วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

โคมลอย ลอยล่องส่งเคราะห์
ศรีจันทรัตน์ กันทะวัง

เสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กเล็กที่วิ่งไล่กันใต้ต้นจำปีใหญ่ในวัดประจำหมู่บ้าน ขณะนี้วัดที่เคยสงบเงียบกลับอึกทึกครึกโครมไปด้วยเสียง ทั้งจากเครื่องเสียงที่มีปู่อาจารย์หนานแก้ว โฆษกประจำวัดประกาศรายนามผู้บริจาคเงินด้วยท่วงทำนองลีลาที่เป็นเอกลักษณ์ เรียกรอยยิ้มจากผู้ที่ได้ยินได้ฟัง เสียงขับจ้อยซอของคณะละครซอชื่อดัง ทำเอาผู้เฒ่าน้ำตาหล่นแหมะกับความสะเทือนใจจากละครเรื่องเต่าน้อยอองคำ ความสนุกสนานกำลังเกิดขึ้นช่วงเทศกาลยี่เป็ง ประเพณียิ่งใหญ่ของคนในหมู่บ้าน

ณ ลานโล่งหน้าวัด กลุ่มผู้ชายทั้งหนุ่มแก่ต่างกำลังลุ้นชัยชนะฝีมือตนเอง โดยมีกลุ่มผู้หญิงและเด็กเล็กคอยให้กำลังใจอยู่ห่างๆ ด้วยกลัวอันตรายจากโกมลอย (โคมลอย) ที่กำลังจะถูกปล่อยขึ้นไปบนท้องฟ้า

โคมลอย หรือในบางท้องถิ่นเรียกว่า ว่าว มี 2 ชนิด คือ โคมลม และโคมไฟ

โคมลม คือ โคมที่ปล่อยในเวลากลางวัน

โคมไฟ คือ ใช้ปล่อยในเวลากลางคืน

พ่อหนานสมเจ้าต๋ำฮา (เจ้าตำรับ) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำโคมลอยเล่าให้ฟังว่า การทำโคมลอยจะใช้กระดาษเนื้อบาง ติดประกอบกันเป็นรูปทรงต่างๆ ส่วนใหญ่ทำเป็นลักษณะของถุงลม ก้นใหญ่ วงปากแคบ กระดาษที่ใช้ทำนั้น จะใช้กระดาษสีเดียวหรือหลายสีก็ได้ แล้วแต่ความพอใจ ในสมัยก่อนนิยมมาช่วยกันทำที่วัด เพราะต้องใช้สถานที่ทำเป็นลานกว้าง โดยมีเจ้าต๋ำฮาเป็นผู้ควบคุมดูแล

วิธีการเล่น

เมื่อถึงเวลา ปล่อยโคมลอย ชาวบ้านโดยเฉพาะพวกผู้ชายก็จะล้อมวงเข้ามาดูอย่างใกล้ชิด บ้างก็ช่วยถือไม้ค้ำยันเพื่อช่วยให้โคมลอยทรงตัวได้ ถ้าเป็นโคมไฟก็จะเอาเชื้อเพลิงคือผ้าชุบน้ำมันยางเผา หรือใช้ชัน (ขี้ขะย้า) เผาเพื่อให้เกิดควันแล้วปล่อยควันไฟเข้าไปอัดในโคมลอย จนโคมลอยลอยตัวและตึงเต็มที่ เมื่อถึงตอนนี้ชาวบ้านก็ช่วยกันมากขึ้น บ้างก็ถือวงปาก บ้างก็คอยให้กำลังใจอยู่รอบข้าง โดยมีขบวนแห่กลองสิ้งหม้องและฟ้อนรำกันอย่างสนุกสนาน เมื่อโคมลอยตึงเต็มที่ ก็จะนำประทัดหรือหางว่าวมาผูกติดกับวงปาก ปลดไม้ค้ำยันออก และปล่อยขึ้นไป ถ้าเป็นการแข่งขันก็จะดูว่าโคมของใครสวยหรือไม่ โดยดูตั้งแต่ขนาด รูปทรงของว่าว การลอยตัว และลูกเล่นต่างๆ ที่ผูกติดวงปากของโคมลอย

การปล่อยโคมลอยนั้น นิยมเล่นหรือแข่งขันกันในเทศกาลงานประเพณีสำคัญๆ ของหมู่บ้าน เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ประเพณียี่เป็ง หรืองานบุญต่างๆ

การปล่อยว่าวหรือโคมลอยนี้ ชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า เพื่อให้ว่าวได้นำเอาเคราะห์ร้ายภัยพิบัติต่างๆ ออกไปจากหมู่บ้าน ดังนั้น ว่าว หรือโคมลอยที่ปล่อยขึ้นไป ถ้าไปตกในบ้านใคร บ้านนั้นจะต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อล้างเสนียดจัญไรทั้งปวงออกไป นอกจากนี้ ยังถือกันว่าเป็นการทำเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเพื่อความสนุกสนาน สร้างความสามัคคีในหมู่บ้านอีกด้วย

ชีวิตคนเราบางครั้งสะสมหมักหมมความเศร้าหมองหรือสิ่งเลวร้ายไว้ในจิตใจ ที่เรียกว่าเคราะห์กรรมจนก่อเกิดความทุกข์ หากไม่มีการชะล้างออกไปบ้าง ชีวิตอาจทนรับไม่ไหว

โคมลอย
จึงเปรียบเสมือนสื่อกลางทำให้ชีวิตนี้ดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุขต่อไป