สุภาษิตพระร่วง สุภาษิตพระร่วง มีการจารึกวิทยาการต่างๆไว้ที่วัดพระเชตุพน วิมลมังคลารามราชวรวิหารหรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าวัดพระเชตุพนหรือที่เรียกกันง่าย ๆอย่างติดปากว่าวัดโพธิ์ท่าเตียน กรุงเทพฯในคราวนั้นปรากฏว่าได้มีการแก้ไขถ้อยคำเป็นภาษาครั้งรัชกาลที่ 3 ไปหลายส่วนจนทำให้บางท่านคิดไปว่าสุภาษิตพระร่วงไม่ใช่วรรณกรรมที่แต่งในสมัยสุโขทัยหากแต่แต่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่จริงถึงแม้ถ้อยคำภาษาจะเป็นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แต่ปรัชญาความคิดยังเป็นของสุโขทัย ผู้แต่ง พ่อขุนรามคำแหงมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงสุโขทัย พระองค์เป็นพระราชโอรสในพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และพระนางเสือง ทรงขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพ่อขุนบางเมือง เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์พระร่วง ( กษัตริย์กรุงสุโขทัยทุกพระองค์เรียกว่า พระร่วงเหมือนกันหมด ) เสวยราชย์เมื่อพ . ศ . ๑๘๒๒ เสด็จสวรรคตเมื่อประมาณ พ . ศ . ๑๘๔๒ ความมุ่งหมาย เพื่อสั่งสอนประชาชน ลักษณะการแต่ง แต่งเป็นร่ายสุภาพ แล้วจบด้วยโครงสี่สุภาพ ๑ บท เนื้อหาสาระ เริ่มต้นกล่าวถึงพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย พระองค์ทรงมุ่งหวังประโยชน์สุขในภายภาคหน้า จึงทรงบัญญัติสุภาษิตขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติประชาชน ขอให้ผู้คนทั้งแผ่นดินจงพากเพียรพยายาม ศึกษาเล่าเรียนเพื่อบำรุงดูแลรักษาตัวเอง อย่าได้ผิดคำสอน จากนั้นก็เป็นคำสั่งสอนที่มีลักษณะเป็นสุภาษิตมีทั้งหมด ๑๕๔ ข้อ เริ่มจาก “ เมื่อน้อยให้เรียนวิชาให้หาสินเมื่อใหญ่อย่าใฝ่เอาทรัพย์ท่านอย่าริร่านแก่ความ … อย่ารักเหากว่าผมอย่ารักลมกว่าน้ำอย่ารักถ้ำกว่าเรือนอย่ารักเดือนกว่าตะวัน ” เนื้อหาทั้งหมดของคำสอน เมื่อน้อยให้เรียนวิชชา ให้หาสินเมื่อใหญ่ อย่าใฝ่เอาทรัพย์ท่าน อย่าริร่านแก่ความ ประพฤติตามบูรพระบอบ เอาแต่ชอบเสียผิด อย่ากอปรกิจเป็นพาล อย่าอวดหาญแก่เพื่อน เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า หน้าศึกอย่านอนใจ ไปเรือนท่านอย่านั่งนาน การเรือนตนเร่งคิด อย่านั่งชิดผู้ใหญ่ อย่าใฝ่สูงให้พ้นศักดิ์ ที่รักย่าดูถูก ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง สร้างกุศลอย่ารู้โรย อย่าโดยคำคนพลอด เข็นเรือนทอดทางถนน เป็นคนอย่าทำใหญ่ ข้าคนไพร่อย่าไฟฟุน คบขุนนางอย่าโหด โทษตนผิดรำพึง อย่าคะนึงถึงโทษท่าน หว่านพืชจักเอาผล เลี้ยงคนจักกินแรง อย่าขัดแข็งผู้ใหญ่ อย่าใฝ่ตนให้เกิน เดินทางอย่าเดินเปลี่ยว น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ ที่ซุ้มเสือจงประหยัด จงเร่งระมัดฟืนไฟ ตนเป็นไทอย่าคบทาส อย่าประมาทท่านผู้ดี มีสินอย่าอวดมั่ง ผู้เฒ่าสั่งจงจำความ ที่ขวากหนามอย่าเสียเกือก ทำรั้วเรือกไว้กันตน คนรักอย่าวางใจ ที่มีภัยพึงหลีก ปลีกตนไปโดยด่วน ได้ส่วนอย่ามักมาก อย่ามีปากกว่าคน รักตนกว่ารักทรัพย์ อย่าได้รับของเข็ญ เห็นงามตามอย่าปอง ของฝากท่านอย่ารับ ที่ทับจงมีไฟ ที่ไปจงมีเพื่อน ทางแถวเถื่อนไคลคลา ครูบาสอนอย่าโกรธ โทษตนผิดพึงรู้ สู้เสียสินอย่าเสียศักดิ์ ภักดีอย่าด่วนเคียด อย่าเบียดเสียดแก่มิตร ที่ผิดช่วยเตือนตอบ ที่ชอบช่วยยกยอ อย่าขอของรักมิตร ชอบชิดมักจางจาก พบศัตรูปากปราศรัย ความในอย่าไขเขา อย่ามัวเมาเนืองนิตย์ คิดตรองตรึกทุกเมื่อ พึงผันเผื่อต่อญาติ รู้ที่ขลาดที่หาญ คนพาลอย่าพาลผิด อย่าผูกมิตรไมตรี เมื่อพาทีพึงตอบ จงนบนอบผู้ใหญ่ ช้างไล่แล่นเลี่ยงหลบ สุวานขบอย่าขบตอบ อย่ากอปรจิตริษยา เจรจาตามคดี อย่าปลุกผีกลางคลอง อย่าปองเรียนอาถรรพ์ พลันฉิบหายวายม้วย อย่ายลเยี่ยงถ้วยแตกมิติด จงยลเยี่ยงสัมฤทธิ์แตกมิเสีย ลูกเมียอย่าวางใจ ภายในอย่านำออก ภายนอกอย่านำเข้า อาสาเจ้าจนตัวตาย อาสานายจงพอแรง ของแพงอย่ามักกิน อย่ายินคำคนโลภ โอบอ้อมเอาใจคน อย่าผลเหตุแต่ใกล้ ท่านไท้อย่าหมายโทษ คนโหดให้เอ็นดู ยอครูยอต่อหน้า ยอข้าเมื่อแล้วกิจ ยอมิตรเมื่อลับหลัง ลูกเมียยังอย่าสรรเสริญ เยียวสะเทินจะอดสู อย่าชังครูชังมิตร ผิดอย่าเอาเอาแต่ชอบ นอบตนต่อผู้เฒ่า เข้าออกอย่าวางใจ ระวังระไวหน้าหลัง เยียวผู้ชังจะคอยโทษ อย่ากริ้วโกรธเนืองนิตย์ ผิว์ผิดปลิดไปร้าง ข้างตนไว้อาวุธ เครื่องสรรพยุทธอย่าวางจิต คิดทุกข์ในสงสาร อย่าทำการที่ผิด คิดขวนขวายที่ชอบ โต้ตอบอย่าเสียคำ คนขำอย่าร่วมรัก พรรคพวกพึงทำนุก ปลุกเอาแรงทั่วตน ยลเยื่องไก่นกกระทา พาลูกหลานมากิน ระบือระบิลอย่าฟังคำ การจะทำอย่าด่วนได้ อย่าใช้คนบังบด ทดแทนคุณท่านเมื่อยาก ฝากขอรักจงพอใจ เฝ้าท้าวไทอย่าทรนง ภักดีจงอย่าเกียจ เจ้าเคียดอย่าเคียดตอบ นอบนบใจใสสุทธิ์ อย่าขุดคนด้วยปาก อย่าถากคนด้วยตา อย่าพาผิดด้วยหู อย่าเลียนครูเตือนด่า อย่าริกล่าวคำคด คนทรยศอย่าเชื่อ อย่าแผ่เผื่อความผิด อย่าผูกมิตรคนจร ท่านสอนอย่าสวนตอบ ความชอบจำใส่ใจ ระวังระไวที่ไปมา เมตตาตอบต่อมิตร คิดแล้วจึ่งเจรจา อย่านินทาผู้อื่น อย่าตื่นยกยอตน คนจนอย่าดูถูก ปลูกไมตรีทั่วชน ตระกูลตนจงคำนับ อย่าจับลิ้นแก่คน ท่านรักตนจงรักตอบ ท่านนอบตนจงนอบแทน ความแหนให้ประหยัด เผ่ากษัตริย์เพลิงงู อย่าดูถูกว่าน้อย หิ่งห้อยอย่าแข่งไฟ อย่าปองภัยต่อท้าว อย่ามักห้าวพลันแตก อย่าเข้าแบกงาช้าง อย่าออกก้างขุนนาง ปางมีชอบท่านช่วย ปางป่วยท่านชิงชัง ผิจะบังบังจงลับ ผิจะจับจับจงมั่น ผิจะคั้นคั้นจงตาย ผิจะหมายหมายจงแท้ ผิจะแก้แก้จงกระจ่าง อย่ารักห่างกว่าชิด คิดข้างหน้าอย่าเบา อย่าถือเอาตื้นกว่าลึก เมื่อเข้าศึกระวังตน เป็นคนเรียนความรู้ จงยิ่งผู้ผู้มีศักดิ์ อย่ามักง่ายมิดี อย่าตีงูให้แก่กา อย่าตีปลาหน้าไซ ใจอย่าเบาจงหนัก อย่าตีสุนัขห้ามเห่า ข้าเก่าร้ายอดเอา อย่ารักเหากว่าผม อย่ารักลมกว้ารักน้ำ อย่ารักถ้ำกว่าเรือน อย่ารักเดือนกว่าตะวัน คุณค่า ๑ . คุณค่าทางภาษาสุภาษิตพระร่วงใช้ถ้อยคำง่ายๆไม่ค่อยมีศัพท์ยากที่ต้องแปลมากมายใช้คำสั้นกระทัดรัดมีสัมผัสคล้องจองกันช่วยให้จดจำง่าย ๒ . คุณค่าทางชีวิตสุภาษิตพระร่วงช่วยให้มองเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสุโขทัยที่สนใจในการศึกษาหาความรู้พอสมควรรู้จักทำมาหากินเมื่อเป็นผู้ใหญ่รักจักมีสัมมาคารวะต่อผู้หลักผู้ใหญ่ยกย่องพระมหากษัตริย์อย่างยิ่งรังเกียจความเป็นทาสยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต ๓ . คุณค่าทางคติธรรมคำสอนสุภาษิตพระร่วงให้แง่คิดในการดำเนินชีวิตอยู่บนโลกได้อย่างครบถ้วนทั้งทางโลกและทางธรรม ๔ . คุณค่าทางการปกครองสุภาษิตพระร่วงได้ให้หลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงว่าพระมหากษัตริย์ทรงใกล้ชิดราษฎรมากถึงขนาดทำการสั่งสอนประชาชนด้วยตนเองและทรงมีความใกล้ชิดราษฎร ๕ . คุณค่าทางมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมอื่นสุภาษิตพรร่วงมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมรุ่นหลังอย่างในสมัยรัชการที่๖พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระร่วงไว้เป็นบทละครพระร่วงเมื่อ พ . ศ . ๒๔๖๗ เอกสารอ้างอิง: ยอดวรรณกรรมสมัยสุโขทัย(2544) , อุทัย ไชยานนท์