วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

สะโป้ก ปืนใหญ่ส่งสังขาร
ศรี จันทรัตน์  กันทะวัง - ผู้เขียน

เด็ก ๆ เล่นสะโป้ก


     ปู่สังขาร ชายชรา ผมขาว ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แบกถุงบรรจุความชั่วร้าย เภทภัยนานาไว้บนบ่าทั้งสองข้างเดินล่องแม่น้ำผ่านหมู่บ้านไป หลังจากได้ปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่ให้แก่เด็ก ๆ และชาวบ้านในหมู่บ้านเสร็จสิ้นลง

     ในแต่ละปีปู่สังขารผู้ใจดีจะมาเยี่ยมเยียนผู้คนในหมู่บ้านตั้งแต่ยาม ค่ำคืนก่อนวันปีใหม่และจากไปในตอนเช้า มืด ของวันสงกรานต์ ปู่สังขารมาเพื่อตรวจตราความสะอาดเรียบร้อย หากบ้านใดไม่ปัดกวาดเช็ดถู อาจถูกปู่สังขารตำหนิเอาได้ แต่ยังไม่เคยมีใครถูกตำหนิเนื่องจากทุกคนรอคอยให้ถึงวันสำคัญนี้ ต่างเตรียมตัวต้อนรับสิ่งดี ๆ ใหม่ ๆ ที่ปู่สังขารจะนำมาให้ พร้อมเก็บความทุกข์ยากของชาวบ้านที่กองไว้หน้าบ้านบรรจุถุงแบกใส่บ่าไปทิ้ง

     เมื่อมิตรใหม่มาเยือนต้องต้อนรับ เสียงสะโป้กจากหมู่บ้านต่าง ๆ ส่งเสียงดังเหมือนปืนใหญ่ ถูกจุดตลอดทั้งคืนจวบจนกระทั่งรุ่งเช้าพระอาทิตย์สาดแสงแรงกล้าเสียงจึงค่อยซาและเงียบไป "ปัง… ปัง …ๆ ..ๆ..ๆ…" เสียงดังคำรามท่ามกลางความเงียบของราตรีกาล ส่งทอดจากบ้านทราย วังเลียบ บ้านใหม่รัตนาคม เสียงตอบจากชาวบ้านหมากหัววัง และหมู่บ้านใกล้ไกลตามที่คลื่นเสียงจะส่งถึงกันได้ กลุ่มเด็กผู้ชายวัยรุ่นจับกลุ่มอยู่ตามจุดนัดพบประจำหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นสี่แยก หน้าวัด หรือสะพานข้ามแม่น้ำ พร้อมมีอุปกรณ์ประจำตัวคนละชุด ข้างกายมีสาวน้อยหน้าใสคอยให้กำลังใจเพื่อนใกล้ชิด หญิงสาวกล้า ๆ กลัว ๆ แต่ก็พร้อมที่จะสนุก ด้วยในหนึ่งปีจะมีเพียงครั้งเดียวและวันเดียวเท่านั้นที่จะได้เล่นสนุกอย่างนี้ ขืนเล่นในวันอื่นคงถูกผู้ใหญ่ตำหนิเป็นแน่

     สะโป้กเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านล้านนาทำได้ง่าย เกิดเสียงดังและไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด ทำมาจากปล้องไม้ไผ่ลำหนาประมาณ 1 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 - 6 นิ้ว ยาวประมาณ 1 - 1.20 เมตรหรือความยาวประมาณ 4 - 5 ปล้อง นิยมทำจากไม้ไผ่สีสุกหรือไม้ซาง

     ปล้องสุดท้ายตัดให้ห่างจากข้อประมาณ 5 - 6 นิ้ว หรืออาจมากว่าเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับตั้ง เมื่อตัดท่อนไม้ไผ่ตามต้องการได้แล้ว ใช้แชลง ด้ามเสียมหรือไม้ที่มีน้ำหนัก ทะลุปล้องไม้ไผ่ทั้งหมดยกเว้นปล้องสุดท้ายหรือปล้องที่อยู่ล่างสุด สำหรับใส่น้ำมันเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเบนซินหรือแก๊สก้อน เป็นต้น ใช้สิ่วเจาะรูที่ปล้องสุดท้ายเหนือข้อขึ้นไปประมาณ 3 นิ้ว ให้รูกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นช่องใส่เชื้อเพลิงและเป็นช่องสำหรับจุดไฟ      หลังจากเตรียมวัสดุอุปกรณ์ทำเป็นสะโป้กเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาเล่น จะวางสะโป้กให้ตั้งเอียงกับพื้นประมาณ 45 - 60 องศา นำน้ำมันเบนซินใส่ไปในรูด้านข้าง ของปล้องไม้ไผ่ปล้องสุดท้าย      ถ้าต้องการให้เกิดเสียงดังขึ้นจะนิยมใช้แก๊สก้อนประมาณหัวแม่มือใส่น้ำ ลงไปเล็กน้อยเพื่อให้แก๊สละลาย จากนั้นเอาไฟจุดที่รูด้านข้าง เมื่อน้ำมันติดไฟ จะเกิดเสียงระเบิด จุดหนึ่งครั้งเกิดเสียงดังหนึ่งครั้ง น้ำมันที่เติมแต่ละครั้งสามารถจุดให้เกิดเสียงดังได้ 5 - 6 ครั้ง

     ในการจุดไฟต้องใช้ไฟที่มีเปลว เช่น ไฟจากเทียนไข ดังนั้นจึงควรต่อก้านไฟชนวนให้ยาวโดยใช้เทียนพันกับก้านไม้ไผ่ให้แน่นหนา เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากสะโป้กแตก เด็กวัยรุ่นมักจะนำกะลามะพร้าวหรือกระดาษม้วนให้กลมวางหรือยัดบนสะโป้ก เมื่อจุดเชื้อเพลิงจะทำให้เกิดแรงอัดทำให้สะโป้กเกิดเสียงดังมากกว่าเดิม ยิ่งเสียงดังมากกะลาหรือกระดาษที่ปิด ไว้ก็กระเด็นไปไกล จึงมีการประชันขันแข่งความดังจากเสียงสะโป้กพร้อมระยะทางของกะลาหรือกระดาษ ที่กระเด็น

     พ่อน้อยศรีชาวบ้านใหม่รัตนาคม ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้ว สะโป้กของแกดังกว่าใครเพื่อนจนเป็นที่กล่าวขานไปทั้งตำบล เล่าให้ฟังว่า คนสมัยก่อนสังเกตจากไม้ไผ่ที่ถูกไฟเผาจะเกิดเสียงดังสนั่น ทำให้สัตว์ป่าเกิดความกลัวแล้ววิ่งหนี คนจึงคิดไล่สัตว์ร้ายยามเข้าป่าโดยนำปล้องไม้ไผ่มาตัด เดิมทีก็ใช้ไม้ไผ่ปล้องเดียวโยนใส่กองไฟ เมื่อความร้อนปะทุจะแตกเสียงดัง บางครั้งจะใส่น้ำลงในไม้ไผ่ที่ตัดมาหนึ่งปล้อง โดยเจาะรูใส่น้ำแล้วโยนใส่กองไฟ เมื่อน้ำเดือดสะโป้กแตกเกิดเสียงดังได้เช่นกัน จากไม้ไผ่ธรรมดา มาเป็นใส่น้ำ พัฒนามาอัดดินปืนแล้วจุดชนวน เกิดเสียงดัง ข้อเสียคือสามารถจุดได้เพียงครั้งเดียว

     จากประสบการณ์และการเรียนรู้ ชาวบ้านจึงคิดค้นสะโป้กที่ทำจากไม้ไผ่หลายปล้องและสามารถจุดได้หลาย ๆ ครั้งเพิ่มประโยชน์และเติมความบันเทิงได้อย่างดี ชาวบ้านจะจุดสะโป้กในช่วงค่ำของวันที่ 12 เมษายน ไปจนกระทั่งเช้าวันที่ 13 เมษายน พ่อน้อยศรีบอกว่าเป็นการจุดส่งปู่สังขาร ขับไล่สิ่งชั่วร้ายในตัวและบ้านเรือน พร้อมทั้งเตือนให้รู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นวันปีใหม่ให้ทุกคนได้เตรียมกายใจ สอบถามลันดาหนุ่มน้อยวัยสิบสาม ถึงเหตุผลที่ชอบจุดสะโป้ก ลันดายิ้มและตอบด้วยความภาคภูมิใจว่า "เป็นเกมท้าทายความกล้าของลูกผู้ชาย"

     การจุดสะโป้กถ้าใครกลัวเสียงดังมีหวังนอนคลุมโปงอยู่ในบ้าน ขนาดเพื่อนของลันดาบางคนที่จุดสะโป้กด้วยกันยังใช้นุ่นยัดหูให้ได้ยินเสียงเบาลง ลันดายังบอกว่านอกจากทดสอบความกล้าแล้ว ยังเป็นการฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วย เพราะการจุดสะโป้กแต่ละครั้งต้องอาศัยความชำนาญ เคล็ดการตั้งสะโป้กให้เอียงได้ที่ การจุดไฟชนวน หรือการเป่าควันออกจากปล้องไม้ไผ่ ต้องอาศัยการแก้ปัญหาทั้งนั้น ในการจุดสะโป้กแต่ละครั้งปัญหาจะเกิดไม่ซ้ำกัน

     "ผมไม่เบื่อที่จะแก้ปัญหา ในชีวิตจริงมีปัญหาให้แก้มากกว่านี้" เป็นคำตอบของหนุ่มนักสู้บ้านนอกอย่างลันดา

     ลันดาบอกว่าเขายินดีอย่างยิ่งที่จะรอจุดสะโป้กต้อนรับปู่สังขารตั้งแต่ยามค่ำคืนและส่งปู่สังขารกลับในรุ่งเช้า ทั้งที่ไม่ได้นอนทั้งคืน แต่เขาก็อิ่มเอมในใจที่ได้ทำสิ่งดี ๆ ให้ปู่สังขารเป็นการตอบแทนความอารีที่ปู่สังขารมอบขนมดี ๆ ให้เขา

     ตอนเป็นเด็กเล็ก ๆ ลันดาและกลุ่มเพื่อน จะชวนกันตื่นแต่เช้ามืดในวันสังขารล่อง แต่ก็ยังช้ากว่าพวกผู้ใหญ่ที่ตื่นตั้งแต่ไก่โห่เตรียมตัวไปวัดในวันปีใหม่ พวกเขาจะวิ่งไปดูตามมุมต่าง ๆ ประตูบ้าน ขอบหน้าต่าง หรือจุดสำคัญ ในบ้าน จะเห็นขนมอร่อยจากปู่สังขารอยู่ในกรวยใบขนุน ผู้ใหญ่เรียก ข้าวแจ้ข้าวจ๋าน เป็นขนมที่ทำจากข้าวเจ้าต้มผสมน้ำอ้อยจนมีสีน้ำตาลเข้ม พวกเขาชวนกันกินอย่างเอร็ดอร่อยจากบ้านนี้ไปบ้านนั้น สนุกสนานและอิ่มท้อง พร้อมนึกขอบคุณที่ปู่สังขารยังใจดีเช่นเดิม เพื่อนคนหนึ่งบอกว่าขนมที่กินเป็นขนมที่ผู้ใหญ่ทำขึ้นมา เขายังไม่อยากเชื่อเพื่อนนัก

     ถึงอย่างไรก็ตามตอนนี้ลันดายังแอบมีความหวังว่าสักวันเขาจะได้พบปู่สังขาร ชายชราผู้ใจดี เขาจะกล่าวขอบคุณปู่สังขารที่มอบสิ่งดี ๆ ให้เขาตลอดมา