ชุมชนมอญในประเทศไทย - มอญปากเกร็ด จ.นนทบุรี

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
19/02/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

มอญปากเกร็ด จ.นนทบุรี
องค์ บรรจุน

  • ชนชาติมอญ

มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ที่สุดชนชาติหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณพม่าตอนล่าง เป็นชาติหนึ่งที่สั่งสมอารยธรรมด้านศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี อักษรศาสตร์ สถาปัตยกรรม กฎหมาย ดนตรี และนาฏศิลป์   เป็นมรดกตกทอดมายังภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

ทุกวันนี้ชนชาติมอญไม่มีประเทศปกครองตนเอง เนื่องจากในอดีตบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะสงครามมาโดยตลอด จากการรุกรานของพม่าข้าศึก เมื่อบ้านเมืองสิ้นเอกราช ชาวมอญจึงถูกผลักดันให้ต้องอพยพออกจากบ้านเมืองของตน ชาวมอญส่วนหนึ่งจึงเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในเมืองไทย

การอพยพของ ชาวมอญ เท่าที่มีการจดบันทึกเอาไว้รวมทั้งสิ้น ๙ ครั้ง เมื่อเข้ามายังพระราชอาณาจักร ก็ได้รับการยอมรับจากสังคมไทย ซึ่งไม่ได้มองว่ามอญเป็นชาวต่างชาติ โดยมีพระราชกำหนดสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๖ ที่ให้ถือว่าชาวมอญเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเท่าเทียมคนไทย ชาวมอญจึงถูกหล่อหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวบนแผ่นดินไทย เช่น กรณีเจ้าแม่วัดดุสิต หรือหม่อมเจ้าหญิงอำไพ ราชธิดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งสมรสกับขุนนางผู้สืบตระกูลมาจากนายทหารมอญที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวร มหาราชเข้ามา บุตรของเจ้าแม่วัดดุสิตคือเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)  ผู้เป็นบรรพบุรุษของพระปฐมบรมราชชนกในจักรีวงศ์

ชาวมอญ เริ่มอพยพเข้ามายังดินแดนไทย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๐๘๒ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และครั้งสุดท้ายใน พ.ศ.๒๓๕๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เมื่อมอญถูกพม่ากดดันอย่างหนัก ต้องหนีเข้าไทยเป็นระลอกใหญ่ ราว ๔๐,๐๐๐ คนเศษ ถิ่นที่อยู่ที่สำคัญของชาวมอญในภาคกลาง เช่น ลพบุรี อยุธยา นครปฐม ราชบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ เพชรบุรี ทางภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี นครราชสีมา มีบ้างเล็กน้อยที่อพยพลงใต้ อย่าง ชุมพร สุราษฎร์ธานี

  • มอญปากเกร็ด

ในการอพยพของมอญอย่างน้อย ๒ ครั้ง ที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดฯ พระราชทานที่ทำกินให้แก่ชาวมอญที่ปากเกร็ด ครั้งแรก ใน พ.ศ.๒๓๑๖ สมัยกรุงธนบุรี มีเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) เป็นหัวหน้า ดังความในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่า

“ฝ่ายพวกรามัญที่ หนีพม่ามานั้น พระยาเจ่ง ตละเสี้ยง ตละเกล็บ กับพระยากลางเมือง ซึ่งหนีเข้ามาครั้งกรุงเก่า พม่าตีกรุงได้นำตัวกลับไป และสมิงรามัญ นายไพร่ทั้งปวงพาครัวเข้ามาทุกด่านทุกทาง ให้ข้าหลวงไปรับมาถึงพระนครพร้อมกัน แล้วทรงพระกรุณาให้ตั้งบ้านเรือนอยู่แขวงเมืองนนท์บ้าง เมืองสามโคกบ้าง แต่ฉกรรจ์จัดได้สามพัน โปรดให้หลวงบำเรอศักดิ์ครั้งกรุงเก่า เป็นเชื้อรามัญให้เป็นพระยารามัญวงศ์ เรียกว่า จักรีมอญ ควบคุมกองมอญใหม่ทั้งสิ้น และโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราภูมิคุ้มห้ามสรรพากรขนอนตลาดทั้งปวง ให้ค้าขายทำมาหากินเป็นสุข”

ครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ.๒๓๕๗ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พม่าบังคับใช้แรงงานมอญอย่างหนัก ชาวมอญได้รับความเดือดร้อนจึงก่อกบฏขึ้น และอพยพเข้ามายังไทย

“พวกมอญที่เมืองเมาะตะมะถูกพม่ากดขี่หนักเข้า จึงพร้อมใจกันจับเจ้าเมืองกรมการพม่าฆ่าเสีย แล้วพากันอพยพครอบครัวเข้ามาในพระราชอาณาจักร เดินเข้ามาทางเมืองตากบ้าง ทางเมืองอุทัยธานีบ้าง แต่โดยมากมาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์  เข้าแขวงเมืองกาญจนบุรี เมื่อได้ทรงทราบข่าวว่า ครัวมอญอพยพเข้ามา จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นไปคอยรับครัวมอญอยู่ที่เมืองนนทบุรี จัดจากและไม้ปลูกสร้างบ้านเรือน และเสบียงอาหารของพระราชทานขึ้นไปพร้อมเสร็จ ทางเมืองกาญจนบุรีโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ คุมไพร่พลสำหรับป้องกันครัวมอญ และเสบียงอาหารของพระราชทานออกไปรับครัวมอญทางหนึ่ง”

ชาวมอญที่อพยพมาทั้ง ๒ ครั้งนี้เองที่สืบทอดมาเป็นชาวไทยเชื้อสายมอญปากเกร็ดในปัจจุบัน โดยเฉพาะการอพยพเข้ามาของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ในขณะนั้นบ้านเมืองเพิ่งฟื้นตัวจากสงครามคราวเสียกรุง พลเมืองไทยยังมีน้อย รัฐต้องการแรงงานทำการเกษตรและป้องกันประเทศ ชาวมอญจึงกลายเป็นกำลังสำคัญของกรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินจึงโปรดฯให้พญาเจ่งยกไพร่พลไปตั้งบ้านเรือนที่ปากเกร็ด คอยสกัดทัพพม่าที่อาจยกเข้าทางด้านทิศเหนือ รวมทั้งดูแลด่านขนอนที่แขวงเมืองนนท์

  ปากเกร็ด ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนนทบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๗ มีฐานะเป็นแขวงเรียกว่า แขวงตลาดขวัญ และได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอในปีเดียวกัน  มีนายอำเภอคนแรกเป็นมอญชื่อ พระรามัญนนทเขตต์คดี (เนียม นนทนาคร) ซึ่งในทุกอำเภอของจังหวัดนนทบุรีก็มีชาวมอญอาศัยอยู่ประปราย เฉพาะอำเภอปากเกร็ดเป็นชุมชนมอญที่เก่าแก่และหนาแน่น แทบจะเต็มพื้นที่ทุกตำบล

ความเก่าแก่ของชาวมอญปากเกร็ดมีมาช้านาน แม้แต่ชื่อตำบลบางตะไนย์ ก็เป็นภาษามอญ ซึ่งแปลว่า ต้นข่อย (คะนาย) และ “มอญปากเกร็ด” ยังมีปรากฏในวรรณกรรมไทยหลายแห่ง เช่น นิราศเจ้าฟ้า ของสุนทรภู่

ถึงปากเกร็ดเตร็ดเตร่มาเร่ร่อน เที่ยวสัญจรตามระลอกเหมือนจอกแหน
มาถึงเตร็ดเขตมอญสลอนแล ลูกอ่อนแอ้อุ้มจูงพะรุงพะรัง

นิราศภูเขาทอง ของสุนทรภู่เช่นกัน กล่าวว่า
ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา
เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา ทั้งผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวไทย

       มอญ เป็นชนชาติที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ทั้งเลื่อมใสในพระพุทธศานาอย่างเคร่งครัด แม้จะได้อพยพเข้ามาอยู่ในแผ่นดินไทยนานหลายร้อยปีแล้ว ก็ยังคงสืบสานวัฒนธรรมมอญที่มีความโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายมอญที่ปากเกร็ด ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีมอญเอาไว้ได้เหนียวแน่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น เครื่องปั้นดินเผา อาหาร นาฏศิลป์ และดนตรี ประเพณีมอญบางส่วนกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตของไทยอย่างแยกไม่ออก เช่น สงกรานต์ ตักบาตรดอกไม้ ล้างเท้าพระ เป็นต้น

  • อาหารมอญในสังคมไทย

อาหารการกินของผู้คนในภูมิภาค นี้ โดยเฉพาะมอญกับไทยมีความใกล้เคียงกัน  เพราะมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน อาหารหลักของมอญ คือ ข้าวสวยกินกับแกง เช่น แกงกระเจี๊ยบ แกงมะตาด แกงลูกมะสั้น แกงมะรุม แกงขี้เหล็ก แกงบอน  น้ำพริก และปลาร้ามอญ

อาหารที่ขึ้นชื่อของคนมอญ ๒ ชนิด ในความนิยมของคนไทย เป็นอาหารที่แต่เดิมคนมอญทำกันยามมีงานบุญสำคัญ ได้แก่ “ขนมจีน” และ “ข้าวแช่” ที่ทำในช่วงสงกรานต์

ขนมจีน คนส่วนมากมักเข้าใจว่าเป็นอาหารไทย แต่แปลกที่เรียกขนมทั้งที่เป็นอาหารคาว เหตุเพราะคำๆนี้มาจากภาษามอญว่า คะนอม KNmj ซึ่งหมายถึงเส้นแป้งสีขาว ส่วนคำว่า จีน น่าจะมาจากคำว่า จิน sinj ซึ่งแปลว่า สุก สันนิษฐานว่า ในการทำขนมจีนนั้น ซึ่งจะทำกันในงานใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะมีขั้นตอนการทำยุ่งยาก อาศัยแรงงานคนมาก ในคนหมู่มากย่อมโกลาหลเสียงดัง เมื่อมอญตะโกนว่าคะนอมจิน (แป้งเส้นสุกแล้ว) คนไทยได้ยินจึงเข้าใจว่าอาหารชนิดนี้ชื่อ ขนมจีน

ข้าวแช่ อาหารอีกชนิดหนึ่งที่ชาวไทยนิยมชมชอบ จากตำรับชาววัง และแพร่หลายในหมู่สามัญชน แต่เดิมเป็นอาหารในพิธีกรรมมอญ ทำกันในช่วงสงกรานต์เท่านั้น เพื่อถวายแด่เทวดา จากนั้นจึงจะนำไปถวายพระ และกินกันภายในครัวเรือน เป็นอาหารที่เหมาะกับสภาพอากาศในหน้าร้อน เพราะมีน้ำเป็นองค์ประกอบ กินคล่องคอ ลดความร้อนในร่างกาย
ข้าวแช่ เป็นข้าวที่หุงให้สุกพอเม็ดสวย ซาวน้ำเอายางข้าวออก ทิ้งให้สะเด็ดน้ำ ส่วนน้ำที่กินกับข้าวแช่ นำมาต้ม อบควันเทียนและดอกไม้ให้หอม กับข้าวที่กินกับข้าวแช่ ได้แก่ ปลาช่อนตำคลุกน้ำตาลทราย หัวไชโป้เค็มต้มกะทิ เนื้อเค็มฉีกฝอย ไข่เค็ม กระเทียมดอง ซึ่งรายการอาหารเหล่านี้ในบางชุมชนแตกต่างออกไป ไม่ถือว่าผิด เป็นการใช้วัตถุดิบที่หาง่ายในท้องถิ่น ภายหลังชาวไทยได้มีการดัดแปลงเพิ่มเติม เช่น พริกหยวกทอด กะปิชุบไข่ทอด ยำกุ้งแห้ง เวลากินก็ตักข้าวใส่ถ้วย เติมน้ำลงไปตามชอบ (ถ้าเป็นน้ำเย็นก็จะทำให้ชื่นใจยิ่งขึ้น) กินร่วมกับกับข้าวแช่

รายการอาหารพิเศษของชาวมอญย่านปากเกร็ด คือทอดมันหน่อกะลา “หน่อกะลา” เป็นพืชสมุนไพรตระกูลข่า ถูกนำมาดัดแปลงใส่ในทอดมัน จนเป็นเอกลักษณ์อาหารมอญเกาะเกร็ดอย่างหนึ่ง

อาหารหวานของคนมอญในอดีต โดยมากทำขึ้นง่ายๆ เช่น  ลอดช่อง ข้าวตอกน้ำกะทิ นอกจากนั้นเป็นขนมที่ทำตามเทศกาล ขนมที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป คือ กะละแม ที่ทำกันช่วงสงกรานต์ กระยาสารท ทำกันช่วงออกพรรษา และขนมเงินขนมทอง ที่ใช้ในพิธีรำผี และพิธีกรรมต่างๆ

  • เครื่องปั้นดินเผา

อาชีพของชาวมอญปากเกร็ดที่ขึ้นชื่ออย่างหนึ่ง คือการทำเครื่องปั้นดินเผา เป็นที่รู้จักทั่วไป และรูปแบบหม้อน้ำลายวิจิตรของชาวมอญ ยังได้ปรากฏบนตราประจำจังหวัดนนทบุรีอีกด้วย

ชาวมอญปากเกร็ดที่ทำอาชีพเครื่องปั้นดินเผานั้น เป็นชาวมอญที่อพยพมาจาก “บ้านอาม่าน” เมืองมะละแหม่ง บ้านอาหม่าน แปลว่า บ้านช่างปั้น ชาวบ้านยังคงยึดถืออาชีพเดิมของบรรพชนจากเมืองมอญ ดินปากเกร็ดคุณภาพดี ฝีมือช่างประณีต และสีสรรสวยงามเป็นที่ต้องการของลูกค้า มีด้วยกัน ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

๑. เครื่องปั้นที่เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน  รูปแบบเรียบง่าย เช่น  โอ่ง อ่าง กระถาง ครก
๒. เครื่องปั้นประเภทสวยงาม เรียกว่า หม้อน้ำลายวิจิตร โดยปกติช่างมักปั้นขึ้นในวาระพิเศษ เพื่อกำนัลแด่บุคคลสำคัญและถวายวัด เป็นการฝากฝีมือของช่างปั้น

ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนไป เครื่องปั้นประเภทเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ลดความนิยมลง ขณะที่เครื่องปั้นประเภทสวยงามได้พัฒนาขึ้นเป็นสินค้าที่ระลึก ประยุกต์รูปแบบและประโยชน์ใช้สอยให้ร่วมสมัย  รองรับตลาดนักท่องเที่ยว
ใน อดีตเครื่องปั้นดินเผานั้นนับว่าเป็นปัจจัยหลักของทุกครัวเรือน แหล่งผลิตสำคัญแห่งหนึ่งในแถบภาคกลาง คือ ปากเกร็ด และสามโคก อาชีพดังกล่าวได้ก่อให้เกิดอาชีพพ่อค้าโอ่งและเครื่องปั้นดินเผาทางเรือตาม มา และยังสัมพันธ์กับอาชีพเย็บจากมุงหลังคา และตัดฟืน ที่ใช้เผาเครื่องปั้น ซึ่งฟืนที่ดีนั้นต้องเป็นฟืนไม้แสม ไม้โกงกาง มีมากแถบเมืองชายทะเล สมุทรสงคราม สมุทรสาคร

เมื่อชาวมอญ ปากเกร็ดเดินทางไปขายเครื่องปั้นย่านชุมชนมอญชายทะเล ขากลับก็รับซื้อจาก และฟืนกลับไปด้วย บางครั้งพ่อค้าจากและฟืนก็เป็นฝ่ายนำขึ้นไปขายยังปากเกร็ด สามโคกเสียเอง จะเห็นได้ว่า ชุมชนมอญบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน มีการติดต่อถึงกันเสมอ ทั้งการค้าและงานบุญ บ่อยครั้งมีการแต่งงานระหว่างชุมชน แม้แต่การตั้งชุมชนใหม่ เช่น ชุมชนมอญบ้านเขาทอง อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เกิดขึ้นจากชาวมอญปากเกร็ด ที่เดินทางไปขายเครื่องปั้น เมื่อสินค้าหมดก็จอดเรือเลือกทำเลถางป่าเพาะปลูก ขากลับก็บรรทุกพืชผลลงเรือกลับปากเกร็ด แต่ภายหลังสภาพการคมนาคมเปลี่ยนไป จึงลงหลักแหล่งเป็นการถาวร ซึ่งชุมชนมอญบ้านเขาทองยังคงสืบทอดงานเครื่องปั้นดินเผามาจนทุกวันนี้

  • นาฏศิลป์และดนตรีมอญ

ดนตรีพื้นเมืองมอญกับไทยมีความใกล้เคียงกันมาก ทั้งเครื่องดนตรี ทางดนตรี และทำนองเพลง เพราะมีการแลกเปลี่ยนทางดนตรีระหว่างกัน มีผู้แต่งเพลงไทยเดิมสำเนียงมอญจำนวนมาก และสิ่งที่โดดเด่นของดนตรีมอญ คือ วงปี่พาทย์มอญ เป็นที่นิยมของนักฟังเพลงไทยเดิมมาทุกยุคทุกสมัย

ปี่พาทย์มอญ แบ่งออกได้เป็น ๓ ชนิด ได้แก่ วงเครื่องใหญ่ วงเครื่องคู่ และวงเครื่องห้า เครื่องดนตรีหลักๆ ประกอบด้วย ฆ้องมอญ ระนาดเอก ปี่มอญ ตะโพนมอญ เปิงมางคอก  ฉิ่ง กรับไม้ไผ่

ปี่พาทย์มอญ นิยมเล่นทั้งงานมงคลและงานอวมงคลทั่วไป แต่ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงดำริว่ามารดาของพระองค์นั้นเป็นเชื้อสายมอญโดยตรง จึงโปรดฯ ให้นำวงปี่พาทย์มอญไปบรรเลงในงานพระศพของสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ด้วยเหตุนี้เอง ภายหลังจากงานพระบรมศพดังกล่าว จึงได้ยึดถือกันว่า ปี่พาทย์มอญต้องบรรเลงเฉพาะงานศพเท่านั้น

มอญรำ
เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงและเก่าแก่ของมอญ มักแสดงในงานสำคัญๆ เช่น ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รำหน้าศพ คนมอญเรียกการแสดงนี้ว่า ปัวฮะเปิ่น ปัว แปลว่า มหรสพ ฮะเปิ่น แปลว่า ตะโพน ซึ่งหมายถึงการรำที่อาศัยตะโพนเป็นหลัก นักดนตรีและผู้รำจะต้องรู้ใจกัน โดยผู้รำจะทิ้งมือให้ลงกับจังหวะของตะโพน ชาวมอญปากเกร็ดมีชื่อเสียงเรื่องปี่พาทย์และมอญรำอย่างมาก มักจะมีการบรรเลงปี่พาทย์และการแสดงมอญรำควบคู่กันไปทุกครั้ง

ในงานราช พิธีสำคัญ และงานเฉลิมฉลองของไทยนับแต่อดีตมา มักจัดให้มีการแสดงมอญรำด้วยทุกครั้ง เพราะถือว่าเป็นการแสดงชั้นสูง ดังจารึกที่วัดปรมัยยิกาวาส กล่าวถึงมหรสพในงานฉลองของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้จารึกไว้ ดังนี้

มหรสพ          ครบเครื่องฟ้อน         ประจำงาน
โขนหุ่น         ละครขาน                พาทย์ฆ้อง
มอญรำ         ระบำการ                จำอวด เอิกเอย
ครึกครื้น         กึกปี่ก้อง               จวบสิ้นการฉลอง

สตรีมอญ
ในอดีตมักมีวิชามอญรำติดตัว เพราะนอกจากการเป็นแม่บ้านแม่เรือนแล้ว การรำมอญยังเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความเป็นกุลสตรีอย่างหนึ่ง การร่ายรำประณีตอ่อนช้อย ทำให้มอญรำยังคงเปี่ยมเสน่ห์  ในทุกวันนี้ครูมอญรำปากเกร็ดยังคงถ่ายทอดวิชามอญรำแก่ลูกหลานอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าศาสตร์แขนงนี้ของมอญจะไม่สูญหาย

วัดมอญปากเกร็ด
     ชุมชนมอญทุกแห่ง เมื่อตั้งบ้านเรือนเป็นหลักแหล่งแล้ว มักสร้างวัดขึ้นในหมู่บ้านของตนทันที ด้วยความเลื่อมใสและเคร่งครัดในพุทธศาสนา เพื่อให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษา เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน และเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวิทยาการต่างๆ ของเยาวชน

วัดมอญ
ในย่านปากเกร็ดเท่าที่มีการสำรวจไว้โดยนายมานพ แก้วหยก (๒๕๒๖) และจากการสัมภาษณ์นายพิศาล บุญผูก (๒๕๔๙) ชาวมอญเกาะเกร็ด ระบุว่ามีทั้งสิ้น ๔๖ วัด เช่น วัดตาล วัดเตย วัดวัดปากคลองพระอุดม วัดไผ่ล้อม วัดปรมัยยิกาวาส  วัดบ่อ วัดเกาะพญาเจ่ง วัดบางจาก และวัดกู้

    วัดมอญ โดยทั่วไปมักมีชื่อเป็นภาษามอญ เช่น วัดปรมัยยิกาวาส มีชื่อภาษามอญว่า เพี่ยมุฮ์ฮะเติ่ง (แปลว่าวัดปากอ่าว) วัดบ่อ มีชื่อภาษามอญว่า เพี่ยบอ (แปลว่าวัดหวาย) ในบรรดาวัดมอญเหล่านั้น ปัจจุบันได้กลายเป็นวัดไทยไปแล้วหลายวัด

วัดมอญ ปากเกร็ดหลายวัดร้างไป เช่น วัดชมพูราย วัดปรก วัดโบสถ์รอ วัดเชิงเลน วัดหน้าโบสถ์ ซึ่งวัดมอญ ๔ วัดท้ายสุดดังกล่าวนั้นได้ถูกกรมชลประทานเวนคืนไป ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๖ แม้จะได้มีการสร้างวัดขึ้นมาทดแทนยังที่แห่งใหม่ คือ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ทว่าชุมชนมอญรอบๆวัดได้แตกกระสานซ่านเซ็นกันไป พระมอญในวัดเดิมก็ไม่ได้ไปจำพรรษายังวัดใหม่ เพราะไม่คุ้นเคยกับชุมชนรอบวัด

คนเฒ่าคนแก่ต่างคร่ำครวญเสียใจ นอกจากได้รับค่าเวนคืนเพียงตารางวาละ ๔ บาท ซึ่งก็ไม่พอซื้อที่ดินผืนใหม่ (ขณะนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ ๑ บาท) ไหนจะอาลัยญาติพี่น้องและบ้านเรือนเดิม พิศาล บุญผูก เล่าว่า ขณะนั้นเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ปัจจุบันอายุ ๖๔ ปี) ตกเย็นเลิกเรียนต้องแวะไปเยี่ยมผู้ต้องหาในห้องขังสถานีตำรวจปากเกร็ด อย่างนายฮวด นายเหลี่ยม แก้วปลั่ง นายสุ่น แก้วปลั่ง พบคุณลุงคุณตาน้ำหูน้ำตาไหล นอกจากแค้นเคืองเจ้าหน้าที่แล้วยังหาวหมาก (อาการลงแดงเพราะอดหมาก) ขอหมากขอพลูกิน ตำรวจอย่างผู้กองวินัย (ยศในขณะนั้น) ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร ด้วยทำไปตามหน้าที่และนโยบาย “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ของจอมพล ป. และจอมพลสฤษดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

เพื่อความเจริญของบ้านเมือง วัดและชุมชนมอญปากเกร็ดหลายแห่งจึงหายไป พร้อมกับตลาดน้ำบ้านบางตลาด ที่อยู่หน้าวัดที่ถูกเวนคืน ซึ่งนับเป็นตลาดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในย่านเมืองนนท์

วัดกู้
เป็นหนึ่งในวัดมอญมีชื่อเรียกเป็นภาษามอญมาแต่เดิม วัดกู้  ซึ่งแปลว่า วัดบ้านไร่ (เหมือนกับวัดบ้านไร่เจริญผล วัดมอญที่จังหวัดสมุทรสาคร และมีชื่อมอญว่า วัดกู้) แต่ทว่าได้ถูกแปลความหมายให้พ้องกับเหตุการณ์เรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนาง เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (สมเด็จพระนางเรือล่ม) ประสพอุบัติเหตุล่มลงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางพูด ความเป็นจริงเรือล่มลงใกล้กับวัดเกาะพญาเจ่ง (วัดเกาะบางพูด) จึงมีการนำพระบรมศพและกู้ซากเรือขึ้นในบริเวณวัด ทุกวันนี้ได้มีการสร้างศาลเพียงตาและพระบรมรูปของสมเด็จพระนางเรือล่มขึ้น ตรงจุดที่มีการกู้ซากเรือ มิได้กู้ซากเรือและนำพระบรมศพขึ้นที่ “วัดกู้” แต่อย่างใด แต่มีผู้ปลอมประวัติศาสตร์ว่าเดิมชื่อวัดท่าสอน มาเปลี่ยนเป็น วัดกู้ เพราะได้กู้ซากเรือพระที่นั่งดังกล่าว

“หงส์” กับชนชาติมอญ
หงส์ ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์คู่ชนชาติมอญมาแต่โบราณกาล สืบเนื่องมาจากพุทธทำนายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภายหลังจากตรัสรู้ได้ ๘ พรรษา ได้เสด็จมายังบริเวณที่เป็นเมืองหงสาวดี (Pegu) ในปัจจุบัน พบหงส์สองตัวลงเล่นน้ำ ซึ่งขณะนั้นพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นผืนน้ำเวิ้งว้าง พระพุทธองค์ได้มีพุทธทำนายว่า ในอนาคตสืบไปภายหน้าที่แห่งนั้นจะกลายเป็นแผ่นดิน มีเมืองชื่อว่า “หงสาวดี” และพระพุทธศาสนาของพระองค์จะสถิตย์ถาวรมั่นคงสืบไป

การสร้างเสาหงส์
ประเพณีการสร้างเสาหงส์นั้น เป็นประเพณีที่พบเห็นได้ทั่วไปตามชุมชนมอญในเมืองไทย ส่วนคติการสร้างเสาธง เป็นการสร้างเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ไม่เกี่ยวข้องกับเสาหงส์

“เสาหงส์”
ในวัดมอญเมืองไทยทุกวันนี้มีอยู่แทบทุกวัด แม้บางคนจะกล่าวว่า “เสาหงส์” เพิ่งจะมีขึ้นเมื่อราวร้อยกว่าปีมานี้ มีแต่ในเมืองไทยเท่านั้น  เพราะคนมอญในเมืองไทยสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเมืองหงสาวดี ดังบทพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ที่ตอบถวายพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ถึงความเป็นมาของเสาหงส์

“หงส์ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์โดยเป็นพาหนะของพระพรหมตามคติของชาวฮินดู ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาแทนที่ ผู้คนที่นับถือศาสนาฮินดูอยู่เดิมเมื่อได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ จึงเอาคติเรื่องหงส์มาผนวกเข้ากับความเชื่อในพุทธศาสนา ในฐานะตัวแทนของพระพุทธเจ้า และ “หงส์” ก็เป็นสัตว์ชั้นสูงของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธทุกชนชาติ เช่น ไทย จีน พม่า เขมร ลาว ญวน ไม่เฉพาะมอญเท่านั้น

“เสาหงส์” นั้นสืบเนื่องมาจากสมัยก่อนที่มีการสร้างเสาแขวนธงยาวแบบธงจีน เป็นสิ่งประดับตกแต่งบ้านเมืองอย่างหนึ่ง ทว่าธงนั้นงามเฉพาะเวลากลางวัน ครั้นยามกลางคืนก็มองไม่เห็น ต่อมาจึงมีคนคิดผนวกโคมไฟขึ้นบนเสานั้นด้วย ออกแบบให้เป็นรูปหงส์คาบโคมไฟห้อยลงมา ไม่เกี่ยวกับความเชื่อของชาวมอญ”

หากเหตุผลเป็นดังกล่าวข้างต้นแล้ว แสดงว่าในเมืองมอญก็ไม่จำเป็นต้องสร้าง “เสาหงส์” เพราะเมืองหงสาวดีก็อยู่ตรงนั้นแล้ว แต่เท่าที่ผู้เขียนได้พบวัดมอญหลายแห่งในเมืองมะละแหม่ง (ประเทศพม่า) หลายวัดก็ปรากฏมีเสาหงส์อยู่ เพียงแต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าเสาหงส์ในเมืองมอญมีมาตั้งแต่เมื่อใด ถามผู้เฒ่าผู้แก่ก็บอกแต่เพียงว่ามีมานานแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร

  • ประเพณีสงกรานต์

ชาวมอญ ให้ความสำคัญกับเทศกาลสงกรานต์ ในฐานะวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งอยู่ในช่วงวันที่ ๑๓–๑๗ เมษายนของทุกปี ช่วงเช้าจะไปทำบุญตักบาตรที่วัด ช่วงบ่ายจะจัดให้มีการสรงน้ำพระด้วยน้ำสะอาด ผสมน้ำอบ โรยดอกไม้ ทั้งบูชาประพรมพระพุทธรูป และอัฐฐิบรรพชน ในพิธีสรงน้ำพระ จะมีการสร้างโรงพิธีขึ้นอย่างมิดชิดให้พระเข้าไปผลัดเปลี่ยนสบงจีวรและสรง น้ำ โดยต่อรางน้ำยาวๆออกมาจากโรงพิธี เพื่อให้ชาวบ้านที่อยู่สองฟากเทน้ำลงรางพร้อมๆกัน สายน้ำจะไหลตามรางสู่โรงพิธี เป็นการป้องกันความชุลมุนหากเข้าไปสรงน้ำกับพระสงฆ์โดยตรง และปกปิดภาพที่ไม่เหมาะสมขณะที่จีวรพระเปียกน้ำ ตกเย็นมีการละเล่น ได้แก่ ปี่พาทย์มอญ มอญรำ ทะแยมอญ สะบ้าบ่อน และสะบ้าทอยไกล ผีกระด้ง ผีกะลา

  • ประเพณีแห่โหน่  (ตางโหน่)

พิธีแห่โหน่กระทำกันในวันสงกรานต์ บางท้องถิ่นเข้าใจผิดนำตำนานการสร้างเสาธงบูชาพระพุทธเจ้า รวมเข้ากับเรื่องตะขาบ ในตำนานพระเจดีย์เละเกิ่ง (ชเวดากอง) เรียกรวมกันไปว่า “ธงตะขาบ” หรือผิดเพี้ยนหนักไปกว่านั้นว่า “หางหงส์”
ตำนาน “ธงตะขาบ” ของครูอาจารย์บางท่าน กล่าวว่าสร้างขึ้นเพื่อเป็นการไถ่บาป ตำนานมีว่า ฤๅษี ๔ ตน เป็นสหายกัน บำเพ็ญตบะอยู่บนยอดเขา ๔ แห่ง สัญญากันว่าทุกปีจะชูธงขึ้นเหนือยอดเขาเพื่อให้ฤๅษีอีก ๓ ตนทราบว่ายังมีชีวิตอยู่ มิได้ล้มหายตายจากไปหรือหนีไปบรรลุมรรคผลตามลำพัง ต่อมาฤๅษีตนหนึ่งสิ้นชีวิตลง ไปเกิดเป็นพระราชา อยู่มาพระราชาได้เกิดประชวรหนักรักษาไม่หาย โหรหลวงได้ทูลความแต่ในอดีตชาติที่เป็นพระฤๅษี ว่าได้เสียสัตย์ต่อพระฤๅษีทั้ง ๓ ต้องไปขอขมาเสีย พระราชาจึงให้จัดกระบวนเรือเสด็จไปขอขมาต่อพระฤๅษี อาการประชวรจึงหายไป ขากลับพบงาช้างกองมหึมา สั่งให้ทหารขนลงเรือกลับพระราชวัง ฝ่ายเจ้าของคือพญาตะขาบ กลับมาไม่พบงาช้างของตน จึงได้ออกติดตาม

พญาตะขาบตามมาทันขบวนเรือของพระราชาที่กลางมหาสมุทร และกลางมหาสมุทรยังมีปูยักษ์นอนแผ่ก้ามอยู่ เรือของพระราชาเห็นพญาตะขาบตามมาจึงรีบแล่นหนีไปโดยเร็ว และผ่านกลางก้ามปูยักษ์ไปได้ แต่ทว่าพญาตะขาบซึ่งตัวใหญ่และมีขามากยาวรุงรังหนีไม่พ้น ถูกปูยักษ์หนีบเสียชีวิต ฝ่ายพระราชาสำนึกบาปกรรมที่ได้ก่อขึ้น เมื่อกลับถึงพระราชวัง จึงนำงาช้างที่ได้มานั้นสร้างเป็นหอคอยงาช้าง แล้วทำธงแขวนไว้เหนือหอคอยนั้น เพื่อไถ่บาป

ส่วนตำนานการสร้างเสาธงบูชาพระพุทธเจ้า สืบเนื่องมาจากตำนานในสมัยพุทธกาลว่า มีชาวบ้านป่าผู้หนึ่ง ต้องการบูชาพระพุทธคุณ เดินทางเข้าป่าเลือกต้นไม้ที่ลักษณะงามเพื่อมาทำเสาธง ลงมือถากยังไม่ทันแล้วดี เกิดป่วยสิ้นชีวิตเสียก่อน ต่อมาชายหนุ่มอีกคนหนึ่งมาพบเสาธงที่ทิ้งค้างไว้ จึงนำมาถาก ไส และขัดเรียบร้อยสวยงาม ทว่ายังมิทันได้ปิดทองก็สิ้นชีวิตไปอีกคน

ต่อมามีชายหนุ่มอีกผู้หนึ่งมาพบเสาธงดังกล่าว ที่ขัด ไส ตกแต่งเสร็จเรียบร้อยงดงาม เกิดความศรัทธาจึงซื้อทองคำเปลวมาปิด และยกเสาธงขึ้นตั้ง ยังมีมีพ่อค้าอีก ๕๐๐ คน ผ่านมาพบ ได้ลงมือช่วยกันทำส่วนประกอบต่างๆ ของธง ทุกคนต่างทำด้วยความเต็มใจ เสร็จแล้วชักขึ้นเหนือยอดเสา พากันเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ชายหนุ่มทั้ง ๓ คนแรก และพ่อค้าวาณิชทั้ง ๕๐๐ คน เมื่อสิ้นชีวิตลง ต่างไปเกิดอยู่บนสรวงสวรรค์
เสวยทิพยสมบัติอย่างผาสุขด้วยอานิสงผลบุญที่ได้บูชาพระพุทธองค์ด้วยเสาธง นั้นเอง

พระมหาจรูญ ญาณจารี วัดชนะสงคราม แปลตำนานการสร้างเสาธงข้างต้นจากใบลานภาษามอญวัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งจารไว้เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๔ และตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผืนธงนั้นแต่เดิมระบุไว้ในพระสุตตันตะปิฎกเล่ม ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ ข้อ ๒๔ หน้า ๗๑–๗๔ ว่าเป็นเพียงผ้าห่มของอุบาสกชาวเมือง “หงสาวดี” คนหนึ่ง ที่กระทำด้วยศรัทธาบริสุทธิ์ ถวายเป็นพุทธบูชา

การสร้างเสาแขวนธงบูชาพระพุทธเจ้าในวัดมอญที่กระทำกันสืบมา ยอดบนสุดของเสานั้นบางวัดก็ทำเป็นรูปช้างสามเศียรบ้าง รูปหงส์บ้าง ส่วนธงก็ทำด้วยผืนผ้าสีขาวธรรมดา มีวงกรอบตาหมากรุก ใช้ไม้ติดด้านข้างเป็นขั้นๆ ถึงวันสงกรานต์ก็ชักขึ้นเหนือยอดเสา เหล่าอุบาสิกาที่มีศรัทธาก็ตัดปอยผมจากศีรษะตนคนละเล็กละน้อยมัดรวมกัน ผูกไว้ปลายผืนธงนั้นเป็นพุทธบูชา ครั้นต่อมาจึงปรากฏว่านิยมทำยอดเสาทั้งหมดเป็นรูปหงส์ นานเข้าก็เกิดการรวมกันขึ้นของเสาหงส์และเสาธง เพื่อความสะดวก หรือความประหยัดก็หาสาเหตุไม่ได้ โดยนำธงบูชาพระพุทธเจ้าไปแขวนไว้ที่เสาหงส์ ผนวกเข้ากับเรื่องของ “ตะขาบ” ในตำนานพระเจดีย์เละเกิ่ง (ชเวดากอง) เรียกรวมๆ ว่าเสาหงส์ธงตะขาบ บางแห่งถึงกับเรียกธงนั้นเพี้ยนไปว่า “หางหงส์“

สำหรับการสร้างเสาหงส์นั้น บางท่านตั้งข้อสังเกตว่าไม่ใช่ประเพณีมอญแท้ แต่หากพิเคราะห์ดูก็จะเห็นว่า สิ่งที่ได้กระทำสืบต่อกันเป็นเวลานาน จนกลายเป็นแบบแผน ก็กลายเป็นประเพณีใหม่ได้ ทว่าต้องทำความเข้าใจที่มาและแก่นแท้เพื่อสืบทอดอย่างถูกต้อง ทุกวันนี้เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า หากวัดใดมีเสาหงส์ แสดงว่าวัดนั้นเป็นวัดมอญ ก็พออนุโลมรับฟังได้

ประเพณีการจุดลูกหนูของมอญปากเกร็ด
ลูกหนู เป็นดอกไม้เพลิงโบราณของ มอญเรียกว่า “ฮะตะน๊อย” แปลว่า “หางหนู” เพราะคนมอญเน้นชนวนที่ใช้จุดไฟ และการที่กระบอกเพลิงที่ถูกจุดนั้นวิ่งเข้าหาปราสาทตั้งศพอย่างรวดเร็วและ ส่งเสียงหวีดร้องแหลมเล็กคล้ายกับหนูในท้องนา ชาวมอญจึงเรียกการจุดกระบอกเพลิงดังกล่าวว่าการจุดหางหนู (ฮะตะน๊อย) ต่างจากมุมมองของคนไทยที่เน้นกระบอกบรรจุดินเพลิงมากกว่า จึงเรียกว่า “ลูกหนู”

ชาวมอญใช้ “ฮะตะน๊อย” เผาศพพระ เพราะถือเป็นเพศสมณะ เมื่อมรณะภาพลง คนมอญเรียกว่า จาวฟอ ซึ่งแปลว่า “กลับสวรรค์” มีการจัดงานศพอย่างใหญ่โต และไม่จุดไฟเผาด้วยมือโดยตรง ต้องจุดไฟด้วยลูกหนู ซึ่งสืบเนื่องมาจากพุทธประวัติ ตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพ ไม่สามารถจุดไฟให้ติดได้ เป็นเพราะเหล่าเทวดาต้องการให้รอพระมหากัสสป ได้ถวายบังคมพระบรมศพเสียก่อน ครั้นเมื่อพระมหากัสสปเดินทางมาถึงและถวายบังคมพระบรมศพแล้วจึงเกิดปาฏิ หารย์ เพลิงโชติช่วงโหมไหม้พระสรีระจนหมดสิ้น ชาวมอญได้น้อมนำเอาพุทธประวัติดังกล่าว มายึดถือปฏิบัติ คือจะไม่จุดไฟเผาศพพระด้วยมือ

ในการเผาศพพระดังกล่าวมานั้น มักมีชาวบ้านจากหลากหลายถิ่นส่งสายลูกหนูมาร่วมเผาศพเพราะต้องการร่วมบุญ เกิดการแก่งแย่งกันวุ่นวาย รวมทั้งลูกหนูนั้นมีความแรงมาก บางครั้งทำให้โลงศพตกลงมาแตก เป็นที่สลดสังเวชแก่ผู้พบเห็น ปัจจุบันจึงเลิกการเผาศพพระด้วยลูกหนู ใช้ไฟเผาศพจากมือโดยตรง แต่การจุดลูกหนูก็ยังคงอยู่ เป็นการจุดแข่งขันชิงรางวัลเพื่อความสนุกสนาน และรักษาประเพณี

หลังจากพระสงฆ์มรณะภาพ ทำพิธีสวดและเก็บไว้ระยะหนึ่งแล้ว คณะสงฆ์และชาวบ้านจะประชุมเตรียมงาน  บ้างเตรียมสถานที่ บ้างออกเรี่ยไรโรงทาน บ้างเตรียมมหรสพ ที่สำคัญคือช่างฝีมือทุกคนจะต้องมาช่วยกันสร้างโลง และปราสาทเผาศพ อีกส่วนหนึ่งของการเตรียมงาน คือ ลูกหนู เป็นการเตรียมดินเพลิงใส่กระบอกไม้พร้อมสายชนวนสำหรับจุด

กระบอกเพลิง (ดอนย์น๊อย) ในอดีตใช้ไม้จากต้น อะธิตาน คนไทยเรียกต้นพฤกษ์ ภายในบรรจุดินเพลิง และใช้น้ำประสาน หรือ น้ำเสียง (ด้าจก์ซะ) สำหรับคอยพรมตอนผสมดินปืนให้มีความชื้น มิให้เกิดระเบิดขึ้นขณะคลุกเคล้าส่วนผสมและบรรจุลงกระบอก องค์ประกอบหนึ่งในการทำดินเพลิงคือถ่าน ซึ่งถ่านที่ดีควรเผาจากไม้สะแก ไม้โกงกาง ไม้แสม และไม้ค้อ จะได้ถ่านที่มีคุณภาพดี ไฟแรง ส่วนดินปืนที่เป็นเชื้อปะทุอย่างดีต้องเผาจากต้นพริกแก่จัด การบรรจุดินเพลิงลงกระบอก ต้องบรรจงทีละน้อย ใช้ฆ้อนไม้เคาะอัดให้แน่น ปริมาณและกลเม็ดต่างๆ เป็นสูตรเฉพาะของแต่ละหมู่บ้านที่จะไม่เปิดเผยแก่กัน

การจุดลูกหนู ต้องอาศัยลานโล่งห่างไกลผู้คน สร้างปราสาทจำลอง มีเขื่อนขึงเส้นลวดสูงจากพื้นระดับเดียวกับปราสาท เป็นแนวยาวมาถึงบริเวณที่ใช้จุดซึ่งไกลประมาณ ๑๐๐ เมตร มีขาหยั่งสูงกว่าจากระดับเสาด้านหน้าปราสาท  จำนวนสายของเส้นลวดที่พุ่งไปสู่ปราสาทนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนสายผู้เข้าแข่ง ขัน หลังจุดชนวนดินเพลิงจะขับดันให้กระบอกเพลิงวิ่งไปข้างหน้า เมื่อสุดปลายเขื่อนกระบอกเพลิงทะยานกระเด็นเข้าหาเป้าหมาย คือยอดปราสาท ลำดับการจุดจะเรียงกันไปจนครบทุกสาย แล้วจึงเริ่มที่สายแรกใหม่ จนกว่าลูกหนูของสายใดจะพุ่งไปทำให้ยอดปราสาทโค่นลงแตะพื้นได้จะเป็นผู้พิชิต รางวัลใหญ่ รวมทั้งป้ายเล็กป้ายน้อยระบุเงินหรือรางวัลที่ปักเอาไว้เป็นแถวแนวเดียวกัน กับปราสาท เจ้าของลูกหนูสายที่วิ่งชนป้ายก็จะได้กรรมสิทธิ์รางวัลนั้นไป การแข่งขันจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อ ได้รับการพิชิตเป้ารางวัลจนหมด

การแข่งขันการจุดลุกหนูเป็นความสนุกสนานอย่างหนึ่ง ขณะที่ลูกหนูที่วิ่งเข้าหาปราสาทสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับผู้ชมอย่าง มาก ขณะเดียวกันก็มีอันตราย หากเกิดการระเบิด ทำให้ผู้จุดและผู้ชมถึงแก่ชีวิตได้ สายใดที่วิ่งดี วิ่งตรงเฉียดฉิว หรือตรงเป้าหมายแม้ยอดปราสาทไม่ถึงกับหักโค่น มักได้รับเสียงปรบมือเกรียวกราวจากผู้ชม ตรงกันข้ามกับลูกหนูสายที่ไม่ค่อยทำงาน ต้องจุดซ้ำแล้วซ้ำอีกหรือต้องใช้ไม้เขี่ยให้ลูกหนูออกวิ่ง รวมทั้งที่ระเบิดกลางทาง และเหินขึ้นฟ้า จะเป็นที่ตลกขบขัน หยอกล้อกันครื้นเครง แต่ที่สุดแล้วมักได้รับความเอ็นดูจากผู้ชมโดยมาก สายเหล่านี้มักเป็นมือสมัครเล่น ถือเป็นไม้ประดับของงาน สำหรับในย่านปากเกร็ดแล้ว วัดที่มีฝีมือเรื่องการทำลูกหนู ได้แก่ วัดเตย วัดกู้ และวัดสนามเหนือ เรียกได้ว่าเห็นชื่อคู่แข่งก็ถอดใจทีเดียว