ห่อนึ่งกบ อาหารอร่อยแบบบ้านๆ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/02/2009
ที่มา: 
เว็บไซต์วิถีชาวบ้านของ ครูศรีจันทรัตน์ กันทะวัง http://school.obec.go.th/phifo/index.html

ห่อนึ่งกบ อาหารอร่อยแบบบ้านๆ

ศรีจันทรัตน์ กันทะวัง

โอ๊บๆ ๆ เสียงกบร้องระงม กลางสายฝนโปรยปราย หลังจากกระหน่ำรุนแรงมาก่อนหน้านี้ของฝนต้นฤดู เสียงร้องของกบยามค่ำคืนเช่นนี้ อาจมีความหมายถึงความเปลี่ยวเหงาในใจ ต่างร้องเรียกหาคู่ หรืออาจเป็นไปเพราะสัญชาตญาณเพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ

การวางไข่ของกบจะเริ่มในช่วงฝนต้นฤดูหรือฝนหัวปีที่มีน้ำเจิ่งนอง กบจะออกมาจับคู่กันวางไข่ กบตัวเมียจะโตกว่าตัวผู้ ช่วงการวางไข่หรือกำลังผสมพันธุ์กบมักจะไม่ค่อยระมัดระวังตัว จึงทำให้ชาวบ้านจับได้โดยง่าย โดยชาวบ้านจะใช้ไฟฉายส่องและเอาสวิงตัก หากกบดำน้ำหลบไปก็จะใช้สุ่มดักไว้และจับกบขึ้นมา ช่วงนี้จะมีกบให้จับมากและรสชาติอร่อย เนื่องจากเป็นช่วงที่อาหารอุดมสมบูรณ์

นอกจากการจับกบด้วยวิธีดัง กล่าวแล้ว การจิจะหล่อมกบ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมกันในช่วงหลังการทำนา ประมาณ 1-2 เดือน ต้นข้าวจะมีความสูงขนาดเอว ใบข้าวจะทึบแทบมองไม่เห็นช่องไฟหรือแถวกอข้าว ช่วงนี้ในนายังพอมีน้ำเฉอะแฉะเหมาะกับการจิจะหล่อม

การจิจะหล่อม
เป็นลักษณะการตกเบ็ดอย่างหนึ่ง อาศัยการหลอกล่อให้กบหลงเชื่อ คิดว่าตัวเองจะได้เปรียบศัตรูให้จับกินเป็นอาหารและด้วยความอยากได้ กบก็เลยตกเป็นเหยื่อของคนเสียเอง

วิธีการจิจะหล่อม

1. ทำเบ็ดตกความยาวไม่จำกัด แล้วแต่ความถนัด

2. ใช้เหยื่อเกี่ยวตะขอเบ็ด อาจเป็นจิ้งหรีดหรือตั๊กแตนที่หาได้ตามนาข้าว

3. โยกคันเบ็ดขึ้น-ลง เลียนแบบจิ้งหรีดหรือตั๊กแตนกระโดด

เสียงเหยื่อกระทบผิวน้ำดังเจาะแจะๆ กบซึ่งชอบกินแมลงอยู่แล้วก็จะกระโดดฮุบเหยื่อ จึงทำให้ติดเบ็ด เมื่อกบติดเบ็ดจะร้องเสียงดังโอ๊บๆ ๆ อาจเป็นเพราะตกใจที่ในชีวิตนี้ไม่เคยกินแมลงแล้วดิ้นไม่หลุด

กบ เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมีอยู่ทั่วไป รูปร่างของกบแบ่งออกเป็นส่วนหัวและลำตัว ไม่มีคอและหาง มีขา 2 คู่ ขาคู่หน้าเล็กกว่าคู่หลัง มีนิ้วที่เห็นชัดเจนสี่นิ้ว นิ้วหัวแม่มือเป็นปุ่มนิดเดียว ขาหลังแข็งแรง ข้อเท้ายาว โคนขาใหญ่ ชาวบ้านทางภาคเหนือจะเรียกว่า ขาอุ้ย หรือขาอุย เป็นส่วนที่มีเนื้อมากที่สุด โคนขาที่ใหญ่เหมาะสำหรับกระโดด ระหว่างนิ้วเท้ามีผังผืดบางๆ ยึดติดกันสำหรับว่ายน้ำ ตรงกลางหลังมีโหนกหรือปุ่มคล้ายหลังโกง ตรงนี้คือแง่กระดูกตะโพกมาพบกับแง่กระดูกสันหลัง กบจะมีผิวหนังที่เรียบไม่ขรุขระเหมือนคางคก ไม่มีขน ไม่มีเกล็ด ผิวหนังมีความเปียกชื้นตลอดเวลา เนื่องจากมีต่อมเมือกและน้ำใสๆ ใต้ผิวหนัง หัวของกบกว้างเป็นรูปสามเหลี่ยม แบน ปากกว้าง ตาใหญ่และโปน หนังตาบนหนา หนังตาล่างบาง ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ มีเพียงหนังบางๆ ใสๆ ปิดเปิดตาดำได้และสำหรับกะพริบตา มีเสียงร้องโอ๊บๆ ๆ ผสมพันธุ์ในฤดูฝน ลิ้นกบมีสองแฉก โคนลิ้นติดอยู่กับใต้คาง ปลายลิ้นตลบอยู่ในปาก เวลาจับแมลงเป็นอาหาร กบจะตวัดลิ้นออกมา ใช้ลิ้นสองแฉกปลายลิ้นจับแมลงกลับลงสู่ลำคอ ปลายลิ้นจะมีเมือกเหนียวๆ เพื่อใช้ในการจับแมลง

ในฤดูฝน
หลังจากที่กบวางไข่ ชาวบ้านจะนิยมใช้สวิง หรือตะแกรงช้อนเอาลูกอ๊อด ชาวบ้านเรียกว่า อี่ฮวก นำมาล้าง บีบเอาขี้ออก นำไปปรุงอาหารได้อร่อย ไม่ว่าจะแกงผักบุ้งใส่อี่ฮวก หรือนำไปหมกโดยอี่ฮวกที่ล้างสะอาดแล้ว คลุกเคล้ากับตะไคร้หั่นฝอย หอมแดงซอย พริกขี้หนูหั่นและเกลือป่น ห่อใบตองกล้วยที่รองด้วยใบขมิ้นอ่อน นำไปย่างไฟอ่อนๆ จะได้อี่ฮวกหมกที่มีกลิ่นหอมจากใบขมิ้น และหอมแดง เวลาเคี้ยวเจอรสชาติเผ็ด เค็ม จากเกลือป่นและพริกขี้หนู ความกรอบมันจากตะไคร้ ผสมกับเนื้อนิ่มหวานจากตัวอี่ฮวก ได้หมกอี่ฮวกหนึ่งกำมือเอากบตัวใหญ่ๆ มาแลกสิบตัวก็ไม่มีใครเอา

ผ่านฝนย่างสู่หนาว ชีวิตกบก็ยังไม่รอดพ้นจากมือเพชฌฆาตอย่างคนได้ ช่วงต้นหนาวนี้น้ำในนาเริ่มแห้ง ชาวบ้านจะใช้เบ็ดตกกบ โดยใช้ตะขอเบ็ดเกี่ยวแมลง และใช้ขี้โคลนทาบริเวณที่จะตกเบ็ดในรัศมี 6-7 นิ้ว กบจะได้กลิ่นโคลนใหม่และเห็นแมลงก็จะกระโดดฮุบเหยื่อ ติดเบ็ดเป็นอาหารของคนต่อไป การตกเบ็ดนี้จะนิยมทำก่อนที่กบจะจำศีลในช่วงฤดูหนาว

กบจะจำศีลโดยการทำรู หรือป๊อดกบ โดยกบจะขุ้ยดินปิดปากรูแล้วซ่อนตัวอยู่ข้างใน รอจนกว่าฝนใหม่มาเยือนจึงจะออกมาเผชิญโลกกว้างอีกครั้ง กบจะจำศีลอยู่รอบๆ หนอง บึง ขอบบ่อน้ำ สระน้ำหรือทุ่งนาที่มีความชื้นหรือขี้โคลน

การสังเกต ป๊อดกบ จะสังเกตเห็นดินที่ปิดปากรูจะใหม่กว่าดินที่อยู่รอบๆ ลักษณะคล้ายรูปู แต่จะแตกต่างกันตรงที่รูปูจะเห็นรอยเท้าปูชัดเจน แต่รูกบจะมองเห็นไม่ชัด แม้จะแอบอยู่ในรูไม่ส่งเสียงดังรบกวนใคร ก็ยังไม่วายตกเป็นเหยื่อของคนได้ ชาวบ้านก็จะใช้วิธีการขุดรูเพื่อหากบนำมาปรุงเป็นอาหาร หรือขายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ยิ่งกบนายิ่งราคาดี นักกินบอกว่ากบนาเนื้อหวานอร่อย และไม่เหม็นคาว กบสามารถปรุงเป็นอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเมนูชาวบ้านหรือชาวเมืองที่ชอบชิมอาหารประเภทนี้

เมนูชาวบ้านล้านนาที่นิยมรับประทานกันมากในทุกฤดูกาล คือ ห่อนึ่งกบ

ส่วนผสม "ห่อนึ่งกบ"

1. กบทำเรียบร้อยแล้ว ตัดเป็นชิ้น ล้างให้สะอาด 2 ตัว

2. ข้าวคั่ว คั่วใหม่ๆ โขลกละเอียด 2 ช้อนโต๊ะ

3. ต้นหอม ผักชีหั่นฝอย 1.5 ถ้วยตวง

4. ยอดชะอมเด็ด มะเขือขื่น 1 ถ้วย

5. เครื่องปรุงรส ใบตอง และไม้กลัด

ส่วนผสมเครื่องแกงห่อนึ่งกบ

1. พริกแห้งเม็ดใหญ่ 3 เม็ด

2. พริกขี้หนูแห้ง 5 เม็ด

3. หอมแดงปอกเปลือก 5 หัว

4. กระเทียมปอกเปลือก 1 หัว

5. ตะไคร้ซอยบางๆ 1 ต้น

6. ผิวมะกรูดหั่นชิ้นเล็กๆ 1 ช้อนชา

7. ข่าหั่นเป็นแว่น 3 แว่น

8. พริกไทย 10 เม็ด

9. กะปิห่อใบตองเผาไฟ 1 ช้อนชา

10. เกลือป่น 1 ช้อนชา

โขลกเครื่องปรุงน้ำพริกทุกอย่างให้แหลก รอการปรุงต่อไป

ขั้นตอนการทำ "ห่อนึ่งกบ"

1. เอากบที่ทำแล้วผสมกับเครื่องปรุงน้ำพริกแกงที่โขลกเตรียมไว้

2. คลุกเคล้าผสมให้เข้ากัน ใส่ข้าวคั่วลงไป ถ้าแห้งก็ใส่น้ำลงไปคลุกเล็กน้อย

3. ใส่ยอดชะอม มะเขือขื่น ผักชี ต้นหอม ลงไปคลุกผสม

4. ใส่เครื่องปรุงรสตามสูตร

5. เอากบที่คลุกเคล้าได้ที่ห่อใบตอง กลัดด้วยไม้กลัด ใส่ลังถึงนึ่งให้สุก ใช้เวลาประมาณ 30 นาที

6. แกะใส่ถ้วยพร้อมรับประทาน

ห่อนึ่งกบ รสชาติอร่อย เผ็ด เค็ม หวานมันจากเนื้อกบ กินกับข้าวเหนียวนึ่งร้อนๆ อร่อยจนลืมเหนื่อยจากงานหนักที่ไม่มีวันหมดในแต่ละวันเลยทีเดียว

ความสุขในชีวิตคนเรา บางครั้งก็หาได้ง่ายนิดเดียว เพียงแค่ค้นหาจากสิ่งที่ใกล้ตัว