วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

นั่งนกคุ่ม
ศรีจันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน

เด็กผู้ชายชาวชนบทตั้งแต่อายุ 10 ขวบขึ้นไป จะได้รับการถ่ายทอดทักษะการดำรงชีวิตที่อาศัยธรรมชาติ โดยเฉพาะป่า ที่เปรียบเสมือนซูเปอร์มาร์เก็ตของหมู่บ้าน ป่ามีอาหารการกินตลอดทุกฤดูกาล ความเชี่ยวชาญทักษะการยังชีพถูกพัฒนามาจาก การละเล่นชนิดต่างๆ เช่น บอกโว้ ฝึกความชำนาญการแม่นเป้าหมาย สะโป้ก ฝึกความกล้าให้จิตใจเข้มแข็ง ประตูหลง เกมการ อ่านใจคู่ต่อสู้ เป็นต้น การละเล่นต่างๆ จะถูกนำมาใช้จริงในเกมการล่าเพื่อยังชีพและช่วยพ่อแม่หาอาหาร ซึ่งเป็นหน้าที่หลัก อย่างหนึ่งของเด็กผู้ชายชาวชนบท

    อากาศหน้าร้อนก่อนสงกรานต์อบอ้าว แสงแดดกล้าเปล่งรัศมีร้อนแรงแผดเผาบรรดาต้นไม้ใบหญ้าที่เคยหนาทึบรกรุงรัง ยามหน้าฝนให้เหี่ยวแห้งตาย หญ้าที่เคยสูงท่วมหัว เช่น หญ้าคา ถูกย่อยสลายจากปลวกหรือล้มลงเพราะความกรอบแห้ง หนามเล็บแมว หญ้าขัด หญ้าสาบเสือ ต่างพากันทิ้งใบ ทำให้ป่าโปร่งขึ้น

    ในช่วงนี้จะเป็นช่วงปิดภาคเรียนหน้าร้อนเดือนมีนาคม-เมษายน เด็กผู้ชายจะใจจดใจจ่อกับเกมสนุกในป่า เตรียมตัวเข้าป่า พากันไปเป็นทีม ยิ่งมากคนยิ่งดี ความสนุกสนาน    การเล่าขานด้วยความภาคภูมิใจหลังกลับมาถึงบ้าน อาจเป็นนกคุ่มสักตัว ให้แม่ประกอบอาหารอร่อย เช่น ต้มลาบ แกงแค หรือทอดกระเทียมพริกไทย ทุกคนในครอบครัวได้อิ่มอร่อย นักล่าตัวน้อยก็ดีใจและตั้งใจฝึกทักษะการล่าครั้งใหม่ให้เก่งกว่าเดิม

    ต้มลาบนกคุ่ม เป็นอาหารพื้นบ้านที่ให้รสชาติหวานอร่อยจากเนื้อโปรตีนนกคุ่ม และสมุนไพรนานาชนิด มีวิธีการทำต้มลาบ ดังนี้

    1. นกคุ่มที่เผา ถอนขน ทำความสะอาดแล้ว ใส่ในหม้อ ใส่น้ำปลาร้า มะเขือ อาจเป็นมะเขือยาว หรือมะเขือแจ้ที่ชาวบ้านมี ต้มให้สุก

    2. นำนกและมะเขือที่ต้มสุกแล้วมาลาบให้ละเอียด

    3. นำเครื่องปรุง มี บ่าแข่น ข่า ตะไคร้ พริกแห้งหรือพริกสุกสีแดง คั่วเครื่องปรุงให้หอม นำมาตำให้ละเอียดใส่กะปิดหมก  ตำให้เข้ากัน

    4. นำนกและมะเขือที่ลาบแล้วมาคลุกเคล้าในเครื่องปรุง ใส่น้ำต้มปลาร้าให้พอขลุกขลิก

    5. โรยด้วยใบหอมด่วน (สะระแหน่) และใบผักไผ่

     เวลากินแกล้มกับผักสด เช่น ผักกาดอ่อน มะเขือกรอบ หัวปลี ก้านตูน ใบมะกอก หรือยอดผักหนอง เป็นต้น

     การล่าสัตว์ในชนบท ผู้ใหญ่ใช้ปืนเป็นอาวุธในการล่าสัตว์แต่ละครั้ง ส่วนเด็กจะใช้เครื่องมือง่ายๆ ที่ทำเองและไม่เป็นอันตราย เช่น หนังสติ๊ก ท่อนไม้ หรือตาข่าย

     เด็กๆ ชนบทจะนิยมล่านกคุ่มด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า นั่ง

     นั่ง ทำด้วยตาข่ายโปร่ง ถักด้วยเชือกหรือเส้นด้าย ใช้เชือกร้อยขอบตาข่ายเพื่อใช้รูดปากตาข่ายทำเป็นบ่วงคล้ายตาข่าย เก็บลูกบอล เส้นผ่าศูนย์กลางของตาข่าย ประมาณ 40-50 เซนติเมตร ปกติจะออกแบบไว้สำหรับดักนกหรือไก่ แต่บางครั้งทำ ตาข่ายให้ใหญ่ขึ้นเพื่อดักกระต่าย ตาข่ายที่ใช้ดักกระต่ายจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร เชือกรูดปากตาข่ายจะใช้ผูกติดกับไม้ไผ่เหลากลมดัดเป็นรูปโค้ง ผักปลายไม้ไผ่ทั้งสองข้างลงบนพื้นดินจะได้โครงไม้ไผ่ที่เป็นรูปครึ่งวงกลม

     เมื่อเตรียมอุปกรณ์ได้แล้ว เด็กๆ ก็จะเริ่มต้นเกมการล่านกคุ่ม โดยจะเข้าไปในป่าละเมาะ หาพื้นที่กว้าง 2-3 ไร่ หรืออาจมากกว่า ไม่นิยมล้อมทั้งป่าแต่จะเลือกทำเลที่เหมาะสม เพื่อใส่นั่ง อาจเป็นทิศใดทิศหนึ่งที่คาดว่าจะมีนกคุ่มอยู่ สังเกตจากมูลนก การเล่นฝุ่นของนก หรือการคุ้ยเขี่ยหาเมล็ดวัชพืชของนก ใช้ไม้ไผ่ที่ทำเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมปักลงบนดินทั้งสองข้าง ขึงตาข่ายให้กว้างและลึก ทำเหมือนประตูฟุตบอล จากนั้นจะช่วยกันใช้เศษใบไม้หรือกิ่งไม้กั้นให้สูงจากพื้นดิน 8-10 นิ้ว ขึ้นไป ชาวบ้านเรียกว่า ตับ ทำแนวทั้งสองข้างของนั่ง เป็นทางเดินเพื่อบังคับเส้นทางเดินของนก และทำทางเดินให้แคบเข้าหาตาข่าย อาจใส่นั่งจำนวนหลายอันในพื้นที่ใกล้เคียงกัน

     จากนั้นเด็กๆ จะถือไม้หรือหนังสติ๊กเดินตะเวนเป็นกองทัพจัดแถวเดินหน้ากระดานเหมือนดูหนัง สงคราม เดินไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้นกคุ่มตกใจและพยายามหลบหนี เมื่อวิ่งไปเจอทางวิ่งที่ทำไว้ ก็จะวิ่งตามทางเข้าไปติดตาข่าย เมื่อเหยื่อติดตาข่ายแล้วเชือกปากตาข่ายจะรูดตามแรงดึงของเหยื่อ คนก็จะรีบเข้ามาจับ เพราะถ้าช้าเหยื่ออาจดิ้นหลุด นกคุ่มจะกึ่งเดินกึ่งวิ่งประกอบกับสรีระที่ไม่มีหาง ทำให้เวลามันวิ่งดูคล้ายลูกเทนนิสกลิ้งบนพื้น บางครั้งหยุด ยางครั้งเคลื่อนไหวไปมาดูแล้วชวนตื่นเต้นไม่น้อยเป็นเอกลักษณ์และเป็นเสน่ห์ เย้ายวนใจเฉพาะตัวที่มีอยู่ในนกคุ่ม การไล่ล่านกคุ่มต้องใจเย็น ไม่รีบร้อนและต้องรู้ธรรมชาติของผู้ถูกล่าด้วย ถ้าทำให้นกตกใจมันจะบินข้ามนั่งไป ทำให้อดและหมดสนุก     การล่านกคุ่มคล้ายการเล่นเกมประตูหลงของเด็ก กล่าวคือ ต้องวางแผนอย่างใจเย็น หลอกล่อให้อีกฝ่ายชะล่าใจ เป็นการอ่านใจผู้ถูกล่าให้เผลอ และไม่ทันระวังตัวสุดท้ายก็แพ้ใน เกม แต่ถ้าเป็นนกคุ้มหากแพ้คือการสังเวยชีวิตไปเป็นอาหารอร่อยของเด็กๆ

     นอกจากนั่ง จะใช้ดักนกคุ่มแล้ว     ไก่ป่ายังมาติดข่ายนั่งเสมอ     คนที่ฉลาดกว่าจะหลอกล่อไก่ป่า อาจทำเป็นเสียงตอดไก่ แอบอยู่หลังพุ่มไม้ เมื่อไก่ได้ยินเสียงตอดก็จะมาบริเวณนั้น และหลงกลลวงติดตาข่าย บางครั้งผูกไก่ต่อล่อไก่ป่า เมื่อเห็นไก่ล่อไก่ป่าตัวจริง ก็จะวิ่งเข้าหาตาข่ายรัดถูกจับอย่างง่ายดาย

     นกคุ่มที่เด็กๆ ชอบล่า มีธรรมชาติที่น่าศึกษา มันเป็นนักพรางตาชั้นเยี่ยม ยิ่งอยู่ในธรรมชาติที่มีหญ้ารกจะมองแทบไม่เห็น ยิ่งในป่าหญ้าแห้งสีน้ำตาลยิ่งแล้วใหญ่

     ลูกนกคุ่มตัวน้อยก็มีทักษะในการพรางตัวเช่นเดียวกับแม่ บางครั้งในโพรงหญ้ารัศมี 1 ฟุต ก็ยังไม่สามารถหาตัวลูกนกคุ่มได้

     นกคุ่มจะมีสีน้ำตาล ดูเหมือนสีของหญ้าคาแห้ง    มีลายขาวดำแทรกตามขนแต่ละเส้น มีขอบตาสีขาวออกฟ้าดูแล้วน่ารัก ไม่มีหาง จึงทำให้ตัวสั้น กลม

     คุ่ม เป็นภาษาเหนือ หมายถึง สั้น อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง คุ้มครองรักษา คนโบราณจึงนับถือนกคุ่มนำมาทำยันต์ ยันต์นกคุ่มเชื่อว่าสามารถปกป้องคุ้มครองอันตราย ผู้มีไว้เป็นเจ้าของจะช่วยให้หากินหมาน (หากินได้ง่ายและสะดวก) นกคุ่มจะอยู่เป็นคู่ผัวเมียช่วยกันดูแลครอบครัว คล้ายนกเงือก มีความซื่อสัตย์ต่อคู่ตนเอง เชื่อว่ามันอยู่เป็นคู่เดียวจะแยกกันเมื่อตายจากเท่านั้น

     ธรรมชาติของชีวิต สัตว์ใหญ่ย่อมกินสัตว์เล็ก ผู้ชาญฉลาดย่อมดำรงชีพอยู่ได้ ผู้ด้อยกว่าต้องอาศัยการหลบหลีก การล่าสัตว์ของชาวชนบทเป็นไปเพื่อการยังชีพ จึงทำให้ชีวิตสัตว์ที่อ่อนแอกว่าหลงเหลือและอยู่รอดเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ได้ต่อไป