วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

หม้อน้ำ ภาชนะบรรจุน้ำผญาของคนเมือง
ศรี จันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน

 

พี่คำแปง  ชาวบ้านม่อนเขาแก้ว หมู่บ้านหนึ่งของเมืองเขลางค์นครที่ยึดอาชีพปั้นหม้อดินเผาขายมาหลายชั่วอายุคน เธอเบิกบานในหัวใจทุกคราวที่ผู้ซื้อต่างชื่นชมว่า หม้อน้ำที่เธอปั้นทำให้พวกเขาได้ดื่มน้ำเย็นได้ชื่นใจ

แม้รายได้จะไม่มากมายเหมือนคนบ้านอื่นที่ออกไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หลายคนบ่นไม่สบาย และเหม็นกลิ่นจาก โรงงานคือสิ่งที่เธอรับรู้ เธอจึงไม่เคยคิดที่จะออกไปทำงานนอกบ้าน เธอทำงานอยู่กับบ้าน นั่งปั้นหม้ออยู่ใต้ถุน ในแต่ละวันเวลาก็ ไม่เพียงพอแล้ว ยิ่งช่วงหน้านาก็ต้องแบ่งเวลาออกไปทำนา จะได้หยุดปั้นหม้อก็ยามว่าง และที่สำคัญเธอ สามีและลูกได้อยู่ด้วยกัน นั่งคุยเรื่องราวที่แต่ละคนเจอะเจอ ช่วยกันแก้ไขปัญหา ได้กินข้าวด้วยกันทุกมื้อ เพียงแค่นี้เธอก็คิดว่าเธอโชคดีกว่าใคร ๆ

การปั้นหม้อของพี่คำแปงไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร ดินเหนียวที่มีในหมู่บ้านผ่านขั้นตอนการหมักและนวด ปั้นและเผาอย่างที่ได้ จากความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อ ฝีมือเรียบร้อยที่เกิดจากการทุ่มเทและตั้งใจของเธอ ประกอบกับความใจดีชอบแถม และ ลดราคาให้ผู้ซื้อ ทำให้ที่บ้านของเธอไม่เคยขาดผู้มาเยือน พวกเขามาพร้อมได้หม้อนานาชนิดติดมือกลับไป เธอจึงมีเงินจับจ่ายในครอบครัวอย่างสบาย

แม่หม่อนแก้ว (หม่อน คือ ทวด) ของพี่คำแปงเล่าให้ฟังว่า สมัยแกเป็นเด็กหรือรุ่นสาวสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้าน จะทำมาจากสิ่งที่มีอยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นหิน ดิน ทราย ต้นไม้ พืช และสัตว์ โดยภาชนะที่ใช้บรรจุสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะใส่ข้าวสาร หรือน้ำกินน้ำใช้ปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตคือ หม้อดินฝีมือชาวบ้านที่ปั้นเอง

ภาชนะบรรจุน้ำของชาวบ้านจะมีหลากหลายชนิดและมีรูปทรงแตกต่างกันไป เช่น หม้อน้ำ เป็นหม้อดินเผามีลวดลายต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์ในการใช้งานแตกต่างกันไป ได้แก่

  • หม้อน้ำกิน เรียกว่า น้ำหม้อบน ชาวบ้านจะตั้งหม้อน้ำไว้บนเฮือนน้ำ ทำเป็นร้านยกสูงออกไปนอกชานบ้านเล็กน้อย มุงหลังคา เป็นที่วางหม้อน้ำสำหรับกินและมีกระบวยตักน้ำแขวนไว้ เฮือนน้ำจะประดับตกแต่งให้สวยงาม เช่น หลังคาจะใส่กาแล แขวนดอก กล้วยไม้ป่าไว้ใกล้ ๆ เฮือนน้ำ ดอกกล้วยไม้ที่นิยมนำมาประดับ เช่น เอื้องผึ้ง เอื้องแซะ เอื้องมอนไข่ เอื้องหลวง เป็นต้น   เฮือนน้ำ จะเป็นสถานที่ตั้งน้ำไว้บนบ้านอย่างถาวร แต่ถ้าเป็นการตั้งหม้อน้ำไว้ชั่วคราวยามหน้าเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานบวช งานปอย หรืองานสำคัญอื่น ๆ ที่มีแขกมาที่บ้านมาก ชาวบ้านจะเอาหม้อน้ำใส่ในซ่อล่อ หรือซองใส่หม้อน้ำ ทำจากไม้ไผ่ โดยตัดไม้ไผ่ เช่น ไผ่รวก ยาว 1-1.5 เมตร ด้านบนผ่าเป็นร่องให้กว้างสานเป็นรูปทรงกลม กลวง เพื่อใส่หม้อน้ำ ส่วนด้านล่างใช้ปักลงไปในดิน เพื่อให้ตั้งได้ ซ่อล่อใส่น้ำจะปักไว้ตามใต้ต้นไม้เพื่อให้คนได้ดื่มกิน
  • หม้อสาว เป็นหม้อดินเผาขนาดใหญ่ ปากกว้างกว่าหม้อน้ำดื่ม ใช้บรรจุน้ำสำหรับล้างมือ ล้างผัก หรือชำระล้างสิ่งต่าง ๆ สำหรับทำกับข้าว จะตั้งอยู่ใกล้เฮือนน้อย (ห้องครัว) เรียกว่า หม้อน้ำซั๊วะ (ซั๊วะ คือ ล้าง) บางครั้งใช้ทำเป็นหม้อแกงในงานเลี้ยงงานบุญต่าง ๆ เพราะสามารถใส่อาหารได้มาก
  • หม้อลุ่ม ทำเป็นหม้อใส่น้ำไว้ที่บันไดก่อนขึ้นบ้าน บางคนเรียกว่า หม้อโซ่ยติ๋น (หม้อล้างเท้า) บางครั้งจะทำเป็นอ่างใช้จุ่มเท้าลงไปล้างในอ่าง เรียกว่า ฮางโซ่ยติ๋น โดยการเจาะไม้ให้เป็นอ่าง ตรงกลางอ่างยกสูงขึ้นเล็กน้อยไว้สำหรับเป็นที่พักเท้า  บริเวณ หม้อล้างเท้าจะมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ไม้หอมจำพวกขจร มะลิ โกสน ดอกแก้ว ดอกดู่ (ดอกพื้นบ้านเป็นไม้พุ่ม มีดอกเล็ก ๆ สีเหลือง) การปลูกดอกไม้นอกจากจะประดับประดาให้ความสวยงามแล้ว ชาวบ้านยังสามารถเก็บดอกไม้นี้ไปบูชาพระในวันพระหรือเทศกาลต่าง ๆ ได้อีกด้วย นอกจากดอกไม้เพื่อประดับแล้ว ชาวบ้านยังนิยมปลูกพืชผักสวนครัว เช่น สะระแหน่ ผักไผ่ หรือต้นหอม เอาไว้ใช้คราวจำเป็น
  • น้ำต้น (คนโท) เป็นภาชนะขนาดเล็ก รูปทรงสูง ด้านล่างจะอ้วนสำหรับใส่น้ำ ด้านบนทำเป็นคอสำหรับถือ จะใช้ใส่น้ำเพื่อรับรองแขก เหมือนเหยือกน้ำของคนในปัจจุบัน ทำมาจากดินเผา มีสีแดงของดินและสีดำ นอกจากนี้ น้ำต้นยังทำมาจากบ่าน้ำ(น้ำเต้า) โดยทิ้งน้ำเต้าให้แก่คาต้นจนผิวหยิกไม่เข้า นำมาตัดตรงขั้ว แล้วคว้านเอาไส้ในออกให้หมด ใส่น้ำทิ้งไว้ให้เนื้อในเน่าเปื่อย เทน้ำทิ้ง เติมใหม่ ทำอย่างนี้เรื่อย ๆ จนกระทั่งได้น้ำต้นที่มีแต่เปลือกแข็งบรรจุน้ำดื่มได้ น้ำต้นจะสานซาหุ้มไว้ ซา ทำมาจาก ไม้ไผ่สานเป็นรูปตาข่ายหุ้มน้ำต้นไว้ เพื่อสะดวกในการจับถือและทำให้น้ำต้นตั้งได้ ใช้ไม้มาเหลาทำเป็นจุกปิดฝาน้ำต้นใช้เชือก ร้อยเป็นที่หิ้วหรือสะพาย จะนิยมพกพาไปตามที่ต่าง ๆ เช่น ไร่ นา เป็นต้น

ภาชนะบรรจุน้ำอีกชนิดหนึ่งที่ชาวน้ำนิยมทำกันเพื่อพกพายามเข้าไปไร่นา เนื่องจากเบาและบรรจุน้ำได้เยอะ ภาชนะนี้ทำมาจากไม้ไผ่ลำโต ร้อยด้วยเชือกสำหรับสะพาย เรียกว่า น้ำคอก สามารถตั้งไว้ตามที่ต่าง ๆ หรือแขวนตามกิ่งไม้กันมด แมลงต่าง ๆ ได้ หรือจะนำไปแช่ในลำห้วยให้เย็นเพื่อดื่มได้ชื่นใจ

ภาชนะที่ทำมาจากอวัยวะของสัตว์ใช้บรรจุน้ำ เรียกว่า พุ่งเยี่ยว (กระเพาะปัสสาวะ) ของสัตว์ใหญ่ที่ล้มกินกันในหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น วัว ควาย หรือหมู หรือสัตว์ป่า เช่น ฟาน (อีเก้ง) ควายป่า เป็นต้น ที่ชาวบ้านจะได้จากการไปไล่ล่าในแต่ละครั้ง จะนำพุงเยี่ยว ของสัตว์ที่ได้มาล้างทำความสะอาด นวดให้นิ่ม นำก้านมะละกอมาสอดตรงรูเป่าลมให้พองเหมือนลูกโป่งตากแดดให้แห้งสนิท จากนั้นก็สามารถนำไปบรรจุน้ำได้ ชาวบ้านนิยมนำไปบรรจุสุราที่กลั่นเอง บอกว่ารสชาติสุราที่บรรจุในพุงเยี่ยวสัตว์ จะอร่อยเป็นพิเศษ ส่วนมากจะใช้บรรจุเหล้าดองยาสมุนไพรต่าง ๆ ไว้ดื่มกินให้เจริญอาหารหรือเป็นยารักษาโรค

นอกจากนี้ ยังมีภาชนะที่ใช้ตักน้ำ เรียกว่าน้ำคุ (ถังน้ำ) ทำมาจากสังกะสี เจาะรูด้านข้างสองรูเพื่อเป็นหูหิ้ว ชาวบ้านจะใช้ ตะขอด้านหนึ่งเกี่ยวกับหูหิ้วของน้ำคุ อีกด้านหนึ่งเกี่ยวกับด้านปลายสุดของไม้คานทั้งสองด้าน ใช้สำหรับหาบน้ำจากลำห้วย มาไว้ ใช้ดื่มกินที่บ้าน สมัยก่อนน้ำดื่มน้ำใช้อาศัยแหล่งน้ำสำคัญจากลำห้วยหรือท่าน้ำ ตอนเย็นสาว ๆ ของแต่ละบ้านจะมีหน้าที่ตักน้ำมาใช้ จะชวนกันไปเป็นกลุ่ม พากันไปที่ลำห้วยหรือท่าน้ำ ขุดทรายให้ลึกจะมีน้ำซึมออกมา เรียกว่า บ่อน้ำซึมทรายรอจนกระทั่ง ปริมาณน้ำเพียงพอก็ใช้กระบวยที่ทำจากกะลามะพร้าวเจาะด้านข้างใส่ไม้สลักและด้ามสำหรับจับ ตักน้ำใส่ในน้ำคุให้เต็มแล้วหาบ กลับบ้าน หญิงสาวตักน้ำ ชายหนุ่มจะไปเล่นน้ำเพื่อรอดูสาว ๆ ที่ลำห้วย เพื่อมีโอกาสได้คุยกัน เป็นการนัดพบที่ปลอดจากสายตาผู้ใหญ่ได้วิธีหนึ่ง

น้ำทุ้ง เป็นอุปกรณ์อีกชนิดหนึ่งที่ใช้ตักน้ำ สานจากไม้ไผ่ เป็นรูปครึ่งวงกลม ใช้เชือกยาวร้อยตรงหูจับ ใช้ตักน้ำจากบ่อน้ำลึกเพื่อใส่ในน้ำคุอีกที

ภาชนะบรรจุน้ำที่มีหลากหลายชนิดเกิดจากผญา    (ภูมิปัญญาของคนเมือง คนภาคเหนือ) จะใช้สิ่งที่อยู่รอบตัวให้ เกิดประโยชน์ เป็นการเลือกใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า ไม่ว่าจะเป็นดิน ต้นไม้ พืช สัตว์ ไม่สิ้นเปลือง ไม่ต้องซื้อหา และไม่ต้องใช้เงิน ชีวิตก็มีความสุขได้

ผู้เขียนได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับภาชนะบรรจุน้ำจากพี่คำแปงและแม่หม่อนแก้ว มากมาย วันนี้จึงถือโอกาสเลือกซื้อหม้อน้ำได้ 4-5 ใบ แทนน้ำใจไมตรีจากทั้งสอง กะว่าจะให้ลุงนวลสานซ่อล่อใส่หม้อน้ำปักไว้ตามใต้ต้นไผ่ เผื่อเด็ก ๆ จะได้ดื่มกินยามวิ่งเล่น จนเหนื่อยอ่อน