วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
14/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าม้ง : เครื่องดนตรี

มนุษย์ทุกชนชาติต่างมีดนตรีอยู่ในหัวใจของตนเอง แต่ดนตรีของใครจะสุดซึ้งเพียงใดนั้นก็แล้วแต่ที่จะถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นได้รับรู้ บ้างถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงรำนำโดยผ่านริมฝีปาก บ้างถ่ายทอดโดยอาศัยเครื่องดนตรี ซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิด สำหรับเครื่องดนตรีของคนม้งที่มีมาแต่โบราณกาลนั้นก็มีหลากหลาย แต่ว่าดนตรีเหล่านี้ดูเหมือนว่ากำลังจะสูญหายไปจากวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่

เครื่องดนตรีม้งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
1. เครื่องดนตรีประเภทเป่า ได้แก่ จิ๊งหน่ิอง "จ่าง" ขลุ่ย และ แคนหรือเฆ่ง
2. เครื่องดนตรีประเภทตี ได้แก่ กลอง "จั๊ว"

1. เครื่องดนตรีประเภทเป่า

1.1 จิ๊งหน่อง (จ่าง-Ncas)
เป็นเครื่องดนตรีคู่กายคู่ใจ ของหนุ่มสาวม้งจ่างเป็นเครื่องดนตรีที่ปู่ย่าตายายท่านสร้างไว้ และเชื่อกันว่ามีผีสิงอยู่ ใช้เป่าเพื่อบรรยายความรู้สึกในใจ สามารถเป่าได้หลากหลายรูปแบบ เช่น เราเป็น หนุ่มต้องเดินทางไกลไปเที่ยวสาวก็จะเป่าจ่างทางไกล หรือถ้าเป็นหนุ่มสาวในหมู่บ้านเดียวกันก็จะเป่าอีกแบบหนึ่ง เพื่อแสดงว่าเราเป็นคนคุ้นเคยกัน จ่างนับว่าเป็นเครื่องดนตรีของม้งที่ใช้สื่อรักกัน แต่พอได้มาเป่าจ่างโต้ตอบกัน และทำให้ต่างคนต่างเห็นคุณค่าของแต่ละคน จนเกิดความผูกพัน และรักกัน

การเป่าจ่าง เราจะต้องเป่าชมเชยยกย่องเขา เขาเองก็จะเป่าชมเชยยกย่องเราเช่นกัน ในบางเรื่องราวที่เราต้องการสื่อความรักแต่ไม่กล้าพูดก็จะใช้จ่างเป็นสื่อ เพราะจ่างเป็นเครื่องดนตรีที่สื่อภาษารักได้ด้วยความนุ่มนวล และไม่ทำให้ผู้สื่อ และผู้รับนั้นเกิดความเขินอาย การเรียนรู้ในเรื่องการเป่าจ่างนั้นไม่จำเป็นต้องมีครูสอน เพียงแต่เรียนรู้หลักการนิดหน่อย แล้วก็ฝึกฝนด้วยตนเอง
หลักเกณฑ์ในการเป่าจ่างก็จะต้องมีคำขึ้นต้น มีคำที่ใช้แทนนามสกุลที่ต่างกันไป สำหรับเนื้อหาของจ่างนั้นมีหลากหลายเรื่องราว แล้วแต่ว่าจะเป่าพูดถึงเรื่องอะไร อาจจะเป็นเนื้อหาที่คิดเองทำเองก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักการเนื้อหาที่เป่า จะเป็นเรื่องราวที่พรรณนาให้เห็นภาพความสวยงามของสาว เมื่อเทียบกับดอกไม้ใบหญ้า

ดังนี้ในการเกี้ยวพาราสีของม้งนั้นเราจะใช้จ่างเป็นสื่อ ของประเพณีการเกี้ยวพาราสีอย่างหนึ่งของม้ง ก็คือหนุ่มต้องไปหาสาวในยามค่ำคืน ซึ่งสาวนอนในบ้านหนุ่มอยู่ นอกบ้านหนุ่มต้องรู้ว่าสาวนั้นเป็นใคร นอนอยู่ตรงไหน ในยามที่ทุกคนหลับหนุ่มจะค่อย ๆ ไปเรียกสาว สาวเองคงไม่่ตอบหนุ่มอย่างง่ายดาย เหมือนที่ทุกคนคิดกัน ถ้าสาวไม่ตอบหนุ่มก็ต้องกลับ หรือไม่ก็ตอบมาว่ายามนี้เวลาดึกแล้ว ทุกคนต้องการพักผ่อน ขออย่าได้มารบกวนเมื่อได้คำตอบเช่นนี้ หนุ่มก็ต้องกลับไปที่บ้าน แล้วหาวิธีที่ให้พูดกับสาวให้ได้รู้จักกัน นั่นคือหนุ่มจะต้องเป่าจ่างที่เป็นบทเพลงรักมอบให้สาวเพื่อให้สาวได้้เห็นคุณค่าของหนุ่ม แล้วจะมีเสียงตอบออกมาว่า ใครนะเป่าจ่างได้เก่งจังเลย อยากจะรู้จักจริง ๆ การสนทนาจึงเกิดขึ้น จ่างเป็นดนตรีที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของคนม้งในอดีตอย่างยิ่ง

ปัจจุบันจ่างได้หายไปจากวิถีชีวิตของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ทำให้หลาย ๆ คนได้รู้จักความหมายในการสื่อรักด้วยจ่าง และถ้าหากจะมีใครนำกลับมาเรียนรู้ และนำไปใช้อีกครั้งหนึ่งก็คงจะดีไม่น้อยเลย

1.2 แคน (Qeej)

เป็นภาษาม้ง อ่านว่า เฆ่ง หรือ qeng ซึ่งแปลว่า แคน หรือ mouth organ เฆ่ง หรือแคนเป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากลำไม้ไผ่ และไม้เนื้อแข็ง มีปรากฏในเอเชียมากว่า 3,000 ปีแล้ว และถือได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่ง ม้งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความเป็นมาของเฆ่งว่า ในอดีตกาลมีคนม้งอยู่ครอบครัวหนึ่ง มีพี่น้อง 7 คน วันหนึ่งผู้เป็นบิดาสิ้นชีวิตลง และบรรดาพี่น้องทั้ง 7 คน ต้องการจัดพิธีงานศพเพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้เป็นบิดา แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี จึงได้ขอคำปรึกษาจากเทพเจ้า
"ซีย" ซึ่งคนม้งมีความเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าที่พระเจ้าส่งมาเพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์ในโลก และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดพิธีกรรมที่สำคัญทางศาสนาของคนม้ง เทพเจ้าซียีได้แนะนำให้ คนหนึ่งไปหาหนังสัตว์มาทำกลองไว้ตี และอีกหกคนไปหาลำไม้ไผ่ที่มีขนาด และความยาวไม่เท่ากันมาคนละอัน เรียงลำดับตามขนาด และอายุของแต่ละคน เมื่อเตรียมพร้อมแล้ว ให้คนหนึ่งตีกลอง และอีก 6 คนที่เหลือ เป่าลำไม้ไผ่ของตนบรรเลงเป็นเพลงเดียวกัน และเดินวนไปรอบ ๆ คนที่ตีกลองพร้อมกับมอบบทเพลงต่าง ๆ ให้

เมื่อเทพเจ้าซียี กล่าวเสร็จ พี่น้องทั้ง 7 จึงได้กลับไปจัดงานศพให้บิดาตามที่เทพเจ้าซียีได้แนะนำให้ ต่อมามีพี่น้องคนหนึ่งได้ตายจากไป เหลือคนไม่พอที่จะเป่าลำไม้ไผ่ทั้งหก พี่น้องที่เหลือ 6 คน จึงได้ขอคำปรึกษาจากเทพเจ้าซียีอีกครั้ง เทพเจ้าซียีจึงแนะนำให้รวมลำไม้ไผ่ทั้งหกมาเป็นชุดเดียวกัน แล้วให้คนเดียวเป่าเท่านั้น ส่วนคนอื่นให้ทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชา ตระเตรียมอาหาร และทำหน้าที่อื่นไป

ต่อมารูปแบบพิธีงานศพดังกล่าวก็ได้รับการถือปฎิบัติมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นประเพณีในการจัดพิธีงานศพของคนม้งมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เฆ่งประกอบด้วยลำไม้ไผ่ทะลุปล้อง 6 อัน คือ ซย้งตั๋วจื๋อ (xyoob tuam tswm) 1 อัน และ ซย้งเฆ่ง (xyoob qeej) 5 อัน แต่ละอันมีขนาด และความยาวไม่เท่ากันกับลำไม้เนื้อแข็งซึ่งมีปากกลมยาว (ก๋างเฆ่ง kaav qeej) เป็นไม้แดงหรือ ที่ภาษาม้งเรียกว่า ดงจือเป๋ (ntoo txwv pem)

เมื่อเป่าหรือสูดลมเข้าออก จะให้เสียงไพเราะต่อเนื่องกัน ตลอดจนจบตอนของบทเพลงลำไม้ไผ่ แต่ละอันมีชื่อเรียกเฉพาะของตัวเอง เช่น ดีลัว ดีไล ดีเส่ง ดีตือ ดีจู้ คนม้งจะใช้แคน (เฆ่ง) ในพิธีงานศพเป็นหลัก โดยเป็นเครื่องนำทางดวงวิญญาณของผู้ตายไปสู่ปรโลก หรือแดนของบรรพบุรุษ ฉะนั้นในธรรมเนียมม้งจึงห้ามมิให้ฝึกเป่าแคนภายในบ้าน ส่วนใหญ่จะฝึกในที่ ๆ ห่างไกลจากหมู่บ้านซึ่งมักจะเป็นที่พักพิงตามไร่สวน


เนื้อเพลงเฆ่งในพิธีงานศพโดยทั่วไปจะมีลำดับการเป่าดังนี้
ดี๋ (ntiv) ซึ่งเป็นการโหมโรง
ปลั่วจี๋เฆ่งจี๋ จรั่ว (pluas cim qeej cim nruag) รัวกลองพร้อมกันไปกับเพลงเฆ่ง
ลื๋อฆะจรั่ว (lwm qab nruag) การลอดใต้คานที่แขวนกลองของผู้เป่าเฆ่ง
ซุตัว (xub tuag) เป็นการแนะนำเพลงเฆ่ง
ฆัวซุตัว (quas xub tuag) เป็นการลงท้ายบทแนะนำเพลง
ยซ่าเฆ่งตัว (zaj qeej tuag) เริ่มต้นเนื้อเพลง
ฆัวยซ่าเฆ่งตัว (quas zaj qeej tuag) เป็นการร่ายเนื้อเพลงเพื่อเข้าสู่ปรโลก
เฆ่งตร๋อฆ้าง (qeej rov qaab หรือ raib leev) เป็นขั้นตอนการกลับจากปรโลก
ยซายตร้อยซายเหนง (zais roj zais neev) เป็นขั้นตอนการกลบเกลื่อนเส้นทางกลับจากปรโลก เพื่อมิให้มีวิญญาณติดตามมาได้
เส่าเฆ่ง (xaus qeej) ลงท้ายบทเพลง
ประเภทของบทเพลงที่ใช้ในพิธีงานศพมีดังนี้
เฆ่งตูสา (qeej tu sav) เพลงแรกหลังจากผู้ตายได้สิ้นลมหายใจแล้ว
เฆ่งฆฮัวะเก (qeej qhuab ke) เพลงนำทางดวงวิญญาณไปสู่ปรโลกหรือแดนแห่งบรรพบุรุษ
เฆ่ง นเจเหน่ง (qeej nce neeg) เพลงเคลื่อนย้ายศพขึ้นหิ้ง (แคร่ลอย)
เฆ่ง เฮลอเด๋อ (qeej hlawv ntawv) เพลงเผากระดาษเงินกระดาษทองให้ผู้ตาย
เฆ่งเสอเก๋ (qeej sawv kev) เพลงเคลื่อนย้ายศพออกจากบ้าน นอกจากจะใช้ในพิธีงานศพแล้ว ยังมีการใช้เฆ่ง เพื่อความบันเทิงในงานรื่นเริงต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะการเต้นรำเฆ่งในงานฉลองเทศกาลปีใหม่ม้ง ซึ่งบทเพลงเฆ่ง เพื่อความบรรเทิงจะมีลำดับการเป่าดังนี้
ดี๋ (ntiv) โหมโรง
ซุ (xub) แนะนำ
นู่ นตรื่อ (nuj nrws) เนื้อเรื่อง
ฆัวนู่ นตรื่อ (quas nuj nrws) ทวนเนื้อเรื่อง
ปลั่ว (pluas) สรุป
เส่า (xaus) ลงท้าย

1.3 การเป่าขลุ่ย

ขลุ่ยเป็นเครื่องดนตรีอีกประเภทหนึ่งของ ม้งที่ใช้เป่าเรียกหาคู่ และสร้างความจรรโลงใจ ซึ่งขลุ่ยม้งจะทำมาจากกระบอกไม้ไผ่ และท่อพีวีซี จะใช้เป่าแทนความรู้สึกของสภาพจิตใจของผู้นั้นจะเป่าในวันสำคัญ เช่นงานปีใหม่และงานสำคัญอื่น ๆ

2. เครื่องดนตรีประเภทตี
กลอง หรือ จั๊ว
เป็นเครื่องดนตรีของม้งที่มีลักษณะเป็นกลองสองหน้า หรือหนึ่งหน้าก็ได้ รูปร่างกลมแบน โดยใช้แผ่นผนังสัตว์สองแผ่นมาประกอบ เข้ากับโครงกลองหลอมตัวกลอง ทั้งสองด้านริมขอบของแผ่นผนังทั้งสองแผ่นจะเจาะรูเป็นคู่ ๆ สำหรับเสียบสลักไม้เล็ก ๆ เพื่อใช้เชือกร้อยสลักไม้ของแผ่นผนังทั้งสองด้านดึงเข้าหากัน ซึ่งจะทำให้แผ่นผนังกลองตึงตัวเต็มที่ เมื่อตีจะมีเสียงดังกังวาน และมีไม้ตีกลองหนึ่งคู่ หรือสองอันทำจากไม้ด้านหนึ่ง จะเอาผ้าพันไว้สำหรับตีกลอง ส่วนด้านที่ไม่มีผ้าห่อใช้สำหรับจับ กลองม้งนี้จะใช้เมื่อประกอบพิธีงานศพ การปล่อยผีหรือปลดปล่อยวิญญาณ เท่านั้น