รามเกียรติ์ ความเป็นมาของเรื่องรามเกียรติ์ รามเกียรติ์ มีที่มาจากเรื่อง รามยณะ ที่ฤาษีวาลมิกิ ชาวอินเดีย แต่งขึ้นเป็นภาษาสันกฤต เมื่อประมาณ 2,400 ปีเศษ มาแล้ว และได้แพร่หลาย จากอินเดียไปยังประเทศใกล้เคียง และได้มีการเพิ่มเติมรายละเอียด ผิดแผกแตกต่างออกไปจากต้นฉบับเดิมไปไม่น้อย รามยณะเป็นปางหนึ่งในสิบปางของการอวตารมาปราบยุคเข็ญของพระนารายณ์ ที่มีชื่อว่า รามาวตาร สำหรับเรื่องรามเกียรติ์ ของไทยนั้น มีมาแต่สมัยอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับให้ละครหลวงเล่น ปัจจุบันมีอยู่ไม่ครบ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีมาแต่เดิมให้ครบถ้วน สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้ละครหลวงเล่น ได้ทรงเลือกมาเป็นตอน ๆ รามเกียรติ์ นี้จึงมีสำนวนกลอนที่ไพเราะที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เพื่อใช้ในการเล่นโขน ซึ่งจะมีอยู่เพียงบางตอนที่คัดเลือกไว้เท่านั้น เช่น ตอนนางลอย ตอนหักคอช้างเอราวัณ ตอนสีดาลุยไฟ เป็นต้น รามเกียรติ์เป็นวรรณคดีที่สำคัญของไทย เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เนื้อเรื่องและสำนวนกลอน ในเรื่องรามเกียรติ์มีความไพเราะ มีคติสอนและแง่คิดในด้านต่าง ๆ อยู่เป็นอันมาก สอดแทรกเอาไว้ตลอดทั้งเรื่อง ตามหลักนิยมของอินเดียในเนื้อเรื่อง และหลักนิยมของไทยในสำนวนกลอน จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ที่รอบพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เขียนขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าฯ จำนวน 178 ห้อง เขียนโดยจิตรกรที่มีฝีมือยอดเยี่ยมของไทย เป็นภาพวิจิตรงดงาม ทรงคุณค่าทางศิลปกรรมเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการ ซ่อมแซมหลายครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2375, พ.ศ. 2425, พ.ศ. 2475 และครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2525 นอกจากเนื้อเรื่องรามเกียรติ์แท้ ๆ จากห้อง 1 ถึงห้อง 178 ยังมีเรื่องการอวตารของพระนารายณ์ในปางก่อน ๆ อันเป็นที่มาของเรื่อง รามเกียรติ์อีกหลายแปลงคือนรสิงหาวตาร ซึ่งเป็นปางที่สี่ วราหาวคาร ซึ่งเป็นปางที่ก่อให้เกิดวงศ์พระนารายณ์ขึ้นที่โลกมนุษย์ คือ ท้าวอโนมาตัน โอรสพระนารายณ์ ที่เกิดจากองค์พระนารายณ์เองให้ ครองกรุงศรีอยุธยาที่พระอิศวรโปรดให้พระอินทร์ ลงมาสร้างให้หลานปู่ของท้าวอโนมาตัน คือท้าวทศรถ ผู้เป็นพระราชบิดาของพระราม ต้นเรื่องรามเกียรติ์ ณ ยอดเขาจักรวาลมียักษ์ตนหนึ่งชื่อ หิรันตยักษ์ ได้บำเพ็ญตบะเพื่อขอพรจากพระอิศวรให้มีฤทธิ์มากขึ้น เมื่อได้พรแล้วจึงคิดกำเริบว่าไม่มีใครสามารถสู้ได้ จึงม้วนแผ่นดินแล้วเหาะนำไปไว้ที่เมืองบาดาล เหล่าเทวดาจึงไปทูลฟ้องพระอิศวร พระอิศวรให้พระนารายณ์ไปปราบ แล้วจึงนำแผ่นดินมาคลี่ไว้ที่เดิม จากนั้นจึงกลับยังเกษียณสมุทร พบดอกบัวบานมีกุมารน้อยอยู่ในนั้น จึงนำไปถวายพระอิศวร พระอิศวรให้พระอินทร์ไปสร้างเมืองให้ที่ป่าทวาราวดี แล้วตั้งชื่อกุมารว่า อโนมาตัน และมอบอาวุธคือ ตรีเพชร คทา และธำมรงค์ ให้ไปปกครองเมืองนั้น ส่วนพระอินทร์ได้มอบนางมณีเกสร เป็นพระมเหสี ต่อมามีโอรสชื่อ อัชบาล และต่อมาท้าวอัชบาลกับนางเทพอัปสรมีโอรสชื่อ ทศรถ ฝ่ายพระพรหมองค์หนึ่งชื่อสหบดี ซึ่งเคยให้สหมลิวัน ไปปกครองทวีปลังกาแต่ได้หนีพระนารายณ์ ไปอยู่เมืองบาดาล ทวีปลังกาจึงกลายเป็นเมืองร้าง สหบดีเห็นว่าควรมีการสืบวงศ์พรหมต่อไป จึงสั่งให้พระวิษณุพรหม ไปดูทำเลสร้างเมืองใหม่ พระวิษณุพบเกาะกลางทวีปมีภูเขาสูงชื่อ นิลกาฬ สีดำสนิทตั้งอยู่กลางเกาะเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะจะสร้างเมืองที่มีความมั่นคง ป้องกันการรุกรานของข้าศึกได้ จึงสร้างเมืองขึ้นตรงเกาะนั้น " อันคูเขื่อนปราการล้อมรอบ เป็นคันรอบมั่นคงแน่นหนา หอรบช่องปืนใบเสมา ทวาราป้อมค่ายรายไป " แล้วตั้งชื่อว่าพิชัยลังกา ท้าวสหบดีได้ให้ญาติชื่อท้าวจตุรพักร ไปครอง มอบอาวุธคือ ตรีศูล คทา ฉัตร แก้ว พร้อมพระเวทกำกับฉัตร หากเมื่อข้าศึกมาประชิดเมือง ให้ยกฉัตรขึ้นบังแสงอาทิตย์ ข้าศึกจะมองไม่เห็นเมือง ทั้งยังประทาน นางมลิกา ไปเป็นมเหสี ต่อมามีโอรสชื่อท้าวลัสเตียน ซึ่งมีมเหสี 5 องค์ องค์สุดท้ายชื่อ พระนางรัชดาเทวี ซึ่งเป็นแม่ของทศกรรฐ์ มียักษ์ชื่ออสุรพรหม อยู่เชิงเขาจักรวาล ต้องการมีฤทธิ์มากขึ้น เพียรทูลขอกระบองที่ไม่มีใครสู้ได้จากพระอิศวร จนพระอิศวรประทานกระบองเพชรให้ มาลีวัคคพรหม จึงทูลทักท้วงว่า การที่ทรงประทานกระบองเพชรให้นั้น จะทำให้โลกเดือดร้อนได้ เพราะอสุรพรหมเป็นยักษ์ที่หยาบช้า ควรจะประทานอาวุธแก่ท้าวอัชบาล เพื่อใช้ปราบอสุรพรหม พระอิศวรจึงประทานพระขรรค์และพรแก่ท้าวอัชบาล ซึ่งภายหลังได้ฆ่าอสุรพรหมตาย ด้วยเหตุนี้มาลีวัคคพรหม จึงเป็นเพื่อนกับท้าวอัชบาลในเวลาต่อมา ต่อมา มาลีวัคคพรหมเสด็จไปเฝ้าพระอิศวรทูลลาไปอยู่ ณ เขายอดฟ้า พระอิศวรเห็นว่าเป็นพรหมที่มีความซื่อสัตย์ จึงประทานพรให้มีวาจาสิทธิ์ ทั้งได้ตั้งชื่อให้ใหม่ว่าท้าวมาลีวราช ปกครองเหล่าคนธรรพ์และยักษ์ มียักษ์อีกตนหนึ่งชื่อ ตรีบุรัม ครองเมืองโสพัส ต้องการมีฤทธิ์เอาชนะพระนารายณ์ได้ จึงบำเพ็ญตบะเพื่อขอพรจากพระอิศวร จนพระอิศวรต้องเสด็จลงมาให้พรตามที่ขอว่า พระนารายณ์ไม่สามารถฆ่าตรีบุรัมได้ เมื่อได้พรแล้วจึงกำเริบไปข่มเหงเหล่าเทวดาและนางฟ้าจนถึงสวรรค์ชั้นที่หกเดือดร้อนไปทั่ว จึงพากันมาฟ้องพระอิศวร เนื่องจากศึกครั้งนี้ใหญ่หลวง ด้วยตรีบุรัมได้พรจากพระอิศวร ทั้งพระพรหมและพระนารายณ์ไม่อาจปราบได้ พระอิศวรจึงต้องยกทัพไปปราบเอง ในกระบวนทัพของพระอิศวร ให้พระขันธกุมารเป็นทัพหน้า พระราหูถือธง พระพิเนตรเป็นปีกซ้าย พระพินายะเป็นปีกขวา พระกาฬเป็นเกียกกาย ท้าวเวสสุวรรณเป็น ยกกระบัตร และพระเพลิงเป็นกองหลัง ส่วนพระอิศวรนั่งบนหลังพระโคอุสุภราช เอากำลังพระพรหมผสมกับพระเดชเป็นเกราะเพชร เขาพระสุเมรุเป็นคันธนูชื่อ มหาโลหะโมลี เอาอนันตนาคราชเป็นสายธนู พระนารายณ์เป็นลูกศร แต่ไม่สามารถยิงได้เพราะพรจากพระอิศวรดังกล่าว พระอิศวรจึงลืมตาที่สามขึ้นเป็นเพลิงกรดไหม้ตรีบุรัมตาย จากนั้นจึงมอบธนูโลหะโมลีไว้ที่เมืองมิถิลาและฝากเกราะเพชร ไว้ที่พระฤาษีอัคถะดาบส เพื่อเก็บไว้ถวายพระนารายณ์ตอนอวตารมาปราบเหล่ายักษ์ กำเนิดทศกรรฐ์ มียักษ์อีกตนหนึ่งชื่อ นนทก มีหน้าที่ล้างเท้าเทวดาที่มาเฝ้าพระอิศวร ณ เชิงเขาไกรลาสถูกเหล่าเทวดาลูบหัวทุกวันจนหัวล้าน มีความเสียใจและแค้นใจ จึงไปเฝ้าพระอิศวรทูลขอนิ้วเพชร ชี้ไปที่ใครต้องตาย เมื่อพระอิศวรให้พรแล้ว จึงกลับไปล้างเท้าเทวดาตามเดิม เมื่อถูกเหล่าเทวดาลูบหัวอีก จึงเอานิ้วเพชรชี้เทวดาล้มตายไปเป็นอันมาก เหล่าเทวดาจึงไปทูลฟ้องพระอิศวร พระอิศวรจึงให้พระนารายณ์ไปปราบ พระนารายณ์ได้แปลงกายเป็นนางอัปสรไปร่ายรำยั่วยวนจนนนทกหลงกลรำตาม เอานิ้วเพชรชี้ไปที่ต้นขาตนเองล้มลง พระนารายณ์จึงกลับร่างเดิมเหยียบอกนนทกไว้ นนทกจึงว่าพระนารายณ์กลัวตนจึงต้องแปลงร่างมา พระนารายณ์จึงสาปให้นนทกไปเกิดใหม่ มีสิบหัวสิบหน้าและยี่สิบมือ สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ มีคทาและธนูเป็นอาวุธ ส่วนพระองค์จะเกิดเป็นมนุษย์มี 2 มือ ตามไปฆ่า แล้วจึงฆ่านนทกตาย "ชาตินี้มึงมีแต่สองหัตถ์ ลงไปอุบัติเอาชาติใหม่ ให้สิบเศียรสิบพักตร์เกรียงไกร เหาะเหิรเดินอากาศได้ในอัมพร มีมือยี่สิบซ้ายขวา ถือคฑาอาวุธธนูศร กูจะเป็นมนุษย์แต่สองกร ตามไปราญรอนชีวี" เมื่อนนทกตายแล้วจึงไปเกิดเป็นโอรสของท้าวลัสเตียนและ พระนางรัชดาเทวี ชื่อว่าทศกรรฐ์ แปลว่าผู้มีสิบหู มีน้องชาย 2 คน ชื่อ พิเภกและกุมภกรรณ และมีน้องสาวชื่อนางสำมนักขา ต่อมาทศกรรฐ์ได้ไปศึกษาพระเวทย์กับฤาษีโคบุตร กำเนิดพิเภก ฝ่ายพระอิศวร เมื่อรู้ว่านนทกไปเกิดเป็นทศกรรฐ์ที่กรุงลงกา เป็นยักษ์ที่ร้ายกาจและมีฤทธิ์มาก และเห็นว่าแม้พระนารายณ์จะอวตารไปปราบ ก็เห็นจะยาก จึงสั่งให้เวศญาณเทพบุตร ลงไปเกิดเป็นโอรสท้าวลัสเตียนกับพระนางรัชดาเทวี โดยประทานแว่นวิเศษใช้เรียนวิชาโหราศาสตร์ เพื่อเป็นไส้ศึกให้กับพระนารายณ์ และได้ชื่อว่าพิเภก กำเนิดพาลี สุครีพ ฤาษีโคดม เดิมเป็นกษัตริย์ครองเมืองสาเกต ไม่มีโอรสธิดา ได้ออกบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญตบะในป่าถึงสองพันปี จนหนวดเครายาวรุงรัง จนมีนกกระจาบมาทำรัง นกกระจาบได้พูดว่า พระฤาษีโคดมเป็นคนบาป ด้วยเป็นกษัตริย์ก็ไม่มีบุตรธิดา ยังหนีมาออกบวชจนทำให้เสียวงศ์กษัตริย์ พระฤาษีได้ฟังจึงคิดได้ จึงบำเพ็ญตบะตั้งพิธีขอผู้หญิงขึ้น คือนางกาลอจนา และอยู่กินกันจนมีธิดาคือนางสวาหะ ต่อมาพระอินทร์ และพระอาทิตย์ต้องการจะแบ่งฤทธิ์ไปช่วยพระนารายณ์ปราบยักษ์ จึงไปทำให้นางตั้งครรภ์และคลอดโอรส ออกมาเป็นพระยากากาศและสุครีพ ต่อมานางสวาหะ จึงเล่าเรื่องให้พระฤาษีฟัง พระฤาษีจึงอธิษฐานว่า จะปล่อยลูกลงน้ำ ถ้าใครเป็นลูกให้ว่ายน้ำกลับมาหาตน ถ้าไม่ใช่ให้กลายเป็นลิงเข้าป่าไป หลังจากปล่อยลูกทั้ง 3 ลงน้ำ คงมีแต่นางสวาหะคนเดียวว่ายกลับมา ส่วนพระยากากาศและ สุครีพกลายเป็นลิงเข้าป่าไป พระฤาษีโกรธมากจึงกลับมาสาปนางกาลอัจนาเป็นหิน นางกาลอัจนาจึงสาปนางสวาหะ ให้ยืนขาเดียวกินลมอยู่ในป่าเชิงเขาจักรวาล จะพ้นคำสาปเมื่อมีลูกเป็นลิงมีฤทธิ์เลิศกว่าลิงอื่น ๆ กำเนิดนิลพัท หนุมาน ฝ่ายพระอินทร์และพระอาทิตย์ สงสารลูกจึงไปสร้างเมืองขึ้น แล้วตั้งชื่อว่า เมืองขีดขิน แล้วให้พระยากากาศเป็นเจ้าเมือง สุครีพเป็นมหาอุปราช แล้วสอนพระเวทย์ให้ด้วย ด้านเมืองชมพูนั้นมีท้าวมหาชมพูเป็นเจ้าเมือง มีมเหสีชื่อนางแก้วอุดร เป็นเพื่อนสนิทของพระยากากาศ ไม่มีโอรสธิดา พระอิศวรจึงประทานลูกพระกาฬชื่อ นิลพัท ให้เป็นหลาน พระอิศวร รู้ว่านางสวาหะถูกสาปก็สงสาร จึงให้พระพายเอาเทพอาวุธไปซัดเข้าปากนางสวาหะ ทำให้นางตั้งครรภ์ แล้วจึงให้กำเนิดโอรสเป็นลิงเผือก ออกมาจากปากมารดา มีรัศมีโชติช่วง มีกุณฑล ขนเพชร เขี้ยวแก้ว หาวเป็นดาวเป็นเดือน มีแปดมือสี่หน้า พระอิศวรตั้งชื่อว่า หนุมาน และพระพายยังแบ่งกำลังให้อีกด้วย "ลอยอยู่ตรงพักตร์ชนนี รัศมีโชติช่วงในเวหา มีกุณฑลขนเพชรอลงการ์ เขี้ยวแก้วแววฟ้ามาลัย หาวเป็นดาวเป็นเดือนรวีวร แปดกรสี่หน้าสูงใหญ่ สำแดงแผลงฤทธิ์เกรียงไกร แล้วลงมาไหว้พระมารดา" เมื่อหนุมานเกิด นางสวาหะจึงพ้นคำสาปและบอกว่าถ้าผู้ใดมาทักเกี่ยวกับกุณฑลขนเพชรในตัว คนนั้นคือพระนารายณ์ ให้เข้าสวามิภักดิ์แก่ผู้นั้น จากนั้นหนุมานได้ลาพระพายและพระมารดาไป ต่อมาพระพายได้พาหนุมานไปเฝ้าพระอิศวร พระอิศวรจึงให้คาถามหามนต์ แปลงกาย หายตัว นะจังงัง ร่างกายคงทนต่ออาวุธ อายุยืน และหากถูกฆ่าตาย เมื่อถูกลมพัดก็จะฟื้น ต่อมาพระอิศวรจึงให้หนุมานและโอรสชื่อชมพูพาน ซึ่งเกิดจากเหงื่อไคลของพระองค์ ไปอยู่กับพระยากากาศ และสุครีพ ที่เมืองขีดขิน เมื่อถึงฤดูฝน เหล่าเทวดาจะมาร่ายรำเล่นฝน พระอรชุนก็มาร่วมด้วย นางมณีเมขลาที่มีหน้าที่เฝ้า พระสมุทร ก็นำแก้วมณีไปร่ายรำด้วย รามสูรเห็นเข้าจึงเข้าแย่ง เมื่อไม่ได้จึงโกรธ ขณะนั้นพระอรชุนเหาะผ่านมา รามสูร จึงเข้าไปทำร้ายจนถึงต่อสู้กัน พระอรชุนถูกรามสูรจับขาฟาดเข้ากับเขาพระสุเมรุ จนเขาทรุดลง พระอิศวรจึงให้นำพระยานาคพันยอดเขา และให้เหล่าเทวดา คนธรรพ์ นาค ครุฑ พระยากากาศ สุครีพ ช่วยกันดึงแต่ไม่สำเร็จ สุครีพจึงจี้สะดือของพระยานาค พระยานาคบิดตัวอย่างแรง ทำให้ฉุดเขาพระสุเมรุให้ตั้งตรงได้ ต่อมาเมื่อพระยากากาศขึ้นไปเฝ้าพระอิศวร พระอิศวรจึงตั้งชื่อพระยากากาศว่า พระยาพาลี พร้อมกับให้พรว่า ผู้ใดมาต่อสู้ด้วยให้กำลังลดลงครึ่งหนึ่งและประทานตรีเพชรให้ด้วย จากนั้นก็ฝากผอบใส่นางดาราให้สุครีพ จากความดีความชอบที่ใช้ปัญหาทำให้เขาพระสุเมรุตั้งตรงได้ พระนารายณ์ได้ค้านว่าไม่ควรฝากไป พระยาพาลีก็ถวายสัตย์ว่าจะไม่เปิดผอบ หากเสียสัตย์ก็ขอให้ตายด้วยศรของพระราม เมื่อกลับถึงเมืองก็เปิดผอบดูพบนางดารา จึงได้เป็นเมีย กำเนิดนางมณโฑ ที่ภูเขาหิมพานต์มีฤาษี 4 องค์ บวชมาได้สามหมื่นปีแล้ว ในเวลาเช้าจะมีโคนมมาที่บรรณศาลา แล้วหยอดนมไว้ในอ่างให้ฤาษีดื่มกินทุกวัน ที่หินซึ่งเป็นที่ฉันอาหาร มีกบตัวเมียอาศัยอยู่ และพระฤาษีจะให้กบเป็นทานทุกวัน วันหนึ่งมีนางนาคขึ้นมาจากบาดาลมาหาชายเป็นสามี บังเอิญพบงูดิน จึงร่วมรักกัน พระฤาษีมาเห็นเข้านางนาคอายแทรกบาดาลหายไป และคิดว่าถ้าเรื่องนี้รู้ถึงหูบิดาจะอับอายได้ จึงขึ้นไปคายพิษไว้ในอ่างนม กบได้แสดงความกตัญญูด้วยการลงไปในอ่างนมและขาดใจตาย พระฤาษีมาพบเข้าจึงชุบกบ แล้วถามความกบเล่าให้ฟัง พระฤาษีเห็นความดีของกบ ชุบนางเป็นมนุษย์ ตั้งชื่อตามสัญชาติเดิมว่า นางมณโฑ แล้วพานางไปถวายพระอิศวร พระอิศวรจึงให้เป็นนางกำนัลของพระอุมา ซึ่งพระอุมาได้สอนพระเวทย์ต่าง ๆ ให้แก่นางมากมาย ทางด้านเมืองบาดาล พระยากาลนาคเห็นว่าท้าวสหมลิวันมาอยู่จะทำให้เดือดร้อนไปทั่ว เพราะเป็นยักษ์พาล จึงควรจะปราบเสียแต่แรกท้าวสหมลิวันจึงไปขอความช่วยเหลือจากท้าวลัสเตียนผู้เป็นหลาน พระยากาลนาครบพ่ายแพ้ท้าวลัสเตียน จึงถวายราชธิดาชื่อ นางอัคคี และท้าวลัสเตียนจะรับไว้ให้เป็นชายาทศกรรฐ์ราชโอรสต่อไป ยักษ์วิรุฬหกซึ่งอาศัยอยู่นครบาดาล ใต้เขาตรีกูฎ ขึ้นไปเฝ้าพระอิศวรปีละเจ็ดครั้ง วันหนึ่งได้ขึ้นไปเฝ้าพระอิศวร พระอิศวรกำลังบรรทมหลับ วิรุฬหกคิดว่าพระอิศวรอยู่ที่ท่ามกลางอสูรและเทพดา จึงกราบทุกคั่นปันไดที่ขึ้น สรภูตุ๊กแกที่เกาะอยู่บนยอดเขา เห็นเข้าก็ขบขัน วิรุฬหกโกรธถอดสังวาลย์นาคขว้างไปถูกเขาไกรลาส จนถึงกับทรุดเอียง พระอิศวรตก พระทัยตื่น แล้วจึงตรัสหาผู้อาสา ยกเขาไกรลาส เหล่าเทวดาได้ช่วยกันยก แต่ไม่สำเร็จ พระอิศวรจึงให้ไปตามทศกรรฐ์มายกเขาไกรลาสจนตั้งตรงได้ ทศกรรฐ์คิดกำเริบขอประทานพระอุมา พระอิศวรยกให้ ทศกรรฐ์จึงเข้าไปจะอุ้ม แต่กายของพระอุมาร้อนแรงมาก ทศกรรฐ์อุ้มไม่ได้ ได้แต่อุ้มพระบาทวางไว้เหนือหัวพาเหาะไป พระนารายณ์ทราบเรื่อง จึงแปลงเป็นชายแก่ ไปดักทางที่ทศกรรฐ์จะผ่านไปและบอกว่ายังมีนางมณโฑซึ่งสวยงาม และเหมาะกับทศกรรฐ์มากกว่า ทศกรรฐ์เชื่อจึงนำพระอุมาไปคืนพระอิศวร แล้วทูลขอนางมณโฑ พระอิศวรก็ประทานให้ ทศกรรฐ์จึงอุ้มนางมณโฑเหาะผ่านนครขีดขิน เพื่อกลับไปยังลงกา พระยาพาลีโกรธหาว่าทศกรรฐ์หมิ่นตน จึงเหาะขึ้นมาจะทำร้ายทศกรรฐ์ เมื่อเห็นนางมณโฑจึงหลงรัก แล้วเข้าสู้รบแย่งชิงจนชนะทศกรรฐ์ ได้นางมา พากลับไปยังนครขีดขิน ได้นางมณโฑเป็นเมีย กำเนิดองคต ส่วนทศกรรฐ์แค้นใจและเศร้าโศกเสียใจมาก กุมภกรรณและพิเภก จึงไปหาพระฤาษีโคบุตร พระฤาษีโคบุตรบอกให้ไปพบพระฤาษีอังคต อาจารย์ของพระยาพาลี ให้ไปช่วยไกล่เกลี่ย จนพระยาพาลียอมคืนนางมณโฑให้ทศกรรฐ์ แต่ขณะนั้น นางมณโฑท้องได้ 6 เดือนกว่าแล้ว พระฤาษีอังคตจึงผ่าเอาทารกออกไปใส่ไว้ในท้องแพะ ส่วนนางมณโฑ ได้นำกลับไปคืนทศกรรฐ์ ต่อมาจนถึงเวลาพระฤาษีอังคตได้แหวะท้องแพะ เอาทารกออกมา ตั้งนามว่าองคต แล้วนำไปให้พระยาพาลี ทศกรรฐ์ถอดดวงใจ สำหรับทศกรรฐ์ แม้จะได้นางมณโฑแล้ว ก็ไม่หายแค้นพระยาพาลี เมื่อพระยาพาลี จะประกอบพิธีสรงน้ำแก่โอรสองคตในแม่น้ำยมนา ทศกรรฐ์จึงคิดฆ่าให้สิ้นความอัปยศ จึงแปลงร่างเป็นปู ลงไปอยู่ใต้น้ำที่จะทำพิธี พระยาพาลีลงไปจับปูทศกรรฐ์ได้และได้ประจานอยู่เจ็ดวัน จึงปล่อยตัวไป ทศกรรฐ์จึงไปหาพระฤาษีโคบุตร ขอให้ช่วยถอดดวงใจให้ โดยไปทำพิธีกันที่ภูเขานิลคีรีและได้นำดวงใจนั้นรักษาไว้ ณ ภูเขานี้ ส่วนหนุมานนั้นได้อยู่กับพระยาพาลีและสุครีพ ต่อมาต้องการรักษาศีลจึงลาผู้เป็นน้าแล้วเหาะไปจำศีลที่ป่ากัทลีวัน รณพักตร์ เป็นลูกทศกรรฐ์กับนางมณโฑ มีนิสัยหยาบช้าเช่นเดียวกับทศกรรฐ์ ไปศึกษาพระเวทกับ พระฤาษีโคบุตร พระฤาษีได้ให้วิชามหากาลอัคคี ใช้สำหรับบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระพรหม และพระนารายณ์ รณพักตร์เมื่อได้วิชาแล้ว จึงไปบำเพ็ญตบะที่เนินเขาโพกาศ เป็นเวลาเจ็ดปี ทำให้พระเป็นเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ต้องเสด็จมาถามความต้องการ รณพักตร์จึงขอศร พระอิศวรจึงประทานศรพรหมมาศ และพรแปลงกาย เป็นพระอินทร์ให้ พระพรหมให้ศรนาคบาศพร้อมกับพรว่า หากจะตายให้ตายบนอากาศหากเศียรขาดตกดิน ต้องมีพานแก้วของพระพรหมมารองรับ จึงจะไม่กลายเป็นไฟบรรลัยกัลปไหม้โลก ส่วนพระนารายณ์ให้ศรวิษณุปาณัม ทางด้านท้าวสหมลิวันที่ครองเมืองบาดาล เห็นว่าทศกรรฐ์เป็นยักษ์สันดานหยาบช้า อาจจะมารุกรานเมืองบาดาลได้ จึงเตรียมการเพื่อป้องกันพระนครอย่างมั่นคง ก่อนตายได้มอบให้โอรสชื่อมหายมยักษ์ ครองเมืองต่อไป แล้วสั่งว่าห้ามไปคบหากับทศกรรฐ์ แล้วตั้งชื่อมหายมยักษ์ให้ใหม่ว่าท้าวศากยวงศา ซึ่งมีมเหสีชื่อพระนางจันทประภา ต่อมามีโอรสธิดาชื่อนางพิรากวนและ ไมยราพ ทศกรรฐ์เมื่อเห็นรณพักตร์มีฤทธิ์มากขึ้น นับจากได้ศรจากพระอิศวร พระพรหมและพระนารายณ์ จึงให้รณพักตร์ยกทัพไปปราบพระอินทร์ ได้สู้รบกันที่กลางเขาพระสุเมรุ พระอินทร์สู้ไม่ได้ทิ้งจักรแก้วไว้ แล้วหนีไปฟ้องพระอิศวร ส่วนรณพักตร์ได้จักรแก้วของพระอินทร์ จึงกลับมายังเมือง ทศกรรฐ์จึงตั้งชื่อรณพักตร์ใหม่ว่า อินทรชิต ซึ่งแปลว่าสามารถปราบพระอินทร์ได้ กำเนิดทรพา ทรพี มียักษ์ตนหนึ่งชื่อนนทกาลอสูร เป็นผู้เฝ้าประตูกำแพงชั้นในเขาไกรลาสของพระอิศวร ได้ล่วงเกินนาง มาลีซึ่งเป็นคนร้อยดอกไม้ นางจึงไปทูลฟ้องพระอิศวร พระอิศวรโกรธสาปให้นนทกาลไปเกิดเป็นควายป่าชื่อ ทรพา และเมื่อถูกฆ่าโดยลูกชายชื่อทรพี จึงจะพ้นคำสาป เมื่อทรพาเข้ามาอยู่ในป่าได้นางควายเป็นเมียมากมาย เมื่อนางควายตัวใดมีลูกตัวผู้ก็จะถูกฆ่าตายหมด นางควายนิลาจึงหนีไปออกลูกในถ้ำสุ รกานต์เป็นตัวผู้ ฝากเทวดาให้เลี้ยงดู เทวดาได้ตั้งชื่อ ลูกควายนี้ว่าทรพี ฝ่ายท้าวศากยวงศาเจ้าเมืองบาดาลได้ตายลง ไมยราพได้ขึ้นครองเมือง คิดถึงเรื่องที่บิดาสั่งไว้มิให้คบหากับทศกรรฐ์ แต่เนื่องด้วยทศกรรฐ์เป็นยักษ์พาล วันหน้าอาจรุกรานได้ จำเป็นต้องเรียนพระเวทให้มากขึ้น จึงขึ้นจากบาดาล มาศึกษาพระเวท ด้านการสะกดทัพ หายตัว คงกระพันชาตรีกับพระสุเมธฤาษี ที่ป่าหิมพานต์ พระฤาษีได้ทำพิธีถอดดวงใจให้ไมยราพและให้ไปเก็บไว้ที่เขาตรีกูฎ ส่วนทางเมืองมนุษย์นั้นมีกรุงไกยเกษ ท้าวไกยเกษปกครองมีมเหสีชื่อ ประไพวดี ต่อมามีธิดาชื่อ นางไกยเกษี ท้าวไกยเกษเห็นว่า ท้าวอัชบาลเป็นวงศ์พระนารายณ์และมีความสามารถ ทั้งมีโอรสชื่อท้าวทศรถ จึงถวายนางไกยเกษีให้ ต่อมาท้าวอัชบาลได้ให้ท้าวทศรถขึ้นครองราชย์ และประทานนางไกยเกษี เป็นพระมเหสี ด้านเมืองโรมพัตตัน มีท้าวโรมพัตเจ้าเมืองโรมพัตตัน เมืองนี้ฝนไม่ตกมาเป็นเวลาสามปี เกิดทุพภิกขภัย จึงให้จัดพิธีขอฝน แต่ไม่เป็นผล ต่อมาทราบว่าเพราะมีฤาษีตนหนึ่งชื่อกไลโกฎ บำเพ็ญตบะญาณแก่กล้าจนเกิดฝนแล้งขึ้น ท้าวโรมพัตจึงให้ธิดาชื่อนางอรุณวดี ไปทำลายพิธี โดยยอมเป็นเมียฤาษี นารายณ์อวตาร ฝ่ายท้าวทศรถนั้น มีเพื่อนเป็นพญานกชื่อสดายุ พระองค์ไม่มีโอรสธิดาเห็นว่าจะไม่มีใครสืบราชสมบัติ จึงทำพิธีขอโอรสที่มีฤทธิ์แต่ไม่สำเร็จ จึงไปนิมนต์ฤาษีกไลโกฎ ฤาษีกไลโกฎได้พาฤาษีอีก 4 องค์ ขึ้นไปเฝ้าพระอิศวรแล้วทูลว่า โลกมีความเดือดร้อนเพราะพระอิศวรและพระนารายณ์ได้ประทานศรแก่ยักษ์ คงมีแต่ท้าวทศรถเท่านั้นที่จะช่วยเหลือโลกได้ แต่พระองค์ไม่มีโอรส จึงควรให้พระนารายณ์อวตารไปปราบเหล่ายักษ์นั้น พระอิศวรจึงให้พระนารายณ์อวตารไปเกิดเป็นโอรสท้าวทศรถ ชื่อ พระราม จักรเป็นพระพรต สังข์และบัลลังก์นาคราชเป็นพระลักษณ์ และคทาเป็นพระสัตรุต รวมทั้งให้พระลักษมีเป็นนางสีดา เกิดเป็นธิดาทศกรรฐ์และพระนางมณโฑ "เจ้าไปเกิดเป็นกษัตริย์ สุริวงศ์จักรพรรดิ์มหาศาล ทรงพระนามพระรามอวตาร ในสถานกรุงศรีอยุธยา จักรเป็นพระพรตยศยง ถัดองศ์พระนารายณ์เชษฐา ฝ่ายสังข์บัลลังก์นาคา เป็นพระลักษณ์อนุชาฤทธิรอน อันซึ่งคทาวราวุธ เป็นพระสัตรุตชาญสมร องค์พระลักษมีมีบังอร ไปเกิดในนครลงกา ชื่อว่าสีดานงลักษณ์ เป็นบุตรทศพักตร์ยักษา........" กำเนิดทหารพระราม ส่วนเหล่าเทวดาทั้งปวงได้พากันตามเสด็จไปช่วยพระนารายณ์ ปราบเหล่ายักษ์ด้วย พระอิศวรจึงให้พรว่า หากถูกพวกยักษ์ฆ่าตาย เมื่อลมพัดถูกตัวก็ให้ฟื้นขึ้นดังเดิม เหล่าเทพยดารับพรแล้วจึงจุติมาเป็นวานรในโลกมนุษย์ "พระราหูฤทธิไกรไชยชาญ เป็นทหารชื่อนิลปานัน พระพินายนั้นเป็นนิลเอก พระพิเนกนั้นเป็นนิลขัน พระเกตุเป็นเสนีกุมิกัน พระอังคารเป็นวิสันตราวี พระหิมพานต์จะเป็นโกมุท พระสมุทรนิลราชกระบี่ศรี พระเพลิงเป็นนิลนนมนตรี พระเสาร์เป็นนิลพานร พระสุกรเป็นนิลปาสัน พระหัศนั้นเป็นมาลุนทเกสร พระพุธเป็นสุรเสนฤทธิรอน พระจันทร์เป็นสัตพลี วิรูฬหกวิรูปักษ์สองตระกูล เป็นเกยูรมายูรกระบี่ศรี เทวัญวานรนอกนี้ บัญชีเจ็ดสมุดตรา แล้วพระอิศวรจึงให้ฤาษีไปบอกกับท้าวทศรถ ให้ทำพิธีขอโอรส พระฤาษีได้ทำตามคำสั่ง ท้าวทศรถจึงตั้งพิธี ปรากฎรูปอสูรทูนถาดข้าวทิพย์ กลิ่นข้าวทิพย์โชยไปถึงกรุงลงกา พระนางมณโฑต้องการเสวยข้าวทิพย์มาก ทศกรรฐ์จึงให้นางกากนาสูร มาเอาข้าวทิพย์ นางกากนาสูรแปลงเป็นอีกามาโฉบเอาข้าวไปได้ครึ่งปั้น แล้วนำไปให้นางมณโฑ ส่วนที่เหลือสามปั้นครึ่งนั้น ส่วนนางไกยเกษีกับนางเกาสุริยา ได้คนละหนึ่งปั้น นางสมุทรเทวีได้ปั้นครึ่ง กำเนิดนางสีดา ต่อมาทุกนางได้ทรงครรภ์ นางเกาสุริยาประสูติโอรสเป็นพระราม นางไกยเกษีประสูติโอรสเป็นพระพรต นางสมุทรเทวีประสูติโอรสมาเป็นพระลักษณ์และพระสัตรุต พระนางมณโฑประสูติธิดามาเป็นนางสีดา เมื่อนางสีดาเกิดนั้นได้ร้องว่า ผลาญราพณ์ ถึงสามครั้ง ทุกคนได้ยินยกเว้นทศกรรฐ์และนางมณโฑ ทศกรรฐ์ดีใจมากที่ได้ธิดาและได้ให้พิเภกมาทำนายดวงชะตา พิเภกทำนายว่าดวงชะตานางสีดาเป็นกาลกิณี ควรจะเอาไปทิ้งน้ำ "จึงตั้งซึ่งจุลศักราช มาสเกณฑ์กำหนดคูณหาร บวกลบลงเป็นอวมาน ตามฐานขับไล่ในคัมภีร์ ได้อุจจาวิลาศราชโชค โยคเกณฑ์อุตม์เอกราศี ลักขณามาเมษสวัสดี ฤกษ์พามาที่ประเสริฐนัก งามพร้อมผิวพรรณรูปทรง สมควรคู่องค์บรมจักร จึงสอบใส่ชะตาพระยายักษ์ ลักขณ์จันทร์เป็นกาลกิณี แล้วสอบด้วยชะตาลงกา เสาร์ทับลัขณาในราศี จึงทูลว่าพระราชบุตรี จะก่อการกุลีในเมืองมาร ทศกรรฐ์จึงให้เอาไปใส่ผอบทิ้งกลางทะเล แต่มีดอกบัวใหญ่ขึ้นมารองรับไว้ แล้วลอยทวนน้ำไปถึงอาศรมพระชนก ผู้ซึ่งเดิมเป็นกษัตริย์ครองเมืองมิถิลา พระฤาษีจึงนำไปเลี้ยงดู ต่อมาเห็นว่าตนออกบวชเพื่อสำเร็จญาณโลกีย์ แต่การที่มาเลี้ยงนางสีดาทำให้ไม่สำเร็จ จึงนำผอบที่ใส่นางสีดาไปฝังใต้ต้นไทรใหญ่ ให้อยู่ในอารักขาของเหล่าเทวดา ส่วนที่กรุงศรีอยุธยา วันหนึ่งพระราม พระลักษณ์ พระพรต และพระสัตรุต ลองศรกัน พระรามแกล้งยิง หลังนางค่อมกุจจี นางค่อมได้รับความอับอายและเจ็บแค้นจึงอาฆาตพระรามตั้งแต่นั้น เมื่อพระโอรสเจริญวัย ท้าวทศรถจึงให้โอรส ไปศึกษาพระเวทกับฤาษีสององค์ชื่อ ฤาษีวสิษฐ์และฤาษีสวามิตร จนเรียนศิลปศาสตร์ได้อย่างชำนาญ และเห็นว่าจากนี้เหล่ายักษ์จะต้องตายด้วยศรพระราม แต่พระรามไม่มีศรประจำตัว จึงตั้งพิธีขอศร พระอิศวรได้ประทานศรให้องค์ละสามเล่ม แต่ละเล่มมีฤทธิ์ต่างกัน สำหรับศรของพระรามคือ ศรพรหมมาสตร์ ศรอัคนิวาต และศรพลายวาต เมื่อกลับเข้ากรุงศรีอยุธยา จึงลองศรให้ท้าวทศรถชมเป็นที่ชื่นชมโสมนัส ทางด้านท้าวไกยเกษ เห็นว่าตนนั้นชรามากแล้ว จึงไปขอลูกของพระนางไกยเกษีมาเลี้ยงดู หากในวันข้างหน้ามีศัตรูมารุกรานจะได้เป็นกำลังต่อสู้ได้ ท้าวทศรถจึงให้พระพรตกับพระสัตรุตไป นับตั้งแต่ทศกรรฐ์ถอดดวงใจแล้วก็มีความกำเริบมากขึ้น และยังเห็นว่าเหล่านักพรตมีฤทธิ์มาก ซึ่งในกาลข้างหน้า การบำเพ็ญตบะของฤาษีนั้น อาจทำให้เกิดอันตรายต่อเหล่ายักษ์ได้ จึงให้นางกากนาสูรและไพร่พลยักษ์แปลงเป็นกา ไปทำลายพิธีบำเพ็ญตบะ พวกฤาษีสู้ไม่ได้ จึงไปเฝ้าท้าวทศรถ ขอให้พระราม พระลักษณ์ ไปช่วยปราบ พระราม พระลักษณ์ ได้แผลงศรถูกนางกากนาสูรตาย สวาหุและม้ารีสลูกของนางกากนาสูร ทั้งสองจึงมาแก้แค้นแทนมารดา พระรามจึงแผลงศรถูกสวาหุตาย ส่วนม้ารีสหนีไปกรุงลงกา ฝ่ายพระชนกหลังจากได้ฝังผอบนางสีดาไว้โคนต้นไทรแล้วไปบำเพ็ญเพียรต่อ แต่ไม่สำเร็จญาณสมาบัติ เกิดความเบื่อหน่ายจะกลับไปครองเมืองมิถิลาตามเดิม จึงไปขุดเอาผอบนางสีดาขึ้นมาภายในมีนางอายุประมาณ สิบหกปี จึงได้พาเข้าเมือง และตั้งชื่อว่า นางสีดา พิธียกศร ต่อมาเห็นว่านางสีดามีอายุสมควรจะมีคู่ครองได้ จึงตั้งพิธียกศรมหาธนูโมลี ซึ่งเป็นศรที่พระอิศวรใช้ฆ่าตรีบุรัมตาย ฤาษีวิสิษฐ์และฤาษีสวามิตร จึงพาพระรามและพระลักษณ์ไปยกศร โดยพระอินทร์ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธาน แต่ไม่มีกษัตริย์องค์ใดยกศรได้ นอกจากพระราม แล้วพระรามพานางสีดา กลับมายังกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายรามสูรตั้งแต่จับพระอรชุนฟาดกับเขาพระสุเมรุ สิ้นชีวิตแล้ว ก็ออกเที่ยวข่มเหงผู้อื่นไปเรื่อย ๆ จนมาพบกับทัพพระรามและนางสีดา เมื่อเห็นนางสีดา จึงคิดจะแย่งนางมาและได้ต่อสู้กับพระราม ระหว่างการต่อสู้เห็นพระราม เป็นพระนารายณ์ จึงขอโทษพระราม ส่วนทรพีนั้นเมื่อเติบใหญ่ขึ้น จึงพยามยามวัดรอยตีนของพ่อ เมื่อเห็นว่าเท่ากับของทรพาผู้เป็นพ่อแล้ว จึงมาท้าต่อสู้กับทรพาและฆ่าทรพาตาย พาลีฆ่าทรพี ทรพีเมื่อฆ่าทรพาตายแล้ว จากนั้นก็ไปท้าทายบรรดาเทวดาไปเรื่อย ๆ เทวดาจึงหลอกให้ไปท้าพระอิศวรที่เขาไกรลาส พระอิศวรโกรธ จึงให้ไปต่อสู้กับพระยาพาลีและสาปให้ตายด้วยฤทธิ์ของพระยาพาลี แล้วไปเกิดเป็นลูกพระยาขร ชื่อ มังกรกรรฐ์ และให้ตายด้วยศรพระราม ทรพีแม้จะถูกสาปแล้วก็ยังไม่สำนึกตัว ไปท้าทายพระยาพาลีที่เมืองขีดขิน ทั้งสองจึงต่อสู้กัน พระยาพาลีได้ลวงให้ทรพีไปสู้กันในถ้ำ และได้สั่งสุครีพว่าเมื่อครบเจ็ดวันแล้วยังไม่กลับออกมา ให้เฝ้าดูรอยเลือด ถ้าเป็นเลือดข้นจะเป็นเลือดควาย ถ้าเห็นเลือดใสจะเป็นเลือดตน จงรีบพาไพร่พลขนหินมาปิดถ้ำเสีย ต่อมาพระยาพาลีได้ฆ่าทรพีตาย เทวดายินดีบันดาลให้ฝนตก เลือดที่ไหลออกมาจึงใส สุครีพเห็นเข้าคิดว่าเป็นเลือดพระยาพาลี จึงสั่งให้ไพร่พลเอาหินมาปิดถ้ำ ฝ่ายพระยาพาลีเมื่อฆ่าทรพีตายแล้ว จะออกจากถ้ำพบถ้ำปิดก็โกรธหาว่าสุครีพคิดจะแย่งชิงเมือง จึงไล่สุครีพออกจากเมืองไป ฝ่ายทรพีเมื่อตายไปแล้ว ได้มาเกิดเป็นบุตรของพระยาขร น้องชายของทศกรรฐ์ซึ่งครองเมืองโรมคัล กับพระนางรัชฎาสูรชื่อว่า มังกรกรรฐ์ ตามคำสาปของพระอิศวร พระรามออกบวช ต่อมาท้าวทศรถมอบราชสมบัติให้พระราม นางค่อมกุจจีคิดแก้แค้นไม่ให้พระรามได้ครองเมือง จึงยุยง พระนางไกยเกษี ให้กำจัดพระราม และให้พระพรตบุตรของนางครองเมืองแทน พระนางไกยเกษีจึงไปทวงสัญญาจากท้าวทศรถ ที่ประทานให้จากความดีความชอบของนาง คราวที่ท้าวทศรถสู้กับยักษ์ ปทูตทันต์ เมื่อท้าวทศรถรับปาก นางจึงขอให้ยกราชสมบัติให้พระพรต แล้วให้พระรามออกบวชเป็นฤาษีเป็นเวลาสิบสี่ปี ท้าวทศรถจำเป็นต้องยอม แล้วพระนางไกยเกษีจึงให้นำเครื่องบวชไปให้พระราม ส่วนนางสีดาและพระลักษณ์ เมื่อเห็นพระรามออกบวช จึงติดตามไปด้วย ทั้งสามองค์ได้หนีออกไปจากวังในตอนกลางคืน ไปยังเขาสัตตกูฎ ท้าวทศรถเมื่อทราบเรื่องก็ตรอมใจตาย ฝ่ายพระพรตกับพระสัตรุต เดินทัพกลับมา เพื่อแสดงความยินดีกับพระรามที่จะขึ้นครองเมือง เมื่อถึงเมือง รู้ว่าท้าวทศรถสิ้นพระชนม์ เพราะพระนางไกยเกษีก็โกรธ พระพรตจะไปฆ่าพระมารดา แต่พระสัตรุตห้ามไว้ ทั้งพระพรตและพระสัตรุต จึงออกบวชแล้วติดตามพระราม พร้อมกับพระนางเกาสุริยา พระนางไกยเกษี พระนางสมุทรเทวี เพื่อไปรับพระรามกลับมาครองเมือง แต่พระรามได้รับปากกับท้าวทศรถแล้วจึงไม่ยอมกลับ พระพรต กับพระสัตรุต จึงทูลว่าถ้าสิบสี่ปีแล้ว พระรามไม่กลับจะยอมตาย พระพรตได้สร้างเมืองประจันตคามที่ชายแดนอยุธยา แล้วพระองค์ประทับรออยู่ที่นั่น ส่วนพระสัตรุต ได้ให้ไปครองกรุงศรีอยุธยา มียักษ์ตนหนึ่งชื่อพิราพ อยู่ปราสาทเชิงเขาอัศกรรณ ได้ปลูกต้นชมพู่พวาทอง แล้วให้พลยักษ์คอยเฝ้า พระราม พระลักษณ์ และนางสีดา เดินทางมาจนถึงสวนของพิราพ ได้เก็บผลไม้กิน พิราพจึงมาต่อสู้กับพระราม พระลักษณ์ เมื่อพบนางสีดาก็หลงรักคิดแย่งชิง จึงร่ายเวทเกิดเป็นเมฆมืดครึ้ม แล้วอุ้มนางสีดาไป พระรามแผลงศรอัคนิวาททำให้ท้องฟ้าสว่าง เห็นพิราพอุ้มนางสีดาไปจึงเข้าต่อสู้ ในที่สุดพิราพถูกศรพรหมาสตร์ของพระรามตาย แล้วทั้งสามพระองค์ได้เดินทางไปจนถึงอาศรมของฤาษีอัตถะ ฤาษีจึงมอบเกราะเพชรที่พระอิศวรฝากไว้ให้แก่พระราม ส่วนพระอินทร์ได้เนรมิตอาศรมขึ้นที่ริมแม่น้ำโคทาวารี ให้ทั้งสามพระองค์ประทับ เริ่มศึกทศกรรฐ์ วันหนึ่งทศกรรฐ์จะไปเที่ยวป่าเจ็ดวัน จึงให้ชิวหาผู้เป็นน้องเขยเฝ้าเมืองไว้ ชิวหาจึงเนรมิตตัวเท่าบรมพรหม แลบลิ้นปิดกรุงลงกาไว้ ทศกรรฐ์กลับมาเห็นกรุงลงกามืดทึบ คิดว่าข้าศึกมาฆ่าชิวหาตายแล้วยึดเมืองได้ จึงขว้างจักรตัดลิ้นชิวหาขาดตายโดยไม่ได้ตั้งใจ นางสำมนักขาเสียใจมากและต้องอยู่คนเดียวตลอดมา จึงคิดหาคู่เดินทางเข้าป่าไป "จะว่าพระอิศวรทรงชัย ก็ไม่มีสังวาลย์นาคี จะว่าพระนารายณ์ฤทธิรอน ก็ไม่เห็นพระกรเป็นสี่ จะว่าท้าวธาดาธิบดี เหตุใดไม่มีเป็นสี่พักตร์ แม้นจะว่าท้าวหัสนัยน์ ใยจึงไม่ทรงวิเชียรจักร จะว่าพระสุริยาวรารักษ์ ก็ชักรถอยูในเมฆา ครั้นจะว่าองค์พระจันทร์ ก็ผิดที่จะจรจากเวหา นางสำมนักขาพบพระรามก็นึกรัก จึงแปลงกายเป็นหญิงสาวขอเป็นเมียพระราม พระรามไม่ยอม นางสำมนักขาเห็นนางสีดา รู้ว่าที่พระรามไม่รักตนเป็นเพราะนางสีดาจึงเข้าทุบตี พระลักษณ์โกรธจึงตัดมือ ตัดเท้า จมูก และหู ของนางสำมนักขา นางจึงไปฟ้องพระยาขร พระยาขรออกมาต่อสู้กับพระราม ต้องศรพรหมาสตร์ตาย ไพร่พลยักษ์จึงไปฟ้องพระยาทูษณ์ พระยาทูษณ์ออกมาต่อสู้กับพระราม ถูกฆ่าด้วยศรพรหมาสตร์ และพี่ชายอีกคนชื่อพระยาตรีเศียร มาแก้แค้นให้ จึงถูกพระรามฆ่าอีกคน ทศกรรฐ์ลักนางสีดา นางสำมนักขาเห็นพระยาทูษณ์ พระยาขร และพระยาตรีเศียรตาย จึงไปฟ้องทศกรรฐ์ ทศกรรฐ์ได้ฟังโกรธแค้นมาก คิดจะออกมาฆ่าพระราม พระลักษณ์ แต่นางสำมนักขากลัวพี่ชายจะไปฆ่าพระราม จึงแนะนำให้ทศกรรฐ์ไปเอานางสีดามาเป็นเมีย พร้อมกับพูดถึงความงามของนางสีดาด้วย ทศกรรฐ์ได้ฟังก็หลงรัก จึงให้มารีสแปลงเป็นกวางทอง ไปล่อนางสีดา นางสีดาเห็นเข้าก็อยากได้ พระรามจึงออกตามกวางไป พบว่าเป็นมารีส พระรามโกรธที่ได้ไว้ชีวิตเมื่อคราวไปทำร้ายฤาษี แต่ไม่รู้คุณ จึงแผลงศรไปถูกมารีสบาดเจ็บ มารีสแกล้งทำเสียงเป็นพระราม ร้องเรียกพระลักษณ์ให้ไปช่วย นางสีดาจึงให้พระลักษณ์ตามไปช่วย ทศกรรฐ์จึงได้แปลงกายเป็นฤาษีมาหานางสีดา "พิศพักตร์ผ่องพักตร์ดังจันทร พิศขนงก่งงอนดังคันศิลป พิศเนตรดังเนตรมฤคิน พิศทนต์ดังนิลอันเรียบราย พิศโอษฐ์ดังหนึ่งจะแย้มสรวล พิศนวลดังสีมณีฉาย พิศปรางดังปรางทองพราย พิศกรรณคล้ายกลีบบุษบง พิศจุไรดังหนึ่งแกล้งวาด พิศศอวิลาสดังคอหงส์ พิศกรดังวงคชาพงศ์ พิศทรงดังเทพกินรา พิศถันดังปทุมเกษร พิศเอวเอวอ่อนดังเลขา พิศผิวผิวผ่องดังทองทา พิศจริตกิริยาจับใจ ฤาษีกล่าวว่า นางสีดานั้นไม่เหมาะกับพระราม น่าจะเป็นเมียทศกรรฐ์มากกว่า นางสีดาโกรธจึงว่า น้องชายของทศกรรฐ์ยังถูกพระรามฆ่าหมด แล้วทศกรรฐ์จะสู้พระรามได้อย่างไร ทศกรรฐ์โกรธกลับเป็นร่างเดิมแล้วอุ้มนางสีดาไป ฝ่ายนกสดายุคิดถึงพระนารายณ์ จึงบินไปเยี่ยม ระหว่างทางเห็นทศกรรฐ์ลักพานางสีดาไปก็โกรธ เข้าขัดขวางและต่อสู้กัน ทศกรรฐ์เกือบจะแพ้ สดายุได้พูดเย้ยเยาะว่าตนไม่กลัวใคร นอกจากพระอิศวรและพระนารายณ์ รวมทั้งแหวนของพระอิศวรที่นิ้วนางสีดา ทศกรรฐ์จึงถอดแหวนจากนิ้วนางสีดาขว้างไปถูกสดายุปีกหักตกลงพื้นดิน แล้วพานางสีดาไปไว้ที่สวนขวัญ และให้โอรสชื่อสหัสกุมาร เฝ้าไว้ ส่วนพระรามเมื่อฆ่ามารีสตาย ก็นำกวางกลับมาที่อาศรม ระหว่างทางพบพระลักษณ์ เมื่อกลับมาถึงอาศรม จึงพากันติดตามหานางสีดา พบสดายุ สดายุได้เล่าให้ฟัง พร้อมกับนำแหวนนางสีดามาถวายและได้สิ้นชีวิตลง ยักษ์ตนหนึ่งชื่ออสุรกุมพล ถูกพระอิศวรสาปมาทนทุกข์ทรมาน เป็นเวลาหกหมื่นปีแล้ว พบพระรามและลักษณ์ เมื่อรู้ว่าเป็นพระนารายณ์ จึงเล่าให้ฟังว่า ตนถูกพระอิศวรสาป เมื่อพบกับพระรามจึงจะพ้นคำสาป แล้วทูลว่า นางสีดาถูกทศกรรฐ์พาไปเมืองลงกาซึ่งอยู่ไกลมาก ต้องไปถามพระยาพาลีที่เมืองขีดขินและยังมีเมืองชมพู ซึ่งอยู่ใกล้กัน ทั้งสองเมืองนี้มีไพร่พลวานรมากมาย คงจะพาพระรามข้ามไปยังกรุงลงกาได้ พระรามได้แผลงศรพรหมาสตร์ถูกกุมพลตาย จึงพ้นคำสาป จากนั้น พระราม พระลักษณ์ เดินทางต่อไปถึงป่าแหน่งหนึ่ง หนุมานถวายตัว ฝ่ายหนุมานได้เที่ยวป่า จนถึงที่พระราม พระลักษณ์ พักผ่อน จึงแปลงเป็นลิงน้อย แกล้งรูดใบไม้โปรยลงมา พระลักษณ์โกรธจับศรจะตี หนุมานแย่งศรไป ความทราบถึงพระราม เห็นว่าคงไม่ใช่ลิงธรรมดา เพราะมีกุณฑล ขนเพชร เขี้ยวแก้ว เมื่อหนุมานรู้ว่าเป็นพระนารายณ์อวตารมา จึงเข้ามาสวามิภักดิ์ พระรามได้เล่าเรื่องที่นางสีดาถูกลักพาตัวมา หนุมานจึงทูลว่าจะไปพาสุครีพมาเฝ้า สุครีพจึงเล่าเรื่องที่พระยาพาลีพี่ชาย ขับไล่ออกจากเมือง แล้วผิดคำสาบานกับพระนารายณ์ในครั้งก่อน ทูลขอให้พระรามฆ่าพระยาพาลี พระรามจำได้ จึงให้สุครีพไปล่อพาลีออกมา สุครีพได้ไปท้าทายพระยาพาลี ทั้งสองได้ต่อสู้กัน แต่พระรามไม่สามารถแผลงศรฆ่าพระยาพาลีได้ เพราะทั้งสองเหมือนกันมาก พระยาพาลีสู้ชนะสุครีพ จับสุครีพขว้างไปเนินเขาจักรวาล แล้วกลับเข้าเมือง สุครีพต่อว่าพระรามที่ไม่ฆ่าพระยาพาลี พระรามจึงบอกว่ารูปร่างเหมือนกัน มองไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แล้วจึงฉีกชายผ้าให้สุครีพผูกแขนไว้ สุครีพจึงไปท้าพระยาพาลีใหม่ พระรามจึงยิงพระยาพาลีด้วยศรพรหมาสตร์ พระยาพาลีจับศรได้ แล้วถามพระรามว่าเรื่องรบนี้เป็นเรื่องระหว่างพี่น้อง ฤาษีไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว พระรามจึงบอกว่าพระยาพาลีได้ผิดคำสาบานกับพระอิศวรไว้ และต้องตายด้วยศรพระนารายณ์ แล้วพระรามจึงกลายร่างเป็นพระนารายณ์ พระยาพาลีจึงสำนึกตัวว่าได้ทำผิด จึงขอรับโทษ พระรามสงสารจึงว่าให้เอาศรสะกิดเลือดเพียงหยดเดียวก็จะสังเวยอำนาจศรได้ พระยาพาลีไม่ยอมขอลาตาย แล้วสอนสุครีพก่อนตาย " จงดูตัวอย่างพี่ผู้มีสัตย์ ไม่กำหนัดชีวันเท่าเกษา ไม่ควรตายจึงเสียดายดวงชีวา อันควรม้วยมรณาอย่าอาลัย " จากนั้นได้ปล่อยให้ศรปักตัวเองตาย ส่วนไพร่พลวานรได้หนีกระจัดกระจายไป สุครีพจึงทูลว่า จะรวบรวมให้ได้ภายในเจ็ดวัน เพื่อจะได้ไปปราบยักษ์ที่ลงกา ส่วนพระรามไม่ยอมพักในเมืองขีดขิน จะไปพักที่เชิงเขาคันธมาทน์ ระหว่างเดินทางพบ พระยายูงทอง พระยายูงทองจึงทูลว่า นางสีดาสั่งไว้ว่าถูกทศกรรฐ์ลักไปกรุงลงกา ขอให้ติดตามไปช่วย ต่อมาจึงพบฝูงลิงป่า ฝูงลิงป่าได้ถวายผ้าสไบของนางสีดาแก่พระราม ฝ่ายพระอินทร์เห็นพระรามและพระลักษณ์ เดินทางไปยังเขาคันธมาทน์ เพื่อชุมนุมกองทัพไปปราบยักษ์ จึงให้พระวิศณุกรรม์ไปเนรมิตพลับพลาที่บริเวณอันเป็นชัยภูมิ แล้ววางเครื่องทรงไว้ให้เปลี่ยนหลังจากลงเพศฤาษี สุครีพได้เกณฑ์ไพร่พลที่กระจัดกระจายไป ส่วนพระรามให้หนุมานนำสาสน์ไปเกลี้ยกล่อมท้าวชมพู แต่ไม่เป็นผล หนุมานจึงร่ายมนต์ ทำให้ท้าวชมพูหลับ แล้วอุ้มพาไปพบพระราม พระรามดีใจตรัสชมสุครีพ และแล้วลูบตัวหนุมานตั้งแต่หัวจนถึงหาง หนุมานจึงพ้นคำสาปของพระอุมา พระรามจัดทัพ ฝ่ายนิลพัท ได้ตามมาหาท้าวชมพู ท้าวชมพูจึงพาเข้าพบพระราม เมื่อท้าวชมพู และนิลพัท เข้าสวามิภักดิ์แล้ว จึงจัดทัพโดยมีนิลพัทเป็นจอมทัพ มารวมกับทัพของสุครีพ แล้วไปยังภูเขาคันธมาทน์ พร้อมด้วยสิบแปดมงกุฎทหารใหญ่ เพื่อเฝ้าพระราม ส่วนประคนธรรพ์ ที่อาศัยอยู่เชิงเขายุคนธร เหาะผ่านมารู้ว่าเหล่าวานรจะยกทัพไปรบเหล่าทัพกับพระราม ก็ดีใจให้นิลขันพาไปถวายตัวแก่พระราม สุครีพ หนุมาน องคต นิลพัท ชมพูพาน นิลนน โคมุท และทหารสิบแปดมงกุฎ ปรึกษากันแล้วทูลพระรามว่า กองทัพทั้งสองเมืองแม้จะมีกำลังเข้มแข็ง แต่หนทางไปกรุงลงกากันดารมาก อาจเกิดขัดสนในเรื่องเสบียงอาหารและอื่น ๆ ควรให้คนไปสืบข่าวก่อนจึงค่อยยกทัพไป พระรามเห็นชอบ จึงให้หนุมาน ชมพูพาน องคต นำข่าวไปแจ้งแก่นางสีดา แล้วมอบแหวนกับสไบ ให้หนุมานไปเป็นเครื่องยืนยันแก่นางสีดา ทั้งสามวานรได้พาไพร่พลเหาะไป และได้แวะพักผ่อนที่สระโบกขรณีแล้วหลับไป พบยักษ์ตนหนึ่งชื่อปักหลั่น ที่ถูกพระอินทร์สาปมาเฝ้าสระ จึงเข้าต่อสู้กัน เมื่อยักษ์รู้ว่าเป็นทหารของพระนารายณ์จึงยอมอ่อนน้อม องคตจึงสงสารช่วยยักษ์ปักหลั่นให้พ้นคำสาป ทั้งสามทหารได้เดินทางรอนแรมไป จนไปพบกับฤาษีชฎิล ฤาษีจึงบอกว่าให้เดินทางไปยังภูเขาเหมติวัน ซึ่งอยู่ริมฝั่งมหาสมุทรที่จะข้ามไปลงกา เมื่อสามทหารและไพร่พลเดิน ทางไปถึงภูเขาเหมติวัน พบกับพระยานกสัมพาทีซึ่งเป็นเพื่อนกับสดายุ จึงถามเรื่องราวของสดายุ หนุมานเล่าให้ฟังแล้วถามว่า ทำไมจึงไม่มีขน พระยานกสัมพาทีจึงเล่าให้ฟังว่า ตนเป็นพี่ชายของสดายุ วันหนึ่งสดายุเห็นพระอาทิตย์ นึกว่าผลไม้ จึงจะจับกิน ตนห้ามไม่ฟัง พระอาทิตย์จึงเปล่งแสงร้อนแรง ตนจึงไปช่วยจนขนหลุดหมด และพระอาทิตย์ก็ยังได้สาปตนให้อยู่ในถ้ำเหมติวัน และขนไม่งอกขึ้น จนกว่าจะพบกับทหารพระนารายณ์ คุมพลมาเพื่อจะข้ามไปลงกา แล้วเหล่าวานรได้โห่ขึ้นสามครั้ง ขนจึงจะงอกดังเดิม เมื่อพ้นคำสาปแล้ว จึงพาสามทหารขี่หลังบินไปจนถึงเขาคันธสิงขรแล้วชี้ว่าเกาะกลางสมุทรที่มีเขาสูงชื่อนิลกาฬนั้นคือกรุงลงกา หนุมานจึงให้ชมพูพานกับองคต ไปคุมทัพคอย ส่วนหนุมานจะไปเฝ้านางสีดา หนุมานเข้าลงกา ภายในมหาสมุทรรอบกรุงลงกานั้นมีผีเสื้อสมุทร ซึ่งทศกรรฐ์ได้สั่งให้รักษาด่านสมุทร เห็นหนุมานเหาะข้ามมา จึงเข้าขัดขวางแล้วเข้าสู้รบกัน ถูกหนุมานฆ่าตาย แล้วจึงเหาะไปพบเขาโสฬส คิดว่าเป็นเขานิลกาฬ พบกับฤาษีนารท ได้ลองภูมิกับฤาษี แต่แพ้ฤาษี ต่อมาหนุมานเหาะมาถึงเขานิลกาฬ พบกับยักษ์ที่เป็นตำแหน่งเสื้อเมือง หนุมานจึงฆ่ายักษ์เสื้อเมืองตาย แล้วเหาะเข้าเมืองลงกา ร่ายมนต์สะกดให้เหล่าพลยักษ์หลับ จึงเดินตรวจตราทุกปราสาท ไม่พบนางสีดา จึงกลับไปถามฤาษีนารท ฤาษีบอกว่า เคยได้ยินว่า ทศกรรฐ์ได้ลักพาเมียพระรามมาไว้ที่ในสวนขวัญ หนุมานลาพระฤาษี จึงเหาะกลับไปยังกรุงลงกา แล้วตรงไปยังอุทยานของทศกรรฐ์ จากนั้นได้แปลงกายเป็นลิงน้อย เมื่อไปถึงใต้ต้นโศกใหญ่ พบนางสีดา จึงร่ายเวทกำบังตัว เมื่อถึงเวลาค่ำจึงจะเข้าไปเฝ้านางสีดา หนุมานถวายแหวน ฝ่ายนางสีดานั้นถูกทศกรรฐ์จับขังไว้ในสวนนี้นานแล้ว และยังถูกนางกำนัลของทศกรรฐ์ด่าทอด้วยคำหยาบ จนเจ็บช้ำใจมาก พระรามก็ยังไม่มาช่วย จึงคิดผูกคอตาย หนุมานได้ช่วยไว้ทัน และกราบทูลให้ทราบถึงข่าวของพระราม แล้วถวายแหวนกับสไบแก่นาง นางสีดาไม่เชื่อ ด้วยแหวนและสไบนี้ตกอยู่กลางป่า ใครจะเก็บมาก็ได้ หนุมานจึงทูลความสัมพันธ์ระหว่างพระรามและสีดาที่เมืองมิถิลา นางสีดาจึงเชื่อ หนุมานจึงทูลนางสีดาว่า จะพากลับไปหาพระราม นางสีดาไม่ยอม ด้วยเห็นว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นยักษ์ลักมาลิงพาไปเป็นความอัปยศ จึงให้หนุมานไปทูลให้พระรามกรีฑาทัพมาฆ่าทศกรรฐ์ จะเหมาะสมกว่า หนุมานเผาลงกา หนุมานเมื่อทูลลานางสีดาแล้ว คิดว่าเมื่อเข้ามาเหยียบกรุงลงกาแล้ว ก็ควรจะได้ลองฤทธิ์กับเหล่ายักษ์ดูบ้าง จึงแผลงฤทธิ์ หักต้นไม้ในสวน สหัสกุมารเข้าต่อสู้ ถูกหนุมานฆ่าตาย ทศกรรฐ์รู้ข่าว จึงให้อินทชิตไปฆ่าหนุมาน อินทรชิตพบหนุมานต่อสู้กัน หนุมานแกล้งทำเป็นแพ้ อินทรชิตจึงให้ไพร่พลยักษ์เอาโซ่เหล็กมัดหนุมาน แล้วพาไปหาทศกรรฐ์ หนุมานได้สบัดโซ่ขาด เข้าต่อสู้กับไพร่พลยักษ์อีก แล้วแกล้งทำเป็นอ่อนแรง บอกทศกรรฐ์ว่าให้ฆ่าตนให้ตายจะได้ไม่ทรมาน ทศกรรฐ์ไม่รู้วิธีฆ่าหนุมาน จึงบอกให้ใช้ไฟฆ่าตน ทศกรรฐ์จึงให้เอาเชื้อไฟมาพันรอบตัวของหนุมาน แล้วจุดไฟด้วยหอกแก้วสุรกานต์หนุมานจึง กระโจนไปในปราสาท ใช้ไฟที่ลุกติดร่างกายอยู่ เที่ยวจุดไฟเผาไปทั่ว ทศกรรฐ์จึงรู้ว่าตนเสียรู้หนุมาน และไฟที่เกิดจากหอกไม่อาจดับได้ จึงต้องพาไพร่พลไปอยู่ที่ภูเขาสัตนา ส่วนหนุมานไม่สามารถดับไฟที่หางของตนได้ จึงไปพบฤาษีนารทเพื่อให้ช่วยดับ ฤาษีให้เอาหางมาอมใช้น้ำลายดับ จึงสามารถดับไฟได้ ฝ่ายทศกรรฐ์ได้ให้เสนายักษ์ไปอัญเชิญพระอินทร์ และเหล่าเทวดา ลงมาสร้างเมืองให้ตนใหม่ ฝ่ายสามทหารของพระรามที่ไปสืบเรื่องนางสีดา ได้ยกทัพกลับยังภูเขาคันธมาทน์ แล้วหนุมานได้เล่าเรื่องให้พระรามฟัง พระรามโกรธที่หนุมานทำเกินเหตุ โดยไปเผากรุงลงกา จึงจะลงโทษประหารชีวิต ไพร่พลวานรได้ขอว่า ควรจะยกเว้นโทษให้ครั้งหนึ่ง พระรามจึงยกโทษให้ ชมพูพานได้ทูลพระรามว่า ควรจะยกทัพไปยังเชิงเขาคันธกาลา ริมฝั่งมหาสมุทร ตรงข้ามเกาะลงกา พระรามเห็นด้วย ส่วนทศกรรฐ์ หลังจากที่สร้างเมืองใหม่แล้ว ก็คิดถึงแต่นางสีดา วันหนึ่งได้ฝันไปว่า มีพระยาแร้งขาวบินมาจากทิศตะวันออกถึงหน้าพระลาน แร้งสีดำบินจากทิศตะวันตก เกิดตีกัน แร้งดำตายกลายเป็นยักษ์ มีหญิงหนึ่งวิ่งมาจุดไฟ จนน้ำมันแห้งไส้มอด แต่ไฟกลับลุกไหม้กะลาลามมายังมือ มีพิษร้อนไปทั่วร่างกาย จึงขอให้พิเภกทำนายฝัน พิเภกทำนายว่า กะลาได้แก่กรุงลงกา เชื้อไส้ได้แก่ทศกรรฐ์ น้ำมันคือพระญาติพระวงศ์ เพลิงได้แก่นางสีดา หญิงที่จุดไฟคือนางสำมนักขา แร้งขาวคือพระราม แร้งดำคือทศกรรฐ์ และทศกรรฐ์จะได้รบกับพระราม กรุงลงกาจะเดือดร้อนไปทั่ว ทศกรรฐ์ได้ฟังก็กลัวว่าจะตายก่อนที่จะได้นางสีดาเป็นเมีย จึงให้พิเภกช่วยสะเดาะเคราะห์ให้ พิเภกจึงให้ทศกรรฐ์ตั้งมั่นอยู่ในศีลในสัตย์ และควรจะส่งนางสีดาคืนพระราม ทศกรรฐ์โกรธมาก จึงขับไล่พิเภกออกจากลงกา พิเภกถวายตัว พิเภกรู้ว่าดวงชะตาของตนจะต้องออกจากเมือง และพระนารายณ์จะเป็นผู้อุปถัมภ์ จึงเหาะไปหาพระราม พบกับสุครีพและได้พากันไปพบพระราม พระรามจึงรับพิเภกไว้ แล้วให้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา โดยเอาน้ำสรงศรพรหมาสตร์เป็นประธาน ต่อมาสุครีพกับพิเภกจึงตั้งสัตย์สาบานว่าจะเป็นเพื่อนกัน ฝ่ายพระรามเมื่อคิดว่าต่อไปจะทำสงครามกับยักษ์ จึงให้สุครีพพาเหล่าวานรไปประลองฝีมือที่ริมฝั่งมหาสมุทร เกิดเสียงดังกัมปนาท ทศกรรฐ์จึงให้สุกรสารออกไปสืบขณะบินไปถูกก้อนหินที่ลิงทุ่มกันไปมาตกลงมา จึงแปลงร่างเป็นลิงวิ่งปะปนไป พิเภกรู้ว่ามียักษ์ปลอมเป็นลิงมาจึงทูลพระราม พระรามให้หนุมานจับยักษ์ปลอมมา หนุมานจึงแปลงกายใหญ่เท่าเขาจักรวาล เอามือครอบไพร่พลลิงไว้ แล้วให้เดินเรียงออกมา หนุมานจึงจับสุกรสารได้ สักหน้าผากปล่อยกลับไปลงกา ทศกรรฐ์คิดว่าน่าจะเป็นเพราะพิเภกเป็นคนบอกความลับ ควรจะฆ่าให้ตาย เพื่อไม่ให้เป็นไส้ศึกในวันข้างหน้า จึงแปลงเป็นฤาษีไปที่หน้าพลับพลาของพระราม แล้วร่ายมนต์ผูกใจพิเภกไม่ให้พูดความจริง ฤาษีได้ไปอวยชัยให้พรแก่พระราม และยุยงพระรามว่า นางสีดาคงเสียทีแก่ทศกรรฐ์แล้ว รวมทั้งว่าทำไมทัพจึงมีทั้งยักษ์และลิงอยู่ปะปนกัน และพิเภกเป็นพี่น้องกับทศกรรฐ์ อาจเอาใจออกห่างได้ และพิเภกถูกอำนาจสะกดของทศกรรฐ์ พูดไม่ได้ ทศกรรฐ์เห็นว่าหากพระรามรู้ว่าแปลงกายมาจะต้องตายแน่ จึงกลับลงกา เบญจกายแปลง เมื่อทศกรรฐ์กลับถึงลงกาแล้ว คิดวิธีตัดศึกสงครามไม่ให้ลุกลามต่อไป จึงเรียกนางเบญจกายลูกของพิเภกเข้าเฝ้า แล้วสั่งให้แปลงเป็นสีดาตายลอยน้ำมา เพื่อลวงพระราม เมื่อพระรามกับพระลักษณ์ไปสรงน้ำ เห็นนางเบญจกายแปลง นอนตายอยู่ริมแม่น้ำก็เสียใจมาก แต่หนุมานทูลว่า นางนี้คงไม่ใช่นางสีดา เพราะศพยังดูสดชื่นไม่มีกลิ่น และยังลอยทวนน้ำมา สมควรได้นำศพนางวางบนกองไฟ พระรามเห็นด้วย นางเบญจกายแปลง ไม่อาจทนความร้อนได้ จึงเหาะหนี หนุมานตามไปจับมาได้ นำไปให้สุครีพซักถาม นางเบญจกายว่าที่แปลงมานี้เพราะอยากมาดูว่าพิเภกผู้เป็นพ่อตายหรือยัง สุครีพไม่เชื่อสั่งให้เฆี่ยนตี นางเบญจกายทนเจ็บปวดไม่ไหว จึงบอกความจริงว่า ทศกรรฐ์ได้ให้นางแปลงมาลวงพระราม พิเภกจึงทูลให้พระรามประหารชีวิตนางเสีย เพื่อคงไว้ซึ่งพระเกียรติยศของตน แต่พระรามเห็นแก่พิเภก ซึ่งเป็นผู้มีสัตย์ จึงให้นำนางเบญจกายส่งไปลงกา หนุมานได้พานางเบญจกายไปส่ง ระหว่างทางได้นางเบญจกายเป็นเมีย พระรามจองถนน ฝ่ายพระรามคิดจะปราบเหล่ายักษ์ให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว ชามพูวราช ได้ทูลว่า การที่พระรามจะข้ามไปลงกาด้วยฤทธิ์อำนาจที่เหล่าทหารขันอาสานั้นย่อมทำได้ แต่จะทำให้เสียพระเกียรติยศ ควรจะให้ไพร่พลนำเอาหินไปทิ้งเพื่อสร้างถนนในมหาสมุทร พระรามจึงสั่งให้สุครีพพาไพร่พลไปเร่งสร้างถนน โดยให้นิลพัทควบคุมไพร่พลเมืองชมพู หนุมานควบคุมไพร่พลเมืองขีดขิน นิลพัทนั้นแค้นหนุมานมาแต่เดิมแล้ว ได้โอกาสล้างแค้นจึงแสดงฤทธิ์ เอาเท้าคีบเขาหิมวันต์สองมือชูเขาคิรินทร เหาะมาแล้วบอกให้หนุมานคอยรับ นิลพัทจึงทิ้งภูเขาลงมาทั้งสองลูกหวังให้ถูกหนุมาน แต่หนุมานรับไว้ได้ จึงคิดแก้ลำบ้าง โดยไปหักยอดเขา และนำหินก้อนมหึมาผูกตามขน แล้วให้นิลพัทรับบ้าง นิลพัทเห็นจึงขอให้หนุมานโยนมาทีละก้อน หนุมานว่า ทีนิลพัทแกล้งทิ้งมาพร้อมกันหวังให้ตาย แล้วทิ้งหินทั้งหมดลง นิลพัทใช้มือและเท้ารับไว้ได้ หนุมานหาว่านิลพัทสบประมาทตน และได้ท้าวความถึงท้าวชมพูที่มีฤทธิ์มาก ตนยังจับมาได้ นับประสาอะไรกับนิลพัท นิลพัทโกรธท้าหนุมานต่อสู้ดังกึกก้อง พระรามได้ยินคิดว่าเหล่าลิงรบกับยักษ์ ให้พระลักษมณ์ไปดู แล้วจึงพาสุครีพ หนุมาน และนิลพัท เฝ้าพระราม พระรามโกรธ สุครีพจึงทูลแก่พระรามว่า ควรจะแยกทั้งคู่ให้ห่างกัน โดยให้หนุมานอยู่กับพระราม ส่วนนิลพัทให้กลับไปช่วยท้าวชมพูดูแลเมืองขีดขิน ทำหน้าที่ส่งเสบียงให้กองทัพเดือนละครั้ง ถ้าขาดราชการจะประหารเสีย ฝ่ายพระรามได้สั่งให้หนุมานจองถนนไปกรุงลงกาเสร็จภายในเจ็ดวัน หากไม่เสร็จจะประหารชีวิต กำเนิดมัจฉานุ ทศกรรฐ์รู้ข่าวการจองถนน คิดถึงภัยข้างหน้า จึงให้นางสุพรรณมัจฉาบุตรี นำเหล่าบริวารปลาขนหินไปทิ้งกลางทะเลลึกไม่ให้ถนนเสร็จได้ จนเป็นที่ผิดสังเกตของสุครีพว่า ทิ้งหินลงไปมาก แต่ยุบหายไปหมด ให้หนุมานลงไปดูก็พบนางสุพรรณมัจฉาและได้นางเป็นเมีย นางจึงช่วยขนหินกลับมาตามเดิม ถนนจึงเสร็จ ต่อมานางสุพรรณมัจฉาคลอดลูกเป็นมัจฉานุ ฝ่ายไมยราพที่ครองเมืองบาดาล ฝันว่ามีเทวดา นำแก้วใสสว่างมาให้ โหรทำนายว่าจะได้บุตรบุญธรรมผู้มีฤทธิ์ ต่อมาเทวดาดลใจให้ออกไปประพาสป่าพบมัจฉานุ จึงได้พามัจฉานุไปเลี้ยงไว้ที่เมืองบาดาล เมื่อถนนเสร็จ พระราม พระลักษมณ์ ก็นำทัพไปลงกา ทศกรรฐ์รู้ว่าพระรามยกทัพมา จึงสั่งให้ภานุราช ไปเนรมิตชัยภูมิที่เหมาะแก่การตั้งทัพ หากพระรามยกมาตั้งที่นั่น ก็ให้พลิกแผ่นดินเสีย ฝ่ายพระราม เมื่อถึงลงกา ได้ให้ประคนธรรพ์ดูเลตั้งทัพ เห็นป่าเนรมิตก็ชอบ พระรามสงสัยจึงถามพิเภก พิเภกทูลว่าที่กรุงลงกาไม่มีป่าอย่างนี้ น่าจะเป็นอุบาย พระรามให้หนุมานไปดู หนุมานดูแล้วก็รู้ว่าเป็นกลของยักษ์ เพราะในป่ามีผลไม้สุกแต่ไม่มีนก น่าจะมีศัตรูอยู่ใต้พื้นดิน จึงแทรกแผ่นดินไปพบภานุราช เอามือแบกแผ่นดินไว้ ได้ต่ดสู้กัน ถูกหนุมานฆ่าตาย พระรามโกรธ ไล่ประคนธรรพ์ไปเนื่องจากเสียรู้ข้าศึก องคตสื่อสาร ฝ่ายพิเภกได้ทูลว่า เขามรกต มีชัยภูมิเหมาะแก่การตั้งทัพ ด้วยไม่ใกล้ไม่ไกลจากเมืองลงกา และยังถูกต้องตามตำราพิชัยสงคราม แต่มียักษ์กุมภาสูรเฝ้าอยู่ พระรามให้หนุมานไปปราบ แล้วเคลื่อนทัพไปที่เขามรกต แล้วทรงปรึกษาพระยาวานรว่า ควรจะยกกำลังเข้ารบเหล่ายักษ์เลยหรือไม่ สุครีพและเหล่าวานรจึงทูกว่า น่าจะส่งทูตเข้าไปเจรจากับทศกรรฐ์ก่อน หากไม่ยอมส่งนาสีดามา จึงจะยกทัพเข้าโจมตี พระรามให้องคตผู้ซึ่งมีสติปัญญารอบคอบ และมีลิ้นการทูต ถือสาสน์ไปหาทศกรรฐ์ เมื่อไปถึงเมือง พลยักษ์ไม่ยอมเปิดประตูรับ องคตจึงร่ายเวทเนรมิตตนให้สูงใหญ่ เอามือปิดดวงอาทิตย์มืดครึ้มไปทั้งเมือง ทศกรรฐ์รู้ว่าเป็นลูกนางมณโฑกับพระยาพาลี แต่จะไม่ต้อนรับก็ไม่ได้ ขณะที่อยู่ต่อหน้าทศกรรฐ์ไม่ไหว้ แล้วม้วนหางให้สูงเท่ากับบัลลังก์ทศกรรฐ์ แล้วว่าพระรามให้ถือสาสน์มาให้ทศกรรฐ์คืนนางสีดา ทศกรรฐ์จึงว่า พระรามฆ่าพ่อตายยังไปเป็นข้ารับใช้ องคตจึงกล่าววาจายอกย้อนเกี่ยวกับเรื่องในอดีต ทศกรรฐ์โกรธให้เหล่ายักษ์จับองคต แต่ถูกองคตฆ่าตาย แล้วจึงเหาะกลับมาหาพระราม สุครีพหักฉัตร ทศกรรฐ์แค้นใจมากที่องคตฆ่าเสนาตาย และยังกล่าวประจานตนไว้มาก จะติดตามฆ่าก็ทำไม่ได้ เพราะไพร่พลวานรมีมากมาย จึงให้ยกฉัตรขึ้นบังดวงอาทิตย์ ทำให้เมืองลงกามืดมิด จะได้ฆ่าพลวานรได้สะดวก ส่วนพระรามได้ยินเสียงไพร่พลวานรร้องกันอื้ออึง ทั้งยังมืดมิดก็แปลกใจ ถามพิเภกจึงรู้ว่า เป็นเพราะทศกรรฐ์ยกฉัตรขึ้นบังแสงอาทิตย์ ฝ่ายพระรามมองไม่เห็น แต่ฝ่ายทศกรรฐ์มองเห็น พระรามจึงให้สุครีพไปหักฉัตร พร้อมกับเอามงกุฎของทศกรรฐ์กลับมาถวายพระราม ศึกไมยราพ ฝ่ายทศกรฐ์อับอายและแค้นใจมาก คิดจะให้ไปลอบฆ่าพระรามและพระลักษมณ์เสีย จะได้ไม่ต้องยกทัพไปรบ เปาวนาสูร จึงทูลว่า ควรไปเชิญไมยราพซึ่งชำนาญในการล่องหนหายตัวและมีมนต์สะกด มาช่วยให้เข้าไปลอบฆ่าทศกรรฐ์ให้ได้ นนยวิกวายุเวก ไปเชิญไมยราพมาช่วย ไมยราพได้มาเฝ้าทศกรรฐ์ที่ลงกา แล้วรับปากกับทศกรรฐ์ว่าจะไปฆ่าพระรามและพระลักษมณ์ ให้ ไมยราพได้ตั้งพิธีหุงยาขึ้นที่เขาสุรกานต์ ได้ยาที่มีคุณลักษณะเป็นสัตว์ร้ายชนิดต่าง ๆ หากเอายาทาทั่งร่างกายก็จะหายตัวได้ ต่อมาไมยราพได้ฝัน เมื่อโหรทำนายว่า ไวยวิกผู้เป็นญาติจะได้ครองเมืองบาดาล ไมยราพจึงให้ขังไวยวิกและนางพิรากวนผู้เป็นแม่ไวยวิกไว้ เมื่อเสร็จศึกก็จะกลับมาฆ่า ส่วนพระรามก็ฝันเช่นเดียวกัน พิเภกทำนายว่าพระรามจะถูกไมยราพหลานทศกรรฐ์ ลักพาไปยังเมืองบาดาล แต่จะไม่ได้รับอันตราย หนุมานจึงขออาสาป้องกันด้วยการมายืนกลางกองทัพ แปลงกายให้ใหญ่เท่าเขาจักรวาล หยั่งลึกลงถึงพื้นมหาสมุทร ใช้หางพันไว้เป็นปราการล้อมกองทัพไว้ แล้วอมพลับพลาพระราม และพระลักษมณ์อยู่ที่อก ใช้ปากเป็นช่องประตู ลิ้นเป็นบานประตู บรรดาทหารเอกก็แบ่งหน้าที่กันรักษาพระราม ไมยราพสะกดทัพ ตกกลางคืนไมยราพได้ชำแรกดินขึ้นมา เห็นปราการสูงใหญ่จากใต้ดินจนถึงพรหมชั้นสิบหก กั้นพลับพลาของพระราม พระลักษมณ์อยู่ เข้าไปไม่ได้ จึงแปลงเป็นลิงปะปนอยู่กับยาม รู้ว่าพลลิงจะเลิกอยู่เวรยามเมื่อพ้นยามราตรี ไมยราพได้ฟังเหาะไปยอดเขาโสลาสแกว่งกล้องแก้วโกมินทร์ เกิดเป็นแสงคล้ายดาวประกายพฤกษ์ เหล่ายามคิดว่าเป็นดาวประกายพฤกษ์จริง ได้ร้องบอกกันว่าเคราะห์ของพระรามหมดสิ้นแล้ว และแยกย้ายไปนอนหลับ ไมยราพได้เอายาสะกดใส่กล้องแก้วเป่าไปถูกเหล่าวานรจนหลับทั้งกองทัพ แล้วเดินเข้าปากหนุมานเป่ายาอีกเป็นครั้งที่สอง ทำให้สุครีพกับหนุมานหลับ ไมยราพเข้าไปถึง พลับพลาได้เป่ายาอีก ทำให้พิเภก พระราม พระลักษมณ์หลับ จึงอุ้มพระรามไปบาดาล สั่งให้พลยักษ์ต้มน้ำทิ้งไว้ รุ่งเช้าจะต้มไวยวิก นางพิรากวน และพระราม ในคราวเดียวกัน หลังจากที่ไมยราพลักพาพระรามไปแล้ว มนต์สะกดก็เสื่อม พิเภกบอกพระลักษมณ์ว่าเป็นการกระทำของไมยราพ พระลักษมณ์สั่งให้นุมานไปตาม หนุมานหักด่านชั้นนอกเข้าไปได้ จนพบกับมัจฉานุซึ่งรักษาด่านชั้นใน ได้เกิดต่อสู้กัน ต่อมาหนุมานรู้ว่ามัจฉานุคือลูก แต่มัจฉานุไม่เชื่อบอกว่าต้องหาวเป็นดาวเป็นเดือนให้ดู หนุมานหาวให้ดู มัจฉานุจึงขอขมาหนุมาน แต่ไม่ต้องการอกตัญญูต่อไมยราพ จึงเพียงบอกใบ้ทางให้ หนุมานหักก้านบัวแล้วลอดลงไป พบนางพิรากวน นางบอกที่ซ่อนของพระราม แต่ว่าถึงจะมีร่างกายเล็กเท่าแมลงก็ยากจะรอดสายตาเหล่ายักษ์ หนุมานแปลงเป็นใยบัวติดสายสไบนางพิรากวน จนมาถึงดงตาลท้ายเมืองที่คุมขังพระราม จึงอุ้มพระรามไปยังเขาสุรกานต์ แล้วกลับมาบาดาล ได้ต่อสู้กับไมยราพ แต่ไม่อาจฆ่าไมยราพได้ นางพิรากวนจึงบอกว่า ที่ไมยราพไม่ตายนั้นเพราะได้ถอดดวงใจเป็นแมลงภู่ซ่อนไว้ที่ยอดเขาตรีกูฏ หนุมานจึงแปลงกายใหญ่เท่าเขาพระสุเมร แล้วเอื้อมมือไปจับแมลงภู่บีบขยี้จนไมยราพตาย จากนั้นกลับมาอุ้มพระรามพากลับไปยังพลับพลาเขามรกต เมื่อสร่างมนต์สะกดได้รู้เรื่องราว จึงมอบธำมรงค์นพรัตน์ให้หนุมาน กุมภกรรณออกศึก ฝ่ายกุมภกรรณ น้องชายทศกรรฐ์ ซึ่งเป็นผู้มีทศพิธราชธรรม เมื่อทศกรรฐ์เรียกมาปรึกษาว่าจะให้กุมภกรรณไปรบกับพระราม เพราะมีหอกโมกขศักดิ์ กุมภกรรณทูลว่า ต้นเหตุแห่งสงครามนั้นเกิดจากนำนางสีดามา หากคืนไป สงครามก็จะสงบ ทศกรรฐ์โกรธ กุมภกรรณจึงจำใจต้องยกทัพไปรบกับพระราม พระรามให้พิเภกไปเจรจาให้กุมภกรรณยกทัพกลับไป กุมภกรรณไม่เชื่อว่าพระรามเป็นพระนารายณ์อวตาร พิเภกจึงกลับมาทูลพระราม พระรามให้องคตไปเจรจากับกุมภกรรณอีก แต่ไม่ได้ผล พระรามจึงให้สุครีพออกไปรบ กุมภกรรณจึงออกอุบายให้สุครีพไปถอนต้นรังใหญ่ที่อุดรทวีป จนหมดแรง เมื่อสุครีพถอนต้นรังมา ก็ได้กลับมารบกับกุมภกรรณต่อ จึงเสียทีถูกกุมภกรรณจับได้พากลับไปลงกา พระรามรู้ข่าวจึงให้หนุมานไปช่วย กุมภกรรณแพ้หนีกลับเข้าเมือง การที่สุครีพเสียรู้จนเสียทีแก่กุมภกรรณ ทำให้พระรามโกรธมาก แต่ด้วยมีความดีความชอบมาก่อน จึงยกโทษให้พร้อมทั้งชมเชยหนุมาน ฝ่ายทศกรรฐ์รู้ว่ากุมภกรรณแพ้ จึงปลอบโยนให้หาวิธีใหม่ กุมภกรรณได้ขึ้นไปเอาหอกโมขศักดิ์ที่ชั้นพรหม กลับมาทำพิธีลับหอกที่ริมแม่น้ำสีทันดร เชิงเขาพระสุเมรุ และให้เหล่าเสนายักษ์คอยเฝ้า ไม่ให้สิ่งเน่าเหม็นเข้ามาใกล้บริเวณโรงพิธี เพราะกุมภกรรณเกลียดความสกปรก หากเมื่อใด ลับหอกคมทั้งสี่ด้าน ก็จะเป็นหอกที่มีฤทธิ์มากดังไฟกรด พระรามเมื่อรู้ข่าว ก็ให้หนุมานแปลงเป็นหมาเน่าลอยน้ำ องคตแปลงเป็นกา ไปทำลายพิธี กุมภกรรณลับหอกอยู่เห็นเข้าจึงเลิกลับหอก กลับเข้ากรุงลงกาไป ทศกรรฐ์จึงว่า แม่น้ำสีทันดรนั้นอยู่ไกลจากเหล่ามนุษย์ และเป็นที่อยู่ของพญานาค แต่มีหมาเน่าลอยน้ำมา น่าจะเป็นแผนของพิเภกที่บอกพระรามให้มาล้างพิธี อย่างไรก็ตามหอกโมกขศักดิ์นั้นมีฤทธิ์มากอยู่แล้ว จึงให้กุมภกรรณออกไปรบอีกครั้ง ส่วนพระรามให้พระลักษมณ์ออกไปรบกับกุมภกรรณต้องหอกโมกขศักดิ์สลบไป สุครีพจึงให้นิลนนท์ไปเชิญพระรามมาดู พระรามเสียใจมาก พิเภกทูลว่าพระลักษมณ์ยังไม่ตาย แต่ที่ดึงหอก โมกขศักดิ์ไม่หลุดก็เพราะเป็นพรของพระพรหม ซึ่งมียาแก้ โดยต้องเอาต้นยาสังกรณี ตรีชวา ที่เขาสรรพยา กับน้ำที่ ปัญจมหานที มาทาที่แผล หอกก็จะหลุด และต้องไม่ให้พ้นคืนนี้ หากดวงอาทิตย์ขึ้นก็จะตาย พระรามสั่งให้หนุมานไปหยุดรถพระอาทิตย์ไว้ แล้วรีบไปเก็บยา ฝ่ายพระอาทิตย์เมื่อเห็นหนุมานมาหยุดรถก็โกรธ แต่เมื่อรู้เรื่องราวแล้วจึงบอกว่า จะห้ามวิถีจักรราศีนั้นไม่ได้ เพียงจะหลบเดินรถเข้ากลีบเมฆให้ ส่วนหนุมานนั้นจะต้องรีบไปเอายา และน้ำที่ปัญจมหานทีที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อนำยาไปทาที่แผล หอกจึงหลุดออก ส่วนเสนายักษ์ที่คอยเฝ้าดูอยู่ เห็นพระลักษมณ์ฟื้นขึ้น จึงไปทูลทศกรรฐ์ กุมภกรรณจึงว่า หากใครโดนหอกโมกขศักดิ์ยากที่จะรอดชีวิต แต่พิเภกคงแก้กลให้พระลักษมณ์ ควรหาวิธีทำลายทัพพระรามให้อดน้ำตาย แล้วได้ไปตั้งพิธีทดน้ำไม่ให้ไหลไปที่เขามรกต โดยเนรมิตกายใหญ่นอนทอดขวางแม่น้ำไว้ ฝ่ายเหล่าเสนาลิงเห็นน้ำในแม่น้ำแห้ง ไปทูลพระราม พิเภกบอกว่าเป็นเพราะกุมภกรรณไปตั้งพิธีทดน้ำ ครบเจ็ดวันไพร่พลลิงจะได้อดน้ำตายหมด พระรามให้หนุมานไปทำลายพิธีตามคำแนะนำของพิเภกได้สำเร็จ ต่อมาทศกรรฐ์ได้ให้กุมภกรรณยกทัพมารบอีก แล้วให้ฆ่าพิเภกเสียในคราวเดียวกัน พระรามออกไปรบกับกุมภกรรณ กุมภกรรณต้องศรพรหมมาสตร์ตาย อินทรชิตออกศึก ทศกรรฐ์เมื่อรู้ว่ากุมภกรรณตาย เสียใจ และโกรธแค้นมาก สั่งให้อินทรชิตไปแก้แค้นแทนอา พระรามให้พระลักษมณ์ไปรบ ไม่แพ้ไม่ชนะ อินทชิต บอกว่าให้พระลักษมณ์มารบกันใหม่ในวันรุ่งขึ้น ฝ่ายอินทชิตเมื่อกลับเข้าลงกาแล้ว คิดว่าศัตรูมีกำลังกล้าแข็งมาก ทูลทศกรรฐ์ว่าจะไปทำพิธีชุบศรนาคบาศที่เขาอากาศ โดยให้ฝูงนาคมาคายพิษลงบนศร เป็นเวลาเจ็ดวัน จึงจะเสร็จพิธี ระหว่างที่อินทชิตไปทำพิธีชุบศร ทศกรรฐ์ให้มังกรกัณฐ์โอรสพระยาขรผู้เป็นหลาน ไปรบขัดตาทัพไว้ก่อน พระรามได้ออกไปรบ ถูกมังกรกัณฐ์ยิงศรทะลุเกราะเพชร พระรามจึงแผลงศรไปถูกศรของมักกรกัณฐ์หัก และถูกเหล่ายักษ์ตายลงเป็นจำนวนมาก มังกรกัณฐ์จึงหนีไปซ่อนในกลีบเมฆ และเนรมิตรูปมายาปั้นรูปของตนขึ้นมากมาย พร้อมกับบันดาลให้ฝนเพลิงตกลงมา พิเภกบอกวิธีสังหารมังกรกัณฐ์ พระรามได้แผลงศรพรหมมาสตร์ไปสังหารตัวจริงตาย รูปมายาก็หายไปหมด สารัณทูต จึงกลับไปบอกทศกรรณ์ ทศกรรฐ์ได้ให้วิรุญมุข ลูกวิรุญจำบัง ยกทัพไปขัดตาทัพอีก ต่อมาพระรามรู้ว่าอินทรชิตไม่ยกทัพมา เพราะไป ตั้งพิธีชุบศรนาคบาศในโพรงไม้โรทันที่เขาอากาศ ก็ให้ชามพูวราช แปลงเป็นหมีไปกัดไม้ที่อาศัยทำพิธีให้หักโค่นลง การเรียกพิษนาคจึงไม่ต่อเนื่อง อำนาจจึงเสื่อม ฝ่ายอินทรชิตเมื่อเสียพิธีแล้ว จึงไปยังเขามรกต ไปสมทบกับทัพวิรุญมุข พระรามได้ให้พระลักษมณ์ออกไปรบอีก แต่ถูกศรนาคบาศของอินทรชิต พิเภกกลับมาบอกพระรามว่า พระลักษมณ์ต้องศรนาคบาศแต่ยังไม่ตาย ให้พระรามแผลงศรพลายวาตไปเรียกพระยาครุฑมา เหล่าพญานาคก็จะหนีไป พระลักษมณ์และไพร่พลลิงก็จะฟื้น หนุมานหักคอช้างเอราวัณ เหล่ายักษ์เห็นพระลักษมณ์และไพร่พลลิงฟื้นขึ้น กลับมาทูลทศกรรฐ์ อินทรชิตจึงบอกว่า ที่ศรนาคบาศใช้ไม่ได้ผล ก็เพราะพิเภกบอกแก้กล คราวนี้จะไปชุบศรพรหมมาสตร์ที่ริมหาดมณีมรกต ได้ลาทศกรรฐ์ไปทำพิธีชุบศร โดยให้กำปั่นไปขัดตาทัพ ถูกหนุมานฆ่าตาย เมื่ออินทรชิตกลับมารบใหม่ ได้แปลงตัวเป็นพระอินทร์ เหล่ายักษ์แปลงเป็นเทวดา การุณราชแปลงเป็นช้างเอราวัณ เดินทัพมา ฝ่ายพระลักษมณ์และเหล่าไพร่พลลิง เห็นพระอินทร์ขี่ช้างเอราวัณและเหล่าเทวดาเหาะอยู่บนอากาศ ก็พากันดูอย่างสงสัย อินทรชิตเห็นพระลักษมณ์และไพร่พลเผลอ ได้แผลงศรพรหมมาสตร์ลงมา ถูกพระลักษมณ์ องคต สุครีพ สิบแปดมงกุฎล้มลง เหลือเพียงหนุมาน หนุมานโกรธได้เหาะขึ้นไปหักคอช้างเอราวัณ แต่ถูกตีด้วยศรตกลง มาสลบ ฝ่ายพระรามเห็นค่ำแล้ว พระลักษมณ์และไพร่พลยังไม่กลับมา ออกไปตาม เห็นทุกคนตายกันหมด เสียใจมากจนสลบไป สารัณทุตที่คอยสังเกตการณ์ ได้กลับไปทูลทศกรรฐ์ ทศกรรฐ์ไปบอกนางสีดาว่า พระรามตายแล้ว นางสีดาเสียใจมาก แต่นางตรีชฎาเมียพิเภกที่เป็นข้ารับใช้อยู่บอกว่าอย่างเพิ่งเชื่อ ทศกรรฐ์จึงให้เสนาจัดบุษบกแก้วพานางสีดาไปดูศพ เมื่อมาถึงนางสีดาจึงเสี่ยงทายด้วยการขึ้นบุษบก บุษบกแก้วลอยขึ้น นางสีดาจึงรู้ว่าพระรามยังไม่ตาย จึงกลับไปสวนขวัญ ฝ่ายพิเภกกับพลลิงกลับจากไปหาผลไม้ไม่พบพระราม รู้ข่าวจากเสนาลิงจึงตามไปที่สนามรบ เห็นหนุมานรู้ว่าไม่ตาย ได้ร่ายเวทเป่าลมเข้าปากจนหนุมานฟื้น แล้วไปตามหาพระราม พิเภกทูลพระรามว่า ยาแก้ศรพรหมมาสตร์อยู่ที่เขาอาวุธบุพพวิเท่ห์ทวีป แต่มีจักรกรดพัดไม่หยุด ใครเข้าไปต้องตาย หากหนุมานไปเอา จักรจะหยุดตามที่พระอิศวรกำหนดไว้ หนุมานเหาะไปถึง และแจ้งเรื่องราวแก่เทวดา แต่เนื่องจากต้นยานั้น ตัดหรือถอนไม่ได้ตามคำสั่งของพระอิศวร หนุมานจึงช้อนเขาเหาะกลับมา เทวดาจึงบอกให้ไปวางไว้ทิศอุดร หนุมานทำตามคำสั่ง พอลมพัดพากลิ่นสรรพยาบนยอดเขามาถูกพระลักษมณ์และไพร่พลลิงทุกคนก็จะฟื้นขึ้น ฝ่ายอินทรชิตทูลทศกรรฐ์ว่า ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวง พระลักษมณ์ถูกฆ่าถึงสองครั้ง ก็ยังฟื้นขึ้นมาได้ แต่ยังมีตำราศักดิ์สิทธิ์ ชื่อกุมภนิยา ทำได้เจ็ดวันตัวจะเป็นกายสิทธิ์ ฆ่าไม่ตาย โดยทำเป็นกลลวงให้ สุขาจารแปลงเป็นนางสีดาไปด้วยในสนามรบ แล้วให้ตัดคอนางเสีย ต่อกจากนั้นก็ทำทีว่าจะไปตีศรีอยุธยา แต่กลับอ้อมไปทำพิธี เมื่อถึงสนามรบอินทรชิตบอกพระลักษมณ์ให้มารับนางสีดา หากไม่มารับจะฆ่านาง พระลักษมณ์บอกให้อินทรชิตนำนางไปถวายพระรามเอง อินทรชิตจึงฆ่านาง แล้วทำทีเหาะไปยังกรุงศรีอยุธยา พระลักษมณ์คิดว่านางสีดาตายก็เสียใจ กลับไปบอกพระราม พิเภกจับยามดูแล้วทูลว่า นางที่ตายเป็นยักษ์แปลง และอินทรชิตจะไปทำพิธี กุมภนิยา หากครบเจ็ดวันจะฆ่าไม่ตาย ต้องล้างพิธีก่อน แล้วอินทรชิตจะตายด้วยพระลักษมณ์ พระรามให้พระลักษมณ์พร้อมพิเภกคุมกองทัพไปทำลายพิธีอินทรชิตที่เนินเขาจักรวาล เกิดการต่อสู้กัน อินทรชิตแพ้ ขว้างจักรเมฆสูร เกิดหมอกควันบังแสงอาทิตย์แล้วหนีกลับไปกรุงลงกา รุ่งขึ้นอิทนรชิตได้ยกทัพออกมารบอีก ต้องศรพลายวาตของพระลักษมณ์ ก่อนที่พระลักษมณ์จะแผลงศรพรหมมาสตร์ฆ่าอินทรชิต พิเภกทูลว่า อินทรชิตนั้นได้พรจากพระว่า หากสิ้นชีวิตเศียรตกลงดิน จะเกิดเป็นไฟบัลลัยกัลป์ไหม้ทั่วจักรวาล ต้องเอาพานแว่นฟ้าของพระพรหมมารับ พระลักษมณ์จึงให้องคตไปขอพาน แว่นฟ้าจากพระพรหม เมื่อได้พานแล้ว พระลักษมณ์แผลงศรพรหมมาสตร์ตัดเศียรอินทรชิตขาด องคตเอาพานเข้าไปรองรับ ส่วนพระรามให้เอาพานใส่เศียรอินทรชิตไปชูไว้กลางอากาศ แล้วแผลงศรพรหมมาสตร์ทำลายเศียรนั้น ทศกรรฐ์โกรธมากที่พระลักษมณ์ฆ่าอินทรชิตตาย จะไปฆ่านางสีดาที่สวนขวัญ แต่เปาวนาสูรทัดทานไว้ รุ่งขึ้นทศกรรฐ์จึงยกทัพไปรบกับพระราม พระรามสั่งให้สุครีพจัดทัพให้เข้มแข็งกว่าทุกครั้ง ส่วนพระอินทร์ให้พระวิศณุกรรมนำเวชยันต์ราชรถพร้อมม้าเทพบุตรแปลงสองพันตัวมาถวาย ฝ่ายทศกรรฐ์เสียสิบขุนทหารเอกกับสิบรถ โอรสของทศกรรฐ์ ในการรบครั้งนี้ทศกรรฐ์จึงบอกให้มารบกันใหม่วันรุ่งขึ้น ศึกมูลพลัมและสหัสเดชะ ฝ่ายทศกรรฐ์คิดขึ้นได้ว่า ควรจะให้มูลพลัม น้องชายของสหัสเดชะเจ้าเมืองปางตาลมาช่วยรบ จึงให้เปาวนาสูรถือสาสน์ไป มูลพลัมและสหัสเดชะรู้เรื่อง มาช่วยรบ ขณะยกทัพออกจากเมื่องเกิดลางร้าย ฟ้าผ่าถูกรถทรงทศกรรฐ์ มูลพลัมจึงให้ทศกรรฐ์กลับเข้าเมืองก่อน ส่วนตนและพี่ชายจะไปรบกับพระรามแทน พิเภกทูลพระรามว่ามูลพลัมและสหัสเดชะมีฤทธิ์มาก หนุมานคงสู้ไม่ได้ ให้พระรามออกไปรบเอง เมื่อพระราม และพระลักษมณ์คุมทัพออกไปรบ แต่ด้วยสหัสเดชะได้รับพรพระพรหมว่า หากเข้าต่อสู้กับศัตรูใด ศัตรูนั้นก็จะต้องเกรงกลัว ทำให้ไพร่พลลิงหนีไป พระรามจึงให้พระลักษมณ์ สุครีพหนุมาน และสิบแปดมงกุฎ กลับไปตามไพร่พลลิงมา ส่วนสหัสเดชะเห็นแต่พระรามและพิเภก จึงคิดว่าศัตรูมีกำลังเท่านี้ ทำไมทศกรรฐ์จึงปราบ ไม่ได้ ต้องเดือดร้อนถึงตน แล้วมาลวงว่าเป็นศึกใหญ่ จึงกลับไปยังลงกา คงเหลือแต่มูลพลัม ต่อมามูลพลัมต้องศรพลายวาตของพระลักษมณ์ตาย พิเภกทูกพระรามว่า หากสหัสเดชะรู้ว่ามูลพลัมตาย คงยกทัพมาแก้แค้น และสหัสเดชะนั้นมีฤทธิ์ด้วยกระบองวิเศษ เอาโคนชี้ถูกใครจะตาย เอาปลายชี้จะกลับฟื้นขึ้น ควรให้หนุมานไปเอากระบองวิเศษมา หนุมานแปลงเป็นลิงเผือกตัวเล็ก ไปคอยทัพสหัสเดชะ เมื่อเห็นทัพสหัสเดชะ แล้วทำเป็นวิ่งผ่าน สหัสเดชะโกรธ แต่หนุมานบอกว่า ตนเป็นข้ารับใช้พระยาพาลีที่เมืองขีดขิน ซึ่งถูกพระรามฆ่าตาย แล้วเอาตนมาใช้สอยตรากตรำข่มเหงจึงหนีมา กลัวถูกตามฆ่า จึงวิ่งผ่านหน้ามา สหัสเดชะเชื่อ จึงให้มานั่งหน้ารถด้วย หนุมานขอไปนั่งหลังรถ แล้วร้องให้บอกสหัสเดชะว่า ตนคิดถึงญาติพี่น้องที่จะต้องมาตาย สหัสเดชะจึงบอกไม่ให้ไพร่พลฆ่าญาติของหนุมานตามที่กล่าวมา จากนั้นหนุมานจึงขออาวุธไว้ต่อสู้ สหัสเดชะจึงมอบกระบองไห้ไว้ เมื่อได้อาวุธแล้วหนุมานได้กลายร่างเดิม สหัสเดชะรู้ว่าหลงกลก็โกรธ ประนามหนุมาน หนุมานจึงย้อนว่า " อันธรรมดาสงครามนั้นจะหาความสัตย์ได้ที่ไหน ใครมีอุบายเล่ห์กลก็จะนำมาใช้เพื่อให้ได้ชัยชนะ " เข้าต่อสู้กับหนุมาน แพ้ถูกหนุมานเอาหางมัดตัวไว้ ต่อมาหนุมานใช้ตรีเพชรตัดหัวขาดตาย ศึกแสงอาทิตย์ รุ่งขึ้นทศกรรฐ์ให้แสงอาทิตย์ลูกพระยาขร ที่มีแว่นแก้วสุรกานต์ส่องผู้ใดต้องตาย ยกทัพไปรบพร้อมกับจิตรไพรีผู้เป็นพี่เลี้ยง แต่แว่นนั้นอยู่ที่พระพรหม พิเภกทูลพระรามว่า เมื่อแสงอาทิตย์มารบก็จะให้จิตรไพรีขึ้นไปเอาแว่น พระรามได้ให้องคตแปลงเป็นจิตรไพรีไปเอาแว่นมา เมื่อแสงอาทิตย์รบกับพระราม เพลี่ยงพล้ำคิดว่า อาวุธทั้งหลายคงใช้ไม่ได้ ให้จิตรไพรีขึ้นไปเอาแว่นวิเศษจากพระพรหม พระพรหมว่ามาเอาไปแล้ว เหตุใดจึงขึ้นมาเอาอีก จิตไพรีกลับมาบอก แสงอาทิตย์รู้ว่าเสียทีแก่ศัตรู ภายหลังต้องศรพรหมมาสตร์ของพระรามตาย ทศกรรฐ์เกิดความมานะขึ้นว่า ตนก็มีฤทธิ์ปราบได้ถึงสวรรค์จะคอยพึ่งแต่ญาติก็อดสูใจ จึงยกทัพไปรบกับพระราม ไม่แพ้ไม่ชนะ เมื่อกลับเข้ากรุงลงกาแล้วก็คิดว่า แม้ว่าตนจะยกทัพไปรบกับพระรามเป็นครั้งที่สอง จนญาติวงศ์ยักษ์ที่อาสาการศึกตายไปเป็นจำนวนมาก แต่เอาชนะศัตรูไม่ได้ก็ท้อใจ นางมณโฑทูลให้ ท้าวสัตลุง และตรีเมฆลูกพระยาตรีเศียรไปรบ ท้าวสัตลุงถูกฆ่าตาย ส่วนตรีเมฆหนีไปบาดาล แต่พระยากาลนาคไม่ยอมให้อยู่ที่บาดาล ให้ไปอยู่ที่ท้องสมุทรเนินเขาจักรวาล โดยซ่อนอยู่ในเม็ดทราย ทศกรรฐ์ทำพิธีอุโมงค์ พระรามให้หนุมานตามไปฆ่าตรีเมฆ ทศกรรฐ์เสียใจมาก นางมณโฑทูลให้ทศกรรฐ์ส่งนางสีดาคืน ทศกรรฐ์ไม่ยอม รุ่งขึ้นทศกรรฐ์ได้ให้เปาวนาสูรขุดอุโมงค์ใต้เขานิลกาฬ เพื่อทำพิธีชุบตัว ขณะทำพิธีให้เอาหินปิดปากอุโมงค์ และเอาทรายกลบไว้ เมื่อครบเจ็ดวันจึงค่อยเปิดปากอุโมงค์ ฝ่ายพระรามไม่เห็นยักษ์ยกทัพมา และรู้ว่าทศกรรฐ์ชุบตัวให้เป็นเพชรอยู่ยงคงกระพัน เอานิ้วชี้ใครต้องตาย ก็ให้สุครีพ หนุมาน นิลนน ไปทำลายพิธี เมื่อมาถึงอุโมงค์ไม่สามารถเปิดอุโมงค์ได้ กลับไปถามพิเภก พิเภกให้เอาน้ำล้างเท้าสตรีมาราด หนุมานไปหานางเบญจกาย เพื่อเอาน้ำล้างเท้าราดเปิดปากอุโมงค์ได้ ทศกรรฐ์ตกใจลืมตาขึ้นรู้ว่าถูกทำลายพิธี แต่ทศกรรฐ์สะกดใจไม่โกรธตอบ ทำพิธีต่อ หนุมานจึงไปอุ้มนางมณโฑมา แล้วแกล้งเย้าหยอกต่อหน้าทศกรรฐ์ ทศกรรฐ์ตบะแตกเลิกพิธี สามวานรก็เหาะกลับไปเขามรกต ศึกสัทธาสูร และวิรุญจำบัง ทศกรรฐ์ให้สัทธาสูรและวิรุญจำบัง ลูกพระยาทูษณ์ไปรบ หนุมานออกอุบายให้การขออาวุธจากเทวดาของสัทธาสูรไม่เป็นผล ผลที่สุดสัทธาสูรถูกหนุมานฆ่าตาย ส่วนวิรุญจำบังสู้ไม่ได้ จึงทำอุบายเพื่อจะหนี ได้เอาผ้ามาทำเป็นพยนต์ขี่ม้ามาต่อสู้แทนและตนหนี ต่อมาพระรามรู้ว่าวิรุญจำบังที่รบอยู่ไม่ใช่ตัวจริง ก็แผลงศรพาลจันทร์เป็นข่ายเพชรล้อมผ้าพยนต์ แล้วให้หนุมานตามไปฆ่า พบนางวานรินทร์ นางบอกทางให้ หนุมานเหาะไปสุดเขาสัตภัณฑ์พบฟองน้ำใหญ่จึงจับไว้ วิรุญจำบังกลายเป็นรูปเดิมเข้าต่อสู้ แต่แพ้ได้แหวกน้ำไปอยู้ใต้ดินดาล หนุมานตามจนพบจับวิรุญจำบังฟาดกับเขาตาย ท้าวมาลีวราชว่าความ ทศกรรฐ์แค้นใจมาก คิดถึงท้าวมาลีวราชผู้เป็นปู่ ซึ่งมีวาจาประกาศิต และมีความเที่ยงธรรม ที่ภูเขายอดฟ้า ควรจะเชิญมาลงกาและกล่าวโทษพระรามพระลักษมณ์ เมื่อท้าวมาลีวราชเชื่อพระรามพระลักษมณ์จะแพ้ พร้อมกับให้นนยวิกและวายุเวกไปเชิญท้าวมาลีวราชมา ท้าวมาลีวราชมีความสงสัย จึงถามนนยวิกวายุเวก ว่า "....... อันลักษมณ์รามพี่น้องเป็นไฉน เขาอยู่ถิ่นฐานเมืองใด สุริยวงศ์พงศ์ไหนจึงอาจนัก อันว่าทศเศียรอสุรี ฤทธีปราบได้ทั้งไตรจักร ถึงเทวินอินทรพรหมยมยักษ์ ก็เกรงศักดาเดชกุมภัณฑ์ ทั้งกรุงลงกามหานิเวศน์ พระสมุทรเป็นเขตคูกั้น กว้างลึกล้อมรอบเป็นขอบคัน ข้าศึกนั้นข้ามมาอย่างไร หรือเขารู้เดินน้ำดำดิน เหาะบินมาได้หรือไฉน สาเหตุเพทพาลประการใด จึงตั้งใจเคี่ยวฆ่าราวี" นนยวิกและวายุเวก จึงเล่าตามคำเสี้ยมสอนของทศกรรฐ์ พร้อมกับว่าทั้งสองคนเป็นมนุษย์มีฤทธิ์อำนาจด้านการใช้ศร ได้คุมพลลิงจองถนนข้ามไปลงกา แล้วอ้างเป็นสามีนางสีดามาฆ่าเหล่ายักษ์ ท้าวมาลีวราชจึงรู้ว่าพระรามและพระลักษมณ์ เป็นโอรสท้าวทศรถและท้าวอัชบาลก็เคยเป็นเพื่อนสนิทกันมาก่อน และได้ก่อสงครามขึ้นเพราะ ผู้หญิง ควรจะไปเกลี้ยกล่อมให้เป็นมิตรทั้งสองฝ่าย จึงยกทัพมาพักบริเวณสมรภูมิเพื่อตัดสินความ " ....... ใกล้ถึงลงกากรุงไกร ภูวนัยถวิลจินดา แม้นกูจะเข้าไปยังเมืองยักษ์ พระรามพระลักษมณ์จะกังขา ถ้าไปเข้าข้างทัพอยุธยา ทศพักตร์ยักษาจะน้อยใจ จำจะหยุดอยู่แต่ในที่รบ ตามขนบตัวกูเป็นผู้ใหญ่ จะไปหาที่สมรภูมิชัย อย่าให้นินทาเป็นราคี " แม้ว่าทศกรรฐ์จะยกทัพมาเชิญเสด็จเข้าเมืองก็ไม่ยอมเข้า เพราะเกรงจะเป็นข้อครหาว่าเข้าข้างฝ่ายทศกรรฐ์ แล้วเชิญเหล่าเทพยดามาประชุมเป็นสักขีพยาน ทศกรรฐ์ชี้แจงว่า ได้ไปเที่ยวป่าพบกับนางสีดา ไม่มีบิดามารดาและคู่ครอง จึงรับมาเลี้ยงที่สวนขวัญ ต่อมามีมนุษย์ชื่อรามและลักษมณ์ คุมวานรสร้างถนนข้ามมาลงกา อ้างตัวว่าเป็นผัวและฆ่าเหล่ายักษ์ตายลงเป็นอันมาก ท้าวมาลีวราชฟังทศกรรฐ์กล่าวโทษอีกฝ่ายหนึ่ง จึงให้พระวิศณุกรรมไปเชิญพระรามกับพระลักษมณ์ ชี้แจงด้วยความยุติธรรม พระรามได้เล่าให้ฟังตามความเป็นจริง ท้าวมาลีวราชฟังแล้วไม่รู้ว่าใครถูกใครผิด จึงให้ไปตามนางสีดามาไต่สวนด้วย ท้าวมาลีวราชเห็นนางสีดาก็ประจักษ์แก่ใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น "เมื่อนั้น ท้าวมาลีวราชรังสรรค์ เห็นนางสีดาวิลาวัณย์ งามดั่งดวงจันทร์ไม่ราคี มาตรแม้นถึงองค์พระอุมา นางสุชาดาโฉมศรี นางสุจิตราเทวี สุนันทานารีอรทัย ทั้งสุธรรมานงคราญ จะเปรียบปานเยาวมาลย์ก็ไม่ได้ ทั่วสวรรค์ชั้นฟ้าสุราลัย ไกลกันกับโฉมนางสีดา กระนี้แหละหรือทศกรรณฐ์ จะไม่ผูกพันเสน่หา พาทั้งโคตรวงศ์ในลงกา แสนสุรีโยธาวายปราณ แต่กูผู้ทรงทศธรรม์ ยังหวาดหวั่นเคลิ้มไปด้วยสงสาร หากมีอุเบกขาญาน จึงประหารเสียได้ไม่ไยดี" เมื่อเห็นว่าคำให้การของพระรามและนางสีดาสอดคล้องกัน รวมทั้งเหล่าเทวดาในที่นั่นก็ยืนยันว่าเป็นสัตย์จริง แต่ทศกรรฐ์ได้ทูลว่า เหล่าเทวดาทั้งหลายเกลียดชังตน และที่พระรามมาก่อสงครามที่เมืองยักษ์นั้น พระอินทร์ยังประทานรถเวชยันต์พร้อมพระมาตุลีให้ เมื่อมาเป็นพยานก็คงจะต้องดลใจให้นางสีดาพูด ตามพระราม ท้าวมาลีวราชโกรธทศกรรฐ์ที่โกหก จึงให้ส่งนางสีดาคืน " ซึ่งเอ็งกล่าวหาทุกข้อ ล้วนแกล้งติดต่อให้เหมาะมั่น สืบสวนก็ไม่ได้เป็นสัตย์ธรรม สารพันทรลักษณ์อัปรีย์ เห็นจริงว่าตัวบังอาจ ไปลอบลักอัครราชมเหสี ขององค์พระรามจักรี อสุรีเร่งส่งนางสีดา " ทศกรรฐ์ไม่ยอมคืนนางสีดา ยกทัพกลับลงกาโดยไม่ไหว้ลาท้าวมาลีวราช ด้วยความแค้นที่ได้กล่าว ประจานตนให้อับอาย พิธีชุบหอกกบิลพัท เมื่อแผนการจะให้ท่าวมาลีวราชเข้าข้างตนไม่สำเร็จ จึงคิดจะทำพิธีเผารูปเทวดาและชุบหอกกบิลพัท ซึ่งหากสำเร็จก็จะเหนือกว่าอาวุธใด ๆ ทั้งสามโลก แล้วได้ให้เหล่าเสนายักษ์ ไปตั้งโรงพิธีที่ใกล้เชิงเขาพระเมรุแล้วทำพิธีปั้นรูปเหล่าเทวดา ที่มาเป็นพยานคราวที่ท้าวมาลีวราชว่าความและเผา ทำให้เหล่าเทวดานั้นรุ่มร้อนคล้ายถูกไฟบัลลัยกัลป์ เมื่อพระอิศวร รู้ข่าวจากพระอินทร์ ได้ให้เทพบุตรพาลีลงไปทำลายพิธีจนสำเร็จ ทศกรรฐ์คิดว่า การที่ตนทำพิธีใดก็ถูกทำลายหมด เป็นเพราะพิเภกบอกการแก้กลจากข้าศึก ก็จะออกไปรบและฆ่าพิเภกด้วยหอกกบิลพัท พิเภกรู้ว่าทศกรรฐ์คิดว่าตนบอกกลลวงไปทำลายพิธีเผารูปเทวดาและชุบหอกกบิลพัทและจะตามมาฆ่า ก็ทูลแก่พระราม พระรามให้พระลักษมณ์คอยเฝ้าดูแลพิเภก ขณะที่พระรามกำลังสู้รบกับทศกรรฐ์ ฝ่ายทศกรรฐ์รบพลางคอยมองลู่ทางสังหารพิเภกไปด้วย เมื่อมีช่องทางก็พุ่งหอกหมายฆ่าพิเภก พระลักษมณ์ปัดได้ แต่หอกได้กลับมาปักอกตนเองแทนจนสลบไป พิเภกทูลพระรามว่าวิธีแก้หอกกบิลพัทชื่อว่าต้นสังกรณีกับตรีชวา ที่ภูเขาสัญชีพสัญญี มูลวัวพระอิศวรที่ถ้ำอินทกาล หินรองบดยาที่เมืองบาดาล แต่หินแท่งบดยานั้นทศกรรฐ์ใช้เป็นหมอน พระรามสั่งให้หนุมานไปนำมา หนุมานได้มาทุกอย่างแล้ว เว้นหินบดยา จึงไปยังลงกา ร่ายพระเวท ให้เหล่ายักษ์หลับ แล้วเข้าไปในปราสาท เห็นทศกรรฐ์นอนอยู่กับนางมณโฑ ได้เอาผมนางมณโฑผูกติดกับเศียรทศกรรฐ์ พร้อมกับเขียนคำสาปไว้ที่หน้าผากทศกรรฐ์ว่า หากจะแก้ผมให้หลุดต้องให้นางมณโฑตบหัวสามที ทศกรรฐ์ตื่นขึ้นมาเห็นผมนางผูกติดกับเศียรตน และหินบดยาหายไป ก็รู้ว่าศัตรูมาสะกดแล้วลักไปและผมก็ไม่หลุด จึงให้เสนาไปนิมนต์ฤาษีโคบุตรมา ฤาษีเห็นคำสาปจารึกไว้ จึงบอกให้ทำตามคำสาป ดังนั้นเมื่อนางมณโฑตบหัวทศกรรฐ์สามครั้งผมก็หลุด ศึกทัพนาสูร ทศกรฐ์แค้นใจมากได้ไปขอให้ทัพนาสูร น้องร่วมบิดามาช่วยรบ ทัพนาสูรเนรมิตตัวใหญ่โต แทรกลงดินจนถึงหน้าอก อ้าปากให้ปากล่างอยู่บนดิน แลบลิ้นบังดวงอาทิตย์ไว้ เอาแขนโอบพลลิง เหล่าพลลิงตกใจที่ท้องฟ้ามืดในทันที ก็วิ่งกันวุ่นวายเข้าปากทัพนาสูร ทัพนาสูรจึงกลืนกินเข้าไปทั้งหมด พิเภกทูลพระรามถึงเรื่องทั้งหมด และบอกให้พระรามส่งคนไปตัดมือทัพนาสูรเสีย พระรามให้สุครีพไป เมื่อสุครีพตัดมือทัพนาสูรแล้วฟ้าจึงสว่างขึ้น แล้วพระรามแผลงศรพรหมมาสตร์ต้องทัพนาสูรตาย แต่บรรดาวานรที่ถูกทัพนาสูรกลืนกินเข้าไป แม้ถูกลมพัดมาต้องกายก็ไม่ฟื้นเหมือนเคย พิเภกจึงทูลให้พระรามแผลงศรไปให้พระอินทรได้ยิน และเอาน้ำทิพย์มาพรมบนศพพวกวานรทั้งหมดจึงกลับฟื้นคืนชีพ นางมณโฑหุงน้ำทิพย์ ทศกรรฐ์รู้ว่าทัพนาสูรตายก็เสียใจมาก ไปปรึกษานางมณโฑ นางมณโฑคิดถึงพิธีหุงน้ำทิพย์ที่พระอุมาเคยสอนไว้ หากใครกินน้ำนี้จะไม่ตาย ทศกรรฐ์จึงให้นางมณโฑทำพิธี ฝ่ายทศคีรีวันและทศคีรีธร ลูกทศกรรฐ์กับนางช้างในป่าหิมพานต์ มาเยี่ยมทศกรรฐ์ในเวลาที่นางมณโฑทำพิธีสัญชีพหุงน้ำทิพย์ รู้เรื่องก็อาสาออกรบ ทั้งสองต้องศรพระลักษมณ์ตาย ทศกรรฐ์จึงให้ฤทธิกาลรบหน่วงเวลาไว้ รอพิธีหุงน้ำทิพย์เสร็จ เมื่อครบกำหนดเจ็ดวัน นางมณโฑทำพิธีหุงน้ำทิพย์สำเร็จ ให้เสนานำไปมอบให้ทศกรรฐ์นำไปพรมบนร่างเหล่ายักษ์ที่ตาย ก็กลายเป็นปีศาจยักษ์ขึ้นมาต่อสู้ พระรามเกิดความสงสัย พิเภกทูลว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะน้ำทิพย์ของนางมณโฑ แต่มีวิธีแก้คือ ระหว่างนางทำพิธีห้ามร่วมหลับนอน ขอให้ส่งนายทหารผู้มีฤทธิ์ไปทำลายพิธี ระหว่างนี้ให้พระรามแผลงศรเป็นข่ายเพชรกั้นเหล่าปีศาจไว้อย่าให้ออกมาสู้รบได้ พระรามได้ให้หนุมานพานิลนนท์กับชมพูพาน พาไพร่พลลิงไปทำลายพิธี หนุมานจึงแปลงเป็นทศกรรฐ์ นิลนนท์เป็นช้างทรงของทศกรรฐ์ ชมพูพานเป็นการุณราชควาญท้าย เหล่าไพร่พลแปลงเป็นพลยักษ์ยกทัพเข้าลงกา เมื่อถึงแล้วหนุมานแปลงทำเป็นดีใจพานางมณโฑไปร่วมหลับนอนด้วย ส่วนชมพูพานได้พาไพร่พลลิงไปทำลายโรงพิธี ฝ่ายทศกรรฐ์เมื่อเห็นปีศาจยักษ์แตกพ่ายหายไป ทั้งยังไม่เห็นซาก เพราะฤทธิ์ศรพระราม อีกทั้งน้ำทิพย์ยักษ์ก็ไม่มีผู้ใดนำมาส่ง จึงรู้ว่าคงมีศัตรู เข้าไปทำลายพิธี จึงทำที่ขอหย่าทัพ แล้วให้พระรามมารบกันวันรุ่งขึ้น เมื่อกลับถึงลงการู้ว่านางมณโฑเสียทีหนุมาน หนุมาณไปเอากล่องดวงใจ รุ่งขึ้นทศกรรฐ์ยกทัพมารบกับพระรามอีก แต่ทำอย่างไรก็ตามทศกรรฐ์ก็ไม่ตาย พระรามสงสัย พิเภกจึงทูลว่า ทศกรรฐ์ถอดดวงใจฝากไว้ที่ฤาษีโคบุตร หนุมานอาสาไปนำกล่องดวงใจ โดยให้องคตไปด้วย และ ทำทีขอให้ฤาษีโคบุตรช่วยพาไปถวายตัวแก่ทศกรรฐ์ ระหว่างนั้นได้ลวงถามเรื่องกล่องดวงใจของทศกรรฐ์ ฤาษีตกหลุมพลางเล่าให้ฟังจนหมดสิ้น ก่อนที่จะเข้าไปในลงกา หนุมานบอกให้ฤาษีฝากดวงใจไว้กับองคตที่นอกเมือง ฤาษีหลงเชื่อแล้วพาหนุมานเข้าไปถวายตัว เข้าเมืองได้ลอบสั่งความกับองคตโดยหนุมานได้เนรมิตกล่องดวงใจขึ้นใหม่ แล้วบอกว่าให้องคตนำกล่องดวงใจปลอมคอยรับหน้าฤาษี หนุมานเข้าเฝ้าทศกรรฐ์และแกล้งเล่าเรื่องต่าง ๆ นานา จนทศกรรฐ์หลงเชื่อรับหนุมานไว้เป็นลูก เสร็จแล้วฤาษีได้ออกมาเอากล่องดวงใจจากองคต องคตจึงมอบกล่องดวงใจเนรมิตให้ แล้วรีบเหาะไปเฝ้ากล่องดวงใจ ทศกรรฐ์คอยหนุมานที่ริมฝั่งมหาสมุทร ทศกรรฐ์จัดงานสมโภชน์รับหนุมาน นางมณโฑเตือนไม่ให้ไว้ใจหนุมานแต่ทศกรรฐ์ไม่เชื่อ หนุมานก็แกล้งทำเป็นเคารพรักทศกรรฐ์แต่ไม่ยอมไหว้จนทศกรรฐ์สงสัย หนุมานบอกว่าการจะไหว้ใครนั้นต้องไหว้พระพายผู้เป็นบิดาก่อน เมื่อไม่มีลมพัดในลงกาหนุมานจึงไหว้ไม่ได้ แต่ทศกรรฐ์ก็ยังข้องใจอยู่ หนุมานจึงแกล้งอาสาไปปราบพระราม พระลักษมณ์ และจะจับพิเภกมาถวาย เมื่อหนุมานยกทัพออกไปรบ ก็แกล้งบุกตะลุยทัพของพระลักษมณ์จนแตกพ่าย แล้วว่าวันนี้ให้เลิกทัพก่อน ให้มารบกันวันรุ่งขึ้น แล้วจะจับพระลักษมณ์ ไปถวายทศกรรฐ์ ทศกรรฐ์รู้ว่าหนุมานไปรบได้ผล จึงประทานนางสุวรรณกันยุมา เมียอินทรชิตให้หนุมาน ฝ่ายพระลักษมณ์เข้าใจผิดคิดว่าหนุมานไปเข้ากับทศกรรฐ์ จึงไปบอกพระราม พระรามรู้ว่าเป็นอุบายของหนุมาน เมื่อยกทัพมาสมทบกับพระลักษมณ์แล้วจึงบอกว่า จะขอดูท่าทีหนุมานก่อน หากทรยศจริงจะฆ่าเสียให้ตาย ทศกรรณ์สั่งเมือง รุ่งขึ้นหนุมานจึงขอให้ทศกรรฐ์ยกทัพไปเป็นประธาน ส่วนตนเองจะออกรบเอง เมื่อถึงสนามรบแล้ว ได้บอกทศกรรฐ์ว่า ให้ทศกรรฐ์ตั้งทัพไว้ เมื่อเห็นตนเหาะไปสูงสามโยชน์เมื่อใด ให้ยกทัพเข้าตี แล้วหนุมานก็กำบังกายเหาะไปที่ทัพพระราม แล้วถวายกล่องดวงใจ แล้วทูลให้รีบฆ่าทศกรรฐ์เสีย แล้วเหาะกลับไปหา ชูกล่องดวงใจให้ดู ทศกรรฐ์จึงรู้ว่าเสียรู้หนุมาน จึงบอกหนุมานว่าจะกลับไปสั่งเสียก่อน แล้วจะมารบวันรุ่งขึ้น จงไปทูลแก่พระรามด้วย วันรุ่งขึ้นทศกรรฐ์ได้ยกทัพไปรบกับพระราม แล้วต้องศรพรหมมาสตร์ของพระรามตาย พิเภกได้เชิญพระศพทศกรรฐ์เข้าลงกา แล้วเชิญนางสีดา นางมณโฑ มาเฝ้าพระรามที่ค่ายทัพพลับพลาเขามรกต แต่นางสีดาคิดว่า การจะไปเฝ้าพระรามที่ได้จากกันนานถึงสิบสี่ปี โดยตกอยู่ในเมืองลงกา แม้ว่าจะไม่มัวหมองแต่พระรามก็จะเคลือบแคลงสงสัยได้ แต่พิเภกทูลให้คลายกังวล นางสีดาจึงยอมไปเฝ้าพระราม แต่อยู่ห่าง ๆ สีดาลุยไฟ ฝ่ายพระรามเมื่อเห็นนางสีดาก็ดีใจมาก ได้พูดกับนางสีดาว่า อยู่กับทศกรรฐ์มานาน ไม่มีใครรู้ว่านางยังบริสุทธิ์อยู่หรือไม่ นางสีดาจึงขอลุยไฟต่อหน้าพระรามและเหล่าเทวดา แสดงความบริสุทธิ์ พระรามได้ให้สุครีพนำเชื้อไฟมากองไว้หน้าพลับพลาต่อหน้าเหล่าเทวดา แล้วทรงแผลงศรเป็นไฟลุกขึ้น ก่อนลุยไฟนางสีดาตั้งสัตย์อธิษฐานว่า หากนางซื่อสัตย์ต่อสามีขออย่าให้มีความร้อน แล้วจึงลงไปมีดอกบัวบานผุดขึ้นรองรับทุกก้าว พระรามให้พิเภกไปครองลงกา ต่อมานางมณโฑได้เป็นเมียพิเภกด้วย เมื่อปลงศพทศกรรฐ์แล้วได้ทูลเชิญพระราม พระลักษมณ์และนางสีดา เข้ามาพักยังลงกา ศึกอัศกรรณ ฝ่ายไวยกาสูรกับนิลกายสูร เสนายักษ์ของทศคิริวันกับทศคิริธรได้กลับไปทูลท้าวอัศกรรณ ที่กรุงจักรวาล ว่าบุตรบุญธรรมทั้งสองตายแล้ว ท้าวอัศกรรณเสียใจมากจึงยกทัพไปรบ พระรามยกทัพไปรบ แต่ไม่สามารถฆ่าอัศกรรณได้ เพราะเมื่อต้องศรพระรามขาดคราวใด ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า พิเภกทูลว่า อัศกรรณได้พรจากพระอิศวรว่าเมื่อใดอัศกรรณตาย ต้องนำซากไปทิ้งมหาสมุทร จึงจะไม่ฟื้นขึ้น พระรามจึงแผลงศรพรหมมาสตร์ ตัดอัศกรรณออกเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย แล้วบันดาลเป็นลมกรดพาไปทิ้งมหาสมุทร เมื่อเสร็จศึกแล้ว พระมาตุลีก็ลากลับไป พระรามบอกพิเภกว่าจะกลับคืนยังกรุงศรีอยุธยา เพราะรับปากกับท้าวทศรถพระราชบิดาไว้ว่า ครบสิบสี่ปีเมื่อใดจะกลับไปครองเมืองและหากเกินเวลาพระพรตกับพระสัตรุต จะฆ่าตัวตายด้วยการลุยไฟ พิเภกขอตามไปด้วย พร้อมกับทูลว่า เมื่อพระรามข้ามฝั่งไปแล้ว ควรจะทำลายถนน เพื่อเหล่ายักษ์จะได้ใช้มหาสมุทรเพื่อสัญจรต่อไป เมื่อข้ามไปแล้ว พระรามจึงแผลงศรพลายวาต ทำลายถนนที่ข้ามไปลงกาเสีย แล้วเดินทางไปพักทัพที่ป่าบริเวณเขาเหมติรัน ศึกบรรลัยกัลป์ ฝ่ายยักษ์ชื่อบรรลัยกัลป์ ลูกทศกรรฐ์และนางอัคคี ซึ่งพญานาคผู้เป็นตานำไปเลี้ยงไว้ เกิดลางร้ายคิดถึงทศกรรฐ์ผู้เป็นพ่อขึ้นมา ได้ขึ้นมาเยี่ยมรู้เรื่องราวต่าง ๆ จากนางอัคคีผู้เป็นมารดาก็โกรธ รีบเหาะตามทัพพระรามไป เมื่อพระรามได้ยินเสียงกึกก้องก็ถามพิเภก รู้ว่าบรรลัยกัลป์ตามมาล้างแค้นแทนทศกรรฐ์ ก็ให้หนุมานไปฆ่าแล้วตัดหัวมาให้ หนุมานออกอุบายแปลงเป็นควายใหญ่ติดหล่มอยู่ บรรลัยกัลป์ผ่านมาพบ หลงกลหนุมานได้เข้าต่อสู้กันหนุมาน บรรลัยกัลป์ตัวลื่น จึงไปถามฤาษีพระทิศไพมุนี พระฤาษีบอกใบ้ให้เอาทรายซัดจึงจะจับได้ หนุมานจึงฆ่าบรรลัยกัลป์ตาย ต่อมาพระรามได้เดินทางไปพักที่เมืองขีดขิน ตามคำทูลเชิญของสุครีพและนิลพัท แล้วเดินทางต่อไปยังอาศรมของฤาษีวสิษฐ์และสวามิตร โดยมีสุครีพตามไปด้วย และพระรามได้พบกับนายพรานกุขันที่นี่ด้วย และได้รู้ว่าสามพระมารดากับสองพระอนุชาเศร้าโศกมาก จึงให้หนุมานกับนายพรานกุขัน ล่วงหน้าไปทูลเรื่องราวในเมืองก่อน พระรามคืนเมือง ขึ้นครองราชย์ ปูนบำเหน็จ ฝ่ายพระพรตและพระสัตรุตเห็นว่าครบกำหนดสิบสี่ปีแล้ว พระราม พระลักษมณ์ และนางสีดา ยังไม่เสด็จกลับ ก็ไปทูลมารดาลาไปปลงพระชนม์ โดยการลุยไฟตามที่ได้ปฏิญาณไว้ หนุมานกับกุขันก็มาถึงก่อนได้เข้าไปห้ามไว้ หลังจากรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้ว ก็พาพระมารดาไปพบกับพระราม พระลักษมณ์ และนางสีดา ที่อาศรมฤาษี แล้วทูลเชิญเข้าไปครองเมือง ต่อมาได้จัดพิธีอภิเษกขึ้นครองราชสมบัติ โดยมีพระอินทร์เหล่าเทวดาและบรรดาเหล่าฤาษีมาเป็นเกียรติ แล้วพระรามได้ออกขุนนางปูนบำเหน็จความดีความชอบของเหล่าทหาร พระลักษมณ์ให้ครองเมืองโรมคัล พระพรตและพระสัตรุต ให้เป็นอุปราชอยู่ในกรุงศรีอยุธยา หนุมานแบ่งกรุงศรีอยุธยาให้ครองกึ่งหนึ่ง แล้วตั้งชื่อให้ใหม่ว่าพระยาอนุชิต สุครีพนั้นให้มีชื่อว่า พระยาไวยวงศา ครองเมืองขีดขิน พิเภกให้ชื่อว่า ท้าวทศคิริวงศ์ ไปครองเมืองลงกา องคตให้ชื่อว่า พระยาอินทรนุภาพศักดา เป็นฝ่ายหน้าเมืองขีดขิน ชมพูพานให้ไปครองเมืองปางตาล สุรเสนไปครองเมืองสัทธาสูร ชมพูวราช นิลราช นิลนนท์ เป็นอุปราชทั้งหมด โดยให้ชมพูวราชเป็นฝ่ายหน้าเมืองปางตาล นิลราชเป็นฝ่ายหน้าเมืองอัสดงค์ นิลนนท์เป็นอุปราชเมืองชมพู ไชยามและโคมุท เป็นมหาเสนาซ้ายขวาที่เมืองขีดขิน สัตพลีให้เป็นอาลักษณ์ ส่วนพลลิงอื่น ๆ ก็ให้ยศฐาบรรดาศักดิ์ตามสมควร ฝ่านหนุมานทูลคัดค้านว่า เมืองโรมคัลเป็นเมืองยักษ์ ไม่ควรให้พระลักษมณ์ไปครอง แต่ควรจะอยู่ใกล้ชิดพระรามจะดีกว่า ส่วนพระพรตกับพระสัตรุต นั้นควรจะให้ไปอยู่ที่เมืองไกยเกษ พระรามเห็นด้วย ได้ให้สุรกานต์ไปครองเมืองโรมคัล แล้วให้ศรรามเป็นมหาอุปราช กุขันพรานป่าให้เป็นพระยากุขันธิบดินทร์ ครองบุรีรัม สำหรับพิเภกนั้นเป็นผู้ไม่มีความชำนาญการรบและไม่มีฤทธิ์ หากมีศัตรูมารุกราน ให้เขียนสาสน์แขวนศรมา เมื่อพระรามแผลงศรมาถามข่าว หนุมาณครองเมือง ฝ่ายหนุมานเมื่อได้ครองอยุธยาครึ่งหนึ่ง ก็มีความสุขดี แต่เมื่อใดต้องขึ้นนั่งบัลลังก์ออกขุนนาง จะรู้สึกเร่าร้อน เวียนหัว ปวดหัว ก็คิดว่าเป็น เพราะตีตนเสมอพระรามทำให้เกิดวิปริต ได้เข้าเฝ้าพระรามถวายอยุธยาคืน พระรามจึงแผลงศรให้หนุมานตามไปดูว่าตกลงที่ใด จะยกทัพไปสร้างเมืองใหม่ให้ ศรนั้นไปตกบนเขาใหญ่เก้ายอด หนุมานแผลงฤทธิ์เอาหางกวาดจนเกิดเป็นกำแพงหินล้อมรอบบริเวณนั้น แล้วจึงกลับมาทูลพระรามทุกอย่าง พระรามจึงว่าให้ตามไปดูเท่านั้น ทำไมทำเกินคำสั่ง แต่เนื่องจากมีความชอบมาก ก็จะให้เทวดาไปสร้างเมืองให้ ต่อมาพระอินทร์ให้พระวิษณุกรรม ลงมาสร้างเมืองให้หนุมาน แล้วพระรามประทานชื่อเมืองว่า นพบุรี รวมทั้งแบ่งสมบัติจากกรุงศรีอยุธยา ม้า พล เสนา ให้ครึ่งหนึ่งตามที่ได้เคยปฏิญาณไว้ ศึกมหาบาล ฝ่ายยักษ์ชื่อท้าวมหาบาล เจ้าเมืองจักรวาล เพื่อนสนิทของทศกรรฐ์ เกิดความคิดถึงทศกรรฐ์ขึ้นมาได้ยกทัพมาตั้งที่หน้าด่านลงกา รู้ข่าวทศกรรฐ์ก็โกรธแค้น ให้เสนาไปเรียกพิเภกมาพบที่หน้าด่าน แต่พิเภกรู้ว่าเป็นพวกพาลไม่ยอมออกไป เมื่อดูดวงตนรู้ว่ามีเคราะห์หนัก แต่จะมีคนช่วยเหลือไม่ถึงตาย และใกล้เวลาที่พระรามจะแผลงศรมาถามข่าวคราวแล้ว จึงให้เปาวนาสูรนำไพร่พลรักษาเมืองไว้ให้เข้มแข็ง พระรามได้เกิดฝันประหลาด จึงคิดถึงพิเภก ได้แผลงศรพาลจันทร์ไปถามข่าว เมื่อพิเภกกราบศรแล้วผูกสาสน์กลับมา จึงรู้ว่าลงกาเกิดศึกใหญ่ พระรามให้หนุมานไปช่วยรบที่ลงกา พิเภกจึงว่าหากตนไม่ออกไปรบ ท้าวมหาบาลก็จะหมิ่นเอาได้ และยังเป็นพระเกียรติแก่พระรามด้วย หากพลาดพลั้งให้หนุมานช่วย ระหว่างรบกันพิเภกเพลี่ยงพล้ำ หนุมานจึงลงจากกลีบเมฆมาช่วย แต่ไม่สามารถฆ่าท้าวมหาบาลได้ พิเภกบอกว่า ท้าวมหาบาลได้พรจากพระอิศวร หากจะฆ่าต้องแหวะเอาดวงใจมาขยี้ให้แผลก หนุมานจึงควักเอาดวงใจท้าวมหาบาลออกมาขยี้ ท้าวมหาบาลจึงตาย และพลยักษ์ได้ตกเป็นเชลยของลงกา เมื่อเสร็จศึก พิเภกเชิญหนุมานไปหานางเบญจกาย ส่วนเมืองจักรวาลที่ขาดคนปกครอง พิเภกให้เปาวนาสูรไปครอง จากนั้นหนุมานและพิเภกจึงไปเฝ้าพระราม ทูลเรื่องราวทั้งหมด กำเนิดไพนาสุริยวงศ์ และอสุรผัด ต่อมานางมณโฑประสูติโอรสชื่อ ไพนาสุริยวงศ์ ซึ่งเกิดจากทศกรรฐ์ พิเภกนึกว่าเป็นลูกตนก็หลงรัก ส่วนนางเบญจกายได้ประสูติโอรสหน้าเป็น ลิง มือและเท้าเป็นยักษ์ ชื่ออสุรผัด วันหนึ่งหนุมานได้ยกทัพน้อยไปเที่ยวสวน ได้กระโจนปีนป่ายตามวิสัยทำให้นางกำนัลขบขัน ทำให้หนุมานรู้สึกอับอายที่ตนทำตัวไม่เหมาะสม คิดจะออกบวช จึงไปเฝ้าพระรามเพื่อทูลลาไปบวช กับฤาษีพระทิศไพ วันหนึ่งไพนาสุริยวงศ์ ไปเที่ยวเล่นในสวนกับพี่เลี้ยงชื่อ วรณีสูร เมื่อไปถึงพลับพลาที่ทศกรรฐ์เคยประทับ วรณีสูรคิดถึงทศกรรฐ์ก็ร้องไห้ ไพนาสุริยวงศ์สงสัย วรณีสูรเล่าให้ฟังทั้งยังบอกว่าไม่ใช่ลูกพิเภก ไพนาสุริยวงศ์ได้กลับมาถามนางมณโฑอีก เมื่อรู้ความจริงก็โกรธคิดจะไปหาท้าวจักรวรรดิ์ที่เมืองมลิวัน จึงหลอกพิเภกว่าจะไปเรียนวิชาที่สำนักพระกาลฤาษี แต่ที่จริงจะเรียนวิชาผ่านด่านเพลิงน้ำกรด ไปเมืองมลิวัน เมื่อเรียนจบ ก็เดินทางไปเมืองมลิวัน และผ่านด่านทั้งสองไปได้ หลังจากที่เล่าเรื่องทั้งหมดให้ท้าวจักรวรรดิ์ฟัง ท้าวจักรวรรดิ์โกรธยกทัพมาลงกา เมื่อถึงลงกา ไพนาสุริยวงศ์ ได้บอกว่าพวกตนจะเข้าเมืองก่อน เพื่อไม่ให้พิเภกสงสัย ศึกท้าวจักรวรรดิ์ ฝ่ายท้าวจักรวรรดิ์เมื่อถึงด่านลงกา ก็ให้วิษณุราชกับนนทการ ไปทูลพิเภกให้ออกมา พิเภกจัดทัพออกไปรบ แต่เพลี่ยงพล้ำถูกท้าวจักรวรรดิ์ แผลงศรเป็นพญานาคตัวใหญ่ รัดพิเภกไว้ เมื่อไพนาสุริยวงศ์รู้ว่าพิเภกถูกจับ ก็มาขอชีวิตว่า พิเภกได้เลี้ยงดูตนมา ท้าวจักรวรรดิ์ยกโทษให้แต่ขอทรมานพิเภกก่อน โดยจับใส่ตรุขังไว้ จากนั้นได้ตั้งให้ไพนาสุริยวงศ์ครองลงกาแทน แล้วตั้งนามใหม่ให้ว่า ท้าวทศพิน พร้อมทั้งมอบศรบรรลัยจักรวาลให้ด้วย ฝ่ายอสุรผัดรู้ว่าตาของตนถูกจำตรุ ก็เสียใจไปขอโทษแทนตากับทศพิน ท้าวจักรวรรดิ์ไม่ยอมไล่ออกมา นางเบญจกายให้อสุรผัดไปตามหาหนุมานผู้เป็นพ่อที่ออกบวช แล้วค่อยไป ทูลพระราม อสุรผัดเหาะไปตามกับฤาษีที่เขามณฑป เมื่อพบหนุมานก็ไม่รู้จัก หนุมานจึงกลับร่างเดิม แล้วแผลงฤทธิ์พร้อมกับหาวเป็นดาวเป็นเดือน อสุรผัดจึงเล่าเรื่องให้ฟัง หนุมานโกรธมากพาอสุรผัดไปพบสุครีพที่นครขีดขิน สุครีพให้หนุมานพาอสุรผัดไปพบพระรามก่อน แล้วตนกับท้าวชมพูจะยกพลตามไป เมื่อพระรามรู้เรื่องจากหนุมานก็ให้ไปเกณฑ์ทัพเมืองขีดขินกับเมืองชมพูมา หนุมานจึงบอกว่ากำลังยกมา แล้วให้เสนาไปเมืองไกยเกษ บอกพระพรตและพระสัตรุตไปช่วยรบ โดยให้มาพร้อมกันที่ศรีอยุธยา ฝ่ายท้าวชมพูได้ให้นิลพัทคุมทัพเมืองชมพู แก้ตัวกับพระรามในความผิดครั้งก่อน พระรามสั่งให้พระพรตและพระสัตรุต นำทัพทั้งหมดพร้อมกับสุครีพ หนุมาน องคต และสิบแปดมงกุฎ ไปตีเมืองลงกาและเมืองมลิวัน พระรามประทานศรพรหมมาสตร์และเกราะเพชรแก่พระพรต พระลักษมณ์ประทานศรจันทรวาทิตย์กับเกราะแก้วของพระอินทร์ให้พระสัตรุต แล้วพระพรตกับพระสัตรุตก็คุมทัพไปถึงเขาคันธกาล นิลพัทขอเอาตัวทอดข้ามมหาสมุทร เพื่อให้ทัพผ่านเข้าลงกา แล้วไปตั้งทัพที่เขามรกต ศึกทศพิน เมื่อตั้งทัพแล้ว พระพรตให้ชมพูพานถือสาสน์ไปบอกให้ท้าวทศพินออกมา ทศพินไม่ยอมกลับด่าว่าชมพูพาน ชมพูพานได้ทำร้ายทศพินจนบาดเจ็บ แล้วกลับมาทูลพระพรต ฝ่ายยามลิวันกับกันยุเวก โอรสอินทรชิตกับนางสุวรรณกันยุมา รู้ว่าทศพินจะไปรบแล้วจะให้พวกตนไปด้วยก็กลัวนางสุวรรณกันยุมาจึงบอกให้หนีไปถวายตัวกับพระพรต รุ่งขึ้นท้าวทศพินยกทัพไปรบ พระพรตให้อสุรผัดออกรบ ทศพินกับวรณีสูรแพ้ ถูกจับได้ พระพรตให้นำทั้งสองตระเวนน้ำตระเวนบก แล้วตัดหัวเสียบไว้ที่ประตูเมือง เพื่อไม่ให้ผู้อื่นเอาเยี่ยงอย่าง แล้วให้อสุรผัดไปปล่อยพิเภก ตีเมืองมลิวัน เมื่อฆ่าทศพินแล้ว พระพรตให้ยกทัพไปตีเมืองมลิวัน พิเภกทูลว่าทางไปเมืองมลิวันเป็นทางทุรกันดาร และยังมีด่านถึงสองด่านคือ ด่านไฟกรดและน้ำกรด หนุมานได้อาสาหักด่าน เมื่อไปถึงด่านแรกคือ ด่านเพลิงกาฬ หนุมานเห็นยักษ์ชื่อมัฆวาน กำลังคุมพลเก้าโกฎิทำพิธีไฟลุกโหมช่วงโชติร้อนแรง หนุมานแปลงกายใหญ่โตเข้าต่อสู้และฆ่ามัฆวานตายไฟจึงดับ ถึงด่านที่สองคือด่านน้ำกรด เห็นยักษ์ชื่อกาลสูรนั่งบริกรรมคาถาเรียกพญานาคมาพ่นพิษ เป็นควันมีน้ำกรดไหลไม่ขาดสาย จึงแปลงกายเป็นครุฑเข้าต่อสู้ และจับกาลสูรขว้างไปยังเขาจักรวาลตาย เมื่อหักด่านได้แล้ว พระพรตได้ให้ยกทัพไปตั้งที่เชิงเขามยุราตามคำแนะนำของพิเภก ฝ่ายท้าวจักรวรรดิ์รู้ว่าข้าศึกหักด่านมาถึงเมือง ได้ให้จัดทัพเตรียมไว้ พระพรตให้นิลนนท์ถือสาสน์ไปบอกว่าหากกลัวตายให้ออกมาตั้งสัตย์ต่อศรพรหมมาสตร์ก็จะยกโทษให้ ท้าวจักรวรรดิ์ไม่ยอมกลับให้โอรสชื่อ สุริยาภพยกทัพออกมารบ พระพรตให้พระสัตรุตไปรบ พระสัตรุตต้องหอกเมฆพัทของสุริยาภพสลบลง พิเภกทูลพระพรตว่ายาแก้ฤทธิ์หอกคือจันทน์แดงกับมูลวัวอุศภราชที่ถ้ำเขาอินทกาล แท่นหินที่ชั้นพรหม และลูกหินที่เมืองพญานาค พระพรตให้นิลพัทไปเอา เมื่อบดยาทาแผลหอก พระสัตรุตก็ฟื้น ศึกสุริยาภพ บรรลัยจักรและนนยุพักตร์ เมื่อท้าวจักรวรรดิ์รู้ว่าพระสัตรุตฟื้นขึ้น ก็ให้สุริยาภพออกมารบอีก พระพรตและพระสัตรุตออกรบ สุริยาภพต้องศรพรหมมาสตร์ตาย ท้าวจักรวรรดิ์ ให้โอรสอีกคนหนึ่งชื่อ บรรลัยจักรไปรบแต่สู้ไม่ได้ เมื่อพลบค่ำจึงขอหย่าศึกแล้วจะไปรบในวัยรุ่งขึ้น เมื่อเข้าเมืองแล้ว ได้ทูลท้าวจักรวรรดิ์ว่าศัตรูมีกำลังเข้มแข็งและมีฤทธิ์ไม่ควรประมาท จึงจะไปชุบศรเหราพตที่เนินเขาจักรวาล ท้าวจักรวรรดิ์เห็นดีด้วย ได้ให้ยักษ์ชื่อกระบิล ยกทัพไปขัดตาทัพไว้ก่อน พระพรตให้นิลพัทออกรบ ต่อมาได้ฆ่ากระบิลตาย พร้อมกันนี้พระพรตได้สั่งให้องคตกับอสุรฟัด ไปทำลายพิธีชุบศรเหราพตของบรรลัยจักร บรรลัยจักรบอกว่าถึงแม้จะชุบศรไม่สำเร็จก็จะขอออกรบ พระพรตกับพระสัตรุตออกรบกับบรรลัยจักร บรรลัยจักรเอาจักรกรดเมฆฏสูรขว้างไป เกิดเป็นหมอกควันบังดวงอาทิตย์ แล้วได้แผลงศรเหราพตเป็นจระเข้พันหัวพ่นพิษรัดกายพระสัตรุตแล้วพาไปฝากไว้กับราหู พิเภกทูลพระพรตว่าเป็นเพราะจักรกรดเมฆสูรของบรรลัยจักร ให้แผลงศรพรหมมาสตร์ไป เมื่อฟ้าสว่างแล้วไม่เห็นพระสัตรุต ก็ให้สุครีพ หนุมาน องคต นิลพัท ไปตามชิงตัวกลับมา เมื่อทั้งสี่ตามไปพบราหู จึงต่อสู้กัน ชิงตัวพระสัตรุตกลับมาได้ ส่วนราหูหนีเข้าเมือง แต่ถูกบรรลัยจักรสั่งให้ตัดหัวเสียบประจาน เพื่อไม่ให้ยักษ์อื่น ๆ เอาเยี่ยงอย่าง รุ่งขึ้นบรรลัยจักรออกรบอีก ต้องศรพรหมมาสตร์ของพระพรตตาย ท้าวจักรวรรดิ์เสียใจและแค้นใจมาก ยกทัพออกไปรบเอง ไม่แพ้ไม่ชนะ จนพลบค่ำจึงขอหย่าศึก ฝ่ายนนยุพักตร์น้องของบรรลัยจักร ซึ่งลาท้าวจักรวรรดิ์ไปบำเพ็ญตบะในป่า เพื่อขอประทานเทพอาวุธจากพระอิศวร พระพรหม และพระนารายณ์ แต่ยังไม่สำเร็จ เกิดความร้อนรุ่ม จึงคิดว่าคงจะเกิดเหตุก็กลับไปเมืองมลิวัน เมื่อรู้ข่าวพี่ชายก็เสียใจและโกรธแค้น อาสาออกรบ พระพรตให้พระสัตรุต ออกมารบ ระหว่างรบกันนนยุพักตร์ต้องศรพรหมมาสตร์ตาย ศึกท้าวไวยตาล ท้าวจักรวรรดิ์แค้นมาก ยกทัพออกมารบเป็นครั้งที่สอง แต่ไม่แพ้ไม่ชนะ จนค่ำจึงกลับเข้าเมือง แล้วคิดได้ว่ายังมีเพื่อนชื่อท้าวไวยตาล เจ้าเมืองกุรุราชที่มีศาสตราวุธพิเศษ จึงให้เสนาถือสาสน์ไปเชิญมารบ ท้าวไวยตาลได้มาช่วยท้าวจักรวรรดิ์รบกับทัพของพระพรตและพระสัตรุต เมื่อท้าวไวยตาลเพลี่ยงพล้ำก็คิดว่าศัตรูมีกำลังกล้าแข็ง ควรจะไปทำพิธีบูชากระบองให้เกิดมีฤทธิ์ แล้วจึงขอหย่าศึกกลับเข้าเมือง ท้าวจักรวรรดิ์เมื่อรู้ว่า ท้าวไวยตาลจะไปทำพิธีชุบกระบอง ก็ให้เพตราไปขัดตาทัพไว้ก่อน พิเภกทูลพระพรตว่า ทัพที่ยกมาไม่ไช่ไวยตาล เพราะไวยตาลกลับไปบาดาลเพื่อทำพิธีชุบกระบองตาล ให้ชี้ทางต้นตาย ชี้ทางปลายเป็นและไม่ตาย พระพรตได้สั่งให้องคตไปรบกับเพตราส่วนนิลพัท ให้ไปทำลายพิธี นิลพัทได้ขอเอาอสุรผัดไปด้วย เมื่อนิลพัทและอสุรฟัดไปถึงก็หายตัวเข้าไป แล้วนิลพัทแปลงตัวเป็นพระกาฬ เข้าสู้รบกับไวยตาลที่กำลังทำพิธี จนเสียพิธี ก็พากันกลับมาดักรออยู่ที่ทางเข้าเมือง นิลพัทแปลงเป็นยักษ์นั่งอยู่ข้างทาง แล้วให้อสุรผัดคอยเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ เมื่อไวยตาลยกทัพกลับมาพบเข้า นิลพัทแกล้งทูลว่า ตนเป็นทหารอยู่ลงกาถูกทารุณจนอยู่ไม่ได้ ต้องลงมาขอพึ่ง ไวยตาลเชื่อพาเข้าเมือง ระหว่างทางได้กลายร่างเดิมเข้าต่อสู้กับไวยตาล อสุรผัดเข้าช่วยรบด้วย จนฆ่าไวยตาลตายแย่งกระบองไปได้ ส่วนองคตก็ฆ่าเพตราตาย ท้าวจักรวรรดิ์รู้ข่าวก็เสียใจและโกรธแค้น ยกทัพมารบเองเป็นครั้งที่สามกับพระพรต ไม่แพ้ไม่ชนะ จนค่ำจึงหย่าศึกกลับเข้าเมือง รุ่งขึ้นท้าวจักรวรรดิ์ยกทัพออกมารบกับทัพของพระพรตอีก แล้วต้องศรพรหมมาสตร์แต่ยังไม่ตาย เกิดสำนึกผิดขอโทษพระพรตและพระสัตรุต พร้อมทั้งสั่งกับเสนายักษ์ชื่อสุพินสัน ให้ไปบอกนางวัชนีสูรว่า เมื่อตายแล้วให้มอบเมืองมลิวันและนางรัตนมาลีบุตรสาวแก่พระพรต นางวัชนีสูรได้ทำตามที่ไวยตาลสั่ง พระพรตให้ญาติของไวยตาลครองเมือง แล้วจึงเสด็จกลับศรีอยุธยา พระรามปูนบำเหน็จ พระรามได้ให้รางวัลทุกคนที่ออกรบครั้งนี้ โดยให้หนุมานไปครองกรุงมลิวัน นิลพัทเป็นพระยาอภัยพัทธพงศา อสุรผัดเป็นพระยามารนุราชอุปราชลงกา ยามลิวันเป็นพระยาวันยุพักตร์ ครองกรุงกุรุราช กันยุเวกเป็นพระยากันนุชิต ครองเมืองจักรวาล เปาวนาสูรให้กลับมาเป็นอำมาตย์ใหญ่ของพิเภกและอื่น ๆ แก่พลลิง และพลมาร ฝ่ายไวยวิกและนางพิรากวน ที่ได้ครองเมืองบาดาลแทนไมยราพ ก็นึกถึงบุญคุณของหนุมานตลอดมา จึงคิดมาเยี่ยมและมาเฝ้าพระรามด้วย ไวยวิกได้ชวนมัจฉานุซึ่งเป็นอุปราชยกทัพมา พลวานรเห็นกองทัพมา ท้าวชมพูที่กำลังยกทัพกลับมา ก็เข้าใจผิดคิดว่าไวยวิกเป็นกบถ ได้นำทัพเข้าต่อสู้ พระรามได้ยินเสียงดังกึกก้อง ก็ให้หนุมานไปดู เห็นไวยวิกกับมัจฉานุก็จำได้ จึงเข้าขวางทัพ ไวยวิกและมัจฉานุเล่าให้ฟัง จากนั้นก็พากันเข้าเมืองไปเฝ้าพระราม พระรามได้ใช้พระขรรค์โมลีตัดหางที่เป็นปลาของมัจฉานุให้ แล้วบอกว่าหากการให้หนุมานไปครองเมืองมลิวันก็จะอยู่ไกล จึงให้มัจฉานุไปครองแทน และให้นางรัตนมาลีเป็นมเหสี ส่วนไวยวิกนั้นให้ไปครองเมืองบาดาลตามเดิม ปีศาจนางอาดูล วันหนึ่งพระรามเกิดอยากเที่ยวป่า ได้ชวนพระลักษมณ์ไปด้วย ส่วนนางสีดาตั้งครรภ์จึงอยู่ที่ตำหนัก นางสีดารู้สึกเร่าร้อนได้ชวนนางกำนัลไปอาบน้ำที่ท่าหลวง ฝ่ายยักษ์ตนหนึ่งชื่อนางอาดูล เป็นญาติของทศ กรรฐ์ อยู่ใต้ดิน รู้ว่าที่เหล่ายักษ์พากันล้มตายก็เพราะนางสีดาเป็นต้นเหตุ ก็คิดแค้นนางสีดาเรื่อยมา และหาวิธีกลั่นแกล้งให้นางสีดาต้องพลัดพรากพระราม ได้ขึ้นมาจากใต้ดิน แปลงกายเป็นนางกำนัล มีรูปร่างงามมาหานางสีดา ถึงเวลาที่จะถึงคราววิบัติของนางสีดา ทำให้ไม่สงสัย แล้วนางอาดูลก็ตามนางสีดาขึ้นพระตำหนัก และถามนางสีดาถึงหน้าตาของทศกรรฐ์ นางสีดาเล่าให้ฟัง นางอาดูลบอกว่านึกไม่ออกควรจะวาดรูปให้ดู นางสีดาได้วาดรูปทศกรรฐ์ให้นางอาดูลดู และนางกำนัลอื่น ๆ ก็มาดูกัน เป็นเวลาที่พระรามพระลักษมณ์กลับจากป่า นางอาดูลรีบหายตัวเข้าไปสิงรูป นางสีดารู้ว่าพระรามกลับมาก็รีบลบรูปแต่ลบไม่ออก จึงนำไปซ่อนไว้ใต้ที่นอนของพระราม เมื่อพระรามจะนอนก็ให้ร้อนรุ่มและโมโหเอากับนางสนมกำนัล พระรามให้ฆ่านางสีดา นางสีดาได้ให้นางข้าหลวงไปบอกพระลักษมณ์ พระรามเล่าความรู้สึกให้ฟัง พระลักษมณ์ค้นห้องดูพบรูปทศกรรฐ์ แล้วนำไปให้พระรามดู นางสีดาคิดว่าถ้าอยู่เฉยนางกำนัลทั้งหลายจะเดือดร้อน จึงทูลความจริงแก่พระราม พระรามโกรธหาว่านางสีดาแพศยา ให้นำไปฆ่า พระลักษมณ์ได้ลอบพานางออกไปจากเมืองในตอนค่ำ และพระลักษมณ์กลัวพระรามรู้ก็ใช้พระขรรค์ฆ่านาง แต่นางสีดาไม่ตาย พระลักษมณ์จึงให้พระนางหนีไป ส่วนตนจะกลับเข้าเมืองก่อนเวลาเช้า ฝ่ายพระอินทร์เห็นเรื่องราวทั้งหมด จึงคิดช่วยทั้งนางสีดาและพระลักษมณ์ ได้บันดาลให้มีเนื้อทราย นอนตายอยู่ระหว่างทางที่พระลักษมณ์จะผ่านกลับเมือง พระลักษมณ์ได้ควักดวงใจเนื้อทรายไปถวายพระราม กำเนิดพระมงกุฎ พระลบ ส่วนนางสีดาได้เดินทางมาพบกับพระอินทร์ที่แปลงเป็นควายมาคอยนางสีดา เห็นนางสีดาเดินร้องไห้มา จึงถามเหตุ นางสีดาเล่าให้ฟังแล้วขอให้ ควายแปลงพาไปหาฤาษีเพื่อขอพึ่ง ควายแปลงได้พานางไปพบกับฤาษีชื่อวัชมฤค ฤาษีได้รับเลี้ยงนางไว้ โดยเนรมิตกุฏีให้หลังหนึ่ง จนนางสีดาคลอดโอรสทิ้งไว้ในเปล แล้วไปฝากฤาษีให่ช่วยดูแล แล้วตนจะไปอาบน้ำ แต่ไปเห็นลิงแม่ลูก จึงได้คิดถึงโอรสกลับไปเอามาไม่บอกฤาษี ฤาษีลืมตาไม่เห็นโอรสก็จะทำพิธีไฟชุบโอรสให้ใหม่ โดยวาดรูปกุมารในกระดานเพื่อทำพิธี เมื่อเห็นนางสีดาพาโอรสกลับมา ก็จะลบรูปกุมารในกระดาน นางสีดาขอให้ชุบขึ้น เพื่อเป็นเพื่อนเล่นของโอรส เมื่อชุบได้แล้ว ฤาษีได้ตั้งชื่อพระโอรสว่า มงกุฎ ส่วนโอรสที่ชุบขึ้นให้ชื่อว่า ลบ ทั้งสองเรียนวิชากับฤาษีจนจบ และฤาษีได้เอาไม้ไผ่อ่อนมาเหลาเป็นคันศรและลูกศร องค์ละสามเล่ม แล้วให้ฝึกหัดยิงจนเกิดความชำนาญ ต่อมาฤาษีคิดจะตั้งพิธีชุบศรให้ เสี่ยงม้าอุปการ วันหนึ่งพระมงกุฎกับพระลบ ลาฤาษีและพระมารดา ไปเที่ยวป่า แล้วชวนกันประลองศรเกิดเสียงสนั่นไปทั่ว พระรามได้ยิน รู้ว่าคงจะมีผู้มีบุญมาทดลองฤทธิ์ และโหรประจำราชสำนักได้ทูลให้ปล่อยม้าอุปการไปเสี่ยงทาย พร้อมกับให้หนุมานตามสะกดรอยไป หากใครจับไปขี่ย่อมแปลว่าคิดขบถให้จับตัวมาถวาย พระรามเห็นด้วยจึงให้ไปเชิญพระพรตและพระสัตรุตมา แล้วให้ตามม้าอุปการไปด้วย ฝ่ายนางสีดาตั้งแต่พระมงกุฎและพระลบ ขอไปเที่ยวป่า แล้วไปประลองศรก็ร้อนรุ่มใจ คิดว่าอาจมีกษัตริย์ผู้มีฤทธิ์เกิดความริษยามาจับตัวไปได้ ก็ห้ามไม่ให้ทั้งสองไปเที่ยวป่าอีก แต่โอรสทั้งสองไม่เชื่อ ลาไปป่าอีก ขณะที่กำลังเที่ยวป่าอยู่ พระมงกุฎเห็นม้าอุปการหน้าดำตัวขาวตลอดหาง เท้ามีสีแดง ก็บอกพระลบว่าเป็นม้า ประหลาด ให้ช่วยกันจับ จับได้แล้วก็พบสาสน์แขวนคอม้า เมื่ออ่านแล้วก็รู้ว่าเป็นสาสน์ของพระรามที่ปล่อยม้ามา หากใครพบให้มาบูชาม้าอุปการ แต่หากใครนำไปขี่จะถูกฆ่าตาย ก็โมโหมาก ก็จับม้าอุปการขี่ หนุมานซึ่งสะกดรอยตามมาเห็นคิดว่า สองกุมารน่าจะเป็นลูกกษัตริย์เมืองใดเมืองหนึ่ง จะฆ่าเสียก็ได้ แต่กลับแผลงฤทธิ์เข้าจับ ถูกพระมงกุฎตีด้วยศรสิ้นสติ แล้วสองกุมารก็ขี่ม้าเล่นต่อไป เมื่อหนุมานฟื้นก็คิดอุบายโดยแปลงเป็นลิงป่าเข้าไปตีสนิท พอได้โอกาสจะเข้าจับถูกตีด้วยศรล้มลง แล้วทั้งสองโอรสเอาเถาวัลย์มัดหนุมานและสักหน้าด้วยยางไม้เขียนเป็นคำสาป หนุมานแก้ไม่หลุดเดินกลับไปหาทัพพระพรตและพระสัตรุต เล่าเรื่องให้ฟัง พระพรตเอาพระขรรค์ตัดเถาวัลย์ก็ไม่ขาด เมื่อเห็นคำสาปบนหน้าผาก ก็รู้ว่าแก้ไม่ได้ จึงพากันกลับไปเฝ้าพระราม พระรามแก้มัดให้เถาวัลย์จึงหลุดออก หนุมานเล่าให้ฟัง พระรามโกรธมาก ให้หนุมานไปทูลพระพรตและพระสัตรุต ให้ไปจับตัวทั้งสองมาลงโทษให้ได้ พระมงกุฎถูกจับ เมื่อทัพของพระพรตและพระสัตรุต พร้อมด้วยหนุมานไปพบกับพระมงกุฎและพระลบ ทั้งสองจึงว่าม้านี้ไม่มีใครเลี้ยงดู อยู่ในป่าจับได้ก็ขี่ แล้วก็ไม่ได้เป็นลูกน้องพระราม หากจะจับก็ต้องรบกัน เมื่อรบกันพระมงกุฎต้องศรพระพรตสลบ ส่วนพระลบหนีไปได้ เมื่อพระรามเห็นพระมงกุฎแล้วรู้เรื่องราวทั้งหมดก็โกรธ ให้มัดตัวพระมงกุฎพาไปประจานทั่วเมือง แล้วเอาขึ้นขาหยั่งไว้สามวันให้ประหาร ฝ่ายพระลบหนีไปบอกพระฤาษีกับนางสีดา พระลบจึงขออาสาไปชิงตัวพระมงกุฎกลับ นางสีดาห้าม แต่พระลบไม่ยอม นางสีดาจึงถอดแหวนให้ โดยหาโอกาสให้แหวนนี้แก่พระมงกุฎ เมื่อพระลบตามมาถึงศรีอยุธยา ได้พักอยู่ใต้ต้นไทรใกล้ประตูเมือง แล้วไหว้เทวดาและเสื้อเมืองทรงเมืองให้ช่วยบังไม่ให้ใครเห็น และขอให้พบพี่โดยเร็ว พระอินทร์ได้ให้เทวดาแปลงกายเป็นนางงามกระเดียดหม้อมา เข้ามาถามพระลบ พระลบเล่าให้ฟังว่าจะมาดูกุมารที่ถูกจับ แต่ประตูปิดจึงไม่ได้เห็น นางจึงบอกว่าพระลบมีหน้าเหมือนคนที่ถูกจับ หากใครเห็นเข้าจะเข้าใจผิดได้ แล้วก็บอกว่าตนจะไปตักน้ำให้นักโทษ พระลบอาสาตักน้ำแล้วแอบใส่ แหวนไว้ในหม้อ พร้อมกับอธิษฐานว่า ขอให้แหวนไปสวมที่นิ้วพระมงกุฎ แล้วให้พ้นโทษกลับมาหาพระลบ นางแปลงนำหม้อน้ำไปถึงที่พระมงกุฎถูกจองจำ อ้อนวอนแก่เพชฌฆาตว่าจะนำน้ำมาให้นักโทษ เมื่อได้รับอนุญาตก็นำน้ำไปให้ แล้วแหวนก็สวมที่นิ้งนางขวา ความเจ็บปวดก็หายไป และหลุดจากถูกมัด จากนั้นพระมงกุฎก็หนีไปตามทางที่นางบอกจนไปพบกับพระลบ พระรามพบโอรส ฝ่ายพระรามรู้ว่านักโทษหนีไป ก็โกรธให้จับเพชฌฆาตทั้งสี่ขัง แล้วยกทัพไปตามจับสองกุมาร พบว่ามีหน้าตาเหมือนกัน เมื่อขณะรบกันศรทั้งสองไม่ทำลายซึ่งกันและกัน พระรามจึงอธิษฐานว่าหากกุมารนั้นเป็นเชื้อกษัตริย์ อย่าให้ศรนี้ฆ่าได้ และให้กลายเป็นอาหาร เมื่อแผลงไปก็กลายเป็นอาหาร พระรามสงสัยจึงถามสองกุมาร พระมงกุฎได้บอกว่าเป็นลูกนางสีดา แต่ไม่รู้ว่าบิดาเป็นใคร ได้อาศัยอยู่กับฤาษีวัชมฤค พระรามสงสัยเรื่องฆ่านางสีดา พระลักษมณ์ทูลความจริง พระรามสำนึกผิด เข้ามาหาพระมงกุฎกับพระลบ ขอให้ยกโทษให้ พระมงกุฎและพระลบขอโทษที่ต่อสู้ด้วย แล้วจูงมือวิ่งหนีไป พระราม พระลักษมณ์ พระพรตและพระสัตรุต ได้พากันตามสองกุมารไป พระมงกฎได้กลับไปเล่าเรื่องให้นางสีดาฟัง และบอกว่าทั้งหมดได้ตามมาถึงหน้าอาศรมนี้แล้ว นางสีดาไม่ยอมออกไป แต่นิมนต์ฤาษีไปเจรจากับพระราม เมื่อรู้เรื่องราวฤาษีคิดสงสารพระราม กลับมาไกล่เกลี่ย นางสีดาใจอ่อน ให้พระฤาษีพาพระรามมาพบ อย่างไรก็ตามนางสีดาก็ไม่ยอมกลับศรีอยุธยา พระรามจึงขอพระมงกุฎและพระลบไปอยู่อยุธยา เพื่อนางสีดาคิดถึงลูกจะได้ตามไป นางสีดายอมให้เอาโอรสไป แล้วพาพระมงกุฎและพระลบมาไหว้พระราม ฤาษีเห็นว่านางสีดายอมให้โอรสไป แต่ตัวไม่ยอมไปในเมืองด้วยก็รับปากว่าจะดูแลให้ ฝ่ายพระรามเมื่อเข้าไปอยู่ในศรีอยุธยาพร้อมกับโอรส ก็มีความคิดถึงนางสีดามาก ได้ให้พระมงกุฎและพระลบไปอ้อนวอนนางสีดาให้กลับคืนศรีอยุธยา เมื่อพบกันนางสีดาไม่ยอมกลับพร้อมกับบอกโอรสว่า ตนนั้นถูกพระรามผู้เป็นพ่อตราหน้าว่าเป็นคนชั่ว ประชาชนรู้ทั่วเมือง พระรามแกล้งสวรรคต พระรามได้คิดอุบายลวงนางสีดาให้กลับมา โดยให้หนุมานเนรมิตพระเมรุพร้อมโกศแก้วบรรจุศพ แต่ไม่มีผู้ใดรู้ว่าเป็นพระศพใคร แล้วให้หนุมานไปทูลนางสีดา นางสีดาหลงเชื่อว่าพระรามสิ้นพระชนม์ก็เสียใจ ไปลาฤาษีเข้าศรีอยุธยา หนุมานเชิญเสด็จประทับบนฝ่ามือเหาะเข้าเมือง นางสีดาตรงไปกราบโกศแก้วแล้วร้องไห้จนสลบ พระรามแอบดูอยู่เข้าไปอุ้มนางไว้ เมื่อนางสีดาฟื้นก็รู้ว่าถูกหลอก จึงตั้งสัตย์อธิษฐานขอให้แม่พระธรณีเปิดช่องให้หนีทุกข์ไปยังเมืองพญานาค เมื่อแผ่นดินแยกออกนางจึงกระโจนลงไป แผ่นดินก็ปิดตามเดิม พระรามเดินดงครั้งที่สอง พระรามเสียใจมาก ให้หนุมานไปตามแล้วกลับมาบอกว่านางสีดาไปอยู่เมืองบาดาล แคว้นท้าววิรุณนาคราช อย่างสมพระเกียรติ พระรามไม่รู้จะทำอย่างไร จึงแผลงศรไปหาพิเภก พิเภกเหาะมาเฝ้าแล้วทูลว่า พระรามกำลังมีเคราะห์ ควรไปเดินป่าหนี่งปีก็จะสิ้นเคราะห์ และนางสีดาก็จะกลับมา พระรามได้ฝากราชกิจแก่พระพรตและพระสัตรุต แล้วออกเดินป่าพร้อมพระลักษมณ์และหนุมาน ฝ่ายยักษ์ชื่อกุเวรเป็นเจ้าเมืองกาลวุธ มีมเหสีชื่อเกศินีมีโอรสชื่อตรีปักกัน ซึ่งมีนิสัยหยาบช้า ชอบรุกรานให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว วันหนึ่งได้ออกไปเที่ยวป่า พบกับพระรามพระลักษมณ์และหนุมาน ได้ให้บริวารเข้าล้อมจับจนเกิดต่อสู้กัน และตรีปักกันต้องศรพระลักษมณ์ตาย ท้าวกุเวรรู้ข่าวก็โกรธมากยกทัพออกไปรบ แต่ต้องศรพระรามตาย ศึกกุมภัณฑ์นุราช ฝ่ายยักษ์อีกตนหนึ่งชื่อกุมภัณฑ์นุราช ที่ต้องคำสาปพระอิศวรให้มาอยู่ถ้ำสุรกานต์ ออกมาจากถ้ำพบพระรามพระลักษมณ์และหนุมาน ก็คิดจะจับกิน หนุมานเข้าต่อสู้ กุมภัณฑ์นุราชถามว่าสองคนนั้นเป็นใคร เมื่อรู้ว่าเป็นพระรามก็ตกใจมาก ขอโทษหนุมาน หนุมานพาไปพบพระราม พระรามประทานอภัยให้พ้นคำสาป ฝ่ายสุครีพรู้เรื่องราวของพระรามกับนางสีดา และรู้ว่าพระรามออกเดินป่าจึงพาองคตตามไปพบพระรามที่ในป่า นิลพัทและมัจฉานุ ขอติดตามไปด้วย ศึกวายุภักษ์ ฝ่ายยักษ์ชื่อวายุภักษ์ เจ้าเมืองวิเชียรที่เนินเขาจักรวาล พาไพร่พลผ่านมาที่ป่าซึ่งพระรามประทับแรมอยู่ เห็นพระราม พระลักษมณ์ อยู่ท่ามกลางขุนกระบี่ก็อยากกิน จึงโฉบลงมาจับตัวทั้งสองพระองค์ขึ้นไป สุครีพและหนุมานตามไปชิงตัวคืน แล้ววายุภักษ์ถูกนิลพัทกับองคตตัดหัวขาด ศึกท้าวอุณาราช จากนั้นพระรามได้เดินป่าต่อไป จนถึงบริเวณอาณาเขต เมืองสิงขร ซึ่งที่นั่นเป็นสวนของยักษ์ชื่อท้าวอุณาราชและมีนนทกาลเฝ้ารักษา เมื่อนนทกาลเห็นพระรามพระลักษมณ์และเหล่าลิง ก็ให้ทหารจับตัวไปถวายท้าวอุณาราช รวมทั้งจับกินพลลิงเสีย แต่กลับสู้พลลิงไม่ได้ จึงไปทูลท้าวอุณาราช ท้าวอุณาราชก็จัดทัพออกมารบ นิลพัท อสุรผัด และมัจฉานุ อาสาออกรบ แต่ไม่สามารถเอาชนะได้ พระรามแผลงศรต้องอกท้าวอุณาราช แต่ไม่ตายหนีไปซ่อนที่สระน้ำกลางสวน ฝ่ายฤาษีโคศภ รู้ด้วยญาณว่า ท้าวอุณาราชถูกพระรามแผลงศรแต่ไม่ตาย รีบมาทูลพระรามว่า เดิมท้าวอุณาราชเป็นข้ารับใช้พระอิศวร ต่อมาเกียจคร้านไม่เข้าเฝ้า จึงถูกสาปมาเป็นยักษ์และไม่มีอาวุธใดฆ่าได้ ต้องให้พระรามถอนต้นกกแผลงไปปักอกตรึงไว้กับหิน ให้ได้รับความทรมานแสนโกฎปี พระรามจึงถอนต้นกกแผลงไปปักอกติดอยู่กับหิน แล้วสาปให้เกิดไก่แก้วกับนนทรี โดยให้นนทรีถือฆ้อนเหล็กคอยเฝ้าไว้ หากต้นกกเลื่อนหลุด ให้ไก่แก้วขัน และให้นนทรีเอาฆ้อนเหล็กตอกลงไป จนกว่าจะครบแสนโกฎปี หลังจากที่ปราบอุณาราชแล้ว ก็ครบหนึ่งพันปีพอดี พระรามได้เสด็จกลับศรีอยุธยา แล้วปูนบำเหน็จแก่ไพร่พล พระอิศวรไกล่เกลี่ย ฝ่ายพระอินทร์ได้เฝ้าพระอิศวร ทูลขอให้ช่วยไกล่เกลี่ยระหว่างพระรามและนางสีดา พระอิศวรได้ให้จิตตุราชนำรถแก้วแทรกแผ่นดินลงไปรับนางสีดามาเฝ้า เมื่อพระอิศวรฟังเรื่องราวจากนางสีดาแล้ว ก็ให้จิตตุบทนำพิชัยรถลงไปรับพระรามมาเฝ้า แล้วตำหนิพระรามว่าก่อนที่จะอวตารลงไปนั้นได้ให้พรไว้ว่า หากใครรักนางสีดา ก็จะเข้าใกล้ไม่ได้เพราะจะรุ่มร้อนเหมือนอยู่กลางไฟและไม่ให้เกิดอันตรายใด ๆ แก่นางสีดา ซึ่งก็รู้อยู่แล้วทำไมจึงระแวงกันอีก พระรามยอมรับผิดต่อหน้าพระอิศวรและเหล่าเทวดา นางสีดาก็ยอมคืนดีด้วย พระอิศวรจึงจัดให้มีพิธีอภิเษกระหว่างพระรามและนางสีดาขึ้นอีกครั้งที่วิมานเขาไกรลาส ศึกท้าวคนธรรพ์ ยักษ์ตนหนึ่งชื่อท้าวคนธรรพ์ มีนิสัยหยาบช้า ครองกรุงดิสศรีสิน มีเหสีชื่อนันทา มีโอรสชื่อวิรุณพัท ซึ่งมีนิสัยหยาบช้าเช่นกัน วันหนึ่งท้าวคนธรรพ์พาวิรุณพัทไปเที่ยวป่าฆ่าสัตว์ต่าง ๆ และยังทำลายอาศรมฤาษี จนเดือดร้อนไปทั่ว จนมาถึงเขตเมืองไกยเกษ ก็เข้าโจมตีด่านแรกแล้วจับพลเมืองมา ถามว่าเมืองของใคร แล้วจึงให้เสนาชื่อนนทการ นำสาสน์ไปให้ท้าวไกยเกษว่าให้มามอบเมืองแก่ตน แต่ขณะนั้นพระพรตกับพระสัตรุตไม่อยู่ ท้าวไกยเกษจึงให้จัดทัพป้องกันเมืองให้เข้มแข็ง แล้วให้เสนาถือสาสน์ไปทูลพระราม ฝ่ายท้าวคนธรรพ์เห็นว่าท้าวไกยเกษไม่ยอมแน่ จึงยกทัพเข้าตีได้ ท้าวไกยเกษหนีออกจากเมืองไป บรรดาเสนาของกรุงไกยเกษได้คิดอุบายหานางกำนัลสวย ๆ ไปบำเรอท้าวคนธรรพ์ เพื่อถ่วงเวลารอพระพรตและพระสัตรุต เมื่อพระรามรู้ข่าวก็โกรธ ให้พระมงกุฎและพระลบยกทัพไปรบ แล้วให้หนุมานไปเกณฑ์ไพร่พลของเมืองขีดขินและเมืองชมพูมาด้วย เมื่อทัพมาถึงเมืองไกยเกษ พระพรตให้ชามพูวราชถือสาสน์ไปให้ท้าวคนธรรพ์ให้ออกมาเฝ้า ท้าวคนธรรพ์ไม่ยอม ยกทัพออกมารบพร้อมกับวิรุณพัทโอรส วิรุณพัทต้องศรของพระลบตาย ส่วนท้าวคนธรรพ์ต้องศรของพระมงกุฎตาย ฝ่ายพระพรตนั้น เมื่อเสร็จศึกก็คิดถึงเหล่านางสนมกำนัลที่ต้องตกเป็นของยักษ์ และคิดถึงตาที่หนีไป ไม่รู้ว่าอยู่ที่ใด จึงยกทัพออก ติดตาม ฝ่ายท้าวไกยเกษ ได้หนีไปอาศัยอยู่กับฤาษีโควินท์ ได้ยินเสียงกองทัพยกมา คิดว่ายักษ์ตามมาฆ่าก็ตกใจ แต่เมื่อเห็นว่าเป็นพระพรตกับพระสัตรุต และได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ ก็ดีใจ แล้วพระพรตกับพระสัตรุตได้เชิญท้าวไกยเกษเข้าเมือง ส่วนพระมงกุฎและพระลบก็ลากลับศรีอยุธยา เมื่อไม่มีศึกสงครามกับยักษ์อีก ทุกคนก็อยู่กันด้วยความสุข..........อวสาน ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ชอนไชไปในเรื่องรามเกียรติ์ภาค ๑, ๒, ๓ (สำหรับท่านที่ยังไม่เคยอ่าน) ตอนที่1 เส้นแบ่งระหว่างธรรมะกับอธรรมอยู่ตรงไหน ที่ต้องใช้ชื่อเรื่องว่าชอนไช เพราะวิธีการเล่าเรื่องจะไม่ลำดับความตามเหตุการณ์ในต้นฉบับ แต่จะชอนไชเจาะ ประเด็นไปเรื่อย วิธีการเล่าแบบนี้มีข้อดีตรงที่อ่านความคิดได้ชัดเจน แต่มีข้อเสียตรงชวนเวียนหัว เหมือนขับรถ ในกรุงเทพฯ ที่ต้องชอนไชเข้าซอยนี้ออกซอยนั้นไปเรื่อย แต่ถ้าไม่ใช้วิธีนี้ก็ไปถึงเป้าหมายได้ช้าเหลือทน เรื่องรามเกียรติ์ที่จะพูดถึงต่อไปนี้จะอ้างฉบับพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฉบับเดียว รามเกียรติ์ของไทยมีหลายฉบับ เช่นฉบับกรุงเก่า, ฉบับกรุงธนบุรี , ฉบับรัชกาลที่ 2 หรือวรรณกรรมเทียบเคียงอย่างบ่อเกิดรามเกียรติ์ของรัชกาลที่ 6 เหตุที่อ้างฉบับรัชกาลที่ 1 อันเดียวเพราะเป็นฉบับที่เนื้อความบริบูรณ์ที่สุดและสะท้อนภูมิปัญญาไทยออกมาได้ชัดเจนมากที่สุด ตรงนี้ต้องขอชี้แจงกันก่อนว่าตัวละครที่พูดถึงนี้จะพูดถึงในฐานะที่เป็นตัวละครในวรรณคดีเอกอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็น คนละท่านกันกับความเชื่อทางศาสนา จุดประสงค์ที่เล่าเรื่องนี้ต้องการเจาะลึกภูมิปัญญาบรรพชนของเราเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องว่าด้วยกลยุทธ์ เทคนิคการจัดการ ศิลปะการเป็นเจ้านาย หรือแม้กระทั่งศิลปะการเป็นลูกน้องที่ฝรั่ง ยังไม่แต่งตำราออกมาขาย เกริ่นไปเกริ่นมาชักยาว เล่าเรื่องเลยดีกว่า เมื่อหยิบรามเกียรติ์มาอ่านใหม่ตอนทำงานแล้ว ชักสับสนกับพฤติกรรมของฝ่ายธรรมะกับอธรรมว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหนแน่ ตัวละครอย่างพระลักษมณ์ที่มีความโหดแบบสุดๆ พิเภกที่ทรยศบ้านเมืองตัวเองมาเข้าข้างฝ่ายศัตรู มาอยู่ฝ่ายธรรมะได้ยังไง ส่วนตัวละครที่เป็นสุภาพบุรุษนักรบ อย่างกุมภกรรณ อินทรชิตดันไปอยู่ฝ่ายอธรรม พฤติกรรมของตัวละครต่างๆ จะค่อยๆ เจาะลึก มาให้ดูเป็นฉากๆ ตอนนี้มาแบ่งเส้นระหว่างธรรมะกับอธรรมกันใหม่ก่อนดีกว่าครับ ว่าสั้นๆ ตรงๆ ง่ายๆ ก็คือ ประวัติศาสตร์เขียนขึ้นโดยผู้ชนะ แปลว่าในโลกแห่งความเป็นจริง ชนะแล้วเป็นธรรมะครับท่านผู้ชม ใครแพ้ก็กลายเป็นฝ่ายอธรรมไป ถ้าเรายังยึดติดความคิดเดิมที่ถูกสอนมาแต่เด็ก รามเกียรติ์ก็จะกลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อที่สุด จนไม่ได้อ่านความคิดอันลึกซึ้งของบรรพบุรุษที่แฝงอยู่ในวรรณคดีที่ยิ่งใหญ่เรื่องนี้ ธรรมะกับอธรรม หรือเทพกับมาร มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพวกสุรากับอสุรา แปลง่ายๆ แบบหนอนสุราได้ว่าสุราแปลว่าพวกขี้เมา พวกเทพนี้เป็นพวกขี้เมา ชอบร่ำสุราหรือน้ำอมฤตนั่นแล เมาแล้วเป็นอมตะไม่ตาย แต่เมาทีไรแล้วกลัวตาย ในเรื่องขณะพวกเทพ เมารำป้อกับพวกนางฟ้าสาวๆ อยู่ แล้วเจอมารบุกตะลุยแดนสวรรค์มาเมื่อไรเป็นได้เหาะหนีกระเจิดกระเจิงจนเมฆกระจุยกระจาย ฉากพวกนี้มีให้อ่านอยู่หลายตอน จนทำให้รู้ว่าบรรพบุรุษเราไม่เคยเข้าข้างฝ่ายธรรมะเลยแม้แต่นิดส่วนฝ่ายอธรรมหรืออสุราแปลว่า พวกไม่กินเหล้า แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกอสุราดีกว่าฝ่ายสุราแต่อย่างใด อย่างที่โบราณ ว่าผู้ชายไม่ขี้เมาก็เจ้าชู้ พวกอสุราจึงเป็นพวก มีเชื้อเจ้าทุกตน เป็นหม่อมเจ้าชู้ พวกยักษ์มาร อสุราในรามเกียรติ์นี้ทำให้เกิดสำนวนขึ้นมาอันหนึ่งว่าเจ้าชู้ยักษ์ แต่ผิดถูกไม่ยืนยันเพราะเดาเอาเอง พวกยักษ์ในเรื่องนี้ พอฟิตเปรี๊ยะปึ๋งปั๋งขึ้นมาก็เป็นเรื่อง ทศกัณฐ์นั่นแหละตัวดี ไล่ปล้ำดะไปหมดไม่ว่านางฟ้าหน้าไหนไม่สน หนำซ้ำยังไม่หนำใจเลยไปไล่ปล้ำ พวกช้าง พวกปลาต่อ เพราะฉะนั้นเจ้าชู้ยักษ์เป็นพวกเจ้าชู้คนละแบบกับพวกขี้หลี พวกนี้เป็นพวกเจ้าชู้แบบไล่ปล้ำดะ ส่วนพวกขี้หลี เป็นพวกเจ้าชู้แบบหมาหยอกไก่ สรุปใหม่สายตาบรรพบุรุษเรานั้น ไม่ได้แบ่งเทพกับมารเป็นธรรมะกับอธรรม แต่ท่านแบ่งเป็นพวกขี้เมากับเจ้าชู้สรุปเปรี้ยงลงมาแบบนี้ คนอ่านที่จริงจังกับชีวิตอาจจะเลิกอ่านไปก่อน ได้โปรดเห็นใจกันสักนิด ด้วยรามเกียรติ์เป็นเรื่องราวใหญ่โตเอาการอยู่ จะซีเรียสกันตลอด ก็จะเบื่อทั้งคนเล่าและคนอ่าน เอาเป็นว่าสรุปใหม่ ในหมู่คนดีมีคนชั่ว ในหมู่คนชั่วมีคนดี เพราะฉะนั้นเส้นแบ่งระหว่างธรรมะกับอธรรม ไม่ได้อยู่ที่ใครอยู่ฝ่ายไหน แต่ขึ้นอยู่กับว่าพฤติกรรมของเขาผู้นั้นเป็นเช่นไร เมื่อขีดเส้นแบ่งพวกธรรมะกับอธรรมได้ใหม่ ลองตามมาดูชนวนของสงครามรามเกียรติ์กันต่อ ก่อนที่จะไปเจาะพฤติกรรมของตัวละคร ไปอ่านความคิดคนแต่งกัน ใครที่ไม่เคยอ่านรามเกียรติ์จากต้นฉบับมักจะนึกว่าต้นเหตุของสงครามมาจากทศพักตร์ไปลักนางสีดาศรีภริยาพระรามมา แต่คนเคยอ่าน ทุกคนอ่านปุ๊บเห็นปั๊บว่าชนวนที่แท้จริงคือเรื่องอะไร แต่หลายท่านอุบไว้ไม่ยอมบอก ปล่อยให้เด็กๆ เข้าใจผิด เจตนาก็ไม่ได้ร้ายแรงอะไร เพียงแต่ท่านอยากสรุปแก่นของเรื่องรามเกียรติ์ว่าธรรมะย่อมชนะอธรรม อะไรที่ไม่ดีของฝ่ายเทพก็เลยอุบไว้ไม่ยอมบอก ชนวนของสงครามเรื่องนี้เกิดจากเรื่องขี้ปะติ๋ว เป็นเรื่องหึงหวงตบตีกันตามประสาสาวๆ เรื่องมีอยู่ว่านางสำมนักขาน้องนุชสุดท้องของ ทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นแม่หม้ายหมาดๆ เกิดอารมณ์เหงาร้าวลึก เลยเดินเที่ยวเข้ามาในป่าลึก บุพเพอาละวาดให้มาเจอพระราม เจอปุ๊บนึกพิศวาสปั๊บ เลยเสนอตัวเป็นเมียพระรามแบบตรงๆ ทื่อๆ ซื่อๆ ไร้จริตมารยาหญิง พระรามตอบปฏิเสธไป เรื่องน่าจะจบแค่นี้ แต่ไม่จบเพราะนางสำมนักขายังไม่ยอมจากไปแต่โดยดี แอบซุ่มดูอยู่ว่าเหตุใดหนอพระรามถึงไม่รับรัก แล้วก็ได้เห็นนางสีดา เลยสรุปเอาเองว่าเป็นเพราะนางสีดานี่แท้ๆ ที่ทำให้รักของตนไม่สมหวัง แอบซุ่มรออยู่จนนางสีดาอยู่กระท่อมตัวคนเดียว นางสำมนักขาจึง ออกมา ระบายเพลิงริษยา พูดจากระแหนะกระแหน ด่าทอ ลงมือตบตีกันเหมือนละครไทยสมัยนี้เลย โฮ่โฮ่ มุขอมตะจริงๆ รามเกียรติ์นี่เขียนมาราวสองร้อยปีแล้วนะครับท่านผู้ชม ตัดฉากกลับเข้ารามเกียรติ์ พระลักษมณ์เห็นพี่สะใภ้ตัวเองสู้นางอิจฉาไม่ได้ เลยโดดเข้ามาลุยผมอ่านฉากนี้ครั้งแรก อึ้ง!!! นึกไม่ถึงว่าทำไมเทพถึงโหดขนาดนี้ ตอนหลังมานั่งวิเคราะห์ก็เข้าใจพฤติกรรมได้ แต่ยอมรับไม่ได้ อย่าเพิ่งเชื่อผมครับ อย่าเพิ่งเชื่อ จนกว่าจะได้พิสูจน์ด้วยตาตัวเอง นั่นคือ พระลักษมณ์ผาดโผนโจนมา...................ถีบต้องอสุรายักษี หันเหเซไปทันที......................................ล้มลงเหนือที่สุธาธาร แล้วโจนขึ้นเหยียบอกไว้..........................แกว่งพระขรรค์ชัยฉายฉาน จึ่งมีสีหนาทบัญชาการ............................ว่าเหวยอี่มารอัปรีย์ มืงนี้สาธารณ์ทรลักษณ์............................ชั่วช้าอัปลักษณ์บัดสี เหตุใดมาทำเช่นนี้..................................ไม่กลัวชีวีจะมรณา ฯ ครั้นว่าจะฆ่าให้:-)ตาย...........................โลกจะยินร้ายไปภายหน้า กุนี้จะไว้ชีวา............................................แต่จะทำให้สาน้ำใจ ว่าพลางตัดกรรอนบาท............................ทั้งจมูกหูขาดเลือดไหล แล้วไล่ตีซ้ำกระหน่ำไป............................จนไกลอรัญกุฎี ฯ [องค์การค้าคุรุสภา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๗ เล่มที่ ๓ หน้า ๑๒๐-๑๒๑] อันนี้จะเรียกเชือดยักษ์ให้ลิงดู ดีมั้ยน้อ??? กลอนตอนนี้แสดงความโหดของฝ่ายธรรมะอย่างชัดเจน ถ้าหายช็อกแล้วลองมานึกภาพของนางสำมนักขาดู แขนสองข้าง ขาสอง หูอีกสอง ถูกตัดออกไม่เหลือ จมูกอีกอันเป็นของแถม ค่อยๆ คลานกระดิบกระดืบหนีด้วยความยากลำบาก โดยมีพระลักษมณ์ไล่ตีอยู่ข้างหลัง แล้วสงครามระหว่างธรรมะกับอธรรมก็เริ่มประทุขึ้น นางสำมนักขาหนีไปฟ้องพี่ชายที่อยู่ละแวกใกล้เคียงที่เกิดเหตุ ก่อนที่จะไปยุให้ทศกัณฐ์ มาลักนางสีดาในเวลาต่อมา พระยาทูษณ์ยกทัพออกมาลุยเป็นทัพแรก สู้พระรามพระลักษมณ์ไม่ได้ ถูกฆ่าตายไป พระยาขรรับบัญชีแค้นมาสางต่อ ทำบัญชีไปได้ไม่กี่หน้า เป็นโรคแพ้ศรตาย พระยาตรีเศียรรับบัญชีมาแล้วปิดไม่ลงตายตามไปอีกราย ทศกัณฐ์เลยรับทำบัญชีต่อพร้อมดอกเบี้ยทบต้นบานสะพรั่ง รบต่อกันอีกเป็นสิบปี ตายจนเกือบหมดวงศ์ลงกา เหตุชนวนของสงครามอันยืดเยื้อครั้งนี้มักจะโทษกันว่ามาจากผู้หญิงคนเดียวคือนางสีดา ซึ่งผิดจากความเป็นจริงตามท้องเรื่องอย่างสิ้นเชิง ผู้หญิงหนึ่งเดียวคนนั้นที่ถูกคือนางสำมนักขา แต่ถ้าจะว่าให้ถึงแก่นแล้ว ผู้ที่ทำให้สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นน่าจะเป็นพระลักษมณ์ ถ้าเทพ ไม่โหดผิดมนุษย์ธรรมดา สงครามครั้งนี้ก็คงไม่เกิด ตอนที่ 2 ทศกัณฐ์ผู้น่าสงสาร ขึ้นชื่อตอนมาอย่างนี้ยอมรับว่าเข้าข้างทศกัณฐ์ แต่เราจะเข้าข้างท่านไม่นาน เอาแค่ว่าพอล้างอคติออกไปได้ว่าทศกัณฐ์ ไม่ได้รบแพ้เพราะผลกรรมแต่ปางก่อน หรือเพราะอยู่ ฝ่ายอธรรมแต่อย่างใดก็จะเลิกเข้าข้าง แล้วตอนนั้นจะได้ย้อนมาดู สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ท่านรบแพ้ ทศกัณฐ์น่าสงสารตรงที่เป็นผู้มีปมปัญหาในจิตใจยุ่งเหยิงมาก ลองมาพิเคราะห์เจาะลึก โดยไล่ไปตั้งแต่ชาติปางก่อนตอนยัง ใช้ชื่อเป็นนนทกทำหน้าที่คอยล้างเท้าให้เทวดาผู้จะมาเฝ้าพระอิศวร ณ เขาไกรลาส นนทกทำหน้าที่ล้างถูเช็ดเท้าเทวดาอย่างดี กว่าจะล้างเสร็จแต่ละตนใช้เวลานาน นานจนเทพไม่มีอะไรจะทำ ระหว่างรอ ก็เลยตบกะโหลกนนทกเล่นบ้าง ถอนผมเล่นบ้าง จนผมเหลือน้อยแทบจะไม่มีติดกบาล นนทกก็เลยออกอาการน้อยใจ อันนี้อาจเป็นที่มาของสำนวนหัวล้านใจน้อยก็เป็นได้ ผิดถูกไม่ยืนยันตามเคย เพราะเดาตามเคย ความน้อยใจเมื่อสะสมนานเข้าก็กลายเป็นความแค้นใจ การล้างแค้นของทศกัณฐ์ภาคนนทกนี้ยังไม่ซับซ้อนพิศดาร ว่ากันตรงๆ ทื่อๆ คือแค้นต้องฆ่า ด้วยความดีที่นนทกปฏิบัติหน้าที่มาอย่างไม่เคยขาดตกบกพร่องมาตลอด เลยอ้างความดีความชอบนี้ไปทูลขอประทานนิ้วเพชร จากพระอิศวร ซึ่งพระองค์โปรดประทานให้ นิ้วเพชรนี้ถ้าชี้ถูกใครตายทันที แม้แต่เทวดาสุราฤทธิ์ที่ชอบอ้างตัวว่าเป็นอมตะก็เถอะ เมื่อได้ประทานนิ้วเพชรมา นนทกยังไม่ได้ไปไล่ชี้ไล่ล่าสังหารล้างแค้นใคร ยังคงกลับมานั่งล้างเท้าให้เทวดาตามเดิม เทวดาก็ตบกระโหลก และถอนผมนนทกเล่นแบบเดิม นนทกโมโหเลยไล่ชี้นิ้วกราดตายไปหลายตน แต่ตายไม่หมด เพราะเทวดาในเรื่องนี้มีคุณสมบัติพิเศษ อีกอย่างหนึ่งคือเป็นพวกวิ่งหนีเร็ว พวกที่หนีไปได้ก็ไปแจ้งพระนารายณ์ผู้มีหน้าที่ปราบเหล่าร้าย พระนารายณ์หลังจากได้รับแจ้งก็แปลงกายเป็นนางรำเสด็จมาชวนนนทกรำ ตรงนี้เป็นเรื่องแปลกประหลาดอยู่เหมือนกันว่าทำไมไม่ เสด็จมาจับกุมนนทกอย่างตรงไปตรงมา ทำไมต้องปลอมตัวมาหลอกกัน วิเคราะห์แบบหนอนสุราได้ว่าถ้าสู้กันตรงๆ ใครจะเป็นฝ่ายชนะ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่คนเก่งนั้นแพ้สาวสวยเสมอมาทุกยุคทุกสมัย ฮือฮือ... เดี๋ยวจะเล่าออกนอกเรื่องรามเกียรติ์ไปเสียก่อน ต้องรีบกลับเข้าเรื่อง นางรำมาถึงก็มาชวนนนทก รำคู่กัน นนทกก็ร่วมรำด้วยความยินดีปรีดา เริ่มจากท่าเทพพนม ปฐมพรหมสี่หน้า ไล่เรียงมาถึงนาคาม้วนหางวง ชี้ตรงมาถูกตัวเองตายกลายมาเป็นทศกัณฐ์ พอจุติมาเกิดเป็นทศกัณฐ์ก็ไม่เคยไปหาเรื่องฝ่ายเทพก่อนแต่อย่างใด ครั้งแรกที่เกิดเรื่องกับฝ่ายเทพ ทศกัณฐ์ยังเป็นเด็กนักเรียนอายุแค่ 14 เรียนหนังสืออยู่กับพระโคบุตรอาจารย์ชาญกล้า เรียนไปชักเครียดเลยขออนุญาตอาจารย์มาเที่ยวเล่นชมสวน ระหว่างเดินชมสวน เห็นกิ่งไม้ ดอกไม้ไหนน่าสนใจก็เด็ดติดมือมาตามประสาวัยซน ท่านเทพอรชุนเจ้าของสวนผ่านมาเห็นเข้าก็เอ็ดตะโรด่าลั่น ว่าสูเป็นใครบังอาจมาเด็ด กิ่งไม้สวนตู เป็นลูกเต้าเหล่าใคร แล้วขู่ว่าจะฆ่าว่าให้ตาย (ตูกับสู คนเล่าแปลงให้ฟังสุภาพ ระรื่นหูขึ้นหน่อย ต้นฉบับจริงใช้ภาษาพ่อขุนรามฯ ตลอด) เด็กชายทศกัณฐ์ได้ฟังก็เลือดเดือดแดงขึ้นหน้าทั้งสิบหน้า ด่าสวนกลับเจ้าของสวนไปว่า ตูไม่รู้นี่หว่าว่านี่เป็นสวนของสู นึกว่าเป็นป่าขึ้นเองตาม ธรรมชาติ (เจตนาอาจเสียดสีอยู่ในทีว่าสวนอะไรวะ เจ้าของไม่เคยดูแลปล่อยให้รกอย่างกับป่า) เรื่องแค่นี้จะมาขู่ฆ่ากัน ถึงจะเด็กแต่ตูไม่กลัวสูหรอกเหวย ว่าแล้วก็สู้กัน เด็กมารอายุ 14 หรือจะสู้ผู้ใหญ่ฝ่ายเทพได้ เด็กชายทศกัณฐ์พ่ายแพ้หมดรูปถูกจับมัด โชคยังดีที่พระโคบุตรอาจารย์ตามมาช่วยทัน เรื่องทะเลาะเบาะแว้งครั้งนี้เลยจบลงแบบง่ายดาย แต่ความแค้นครั้งนี้ได้ฝังลงอยู่ไปในใจทศกัณฐ์เรียบร้อยแล้ว ซ้ำยังเป็นแค้นที่ไม่อาจชำระ เนื่องจากอรชุนตายไปก่อนที่ทศกัณฐ์จะโตพอมาล้างแค้นได้ เหตุการณ์ทะเลาะกับฝ่ายเทพครั้งที่สอง เป็นเหตุการณ์ที่แค้นสุดขีดตามล้างตามเช็ดอยู่นานก็ไม่หายแค้น เรื่องมีอยู่ว่าหลังจากทศกัณฐ์เรียน หนังสือจบ โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้ทำความดีความชอบผลักเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระอิศวร ซึ่งเอียงเซไปให้ตรงกลับคืนเข้าที่เดิมได้ พระอิศวรเลยประทานนางมณโฑมาให้ ตรงนี้มีเรื่องแทรกให้เห็นความทะลึ่งไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงของทศกัณฐ์อยู่เรื่องหนึ่ง แต่ขอข้ามไปก่อน เพราะถ้าเล่าตอนนี้ เดี๋ยวจะไม่เหมือนชื่อตอน พอได้รับประทาน (ไม่ได้แปลว่ากินนะจ๊ะ) นางมณโฑมาก็รีบเหาะกลับลงกาทันที ระหว่างทางผ่านกรุงขีดขินอันเป็นที่อยู่ของพาลีก็เกิดเรื่อง พาลีที่อยู่ฝ่ายเทพนี่แหละที่เป็นฝ่ายหาเรื่อง ท่านกำลังนั่งปรึกษาราชกิจกับข้าราชการอยู่ เหลือบมองออกหน้าต่างเห็นยักษ์เหาะผ่านไปแว้บๆ สะดุดตาตรงมันอุ้มผู้หญิงมาด้วยนี่หว่า สวยด้วย รวดเร็วกว่าความคิด ถีบร่างทะยานเหินหาวขึ้นสู่อัมพรสถาน พาลีธิราชแปลได้ว่าจอมพาลผู้ยิ่งใหญ่ หาเรื่องทันที ชี้หน้าด่าไปว่า ไอ้ยักษ์บ้า ทำไมมาเหาะข้ามหัวตู ช่างไม่เกรงกันเสียบ้างเลย พูดพลางตาชำเลืองมองนางมณโฑทศกัณฐ์เลยด่าตอบกลับไปว่า ไอ้ลิงบ้าท้องฟ้านภากาศนี้ เป็นสัญจรสถานสำหรับผู้เหาะได้ทั้งหลายไว้ใช้เดินทางกัน สูอย่ามาหาเรื่องตูนะเหวย ไอ้ลิงบ้าตอบว่ายังไงหรือครับ นางที่สูพามาด้วยจะเป็นเมียตู ไม่ต้องพูดมากไอ้ยักษ์ มาๆ มาสู้กัน (เห็นลักษณะอันธพาลของพวกแอบอ้างเป็น ฝ่ายเทพชัดมั้ยจ๊ะ) ยักษ์ทศกัณฐ์เสียทีที่มีตั้งยี่สิบหัตถ์ดันสู้แพ้ลิง 2 มือ เจ็บกายเพราะถูกอัดไปหลายตุ้บ แต่ไม่เท่ากับเจ็บใจที่เสียนางมณโฑไป แม้ว่าต่อมา พระโคบุตรอาจารย์จะไปบอกให้พระอังคตมุนีอาจารย์พาลีไปว่ากล่าวจนพาลียอมคืนนางมณโฑมาให้ แต่ยังเจ็บใจไม่หาย เพราะพาลีเอา นางมณโฑไป ปู้ยี้ปู้ยำจนเกิดลูกชู้ขึ้นตำตาตำใจชื่อองคต กระบวนการแก้แค้นอันซับซ้อน จึงเริ่มต้นขึ้น วิธีแก้แค้นของทศกัณฐ์นั้นดูเหมือนแปลก เพราะแค้นผู้หนึ่งแต่ไปแก้แค้นเอากับอีกผู้หนึ่ง ครั้งแรกแปลงกายเป็นปูยักษ์ไปแอบซุ่มรออยู่ ในสระที่พาลีจะพาองคตมาลงสรง กะว่าจะหนีบองคตลูกชู้ให้ตายคาก้าม ตรงนี้วิเคราะห์ไม่ยาก เพราะตราบใดที่องคตยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็น เสมือนประจักษ์พยานว่าทศกัณฐ์เคยพ่ายแพ้ต่อพาลีอย่างยับเยินทั้งกายใจ แผนการครั้งแรกไม่สำเร็จ ถูกพาลีจับได้ และถูกตอกย้ำรอยแค้นหนักขึ้นไปอีก ด้วยการจับมัดปูยักษ์ทศกัณฐ์มาให้องคตลากเล่นเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน รอดชีวิตมาได้อย่างสะบักสะบอมเต็มที เพราะพาลีให้กินเศษข้าวแค่วันละปั้นเท่านั้น ครั้งที่ 2 แก้แค้นได้สำเร็จด้วยฝีมือลูกรักชื่อรณพักตร์ ผู้เป็นสุดยอดฝีมืออันดับหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ เรื่องฝีมือรณพักตร์จะอธิบายให้ฟัง อย่างละเอียดตอนว่าถึงกลยุทธ์และศิลปะการเป็นลูกน้องรณพักตร์หลังจากเรียนสำเร็จสุดยอดวิชาจากพระโคบุตรอาจารย์เดียวกับท่านพ่อ ก็กลับลงกามารายงานตัว ท่านพ่อสิบเศียรได้ฟังลูกรักรายงานความสำเร็จระดับเกียรตินิยมเหรียญทอง สิบเศียรผงกด้วยความปลาบปลื้มตลอด สิบปากจึงร้องสั่งลูกรักไปว่าอย่ารอช้าลูกเอ๋ย จงรีบยกทัพขึ้นไปรบกับพระอินทร์โดยเร็วเถิด ตรงนี้ไม่ได้เล่าผิดเรื่องแต่ประการใด นี่แหละ กระบวนการแก้แค้นอันซับซ้อนของทศกัณฐ์ พาลีนั้นเป็นโอรสพระอินทร์ แต่เป็นลูกชู้ที่เกิดกับนางกาลอัจนาเมียพระโคดมฤาษี สุครีพน้องชายพาลีก็ลูกชู้เหมือนกัน แต่เกิดกับพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายเทพเหมือนกัน เล่ามาถึงตอนนี้ชักงงว่าเทพจะเอาไงแน่ ไม่รู้จะอยู่ฝ่ายขี้เมาหรือเจ้าชู้ กลับเข้ามาเรื่องฝ่ายมารต่อดีกว่า เดี๋ยวจะมึน ทศกัณฐ์นั้นถ้าจะใช้ให้รณพักตร์ไปอัดสั่งสอนพาลีนั้นทำได้สบายมาก เพราะฝีมือห่างชั้นกันเยอะ แต่ที่ไม่ทำเพราะมันไม่แสบ จะให้แสบถึงทรวงทะลุทะลวงถึงกึ๋น มันต้องอย่างนี้ ให้ลูกเราไปอัดพ่อมัน รณพักตร์ได้รับบัญชาจากพระบิดามิได้รอช้า ยกทัพขึ้นไปดาวดึงส์สวรรค์ ไปถึงรบกันอยู่แป๊บเดียวก็รู้ผล พระอินทร์หนีญะญ่ายพ่ายจะแจ ทำจักรอันเป็นอาวุธคู่กายหล่นยังไม่กล้าเสียเวลาเก็บ เห็นจักรเป็นกงจักร ขืนอยู่เสียเวลาเก็บจักร จักรจักบั่นเศียรกระเด็น ลูกน้องรณพักตร์ จึงเก็บจักรนั้นมาให้เจ้านาย พอได้อาวุธสำคัญของศัตรูมาไว้ในมือ มีสิ่งประกาศชัยชนะก็เลิกทัพยกกลับกรุงลงกา พระบิดาก็ประทานนามใหม่ ให้ว่าอินทรชิต แปลว่าผู้ชนะพระอินทร์ ที่เล่ามายืดยาวทั้งหมดนี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าสาเหตุที่ทศกัณฐ์ไม่ยอมคืนนางสีดาให้พระรามมาจากปมปัญหาอันยุ่งเหยิงในจิตใจ ถูกเทพหาเรื่อง กลั่นแกล้ง แย่งเมีย วิธีการแก้แค้นเลยลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนหลายปม การลักพาตัวนางสีดามากักขังไว้ แล้วหมั่นเกี้ยวให้นางสีดาใจอ่อน ไม่ใช้วิธีปล้ำอย่างที่ถนัด ถ้าทำได้สำเร็จ นางสีดารับรักตนก็จะคลายปม ปัญหาทุกปมออกไปจากจิตใจได้ ไม่ว่าเรื่องถูกผู้หญิงหลอก ถูกแย่งเมีย และที่สำคัญเป็นการแก้แค้นฝ่ายเทพได้แบบแสบไส้ อย่างนี้นี่เอง ถึงตั้งชื่อตอนว่าทศกัณฐ์ผู้น่าสงสาร ตอนที่ 3 กลยุทธ์คือตัวตัดสินผลแพ้ชนะ มาถึงตอนนี้คงเลิกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ย้อนมาพิจารณาเรื่องราวที่แท้จริงของเรื่องรามเกียรติ์กันได้แล้ว ทางที่ดีเตรียมกินยาแก้ปวดหัว กันไว้ก่อนก็ดี ส่วนคนเล่าไม่กินยา กินเบียร์ดีกว่า ฮ่าฮ่า เอิ๊ก เรื่องกลยุทธ์เป็นเรื่องชวนปวดหัวทั้งคนเล่าและคนอ่าน เพราะลึกซึ้งซับซ้อน ครั้นจะไม่เล่าก็ไม่ได้ เพราะเป็นหัวใจของเรื่อง ไม่ใช่เรื่องของหัวใจ เตร่ง เตรง เตร้ง เตร๋ง... อันว่ากลยุทธ์นี้ เรามักจะจดจำกลยุทธ์ของผู้แพ้ได้มากกว่าผู้ชนะ เพราะเรามีอารมณ์ร่วมได้มากกว่า โดยการเติมประโยคถ้าเพียงแต่...เข้าไป ผิดกับกลยุทธ์ของผู้ชนะที่ดูแล้วไม่น่าตื่นเต้น ทุกอย่างสะดวกดายลงตัวไปหมด เหมือนฟ้าลิขิตมาแต่ชาติปางก่อน ทั้งที่ความจริงกว่าจะง่ายได้ มันผ่านการครุ่นคิดและวางแผนอย่างยากลำบากมาก่อน เพื่อเป็นการเอาใจท่านผู้ชม ผมขอเสนอกลยุทธ์ของผู้แพ้ให้ดูก่อน แต่ก่อนดูกล เรามาสรุปประเด็นหลักของกลยุทธ์ที่ทำให้พระรามชนะ ทศกัณฐ์แพ้ อีกย่อหน้าหนึ่งก่อน เป้าหมายของกลยุทธ์คือประเด็นหลักที่ทำให้สงครามลงเอยเช่นนี้ ฝ่ายลงกานั้นทุกกลเล่นเพื่อให้ศัตรูดูแล้วหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ยกทัพกลับ อยุทธยาไป แค่นี้ก็พอใจแล้ว ส่วนฝ่ายอยุทธยา ไม่ได้ต้องการแค่ชิงนางสีดาคืน แต่ต้องการชิงเมืองลงกา เป้าหมายของกลยุทธ์ที่ต่างกันนี้ ทำให้ แทบจะกำหนดผลของการสู้รบได้ตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ยังไงกลไม่ว่าจะเป็นกลแบบเจ๋งๆ กลเฉิ่มๆ ก็น่าดูทั้งนั้น กลอันแรกที่จะนำเสนอเป็นกลของกุมภกรรณน้องชายทศกัณฐ์ กุมภกรรณนั้นไม่ได้อยากมีส่วนร่วมในสงครามครั้งนี้ด้วยเลย เพราะเห็นว่าการ เอาชีวิตไพร่พลมาแลกกับนางสีดาคนเดียวนั้นไม่คุ้ม แต่จะทำไงได้ เมื่อท่านพี่ผู้เป็นเจ้านายสั่งมา น้องผู้เป็นลูกน้องก็ต้องทำตามคำบัญชา เมื่อความคิดเริ่มต้นคือไม่อยากรบ กลที่กำหนดขึ้นก็ต้องทำไปเพื่อตัดศึก ซึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่าการตัดเสบียงข้าศึก แต่กุมภกรรณท่านคิดลึกกว่า ท่านเลยไปตัดทางน้ำไม่ให้ไหล ไม่ให้กินข้าวคงทนได้เป็นวันๆ แต่ไม่มีน้ำทนได้ไม่นานหรอก แต่เสียดายเรื่องนี้มีคนดูกลชื่อพิเภกที่ชอบมา เผยไต๋ญาติโกโหติกาอยู่เสมอ กลฝ่ายลงกาเลยไม่เคยประสบผล อีกกลหนึ่งเป็นกลเฉิ่มๆ ทศกัณฐ์รู้ดีว่าถ้าฝ่ายพระรามขาดพิเภกไป รูปแบบสงครามคงเปลี่ยน คิดได้ดังนั้นท่านเลยปลอมตัวเป็นฤาษีไปยุ ให้พระรามเนรเทศพิเภกออกจากกองทัพ กลเฉิ่มๆอาจจะหลอกคนดูได้สำเร็จถ้าเข้าใจคนดู แก๊กกลเฉียบหรือไม่ไม่สำคัญเท่ากับต้องโกหก หน้าไม่เปลี่ยนสี ไม่ใช่เล่นกลทีไรสิบหน้าเดี๋ยวซีดเดี๋ยวแดงอย่างทศกัณฐ์ คนจีนมีทฤษฎีวิเคราะห์ผู้นำที่ประสบความสำเร็จในอดีตแปลกดี ชื่อว่าศาสตร์หน้าด้านใจดำ กิมย้งเคยเอามาวิเคราะห์ในดาบมังกรหยก ว่าโจโฉคือตัวอย่างของผู้ใจดำอย่างถึงที่สุด ส่วนเล่าปี่คือตัวอย่างของผู้หน้าด้านอย่างถึงที่สุด ตรงนี้ผมขอไม่วิเคราะห์รายละเอียดต่อ เดี๋ยวจะกลายเป็นคนละเรื่องไป แต่ที่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาแทรก เพื่อชี้ให้เห็นว่าทศกัณฐ์นั้นไม่มีทางยิ่งใหญ่ได้เลย ถ้าวัดตามมาตรฐานของศาสตร์นี้ สุดยอดของนักเล่นกลฝ่ายลงกา และเป็นสุดยอดนักเล่นกลของเรื่องนี้ต้องยกให้อินทรชิต ขนาด หนุมานที่เป็นยอดนักเล่นกลเหมือนกัน ยังอ่านไต๋ไม่ออก มีแต่พิเภกผู้เป็นอาเท่านั้นที่อ่านออก กลอันแรกเป็นกลระดับธรรมดา ตอนยกทัพออกมารบกับพระลักษมณ์ครั้งแรก อินทรชิตให้วิรุญมุขปลอมตัวเป็นท่านยืนอยู่หน้ารถศึก ส่วนตัวจริงเหาะขึ้นไปแอบกลีบเมฆไว้ พอได้จังหวะก็แผลงศรนาคบาศมารัดพระลักษมณ์ ได้ชัยชนะครั้งแรกมาอย่างง่ายดาย กลอันที่สองเป็นสุดยอดของกลที่มีอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์ ว่ามาอย่างนี้เดี๋ยวท่านผู้ชมหมั่นไส้ ต้องต่อสร้อยหน่อยว่าในทัศนะ ที่ว่าสุดยอดนั้นเพราะแก๊กกลเฉียบคมมาก และวิธีแสดงก็แนบเนียนไม่มีที่ติ ก่อนแจกแจงสุดยอดกลยุทธ์อันยอดเยี่ยมของอินทรชิตให้ดูต่อ ต้องย้อนกลับมาเล่าภูมิหลังของเรื่องนิดหนึ่ง ไม่อย่างนั้นคนไม่เคยอ่าน รามเกียรติ์อาจจะงงจนคิดตามไม่ทัน คนที่รู้เรื่องรามเกียรติ์ดีอยู่แล้วเลยต้องเสียเวลาอ่านเหตุการณ์ก่อนอีกหน่อย แต่ผมก็ยังนึกวิธีเล่า ที่ดีกว่านี้ไม่ออก การเล่าเป็นหัวข้อแทนลำดับตามเหตุการณ์ในเรื่องนั้น ทำให้เราอ่านความคิดคนแต่งได้ง่ายกว่า ซึ่งพอเล่าแบบนี้ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเลี้ยวเข้าซอยนู้นออกซอยนี้อยู่เรื่อย ซอยแรกที่จะพาเข้ามาเป็นซอยลิง ต้องเล่าย้อนมาก่อนว่าลิงที่เกณฑ์มาอยู่ในทัพพระรามมาจากสองเมืองคือเมืองขีดขิน ซึ่งเดิมพาลี เป็นเจ้าเมืองอยู่ กับอีกเมืองคือเมืองชมพูที่ท้าวมหาชมพูเพื่อนรักของพาลีเป็นเจ้าเมือง ไพร่พลทั้งสองเมืองนี้ไม่ได้เต็มใจมารบด้วยทั้งหมด เมืองขีดขินนั้นสุครีพเชิญพระรามไปช่วยทำรัฐประหารฆ่าพาลีตาย การมาร่วมรบ ครั้งนี้มาเพื่อตอบแทนบุญคุณพระราม ไพร่พลที่เป็นลูกน้องสายพาลีนั้นน่าจะพอมีเหลืออยู่ ส่วนเมืองชมพูนั้นไม่ได้เต็มใจมาทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ที่ต้องมาเพราะรบแพ้พระราม จะว่ามาในฐานะเชลยสงครามก็ไม่ผิด กลของอินทรชิตที่ผมว่าสุดยอด คิดแก๊กได้เฉียบคม เพราะจับจุดอ่อนของข้าศึกได้ แก๊กคือปลอมตัวเป็นพระอินทร์ยกทัพมารบกับพระลักษมณ์ อินทรชิตนั้นเรียนจบแล้วได้รับประทานศรจากเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ทั้งสามท่านละ 1 เล่ม และได้รับคาถาให้แปลงกายเป็นพระอินทร์มาจาก พระอิศวรเป็นของแถม พระพรหมให้พรว่าถ้าตัวตาย โดยหัวหลุดออกจากบ่าจะกลายเป็นไฟกัลป์ทำลายโลก ส่วนพระนารายณ์ให้ศรอย่างเดียว ไม่มีของแถม วิธีแสดงกลของอินทรชิตนั้นแนบเนียนมาก นอกจากปลอมตัว ปลอมช้างทรงเป็นช้างเอราวัณแล้ว ที่ยากไปกว่าคือจับไพร่พลทั้งหมดมาดัดสันดาน ใหม่หมด ปกติพวกยักษ์เวลาจะไปรบทัพจับศึกก็โห่ฮึกอึกทึกกันไป อินทรชิตจับมาดัดสันดานใหม่ให้มีลักษณะเหมือนพวกเทพ ดีดสีตีเป่า บรรเลง เพลงไปตลอดทาง ศึกครั้งนี้ฝ่ายพระลักษมณ์ได้แต่งงว่าพระอินทร์ ซึ่งเป็นฝ่ายเทพด้วยกันทำไมยกทัพมา ยังไม่ทันหายงงก็เลยถูกศรพรหมาสตร์บาดเจ็บสาหัส ส่วนหนุมานเป็นพวกคิดเร็วตัดสินใจเร็ว โดดเข้าสู้กับพระอินทร์แปลงทันที แต่สู้ไม่ได้ถูกฟาดสลบเหมือดคาที่ แต่ก่อนสลบด้วยความมือไว ยังหักหัวช้างเอราวัณแปลงติดมือมาได้ ถ้าไม่ได้พิเภกตามมาเฉลยกล ศึกครั้งนี้จบ จะยกมารบกับลงกาใหม่ลำบาก ลองตามเข้ามาวิเคราะห์สุดยอดกลของอินทรชิตดู ไพร่พลของฝ่ายอยุทธยาครั้งนี้เป็นพวกลิงทั้งนั้น พวกที่มาจากเมืองชมพู เจ้าเมืองเป็นเพื่อนรักกับพาลี ส่วนที่มาจากขีดขิน แม้ว่าสุครีพจะ รัฐประหารพาลีได้สำเร็จ แต่กระแสนิยมนายเก่าน่าจะมีอยู่บ้าง พระอินทร์นี่เป็นพ่อพาลี ถ้าเราสวมรอยทำเป็นว่าพ่อตามมาล้างแค้นให้ลูก ไม่ต้องรบเราก็ชนะแล้ว สาเหตุที่ทำให้พระรามต้องถอยทัพทันที ถ้าพิเภกไม่มาเฉลยกล ประการแรกกองทัพจะเกิดความระส่ำระสายแตกแยกออกเป็นพวกพาลี กับพวกสุครีพ อีกประการคือต้องรบแบบระแวงหลังตลอดเวลา ไม่รู้พระอินทร์จะเกณฑ์ทัพมาตีอีกเมื่อไร ในเรื่องยังมีกลที่น่าดูของฝ่ายผู้แพ้อยู่อีกหลายอัน ถ้าเป็นไปได้อยากให้ได้อ่านเองจากต้นฉบับแล้วลองวิเคราะห์ดู น่าจะดีกว่าอ่านจาก ที่ผมเล่ามาเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้เห็นความลึกซึ้งแลทึ่งภูมิปัญญาบรรพบุรุษเราเป็นอย่างยิ่ง ย้อนกลับมาดูกลของผู้ชนะ ดูแค่อันเดียวที่เป็นตัวชี้ผลแพ้ชนะก็พอ จะได้อธิบายละเอียดหน่อย กลตอนนี้นิยมเอามาเล่นโขนบ่อยชื่อตอนองคตสื่อสาร ราชสารสมเด็จพระหริวงศ์..............................ผู้ทรงครุฑราชปักษา เอาพระยาอนันตนาคา....................................มาเป็นบังลังก์อลงกรณ์ สถิตยังเกษียรชลธาร......................................แทบเชิงจักรวาลสิงขร ฤาษีเทวาวิชาธร..............................................สโมสรแซ่ซ้องบังคมคัล ประชุมเชิญเสด็จไวกุณฐ์.................................ยังประยูรจักรพรรดิรังสรรค์ มาล้างอสุราอาธรรม์.......................................ที่มันเป็นเสี้ยนแผ่นดิน ทรงนามสมเด็จพระราเมศ.............................มงกุฎเกศไตรภพจบสิ้น หน่อท้าวทศรถภูมินทร์....................................เป็นปิ่นทวาราวดี อันนางสีดายุพาพักตร์......................................คือองค์นงลักษณ์พระลักษมี ท้าวทศเศียรอสุรี.............................................ไปลักเทวีมาไว้ จึ่งยกแสนยาพลากร........................................ข้ามมหาสาครสมุทรใหญ่ ตามมาจะผลาญชีวาลัย..................................แล้วมีพระทัยกรุณา จึ่งแต่งร่างราชทูตถือสาร..............................หวังประทานชีวิตยักษา จงเชิญนางทูนเศียรอสุรา..............................ไปถวายบาทาพระจักรี ฯ [องค์การค้าคุรุสภา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๗ เล่มที่ ๔ หน้า ๓๑๒-๓๑๓] เล่าเป็นร้อยแก้วเลยท่าจะง่ายกว่า เพราะกลอนตอนนี้มีศัพท์ยากๆ อยู่หลายคำ แต่ที่ยกมาให้ดูด้วยเพราะกลอนตอนนี้เพราะดี เนื้อความของสารมีอยู่ว่า พระรามผู้เป็นเจ้านายตูคือพระนารายณ์ผู้อวตารมาเกิดจากการประชุมทูลเชิญของเหล่าเทวดาให้มาปราบพวกบรรดายักษ์หนักแผ่นดินให้สิ้นซาก เจ้านายตูยกทัพอันยิ่งใหญ่มาจากอยุทธยา ข้ามน้ำข้ามทะเลมาลงกา เพราะสูไปลักนางสีดามา นางสีดาที่สูไปลักพาตัวมานั้นคือพระลักษมีชายา พระนารายณ์อวตาร สูช่างไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ทีแรกเจ้านายตูกะว่าจะฆ่าสูให้ตาย แต่ยังกรุณาสูอยู่ ถ้ารู้สำนึกจะไว้ชีวิตสู ให้สูเอานางสีดาทูนศรีษะ ไปส่งคืน พร้อมกราบเท้าขอขมาโทษงามๆ เนื้อความนั้นชัดเจนว่าไม่ได้มาเจรจาสงบศึก แต่มาประกาศท้ารบอย่างโจ่งแจ้ง เพราะพระรามต้องการให้เกิดสงครามครั้งนี้อยู่แล้ว อีกประเด็นที่ พิจารณาเห็นความลึกซึ้งของพระรามคือการใช้องคตมา แทนที่จะเป็นลิงตัวอื่น ตรงนี้ต้องตามเข้ามามองในมุมของทศกัณฐ์ พระรามนี่แสบจริงๆ ลิงตัวอื่นมีอยู่มากมายดันไม่ใช้ ทำไมต้องเจาะจงมาเป็นองคต แล้วความอัปยศครั้งเก่าของตูมิรู้เต็มหูเสนาน้อยใหญ่หรือนี่ องคตป่าวประกาศความอัปยศของทศกัณฐ์ตามที่ท้าวสิบเศียรคิด พระรามคิด ฉีกหน้าสิบหน้าของทศพักตร์ขาดกระจุยไม่มีชิ้นดี เมื่อตูยังเด็กนั้นยังจำได้ พ่อพาลีตูจับปูยักษ์มาได้ตัวหนึ่ง หน้าตาคล้ายๆ สูนี่แหละ ตูลากเล่นอยู่ 7 วันเต็มๆ ถ้าตอนนั้นไม่เมตตาให้มันกินข้าวเหลือๆ วันละปั้น ป่านนี้ชีวิตมันคงไม่เหลือรอดมาคุยโตกับตูอยู่ตรงนี้หรอก ความลึกซึ้งของพระรามนั้นอยู่ตรงที่อ่านทะลุก้นบึ้งหัวใจของทศกัณฐ์ สิบหน้าบางๆ ของยักษ์ระดับนี้คือเรื่องสำคัญที่สุด การจะกู้หน้าทั้งสิบคืนมาได้ต้องรบชนะ โดยไม่ยกญาติโกโหติกามาตะลุมบอนกินโต๊ะเราเป็นแน่แท้ ถ้าทศกัณฐ์ไม่ได้รบเพื่อกู้หน้า เพื่อรักษาศักดิ์ศรี ทัพจากอยุทธยาคงแหลกเป็นผุยผง เพราะกำลังพลของฝ่ายลงกานั้นเหนือกว่ามาก นอกจากนั้น ยังมีเมืองน้า เมืองอา เมืองญาติ เมืองเพื่อน ที่สามารถเรียกระดมกองทัพมาได้ มาแล้วจะมีกำลังพลมากกว่าฝ่ายพระรามมากกว่าสิบเท่า แต่พระรามรู้ซึ้งว่าขัตติยมานะ หรือเรียกด้วยภาษาปัจจุบันว่าศักดิ์ศรีแห่งผู้นำเป็นเรื่องสำคัญ เราลองนึกภาพตามดูว่ามีใครบ้างที่ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของตน จะยอมใช้ความได้เปรียบมาสู้กับศัตรู ถ้าต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีอย่างเดียวแล้วรับประกันว่าไม่มี เพราะคนระดับนี้คิดว่าถ้าใช้ความได้เปรียบมาสู้ ถึงได้ชัย ก็ไร้เกียรติ ผลสุดท้ายก็เลยจบลงโดยไร้ทั้งเกียรติไร้ทั้งชัย ฝรั่งว่าเริ่มต้นดีเท่ากับสำเร็จไปครึ่ง ส่วนนักหมากรุกไทยไม่มีคำคม แต่รู้ดีว่าถ้าขึ้นหมากบีบให้คู่ต่อสู้เดินตามวิธีของเราได้แล้ว ไม่ต้องเล่นต่อ จนจบกระดานให้เสียเวลาของคนดู ตอนที่ 4 ศิลปะการเป็นลูกน้อง นอกจากกลยุทธ์อันยอดเยี่ยมในเรื่องแล้ว สิ่งที่ทำให้ผมชื่นชมรามเกียรติ์มากคือเรื่องศิลปะการเป็นลูกน้อง ซึ่งผมไม่เคยเห็นตำราเรื่องนี้ จากที่ไหนมาก่อน ทั้งที่ศิลปะการเป็นลูกน้องเป็นเรื่องที่สำคัญมาก คนที่เป็นลูกน้องแบบไม่เอาไหน อย่าหวังเลยว่าจะได้ไปเป็นเจ้านายคนอื่น หรือถึงได้เป็นก็จะเป็นเจ้านายที่ไม่ได้เรื่อง ลูกน้องไม่ชอบขี้หน้า งานการไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ เล่าเรื่องเลยดีกว่า ออกนอกเรื่องทีไรแล้วยาวทุกที สุดยอดของสุดยอดลูกน้องคือพระเอกยอดนิยมตลอดกาลนามหนุมานชาญสมร แต่ก่อนจะเล่า ขอชี้แจงว่าคงต้องเล่าถึงลูกน้องคนอื่นประกอบไปด้วยถึงจะเห็นข้อดีข้อเสียของหนุมานอย่างชัดเจน ลูกน้องคนแรกที่ขอพูดถึงก่อนเป็นน้องเขยทศกัณฐ์ ชื่อว่าชิวหาสามีนางสำมนักขา ที่เอาเรื่องชิวหามาเล่าก่อน ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายยักษ์ แต่เป็นเพราะ ชิวหาทำงานผิดพลาด แล้วหนุมานมาพลาดตามในรูปแบบเดียวกันเป๊ะ เรื่องมีอยู่ว่าก่อนหน้าที่จะเกิดสงคราม ตอนสมัยลงกายังสงบสุข ทศกัณฐ์เพิ่งได้นางมณโฑมาเป็นภริยาได้ไม่นาน ชักชวนกันไปฮันนีมูนนอกเมือง ไปประพาสชมสวนเล่นให้เย็นอุรา เลยฝากเมืองลงกาให้ชิวหาคอยดูแลให้ดี ชิวหารับบัญชามาก็ดูแลอย่างดีเกินขนาด ทั้งวันทั้งคืนเที่ยวลาดตระเวน ตรวจตราไปทั่วเมือง ทั้งวันทั้งคืนนี้ไม่ใช่สำนวนแต่เป็นเรื่องจริง เพราะฉะนั้นตรวจอยู่ได้ 7 วัน 7 คืน ท่านชิวหาก็ง่วงนอนจนทนไม่ไหว สมัยนั้น ยังไม่มีเครื่องดื่มชูกำลังประเภทห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวดขาย แต่ถึงมี 20 ขวดก็คงเอาไม่อยู่ เมื่อทนไม่ไหวก็ต้องนอนหลับ แต่ก่อนจะหลับด้วยความเป็นห่วงบ้านเมือง ชิวหาเลยนิรมิตตนขึ้นใหญ่เท่าภูเขา แล้วอ้าปากอมเมืองทั้งเมืองไว้ พริ้มหลับตาลงด้วยความเหนื่อยอ่อน ทศกัณฐ์เสร็จจากฮันนีมูนกลับมา คงจะกลับมาดึก เพราะกลอนเขียนว่ามองไปไม่เห็นแสงไฟจากในเมืองแม้แต่ดวงเดียว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ประหลาด ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ใครจะไปคิดว่าลูกน้องที่สั่งให้เฝ้าเมืองไว้ดันมาทะลึ่งอมเมือง คิดว่าศัตรูคงยกมาปล้นเมืองเป็นแน่แท้คิดได้ดังนั้นเลยร่อนจักร ไปยังตำแหน่งที่เมืองตั้งอยู่ จักรร่อนไปตัดลิ้นชิวหาขาดตายคาที่ หนุมานทำผิดพลาดแบบเดียวกันกับชิวหาเป๊ะ ต่างกันตรงที่หนุมานเปลี่ยนจากอมเมืองมาเป็นอมกองทัพ เรื่องมีอยู่ว่าพิเภกทำนายฝันของพระรามว่าจะมีศัตรูลอบเข้ามาทำร้าย ทางฝ่ายพระรามเลยจัดตรวจตราเวรยามคอยระวังศัตรู หนุมานเพิ่งได้รับ มอบหมายงานใหญ่เป็นครั้งแรกยังไม่ประสีประสา เลยใช้วิธีแบบมักง่าย เนรมิตกายให้ใหญ่เท่าภูเขา แล้วอ้าปากอมกองทัพไว้ รูปหนุมานตอนนี้ เป็นรูปที่สวยมาก ผมเคยเห็นปฏิทินรูปนี้ครั้งหนึ่ง เสียดายตอนนั้นไม่ได้อ่านคำบรรยายประกอบ แต่เห็นหนุมานหลับตาพริ้มอ้าปากหวออย่างมีความสุข ที่หลับตาพริ้มนั้นไม่ใช่อมกองทัพปุ๊บแล้วหลับปั๊บ แต่เป็นเพราะไมยราพลูกน้องทศกัณฐ์ย่องมาสะกดทัพ เป่ายาสลบมาใส่ หลับกันหมดทั้งกองทัพ ฝ่ายพระราม แต่หนุมานนี่หลับแบบไม่สำรวม นอนหลับอ้าปากหวอ ไมยราพเลยลักพาตัวพระรามเอาไปซ่อนไว้ที่เมืองบาดาล กว่าหนุมานจะฟื้นตื่นขึ้นมาตามไปช่วยพระราม ต้องเหนื่อยยากแสนสาหัส รบฝ่าด่านหลายด่าน กว่าจะช่วยเจ้านายออกมาได้ โชคยังดีที่ฝ่ายยักษ์ไม่ทันจับพระรามไปฆ่าทิ้งเสียก่อน ผลเสียเลยไม่หนักมากนัก เรื่องอมบ้านเมืองอมกองทัพนี้ ไม่รู้ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่บรรพบุรุษต้องการบอกอะไรคนรุ่นหลังหรือเปล่า แต่สัญลักษณ์ตรงนี้คงลึกซึ้งเกินไปหน่อย เลยยังมีตัวอย่างอมๆมาให้เห็นจนปัจจุบัน น่าจะเปลี่ยนไปอมฮอลล์กันจะดีกว่า อมแล้วเย็นเหมือนได้ขึ้นสวรรค์แถมอมแล้วไม่ง่วงนอนอีกด้วย ฮ่าฮ่า สายตาคนเล่ามองเห็นอย่างนี้ ตีความออกมาได้ว่าธรรมดาคนระดับลูกน้องที่เพิ่งทำงานได้ไม่นาน พอได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานใหญ่ มักไม่คิด กระจายงานไปให้คนอื่นช่วยทำ อาจจะประสานงานไม่เป็น หรือกลัวคนอื่นได้หน้าก็สุดแท้แต่ สรุปแล้วลูกน้องระดับนี้ทำเหมือนกันคือเอางานที่ได้รับ มอบหมายมาสุมไว้ที่ตัวคนเดียว พอทำไม่ได้ก็อมก็หมกไว้ งานการเสียหายป่นปี้หมด เพราะคิดผิดว่างานที่ได้รับมอบหมายมา เราต้องเป็นคนลงมือทำ ด้วยตัวเราเองเท่านั้น พูดถึงความผิดพลาดของลูกน้องแล้วขอย้อนมาพูดถึงความสำเร็จบ้าง ที่บอกว่าหนุมานเป็นสุดยอดของลูกน้อง เพราะไต่เต้ามาจากลิงป่าธรรมดาตัวหนึ่ง ขึ้นสู่จุดสูงสุด ได้รับปูนบำเหน็จจากพระรามให้ครองเมืองอยุทธยา หนุมานนั้นเป็นตัวละครที่ใครหลายคนคิดว่าเป็นสุดยอดฝีมืออันดับหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ แต่ความเป็นจริงตามเรื่องแล้วไม่ใช่ ฝีมือนั้นเป็นส่วนหนึ่ง ที่สำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่าฝีมือคือทัศนคติในการทำงาน สิ่งที่ทำให้หนุมานประสบความสำเร็จ สูงสุดมาจากทัศนคติในการทำงานเป็นหลัก ส่วนเรื่องฝีมือนั้นหนุมานจัดว่าอยู่ในขั้นเก่งกว่าเกณฑ์เฉลี่ย แต่ไม่ถึงขั้นสุดยอด เพราะมีผู้อื่นที่เก่งเท่าเทียมกันอย่างนิลพัท และที่เก่งกว่าแบบหนุมาน สู้แพ้ตลอดกาลอย่างอินทรชิต แต่ทั้งคู่นี้ ฝ่ายลิงที่ยกมาเปรียบเทียบประสบความสำเร็จน้อยกว่าหนุมาน ส่วนฝ่ายยักษ์นั้นถึงขั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงทั้งที่ เก่งกว่า รายละเอียดเป็นยังไง ลองตามมาดูกัน หนุมานนั้นมีข้อดีในการทำงานอยู่ที่ทำงานเพื่องาน ส่วนข้อเสียคือเป็นพวกบ้างาน ผลดีผลเสียจะค่อยๆ แจกแจงให้เห็น ก่อนอื่นมาดูเรื่องความเก่ง เรื่องฝีมือกันก่อน ลิงนิลพัทที่ผมยกมาเปรียบเทียบนี้ เป็นระดับทหารเอกที่มาจากเมืองชมพู มีลักษณะตรงข้ามกับหนุมานเป็นขาวกับดำ หนุมาน มีกายาขาวปลอด มาเป็นลูกน้องพระรามด้วยความเต็มใจ มีความมุ่งมั่นในการทำงานให้สำเร็จ ส่วนนิลพัทมีกายาดำปลอด มาเป็นลูกน้องพระราม ด้วยความช้ำใจในฐานะเชลยสงคราม มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความปั่นป่วนให้กับกองทัพ ให้เกิดความแตกแยก เมื่อแตกต่างเป็นขาวกับดำเช่นนี้ เลยเกิดเรื่องทะเลาะวิวาทจนถึงขั้นประลองฝีมือกัน ผลของการประลองคู่คี่ก่ำกึ่ง ต่างฝ่ายต่างอัดและถูกอัดล้ม ไปตัวละที สุครีพแม่ทัพใหญ่มาเห็นและห้ามไว้เสียก่อน เลยไม่ได้ดูต่อว่าฝีมือใครเก่งกว่า สาเหตุที่ทำให้คู่นี้ทะเลาะกันมาจากตอนทำถนนข้ามไปลงกา งานสร้างถนนนี่ทำให้ทะเลาะวิวาทกันมาทุกยุคทุกสมัย ไม่รู้เป็นเพราะอะไร ฮ่าฮ่า เล่าไปเล่ามาชอบชวนตัวเองเขวออกนอกเรื่องอยู่เรื่อย แต่จะโทษตัวเองอย่างเดียวคงไม่ถูก เพราะรามเกียรติ์เป็นเรื่องทันสมัยเหลือเกิน มุขหลายๆ อัน สองร้อยปีที่แล้วเป็นยังไงสองร้อยปีผ่านไปก็ยังมีคนเอามุขในรามเกียรติ์มาใช้อยู่ โฮ่โฮ่ จบตอนที่ 4 ศิลปะการเป็นลูกน้อง มาดูยอดฝีมืออันดับหนึ่งในเรื่องชื่ออินทรชิต ลูกชายคนเก่งของทศกัณฐ์ อินทรชิตเดิมชื่อว่ารณพักตร์ จะแปลว่าอะไรผมก็แปลไม่ออก พักตร์แปลง่ายๆ ว่าหน้า แต่รณเห็นแล้วนึกถึงคำว่ารณรงค์ พอจับมารวมกันไม่รู้จะแปลว่าอะไรดี แต่สรุปได้ว่าในด้านชาติตระกูลนั้น รณพักตร์เกิดมาในตระกูลสูงศักดิ์ มีพระบิดาเป็นถึงเจ้ากรุงลงกาอันยิ่งใหญ่ ด้านการศึกษา รณพักตร์จัดได้ว่าเป็นอภิชาตบุตร เพราะเรียนกับอาจารย์คนเดียวกันที่สอนท่านพ่อทศกัณฐ์มา แต่ความสำเร็จด้านวิชาการนั้นห่างกัน ไกลมาก ด้วยว่าเรียนไปได้ไม่นานปีนัก พระโคบุตรอาจารย์ก็หมดปัญญาสอน ต้องให้ตำรารณพักตร์ไปศึกษาต่อเอง รณพักตร์หลังจากได้รับตำราก็ไปบำเพ็ญเพียร ณ สถานที่อันเหมาะสมตามคำชี้แนะจากท่านอาจารย์ บำเพ็ญเพียรอยู่ 7 ปีเต็ม จึงสำเร็จสุดยอดวิชาเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ทั้งสามต้องเสด็จมา ประทานศรให้ท่านละเล่ม รวมเป็น 3 เล่ม พอเรียนจบกลับมาลงกาก็ไปประเดิมศึกประลองกับพระอินทร์เป็นรายแรก ประสบชัยชนะอย่างงดงาม ทศเศียรจึงประทานชื่อใหม่ให้ว่าอินทรชิต แปลว่าผู้ชนะพระอินทร์ เรื่องของอินทรชิตหรือรณพักตร์ชี้ให้เห็นว่าผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์แบบ ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป อินทรชิตนั้นมีคุณสมบัติยอดเยี่ยม ชาติตระกูลสูง การศึกษาดี เรียนเก่งมากระดับเกียรตินิยมเหรียญทอง ฝีมือในการรบสูงส่งอยู่ในระดับยอดฝีมือ แต่ผลสุดท้ายกอดคำว่าวีรบุรุษตายไป ในวัยหนุ่ม สาเหตุนั้นมาจากความหยิ่ง คนเก่งส่วนใหญ่มักจะหยิ่ง ยิ่งเก่งมากยิ่งหยิ่งมาก ความหยิ่งของ อินทรชิตมาจากประสบการณ์การรบครั้งแรกกับ พระอินทร์ รณพักตร์พอรบชนะก็ยกทัพกลับลงกาไม่ได้มีความคิดจะพิฆาตศัตรูให้ดับดิ้นสิ้นชีพ นิสัยนี้ติดตัวมาตลอด จนมารบกับพระลักษมณ์กับ หนุมานก็ทำแบบเดียวกัน พอศัตรูถูกอาวุธบาดเจ็บสาหัสก็เลิกทัพ ไม่ได้คิดสักนิดว่าการรบกับฝ่าย อยุทธยาไม่ได้รบเพื่อประกาศศักดาว่าข้าเก่ง เหมือนรบกับพระอินทร์ แต่เป็นการรบกับศัตรูที่จะมาตีเมือง อินทรชิตอาจมองไม่เห็นความจริงข้อนี้ เพราะความหยิ่งมันบังตาอยู่ หรือมองเห็น แต่ไม่ทันฉุกคิดเพราะความหยิ่งมาบังสมอง ทำให้คิดว่ารบอีกกี่ครั้งตัวเองก็เอาชนะศัตรูได้สบาย เลยไม่เคยจัดการกับศัตรูถึงขั้นเด็ดขาด วางมาด เป็นสุภาพบุรุษนักรบ ทำการรบเยี่ยงวีรบุรุษมาตลอด ผลสุดท้ายเลยกอดคำว่าวีรบุรุษตายไป ที่เล่าเรื่องอินทรชิตมายืดยาวขนาดนี้ เพื่อให้เห็นลักษณะเด่นเรื่องการทำงานของหนุมานอย่างชัดเจน เพราะอินทรชิตมีลักษณะตรงข้ามกับ หนุมานชาญสมรอย่างสิ้นเชิง หนุมานนั้นจัดการกับศัตรูอย่างเด็ดขาดเสมอ ตัวอย่างเห็นได้ชัดจากการตามไปฆ่าวิรุญจำบังที่จำแลงกายหนีไปซ่อนอยู่ในฟองน้ำ หรือตรีเมฆ ที่หนีไปซ่อนอยู่ในเม็ดทราย หนุมานก็ยังไล่ตามไปฆ่า ไม่ปล่อยให้ศัตรูผู้สู้แพ้หนีรอดไปได้ นอกจากนี้หนุมานยังไม่เคยวางมาดให้ตัวเองดูดี ให้ทำอะไรก็ได้ขอให้ฝ่ายตัวเองชนะสงครามก็พอ อย่างเรื่องมีเมีย 5-6 คน ก็เพราะเรื่องงาน เป็นสำคัญ ฮ่าฮ่า เดี๋ยวต้องอธิบายยาว เอาตัวอย่างเรื่องนี้ดีกว่าเรื่องปลอมตัวเป็นหมาเน่าลอยน้ำไปทำลายตบะพิธีของฝ่ายศัตรู คิดดูว่าทุ่มเท ตัวเองให้กับงานมากขนาดไหน เรื่องทัศนคติในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องฝีมือ ขอเอามาย้ำให้เห็นชัดๆ อีกครั้ง แต่ไม่ได้แปลว่า ทัศนคติดีจะสำเร็จเสมอไป ขั้นตอนแรกเราต้องมีเรื่องนี้ก่อนครับ หัวใจแห่งความสำเร็จของการเป็นลูกน้องคือการเลือกเจ้านาย หนุมานคือตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องนี้ ก่อนหน้าที่หนุมานจะมาเป็นลูกน้องพระราม แก**เคยเป็นลูกน้องพาลีมาก่อน ตอนอยู่กับพาลีไม่มีงานฝ่ายบู๊อันเป็นของถนัดให้ทำ มีแต่งานฝ่ายบุ๋นให้ทำ หนุมานนั้นเป็นสุดยอดลูกน้อง ไม่เกี่ยงงาน เจ้านายใช้ให้ทำงานใดก็ทำอย่างเต็มความสามารถ ทั้งที่ตัวเองไม่ถนัด ตรงนี้ส่งผลให้ หนุมานได้รับผลประโยชน์ทางอ้อมคือเป็นลิงที่ใช้สมองเก่งพอๆ กับรบเก่ง ทั้งนี้เนื่องจากเคยผ่านงานบุ๋นมาก่อนนั่นเอง **การเรียกสรรพนามของตัวละคร เรียกตามคำนำของบทละคร ถ้าใช้เมื่อนั้นเรียกท่าน ถ้าใช้บัดนั้นเรียกแก ไม่ได้ตั้งใจแบ่งชนชั้นแต่อย่างใด แต่ที่ใช้อย่างนี้ เพราะเวลาเล่าถึงตอนจอมทรยศ สรรพ-นามจะมาช่วยขยายความให้เข้าใจชัดขึ้น** หนุมานอยู่กับพาลีไปก็มีความสุขสบายพอสมควร หน้าที่การงานไม่ได้ขาดตกบกพร่องแต่อย่างใด แต่หนุมานชาญฉลาดอยู่ไปเรื่อยๆ ชักเห็นว่าไม่ไหว ขอลาออกไปอยู่ป่าไปทบทวนวิชาที่เคยเรียนมาจะดีกว่าอยู่กับพาลี เพราะพาลีนั้นหนุมานดูออกว่าเป็นเจ้านายประเภทไม่เอาคนอื่น ท่านเอาแต่เมียชาวบ้าน เข้าซอยพาลี จอมพาลนิดหนึ่ง ครั้งแรกพาลีพาลแย่งนางมณโฑเจ้าสาวทศกัณฐ์มาตามที่ผมเคยเล่าให้ฟังแล้ว ครั้งที่สองแสดงความเป็นอันธพาลสุดๆ ด้วยการแย่งนางดาราวดีเจ้าสาวของสุครีพ ซึ่งพระอิศวรประทานมาให้ หนุมานเล็งเห็นชัดว่าอยู่กับพาลย่อมกลายเป็นพาล อย่ากระนั้นเลยลาบวชไปอยู่ป่า ดีกว่า อยู่ป่ามาได้หลายสิบหน้าหนังสือก็มาเจอพระรามและพระลักษมณ์ ตอนนี้หนุมานปลอมตัวเป็นลิงป่าวิ่งเล่นอยู่บนต้นไม้ พระรามมองไปปุ๊บไม่ได้เห็น เป็นแค่ลิงป่าธรรมดา แต่มองเห็นหนุมานชาญสมรผู้มีแววว่าจะเป็นยอดทหารเอกของท่านได้ เลยถามพระลักษมณ์ว่าเห็นมั้ย พระลักษมณ์ไม่เห็น แต่ไม่เป็นไร สำหรับหนุมานแค่พระรามเห็นคนเดียวก็พอแล้ว ตรงนี้สรุปได้ง่ายๆ สั้นๆ ว่าให้เลือกอยู่กับเจ้านายที่เห็นคุณค่าของตัวเรา หลังจากมาอยู่กับพระราม ท่านให้โอกาสหนุมานทำงานที่ถนัดอย่างเต็มที่ ใช้หนุมานจนเราแทบจะจำชื่อลิงตัวอื่นในเรื่องนี้ไม่ได้ มองในแง่ร้ายมอง ได้ว่าเจ้านายใช้งานคุ้ม เจ้านายโหด อย่าไปมองแบบนั้นถ้าอยากก้าวหน้า มองในแง่ดีพระรามให้โอกาสหนุมานแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ ให้โอกาสเสมอแม้ว่าหลายครั้งหนุมานจะผิดพลาด พูดถึงความผิดพลาด นึกได้ว่าต้องเล่าตอนหนุมานเผากรุงลงกาให้อ่านกันหน่อย เพราะตอนผมเป็นลูกน้องเคยงงเหมือนหนุมานงงมาแล้วว่า ข้าเจ้าทำผิดตรงไหนเน้อ เรื่องมีอยู่ว่าพระรามสั่งให้หนุมานไปสืบข่าวนางสีดาที่ถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไปไว้ในกรุงลงกา หนุ-มานก็ไปจัดการ เสร็จงานกลับมารายงานตัว เล่าให้ฟังอย่างละเอียดว่าไปทำอะไรมาบ้าง ระหว่างทางรอนแรมไปเจอสัมพาที นกขนร่วงระหว่างทาง ผู้อยู่คอยชี้บอกทางว่าต้องไปทางไหน จากนั้นข้ามมหาสมุทรไปยังไง เหนื่อยยากลำบากแค่ไหน สุดท้ายก็ไปถึงลงกาสำเร็จ เข้าไปแอบอยู่ในสวนของทศเศียร รอจนได้พบนางสีดา เล่าไปเรื่อย เจ้านายก็นั่งฟังไปเรื่อยไม่ขัดสักคำ ก็ยิ่งเล่าละเอียดใหญ่ด้วยความปลาบปลื้ม เล่าไปเล่ามาพอถึงตอนเผากรุงลงกาเท่านั้นแหละเป็นเรื่อง ฟ้าผ่ากลางกบาลตอนแดดแจ๋เลย พระรามฉุนขาดถึงกับบริภาษด่าหนุมานด้วยภาษาพ่อขุนรามฯ หนุมานฟังไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมพระรามถึงโกรธขนาดนั้น ผมเองตอนเจอเหตุการณ์ แบบหนุมานก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน แทบจะถอนตัวไปปลูกผักเลี้ยงไก่แล้ว แต่ตอนมาอ่านเจอเรื่องหนุมานนี้ เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งเลยละครับ ประโยชน์ของวรรณคดีอยู่ตรงนี้เอง ลองคิดตามดู เจ้านายเราอุตส่าห์บุกบั่นฟันฝ่าป่าดง ข้ามน้ำข้ามทะเลมา หวังจะทำมหายุทธ์ให้ชื่อระบือลือลั่นสะเทือนสะท้านไปทั้งสิบทิศ ดันถูกทหารเอก มาชิงตัดหน้าลงมือไปเสียได้ โชคดียังคงเป็นของหนุมาน เพราะถ้าเผาลงกาแล้วทศกัณฐ์ตายไป อย่าหวังได้ผุดได้เกิดในหน้าที่การงานอีกเลยหนุมานเอ๋ย มาถึงตรงนี้น่าจะจบเรื่องหนุมานไว้เท่านี้ เพราะจบได้เท่ดี ฮิฮิ แต่ไม่เอาเท่ เอาทางแก้ปัญหาดีกว่า ครั้งนั้นหนุมานน้อยใจ เสียใจ โทษโชคชะตาวาสนา ไปนู่น แต่ไม่พูด ไม่เถียงพระรามแม้แต่คำเดียว ได้แต่รำพึงในใจ ตัวกุทำการทั้งนี้..........................จงรักภักดีสุจริต มิได้อาลัยแก่ชีวิต........................ทะนงใจไม่คิดตริการ เห็นผิดเป็นชอบด้วยโมหันธ์........ปิ้มสิ้นชีวันสังขาร ใครเลยจะนับว่าชายชาญ............อาภัพอัประมาณเป็นพ้นไป ทั้งนี้เพราะวาสนาตัว...................ดีชั่วจะโทษผู้ใดได้ เสียทีที่มีฤทธิไกร.......................น้อยใจเป็นพ้นคณนา ฯ [องค์การค้าคุรุสภา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๗ เล่มที่ ๔ หน้า ๑๑๑-๑๑๒] ก่อนหน้าที่จะกลับมารายงานตัว หนุมานดับไฟที่ติดตัวเอง แต่ดับไม่หมดยังมีติดอยู่ตรงปลายหาง ทำยังไงก็ไม่ดับ จนไปถามพระนารทฤาษี(อ่านว่า นา-รอด) ได้คำตอบมาว่าให้เอาน้ำบ่อน้อยดับ หนุมานชาญฉลาดเอาหางยัดใส่ปากอมไว้ ไฟจึงดับได้ ตรงนี้แปลความตามประสาหนอนสุรา ได้ว่าเมื่อมีความผิดให้ยอมรับแต่โดยดี หาอะไรปิดปากตัวเองไว้ให้แน่น อย่าไปเถียงเจ้านาย แล้วเดี๋ยวไฟที่ตัวเองก่อไว้มันก็จะดับไปเอง ตอนที่ 5 หนุมานชาญสมร ผู้หาวเป็นดาวเป็นเดือน การจะเข้าใจชีวิตใครอย่างลึกซึ้ง ถ้ารู้เรื่องราวตั้งแต่วัยเด็กของเขาจะทำให้เข้าใจซึ้งขึ้น แต่เรื่องชาติกำเนิดหนุมานเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือตรงที่ว่าใครเป็นพ่อหนุมาน แม้ว่ากลอนจะเรียกลูกพระพายแทนหนุมานบางครั้ง แต่พระพายไม่ใช่พ่อที่แท้จริงของหนุมาน กำเนิดหนุมานในเรื่องนี้ค่อนข้างสับสนดูยากว่าใครเป็นพ่อกันแน่ แม่ของหนุมานคือนางสวาหะ ผู้เป็นลูกสาวคนโตของนางกาลอัจนากับพระโคดมฤาษี นับตามสายเลือดหนุมานมีศักดิ์เป็นหลานพาลีกับสุครีพ ดูไปแล้วชีวิตหนุมานวัยเด็กไม่น่าจะลำบาก เพราะมีน้าพาลีเป็นเจ้าเมืองขีดขิน แต่ชีวิตจริงลำบากมาก เพราะหนุมานเป็นลูกไม่มีพ่อ ต้องเล่าย้อนเรื่องนางสวาหะนิดหนึ่งเพื่อให้เข้าใจชาติกำเนิดหนุมานให้ชัดเจน นางสวาหะเป็นลูกสาวคนโตที่พระโคดมฤาษีไม่ค่อยรัก เพราะเห่อ ลูกชายสองคนคือพาลีกับสุครีพ นางสวาหะน้อยใจเลยตัดพ้อออกมาว่าทีลูกตัวไม่รัก มัวไปหลงรักแต่ลูกชู้ ความลับเรื่องพระอินทร์มามีชู้กับ นางกาลอัจนาจนเกิดพาลี และพระอาทิตย์มาตีท้ายครัวหยอดไข่สุครีพทิ้งไว้จึงปูดออกมา พระโคดมโมโหตบะแตกเลยสาปลูกชู้ทั้งสองให้กลายเป็นลิง และสาปนางกาลอัจนาให้กลายเป็นหิน แต่ก่อนที่นางกาลอัจนาจะกลายเป็นหินได้สาปนางสวาหะอีกทอดว่าให้ไปยืนอ้าปากกินลมที่เชิงเขาจักรวาล ต่อเมื่อออกลูกเป็นลิงเมื่อไรจึงพ้นคำสาป พระพายที่เข้าใจกันว่าเป็นพ่อหนุมานนั้น เป็นผู้เอาอาวุธและกำลังกายส่วนหนึ่งของพระอิศวรมาซัดเข้าปากนางสวาหะเกิดมาเป็นหนุมาน ตรงนี้เลยมี อาจารย์บางท่านตีความว่าพ่อที่แท้จริงของหนุมานคือพระอิศวร ฟังแล้วมึนหนักเข้าไปอีก ส่วนหนอนสุราตีความไปไกลยิ่งกว่าอาจารย์ เพราะมั่วมากกว่า แต่ไม่กล้าเอามาเล่า กลัวคนรู้กันทั่วว่าชอบมั่ว เอาเป็นว่าใครจะเป็นพ่อหนุมานก็ช่างเถิด แต่สรุปแล้วหนุมานไม่มีสมบัติอะไรติดตัวเลย ไม่เหมือนน้าชายทั้งสองที่พ่อเป็นเทพชั้นยิ่งใหญ่ พระอินทร์กับ พระอาทิตย์เนรมิตขีดขินนครให้พาลีกับสุครีพ อยู่ พร้อมกับมีบริวารทรัพย์ศฤงคารพรั่งพร้อมมาตั้งแต่เด็ก ส่วนหนุมานนั้นพอโตพอจะรู้ความ พระพายผู้ถูกอ้างว่าเป็นพ่อก็พาไปฝากให้อยู่กับพระอิศวร เหมือนกับคนรุ่นเก่าที่พาลูกหลานจากต่างจังหวัด เข้ามาฝากเจ้านายในกรุง ให้คอยรับใช้ปรนนิบัติท่านไปและเรียนวิชากับท่านไปด้วย หลังจากเรียนหนังสือพอมีความรู้ติดตัว พระอิศวรก็สั่งให้พาลีน้าชายมารับตัวหลานไปอยู่ด้วย หนุมานก็ไปช่วยงานฝ่ายบุ๋น ณ ขีดขินนคร จนเห็นซึ้ง ว่าพาลีแปลว่าพาลเลยลาออกมาอยู่ป่า จนมาเจอพระรามตามที่เล่ามาแล้ว เพราะฉะนั้นขอข้ามไปเล่าเรื่องหนุมานเรื่องอื่นต่อ หนุมานมีสร้อยต่อท้ายชื่อที่ใช้บ่อย จำได้ติดปากคือชาญสมร คำว่าชาญแปลได้ง่ายมาก เอาไปเทียบกับชำนาญ แปลว่าเชี่ยวชาญ ส่วนคำว่าสมร จะว่าง่ายไม่ง่าย จะว่ายากก็เหมือนไม่ยาก เพราะแปลความหมายได้ง่าย แต่ยากตรงมีสองคำแปล ความหมายแรกแปลว่าการรบหรือสนามรบ หรืออะไรที่เกี่ยวกับสงครามนี่แหละ ถ้าใครนึกไม่ออกให้นึกถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ความหมายที่สองแปลว่าผู้หญิง ให้นึกถึงความอ่อนหวานของ ผู้หญิง อย่าไปนึกถึงการรบ หนุมานที่ชาญสมร เพราะนอกจากจะรบในสมรภูมิเก่ง เจอกับสมรศรีทีไรหนุมานก็มิเคยพ่าย ตัวละครฝ่ายยักษ์ในเรื่องที่เป็นหญิงถ้าไม่เจอหนุมาน ก็แล้วไป ถ้าเจอเรียบร้อยโรงเรียนลิงทุกราย จะไล่เรียงชื่อให้ฟังก็จำไม่หมด เอาเป็นว่าสรุปง่ายๆ ขุนแผนที่ว่ามีเมียเยอะถ้ามาเทียบกับหนุมานก็จะ กลายเป็นคนมีเมียน้อยจริงๆ เพราะหนุมานมีเมียเยอะกว่า แต่ที่มีเมียเยอะไม่ได้เป็นเพราะสิเน่หาส่วนตัว ส่วนใหญ่มาจากเรื่องงานทั้งนั้น การมีเมียของหนุ-มานในเรื่องเหมือนซื้อใบเบิกทางไปสู่การทำงาน ให้สำเร็จ แปรศัตรูมาเป็นภริยา ทำให้นอกจากไม่ถูกขัดขวางแล้ว หลายครั้งยังได้รับการส่งเสริมอีกด้วย มองหนุมานมุมนี้ หนุ่มๆ และไม่หนุ่มหลายคนอาจอิจฉาหนุมาน เพราะฉะนั้นจะเอาอีกมุมมาให้มองว่าชีวิตอย่างหนุมานนั้นน่าสงสารมาก หนังตัวอย่างคือหนุมานไม่เคยได้อยู่กับเมียคนไหนได้นานๆ เลย หลังจากเสร็จสมภิรมย์หมายก็ต้องรีบตะเกียกตะกายเดินทางตะลอนๆ ไปทำงานต่อ สรุปสั้นๆ ว่าหนุมานเป็นพวกเวิร์กฮอลิก เป็นพวกบ้างาน บ้างานแล้วบั้นปลายชีวิตเป็นไง ลองตามมาดูกัน เสร็จศึกจากลงกา หนุมานผู้มีความดีความชอบเด่นชัดที่สุด ได้รับการเลื่อนตำแหน่งพรวดเดียวขึ้นเป็นเจ้าเมืองครองกรุงอยุทธยา ได้รับพระราชทาน ชื่อใหม่ว่าพระยาอนุชิต ซึ่งเหมือนกับลูกน้องเก่งๆ ที่ได้เลื่อนขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท ส่วนพระรามผู้เจ้านายรั้งตำแหน่งประธานที่ปรึกษา ถ้าเป็นหนังไทยก็ต้องว่าจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง เมื่อพระเอกขวัญใจคนยากฝ่าฟันเอาชนะศัตรูแลอุปสรรคทั้งปวงมาได้ จนประสบความสำเร็จอันน่าปลื้มปีติ แต่รามเกียรติ์ไม่ใช่หนังไทย น้ำนิ่งไหลลึกย่อมไม่เน่า เรื่องราวรามเกียรติ์เลยมีต่อ หลังจากหนุมานได้เลื่อนตำแหน่ง วันแรกที่ออกว่าราชกิจก็มาทูล ขอลาออกกับพระราม ขึ้นนั่งยังที่บัลลังก์รัตน์.............................ภายใต้เศวตรฉัตรฉายฉัน ให้เร่าร้อนฤาทัยดังไฟกัลป์.....................ตัวสั่นหน้าซีดลงทันที พ่างเพียงเศียรเกล้าจะทำลาย.................เสโทซึมกายกระบี่ศรี เหลือบแลไปดูหมู่เสนี.............................ดั่งมีแสงศรมาแทงตา มิได้บัญชาประกาศิต..............................ราชกิจกษัตริย์นาถา นิ่งนึกตรึกถวิลจินดา...............................ก็แจ้งด้วยปรีชาว่องไว กุเป็นทหารมาร่วมอาสน์.........................พระนารายณ์ธิราชหาควรไม่ จึ่งบังเกิดเหตุเภทภัย..............................ด้วยศักดิ์ศรีมิได้เสมอกัน มาตรแม้นจะนั่งอยู่ช้า............................น่าที่ชีวาจะอาสัญ คิดแล้วย่างเยื้องจรจรัล..........................จากอาสน์สุวรรณอลงกรณ์ ฯ [องค์การค้าคุรุสภา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๗ เล่มที่ ๘ หน้า ๒๘๑-๒๘๒] กลอนตอนนี้แล้วแต่สายตาใครจะตีความ แต่สายตาพระยาอนุชิตนั้นเห็นไฟอิจฉาริษยาลุกพรึบพรับเต็มไปหมด แววตาของนักก่อการกบฎ รัฐประหารนั้นท่านรู้จักดีตั้งแต่สมัยยังเป็นหนุมาน เพราะทำงานใกล้ชิดกับพิเภกและสุครีพมาสิบกว่าปี และยังคิดต่อไปว่าตัวเองไม่มีบารมีมาก พอเหมือนกับพระราม ผู้สามารถกำราบนักก่อการกบฎรัฐประหารทั้งหลาย ถ้าตนยังขืนดื้อดึงเป็นกษัตริย์ต่อ คงรักษาชีวิตไว้ไม่ได้เป็นแน่แท้ อย่ากระนั้นเลย ไปทูลขอลาออกกับพระรามดีกว่า อย่างที่ว่าเลือกเจ้านายได้ดีเสียอย่าง แม้เมืองนี้จะนั่งเป็นใหญ่ไม่ได้ เจ้านายก็ดำริจะสร้างเมืองใหม่ให้ชื่อว่านพบุรี (ไทยเราแต่งตำนานกลายเป็นลพบุรี) ตอนสร้างเมืองนี้หนุมานก็ออฟไซค์ประสาลิงอยู่ไม่สุข จนพระรามฉุน ดุไปอีกครั้ง เพราะเจตนาพระรามต้องการให้หนุมานได้อยู่สบายเสียที หลังจาก เหน็ดเหนื่อยตรากตรำมานาน แต่หนุมานดันไปเก็บกวาดจัดเตรียมพื้นที่ที่จะสร้างเมืองด้วยตัวเอง ตรงนี้สะท้อนให้เห็นความเป็นพวกบ้างานของหนุมาน อย่างชัดเจน ให้อยู่นิ่งๆ เป็นพระยาอนุชิตไม่ชอบ ชอบเป็นแต่หนุมาน พระยาอนุชิตไปครองนพบุรีได้ไม่นานก็เกิดอาการตะครั่นตะครอเนื้อตัวเหมือนจะจับไข้ ทายาหม่องตราลิงถือลูกท้อหมดไปหลายตลับก็ช่วยไม่ได้ นึกไปนึกมาคงเป็นเพราะไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เลยไปปีนต้นไม้เล่น ต้นไม้ที่ไปปีนชื่อต้นอัมพา ซึ่งพาให้พระยาอนุชิตนึกเบื่อชีวิตเจ้าเมือง เหาะมาขอลาออกกับพระรามว่าขอไปบวชดีกว่า กลอนตอนหนุมานปีนต้นอัมพาสั้นมาก ไม่ได้อธิบายอะไรเท่าไรว่าทำไมหนุมานถึงเบื่อจนถึงขั้นต้องลาออก เขียนแค่ว่านางสนมมาชี้ชวนกันดูเจ้าเมือง ของตนปีนต้นไม้เล่นแล้วหัวเราะกันกิ๊กๆ กั๊กๆ ขำท่าเกาหัวเกาหูของพระยาอนุชิต แค่นี้ไม่น่าอายถึงขั้นต้องลาออกจากความเป็นเจ้าเมือง ทำให้ต้อง มั่วขยายความนิดหน่อยประสาหนอนชอนไช เธอจ๋า ดูสิ แปลกจังนะวันนี้ ต้นอัมพาทำไมออกลูกเป็นเงาะได้ เสียงนางสนมพูดพลางสะกิดเพื่อนสาวให้มองขึ้นไปบนต้นอัมพา กิ๊กๆ อืมนะ ออกมาทีตั้งสองลูก กิ๊กๆ เสียงพูดกลั้วหัวเราะแบบเหนียม แต่ตาจ้องเบื้องบนเขม็ง ไม่ใช่เงาะธรรมดาด้วยนะ สงสัยจะเป็นเงาะเผือก สีขาวจั๊วะเลยเธอ ได้ฟังดังนั้น กายาอันขาวปลอดของหนุมานก็เลือดฉีดซ่านแดงไปทั้งตัวด้วยความอาย เลยเหาะไปลาพระรามขอออกบวชดีกว่า ตีความอย่างนี้ก็ได้ไม่ซีเรียสดี แต่ผู้อ่านที่เป็นคนจริงจังกับชีวิตอาจไม่ชอบใจ เลยต้องตีความแบบจริงจังด้วย หนุมานนั้นเคยทำงานต่อสู้ฝ่าฟันมาตลอดชีวิต และประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังหนุ่ม ถ้าให้ประมาณอายุตอนนั้นของหนุมานคงประมาณสามสิบต้นๆ เท่านั้น คนวัยนี้ให้นั่งเสพสุข ยามกินมีคนคอยป้อน ยามร้อนมีคนคอยพัด คงทำได้วันสองวันก็เบื่อ เพราะตอนเป็นหนุมานเคยทำงานตะลุยใช้แรงกาย ใช้สมองมาทุกวัน พอไม่ต้องทำอะไรแทนที่จะสุขกลับทุกข์ ได้เป็นเจ้าเมืองนั้นสบายแต่ไม่สนุก จะทำอะไรก็ต้องคอยระวังตัว แค่จะปีนต้นไม้เล่นยัง ทำไม่ได้ แย่กว่าตอนเป็นลิงป่าธรรมดาตัวหนึ่งเสียอีก คิดได้ดังนั้นเลยขอลาออกไปอยู่ป่า อยู่ป่าบวชไปได้ไม่กี่หน้าหนังสือ มารตามมาผจญชีวิตสันโดษ ถ้าว่าตามภาษาพระก็ต้องว่ามารของผู้ใดย่อมเป็นไปตามจริตของผู้นั้น หนุมานผู้บ้างาน ก็เช่นกัน ถูกงานตามมาเป็นมาร เพราะญาติวงศ์พงศาฝ่ายลงกาที่เหลือรอดตามมาตีลงกาของพิเภกขณะนั้นเป็นการแก้แค้น พิเภกหรือชื่อใหม่ว่า ท้าวทศคิริวงศ์ เป็นยักษ์ที่เกิดมารบไม่เป็น เป็นแต่ลอบกัดข้างหลัง พอเจอศึกซึ่งหน้าก็ต้องขอกำลังมาทางอยุทธยา ชักศึกเข้าบ้านไม่รู้จักจบจักสิ้น หนุมานบวชประมาณปลายเล่มแปด ขึ้นเล่มเก้าไปได้ไม่กี่หน้า อสุรผัดลูกหนุมานตามมาแจ้งข่าวสงครามให้ทราบ หนุมานดาบสเลยลุกขึ้นสวมบท ทหารเอกอีกครั้งออกไปลุยรบไปจนจะจบเล่มสิบเอ็ด เรียกว่าทั้งชีวิตแทบจะไม่ได้หยุดพักผ่อน สมกับที่มีฤทธิ์หาวเป็นดาวเป็นเดือน ชั่วชีวิตไม่เคยได้พักผ่อน..................อยากนอนไม่ได้นอนน่าสงสาร หาวทีไรสว่างดุจทิวาวาร..................หนุมานแพ้ฤทธิ์หาวของตัวเอง ฯ ไม่ต้องไปไล่เปิดดูนะจ๊ะว่าอยู่เล่มไหน หน้าไหน เพราะต้นฉบับไม่มีหรอก ตอนที่ 6 จอมเผด็จการ ขึ้นชื่อตอนมาเช่นนี้ ท่านที่อ่านตอนที่ผ่านๆ มา คงนึกถึงพาลีที่ผมเล่าเรื่องท่านไปบ้างแล้ว แต่ก่อนเล่าเรื่องพาลี ขอเล่าถึงตัวละครอีกตัวหนึ่งก่อน เพราะมีบทบาทเกี่ยวพันไปถึงกัน ตัวละครที่จะเล่าถึงต่อไปนี้ทุกคนรู้จักชื่อดี แต่ยังไม่ค่อยรู้บทบาทแกมากนัก ตัวละครที่ว่าคือทรพา ขุนกระบือผู้ยิ่งใหญ่ หรือจอมมหิงสา หรือกาสร หรือควายนั่นเอง ก่อนที่จะมาเกิดเป็นควาย แกเป็นข้าทาสของพระอิศวร จะเป็นคนสวนหรือคนเฝ้าประตูก็ไม่ได้จำ เพราะไม่ใช่สาระสำคัญของเรื่อง เรื่องที่เป็นประเด็นมีว่าทรพา ณ ปางก่อนไปทำความผิดเกี้ยวสาวใช้ของพระอิศวรเข้าให้ เลยถูกตำหนิว่าไม่เจียมตน ถูกสาปลงมาเกิดเป็นควาย ต่อเมื่อลูกชายชื่อทรพีมาฆ่าตัวเองตายเมื่อไร ก็จะได้กลับขึ้นมาอยู่บนสวรรค์ดังเดิม ทรพาน่าจะอยากให้ทรพีเกิดมาเร็วๆ แล้วมาฆ่าตัวเองให้ตาย จะได้พ้นสภาพจากการเป็นควายขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ตามเดิม แต่อย่างว่า เป็นขุนกระบือผู้ยิ่งใหญ่ย่อมดีกว่าเป็นเทพต๊อกต๋อย คนยังลุ่มหลงกับอำนาจวาสนาได้ นับประสาอะไรกับควาย ควายอย่างทรพา ผู้มีเมียมากเป็นร้อยตัว มีอำนาจปกครองฝูงทั้งฝูง จะเอาความเป็นเทพมาแลกย่อมไม่ยอม เพราะฉะนั้นเมียทุกตัวที่ตั้งท้อง ทรพาจึงไปสำรวจตรวจตราอย่างถ้วนถี่ ถ้าตกลูกมาเป็นตัวเมียก็ให้เลี้ยงไว้ โตขึ้นจะได้เอามาทำเมียอีก แต่ถ้าตกลูกเป็นตัวผู้ก็ให้ฆ่าตายทันที ตรงนี้มองเปรียบเทียบกับภาพปัจจุบันก็คือเจ้านายประเภทที่กลัวลูกน้องตัวเองเก่งกว่า เห็นใครฉายแววว่าจะเก่งทัดเทียมตัวเองได้ก็"ฆ่า" ให้ตายทันที ปิดโอกาสให้เท่ากับศูนย์อยู่เสมอ เพื่อรักษาความเป็นขุนกระบือผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล แต่อย่างว่าคนยังพลาดได้ นับประสาอะไรกับควาย เมียทรพาตัวหนึ่งแอบหนีออกไปจากฝูงเมื่อรู้ตัวว่าตั้งท้อง เพราะสังหรณ์ใจว่าจะได้ลูกตัวผู้ แล้วก็ได้อย่างที่คิดจริงๆ ลูกตัวนี้คือทรพี ที่เรารู้จักกันดี ทรพีตัวนี้เกิดในถ้ำ หลังจากเกิดมาได้ แม่ไม่มีปัญญาเลี้ยงดูต่อ เพราะแอบหนีทรพามานานมาก กลัวความลับจะแตก จะพลอยพามาตายกันทั้งแม่ทั้งลูก เลยอธิษฐานเทวดาอารักษ์ที่สิงสถิตอยู่ในถ้ำนั้น ให้มาช่วยปกปักรักษาทรพีให้อยู่รอดปลอดภัย จนเติบใหญ่เป็นควายหนุ่มแข็งแรงด้วยเทอญ เทวดาทั้งหกได้ฟังก็ทำตามคำอธิษฐาน สองตนสถิต ณ สองเขา ที่เหลืออีกสี่คอยอารักษ์ขาทั้งสี่ข้าง ทรพีจึงเติบโตมาโดยไร้ภยันตรายใด มาแผ้วพาน ระหว่างที่เติบโตขึ้นมาทุกวันนั้นสิ่งหนึ่งที่ทรพีทำอยู่เสมอคือไปวัดรอยเท้าทรพา ตรงนี้เลยเกิดสำนวนวัดรอยเท้าขึ้นมา เมื่อวัดรอยเท้าได้เท่ากัน ทรพีห้อตะบึงไปท้าขวิดกับทรพาทันที ไปถึงร้องด่าประณามความหยาบช้าของทรพาที่ฆ่าลูกตัวเองตายมานับไม่ถ้วน พร้อมประกาศตัวว่าตูทรพีผู้เป็นลูกสูจะมาล้างแค้นแทนลูกควายตาดำๆ ที่ไม่มีความผิดเหล่านั้น สู้กันได้ไม่กี่คำกลอนทรพาก็ถูกขวิดตาย ทรพีล้มล้างจอมเผด็จการลงได้สำเร็จ แล้วเสียงประณามทรพีก็ดังมาจนถึงทุกวันนี้ ว่าไปแล้ว มันคงไม่ถูกโลกประณามอยู่ทุกวันนี้หรอกถ้าประพฤติตัวให้ดีหลังจากฆ่าทรพาผู้พ่อจอมเผด็จการตายลง แม้ว่ากรรมที่ทำนั้น มองด้านหนึ่ง เป็นอนันตริยกรรม แต่มองอีกด้านหนึ่งนั้นเป็นวีรกรรม สิ่งที่ทรพีทำเป็นอันดับแรก ไม่ใช่ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาควายให้ดีขึ้น กระบือหรือกาสร หรือจะสรรหาคำใดมาเขียนให้เพราะกว่านี้ ก็ยังแปลว่าควายอยู่ดี สมองระดับควายเมื่อโค่นเผด็จ-การตัวเก่าได้ ก็จัดการครอบครองสมบัติเผด็จการตัวเดิมที่มีอยู่เป็นสิ่งแรก ทรพีจึงไล่ฟัดบรรดาแม่เลี้ยงทั้งฝูงด้วยความเมามันในอารมณ์ เสพสมจนสมใจ สิ่งที่ทำอันดับต่อไปคือไล่ท้าขวิดไปทั่วราชอาณาจักร ท้ามั่วไปทั่วทั้งเจ้าแห่งขุนเขา ทะเล แต่ไม่มีใครยอมลดตัวลงมาสู้กับควาย ทรพีเลย ไล่ท้าดะไปเรื่อยจนไปเจอพาลีที่เป็นจอมเผด็จการแห่งยุคถึงได้สู้กัน ความเป็นเผด็จการนั้นถ้าให้แจกแจงอย่างละเอียดอาจจะได้หนังสือเล่มโตๆ เล่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นเอาแค่ลักษณะสำคัญจะดีกว่า ลักษณะสำคัญ ที่ว่าคือต้องชอบพาลแย่งของคนอื่นมาเป็นของตัว เหมือนพาลีที่แย่งนางมณโฑเจ้าสาวของทศกัณฐ์มาเป็นเมียตัวเอง หรือแม้แต่นางดาราวดี เจ้าสาวของสุครีพผู้เป็นน้องชายก็ไม่ละเว้น อีกลักษณะสำคัญคือเผด็จการร้อยทั้งร้อยชอบออกเอ็กเซอร์ไซส์ ลองนึกภาพตามดูว่าเป็นถึงเจ้าเมืองนั้นมีอำนาจวาสนามากแค่ไหน แต่อยู่เฉยๆ ไม่ได้ออกเอ็กเซอร์ไซส์มันหงุดหงิด ให้ลดตัวลงมาสู้กับควายก็ยอม ควายกับลิงเลยสู้กันไปเรื่อยๆ ด้วยความมันของทั้งคู่ ด้วยความคู่คี่ ไม่มีใครเพลี่ยงพล้ำ พาลีที่เป็นลิงระดับสมองมีพัฒนาการมากกว่า เลยเจรจา สงบศึกชั่วคราว แล้วนัดไปสู้กันใหม่ในถ้ำ หลังจากนัดหมายเสร็จ พาลีกลับเข้าเมืองมาสั่งเสียสุครีพ ว่าตัวพี่นี้จะไปรบกับทรพีที่ในถ้ำ ครบกำหนด 7 วัน ถ้าพี่ยังไม่กลับมา เจ้าจงไปดู ณ ปากถ้ำ ถ้าเลือดไหลออกมาข้นเป็นเลือดควาย แปลว่าพี่ชนะ แต่ถ้าเลือดไหลออกมาเหลวเป็นเลือดพี่ อย่ารอช้าให้รีบขนหินไปปิดปากถ้ำไว้ สั่งเสร็จเข้านอนทันทีตามนิสัยเผด็จการ ไม่สนใจว่าผู้รับคำสั่งจะเข้าใจมั้ย ศึกวันลิงควายมาถึง ทั้งคู่สู้กันในถ้ำ ไม่มีกรรมการ ไม่มีคนดู สู้กันคู่คี่ก้ำกึ่งอย่างเคย พาลีฉุกคิดได้ว่าถ้าเป็นควายธรรมดาไม่น่าจะสู้ตนเองได้ เพราะพาลีนั้นได้รับพรจากพระอิศวรมาว่าเมื่อสู้กับศัตรู กำลังของศัตรูจะหายไปครึ่งหนึ่ง และครึ่งที่หายนี้จะมาเพิ่มกำลังให้กับพาลี เมื่อบวกกับ กำลังเดิมที่ตนเองมีอยู่น่าจะเอาชนะทรพีได้ไม่ยาก แต่ที่สู้ไม่ชนะเสียทีคงเป็นเพราะทรพีมีเทพคุ้มกาย คอยช่วยเหลืออยู่เป็นแน่แท้ คิดได้ดังนั้น จึงร้องเยาะเย้ยทรพีไปว่าไม่ได้เก่งด้วยกำลังตัวเอง ที่สูสู้กับตูอยู่ได้นี้เพราะอาศัยกำลังเทพารักษ์ที่ปกปักรักษาสู ควายอย่างทรพีคิดตามลิงไม่ทัน เลยตอบไปว่าตูเก่งด้วยตัวเอง ไม่มีเทวดาหน้าไหนมาคอยช่วยทั้งนั้น พาลีได้ทีเลยรีบเติมไฟใส่เทพารักษ์ทั้งหก กระพือคำยุว่าควายอย่างทรพีไม่เคยสำนึกบุญคุณท่านเลย ทั้งที่พวกท่านเลี้ยงดูปกปักรักษามันมา ตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่แกร่งกล้ามาขนาดนี้ เทวดาฟังลูกยุจบเลยอำลาจากร่างควายไป ทรพีเลยกลายเป็นควายธรรมดา สู้ไปได้อีกแป๊บเดียว ก็ถูกฆ่าตาย พร้อมกับถูกโลกตราหน้าว่าจอมเนรคุณ ตอนนี้ผมเคยเข้าใจผิด เวลาเปรียบคนอกตัญญูเนรคุณว่าเหมือนทรพี แต่ก่อนนึกไปว่าสาเหตุมาจากตอนฆ่าทรพา ซึ่งผิดเพราะทรพาถือไม่ได้ ว่ามีบุญคุณกับทรพี แม้จะเป็นผู้มีส่วนให้กำเนิด แต่ถือเป็นบุญคุณไม่ได้ เพราะกำเนิดมาจากกำหนัด ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด เทพารักษ์ทั้งหก ต่างหากคือผู้มีคุณกับทรพีอย่างแท้จริง ซึ่งทรพีไม่เคยสำนึก เลยถูกตราหน้าเป็นจอมเนรคุณดังนี้แล หลังจากเสร็จศึก พาลีจะเสด็จกลับเมือง มาถึงปากถ้ำเห็นหินปิดปากถ้ำอยู่ก็พิโรธโกรธสุครีพสุดขีด ตรงนี้ต้องเล่าแทรกนิดหนึ่งว่าคืนที่พาลี สู้กับทรพีนั้นฝนตกหนัก สุครีพมาที่ปากถ้ำตอนเช้าฝนหยุดตกแล้ว เห็นเลือดที่ไหลออกมาทางปากถ้ำเหลวๆ ไม่ข้นอย่างท่านพี่ว่าก็ร้องไห้ คร่ำครวญด้วยความเสียใจ ไพร่พลที่ยกไปด้วยเลยใจเสียพากันร้องไห้ระงมตาม สุครีพฟื้นจากความโศกได้เร็วเพราะมีฝูงลิงร้องไห้ เป็นเพื่อนตั้งฝูง เลยร้องสั่งให้พลลิงรีบขนหินมาปิดปากถ้ำตามที่ท่านพาลีธิราชสั่งไว้ แทรกวิเคราะห์เชิงจิตวิทยา คนหรือลิงคือกัน เวลาร้องไห้เสียใจ ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการคำปลอบ แต่ต้องการคนร้องไห้เป็นเพื่อนมากกว่า ถ้ามีคนร้องไห้เป็นเพื่อนทีไร ไม่นานก็หยุดร้องไห้คร่ำครวญ แต่ต่างกันตรงคนไม่ได้ต้องการเพื่อนทั้งโขยง ขอแค่ใครสักคนที่เข้าใจมา ร้องไห้เป็นเพื่อน คนเดียวก็พอแล้ว ฮือฮือ... ที่เล่าเรื่องร้องไห้แทรกเข้ามา เพราะวรรณคดีไทยโดยเฉพาะรามเกียรติ์มีบทร้องไห้คร่ำครวญอยู่เยอะ ถ้าไม่วิเคราะห์กลัวจะเข้าใจผิด กลายเป็นสรุปว่าตัวละครในวรรณคดีไทยส่วนใหญ่ขี้แง กลับเข้าเรื่องต่อ เรื่องสุครีพตอนนี้มองได้สองมุม มุมหนึ่งเป็นความสะเพร่าของสุครีพที่ไม่ตรวจดูให้ละเอียดว่าเลือดที่ไหลออกมาเหลวนั้น เป็นเพราะไหลปนกับน้ำฝนออกมา ถ้ำตามธรรมชาติย่อมมีรูรั่วเป็นธรรมดา แต่สุครีพไม่ทันฉุกคิด ถ้าหนุมานชาญฉลาดอยู่ด้วยเรื่องคง ไม่บานปลาย แต่เพราะหนุมานฉลาดเกินไป มองเห็นความเป็นพาลเป็นเผด็จการของพาลีอย่างชัดเจน เลยลาบวชออกไปอยู่ป่าตามที่เล่ามาแล้ว มองอีกมุม สาเหตุมาจากความเป็นเผด็จการของพาลี ซึ่งสุครีพเข้าใจดีว่าเผด็จการนั้นไม่ต้องการให้ใครมาเห็นฉากสุดท้ายของตนเอง โดยเฉพาะเป็นฉากสุดท้ายที่สู้แพ้ควายยิ่งเห็นไม่ได้ ก้อนหินจึงถูกระดมขนมาปิดปากถ้ำอย่างเร่งรีบด้วยประการฉะนี้ พาลีมองไปเห็นปากถ้ำถูกปิดอยู่ ด้วยความโกรธเลยเขวี้ยงหัวควายทรพีไปแทนลูกระเบิด ความตั้งใจทีแรกที่ว่าจะเอาหัวควายไปประดับข้างฝา ไว้อวดแขกไปใครมาว่าตูเก่งเลยไม่สำเร็จ เพราะหัวควายกลายเป็นลูกระเบิดพังไปพร้อมกับก้อนหินปากถ้ำ (ความตั้งใจของพาลีนี้ ในต้นฉบับไม่มี ผมตีความแบบมั่วเอาเองตามเคยจ้า)เสร็จจากระเบิดถ้ำ รีบกลับไปถึงขีดขินนครอย่างรวดเร็วด้วยความยัวะ ตามนิสัยเผด็จการและจอมพาลแห่งยุค ไปถึงก็ด่าสุครีพเป็นฉากๆ ไม่ฟังคำแก้ตัวใดๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าสุครีพจะกราบเรียนให้ทราบว่าที่ทำไปนั้นทำตามท่านพี่สั่งทุกประการ ที่ร้ายไปกว่านั้นด้วยความที่ท่านพาลีเป็นลิงหัวไว ขณะด่าฉอดๆ ไม่หยุดปาก คิดถึงเรื่องหนึ่งขึ้นมาได้เลยรีบยัดข้อหาคิดกบฎให้แก่สุครีพทันที สุครีพถึงจะเป็นลิงเหมือนกันแต่คงไม่เคยขี่เสือหมอบ หัวเลยไม่ไว คิดตามพาลีไม่ทัน ได้แต่แก้ตัว พูดถึงแต่ความจงรักภักดี แต่พาลีไม่ฟังทั้งนั้น ออกโขนด่าสุครีพไปเรื่อย พร้อมกับขับไสไล่ส่งให้ออกไปจากขีดขินนคร ปากด่าไปมือไวคว้าดาบมาไล่ฟัน สุครีพไปด้วย สุครีพสู้ไม่ได้ ไม่กล้าสู้ เลยต้องออกจากเมืองมาด้วยความคับแค้นใจ ระหกระเหเร่ร่อนเก็บผลไม้ป่ากิน จนมาเจอกับหนุมานที่บำเพ็ญภาวนาอยู่ ในป่า นั่งปรับทุกข์กัน ประสาน้าหลาน สุครีพลิงหัวช้าถึงคิดได้ทะลุปรุโปร่ง แล้วโลกนี้ก็เกิดจอมทรยศขึ้นมาอีกหนึ่งตัว ตอนที่ 7 จอมทรยศ จอมทรยศในโลกนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท หนึ่งนั้นเป็นโดยสันดาน คอยจ้องหาจังหวะและโอกาส จะทรยศอยู่เสมอ อีกหนึ่งนั้น ไม่เคยคิดจะทรยศมาก่อน แต่ทำลงไปเพราะความน้อยใจเจ้านายงี่-เง่า สุครีพคือตัวอย่างของประเภทหลังนี้ ลองตามเข้ามานั่งในใจสุครีพดูว่าทำไมถึงต้องทรยศ ทำไมเว้ย ทำไม ตูทำอะไรให้มัน มันถึงทำกับตูขนาดนี้ ที่ทำไปก็ทำตามที่มันสั่งทุกอย่าง ตูพลาดนิดเดียวมันถึงกับจะฆ่าตูให้ตาย ตูยอมมันมาตลอดชีวิต ยอมมันหมดทุกอย่าง มันแย่งนางดารา-วดีของตูไปทำเมีย คำหนึ่งตูไม่เคยว่าให้มันสะเทือนใจ ให้มันกระเทือน ความเป็นพี่เป็นน้อง แต่พอตูพลาด มันจะฆ่าตู ไล่ตูอย่างกับหมา ยัดเยียดข้อหากบฎ... นึกมาถึงตรงนี้แหละครับท่านผู้ชม ที่ทำให้สุครีพเข้าใจกระจ่าง ถึงไม่เกิดเหตุการณ์ปิดปากถ้ำ พาลีก็หาเรื่องอื่นเอากับสุครีพจนได้ตามนิสัยพาล ตัวเองแย่งเจ้าสาวของน้องชายมาทำเมีย เลยเกิดความระแวงว่าน้องจะแค้นใจ หาโอกาสมาล้างแค้น เพราะฉะนั้นต้องหาวิธีกำจัดน้องออกไป อย่างชอบธรรม อย่างที่ว่าพาลมองวิญญูชนก็เห็นเป็นพาลนั่นแล พาลีเป็นตัวละครที่ทั้งชีวิตไม่เคยประกอบกรรมดี ทั้งกาย วาจา ใจ จนก่อนตายถึงได้ฝากภาษิตสอนน้องเอาไว้ให้เด็กนักเรียนท่องจำกัน นอกนั้น ที่ผ่านมาทำแต่เรื่องอกุศลมาตลอด แต่ก็น่าเห็นใจอยู่เหมือนกัน เพราะไม่มีพ่อแม่คอยอบรมสั่งสอน นางกาลอัจนาผู้แม่นั้นถูกสาปเป็นหิน ตามที่เคยเล่ามาแล้ว ส่วนพระอินทร์ผู้พ่อเป็นเทพผู้มีภารกิจเยอะ ไม่มีเวลาดูแลเลยเนรมิตเมืองพร้อมทรัพย์ศฤงคารให้ ถ้าเปรียบเทียบคงเหมือน เด็กยุคใหม่ที่มีปัญหาพ่อแม่แยกทางกัน ไม่ว่าจะไปอยู่กับฝ่ายไหนก็แล้วแต่ บุพาการีไม่เคยมีเวลาให้ ให้แต่เงินใช้อย่างเดียว... เดี๋ยวจะกลายเป็นบทความวิจารณ์สังคมไป กลับมาเข้าเรื่องรามเกียรติ์ต่อ ความเป็นเผด็จการของพาลีนั้นมาจากความหวาดระแวง ถ้าใคร ไม่อยากเป็นเจ้านายแบบเผด็จการ ลองจำคาถาของคนจีนไปท่อง 10 คำจำง่ายมาก ผมจำได้แต่คำไทย ไม่ไว้ใจอย่าใช้ ใช้อย่าไม่ไว้ใจ เพราะความไม่ไว้ใจของพาลีนี่เองที่เป็นตัวกระตุ้นให้สุครีพทรยศ ลองนึกภาพตามดู คนไม่ได้ทำความผิดอะไร แต่เจ้านายระแวงคอยหาโอกาส ยัดเยียดข้อหาฉกรรจ์ให้ ในเมื่อเราไม่ได้ทำ ไม่เคยคิด มันยังหาเรื่องเอาผิดเราจนได้ ไหน ๆ ก็ไหนๆ ในเมื่อยังไงก็ผิดอยู่แล้ว ก็ทำตามที่ มันคิดเสียเลย เพื่อความสะใจ สุครีพคิดด้วยวิธีนี้ ซึ่งเป็นวิธีที่ขาดสติ ผลของการทำเพื่อความสะใจนั้นสะท้อนกลับแสบทรวงเหลือเกิน จากเคยเป็นระดับท่านรองฯ ต้องกลาย มาเป็นขี้ข้าคนอื่น ไพร่พลของเมืองตนรวมทั้งเมืองเพื่อนบ้านต้องตามมาเป็นขี้ข้าด้วยทั้งฝูง ที่แสบมหาแสบคือประวัติศาสตร์ที่ผู้ชนะจารึก แพ้เป็นมาร ชนะเป็นเทพ คนช่วยรบดันกลับกลายเป็นลิง พูดถึงจอมทรยศ ต้องตามมาดูพิเภก เพราะเป็นผู้ทรยศโดยสันดาน ไม่ใช่สถานการณ์บีบบังคับ พิเภกผู้นี้เป็นตัวละครตัวเดียวในเรื่องที่ผมหา เหตุผลเข้าข้างการกระทำของแกไม่ได้เลย ซึ่งพอเป็นอย่างนี้ทำให้ผมไม่อยากวิจารณ์ เพราะการวิจารณ์ใครแต่ด้านลบเพียงอย่างเดียว เป็น การวิจารณ์ที่แย่มาก แต่ถ้าไม่วิจารณ์เราจะเข้าใจเรื่องรามเกียรติ์ผิดๆ พิเภกผู้นี้แหละครับ คีย์แมนตัวจริงที่ทำให้มหายุทธ์ครั้งนี้ลงเอยเช่นนี้ โคตรวงศ์ลงกาพินาศวายป่วงเกือบจะสิ้นเผ่าพันธุ์ มาจากความกระสันอำนาจ ของพิเภกแต่เพียงผู้เดียว คนเขียนประวัติ-ศาสตร์จะเปลี่ยนสมญานามให้พิเภกใหม่เช่นไร พิเภกก็ยังคงเป็นจอมทรยศอันดับหนึ่งอยู่ดี ถ้าวิเคราะห์แก ด้วยสำนวนผม อคติคงเยอะไปหน่อย คงไม่น่าฟัง อีกอย่างเราเคยถูกสอนกันมาแต่เด็กว่าพิเภกเป็นผู้จงรักภักดีต่อพระราม เป็นโหราจารย์ใหญ่ผู้หยั่งรู้ จนได้รับเกียรติกลายมาเป็นหน้าปกตำราหมอดูอยู่ทุกวันนี้ จู่ๆ มีไอ้บ้าที่ไหนไม่รู้ยกอีกมุมมาให้มอง เอาอีกด้านมาเล่าให้ฟัง เราย่อมทำใจลำบาก ไม่อยากฟัง ไม่ฟังผมสิบ่เป็นหยังเด้อ ลองฟังโคตรเหง้าพิเภกดูบ้างเป็นไรมี แลเห็นพิเภกขุนยักษ์........................ยิ่งกริ้วโกรธนักดั่งเพลิงจี้ ชี้หน้าแล้วร้องพาที..........................เหวยเหวยอสุรีพาลา อัปลักษณ์คิดอักตัญญู......................ไม่รู้คุณญาติวงศา ไปเข้าด้วยลักษณ์รามา....................มีความปรารถนาสิ่งใด แม้นพระบิตุเรศกุวายปราณ............หมู่มารทั้งหลายจะร้องไห้ วานรจะโห่เอาชัย............................หัวเราะไยไพอสุรา ฝ่ายท่านจะไห้ฤาหัว........................เป็นไฉนใจตัวให้เร่งว่า กุนี้ยังคิดสงกา.................................จงบอกมาโดยสัจวาที ฯ องค์การค้าคุรุสภา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๗ เล่มที่ ๕ หน้า ๒๘๖-๒๘๗ โคตรวงศ์ลงกาเมื่อมาเจอพิเภก ทุกตนล้วนบริภาษด่าอย่างดุเดือด หรือไม่ก็เหน็บแหนมให้ได้อายเพื่อจะได้คิด ถอนตัวออกไปจากสงครามครั้งนี้ อย่างที่อินทรชิตเหน็บเอา ตามกลอนที่คัดมาให้ดูว่าถ้าทศกัณฐ์ท่านพ่อตูตายไป ฝ่ายลงกาจะระงมด้วยเสียงร้องไห้ ฝ่ายลิงจะโห่ร้องเยาะเย้ยหยามหยัน อยากรู้ว่าตัวท่านนั้นจะทำยังไง ครั้งนี้ฟังดูไม่ชัดเท่าไร เพราะหลานด่าอาถ้าชัดมากมันน่าเกลียด ถ้าอาหน้าไม่หนามากควรจะได้อาย ถอนตัวได้แล้ว แต่อาพิเภกหน้าด้านมาก ยกธรรมะอธรรมมาอ้างตามเคย จะให้เถียงไม่ออกต้องตอนประจัญหน้ากับกุมภกรรณพี่ชายรอง แต่ก่อนจะเล่าฉากนี้ต้องเล่าเรื่องย้อนไปก่อนเผื่อคนไม่เคยอ่านจะได้ไม่งง เรื่องที่ถูกยกเป็นข้ออ้างของพิเภกในการทรยศมาอยู่กับพระราม มาจากตอนที่มีการปรึกษาหารือกันเรื่องสงครามที่เกิดขึ้น พิเภกเสนอส่งคืนนางสีดา ไปให้พระราม สงครามจะได้ไม่เกิด ทั้งสองฝ่ายจะได้เป็นไมตรีกัน ถูกต้องทำนองคลองธรรมแห่งขัตติยะ ทศกัณ ฐ์ได้ฟังก็บริภาษด่าพิเภกไปเป็นชุด พิเภกก็เถียงคำไม่ตกฟาก ทศกัณฐ์เลยขู่จะฆ่าให้ตาย แค่ขู่เท่านั้น เพราะเอาเข้าจริงแค่เนรเทศพิเภก เรื่องตอนนี้ถ้าไม่พินิจให้ละเอียดจะนึกว่าพิเภกเป็นยักษ์ดีมีคุณธรรม อยู่ฝ่ายธรรมะ ไม่อยากให้เกิดสงคราม แต่ความจริงสงครามนั้นเกิดขึ้นแล้ว พระยาทูษณ์ ขร ตรีเศียร น้องชายทั้งสามหน่อถูกฆ่าตายด้วยศรพระรามพระลักษมณ์เรียบร้อยไม่เหลือหลอ ข้ออ้างที่ว่าไม่อยากให้เกิดสงครามจึงฟังไม่ขึ้น พิเภกนั้นเป็นพวกระสันอำนาจอยากเป็นใหญ่ แต่เป็นพวกไม่มีฝีมือ เรี่ยวแรงอ่อนแอ ไม่สมกับที่เป็นยักษ์ การจะขึ้นเป็นใหญ่เป็นโตได้จึงต้องฆ่าล้างโคตร อย่างเดียว สถานการณ์ประจวบเหมาะกับความคิดพอดี ได้เป็นใหญ่โดยอ้างความชอบธรรมได้อย่างแนบเนียนทำให้พิเภกหลอกคนดูได้เกือบทั้งหมด แต่หลอกพี่ชายอย่างกุมภกรรณไม่ได้หรอก ระหว่างประจัญหน้ากันในสนามรบ กุมภกรรณเห็นพิเภกเข้ามาเจรจาก็ด่านำไปก่อนหนึ่งชุดด้วยภาษาพ่อขุนรามฯ เหวยๆ ไอ้ยักษ์สารเลวยังมีหน้ามาพบตูอีกหรือไอ้ทรยศ ธรรมดาพี่น้องทะเลาะกันไม่นานก็คืนดีกันได้ ทำไมสูถึงไปเข้ากับฝ่ายรามลักษมณ์ โคตรเหง้า ญาติโกโหติกามีอยู่ตั้งมากมายทำไมไม่ไปอาศัย สูไปเข้าด้วยศัตรูด้วยเจตนาใด หรือจะมาล้างโคตรวงศ์พงศาให้พินาศสิ้น พิเภกได้ฟังก็กราบบังคมคัลอัญชลี ก่อนกราบบังคมทูลเสียงอ่อนเสียงหวาน จ๋าจ้ะ ท่านพี่จ๋า ตัวน้องนี้สำนึกในความกรุณาของญาติกาอยู่เสมอ แต่ทศกัณฐ์ไปลักนางสีดามเหสีพระรามมา ซึ่งท่านนั้นคือพระลักษมีผู้มากบารมี เป็นศรีภริยาแห่งองค์นารายณ์อวตาร ด้วยความสำนึกคุณของท่านพี่กุมภกรรณอยู่ในใจน้องตลอดเวลา น้องจึงกราบทูลพระรามไปว่าท่านพี่นี้ไม่เหมือน ทศกัณฐ์ ท่านตั้งมั่นอยู่ในธรรมะ คงไม่หลงเห็นผิดเป็นชอบ คงมาอยู่ข้างฝ่ายธรรมะเหมือนกันกะน้องนี่แหละจ้ะ พระองค์ได้ฟังจึงตรัสว่าถ้าเสร็จศึก ลงกาเมื่อใดจะให้พี่ครองลงกาพิชัยธานี กุมภกรรณได้ฟังจึงดาลเดือดด่าไป อีกชุด ตัวมืงผู้เป็นไส้สงคราม.....................พระรามก็จะยกเมืองให้ ฝ่ายกุผู้ออกมาชิงชัย.........................ก็จะซ้ำให้ราชธานี ลงกาเป็นสองเมืองหรือ....................ให้มืงแล้วจะรื้อให้พี่ ลวงได้แต่มืงอ้ายอัปรีย์......................กุนี้มิได้เชื่อวาจา [องค์การค้าคุรุสภา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๗ เล่มที่ ๕ หน้า ๗๘ ] กลอนตอนนี้เป็นการด่าที่เปี่ยมเหตุผลชัดเจนมาก แต่พิเภกแกล้งฟังไม่เข้าใจ กุมภกรรณไม่สิ้นพยายาม คิดกุศโลบายให้พิเภกกลับตัวกลับใจ พระนารายณ์นั้นมีสี่หัตถ์ถือจักร คทา สังข์ ตรี มีนาคเป็นบังลังก์ สถิตอยู่ยัง ณ เกษียรชลธาร ส่วนรามที่เจ้าไปเข้าด้วยเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาสองมือ ไม่ใช่นารายณ์อวตารดอกเน้อ มันสร้างภาพ แต่เอาเถิดเจ้าอาจไม่เชื่อ พี่จะทายปริศนา ถ้ามันตอบได้ พี่จะยอมรับว่ามันเป็นนารายณ์อวตาร พิเภกได้ฟังใจก็จดจ่ออยู่กับปริศนาคำทายอย่างเดียว พอฟังจบทบทวนอยู่จนขึ้นใจก็รีบแจ้นกลับไปบอกพระรามทันที แม้นจริงเหมือนมืงมายกยอ ................ก็จะแจ้งในข้อปริศนา คือชีโฉดหญิงโหดมารยา....................ช้างงารีชายทรชน ถ้าว่าเป็นองค์พระจักริศ.......................ก็จะคิดแก้ไขไม่ขัดสน ตัวกุผู้มีฤทธิรณ...................................จะเลิกพลคืนเข้าไปธานี ฯ บัดนั้น..................................................พระยาพิเภกยักษี จำข้อปริศนาอสุรี.................................ชุลีกรแล้วรีบกลับมา ฯ [องค์การค้าคุรุสภา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๗ เล่มที่ ๕ หน้า ๗๙ ] พระรามฟังปริศนาแล้วงงตอบไม่ถูก ต้องให้องคตมาหลอกถามกุมภกรรณ ปริศนาคำทายมีอยู่ว่าใครเอ่ย ชีโฉด หญิงโหด ช้างงารี ชายทรชน องคตมาเล่นกลตื้นๆ ให้ดู กุมภกรรณนั้นเป็นหนึ่งในนักเล่นกลเหมือนกัน จึงรู้ไต๋ฝ่ายตรงข้ามหมด เลยด่าองคตไป และบอกว่าตูรู้ทันนะเหวย ไอ้ลิงว่ามาหลอกถามคำเฉลย แต่ยังเฉลยปริศนาให้รู้อยู่ดีว่าชีโฉดคือพระราม ผู้ทิ้งเมียไว้ในป่าลำพัง จนเป็นชนวนเกิดสงครามใหญ่โต หญิงโหดคือนางสำมนักขา ผู้ไปเกี้ยวชายไม่อายใจ ช้างงารีคือทศกัณฐ์ ผู้ลักเมียชาวบ้าน มาไว้ ทำให้ต้องเดือดร้อนมารบกัน ชายทรชนคือพิเภก ผู้ทรยศสมคบกับศัตรูมาฆ่าญาติวงศ์พงศาตัวเอง ที่กุมภกรรณเฉลยปริศนา เพราะรู้ว่าหมดหนทางที่จะทำให้พิเภกกลับตัวกลับใจแล้ว เพราะมาถึงตรงนี้พิเภกยังแกล้งเชื่ออยู่ได้ว่าพระราม คือองค์นารายณ์อวตารมาผลาญอสุรา ยังจำศาสตร์หน้าด้านใจดำในตอนก่อนๆ ได้อยู่ใช่มั้ยครับ พิเภกนี่แหละที่เป็นตัวอย่าง เป็นที่สุดของที่สุดของความหน้าด้านและใจดำ ผลที่พิเภก ได้รับก็เป็นไปตามที่คาด เสร็จศึกได้รับการโปรโมตเป็นท้าวทศคิริวงศ์ครองกรุงลงกา ผลด้านลบที่พวกจอมทรยศไม่เคยมอง ต้องเอามาแจกแจงให้ดูกันหน่อย ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป สิ่งที่พิเภกสูญเสียอย่างแรกคือศักดิ์ศรี อยู่กรุงลงกาเป็นถึงพระอนุชา เวลากลอนจะกล่าวถึงก็ว่า เมื่อนั้น น้องท้าวทศพักตร์ยักษี ถ้าเปรียบกับ ภาษาปัจจุบันคือเรียกว่า ท่าน แต่พอไปอยู่กับพระรามก็กลายเป็นบัดนั้น พระยาพิเภกยักษี เปรียบเหมือน แก, เอ็ง, มืง นั่นแหละ สิ่งที่สูญเสียมากที่สุด ไม่ใช่ญาติวงศ์พงศาหรือไพร่พลบริพาร เพราะจอมทรยศมองชีวิตผู้อื่นไร้ค่าอยู่แล้ว ขอให้ตัวไปถึงจุดหมายจะแลกด้วย ชีวิตใครก็แลกได้ ยกเว้นชีวิตตัวเอง สิ่งที่ว่าคืออิสรภาพของตัวและอธิปไตยของชาติ หลังจากเสร็จศึกทศกัณฐ์ พิเภกขึ้นเถลิงอำนาจเป็น เจ้ากรุงลงกา ทุกเดือนต้องรายงานสถานการณ์บ้านเมืองมายังอยุทธยา และมีกำลังพลจากฝ่ายอยุทธยามาคุมเมืองลงกาไว้อีกชั้นหนึ่ง หมดสิ้นความเป็นตัวของตัวเองและเอกราชของชาติบ้านเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จอมทรยศไม่เคยมอง เพราะมัวแต่จ้องอยู่ที่เป้าหมายความเป็นนัมเบอร์วัน ไม่ได้รู้สำนึกแม้แต่นิดว่าผลลัพธ์บั้นปลายนั้น กลายเป็นขี้ข้าบ้านเมืองอื่นกันทั้งเมืองตนและกลายเป็นคนบาปที่ถูกคนรุ่นหลังสาปแช่งประณามไปสามชั่วคน ที่พวกนี้ไม่สนใจ เพราะรู้ว่าหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปนานวัน ความชั่วของตนก็ถูกลืมกันไปเองเหมือนที่พวกเราส่วนใหญ่ในวันนี้ลืมไปว่า พิเภกเป็นจอมทรยศ ตอนที่ 8 ศิลปะการเป็นเจ้านาย เจ้านายที่จะพูดถึงคนแรกเป็นระดับท่านรอง ท่านผู้นั้นคือพระลักษมณ์ ผู้มีการันต์ตัวเดียวสะกดอักษรไม่ให้ออกเสียงได้ทีเดียว 3 ตัว เหมือนกับความโหดของท่านเรื่องเดียวที่สะกดให้ท่านผู้ชมพูดไม่ออกบอกไม่ถูกไป 3 วัน ตามที่เล่ามาแล้วในตอนแรกเรื่องชนวนสงคราม สาเหตุที่พระลักษมณ์โหดแบบสุดๆ นั้น เพื่อสร้างภาพพระรามให้ขาวสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง พระรามเป็นเจ้านายที่มีแต่ให้ เรียกว่าเน้นพระคุณ อย่างเดียว ถ้าไม่มีบทพระลักษมณ์มาเน้นพระเดช เรื่องราวชัยชนะฝ่ายอยุทธยาจะกลายเป็นเรื่องโกหกหลอกเด็กไป อีกเรื่องของพระลักษมณ์ที่น่าพูดถึงคือเรื่องความเก่ง ดูเผินๆ แล้วเหมือนท่านไม่ค่อยเก่ง รบแพ้ยักษ์ถูกหอกถูกศรปางตายหลายครั้ง แต่ทุกสมรภูมิ ในโลกความเป็นจริงล้วนเป็นเช่นนี้ มีชนะย่อมมีแพ้ ไม่แน่นอนเสมอไป แต่ถ้าครั้งไหนฝ่ายอยุทธยามีโอกาสชนะค่อนข้างแน่นอน พระราม จะเป็นคนนำทัพไปด้วยตนเอง ถ้าไม่แน่พระลักษมณ์จะเป็นคนไปเสี่ยงแทน ท่านรองอย่างพระลักษมณ์นี้ถ้าบิ๊กบอสส์คนใดได้ไปควรปลาบปลื้มยินดี เพราะเป็นท่านรองที่เล่นบทพระรองได้ดียอดเยี่ยม ไม่เคย อยากเด่นอยากดังมาเล่นบทพระเอก อีกตัวอย่างที่เห็นชัดคือตอนยกศรเลือกคู่ ที่พระชนกบิดานางสีดาจัดให้เจ้าชายเมืองต่างๆ มายกศร ใครยกขึ้นจะได้อภิเษกสมรสกับนางสีดา เจ้าชายเมืองต่างๆ ไม่มีใครยกขึ้น พระลักษมณ์ยกศรขยับแต่ยกไม่ขึ้น ส่วนพระรามมายกขึ้นได้สบายมาก เนื้อเรื่องตอนนี้ถ้าวิเคราะห์ตามทัศนะหนอนสุราแล้ว พระลักษมณ์ก็ยกศรขึ้นได้สบายมากแต่ไม่ทำ ที่ไปยกนั้นเพื่อประเมินดูว่าพระรามจะยกขึ้นหรือไม่ ถ้าตัวเองไม่มีปัญญายกขึ้น คงไม่รู้ ไม่กล้าแน่ใจว่าพระรามยกได้แน่ สรุปคุณสมบัติของท่านรองที่ดี ต้องพร้อมทำสิ่งที่นายใหญ่ไม่อยากทำ ไม่ว่าเหตุผลจะเพราะนายเราไม่อยากเสี่ยง หรือนายเราไม่อยากถูกมอง ในแง่ลบก็ตาม ตรงนี้เราต้องพร้อม แทน ส่วนถ้าทำแล้วได้หน้า ผลออกมาดูดีมาก โปรดปล่อยให้นายเราเป็นคนลงมือ กับอีกประการ ที่ต้องจำให้แม่นคือเราเป็นพระรอง เก่งกว่าใครเก่งได้ แต่อย่าเก่งกว่าพระเอกเป็นอันขาด ตัวอย่างของพระรองที่ดี ไม่มีใครมีบทบาทชัดเท่าพระลักษมณ์อีกแล้ว เพราะฉะนั้นขอข้ามไปดูเจ้านายระดับบิ๊กบอสส์เลยดีกว่า จะได้วิเคราะห์ เจาะลึกให้ละเอียดทั้งทศกัณฐ์และพระราม ทศกัณฐ์เป็นเจ้านายที่มีข้อดีชัดๆ น่าศึกษา น่าเลียนแบบอยู่อย่างหนึ่ง คือท่านเป็นเจ้านายที่มีศิลปะการใช้คนสุดยอด แต่ก่อนจะดูข้อดีข้อนี้ ลองมาดูข้อเสียกันก่อน เพราะค้างไว้ตั้งแต่ตอนต้นแล้ว ไม่ได้เล่าเสียที เดี๋ยวจะลืม ทศพักตร์เป็นยักษ์ทะลึ่ง วางตัวไม่ค่อยเหมาะสมกับการเป็นเจ้ากรุงลงกาอันยิ่งใหญ่ ตอนขอรางวัลกับพระอิศวร ดันทะลึ่งไปขอประทานพระอุมา ชายาของพระองค์มา ลองคิดดูว่าทะลึ่งขนาดไหน ขออะไรไม่ขอดันขอเมียเจ้านาย มองอีกมุมหนึ่ง ทศเศียรอาจลองใจเจ้านายอย่างพระอิศวรก็เป็นได้ เพราะกิตติศัพท์ท่านนั้นไม่เคยปฏิเสธคำขอของผู้มีความดีความชอบ เลยลอง ขอเมียดูซิว่าจะกล้าให้มั้ย พระอิศวรนั้นเป็นสุดยอดของสุดยอดเจ้านาย ถ้าลูกน้องมีความดีความชอบมาขอประทานรางวัล ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ท่านให้หมด ไม่เคยปฏิเสธ มองในแง่คนที่ไม่เคยเป็นเจ้านายระดับยิ่งใหญ่อาจมองว่าพระอิศวรเป็นเจ้านายงี่เง่า แต่ถ้ามองอีกมุมการให้นั้นเหมือนกับ ความรัก ยิ่งให้ตัวเองยิ่งได้ อธิบายสั้นจุ๊ดแค่นี้พอ คนส่วนใหญ่น่าจะเข้าใจ ถึงจะไม่เคยเป็นนายคนอื่น แต่น่าจะเคยรักคนอื่นบ้างเนาะ ทศกัณฐ์มีข้อผิดพลาดจุกจิกเยอะแยะมากมายจาระไนไม่หมด สรุปสั้นๆ คือไม่มีบุคลิกของผู้เป็นเจ้าคนนายคน วางตัวไม่เหมาะสม แต่ข้อผิดพลาดเหล่านี้แค่ทำให้ลำบาก ยังไม่ถึงขั้นทำให้บรรลัย เพราะฉะนั้นขอข้ามไป ไม่เอามาเล่าให้ฟัง ข้ามไปดูความผิดมหันต์อันเดียวพอ ความผิดพลาดฉกาจฉกรรจ์ที่สุดของทศกัณฐ์คือปล่อยให้พิเภกลอยนวล กลยุทธ์ ยุทธวิธี ต่างๆ นานา ล้วนไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะพิเภกรู้ตื้นลึกหนาบางอย่างกระจ่างแจ้ง เนื่องจากแม่ทัพฝ่ายลงกาล้วนเป็นญาติโกโหติกาของแกทั้งนั้น การจะเอาชนะฝ่ายอยุทธยา โดยไม่ระดมไพร่พลจากเมืองพี่ เมืองน้อง เมืองญาติโกโหติกา ไปรุมกินโต๊ะพระราม ก่อนอื่นต้องจัดการ กับพิเภกขั้นเด็ดขาดเสียก่อน แต่ทศเศียรผู้มีสิบหัวกลับไม่เคยคิดจะจัดการ นายส่วนใหญ่มักเป็นเช่นนี้ ไม่กล้าตัดใจลงโทษลูกน้องบางคนอย่างเด็ดขาด เพราะเห็นแก่ความเป็นลูกน้องเลยใจไม่แข็ง ไม่โหดพอ ความใจอ่อนเลยทำลายชีวิตลูกน้องคนอื่นที่เหลือบรรลัยวายป่วง คนเป็นนายทั้งหลายพึงสังวรไว้ว่า การฆ่าลูกน้องเลวๆ ตายไปคนหนึ่ง ดีกว่าปล่อยให้ลูกน้องที่เหลืออีกมหาศาลถูกฆ่าตายทั้งหมด ข้อเสียผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งมองเห็นง่าย แต่ยากที่จะเอามาใช้เป็นประโยชน์ ไม่เหมือนการเรียนรู้ข้อดี เพราะการสร้างจุดแข็งนั้นง่ายกว่า การแก้จุดอ่อนเยอะ แต่ธรรมชาติคนส่วนใหญ่มักมองเห็นข้อเสียคนอื่นก่อนข้อดี และเห็นแล้วยังวิเคราะห์แยกแยะอย่างละเอียด ต่างกับข้อดีที่เห็นแล้วไม่ค่อยคิดต่อ เพราะมองว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ใครก็ทำได้ ในใจตัวเองบอกว่าฉันก็ทำได้ แต่ได้จริงหรือเปล่าต้องตามมาดูกัน ศิลปะการใช้คน(ยักษ์) ของทศกัณฐ์เป็นเหมือนกันตลอดเรื่อง ยกมาให้ดู 2-3 ตัวอย่างก็พอ ลักษณะที่ว่าคือจะใช้ใครก็พูดด้วยวาจาสุนทรอ่อนหวาน อย่างตอนใช้มารีศปลอมตัวเป็นกวางทองไปล่อพระราม ทศกัณฐ์พูดด้วยภาษาดอกไม้ก่อน มารีศพอได้ฟังไม่ได้อิดออดแต่อย่างใด ปฏิเสธออกมาตรงๆ ว่าไม่ไป ส่วนเหตุผลที่ไม่ไปมีทั้งข้ออ้างและความจริง ข้ออ้างคือไม่อยากให้เกิดสงคราม ทั้งที่สงครามเกิดแล้ว ความจริงคือกลัวถูกพระรามฆ่าตาย พูดออกมาตรงๆ ไม่ได้โยกโย้ ทศกัณฐ์ได้ฟังก็โมโหโกรธา สิบปากตวาดด่าลั่น เหวยเหวยมารีศจัญไร...........................ถึงจะเกิดศึกใหญ่ไม่กลัวกัน แม้นมิไปตามประกาศิต........................กุจะล้างชีวิตให้อาสัญ ลูกเมียโคตรวงศ์พงศ์พันธุ์......................อันจะเหลืออยู่นั้นอย่าสงกา ฯ [องค์การค้าคุรุสภา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๗ เล่มที่ ๓ หน้า ๑๗๑ ] ด่าไม่ด่าเปล่า ขู่จะฆ่าให้ตายทั้งโคตร ตรงนี้แปลความได้ว่าถ้ามารีศยอมไปทำตามคำสั่ง อาจตายหรืออาจรอดก็ได้ แต่ถ้าไม่ทำตายแน่ๆ และไม่ได้ตายแค่ลำพังผู้เดียว แต่ตายหมดทั้งตระกูล มารีศได้ฟังก็เข้าใจทันทีว่าปฏิเสธไม่ได้ เลยรับปากไปทำตามคำสั่ง แต่ขอร้องเจ้านายให้ช่วยดูแลลูกเมียให้ดีด้วย เจ้านายอย่างทศกัณฐ์ ได้ฟังพลิกอารมณ์หมุนกลับ 360 องศาทันที บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วง ตัวท่านมีฝีมืออยู่กับตัว งานนี้เทียบกับฝีมือท่านแล้วถือว่าเป็นงานง่ายๆ ลูกเมียทางนี้ไม่ต้องเป็นห่วง จะเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ท่านไปจัดการงานให้สำเร็จเถิด การใช้ลูกน้องของทศกัณฐ์เป็นอย่างนี้ตลอด ดูเหมือนง่ายๆ เริ่มต้นพูดดีด้วย ถ้าลูกน้องไม่ทำตามก็ด่า ใช้อำนาจบังคับ พอลูกน้องยอมทำ ตามคำสั่ง ก็พูดดีด้วยอีกครั้ง วิเคราะห์ออกมาให้เห็นอย่างนี้ เห็นแล้วง่ายมาก แต่ให้ทำตามนั้นยากเหลือเกิน โดยเฉพาะตอนฟิวส์ขาด ตวาดด่าลูกน้องไปแล้ว ให้พลิกอารมณ์กลับมาพูดดีด้วย ไม่ค่อยเห็นนายคนไหนทำได้อย่างนี้ ส่วนใหญ่เก๊กหน้ายักษ์พิโรธค้างอยู่อย่างนั้น ลูกน้องก็เก็บเอาหน้าบึ้งๆ ของนายไปทำงานด้วย แล้วมีหรือที่งานจะไม่เสียหายวายวอด อีกตอนที่เห็นความยอดเยี่ยมของทศกัณฐ์คือตอนลูกน้องมารายงานความล้มเหลว อย่างตอนกุมภกรรณออกไปรบครั้งแรก พ่ายแพ้ซมซาน กลับมาด้วยแผลยับเยิน เพราะถูกฝ่ายตรงข้ามรุมกัดมาอย่างสะบักสะบอม กัดจริงๆ ผมไม่ได้มั่ว ฝ่ายลูกพระพายชัยชาญ............................เข้าทะยานกัดหูซ้ายขวา สุครีพผู้มีศักดา.........................................เข้ากัดนาสากุมภกรรณ [องค์การค้าคุรุสภา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๗ เล่มที่ ๕ หน้า ๙๖ ] ภาพตอนนี้เหมือนตอนดูมวยปล้ำ แล้วฝ่ายอธรรมเล่นนอกกติกากัดขวัญใจท่านผู้ชม แต่เอ....หนุมานกับสุครีพนี่อยู่ฝ่ายธรรมะไม่ใช่หรือ ต่อตอนที่ 8 ศิลปะการเป็นเจ้านาย อันนี้เป็นความรู้สึกของคนดู แต่ความรู้สึกของเจ้านายเลวๆ ถ้าเจอเหตุการณ์อย่างนี้คงบ๊งเบ๊งโวยวายลั่น มันกัดสู แล้วทำไมสูไม่กัดมันบ้าง แต่ทศกัณฐ์เป็นเจ้านายดี ไม่เคยมองเห็นลูกน้องตัวเองเป็นหมา เลยปลอบกุมภกรรณไปว่า อันการศึกเสียทีแลมีชัย...........................มิใช่มีแต่องค์พระน้องรัก ตัวเจ้าก็ทรงอานุภาพ...............................ปราบได้ทั่วไปทั้งไตรจักร อันศึกเพียงนี้ไม่หนักนัก...........................จงคิดหักเอาชัยแก่ไพรี ให้เป็นเกียรติไปภายหน้า.........................ตราบสิ้นดินฟ้าราศี จะละห้อยน้อยใจไปไยมี...........................เจ้าพี่เร่งคิดไปต่อกร [องค์การค้าคุรุสภา พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๗ เล่มที่ ๕ หน้า ๙๙-๑๐๐ ] น้องรักกุมภกรรณได้ฟังก็เกิดมานะ ไปทำพิธีลับหอกโมกขศักดิ์แล้วมาสู้กับศัตรูใหม่ ได้ชัยชนะอย่างงดงาม พระลักษมณ์ถูกหอกบาดเจ็บสาหัส ตัวอย่างสุดท้ายที่จะยกให้เห็นความเก่งเรื่องการใช้คนของทศกัณฐ์คือตอนใช้สหัสเดชะไปรบธรรมดาการใช้ลูกน้องแม้เป็นเรื่องยาก แต่เป็น เรื่องที่ยังพอทำได้ ส่วนการใช้คนที่เหนือกว่าเราทุกด้านนั้น ต้องเรียกว่าสุดยอดของการใช้คน ทศกัณฐ์นั้นเรารู้จักดีว่ามีสิบเศียรยี่สิบกร สหัสเดชะมีมากกว่าทศกัณฐ์ร้อยเท่าตัว คือมีพันเศียรสองพันกร เรื่องหัวมากมือมาก ผมยังมั่ว แปลความไม่ออกว่าเป็นสัญลักษณ์หมายถึงอะไร แต่ที่แน่ๆ ถ้าดูจากเรื่องนี้เห็นได้ว่าสหัสเดชะเหนือกว่าทศกัณฐ์อยู่มาก ในด้านศักดิ์ฐานะ ท้าวพันหัวตนนี้เป็นพระเชษฐาของมูลพลัม ผู้เป็นพระสหายของทศกัณฐ์ ใช้คำง่ายๆ คือเป็นรุ่นพี่ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ เมื่อสหัสเดชะยกทัพมาช่วยรบ ทศกัณฐ์เสด็จออกไปต้อนรับด้วยตนเองถึงนอกเมือง ไปถึงก็กราบก้มบังคมคัลอัญชลีอย่างนอบน้อม จะได้ ใช้ง่ายใช้คล่อง เหมือนเล่าปี่ที่เจอใครไหว้ดะไปก่อน แต่ทศกัณฐ์หน้าบางกว่าเล่าปี่เยอะ และไม่ได้เป็นนักการเมือง เลยไหว้แต่ผู้อาวุโสกว่าอย่างเดียว ตอนที่เป็นสุดยอดที่ทำให้สหัสเดชะปฏิเสธทศกัณฐ์ไม่ได้เลย คือตอนที่ยกทัพเข้ามาพักในลงกา รถของท่านสองพันกรนั้น คันใหญ่โตมโหฬาร เช่นเดียวกับผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ทั้งหลาย ใหญ่ขนาดเข้าประตูเมืองไม่ได้ ทศเศียรแลไปเห็นเต็มตาทั้งสิบตา สิบหัวคิดอย่างรวดเร็วว่า ยักษ์ระดับพันหน้านี้ให้ลงจากรถคงไม่ยอม เพราะเสียศักดิ์ศรี สิบปากจึงไม่รอช้า ร้องสั่งลูกน้องรื้อประตูเมืองออกทันที แล้วอย่างนี้มีหรือ ที่สหัสเดชะจะไม่ออกไปช่วยรบด้วยความปลาบปลื้มเต็มใจ ที่ยกมาทั้งหมด เป็นแง่ความเก่งในการใช้คนของทศกัณฐ์ แต่ทุกตนทุกท่านที่ทศกัณฐ์ใช้ไปนั้นตายเกลี้ยงไปเกิดใหม่ มายืนเฝ้าประตูโบสถ์ เอากระบองจิ้มดินถ่ายรูปกับฝรั่งทั้งนั้น จะว่าทศพักตร์ใช้ลูกน้องไปตายก็ว่าได้ เรื่องนี้ต้องตามมาดู มาวิเคราะห์ต่อกันอีกหน่อยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น สาเหตุปลีกย่อยนั้นมีหลายประการ แต่ดูสาเหตุหลักอย่างเดียวเลยดีกว่า เพราะเรื่องนี้อธิบายยาก อธิบายหลายเรื่องแล้วจะงงเปล่าๆ ทั้งคนเล่าและคนอ่าน สาเหตุหลักมาจากทศกัณฐ์ไม่เคยจัดประชุม หลังจากประชุมวางแผนรับมือกับข้าศึกที่ยกมาประชิดเมืองครั้งแรกครั้งเดียว ครั้งนั้นประชุมแล้ว วงแตก เพราะพิเภกเสนอให้คืนนางสีดาไปอย่างที่เคยเล่าแล้ว ตรงนี้เล่าซ้ำอีกหน่อยให้เห็นแง่มุมว่าทำไมทศกัณฐ์ถึงพิโรธโกรธเกรี้ยวเคี้ยวฟัน 320 ซี่ ลองนึกภาพตามดูว่าเราตัดสินใจจะรบกับข้าศึกอยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ข้าศึกมารบกับเมืองบริวารแล้วฆ่าเจ้าเมืองตายไปสาม ฝ่ายศัตรูส่งทูตมา ก็มาประกาศท้ารบอย่างโจ่งแจ้ง ถ้าจะคืนนางสีดาให้ทูนใส่หัวไปส่ง แล้วกราบเท้าข้าศึกขอขมาโทษ เพราะฉะนั้นหนทางเดียวที่มีอยู่คือต้องรบ ให้แตกหักอย่างเดียว ยอมไม่ได้เด็ดขาด ถ้ายอมต้องสละตำแหน่งเจ้ากรุงลงกาทันที ไม่มีลูกน้องที่ไหนยอมรับอีกแล้ว ตรงนี้แหละความแสบ ของพิเภก เป็นหมากกลสองชั้น ถ้ายอมตามพิเภกเสนอ หมดศักดิ์ศรีความเป็นผู้นำ ถ้าไม่ยอมทำตาม ยังคงกักตัวนางสีดาไว้ก็เสียความชอบธรรม ในการเป็นเจ้านายไปเยอะ หลังจากนั้นทศกัณฐ์เลยไม่เคยจัดประชุมกำหนดกลยุทธ์อีกเลย คงเข็ดเขี้ยวโง้งๆ กลัวเจอลูกน้องเขี้ยวโง้งกว่ายาวกว่าอย่างพิเภก เลยยกเลิก การประชุมตลอดกาล ทั้งที่กลยุทธ์นั้นจะสำเร็จได้ผู้นำสูงสุดขององค์กรและผู้นำกลยุทธ์ไปปฏิบัติต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดกลยุทธ์เสมอ แต่ทศกัณฐ์ใช้วิธีสั่งสั้นๆ ตลอด ถ้าเป็นลูกน้องเก่งๆ ก็ว่าเจ้าจงไปรบให้ชนะ ถ้าลูกน้องไม่เก่ง ทศกัณฐ์จะกำหนดกลยุทธ์ กำหนดยุทธวิธีให้ แต่ใช่ว่าทศเศียรมีสิบหัวแล้วจะฉลาดปราดเปรื่องคิดแผนออกตลอดเสียเมื่อไร หลายครั้งท่ านคิดไม่ออกเหมือนกัน แล้วท่านทำยังไงหรือครับท่านก็ไปปรึกษานางมณโฑ โอ้..ช่างรักเมีย เคารพเมียซะเหลือเกิน เอ...หรือว่าท่านมองการณ์ไกล เอาไปเลยครับ รางวัลต่อสู้เพื่อสิทธิอันเสมอภาคของสตรี จบตอนที่ 8 ศิลปะการเป็นเจ้านาย พระรามเป็นตัวอย่างที่ดีของเจ้านายที่ประสบความสำเร็จสูง ถ้ามองด้วยมุมที่คุ้นเคยกันว่าธรรมะย่อมชนะอธรรม หรือโชคชะตาได้กำหนดผล ไว้ล่วงหน้าแล้ว เรื่องพระรามก็ไม่ต้องเอามาเล่ากัน การจะเรียนรู้ความสำเร็จของคนอื่นก็ไม่ได้เรียน ถ้ามองอีกมุม พระรามประสบความสำเร็จด้วยความเก่งของท่าน ในเรื่องดูเหมือนพระรามไม่ค่อยได้ทำอะไร ดูเหมือนนั่งอยู่เฉยๆ พอสุครีพ มาขอเชิญพระองค์ทรงแผลงศร ก็เสด็จไปฆ่าฝ่ายตรงข้ามที่เป็นตัวสำคัญเสียทีหนึ่ง นอกนั้นแล้วอยู่เฉยๆ ปล่อยให้ลูกน้องจัดการกันไปทำกันไป ศัพท์เทคนิคที่เป็นปรัชญาเรียกพฤติกรรมพระรามว่ากระทำโดยไม่กระทำ ฟังแล้วมึนยิ่งกว่าดื่มบรั่นดีครึ่งขวด เพราะฉะนั้นตามมาดูเรื่องราว ของพระรามให้ละเอียดหน่อย จุดแรกที่ทำให้พระรามแตกต่างจากคนทั่วไป คือท่านเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นกระทำการให้สำเร็จสูงมาก เรื่องที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนคือตอนที่ ถูกเนรเทศออกจากอยุทธยา สาเหตุมาจากความผิดพลาดเล็กน้อยครั้งเดียวของท่าน เรื่องเป็นไงเดี๋ยวค่อยเล่าให้ฟัง เอาตอนถูกเนรเทศออกมาก่อน ตรงนี้ต้องเปรียบเทียบกับภาพสมัยใหม่ จึงจะเข้าใจแจ่มแจ้ง ตัวเราเป็นลูกชายคนโต พ่อมีกิจการใหญ่โต และได้วางตัวให้เราเป็นผู้สืบทอดกิจการ จะด้วยเหตุผลกลใดแล้วแต่ วันร้ายคืนร้าย แม่เลี้ยงเปลี่ยน ทายาทจากเราไปเป็นน้อง ผู้เป็นลูกแม่เลี้ยงให้รับช่วงกิจการแทน และพ่อต้องยอมตามแม่เลี้ยงเสียด้วย พระรามจึงต้องออกมาเดินดงเป็นสิบปี แม้ว่าพระพรต น้องผู้ได้รับตำแหน่งแทน จะตามมายกราช-สมบัติคืนให้ก็ไม่เอา นางไกยเกษีแม่เลี้ยง จะตามมาขอโทษ ว่าแม่ผิดไปแล้วเชิญกลับไปครอง อยุทธยาตามเดิมก็ไม่ยอมกลับ ทั้งนี้ด้วยคำว่าขัตติยมานะของพระราม หรือแปลเป็นภาษาปัจจุบัน คือศักดิ์ศรีของผู้นำ คนจะเป็นผู้นำได้ อันดับแรกต้องมีความมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ เราต้องพิสูจน์ให้น้องเห็น ให้แม่เลี้ยงเห็น ว่าเราสร้างความสำเร็จขึ้นมาด้วยตัวเองได้ ถึงจะไม่รับช่วงต่อจากท่านพ่อ เราก็สามารถสร้างมัน ขึ้นมาได้เอง และจะต้องได้ดีกว่าที่ท่านพ่อยกให้ด้วยซ้ำ พระรามคิดด้วยวิธีนี้และทำสำเร็จตามที่คิด คนเราถ้าคิดและเชื่ออย่างจริงจังว่าเราเป็นอย่างไร เราก็จะเป็นอย่างนั้น อย่างเรื่องที่พระราม คิดว่าตนเองเป็นองค์นารายณ์อวตารก็เช่นกัน ความจริงที่อยู่เบื้องลึกในเรื่องนี้ ตัวละครทุกตัวรู้ดีกว่ามันคือการสร้างภาพของพระราม เหมือนกับที่กุมภ-กรรณบอกพิเภก แต่ท่านผู้ชมอาจมองเห็นไม่ค่อยชัด เลยต้องยกเรื่องอินทรชิตที่เคยเล่าแล้ว มาเล่าซ้ำอีกที จะได้เห็นชัดเจน ว่าพระรามไม่ใช่นารายณ์อวตารอย่างแน่นอน คงจำกันได้ที่เคยเล่าว่าอินทรชิตหลังจากเรียนจบ ได้ไปบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ 7 ปีเต็มจนเทพผู้เป็นใหญ่ทั้งสามมาประทานศรให้อินทรชิต คนละเล่ม ตรงนี้ถ้าพระรามเป็นอวตารของพระนารายณ์จริง อินทรชิตลูกรักทศกัณฐ์ย่อมไม่มีทางได้ศรแม้แต่เล่มเดียว หรือถึงแม้พระอิศวร กับพระพรหมจะยอมให้ พระนารายณ์ก็ไม่น่าจะยอม พระรามจะเป็นนารายณ์อวตารจริงหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ในโลกของความเป็นจริงอันโหดร้ายนั้น ความเชื่อคือความจริง การสร้างภาพ จึงยังคงความสำคัญมาทุกยุคทุกสมัย ใครที่ไม่อยากหลอกตัวเอง ไม่อยากหลอกคนอื่น ก็ต้องหยุดความอยากเป็นใหญ่เป็นโต ใช้ชีวิตสนุกสนาน เฮฮาร่ำสุราไปวันๆ ฮ่าฮ่า เอิ๊ก วิเคราะห์ให้เห็นมุมนี้ ดูเหมือนเป็นเรื่องเลวร้ายเหลือเกิน โดยเฉพาะผู้มีอุดมคติสูง แต่จะทำไงได้ในเมื่อความเป็นจริงมันโหดร้ายเช่นนี้ แหละครับท่านผู้ชม ประการถัดมาที่ทำให้พระรามประสบความสำเร็จมาจากการอ่านคนอื่น ท่านอ่านได้ทะลุปรุโปร่งหมด ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง หรือแม้แต่ศัตรู อย่างที่เคยเล่าให้ฟังแล้วเรื่องอ่านใจทศกัณฐ์ ที่สำคัญคืออ่านใจพิเภกกับสุครีพออกว่าเป็นเช่นไร อ่านออกอย่างเดียวยังไม่พอต้องหาวิธีจัดการ ที่เหมาะสมได้ด้วย ตอนสุครีพมาขอให้ช่วยทำรัฐประหารพาลี พระรามไม่ได้บุ่มบ่ามไปถึงก็แผลงศรทันที แต่ท่านให้ สุครีพไปท้าสู้กับพาลีก่อน สู้แล้วก็ยัง เงื้อศรค้างอยู่ จนสุครีพถูกพาลีอัดกระเด็นออกมา ต้องขอเวลานอกมาต่อว่าพระรามว่าทำไมไม่ยิงเสียที ตรงนี้เป็นทีเด็ดของพระราม ที่สยบสุครีพไว้ใต้อำนาจได้ตลอดกาล เพราะการรัฐประหารพาลีครั้งนี้เป็นความตั้งใจของสุครีพอย่างเด็ดเดี่ยว จะแก้ตัวให้ลูกน้อง ฝ่ายพาลีและไพร่พลลิงฟังยังไงก็ดิ้นไม่หลุด เพราะฉะนั้นเลยต้องเออออกับพระรามไปด้วยว่าท่านเป็นนารายณ์อวตารมาปราบพาลี ตามคำสัตย์สาบานของพาลีที่ให้ไว้กับพระอิศวร การได้พิเภกมาอยู่ด้วย ทำให้พระรามตั้งเป้าใหญ่โต ต้องพิชิตลงกาให้ได้ เพราะรู้ว่าสิ่งที่พิเภกต้องการคือครองกรุงลงกาสถานเดียว ไม่ได้หนีร้อนมาพึ่งเย็นแต่อย่างใด ด้วยว่าญาติกาพิเภกนั้นมีอยู่มหาศาล ถ้าอยากพึ่งเย็นควรจะไปอยู่เมืองบาดาล จะเย็นแน่ เพราะอยู่ใต้น้ำ ฮ่าฮ่า จริงจังหน่อยก็ได้ ถ้ากลัวว่าไปอยู่กับญาติแล้วทศกัณฐ์จะตามมารังควาญก็ไปอยู่กับท้าวมาลีวราชก็ได้ แต่ไม่ไป การจัดการกับลูกน้องสองคนนี้ของพระรามถือว่าสุดยอด เป็นการเล่นกับไฟโดยแท้ ยักษ์หรือลิงผู้ทรยศพี่ชายตัวเองได้ ทำไมจะทรยศ พระรามที่เป็นคนอื่นไม่ได้ แต่อย่างว่าไฟมีโทษมหันต์ก็มีคุณอนันต์ ถ้าไม่มีลูกน้องบ้าอำนาจอยู่ในองค์กร แล้วจะเอาพลังที่ไหนไปขับเคลื่อน องค์กร ตัวเองต้องลงมาทำมาสั่งการเอง จนไม่มีเวลาคิด เวลาวางแผนกำหนดนโยบายพอดี คุณสมบัติความเป็นยอดผู้นำที่นึกออกอันสุดท้ายคือการให้ อย่างตอนยกอยุทธยาให้หนุมานที่เคยเล่าให้ฟังนั้น แสดงความใจกว้างอย่างถึงที่สุด ของพระราม ส่วนพิเภกและสุครีพต่างก็ได้อย่างที่ตัวเองอยากได้ พิเภกเป็นท้าวทศคิริวงศ์ครองลงกา สุครีพเป็นพระยาไวยวงศาครองขีดขินนคร แต่พระรามนั้นไม่ใช่เจ้านายที่ให้อย่างเดียว เพราะอ่านลูกน้องออก ว่าคนเราถ้าเคยทรยศมาครั้งหนึ่งหากเปิดโอกาสให้ก็อาจทรยศอีก ยักษ์หรือลิง ก็หามีข้อยกเว้นไม่ พระรามเลยให้ท้าวทศคิริวงศ์ต้องรายงานตัวทุกเดือน โดยส่งสารแขวนมากับศรที่ท่านแผลงไป และยังส่งกองทัพไปคุมเชิง ที่ลงกาอีกชั้นหนึ่ง ส่วนทางฝั่งขีดขินนคร พระรามตั้งองคตโอรสพาลีขึ้นเป็นอุปราช คานอำนาจกันอยู่ในตัว ต้องหักเหลี่ยมเฉือนคมกันอีกนาน ไม่มีโอกาสรวมกำลังกันแข็งเมืองเป็นแน่ มาถึงเรื่องความผิดพลาดบ้าง พระรามทำผิดพลาดเล็กน้อยครั้งเดียวในชีวิต เป็นความผิดที่ต้องชดใช้ด้วยการออกมาเดินป่า ทำสงคราม อย่างยืดเยื้ออยู่ถึง 14 ปีเต็ม ใครจะไปนึกว่าสาเหตุมาจากสาวใช้เพียงคนเดียว สาวใช้คนที่ว่านี้ชื่อนางกุจจี เป็นคนหลังค่อม เป็นข้าเก่า ของนางไกยเกษีตั้งแต่ยังไม่มาอยู่อยุทธยา เหตุที่เกิดนั้นเป็นเรื่องตอนเด็ก สี่พี่น้อง พระราม พระพรต พระลักษมณ์ พระสัตรุด เล่นยิงหนังสะติ๊กกันอยู่ พระรามเหลือบไปเห็นนางกุจจี เลยบอกกับน้องๆ ว่า พี่จะยิงอี่ค่อมหลังกุ้ง ให้โก่งนั้นดุ้งไปข้างหน้า กลอนจะว่ายังไงต่อก็ชักขี้เกียจไปค้น เอาเป็นว่าเหตุการณ์คือพอยิงครั้งหนึ่ง นางกุจจีก็เด้งไปข้างหนึ่ง พระรามก็ยิงซ้ำให้ความค่อมเด้งไปอีกข้าง ยิงซ้ำไปมา แล้วตบมือหัวเราะชอบใจกันทุกคนรวมถึงมหาดเล็กเด็กชา ณ เพลานั้นนางกุจจีร้องไห้ด้วยความแค้นและความอาย และอาฆาตว่าจะต้องแก้แค้นพระรามให้ได้ เรื่องราวตอนนี้ให้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่าคนเป็นนายนั้น อย่าทำให้ลูกน้องเจ็บช้ำน้ำใจ พระรามหลังจากได้บทเรียนครั้งนี้แล้ว ท่านไม่เคยทำให้ลูกน้อง รู้สึกอย่างนี้อีกเลย ท่านถึงครองความเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ได้ จะจบแล้วนึกขึ้นมาได้อีกอันว่าการกระทำโดยไม่กระทำนั้น ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำยากที่สุด เพราะต้องทำใจให้ได้ ต้องใจนิ่ง มีความอดทนสูง ไม่หวั่นไหว ดูลูกน้องตัวเองทำงานไป โดยไม่เข้าไปก้าวก่าย ดูแล้วทำง่ายมาก แต่ปัจจุบันหาตัวอย่างนายประเภทนี้ดูได้ยาก ประเภทที่ปล่อยให้ ลูกน้องทำงานไปตามความถนัดของแต่ละคน โดยไม่ลงไปล้วงลูก ส่วนใหญ่จะเห็นแต่พวกที่พฤติกรรมตรงข้าม สรุปสั้นๆ ง่ายๆ แบบหนอนชอนไช ว่าเจ้านายพวกนี้ไม่เคยอ่านรามเกียรติ์ หมายเหตุ คนเล่าเมาเหล้าบ่อยไปหน่อย เลยจำว่าเรื่องนี้มี ๙ ตอน ความจริงมีแค่ ๘ เพราะหลังจากโพสต์ไปเมื่อปีที่แล้ว ก็เอามาแก้ไข เรียบเรียงใหม่ รวบเอาตอนที่ ๑ กับ ๓ มารวมกัน เพื่อจะส่งนิตยสาร เผื่อได้ตังค์ค่าเบียร์บ้าง เลยเหลือแค่ ๘ ตอนอย่างที่เห็น ชอนไชไปในเรื่องรามเกียรติ์ ภาค ๔ (ภาคเบ็ดเตล็ด) ตอนที่ 1 หนุมานมีเมียมาก แต่ไม่เจ้าชู้ หนุมานได้ชื่อว่าเป็นพระเอกยอดนิยมตลอดกาลผู้หนึ่งของไทย มีลักษณะสำคัญหลายประการที่ชายไทยส่วนใหญ่ใฝ่ฝัน อยากจะเป็น อันดับแรกเหมือนกับสร้อยต่อท้ายชื่อท่านนั่นแล หนุมานมีสร้อยต่อท้ายชื่อที่ใช้บ่อย จำได้ติดปากคือชาญสมร คำว่าชาญแปลได้ง่ายมาก เอาไปเทียบกับชำนาญ แปลว่าเชี่ยวชาญ ส่วนคำว่าสมรจะว่าง่ายไม่ง่าย จะว่ายากก็เหมือนไม่ยาก เพราะแปลความหมายได้ง่าย แต่ยากตรงมีสองคำแปล ความหมายแรกแปลว่าการรบหรือสนามรบหรืออะไรที่เกี่ยวกับ สงครามนี่แหละ ถ้ าใครนึกไม่ออกให้นึกถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ความหมายที่สองแปลว่าผู้หญิง ให้นึกถึงความอ่อนหวาน ของผู้หญิงเอาไว้ อย่าไปนึกถึงการรบ หนุมานที่ชาญสมร เพราะนอกจากจะรบในสมรภูมิเก่ง เจอกับสมรศรีทีไรหนุมาน มิเคยพ่าย ตอนนี้จะเจาะประเด็นเรื่องชาญสมรศรีอย่างเดียว เพื่อคลายความข้องใจว่ามีเมียมากแล้วไม่เจ้าชู้จริงหรือ ตอบว่าจริงซิ เพราะถ้าเจ้าชู้ต้องมีเมียน้อย เข้าเรื่องจริงจัง ต้องบอกว่าตัวละครฝ่ายยักษ์ในเรื่องที่เป็นหญิงถ้าไม่เจอหนุมานก็แล้วไป ถ้าเจอเรียบร้อยโรงเรียนลิงทุกราย ไล่เรียงชื่อทั้งหมดได้ 6 นาง มีนางบุษมาลี, นางเบญกาย, นางสุพรรณมัจฉา, นางวานริน, นางมณโฑ, และนางสุวรรณกันยุมา คุณสมบัติข้อแรกของหนุมานเมื่อเอาไปเทียบกับหนุมานฉบับอินเดีย จะพบว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะหนุมานฉบับอินเดีย สิหาเมียบ่ได้ตลอดทั้งเรื่อง หรือพูดให้เพราะๆ ต้องว่าท่านประพฤติพรหมจรรย์ (สุภร ผลชีวิน รามายณ ฉบับ ฤาษี พรหมวาลมีกิ องค์การค้าคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๒๐, ๒๗๕ หน้า) ความแตกต่างของหนุมานชาญสมรฉบับไทยที่เป็นผู้ชำนัญการพิเศษในเรื่องสมรศรี เมื่อเอาไปเทียบกับต้นฉบับอินเดีย ที่ประพฤติพรหมจรรย์ ทำให้บรรพกวีผู้แต่งถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงจากนักวรรณคดีวิจารณ์รุ่นใหม่ ผู้ไม่เข้าใจว่าทำไม ระหว่างฟาดฟันอยู่ในสมรภูมิ หนุมานต้องหาเรื่องฟันฟาดสมรศรีไปด้วย ข้อสรุปเลยกลายเป็นว่าวรรณคดีไทยกดขี่ทางเพศ... ไปโน่นเลย โอ้... หากย้อนกลับมามองใหม่ในแง่กลยุทธ์การทำสงคราม จะเข้าใจว่าสาเหตุที่หนุมานมีเมียมากไม่ได้เป็นเพราะสิเน่หาส่วนตัว ส่วนใหญ่มาจากเรื่องงานทั้งนั้น การมีเมียของหนุมานในเรื่องเหมือนซื้อใบเบิกทางไปสู่การทำงานให้สำเร็จ เป็นกลยุทธ์ แปรศัตรูมาเป็นภริยา ทำให้นอกจากไม่ถูกขัดขวางแล้ว หลายครั้งยังได้รับการส่งเสริมอีกด้วย ตัวอย่างเช่นตอนได้นางสุพรรณมัจฉา ก่อนหน้านั้นนางสุพรรณมัจฉารับบัญชาจากท่านลุงทศกัณฐ์ให้มาทำลายถนน ที่หนุมานทำข้ามมหาสมุทรมาลงกา นางสุพรรณมัจฉาจึงพาเหล่าบริวารมาคาบก้อนหินแต่ละก้อนที่เอามาทำถนนไปทิ้ง แต่พอตกเป็นเมียหนุมานแล้ว นอกจากเลิกขัดขวาง ยังช่วยกันกับเหล่าบริวารพากันคาบก้อนหินมาทำถนนอีกด้วย (รามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑, องค์การค้าคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่ ๑, พ.ศ.๒๕๐๙, เล่ม ๔, หน้า ๒๓๑-๒๔๒) อีกตัวอย่างคือตอนหนุมานปลอมตัวไปเสพสมกับนางมณโฑ เพื่อทำลายพิธีหุงน้ำทิพย์ ในการประกอบพิธีให้ได้ผลเต็มร้อย นางมณโฑต้องประพฤติพรหมจรรย์จนกว่าจะเสร็จพิธี หนุมานเลยปลอมตัวเป็นทศกัณฐ์มาชวนเล่นจ้ำจี้ เพื่อทำลายพิธี ของนางมณโฑ และก็ทำได้สำเร็จ (เพิ่งอ้าง, เล่ม๗, หน้า๒๖๒-๒๖๗) ตัวอย่างสุดท้ายที่จะยกมาให้ดูกันคือตอนหนุมานได้นางเบญกาย ซึ่งจะอธิบายและวิเคราะห์ให้เห็นอย่างละเอียด ว่าที่มาที่ไป เป็นอย่างไร ส่วนสองตัวอย่างแรกที่ไม่วิเคราะห์ ไม่ได้ตั้งใจทำเก๋ แต่เป็นเพราะอ่านง่าย เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เหมือนตัวอย่าง ตอนนี้ เรื่องมีอยู่ว่านางเบญกายลูกสาวพิเภก รับคำบัญชาจากท่านลุงทศกัณฐ์ปลอมตัวเป็นนางสีดาตายลอยน้ำมา ให้พระรามเห็น แล้วเศร้าโศกเสียใจ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ไม่มีแก่จิตแก่ใจจะทำสงครามกับลงกาอีก ต่อไป นางเบญกายจำแลงกายเป็นนางสีดามาทำตามแผนจนเกือบสำเร็จ เกือบบรรลุผลตามเป้าหมายที่ท่านลุงทศกัณฐ์วางไว้ พระรามเห็นนางสีดา(แปลง)ตายลอยน้ำมาก็เศร้าโศกโศกา พาให้บริวารทั้งกองทัพร่ำไห้กันระงม เสียขวัญกันไปทั้งกองทัพ แต่...เรื่องอย่างนี้ต้องมีแต่ ตามลักษณะนิยายไทย หนุมานนอกจากจะชาญสมรยังชาญฉลาดอีกด้วย มองไปปุ๊บเห็นพิรุธปั๊บว่าคงเป็นกลของ ฝ่ายข้าศึกแน่ เพราะคนตายที่ไหน จะลอยทวนน้ำมาได้ กับอีกอย่างศพที่ลอยน้ำมาต้องพองขึ้นอืด ไม่ใช่ยังรูปร่างเหมือนคนเป็นและไม่มีกลิ่นเช่นนี้ (อ้างแล้ว, เล่ม ๔, หน้า ๑๙๑) หลังจากสอบสวนคาดคั้นกันจนได้ความว่านางลอยคือนางเบญกายปลอมตัวมา พระรามก็จัดให้มีการประชุมปรึกษาโทษ ท่านถามพิเภกในฐานะเป็นพ่อว่าจะให้จัดการกับลูกสาวตนนี้อย่างไรดี พิเภกผู้กระสันอำนาจ เสียอะไรยอมเสียได้ทุกอย่าง ขอให้ตนไปถึงเป้าหมายเป็นพอ จึงกราบทูลพระรามว่าต้องเอาไปประหารสถานเดียว พระรามฟังคำกราบทูลของพิเภกแล้วตรัสตอบว่าเห็นแก่ความเป็นลูกสาวพิเภก จะยกโทษให้ พร้อมบัญชาให้หนุมาน เอานางเบญกายไปส่ง ณ ลงกา หนุมานรับคำบัญชามาแล้วมิรอช้ารีบดำเนินการทันที เพียงแต่หนุมานกับพระรามนั้น เป็นลูกน้องกับเจ้านายชนิดที่มองตารู้ใจ แม้พระรามจะไม่ได้บอกว่าให้จัดการอย่างไร หนุมานผู้ชาญสมรและชาญฉลาด ก็อ่านใจเจ้านายได้ไม่พลาด การผูกสัมพันธ์กับบริวารของศัตรูได้ จะทำให้ต่อสู้ได้เปรียบขึ้นเยอะ นางเบญกายถึงแม้จะเป็นลูกสาวพิเภก แต่ความสัมพันธ์ ขาดสะบั้นสิ้นแล้ว เพราะตอนปรึกษาโทษนางเบญกาย พิเภกเสนอให้เอาตัวไปประหารสถานเดียว ถ้าหนุมานไม่รวบ นางเบญกายเป็นเมีย ความแค้นครั้งนี้ย่อมต้องถูกชำระอย่างแน่นอน ไม่มีใครคาดเดาได้ว่านางเบญกายจะทำอย่างไรต่อไป เพราะฉะนั้นปลอดภัยไว้ก่อน เอามาทำเมีย เป็นพวกเดียวกันไว้ก่อนดีกว่า เรื่องนางเบญกายดูเผินๆ เหมือนไม่เกี่ยวกับเรื่องงานแม้แต่นิดเดียว เลยต้องเล่าต่อ ตอนทำลายพิธีทศกัณฐ์ ทหารฝ่าย พระรามต้องเปิดประตูอุโมงค์เข้าไปทำลายพิธี รหัสเปิดประตูคือต้องเอาน้ำล้างเท้าสตรีในลงกาไปราดประตู มาถึงตรงนี้ ไม่ต้องบอกก็คงรู้ว่าใครจัดการอย่างไร คำถาม กวีที่แต่งเรื่องนี้คิดไว้ก่อน วางเค้าโครงตอนนี้ไว้ก่อนหรือเปล่า ถึงให้หนุมานได้นางเบญกายเป็นเมีย ตอบเองเลยว่าใช่ เพราะรามเกียรติ์ประชุมกันแต่งเป็นสิบๆ คน และตอนได้นางเบญกายเป็นเมียกับตอนหนุมานขอน้ำล้างเท้านางเบญกายนั้น อยู่ห่างกันหลายสมุดไทย แปลว่าคนแต่งอาจเป็นคนละคนกันก็ได้ เพราะฉะนั้นที่ประชุมกวีต้องสรุปกันไว้ก่อนว่าจะวางบท ตัวละครแต่ละตัวเป็นอย่างไร บทบาทของหนุมานฉบับไทยที่ต่างจากต้นฉบับอินเดียอย่างสิ้นเชิงนี้ เมื่อมองด้วยสายตาคนรุ่นใหม่อาจมองได้ว่ากวีเขียน เปลี่ยนไป เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะสังคมไทยสมัยนั้นที่นิยมวางบทพระเอกให้มีเมียจำนวนมากๆ แต่เมื่อพยายามมอง เข้าไปมุมเดียวกับผู้แต่ง จะเห็นภาพอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของหนุมาน คือเป็นพวกบ้างาน มองอะไรเป็นงานไปหมด แม้แต่เรื่องผู้หญิง ตามที่ได้แจกแจงมาอย่างละเอียดพอสมควรแล้ว อีกประการที่สะท้อนให้เห็นชัดว่ากวีไทยไม่ได้ดัดแปลงบทหนุมานให้เป็นจอมเจ้าชู้ คือตอนตามไปสืบหาสถานที่อันเร้นลับ ซึ่งใช้ทำพิธีทดน้ำของกุมภกรรณ หนุมานสะกดรอยตามนางกำนัล 5 คน ผู้ต้องเอาดอกไม้ไปถวายกุมภกรรณ ถ้ากวีต้องการ แต่งให้หนุมานเป็นพวกเจ้าชู้ บทตอนนี้ต้องมีฉากหนุมานเกี้ยวนางกำนัลเหล่านี้ แต่อย่างที่ว่าหนุมานไม่เคยมองผู้หญิงในแง่ ชู้สาว มองแค่ว่าทำอย่างไรงานจึงสำเร็จ ฉากนี้หนุมานเลยฆ่านางคันธมาลี หนึ่งในนางกำนัลของตายไปหนึ่งตน แล้วปลอมตัว สวมรอยเป็นนางคันธมาลีตนนั้น สืบเสาะไปจนเจอกุมภกรรณ (อ้างแล้ว, เล่ม ๕, หน้า๑๕๖-๑๖๓) เล่ามาถึงตอนนี้ถ้ายังค้างคาใจว่าหนุมานไม่เจ้าชู้จริงหรือ ต้องเล่าต่อว่าหลังจากเสร็จงานหรือเสร็จศึก ทศกัณฐ์ตาย พระราม แต่งตั้งหนุมานเป็นพระยาอนุชิตครองกรุงอยุทธยา และภายหลังไป ครองกรุงนพบุรีแทน ก็ไม่ปรากฏว่าหนุมานไปมีบทกุ๊กกิ๊ก กับใครอีกเลย ทั้งที่สถานภาพตอนนั้นของพระยาอนุชิตจะมีเมียสัก 4-5 โหล ก็ทำได้แต่ไม่ทำ ทำให้สรุปได้ว่าหนุมานไม่เจ้าชู้ แม้แต่พวกเมียเก่าทั้งหลายที่ผ่านมา หนุมานก็ไม่สนใจคิดไปรับมาอยู่กินด้วย เรียกว่าที่ผ่านมามีเมียเพื่อให้งานสำเร็จเป็นสำคัญ หรือสรุปแบบมองโลกแง่ร้าย หนุมานมองผู้หญิงเป็นแค่เครื่องมือ ชอนไชไปในเรื่องรามเกียรตื์ภาคเบ็ดเตล็ด (ต่อ) ตอนที่ 5 การสร้างภาพ คุณสมบัติอีกประการของพระราม พระรามในรามเกียรติ์ฉบับไทยไม่ใช่นารายณ์อวตารอย่างแน่นอน ตัวละครในเรื่องทั้งฝ่ายยักษ์และฝ่ายลิงต่างรู้ ความจริงข้อนี้ดี ว่าทั้งหมดนั้นเกิดจากการสร้างภาพของสุดยอดนักสร้างภาพ คุณสมบัติประการสำคัญของผู้นำทั้งหลายคือการสร้างภาพ เฉกเช่นกับที่เล่าปี่สร้างภาพว่าตัวเองเป็นเชื้อพระวงศ์ สืบสาวไล่ย้อนไปได้ถึงปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น พระเจ้าฮั่นโกโจหรือเล่าปัง กรณีของพระรามก็เช่นกัน ที่ว่าเป็นนารยณ์ อวตารนั้นคือการสร้างภาพ เหตุผลประกอบการอ้างอิงนั้นมีอยู่หลายฉากหลายตอน เคยยกตัวอย่างไปบ้างแล้วตอนเล่าเรื่องนี้ครั้งแรก เพราะฉะนั้น ขอเอาเรื่องใหม่มาเล่าให้ฟัง จะได้ไม่เบื่อ ทั้งคนอ่านแลคนเล่า ก่อนอื่นต้องล้างความคิดเรื่องโชคชะตาฟ้ากำหนดออกไปจากใจก่อน ถึงจะเห็นภาพเรื่องรามเกียรติ์ชัดเจน ในแง่มุม ที่คนแต่งอยากให้ลูกหลานได้เห็น คือเป็นตำราบริหารฉบับไทย มูลเหตุที่ทำให้พระรามต้องออกมาเดินดง ทำสงครามกับลงกาเป็นเวลา ๑๔ ปี มาจากการแก้แค้นของสาวใช้นามกุจจี ที่ทูลยุนางไกยเกษีผู้เป็นนาย ให้ขอเปลี่ยนตัว รัชทายาทจากพระรามมาเป็นพระพรต พร้อมกับขับพระรามออกจากอยุทธยา ท้าวทศรถผู้ครองกรุงอยุทธยามีมเหสีอยู่ ๓ คน คือนางเกาสุริยาแม่พระราม นางไกยเกษีแม่พระพรตและพระสัตรุด ส่วนอีกคน จำชื่อบ่ได้เป็นแม่พระลักษมณ์ นางไกยเกษีเคยตามเสด็จท้าวทศรถตอนไปรบครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นรถทรงเพลาขาดกลาง นางไกเกษีจึงตั้งสัตย์อธิษฐาน แล้วเอา แขนตัวเองสอดแทนเพลารถ ทำให้รถใช้การได้ ไม่เพลี่ยงพล้ำต่อข้าศึก เสร็จศึกท่าวทศรถจึงประทานพรให้นางไกยเกษี ว่าขออะไรก็จะยกให้ทุกอย่าง ตอนนั้นยังไม่ได้ขออะไร อาจเพราะไม่รู้จะขออะไรดี จนเหตุการณ์ผ่านไปอีกหลายปี จนมีลูกและลูกโตเป็นหนุ่ม ถึงได้ทูลขอ ให้เปลี่ยนตัวรัชทายาทจากพระรามมาเป็นพระพรตผู้เป็นลูกชาย ท้าวทศรถจะไม่ให้ตามที่ขอก็ไม่ได้ แต่ให้แล้วก็ช้ำใจจน ตรอมใจตาย เล่ามาถึงตรงนี้คงพอเห็นภาพว่าพระรามไม่ใช่นารายณ์อวตาร เพราะถ้าใช่ เหตุการณ์แย่งชิงราชสมบัติคงไม่เกิดขึ้น เพราะน้องๆ ทั้งหลายคืออาวุธบ้าง บังลังก์ของพระนารายณ์บ้าง อีกเรื่องคือฝ่ายเทพทั้งหลายที่จุติมาเกิดเป็นบริวารของพระราม ก็เป็นการเขียนประวัติศาสตร์ของผู้ชนะทั้งนั้น ตัวอย่างที่ ชัดเจนคือพาลี ถ้าพาลีถูกชะตาฟ้ากำหนดให้มาช่วยนารยณ์อวตารจริง บทบาทคงไม่เป็นอย่างนี้ ไม่มีเหตุผลอันใดที่พระราม จะต้องไปฆ่าพาลี แต่ที่ทำไปนั้น พระรามทำไปเพื่อฮุบขุมกำลังแห่งขีดขินนคร โดยการช่วยสุครีพรัฐประหารพาลี ส่วนบริวารที่มาจากอีกเมืองคือเมืองชมพู ที่เป็นเมืองพันธมิตรของพาลี พระรามก็ใช้วิธีขี้โกงมา โดยให้หนุมานไปอุ้มท้าวชมพู ผู้เป็นเจ้าเมืองมา พูดง่ายๆ คือจับตัวมาเรียกค่าไถ่นั่นแล ทั้งหมดนี้น่าจะสรุปได้ว่าพระรามไม่ใช่นารายณ์อวตารอย่างแน่นอน สุดยอดนักสร้างภาพอีกคนหนึ่งในเรื่องนี้คือพิเภก การวางบทบาทตัวเองเป็นโหราจารย์นั้น ช่วยให้ภาพความเป็นจอมทรยศ เลือนรางไปจากสายตาคนส่วนใหญ่ ช่วยให้การแฉข้อมูลญาติโกโหติกาตัวเองดูไม่น่าเกลียดนัก ต้นฉบับพูดผ่านปากตัวละครหลายตัวอย่างแจ่มแจ้ง แต่ถ้าขี้เกียจอ่านต้นฉบับ ก็อ่านได้จากฉบับหนอนสุราชื่อว่าจอมทรยศ การที่พิเภกเข้าสวามิภักดิ์กับพระราม จุดประสงค์นั้นอยู่ที่การแย่งราชสมบัติแห่งลงกา ส่วนสุครีพนั้นถลำตัวทรยศพี่ชายตัวเอง ไปแล้ว จึงต้องตกกระไดพลอยโจน จอมทรยศคู่นี้มีส่วนอย่างมากต่อการสร้างภาพของพระราม การยอมรับ การช่วยกันประโคม ช่วยกันสร้างภาพให้พระราม เป็นนารายณ์อวตารนั้น ทำไปเพื่อสร้างความชอบธรรมในการทรยศของตัวเป็นหลัก เรื่องราวในรามเกียรติ์นั้นสนุกสนาน น่าสนใจ ตัวละครแต่ละตัวเหมือนชีวิตคนจริงๆ แม้ว่าเวลาจะล่วงผ่านมากว่า ๒๐๐ ปี แต่เรื่องราวในรามเกียรติ์ก็ยังทันสมัยอยู่ --------------------------------------------------------------------------- รามเกียรติ์-ตัวแสดง 1 พระราม 2 พระพรต 3 พระลักษณ์ 4 พระศัตรุด 5 นางสีดา 6 พาลี 7 สุครีพ 8 หนุมาน 9 องคต(ลูกพาลีกับนางมณโฑ ) 10 ชมพูพาน 11 นิลนนท์ 12 นิลพัท 13 มัจฉานุ 14 ภิเภก 15 ทศกัณฑ์ 16 นางมณโฑ 17 กุมภกรรณ 18 อินทรชิต 19 นางสุพรรณมัจฉา 20 พระมงกูฏ 21 พระลพ 23 ไมยราพ 24 ชิวหา 25 ทรพี 26 ทรพา 27 นนทก ( ชาติก่อนทศกัณฑ์ ) 28 พระพาย ( พ่อหนุมาน ) 29 นางสวาหะ ( แม่หนุมาน ) 30 พระอินทร์ ( พ่อพาลี ) 31 พระอาทิตย์ ( พ่อสุครีพ ) 32 สดายุ 33 พระนารายณ์ 34 พระอิศวร 35 นางดารา ( เมียสุครีบแต่พาลีจิ๊กไปตอนแรก ) 36 ท้าวจักรวรรดิ 37 พระพิรุณ 38 นางเบญจกาย 39 นางไกยเกษี 40 พระนารถฤาษ ----------------------------------------------------------------------- รามเกียรติ์ ต้นวงศ์นารายณ์ 1) อโนมาดัน พระนารายณ์เจอ มีตรีเพชร คฑา ธำมรงค์ พระขรรค์ มีชายา "มณีเกสร" กับ สนมหกหมื่น ลูกชาย "อัชบาล" 2) อัชบาล (พระขรรค์จากพระอิศวร) มีเพื่อน ท้าวมาลีวราช(มาลีวัคคพรหม) ผู้มีวาจาสิทธิ์ ลูกชาย "ท้าวทศรถ" 3) ท้าวทศรถ มีเพื่อ นกสดายุ (น้องคือ นกสัมพาที) มีมเหศีหลายองค์ 3.1) ไกยเกษี(ธิดาเมืองไกยเกษ) มีโอรส พระพรต(จักร) 3.2) นางเกาสุริยา โอรส พระราม(นารายณ์) 3.3) สมุทรเทวี โอรส พระลักษณ์(สังข์ กับ บัลลังค์นาค) กับ พระสัตรุต(คฑา) - ปราบตรีบุรัม 1) ทัพ ทัพหน้า,ถือธง,ปีกซ้ายขวา,เกียกกาย,ยกกระบัตร,กองหลัง 2) เกราะเพชร กำลังพระพรหม + เดชพระอิศวร - สุดยอดมหาธนูมหาโลหะโมลี 1) คันธนู - กำลังเขาพระสุเมรุ 2) สายธนู - อนันตนาคราช 3) ศร - องค์นารายณ์ ต่อมา ศรโมลี ใช้ยกตอนขอนางสีดา - มนต์เสกสาวงาม เอาสิ่งสวยงามในโลกมาผสมใส่ ให้สวยล้ำฟ้า แล้วร่ายมหาเวทย์ โยนใส่กองเพลิง - ศรพระราม 1) พรหมมาศ แตกเป็นศรเกลื่อน อาวุธนานาชนิดเต็มท้องฟ้า 2) อัคนิวาต ได้จากรามสูร 3) พลายวาต เรียกครุฑและนาค, เสกฝนได้ 4) พาลจันทร์ เสกฝน 5) จันทราทิตย์ อื่นๆ) เอนทราสตร์,อาคเนยาสตร์,พลายวาสตร์,พรหมมาสตร์,นาคบาศ,วิาณุปาฌัม - กาลอัจนา(ฤๅษีโคดมเสกมาเอง) มี ลูก 1) กับ พระอินทร์ คือ พาลี(ต่อมาชื่อ พระยากาศ) 2) กับ พระอาทิตย์ คือ สุครีพ 3) กับ ฤๅษีโคดม คือ นางสวาหะ ต่อมา นางสวาหะ + พระพาย คือ หนุมาน - พาลี มีเมีย 1) มณโฑ มีลูกชาย องคต 2) นางดารา (ผอบ) แย่งสุครีพมา - หนุมาน(ลิงเผือก) เกิดจากปากแม่ หาวเป็นดาวเป็นเดือน มีสี่หน้าแปดแขน ตายไปลมพัดมาก็ฟื้น มีกุณฑล(ตุ้มหู) ขนเพชร เขี้ยวแก้ว อาวุธ มี กระบองเพชร(สันหลังตลอดหาง),ตรีเพชร(ตัว มือ เท้า),จักรแก้ว(หัว) มีเมีย คือ 1) บุษมาลี 2) เบญจกาย ลูกคือ อสุรผัด(หัวลิง ตัวยักษ์) 3) สุพรรณมัจฉา ลูกคือ ม้จฉานุ (ลิงมีหางเป็นปลา) 4) นางวารินทร์ ได้แล้วส่งโยนคืนไปเขาไกรลาศ 5) มณโฑ (เป็นทั้งเมียพาลีและทศกัณฐ์) ได้เพราะต้องการทำให้ทศกัณฐ์โกรธ 6) สุวรรณ กันยุมา (เมียอินทรชิต) - ยิงศรกลายเป็น นารีสี่นางงามมาร่ายรำ - ทัพของตรีเศียร ตัวยักษ์หน้าเสือขบฟัน, ตัวควายหน้าคนธรรพ์, ตัวลิงหน้าลา, ตัวราชสีห์หน้าผีไพร,ตัวมังกรหน้าม้า,ผีป่า,ขโมด,สิงห์,ยักษ์,วัว,มังกร เสริม(จากเรื่องอุณรุท) ควาย,ช้าง,ม้า,เทวดา,คน,เงาะ,หมี,ราชสีห์,เสือ,ผีโปร่ง,เสือโคร่ง,พาฬ,มาร,อสุรกาย,แรก,วิทยาธร,คนธรรพ์,แร้ง,กา,ฉลาก,ฉลาม,ราหู,งู,เงือก,จรเข้,เหรา,ช้างน้ำ,มังกร,โลมา ต้นวงศ์ทศกัณฐ์ 1) ท้าวจตุรพักตร(ธาดาพรหม) สหหบดีพรหมให้ฉัตรแก้วที่สามารถบังแสงพระอาทิตย์ครอบทั้งกรุงลงกา เพื่อน "สหมลิวัน" ให้บุษบกแก้ว ถ้าหญิงหม้ายนั่งจะไม่ลอย มีมเหสีชื่อ พระนางมลิกา 2) ท้าวลัสเตียน(ยักษ์) มีปู่ ชื่อ ท้าวมาลีวราช มีชายา 2.1) นางชารีสุมณฑา ลูกคือ กุเรปัน(ได้บุษบก) 2.2) นางจิตรมาลี ลูกคือ ทัพนาสูร 2.3) นางสุวรรณมาลัย ลูกคือ อัครธาดา 2.4) นางประไฟ ลูกคือ มารันยักษ์ 2.5) นางรัชดา ลูก คือ 2.5.1) ทศกัณฐ์ 2.5.2) กุมภกรรม มีหอกโมกขศักดิ์ 2.5.3) ฑูร ลูกคือ วิรุญจำบัง(หายตัวทั้งม้า) มีม้านิลพายุ หลานคือ วิรุญมุข 2.5.4) ขร ชายา รัชฎาสูร ลูกคือ มังกรกรรฐ์(ชาติที่แล้วคือทรพี) กับ แสงอาทิตย์(แว่นแก้วสุรกานต์) ส่องใครก็ตาย 2.5.5) ตรีเศียร(สามหัว) มีลูก ตรีเมฆ 2.5.6) พิเภก มีแว่นวิเศษใช้เรียนโหร ชายา ตรีชฎา มีลูกสาว เบญจกาย 2.5.7) สำมนักขา สามี ชิวหา มีลูกชาย กุมภากาศ วงศ์ฝ่ายบาดาล 1) สหมลิวัน(ครองบาดาล) 2) มหายมยักษ์(ท้าวศากยวงศ์) ชายา จันทรประภา ลูกสาว "พิรากวน" กับ ลูกชาย "ไมยราพ"ผูมีกล้องแก้วโกมินตร์ กับ มนต์ล่องหน - กากนาสูร(ยักษ์ร่างอีกา) เป็นลูกน้องทศกัณฐ์ มีลูก สวาหุ,มารีศ(ยักษ์ร่างกวางทอง) - วิธีแก้หอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรม (มีฤทธิ์ดั่งไฟกรด) ให้เอา สังกรณี กับ ตรีชวา(ที่เขาสรรพยา) กับ น้ำปัญจมหานที ถ้าแสงแดดแรกโดนหอกผู้ที่ถูกหอกปักอกจะตายทันที ดังนั้น มีเวลาเอายามาแก้แค่คืนเดียว ทศกัณฐ์ มีหอกแก้วสุรกานต์(ใช้คู่กับพิธีเผารูปเทวดา), หอกกบิลพัท(พระอินทร์ให้) มีเมียมากมาย 1) มณโฑ มีมนต์สัญชีพ (เสกน้ำทิพย์) รดคนตายจะฟื้นพอฟื้นมาจะใช้การได้แต่ไม่พูดไม่จา คล้ายผีดิบ พิธีนี้ห้ามเกิดเสน่หาเด็ดขาด มีลูกมากมายกับทศกัณฐ์ คือ 1.1) รณพักตร์(อินทรชิต - รบชนะพระอินทร์) มเหสี สุวรรณ,กันยุมา - พิธีมหากาฬอัคนี(ขออาวุธสามเทพ) ศรพรหมมาศ(พระอิศวรให้) สร้างพายุลมกัลป์และอาวุธนานาชนิด กับ มนต์แปลงกายเป็นพระอินทร์,ศรนาคบาศ ยาแก้อยู่ที่บุพพวิเท่ห์ทวีป(มีจักรกรดพัดตลอด) ดังนั้น เขายาต้องแบกไปทั้งเขา, ศรวิษณุปาฌัม (พระนารายณ์) - จักรแก้ว ได้จากการรบชนะพระอินทร์ - ตำรากุมภนิยา ชุบตัวให้กายสิทธิ์ - ศรสุรกานต์ (ทศกัณฐ์ให้) - หอกมูลพลัม 1.2) สีดา 1.3) ไพนาสุริยวงศ์ มี มหามนต์โสฬส แก้น้ำกรดไฟกรด ฝนดับไฟ ศรบรรลัยจักรวาล ตาข่ายเพชร พยานาค 2) นางอัคคี ธิดาพระยากาฬนาค เป็นเมียหลวง มีลูกคือ บัลลัยกัลป์ 3) ปลา มีลูกสาว สุพรรณมัจฉา 4) ช้าง มีลูกคือ ทศคีรีวัน,ทศคีรีธร (หัวช้าง ตัวยักษ์) และยังมีลูกอีกคน สหัสกุมาร - ข้าวทิพย์ ถ้าหญิงแตะลิ้นจะสดชื่นซาบซ่านทั่วทุกขุมขน ผิวพรรณผุดผ่อง หน้าแขไขปราศจากราคี อิ่มเอิบจิต ข้าวทิพย์มีกลิ่นหอมฟุ้งไกลมาก - เพศยักษ์ เงาไม่มี ตาไม่กระพริบ - ฤๅษีกไลโกฎ ตัวเป็นคนหน้าเป็นเนื้อ มีตบะแข็งมาก ฝนจึงไม่ตก ต้องให้สัตว์มีเขาที่หน้าอก(ผู้หญิง)ไปทำลายตบะโดยการยอมเป็นเมีย ฝนจึงตก - สหายทั้งเจ็ดของทศกัณฐ์ 1) ท้าวอัชกรรณมารา 2) ไพจิตรนาสูตร 3) สัทธาสูตร ขออาวุธเทวดาแล้วเทวดาโยนให้ 4) ุมูลพลัม มีพี่ชื่อ สหัสเดชะ ผู้มีกระบองต้นชี้ตายปลายชี้เป็น 5) สัตลุง 6) มหาบาล 7) จักรวรรดิ มีเพื่อน ไวยตาล มีกระบองแก้วชี้ใครก็ตาย มีกระบองตาลต้นชี้ตายปลายชี้เป็น วิธีแก้ ให้เอาจันทน์แดง(ในกรุงศรีอยุธยา) มูลโคอุสุภราช(ที่เขาอินทกาล) ศิลาบดในชั้นพรหม ลูกศิลาในพิภพนาค มีลูกชาย 7.1)สุริยาภพ มีหอกเมฆพัท 7.2)บรรลัยจักร มีศรเหราพด(จรเข้พันเศียรพ่นพิษ),จักรกรด,เมฆฏสูร 7.3)นนยุพักร - พระอิศวรใช้เหงื่อชุบลิง ชมพูพาน - ท้าวมหาชมพู + นางแก้วอุดร ได้ นิลพัทธ์ ลูกพระกาฬ (พระอิศวรมอบให้เป็นลูก) - คาถาอาทิตย์หฤทัย ไว้ฆ่าทศกัณฐ์ - นิลเอก นิลขัน นิลราช นิลพานร นิลนน - วิธีแก้หอกกบิลพัท ใช้สังกรณีตรีชวา(อยู่เขาสัญชีพสัญญีในทวีปอุดรกาโร) มูลโคอุสุภราชพระอิศวร(อยู่ถ้ำสุรกานต์ ครีรีอินทกาล) ศิลาแก้ใช้บดยา(พระยากาฬนาคเก็บไว้ที่ผุสธาบาดาล) ลูกหินแก้ว(ใช้บด อยู่ใต้หมอนทศกัณฐ์) หอกกบิลพัทนี้ยังใช้ร่วมกับพิธีรูปเทวดา คือ การบูชาไฟเทวดา ถ้าครบ 3 วัน เทวดาจะตายหมด หอกจะเรืองฤทธิ์ - มหามนต์ แปลงกาย นะจังงัง คงทนอาวุธ อายุยืน ถูกฆ่าตายลมพัดจะฟื้น ----------------------------------------------------------------------- - สิบแปดมงกุฎหมายถึงเสนาวานร 18 ตนที่อวตารมาจากเทวดาต่างๆ แต่จะมีใครบ้างดุจะยังไม่ลงรอยกันนัก ตามเรื่องรามเกียรติ์ พระราม มีวานรเป็นทหารอยู่ถึง 77 สมุทร (บางแห่งเขียนสมุด) คำว่า สมุทรนี้นัยว่ามีจำนวนถึง 0 ตามหลัง 14 ตัว และบรรดาทหาร ตัวเอกๆ นั้นมี 18 ตัว จึงได้เรียกว่า สิบแปดมงกุฎ แต่จะมีตัวอะไร บ้าง ก็ยังไม่ลงรอยกันนัก ในหนังสือรามเกียรติ์เมื่อตอนเทวดาพากัน อาสาพระอิศวรจุติลงมาเกิดเพื่อช่วยเหลือพระรามนั้น เก็บความได้ ดังนี้ 1) พระราหู เป็น นิลปานัน 2) พระพินาย เป็น นิลเอก 3) พระพิเนต เป็น นิลขัน 4) พระเกต เป็น กุมิตัน 5) พระอังคาร เป็น วิสันตราวี 6) พระหิมพาน เป็น โกมุท 7) พระสมุทร เป็น นิลราข 8) พระเพลิง เป็น นิลนนท์ 9) พระเสาร์ เป็น นิลพานร 10) พระศุกร์ เป็น นิลปาสัน 11) พระพฤหัสบดี เป็น มาลุนทเกสร 12) พระพุธ เป็น สุรเสน 13) พระจันทร์ เป็น สัตพลี 14) วิรุฬหก เป็ร เกยูร 15) วิรุฬปักษ์ เป็น มายูร รามเกียรติ์ตอนนี้ อ้างว่า เป็นชื่อสิบแปดมงกุฎ แต่ก็มีเพียง 15 นาย เท่านั้น ส่วนพระราชนิพนธ์ลิลิตนารายณ์สิบปาง กล่าวถึงนายวานรที่เรียกกัน ว่าสิบแปดมงกุฎไว้ครบ 18 นาย มีชื่อต่างกันกับข้า่งต้นบ้าง คือ ไม่มีชื่อนิลนนท์ นิลพานร และเพิ่มอีกคือ 14) พระไพรศรพณ์ เป็น เกสรมาลา 15) พระมหาชัย เป็น สรุกานต์ 16) พระพิรุณ เป็น ไวยบุตร 17) พระอิศาน เป็น ไชยาม 18) พระเสาร์ เป็น พิมลวานร รวมกับ 13 นายข้างต้น ก็เป็น 18 นายพอดี อย่างไรก็ตาม ในรามเกียรติ์ตอนพระรามชุมนุมพลปรึกษากันยกข้าม ไปลงกา ตอนนี้กล่าวถึงรายชื่อตัวนายวานรว่าเป็นสิบแปดมงกุฎ แต่นับเข้าจริงได้ถึง 25 นาย