"หญ้าคา" มีค่าเป็นเงิน ที่นิคมกิ่วลม

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

"หญ้าคา" มีค่าเป็นเงิน ที่นิคมกิ่วลม
ศรี จันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน

  


หญ้าคาเป็นวัชพืชที่ชาวไร่ชาวสวนน้อยคนนักที่จะปรารถนาให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง แต่ที่นิคมกิ่วลมกลับมีการทำสวนหญ้าคา มีการบำรุงรักษาอย่างดี เพื่อการค้าสร้างเงินสร้างงานให้ชาวบ้านได้ไม่น้อย สามารถทำเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมหาเลี้ยงครอบครัวได้ หลายพื้นที่ในเขตนิคมสร้างตนเองกิ่วลม ไม่ว่าจะเป็นในเขต ต.นิคมพัฒนา , ต.บุญนาคพัฒนา หรือ ต.บ้านแลง ของจังหวัดลำปาง มีชาวบ้านส่วนหนึ่งยึดอาชีพ "ไพคา" ขาย ตลาดไม่มีทางตัน และไม่มีคู่แข่ง ผลิตมาเท่าไรก็ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ตลาดหญ้าคาของชาวนิคมกิ่วลม คือ จังหวัดเชียงใหม่ , ลำพูน , แพร่ และพะเยา

ป้าคำใสและลุงแก้วสองสามีภรรยา ชาวนิคมกิ่วลมเขต 16 ผู้เป็นภูมิปัญญาด้านไพคา ได้ยึดอาชีพไพคามากว่า 20 ปี มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการไพคา ทั้งสองมีสวนหญ้าคาอยู่หลังบ้านและตามคันนาข้าง ๆ บ้าน ทุก ๆ วันลุงแก้วจะใช้เคียวเกี่ยวหญ้าคาแล้วนำไปตากแดดให้แห้งจากหญ้าคาสีเขียว กลายเป็นสีน้ำตาล จากนั้นก็มัดรวมกันเป็นฟ่อนประมาณ 1 หอบ หรือ 1 อ้อมแขน ชาวบ้านที่นี่เรียกว่า 1 เผ้า ถ้าขายโดยที่ไม่ต้องไพขายได้เผ้าละ 8 - 10 บาท แล้วแต่ว่าช่วงไหนหญ้าคาขาดตลาด

หญ้าคาสามารถเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ขนาดหญ้าคาที่เหมาะสำหรับใช้ไพได้ต้องมีความยาวประมาณ 1.20 เมตร - 1.50 เมตร หลังจากเก็บหญ้าคาได้เป็นเผ้าแล้ว ยามว่างก็นำไปสางเอาใบหญ้าคาที่สั้นไม่ได้ขนาดและเอาเศษหญ้าอื่น ๆ ที่ติดมาด้วยทิ้งไป วิธีการสางหญ้าคาจะใช้หวีที่ทำมาจากไม้ไผ่สาง แล้วมัดเป็นเผ้าใหม่ การสางเป็นการคัดเลือกคุณภาพของหญ้าคา หญ้าคาที่สางแล้วได้ราคาดีกว่าหญ้าคาที่ไม่ได้สางเนื่องจากสะดวกกับผู้ซื้อ ที่ไม่ต้องเสียเวลาในการสางหญ้าคาอีกครั้งก่อนนำไปไพ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป จากนั้นเก็บหญ้าคาที่สางแล้วมัดเป็นเผ้าไว้เป็นจำนวนมาก ๆ โดยเก็บไว้ที่ก้าง เพื่อรอการไพคาในขั้นตอนต่อไป

   ก้าง คือ โรงเรือนสำหรับเก็บวัสดุทางการเกษตร เช่น
ก้างคา คือ ที่สำหรับเก็บหญ้าคา
ก้างเฟียง คือ ที่สำหรับเก็บฟางข้าว เป็นต้น

การไพคา มีวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น ดังนี้

  1. ไม้ดูกก้าน ทำจากไม้ไผ่ผ่าซีกกว้างขนาด 2 เซนติเมตร ยาว 1.20 - 1.50 เมตร ใช้สำหรับเป็นแกนผูกยึดหญ้าคากับตอก
  2. ตอก ทำจากไม้ไผ่ ทำเป็นเส้นบาง ๆ ยาว 0.5 - 1 เมตร สำหรับใช้มัดหญ้าคากับไม้ดูกก้าน ชาวบ้านนิยมใช้ไม้ไผ่บงทำตอก เนื่องจากมีความเหนียว ยืดหยุ่น ไม่กรอบ ไม่หักง่าย และมีช่วงตอกยาว
  3. หญ้าคาแห้งที่สางแล้ว นำไปแช่น้ำให้ชุ่ม เพื่อเพิ่มความเหนียว ไม่ให้หญ้าคาหักง่ายเวลาพับในขณะที่ไพคา

ป้าคำใสผู้สันทัดไพคาสาธิตการไปคาให้ผู้เขียนดูด้วยท่าทีที่คล่องแคล่ว

ขั้นแรก นำไม้ดูกก้านมาวางยาวตรงไปข้างหน้า นำตอกวางบนไม้ดูกก้าน โดยพับตรงกึ่งกลางตอกแล้วนำหญ้าคาวางทับบนตอก จากนั้นพับหญ้าคาในจุดกึ่งกลาง เริ่มถักหญ้าคาครั้งแรก เรียกว่า ขึ้นเก๊า (ตั้งต้น) จากนั้นใช้ตอกลอดไม้ดูกก้านแล้วสอดขึ้น ทำในลักษณะนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดความยาวของไม้ดูกก้าน จะได้คา 1 ไพหรือ 1 ตับ ความกว้างของคาที่ไพแล้วประมาณ 0.5 เมตร ความยาวเท่าขนาดของไม้ดูกก้าน พอไพคาเสร็จจึงนำไปผึ่งแดดให้แห้งรอการเก็บขายต่อไป

ลักษณะการเก็บ จะเก็บคาที่ไพแล้ว 10 ไพ มัดรวมกันเป็น 1 มัด เพื่อสะดวกในการนับจำนวนและการขนส่ง หลังจากดูการสาธิตของป้าคำใสแล้ว ผู้เขียนจึงทดลองไพคาดูกว่าจะทำเป็นทุลักทุเลทีเดียว เรียกเสียงหัวเราะจากกลุ่มชาวบ้านที่กำลังนั่งไพคา ผู้เขียนโดนใบหญ้าคาบาดมือไปหลายแผล แต่เพื่อการเรียนรู้จึงยอม ถามป้าคำใสถึงปริมาณที่ไพคาได้ในแต่ละวัน ป้าคำใสบอกว่าถ้าตั้งใจทำจริง ๆ วันหนึ่งก็ไพคาได้ 30 - 40 ไพ ถ้าคิดเป็นเงินก็ดีทีเดียวเมื่อเทียบกับรายจ่ายที่แทบไม่ต้องใช้ เพราะในบ่อมีปลา ในนามีข้าว ข้างบ้านปลูกพืชผักสวนครัว ชาวบ้านที่นิคม ฯ ส่วนใหญ่ไพคาในช่วงหลังจากว่างงานจากท้องไร่ท้องนา ไม่ว่าจะเป็นการทำนา , ใส่ถั่วเหลือง , ลงมะเขือเทศ หรือพืชผักตามฤดูกาล

ตลาดคาที่นิคมกิ่วลม มีคนมารับซื้อถึงที่บ้าน ในราคา ไพละ 3.50 บาท แต่ถ้าขายปลีก ได้ราคาไพละ 5 - 6 บาท เด็ก ๆ ในหมู่บ้านถ้าต้องการค่าขนมก็ไม่ต้องขอพ่อแม่ เพียงแค่หลังเลิกเรียนไปรับจ้างไพคา ไพละ 1 บาท อาจได้วันละ 10 ไพก็ได้เงิน 10 บาท ซื้อขนมและไอติมของอร่อยกินได้ทุกวัน นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกอาชีพและหารายได้ตั้งแต่เรียน เป็นการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งด้วย

หญ้าคาที่ไพแล้ว ชาวบ้านจะนำไปมุงหลังคากันแดดกันฝนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้หลังคาหญ้าคายังให้ความเย็นได้ดีกว่าการมุงหลังคาจากกระเบื้องและ สังกะสีซึ่งมีราคาแพงกว่าหลายเท่าตัว อายุการใช้งานของหลังคาหญ้าคาใช้ได้นานถึง 3 - 5 ปี แล้วแต่ความหนาของคาที่ใช้

สอบถามชาวบ้านถึงลูกค้าที่ซื้อคาไปใช้ส่วนใหญ่นำไปใช้ตามร้านอาหาร ,สถานก่อสร้างเพิงพักชั่วคราว ,ซุ้มศาลาพักผ่อน , ฟาร์มหมู,ฟาร์มไก่,ฟาร์มวัว เป็นต้น

ลูกค้าหญ้าคาของชาวบ้านนิคมกิ่วลมมีอยู่มากมาย ผลิตเท่าไรก็ไม่เพียงพอ หญ้าคาที่เคยเป็นที่รังเกียจของชาวไร่ชาวนากลับกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีค่าเป็นเงิน ชาวบ้านจึงทำสวนหญ้าคา โดยใช้ปุ๋ยหว่านบำรุงเพื่อให้ได้ผลผลิตเร็วแทนที่จะปราบด้วยยาฆ่าหญ้าเหมือนชาวบ้านอื่น

ณ ที่แห่งนี้ หญ้าคาเป็นพืชที่มีคุณ มีค่าเป็นเงินเลี้ยงชีพผู้คนมากว่า 20 ปี