้ง่ายต่อการขึ้นรูปเตาเส่า เตาเส่าเผาเหล็กของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป จะเป็นเตาที่ทำขึ้นกับพื้นดิน จะทำด้วยอิฐและก่อตั้งไว้ในบริเวณที่ตีเหล็ก ใช้ถ่านไม้เป็นเชื้อเพลิง
  •      สูบเส่า หรือสูบลม เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเร่งการลุกไหม้ของเชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มความร้อนให้สูงขึ้น โดยสูบให้ลมออก เป่าถ่านไฟ ให้มีความร้อนสูง จะประกอบไปด้วยตัวกระบอกสูบ ซึ่งอาจจะทำด้วย ไม้หรือสังกะสีก็ได้ ภายในมีลูกสูบสำหรับอัดลม และมีรูสำหรับพ่นลมออกมาสู่เตา
  •      ค้อน คือ ค้อนตีเหล็กขนาดต่าง ๆ กันตามน้ำหนัก เช่น ขนาด ซึ่งช่างจะเลือกใช้ตามความ เหมาะสมของงานที่จะตี
  •      คีมจับเหล็ก เป็นเครื่องมือสำหรับคีบเหล็กที่จะเผา ที่เผาแล้ว และคีบเหล็กขณะตีด้วย ลักษณะของคีม จะเป็นคีมปากแบน คีมห่วง คีมปากนก

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือที่ใช้ในการตกแต่งความเรียบร้อยของงานที่ตีแล้ว เช่น ใช้เหล็กขูด ผิวงานให้เรียบ มีเหล็กกาด คือ ตะไบขนาดใหญ่ และเหล็กซี คือ ตะไบขนาดเล็ก ใช้ขัดแต่งขอบผิว มียูน้ำ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำด้วยต้นไม้ หรือรากไม้ มักจะเป็น เถาวัลย์หรือเถากาว เพราะมีความเหนียว มีเส้นใยของเนื้อไม้มาก มีความยาวประมาณ 2 ฟุต ปลายข้างหนึ่งทำเป็น เส้นใย เป็นฝอย ๆ เพื่อที่จะเก็บน้ำไว้ให้มาก เวลาจุ่มลงในถังน้ำ เพื่อที่จะนำน้ำนั้นมาพรมลงถ่าน ที่กำลังลุกไหม้ เป็นการลดความร้อนลง ด้วยน้ำ และยังเป็นการช่วยประหยัดถ่านไฟ ที่นำมาใช้ในการ เผาเหล็กมิให้มอดไหม้เร็วเกินไป

     ถัง หรืออ่างใส่น้ำ น้ำมัน ซึ่งทำจากท่อนไม้เจาะรู ใช้สำหรับชุบเหล็กที่ตีขึ้นรูปแล้ว เพื่อเพิ่ม ความแข็ง ความเหนียว และความคมของเหล็ก

หลังจากหนุ่ม ๆ สมาชิกที่มาร่วมเรียนรู้เรื่องการตีมีดตีเหล็กมาพร้อมกันแล้ว ป้อเปี้ยจึง ใช้คีมเหล็กขนาดใหญ่คีบเหล็กที่ เตรียมไว้สำหรับตีมีด ซุกไว้ในถ่านไม้มะขามที่แดงฉาน

"ไม้มะขามมันเนื้อแข็ง เหมาะสำหรับใช้เป็นถ่านเผาเหล็ก มันจะร้อนมากกว่าไม้อย่างอื่น"

ป้อเปี้ยตอบพร้อมกับชักเส่าเป่าลมเข้าที่ถ่านไฟ เพื่อเร่งให้เกิดความร้อนสูง เพราะเมื่อ เหล็กร้อนแล้วจะอ่อนตัวทำ ให้ตีได้ง่ายขึ้น

การตีเหล็กที่เถียงเส่าของป้อเปี้ย มีสมาชิกหลายคนด้วยกัน คนแรก มีหน้าที่คอยเฝ้าเตาเหล็ก เนื่องจากการเผาเหล็กในเตา เมื่อเหล็กเป็นสีแดงแล้ว จึงนำออกมา โดยการใช้คีมคีบมาวางบนแท่นหรือตั้ง คนที่สอง เรียกว่า ช่างพลิก มีหน้าที่คอยพลิกเหล็ก ให้คนตี คนที่ตีนั้นอาจมีถึง 2-3 คน จะต้องเป็นคนหนุ่ม ที่ร่างกายแข็งแรง โดยผลัดกันใช้ค้อนตีคนละทีสองที การตีในขั้นนี้ จะตีไปเรื่อย ๆ จนเหล็กสีแดงกลายเป็นสีดำก็นำไปเผาในเตาอีกครั้ง ใช้ค้อนตีขึ้นรูปให้เป็นรูปมีด หรือสิ่งของที่ต้องการ การตี ในขั้นนี้จะเป็นการตีเพียงเพื่อให้เหล็กมีรูปลักษณะ คล้ายหรือใกล้เคียงรูปทรงของสิ่งของเครื่องใช้นั้น เรียกว่า การตีขึ้นรูป หรือตีหุ่น

หลังจากนั้นก็นำเหล็กไปเผาแล้วนำมาตีอีกครั้งมาทำรูปมีดตามต้องการ โดยใช้คีมคีบ ใช้ค้อนตกแต่งให้เข้ารูปให้เรียบร้อย ส่วนที่ไม่เท่ากันก็ใช้ค้อนทุบให้เท่ากัน จนได้รูปมีดเป็นที่พอใจ เรียกว่า การตีแต่ง

เมื่อตีแต่งเรียบร้อยแล้ว จะนำมา ตีเค้น กล่าวคือ ปล่อยทิ้งให้มีดที่ตีนั้นเย็นลง แล้วจึงนำมาตีด้วยค้อนขนาดเล็กอีกครั้ง การตีในครั้งนี้เป็นการตีเพื่อให้เนื้อเหล็กมีความแน่น โดยทั่วกัน และเป็นการตีแต่งไปในตัวด้วย

หลังจากการตีเค้นแล้วก็จะเอาชิ้นงานนั้นลงขูด โดยใช้ตะไบถูเพื่อให้ชิ้นงานนั้นมีผิวเรียบและ มีความขาวขึ้น

ในขั้นนี้มีดยังใช้การไม่ได้ เพราะมีดดังกล่าวยังไม่ได้ทำคมมีด มีดจะมีลักษณะที่หยาบหรือหนา ต้องนำมาทำคม โดยนำมีด ด้านที่จะใช้งานไปเข้าเครื่องขัดเพื่อขัดผิวที่หนาให้บางลงจนมีคมเกิดขึ้น ขั้นตอนนี้ถือว่า เป็นขั้นตอนสำคัญในการตีมีด ผู้ทำจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

มีด ที่ได้จากการทำคมแล้ว จะยังไม่มีความแข็งแรง จะบิ่นง่ายเมื่อนำไปใช้งาน จึงมีวิธีการ ที่เรียกว่า การชุบคมมีด โดยการนำมีดไปเข้าเตาเผาอีกครั้ง เผาจนผิวของมีดเป็นสีแดง แล้วจึงใช้คีมคีบออกมาชุบลงในน้ำเย็นหรือน้ำมันที่เตรียมไว้ โดยการชุบนั้น ต้องทำสลับกับการเผาอาจทำประมาณ 5 ครั้ง

ป้อเปี้ยเล่าว่า การชุบชิ้นงานจะนิยมทำอยู่ 2 วิธี คือ

วิธีแรกการชุบน้ำ โดยการนำเอาชิ้นงานนั้นไปเผาให้ร้อนแดงแล้วจึงนำมา ชุบลงไปในน้ำเย็นธรรมดาที่เตรียมไว้ การชุบน้ำ จะชุบเฉพาะส่วนที่ต้องการให้แข็งหรือคมเท่านั้น แล้วยกดูสีของชิ้นงาน ซึ่งจะมีสีขาว สีทองอ่อน ๆ สีทองแก่ สีฟ้าอ่อน และสีฟ้าแก่จนเป็นสีน้ำเงิน สีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้จะบอกถึงความแข็งของชิ้นงาน คือ ถ้าเห็นเป็นสีขาว จะมีความแข็งมาก และแข็งน้อยลงไป ตามลำดับที่เรียงไว้ข้างต้น การชุบน้ำนั้นจะต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมาก เมื่อชุบน้ำและยกขึ้นดูแล้วเห็น ลักษณะของสีที่ต้องการแล้ว จะต้องรีบชุบชิ้นงานนั้นลงไปในน้ำ ทั้งหมด ก็จะได้ความแข็งของชิ้นงานนั้นตามที่ต้องการ

วิธีที่สอง การชุบน้ำมัน การชุบโดยใช้น้ำมัน จะต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมากเช่นกัน การชุบด้วยน้ำมันนั้น เป็นการชุบเพื่อให้ชิ้นงานนั้น ๆ มีความแข็งทั้งหมด ไม่ใช่เพื่อให้มีความแข็งเป็นบางส่วน

หลังจากตีมีดเสร็จแล้วป้อเปี้ยจะบอกให้หนุ่ม ๆ ที่เป็นเจ้าของ นำไปใส่กล่องที่แห้ง ฝักมีดที่ไม่มีความชื้น เก็บไว้ในที่แห้ง หรือใช้น้ำมันทาบริเวณตัวมีดให้ทั่ว เพื่อป้องกันการเป็นสนิม รอไว้สำหรับใช้งานในเรือกสวนไร่นาต่อไป

หนุ่มบุญมา ยืนมองมีดพร้าเล่มโต คมกริบฝีมือการตีของตนเองและเรี่ยวแรงของเพื่อนที่ขันอาสาช่วย เมื่อเทียบราคาแล้ว อาจจะน้อยนิด แต่มันมีคุณค่าทางด้านจิตใจจนประมาณมิได้ แค่มีดพร้าเล่มโตก็สร้างครอบครัวให้กับเขาได้ เพียงเขาขยัน และอดทน เท่านั้นเอง

นอกจากความรู้เรื่องการตีมีด ตีเหล็ก ที่ได้รับและถ่ายทอดจากคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า แล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวชีวิต การแก้ปัญหา การพึ่งพาอาศัย โดยมี เถียงเส่า เป็นสายสัมพันธ์เชื่อมน้ำใจไมตรีอันงดงามของชาวชนบทตลอดมา