วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
19/02/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

จารึกมอญ ในประเทศไทย


จารึกวัดโพธิ์ร้าง จังหวัดนครปฐม



จารึกฐานพระพุทธรูปวัดป่าข่อย จังหวัดลพบุรี

จารึกวัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช

จารึกหลังพระพิมพ์ดินเผานาดูน จังหวัดมหาสารคาม

จารึกวิหารโพธิ์ลังกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

จารึกตะจุ๊มหาเถร (วัดแสนข้าวห่อ) จังหวัดลำพูน

 

 

ในบริเวณภาคตะวันตกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งที่เคยได้รับอารยธรรมจากประเทศอินเดียมาแต่โบราณกาล แม้ว่าจะมีหลักฐานทางเอกสารรับรองอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมาก็ตาม ถ้าพิจารณาตามสภาพทางภูมิศาสตร์สามารถสันนิษฐานได้ว่า อารยธรรมอินเดียน่าจะได้เข้ามาสู่พื้นที่แถบนี้ได้รวดเร็วและลึกซึ้งยิ่ง กว่าบริเวณส่วนอื่น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้เพราะเป็นดินแดนที่อยู่ใกล้กว่า และมีพื้นที่ติดต่อกับชายฝั่งทะเล ซึ่งสามารถเดินทางผ่านเข้ามาได้ถึงสองทาง คือ ทางทะเล และทางบก แต่เนื่องจากหลักฐานทางด้านโบราณคดี และจารึกมีจำนวนน้อยและไม่แพร่หลาย ดังนั้นเรื่องราวของอาณาจักรโบราณในภูมิภาคดังกล่าวจึงยังมีการศึกษาค้นคว้า ในวงจำกัด จากหลักฐานที่มีอยู่ทราบแต่เพียงคร่าว ๆ ว่า ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 ชนชาติปยู (pyu) ตั้งอาณาจักรอยู่ ณ ลุ่มแม่น้ำอิระวดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองแปรในปัจจุบัน มีชนชาติพม่าตั้งอาณาจักรอยู่ทางตอนเหนือ และ ชนชาติมอญ ตั้งอาณาจักรอยู่ทางตอนใต้  ชาวปยู นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท จากหลักฐานจารึกแผ่นทองคำที่พบ ณ เมืองมวงคุณ (Maungun) จารึกด้วยรูปอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี จารึกดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เช่น จารึก เย ธมมา ฯ จารึกอิติปิโส ฯ เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้พบจารึกที่ใช้ภาษาสันสกฤตอีกด้วย

อาณาจักรของชนชาติปยู ที่กล่าวถึงข้างต้น ก็คืออาณาจักรศรีเกษตร ซึ่งในจดหมายของภิกษุจีนชื่อ อี้จิง บันทึกไว้ว่า อาณาจักรศรีเกษตรนี้ อยู่ทางทิศตะวันตกของอาณาจักรทวารวดี จากหลักฐานทางโบราณคดีได้พบว่า โบราณสถาน ณ บริเวณโมซาใกล้กับเมืองแปรนั้น ปัจจุบันมีแนวกำแพงอิฐก่อเป็นรูปวงกลมล้อมรอบ พระพุทธรูปที่ได้พบ ณ ที่นั้น มีพุทธลักษณะแบบเดียวกับศิลปอินเดีย สมัยหลังคุปตะ อาณาจักรปยูเจริญรุ่งเรืองอยู่ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 14 ก็เริ่มเสื่อมอำนาจลงพร้อม ๆ กับความเจริญของอาณาจักรน่านเจ้า ซึ่งได้แผ่อาณาาเขตเข้ามาสู่บริเวณตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำอิระวดี และเป็นช่วงเวลาที่อาณาจักรปยูมีโอกาสติดต่อโดยตรงกับประเทศจีน

ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 14 นั้นเอง ชนชาติปยูได้อพยพย้ายถิ่นพำนักไปอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ แต่ไม่มีหลักฐานบ่งบอกถึงสาเหตุแห่งการเคลื่อนย้ายนั้น คงทราบเพียงว่า อาณาจักรน่านเจ้าได้อพยพชาวปยูจำนวน 3.000 คน ไปที่เมืองจาตุง (Chatung) ได้แก่เมือง ยูนานฟู หรือ คุนมิง ในปัจจุบัน และชาวปยูบางพวกได้เคลื่อนย้ายไปอยู่ในพุกามบริเวณรัฐฉานปัจจุบัน และในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14 นั้นเอง พม่าได้เริ่มต้นมีความสัมพันธ์กับมอญ พร้อมทั้งรับเอาอารยธรรมความเจริญต่างของมอญไว้ด้วย รวมถึงการยอมรับนับถือพุทธศาสนา และการใช้ตัวอักษรบันทึกเรื่องราว ต่าง ๆ ซึ่งมอญได้รับถ่ายทอดมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง

ขณะที่อาณาจักรปยูเสื่อมอำนาจลง และเคลื่อนย้ายถิ่นไปนั้น อาณาจักรมอญซึ่ง อยู่ทางตอนใต้ ก็ได้ขยายอาณาเขตออกไปทางทิศตะวันตก มีศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ที่เมืองพะโค หรือ หงสาวดี อาณาเขตของ มอญ ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14 นี้ จึงน่าจะครอบคลุมไปถึงบริเวณตลอดชายฝั่งทะเลของอ่าวเมาะตะมะ และทะเลอันดามัน คือ บริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศไทยปัจจุบัน

ศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรืองของ อารยธรรมมอญ ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 ถึงก่อนการสร้างเมืองพะโคในพุทธศตวรรษที่ 14 นั้น ไม่ได้อยู่ในบริเวณตอนใต้ของอาณาจักรปยู และพม่า หลักฐานที่ได้ในการขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน แถบจังหวัดราชบุรี นครปฐม สุพรรษบุรี ลพบุรี และนครสวรรค์ เป็นต้น ทำให้ทราบได้อย่างแน่ชัดว่า บริเวณดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งของ อาณาจักรทวารดี มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ในทางศิลปกำหนดระยะเวลาของศิลปสมัยทวารดีให้อยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-16  ศิลปทวารดีนั้น แผ่ขยายอิทธิพลออกไปอย่างกว้างขวาง เกือบทุกภูมิภาคของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หลักฐานดังกล่าวมีมีกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำมูล แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และเรื่อยไปทางทิศใต้ตลอดแหลมมะลาย

เนื่องจากได้พบจารึกภาษามอญโบราณ ในภูมิภาคต่าง ๆ ของ อาณาจักรทวารดี ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าใน อาณาจักรทวารวดี นั้นมีกลุ่มชนที่ใช้ ภาษามอญ กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ความสัมพันธ์ของ ชนชาติมอญ ใน อาณาจักรทวารวดี กับ ชนชาติมอญ ที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณตอนใต้ของอาณาจักรปยู ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-14 นั้น น่าจะมีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นกลุ่มชนที่มีเชื้อชาติเดียวกันเท่านั้น และต่างแยกการปกครองตอนเองเป็นกลุ่มเมืองใหญ่น้อย แต่มีความสัมพันธ์ต่อกันภายใต้ อารยธรรม ความเชื่อ  ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรม รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และที่สำคัญที่สุดคืออารยธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดีย โดยเฉพาะอารยธรรมทางด้านตัวอักษร ปรากฏหลักฐานในจารึกที่ใช้รูปอักษร ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากรูปอักษรที่ใช้อยู่ในสมัยราชวงศ์ปัลลวะ ประเทศอินเดีย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 10-11  จารึกดังกล่าวบันทึกไว้ด้วยรูปอักษรปัลลวะ ภาษามอญโบราณ พุทธศตวรรษที่ 12 ได้แก่ จารึกวัดพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช จารึกวัดโพธิ์ร้าง จังหวัดนครปฐม จารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย จังหวัดลพบุรี จารึกถ้ำพระนารายณ์ จังหวัดสระบุรี จารึกเมืองบึงคอกช้าง จังหวัดอุทัยธานี  และในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-15 ก็ได้พบจารึกใช้รูปอักษรหลังปัลลวะ ภาษามอญโบราณ ได้แก่ จารึกเสาแปดเหลี่ยม จังหวัดลพบุรี จารึกใบเสมาวัดโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น จารึกพระพิมพ์ดินเผานาดูน จังหวัดมหาสารคาม จารึกพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดด จารึกวัดโพธิ์ชัยเสมาราม จังหวัดกาฬสินธุ์ จารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล จังหวัดนครสวรรค์

ในบริเวณที่พบจารึก ภาษามอญโบราณ ดังกล่าวข้างต้นนั้น ยังได้พบจารึกภาษาเขมร บาลี สันสกฤต ปะปนกันไป หลักฐานดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า ในพุทธศตวรรษที่ 12-14 นั้น ชนชาติมอญ เป็นกลุ่มชนใหญ่ที่นับถือพระพุทธศาสนา มีการดำรงชีวิต และขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แม้จะอยู่ร่วมกันกับชนชาติอื่น มีชนชาติที่ใช้ภาษาเขมร เป็นต้น ซึ่งนับถือศาสนาและลัทธิความเชื่อถือที่แตกต่างกันออกไปก็ตาม ความเป็นอยู่ของอดีตชนในยุคนั้น จึงน่าจะอยู่กันเป็นกลุ่มสังคมย่อยกระจัดกระจายทั่วไปในเอเซียตะวันออกเฉียง ใต้ ทั้งนี้จะเห็นได้จากการใช้รูปอักษรปัลลวะจารึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้เป็น ภาษามอญ ทั้ง ๆ ที่ในช่วงระยะเวลานั้น เป็นระยะเวลาเริ่มแรกที่อิทธิพลของรูปอักษรปัลลวะเพิ่งจะได้เข้ามาสู่ภูมิ ภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

       นับตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 ติดต่อถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 กลุ่ม ชนชาติมอญ แถบลุ่มแม่น้ำสะโตง ทางตอนเหนือของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ มอญ ที่อยู่ตอนใต้ของอาณาจักรปยูนั้น ได้เคลื่อนย้ายไปทางทิศตะวันตก และสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองพะโค หรือ หงสาวดี เป็นศูนย์กลางของอาณาจักร ช่วงระยะเวลาที่กล่าวถึงนี้ อาณาจักรมอญ แห่งนี้ได้มีความสัมพันธ์กับอาณาจักรพม่ามากขึ้น

ส่วนชนชาติมอญ ซึ่งอยู่ทางตอนกลางเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13 ได้มีการเคลื่อยย้ายถิ่นพำนักอาศัยขึ้นสู่ตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นไปถึงลุ่มแม่น้ำปิง และได้สร้างเมือง หริภุญไชย ขึ้น สถาปนา พระนางจามเทวี ราชธิดาแห่งเมืองลวปุระ  เดินทางขึ้นไปเป็นผู้ปกครอง อาณาจักรหริภุญไชย พระองค์แรก และยังได้มีกษัตริย์ปกครอง อาณาจักรหริภุญไชย สืบต่อกันมาโดยลำดับ จนถึงพุทธศตวรรษที่ 19 พระยายีบา กษัตริย์องค์สุดท้ายของ อาณาจักรหริภุญไชย ได้เสียอำนาจการปกครองให้แก่ พระยามังราย แห่ง อาณาจักรล้านนา ในปีพุทธศักราช 1839  อาณาจักรหริภุญไชย จึงสิ้นสุดลงนับแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อสิ้นสุดพุทธศตวรรษที่ 14 และเริ่มต้นพุทธศตวรรษที่ 15 มอญในภาคกลางของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือบริเวณภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบันจะค่อย ๆ หมดไป กลุ่มชนที่ใช้ภาษาเขมรโบราณได้เข้ามาครอบครองและเจริญรุ่งเรืองขึ้นแทนที่ จะเห็นได้ว่าความเจริญของกลุ่มชนที่ใช้ภาษาเขมรโบราณนั้น เริ่มมาจากบริเวณภาคอีสาน และภาคตะวันออกของประเทศไทยปัจจุบัน ดังนั้นทั่วบริเวณดังกล่างจึงมีอิทธิพลของขอมซึ่งเป็นเจ้าของภาษาเขมรครอบ คลุมอยู่ทั่วไป ได้พบหลักฐานในจารึกพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 จังหวัดลพบุรี จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร พุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้น

 ในต้นพุทธ ศตวรรษที่ 17 ณ อาณาจักหริภุญไชย ปัจจุบันคือ จังหวัดลำพูน ได้พบจารึกด้วย อักษรมอญโบราณ ภาษามอญโบราณ 7 หลัง ได้แก่ จารึกวัดดอนแก้ว1 จารึกวัดดอนแก้ว2 จากวัดมหาวัน จารึกวัดบ้านหลวย จารึกวัดแสนข้าวห่อ จารึกวัดกู่กุด1 และจารึกวัดกู่กุด2 นอกจากนั้นยังได้พบ จารึกมอญ ที่จังหวัดเชียงใหม่อีก 2 ชิ้น คือ จารึกวัดกานโถม1 ชิ้น เป็นเศษจารึกลักษณะรูปอักษรเหมือนกลุ่มจารึก 7 หลัก ที่จังหวัดลำพูน และจารึกแม่หินบดเวียงมะโน จังหวัดเชียงใหม่ ข้อความในจารึกเหล่านี้ เป็นหลักฐานที่บอกให้ทราบว่า มอญ ใน อาณาจักรหริภุญไชย ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้น และยังคงนับถือพระพุทธศาสนาอย่างเถรวามอยู่เช่นเดิม

ส่วนบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยปัจจุบัน ตลอดถึงแหลมมะลายูนั้น หลังจากกพุทธศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา ถึงพุทธศตวรรษที่ 15 บ้านเมืองตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์โศเลนทรแห่ง อาณาจักรศรีวิชัย และพระพุทธศาสนาก็ได้เจริญขึ้นเป็นลำดับมา สังเกตได้ว่าจุดยืนของสังคมในบริเวณนี้ได้เปลี่ยนจากศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนา พุทธ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้มีการค้นพบเทวรูป และศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ปะปนอยู่รวมกลุ่มกับหลักฐานทางพระพุทธศาสนา ความเจริญ และความเสื่อมของศาสนาเป็นไปตามสภาพของบ้านเมือง และผู้ปกครอง

ในศตวรรษต่อมา
คือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 ติดต่อถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 17 อาณาจักรพุกาม หรือที่เรียกในปัจจุบันว่า ประเทศพม่า มีสัมพันธภาพกับ อาณาจักรหริภุญไชย และประเทศลังกา พร้อมทั้งได้รับ อารยธรรม วัฒนธรรม รวมทั้งลัทธิศาสนาเข้าสู่อาณาจักรด้วย กษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกามนับแต่พระเจ้าอนุรุทธมหาราช เป็นต้นมา จนถึงพระเจ้ากยันซิตถา และพระเจ้าอลองคสิถุ ทรงเลื่อมใสและสนพระทัยพระพุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์อย่างยิ่ง จนถึงกับส่งคณะสงฆ์ไปศึกษาที่ลังกา และเมื่อพระเถระพม่าซึ่งเดินทางไปลังกากลับมาบ้านเมืองแล้ว ยังได้แต่งหนังสือภาษาบาลีไว้หลายเรื่อง ในรัชกาลของพระเจ้าอลองสคิถุนี้เอง อาณาจักรพุกามได้แผ่ขยายออกสู่ชายฝั่งทะเล พระเจ้าอลองคสิถุได้เสด็จไปถึงดินแดนในแหลมมะลายูด้วย ดังนั้น ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17 พระพุทธศาสนาฝ่ายลังกาวงศ์ ก็น่าจะได้เข้ามาสู่บริเวณภาคใต้ของประเทศไทยปัจจุบันด้วยเช่นกัน

ในพุทธศตวรรษที่ 18
พม่ากับลังกาเกิดสู้รบกัน พระเจ้าปรากรมพาหุกษัตริย์แห่งลังกา ส่งกองทัพเรือมาคอยปล้นสดมภ์พม่า และเมื่อการสู้รีบสิ้นสุดลง พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ในพม่ากลับยิ่งมั่นคงขึ้น และได้ถ่ายทอดให้แก่ดินแดนแถบแหลมมะลายูด้วย

หลักฐานทางพงศาวดารพม่าที่กล่าวข้างต้นนี้ สนับสนุนให้เห็นว่า อารยธรรมมอญ ใน อาณาจักรหริภุญไชย นั้น ได้เข้าไปสู่อาณาจักรพม่าเมื่อพุทธศตวรรษที่ 16-17 และรุ่งเรืองขันในรัชกาลพระเจ้ากยันซิตถานั่นเอง จากนั้นจึงให้อิทธิพลต่ออาณาจักรในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยปัจจุบัน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17-18 นั้น และได้พบจารึก อักษรมอญโบราณ ภาษามอญโบราณ ในวัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมสมัยกับจารึกอักษรขอม ภาษาเขมร บาลี และสันสกฤต ที่วัดหัวเวียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฉะนั้นในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยจึงมี อารยธรรมมอญ และ อารยธรรมขอม ควบคู่กันอยู่ ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18 นั้น ด้วยเหตุนี้ จึงน่าจะพิจารณาได้ว่าด้วยเหตุแห่งความสัมพันธ์ของพม่า ทำให้รูป อักษรมอญโบราณ แห่ง อาณาจักรหริภุญไชย ในพุทธศตวรรษที่ 17 ได้ให้อิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะเส้นสัณฐานของรูป อักษรมอญ และ รูปอักษรขอม แห่งอาณาจักรภาคใต้ในพุทธศตวรรษที่ 18

ทางด้าน อาณาจักรหริภุญไชยนั้น ไม่มีหลักฐานการเสื่อมกำลังอำนาจเพราะเหตุอื่น นอกจากทุพภิกขภัย และโรคระบาด ตลอดพุทธศตวรรษที่ 18 จนกระทั่งมีกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งใช้ภาษาไทย มีผู้นำชื่อ พระยามังราย หรือ พ่อขุนมังราย ได้ก่อตั้ง อาณาจักรล้านนา ขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำสาย จังหวัดเชียงราย และได้แผ่ขยายอาณาเขตตลอดถึงชายฝั่งแม่น้ำโขง แม่น้ำกก แถบอำเภอเชียงแสน เชียงของ จังหวัดเชียงราย รวมถึงแม่น้ำปิง จังหวัดลำพูน และแม่น้ำวัง จังหวัดลำปางด้วย พระเจ้ามังรายทรงดำเนินพระราโชบายเข้ายึดครอง หริภุญไชย จากพระยายีบา กษัตริย์องค์สุดท้ายของกลุ่มชนที่ใช้ อักษรมอญ ภาษามอญ แห่งนครหริภุญไชย เมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 ในศิลาจารึกวัดเชียงมั่น บันทึกไว้ตรงกับ พ.ศ. 1839
ส่วนอาณาจักรพุกามนั้น ภายในอาณาจักรเกิดจลาจลด้วยเรื่องเกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจราชบัลลังก์ของ กษัตริย์ผู้ปกครองอาณาจักรครั้งแล้วครั้งเล่าอยู่ตลอดเวลาจนถึงปลายพุทธ ศตวรรษที่ 18 จึงได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพวกมองโกลในที่สุด ขณะที่พม่าอ่อนกำลังอำนาจลงในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 มอญ แถบลุ่มแม่น้ำสะโตงก็ได้ตั้งตัวเป็นอาณาจักรได้อีกครั้งหนึ่ง โดยได้กำลังเสริมจาก มอญ ที่หนีภัยมาจากลุ่มแม่น้ำปิง อาณาจักรมอญ นี้ได้เป็นอิสระอยู่จนถึง พ.ศ. 2082 จึงเสียเมืองให้แก่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กษัตริย์พม่าแห่งเมืองตองอู และนับแต่นั้นมา มอญ มีฐานะเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่บริเวณรัฐฉาน ประเทศสหภาพพม่าในปัจจุบัน  และในบริเวณบางส่วนในประเทศไทย

มอญยังคงรักษา อารยธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ตลอดจนการใช้อักษรและภาษาไว้ตลอดมา และหลังจากพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา หลักฐานทางจารึกของ มอญ ในประเทศไทย มีอยู่น้อยมาก ได้พบจารึกลานทองแดง 1 แผ่น สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2048 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพบ ณ ที่ใด ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกองหอสมุดแห่งชาติ และได้พบจารึกอึกชิ้นหนึ่งสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2018 เป็นจารึกฐานพระพุทธรูปวัดชัยพระเกียรติ์

นับจากอดีตมอญ เป็นชนชาติโบราณที่มีความเป็นมายิ่งใหญ่ มีอารยธรรมของตนเอง ซึ่งรวมตลอดไปถึงการรู้จักใช้ภาษา และอักษรที่เป็นของมอญโดยเฉพาะด้วย แต่เนื่องจากความเป็นประเทศของมอญได้สูญเสียสิ้นไปนานนับร้อย ๆ ปีล่วงมาแล้ว จึงทำให้ ชนชาติมอญ ในปัจจุบันเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า และประเทศไทย พร้อมกันนั้นก็ยอมรับวัฒนธรรม อารยธรรมที่มอญตั้งหลักแหล่งอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้ความเป็น มอญ ของ ชนชาติมอญ ลดน้อยลง โดยเฉพาะด้านภาษาและอักษร ซึ่งในปัจจุบันนี้มีผู้รู้ภาษาน้อยมาก คนมอญรุ่นใหม่อ่านและเขียนภาษามอญไม่ได้แล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้อยู่อีกสืบไปไม่นาน ภาษามอญ จะปรากฏหลักฐานอยู่แต่ในหนังสือเท่านั้น
 
แหล่งที่พบจารึกอักษรปัลลวะ อักษรมอญ ภาษามอญ ในประเทศไทย แบ่งออกตามภาคต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้

ภาคใต้
1. จารึกวัดมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
2. จารึกวิหารโพธิ์ลังกา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ภาคกลาง

1. จารึกวัดโพธิ์ร้าง จังหวัดนครปฐม
2. จารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย จังหวัดลพบุรี
3. จารึกเสาแปดเหลี่ยม จังหวัดลพบุรี
4. จารึกถ้ำนารายณ์ จังหวัดสระบุรี
5. จารึกเมืองบึงคอกช้าง2 จังหวัดอุทัยธานี
6. จารึกเมืองบึงคอกช้าง3 จังหวัดอุทัยธานี
7. จารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล1 จังหวัดนครสวรรค์
8. จารึกสมิงสิริมะโนราชา จังหวัดกรุงเทพฯ

ภาคเหนือ
1. จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ1 (วัดดอนแก้ว) จังหวัดลำพูน
2. จารึกพระเจ้าสววาธิสิทธิ 2 (วัดกู่กุด) จังหวัดลำพูน
3. จารึกวัดดอนแก้ว จังหวัดลำพูน
4. จารึกอาณาจักรปุนไชย (วัดกู่กุด) จุงหวัดลำพูน
5. จารึกวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน
6. จารึกตะจุ๊มหาเถร (วัดแสนข้าวห่อ) จังหวัดลำพูน
7. จารึกวัดบ้านหลวย จังหวัดลำพูน
8. จารึกแม่หินบดเวียงมะโน จังหวัดเชียงใหม่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1. จารึกใบเสมาวัดโนนศิลา1 จังหวัดขอนแก่น
2. จารึกใบเสมาวัดโนนศิลา 2 จังหวัดขอนแก่น
3. จารึกหลังพระพิมพ์ดินเผานาดูน1 จังหวัดมหาสารคาม
4. จารึกหลังพระพิมพ์ดินเผานาดูน 2 จังหวัดมหาสารคาม
5. จารึกหลังพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดดสูงยาง 1 จังหวัดกาฬสินธุ์
6. จารึกหลังพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดดสูงยาง 2 จังหวัดกาฬสินธุ์
7. จารึกวัดโพธิ์ชัยเสมาราม จังหวัดกาฬสินธุ์


แหล่งข้อมูล

จารึกในประเทศไทย เล่ม 2   หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร