วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
12/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

ม้าต่างเมี่ยง เมืองลำปาง

ศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/

" ก๊อบ ก๊อบ ก๊อบ...กริ้ง..." เสียงเกือกม้ากระทบผิวถนนลาดยางเป็นจังหวะสม่ำเสมอ แทรกด้วยเสียงกระดิ่งในมือคาวบอยหนุ่มเพื่อขอทางให้ผู้โดยสารต่างเมืองจาก ผู้สัญจรไปมาบนท้องถนนสายหลักในตัวเมืองลำปาง

รถม้า เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเมืองลำปาง เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่เข้ามาแวะเยี่ยม เยียนเมืองลำปาง จะต้องนั่งรถม้าชมเมืองและสถานที่สำคัญในตัวจังหวัด เช่น วัดพระแก้วดอนเต้า วัดพระเจดีย์ซาวหลัง หรือนมัสการศาลหลักเมือง และพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ (หลวงพ่อดำ) เป็นต้น

รถม้ามีประวัติความเป็นคู่เมืองลำปางมายาวนานนับ 100 ปี
เริ่มแต่สมัยของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 สมัยนั้นการคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ยังพัฒนาไม่ถึงนครลำปาง พาหนะชนิดเดียวที่สามารถใช้บรรทุกสินค้าที่มีความเร็วสูงสุดคือ รถม้านั่นเอง ในกรุงเทพฯ บทบาทของรถม้าลดลง เนื่องจากมีรถยนต์ใช้มากขึ้น จึงได้เริ่มมีการอพยพรถม้าเข้ามายังเมืองลำปาง นอกจากนี้ รถม้าในเมืองหลวงยังได้กระจายไปสู่เมืองหลักของภาคต่างๆ ได้แก่ นครราชสีมา ของภาคอีสาน นครศรีธรรมราช ของภาคใต้ นครเชียงใหม่ เมืองเชียงราย เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองแม่ฮ่องสอนของทางภาคเหนือ แต่เมืองดังกล่าวเลิกกิจการไป คงเหลือเฉพาะที่เมืองลำปางแห่งเดียวที่ยังคงใช้รถม้าอยู่จวบจนกระทั่ง ปัจจุบัน

กิจการรถม้าได้ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2492
ได้เริ่มก่อตั้งสมาคมล้อเลื่อนจังหวัดลำปางขึ้น โดยขุนอุทานคดี ท่านเป็นผู้ริเริ่มและดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง เข้ามาบริหารงาน และได้เปลี่ยนชื่อสมาคมเป็นสมาคมรถม้าจังหวัดลำปาง (THE HORSE CARRIAGE IN LAMPANG PROVINCE) และได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนที่สอง รถม้าในเมืองลำปางได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็วสืบมา ในปี พ.ศ. 2501 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มอบเงินให้แก่เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง และได้ขอรับรถม้าเข้าไว้ในความอุปถัมภ์โดยให้รัฐบาลช่วยเหลือสมาคมรถม้า และตั้งกองทุนให้สมาคมรถม้าอีก 1 กองทุน ปัจจุบัน รถม้าในจังหวัดลำปาง มี ประมาณ 70 คัน และวิ่งพานักท่องเที่ยวชมเมืองได้ มีจำนวน 50 คัน

ม้า ถือเป็นสัตว์เลี้ยงคู่เมืองลำปางมาตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน นอกจากจะใช้เป็นยานพาหนะพานักท่องเที่ยวชมเมืองแล้ว ยังมีม้าที่สร้างประวัติศาสตร์ สร้างอาชีพและรายได้ให้ผู้คนเมืองลำปางในยุคเศรษฐกิจที่ไม่ใช้ไฮเทคโนโลยี อย่างเช่นปัจจุบัน คือ ม้าต่างเมี่ยงเมืองลำปางนั่นเอง

ต่าง เป็นภาษาเหนือ หมายถึง บรรทุก

ม้าต่าง หมายถึง ม้าที่ใช้บรรทุกสิ่งของสำหรับการขนย้าย โดยเฉพาะในท้องถิ่นทุรกันดารที่ไม่สามารถใช้ยานพาหนะชนิดอื่นได้

ม้าต่างเมี่ยง
เป็นม้าที่ชาวลำปางสมัยก่อนใช้ต่างเมี่ยงจากขุนดอยสูงเพื่อลำเลียงสู่พื้นที่ราบ

ลำปาง นอกจากจะมีพื้นที่ราบลุ่มน้ำวังที่เปรียบเสมือนสายเลือดใหญ่ของคนลำปาง เป็นแหล่งเกษตรกรรมหลักแล้ว ยังมีพื้นที่บนยอดดอยสูงที่ชาวบ้านนิยมใช้เป็นพื้นที่การเกษตรปลูกพืชผักโดย เฉพาะเมี่ยง ที่ชาวชนบทนิยมรับประทานเป็นอาหารว่างยามมีงานบุญหรืองานรื่นเริงในหมู่บ้าน

เมี่ยง เป็นชาชนิดหนึ่ง สันนิษฐานว่า เมี่ยง มีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย เป็นลักษณะไม้พุ่มขนาดกลางถึงใหญ่ ลำต้นมีผิวเรียบ ใบ เป็นใบเดี่ยว ปลายใบแหลม ใบมีความกว้างประมาณ 2-4 นิ้ว ยาวประมาณ 4.5-11 นิ้ว สีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม ดอกออกติดกันเป็นกลุ่ม ช่อละประมาณ 2-4 ดอก มีผลคล้ายแคปซูล เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 นิ้ว ลักษณะเมล็ดกลม ผิวเรียบแข็ง สีน้ำตาล

เมี่ยง จะชอบขึ้นในเขตป่า ภูเขาสูง อากาศเย็น ชาวบ้านจะเก็บใบอ่อนของต้นเมี่ยงนำมานึ่ง แล้วหมักไว้ประมาณ 2-3 เดือน เมี่ยงจะออกรสเปรี้ยว ออกมันเล็กน้อย ยิ่งอมหรือเคี้ยวยิ่งอร่อย มีกลิ่นหอมเฉพาะ ปกติจะนำใบเมี่ยงที่หมักแล้วขนาดพอคำ ใส่เกลือเล็กน้อย ห่อเป็นคำแล้วอม ถ้าใครชอบรสหวานก็จะนำน้ำเชื่อมใส่ไปด้วย บางคนอาจใส่ขิงดอง มะพร้าวคั่ว ก็จะได้เมี่ยงที่มีรสชาติหวาน เปรี้ยว เค็ม และมันอร่อย เป็นอาหารว่างหรือของขบเคี้ยวยามนั่งคุยกันฉันเพื่อนบ้านได้เป็นอย่างดี

ในสมัยก่อนจังหวัดลำปางถือว่าเป็นศูนย์กลางการค้าเมี่ยงของภาคเหนือ จะมีผู้คนซื้อขายเมี่ยงกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะที่ตลาดเก๊าจาว ตลาดรถไฟ อำเภอเมืองลำปาง เพื่อนำไปขายต่อยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น ลำพูน เชียงใหม่ พะเยา แพร่ เป็นต้น เนื่องจากสมัยนั้นรถไฟที่มาจากกรุงเทพฯ สุดปลายทางที่จังหวัดลำปาง อุโมงค์ลอดถ้ำขุนตาลยังไม่ได้สร้าง ลำปางจึงเป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญของภาคเหนือตอนบน

เมี่ยง
จะขายเป็นกำ ขนาดเท่าหนึ่งกำมือเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ราคากำละ 10 บาท ซื้อแล้วจะนำไปห่อใบตอง นำใส่ภาชนะ เช่น จาน หรือถาด พร้อมเกลือเม็ด เตรียมไว้รอรับแขกผู้มาเยือน หรือสำหรับเจ้าบ้านยามว่างได้ขบเคี้ยวเล่น บางบ้านจะห่อเมี่ยงที่พร้อมกินไว้เป็นคำๆ ด้วยใบตองสด แล้วใช้ไม้เสียบตรงกลางเหมือนเสียบลูกชิ้น ก็จะสะดวกกับผู้กินมากยิ่งขึ้น เมี่ยงที่ชาวบ้านนิยมกินกันจะมีเมี่ยงส้ม (รสชาติออกเปรี้ยว) และเมี่ยงหวาน (รสชาติออกหวาน)

นอกจากเมี่ยงจะใช้กินเป็นอาหารว่าง เป็นของขบเคี้ยวแล้ว ชาวบ้านป่าเมี่ยงในเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง มีการนำใบเมี่ยงมาปรุงเป็นอาหารอร่อยสูตรชาวบ้าน เรียกว่า ส้าใบเมี่ยง

ส้า เป็นกรรมวิธีการปรุงอาหารอย่างหนึ่งของคนล้านนา คล้ายยำ ชาวบ้านจะนิยมนำยอดผักสดชนิดต่างๆ มาส้า เช่น ส้ายอดม่วง (มะม่วง) ส้าผักหนอก (บัวบก) ส้าผักกาดน้อย (ผักกาดที่ต้นยังเล็กอยู่) ส้าใบเมี่ยง นอกจากนี้ ยังนิยมนำผักที่ขึ้นตามป่าแพะ เช่น ดอกครั่ง ผักปู่ย่า ผักขี้ติ้ว ผักไคร้เม็ด ผักไคร้มด ยอดส้มป่อย ยอดม่วง มาส้ารวมกัน เรียกว่า ส้าผักแพะ ส้าผักนิยมทำกินกันในช่วงใบไม้ผลิในหน้าร้อน

ส้าใบเมี่ยง มีวิธีการทำง่ายๆ ดังนี้

เครื่องปรุง

1. ใบเมี่ยง

2. ปลากระป๋อง 1 กระป๋อง

3. พริกหนุ่ม (พริกสด)

4. หอมแดง หอมขาว (กระเทียม)

5. เกลือ กะปิ ปลาร้า

6. มะกอกป่า ผักชี ต้นหอม

วิธีทำ

1. นำพริกหนุ่ม หอมแดง กระเทียม ย่างไฟจนสุก แกะเปลือกออกโขลกรวมกัน ใส่เกลือเล็กน้อย

2. นำกะปิ ปลาร้า ห่อใบตองหมกไฟให้หอม นำไปโขลกรวมกับน้ำพริก

3. นำปลากระป๋อง น้ำพริก ใบเมี่ยง มะกอกป่า คลุกลงไปให้เข้ากัน

4. ปรุงรสให้ได้ที่ จากนั้นก็โรยด้วยต้นหอม ผักชีหั่น บางคนนิยมนำหอมและกระเทียมเจียวโรยหน้าเพื่อเพิ่มรสชาติและความหอมไปอีกแบบ

5. ตักใส่จาน รับประทานกับข้าวเหนียวนึ่ง อร่อยได้ทั้งครอบครัว

แหล่งผลิตเมี่ยงแหล่งใหญ่ในจังหวัดลำปางมาจากภูสูงที่มีอากาศเย็นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะที่บ้านป่าเมี่ยง ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน การเดินทางในสมัยก่อนค่อนข้างลำบาก เส้นทางสูงชัน ถนนลื่นเป็นดินโคลน พาหนะที่ใช้ได้ดีคือ ม้า ชาวบ้านนิยมใช้ต่างเมี่ยง ม้าที่ใช้เป็นม้าต่างเมี่ยง จะนิยมใช้ม้าแกลบ ซึ่งเป็นม้าพันธุ์พื้นเมือง สูงประมาณ 120-140 เซนติเมตร การใช้ม้าต่างเมี่ยงจะเดินทางเป็นคาราวานม้า ประมาณ 5-10 ตัว

การต่างเมี่ยง ชาวบ้านจะบรรจุใบเมี่ยงที่เก็บแล้วลงในก๋วย (เข่ง) บรรทุกบนหลังม้า โดยใช้ไม้พาดกลางรองด้วยเปลือกไม้ที่ทุบจนนุ่มคล้ายผ้า แต่ละข้างอาจใส่ก๋วยข้างละ 2-4 ก๋วย ตามปริมาณใบเมี่ยง ขนาดตัวม้า หรือตามความแข็งแรงของม้า จากนั้นก็จะเดินเป็นแถวเรียงหนึ่งไปตามถนนที่ลาดชัน ปากของม้าต่างเมี่ยงจะถูกครอบไว้ด้วยตะกร้าที่สานมาจากไม้ไผ่หรือหวาย การครอบปากม้าเพื่อไม่ให้ม้ากินหญ้าระหว่างเดินทาง ไม่ให้เสียเวลาและรอคอยจากทีมที่เดินทางไปด้วย แต่คาราวานม้าต่างจะมีจุดพักระหว่างทาง เรียกว่า ห้าง ชาวบ้านจะเลือกทำเลดี บรรยากาศสวยงาม มีแหล่งน้ำ ทั้งคนและม้าก็จะได้มีเวลาหยุดพักให้หายเหนื่อย ในคาราวานม้าต่างอาจใช้ม้าบางตัวสำหรับบรรทุกสัมภาระเครื่องใช้หรืออาหารของ ม้า เช่น หญ้าอ่อน ข้าวเปลือก ฟาง หรือธัญพืชต่างๆ เป็นต้น

คนกับม้า
จะรักและผูกพันกันเสมือนหนึ่งสมาชิกในครอบครัวเช่นเดียวกับควาย สัตว์ผู้มีคุณของชาวชนบท คนเลี้ยงม้าจะดูแลเอาใจใส่ม้าของตนอย่างดี ตอนค่ำจะสุมไฟไล่ยุงให้ ยามว่างมักเข้าไปพูดคุยเล่นด้วย แปรงขน หรือให้อาหารที่ม้าชอบ ถ้าม้าอารมณ์ดีมันจะใช้ปากงับเจ้าของเบาๆ เป็นการแสดงความรักตอบแทนเช่นกัน คนเลี้ยงม้าจะไม่ค่ำเข (รังแก/ทรมาน) เพราะมีความเชื่อว่าการรังแกสัตว์จะทำให้การทำมาค้าขายไม่ขึ้น (ไม่เจริญรุ่งเรือง) คนจึงนิยมสู่ขวัญม้า เพื่อรำลึกถึงความดีงามของม้าที่ทำให้แก่ผู้เป็นเจ้าของ โดยนิยมทำในเทศกาลปี๋ใหม่เมือง โดยเอาน้ำขมิ้นส้มป่อยไปขอโทษที่ทำ เคยดุด่าว่ากล่าวหรือตีให้ม้าต้องเจ็บและเสียใจ จากนั้นก็จะเอาอาหารที่ม้าชอบให้กิน ถือว่าเป็นการเสร็จพิธีการ

ม้าในลำปางส่วนใหญ่เป็นม้าพันธุ์พื้นเมือง
ตัวเล็กแต่ว่องไว เชื่องและฝึกง่าย หมู่บ้านที่นิยมเลี้ยงม้า ขับรถม้าในปัจจุบันคือ บ้านหม้อ อำเภอเมืองลำปาง ถ้าใครสนใจอยากเป็นเจ้าของรถม้า พร้อมได้รับการฝึกม้าให้ด้วยในราคากันเอง ตกตัวละประมาณ 40,000-50,000 บาท แล้วแต่ตกลงกันเอง

ม้าต่างเมี่ยง เมืองลำปางในปัจจุบันอาจจะถูกลดบทบาทความสำคัญลงจากในอดีตตามนโยบายการพัฒนา ชนบทที่เน้นการสร้างปัจจัยพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า เข้าสู่หมู่บ้าน แต่ก็ยังพอมีม้าต่างเมี่ยงให้เห็นอยู่บ้างบนยอดดอยสูง นอกจากนี้ วัฒนธรรมการกินเมี่ยงของผู้คนก็เปลี่ยนไป เมื่อคุณค่าขนมกรอบแกรบและอาหารปรุงรสเข้ามาแทนที่ให้ผู้คนได้เลือกเสพภาย ใต้บรรยากาศเย็นสบาย สะดวกและทันสมัยในห้างสรรพสินค้า

แม้วิถีชีวิตและสภาพสังคมจะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม แต่คุณค่าม้าเมืองลำปางไม่เคยลดน้อยลงไปจากใจของผู้คนชาวลำปาง เพราะม้าแสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นเมืองลำปาง ไม่มีใครรังเกียจม้าที่วิ่งขวักไขว่บนท้องถนน ผู้คนต้องคอยหลีกทางให้ เพราะตราบใดที่ม้ายังอยู่คู่คนลำปาง ตราบนั้นยังพอมีสิ่งประทับใจให้ผู้คนในแดนอื่นได้นึกถึงลำปาง ดินแดนแห่งเมืองรถม้า