ชุมชนมอญในประเทศไทย - มอญเกาะรัตนโกสินทร์

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
19/02/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

มอญเกาะรัตนโกสินทร์

การตั้งถิ่นฐานของชาวมอญ ในประเทศไทยนั้นจะเห็นได้ว่าอยู่ในบริเวณหัวเมืองรอบ ๆ กรุงรัตนโกสินทร์เป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้เป็นที่สนใจว่ามีการตั้งถิ่นฐานของชาวมอญในบริเวณกรุงรัตนโกสินทร์ บ้างหรือไม่ และอยู่ที่ไหนกันบ้าง เท่าที่พอจะสำรวจได้จากหลักฐานเอกสารและการบอกเล่าว่า

บริเวณวังกรมพระนเรศวรฤทธิ์
บริเวณนี้เองเป็นที่ตั้งของชุมชน มอญ ที่สำคัญแห่งหนึ่งในอาณาเขตของกรุงรัตนโกสินทร์ คือบริเวณที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงถนนพระอาทิตย์ตั้งแต่ปากคลองบางลำพู ตรงข้างวัดสังเวชวิศยาราม หรือตรงกำแพงพระนครมาจนถึงบริเวณทางช้างวังหน้า หรือบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินั่นเอง
จากหนังสือที่ ทก.๐๐๑/กก๖๔ เรื่องประวัติบ้านมะลิวัลย์ ลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ถึงหัวหน้าฝ่ายบริหารองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอ เซียและภาคพื้นแปซิฟิค ที่ดินริมน้ำเจ้าพระยาบริเวณริมถนนพระอาทิตย์ เดิมเป็นที่ดินของพระยาดำรงราชพลขันธ์ (จุ้ย คชเสนี) ซึ่งเป็นบิดาจของเจ้าจอมมารดากลิ่นหรือซ่อนกลิ่น ในรัชกาลที่ ๔ ต่อมาเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระโอรสในรัชกาลที่ ๔ ประสูติด้วยเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น พระยาดำรงราชพลขันธ์ผู้เป็นบิดาจึงได้ถวายที่ดินบริเวณนี้ให้แก่พระเจ้าบรม วงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์

จากหนังสือพงศาวดาร มอญ พม่า คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑ พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพอำมาตย์ตรี หลวงบริณัยจรรยาราษฎร์ (มณฑล คชเสนี) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐ กล่าวไว้ในหน้า ๑๑๓ ว่า

เจ้ามหาโยธา (ทอเรียะ) อายุยืนมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ จะถึงอสัญกรรมเมื่อปีใดไม่ทราบแน่ แต่เรื่องประวัติที่ปรากฏเป็นที่สุดนั้น ว่าเมื่อกรมพระนเรศวรฤทธิ์ประสูติในปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ เจ้าพระยามหาโยธาชื่นชมโสมนัสมาก ด้วยมีพระราชกุมารเป็นเหลนโดยตรงทางเจ้าจอมมารดา ถึงทำหนังสือมอบเวรที่บ้านเรือนถวายเป็นของขวัญสมโภชกรมพระนเรศรฯ ตั้งแต่แรกประสูติ เพราะฉะนั้นกรมพระนเรศรฯ จึงอยู่ริมกำแพงนครตอนถนนพระอาทิตย์ อันเป็นบ้านของเจ้าพระยามหาโยธาอยู่แต่เดิม

ตรงนี้มีความไม่ตรงกันในเรื่องท่านผู้เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินริมถนนพระ อาทิตย์ แต่ก็ไม่ถึงกับขัดแย้งกัน เพราะเจ้าพระยามหาโยธา(ทอเรียะ) ก็เป็นบิดาของพระยาดำรงราชพลขันธ์นั่นเอง ในการนี้อาจจะเป็นได้ว่าท่านเจ้าพระยามหาโยธา(ทอเรียะ) ยกบ้านและที่ดินส่วนหนึ่งให้แก่พระยาดำรงราชพลขันธ์ผู้บุตร แล้วพระยาดำรงราชพลขันธ์ก็ยกส่วนนั้นให้แก่กรมพระนเรศรฯ ด้วยกันทั้งสองฝ่าย และพื้นที่ดินของท่านทั้งสองก็อยู่ในบริเวณริมถนนพระอาทิตย์ติดกับแม่น้ำ เจ้าพระยาด้วยกัน เป็นที่ดินต่อเนื่องกัน ซึ่งหมายความว่าบริเวณริมถนนพระอาทิตย์นี้เป็นชุมชนชาวมอญที่มั่นคงแน่นอน แห่งหนึ่งในกรุงรัตนโกสินทร์

หลังจากสิ้นรัชกาลที่ ๔ แล้ว กรมพระนเรศรฯ ได้ทรงสร้างตำหนักไม้  (ตำหนักเก่า) ในที่ดินนี้ ประทับอยู่กับเจ้าจอมมารดาตลอดมา

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่กรมพระนเรศรฯ ให้สร้างตำหนักขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ คือ บ้านมะลิวัลย์ในปัจจุบัน โดยมิได้รื้อตำหนักเก่า คงให้เจ้าจอมมารดาอาศัยอยู่ต่อไปดังเดิม

กรมพระนเรศรฯ ได้ประทับอยู่ที่บ้านมะลิวัลย์ตลอดมาจนสิ้นพรชนม์และได้ตั้งพระโกศที่ตำหนัก หลังนี้ หลังจากที่กรมพระนเรศรฯ สิ้นพระชนม์แล้วที่ดินและบ้านมะลิวัลย์ได้ตกเป็นมรดกแก่ทายาท โดยมีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร ซึ่งเป็นโอรสองค์ที่ ๑ ในกรมพระนเรศรฯ และหม่อมสุภาพเป็นผู้จัดการมรดก

ตัวตึกที่เป็นที่ทำการขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาค เอเซียและภาคพื้นแปซิฟิคในปัจจุบัน ก็คือตัวตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระมหา กรุณาธิคุณแก่กรมพระนเรศรฯ ให้สร้างขึ้นนั่นเอง ตัวตึกนี้เป็นอนุสรณ์เพียงสิ่งเดียวที่เหลืออยู่พอเป็นหลักฐานของชุมชนมอญ แห่งนี้

ตามคำบอกเล่าของคุณทองอยู่ แพ่งคำ อยู่บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๒ บ้านหัวหิน ตำบลนครชุมน์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และคุณแม้นจิต โพธิสิทธิ์ อยู่บ้านเลขที่ ๑๒ ซอย ๘ หมู่บ้านเสรี ๘ กรุงเทพมหานคร ทั้งสองท่านนี้เป็นพี่น้องกันและเป็นผู้ที่เคยอยู่ในวังกรมพระนเรศรฯ ด้วยกัน ท่านทั้งสองได้เข้าไปอยู่ในวังเพราะเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นนั้นท่านได้นำชาว มอญจากที่ต่าง ๆ มาเลี้ยงไว้เป็นจำนวนมาก ยังคงขาดแต่ชาวมอญโพธารามจึงได้พาท่านทั้งสองและเพื่อน ๆ อีก ๕ คน ซึ่งเป็นชาวโพธารามเข้าไปเลี้ยงไว้ในวังตั้งแต่ยังเล็ก ๆ และก็ให้เรียนหนังสือด้วย

คุณทองอยู่นั้นได้เป็นหม่อมคนหนึ่งของกรมพระนเรศรฯ จึงต้องอยู่ที่ตำหนักของกรมพระนเรศรฯ ส่วนคุณแม้นจิตซึ่งเด็กกว่าก็คงยังอยู่ที่ตำหนักของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น นั่นเอง                                                            

ท่านทั้งสองเล่าว่าในวังกรมพระนเรศรฯ นั้น เลี้ยงผู้คนไว้มากมายทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมอญ และพูดจาสนทนากันก็มักใช้ภาษามอญทั้งนั้น แม้แต่เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นเองท่านก็มักพูดมอญกับผู้ไปเยี่ยมเยียนที่เป็น มอญ ซึ่งก็มีอยู่เสมอมิได้ขาด และที่ตำหนักของเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นก็จะมีการสวดมนต์เป็นภาษามอญทุกวัน ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑ ทุ่มเรื่อยไปจนถึง ๓ ทุ่ม ส่วนที่ตำหนักกรมพระนเรศรฯ นั้นจะสวดมนต์กันทุกวันพระ

ที่ดินริมถนนพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นบริเวณของกรมพระนเรศรฯ ตั้งแต่ท่าช้างวังหน้ามาจนถึงปากคลองบางลำพูนั้น ส่วนใหญ่ก็ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา เมื่อกรมพระนเรศรฯ ออกมาเป็นเจ้าต่างกรมด้วย

และจากกองจดหมายเหตุแห่งชาติที่ว่า กรมพระนเรศรฯ ได้รับพระราชทานที่ดินริมถนนพระอาทิตย์เพิ่มถัดมาต่อมาจากที่ดินสองผืนแรก อีกจากพระราชบิดาเมื่อพระองค์ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าต่างกรม ดังนั้นที่ดินทั้ง ๓ ผืนนี้ก็คือรายการที่ดิน ๓ แห่ง ซึ่งอยู่ริมถนนพระอาทิตย์ด้วยกันทั้งนั้น และด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่แน่นอนว่า บริเวณฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเลียบถนนพระอาทิตย์ ตั้งแต่ปากคลองบางลำพูถึงท่าช้างวังหน้าเป็นชุมชนมอญที่กว้างขวางมั่นคงแห่ง หนึ่งในบริเวณเกาะกรุงรัตนโกสินทร์

ขอบคุณแหล่งข้อมูล สุจริตลักษณ์ ดีผดุง    "มอญ : บทบาทในรอบ ๒๐๐ ปี"   สำนักพิมพ์เดือนตุลา พ.ศ. ๒๕๔๑.