วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

ผักปาบ ปราบศัตรูพ่าย

ศรีจันทรัตน์ กันทะวัง

หลังฟ้าหม่น เมฆดำทะมึน สายลมเย็นพัดผ่านยอดข้าวที่กำลังออกรวงรอแก่ได้ที่ ให้ชาวนาได้เก็บเกี่ยวอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า ฝนเทกระหน่ำลงมาดั่งฟ้ารั่ว ผู้ที่ปลูกข้าวดอ (ข้าวที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น) ต่างขวัญเสีย ด้วยข้าวพันธุ์นี้ถึงเวลาเก็บเกี่ยว ฝนหนักอย่างนี้ทำให้ข้าวที่แก่เต็มที่ต่างล้มระเนระนาดทำให้ยากต่อการเก็บ เกี่ยวอย่างยิ่ง ฝนหนักช่วงนี้ชาวบ้านเรียกฝนส่งปูส่งปลา จะมีช่วงปลายฝนต้นหนาวประมาณเดือนยี่เหนือก่อนลอยกระทง เพื่อส่งปูปลากลับถิ่นเดิมก่อนจะเจอลมแล้ง น้ำในนาแห้งขอด

ชาวบ้านนิยมจับปลากันอีกครั้งในช่วงฝนส่งปูส่งปลา หลังฝนขาดมาระยะหนึ่งเนื่องจากจะได้ปลาจำนวนมากและปลาที่ตัวโตหลังกินอิ่มมา ตลอดช่วงฝน โดยเฉพาะปลาช่อนที่นิยมนำไปแกงส้มผักปาบ อาหารอร่อยของชาวบ้านชนบทภาคเหนือ

ผักปาบเป็นพืชล้มลุก
สามารถเจริญเติบโตอยู่ข้ามปีได้ มีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ลำต้นกลม เรียบหรือมีขนเล็กน้อย อวบน้ำ จะชูส่วนปลายยอดตั้งขึ้นสูง 10-40 ชั่วโมง แตกแขนง บริเวณโคนต้น รากเป็นฝอยแตกออกตามข้อของลำต้น ลักษณะใบ เป็นใบเดี่ยวออกจากลำต้นแบบสลับ ใบรูปร่างยาวรีรูปหอกคล้ายใบไผ่แต่มีขนาดเล็กกว่า ปลายใบไม่มีก้าน ใบฐานใบเรียวและแผ่ ออกเป็นกาบหุ้มลำต้น ใบกว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 4.7 เซนติเมตร มีขนขึ้นบริเวณขอบใบ ดอกออกเป็นช่อ บนก้านช่อมีใบประดับดอกสีเขียวคล้ายใบเป็นแผ่นกลม หรือรูปหัวใจห่อหุ้มดอกเอาไว้ ช่อดอกแตกเป็น 2 กิ่ง กิ่งบนมีดอกย่อย 1-3 ดอก ก้านดอกยาว กิ่งล่างมีดอกย่อย 2-5 ดอก ก้านดอกสั้น แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ สีเขียวใสกลีบ ดอก 3 กลีบ มีสีน้ำเงินหรือม่วงอ่อน กลีบดอกด้านบนใหญ่กว่ากลีบดอกด้านล่าง ผลเป็นชนิดแคปซูล แบ่งเป็น 3 ช่อง มีเมล็ดภายใน 1-5 เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาล รูปร่างค่อนข้างยาว จะเป็นสันอยู่บนด้านหนึ่งของเมล็ด การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ดและส่วนของลำต้น

ชาวบ้านบอกว่าผักปาบมีให้เก็บกินตลอดทั้งปี โดยจะพบได้ตามที่ชุ่มชื้นตามคลอง หนองน้ำหรือในนา นิยมนำยอดอ่อนมากินได้ทั้งดิบและปรุงให้สุก เป็นผักจิ้มน้ำพริกปลา น้ำพริกกบ น้ำพริกจี้กุ่ง ได้อร่อยเข้ากัน หรือจะนำไปแกงส้มผักปาบใส่ปลาช่อน ให้ได้ซดน้ำร้อนๆ ให้คลายหนาวยามปลายฝนก็อร่อยไม่แพ้กัน


แกงส้มผักปาบปลาช่อนมีวิธีการทำง่ายๆ ดังนี้


ส่วนผสม/อุปกรณ์

เครื่องแกง

1. พริกหนุ่ม 5-7 เม็ด

2. หอม 3-5 หัว

3. เกลือ 1 ช้อนชา

4. กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ

5. มะเขือเทศลูกเล็ก 10 ลูก

เครื่องปรุง

1. ปลาช่อน 1 ตัว

2. ผักปาบ 1.5 กิโลกรัม

วิธีการทำ

1. เด็ดผักปาบเอาแต่ยอดและใบอ่อน

2. นำเครื่องแกง (ข้อ 1-4) มาตำให้ละเอียด และเอามะเขือเทศล้างให้สะอาดลงนวดให้เข้ากัน

3. ปลาช่อนหั่นเป็นชิ้นๆ

4. ตั้งหม้อแกงใส่น้ำ นำเครื่องแกงลงละลายในน้ำ พอเดือดใส่ผักปาบ

5. ผักปาบใกล้สุกใส่ปลาช่อนลงไป

6. แกงสุกตักใส่ถ้วยพร้อมกินกับข้าวเหนียว

ประโยชน์

แกงส้มผักปาบปลาช่อน เป็นอาหารพื้นบ้านที่นิยมนำมารับประทานกันมากแทบทุกบ้าน เพราะทำง่ายและให้คุณค่าทางอาหาร ได้แก่ แคลอรี โปรตีน แคลเซียม เป็นต้น ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า ผักปาบช่วยให้เจริญอาหาร แก้โรคเรื้อน เป็นยาระบาย บรรเทาอาการปวด แก้อาการระคายเคืองที่ผิวหนัง

นอกจากให้คุณค่าทาง ด้านโภชนาการแล้ว ผักปาบยังช่วยจรรโลงสภาพจิตใจของเจ้าบ้านให้ดีขึ้น ชาวบ้านมีความเชื่อว่าถ้าต้องการปราบฝ่ายตรงข้าม อาจเป็นศัตรูหรือผู้ที่มาเยือนให้ยินยอมอ่อนโอนกับตนแล้ว จะต้องให้กินผักปาบ สิ่งที่คาดหมายจะได้สมดั่งตั้งใจ อาจเป็นเพราะความอร่อย รสหวานเย็นของผักปาบ กับไมตรีที่มอบให้คงช่วยหลอมรวมใจให้คล้อยตามก็เป็นได้

การกิน สะท้อน ความคิด ความเชื่อ ของวิถีชีวิตผู้คนชนบท อาหารบางครั้ง ไม่เพียงให้คุณค่าในการดำรงอยู่ของร่างกายเท่านั้น คุณค่าทางด้านจิตใจบางครั้งยิ่งใหญ่กว่าการกิน