วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ลอยกระทง 

    

การลอยกระทง
เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นตามแบบประเพณีของกรุงเทพฯ ผู้ที่เริ่มการลอยกระทงในเชียงใหม่เป็นคนแรกน่าจะเป็นพระราชชายาเจ้าดารา รัศมีในช่วงประมาณ พ . ศ . 2460-2470 โดยจุดเทียนบนกาบมะพร้าวทำเป็นรูปเรือเล็ก หรือรูปหงส์ และใช้ท่อนไม้ปอทำเป็นรูปเรือ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมทั่วไปเพราะชาวล้านนายังนิยมการประดับประทีปโคมไฟตาม บ้านเรือน และมักจัด ตั้งธัมม์หลวง หรือเทศน์มหาชาติในวัน “ เพ็ญเดือนยี่ ” ตามประเพณีอยู่ ครั้งที่นายทิม โชตนา เป็นนายกเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ในช่วง พ.ศ. 2490 นั้น ก็ได้สนับสนุนท่องเที่ยวโดยจัดให้มีการลอยกระทงมากขึ้นและมีการเฉลิมฉลอง บริเวณถนนท่าแพโดยเฉพาะบริเวณหน้าพุทธสถาน การลอยกระทงแบบกรุงเทพฯ ที่จังหวัดเชียงใหม่มีขึ้นอย่างจริงจังเมื่อมีการตั้งสำนักงานการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่เมื่อ พ . ศ . 2512 โดยจัดให้มีการลอยกระทงสองวันคือในวันยี่เพงหรือวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งตรงกับขึ้น 15 ค่ำเดือนสิบสอง จะมีการลอยกระทงขนาดเล็ก และในวันแรม 1 ค่ำ จะมีการลอยกระทงหรือประกวดกระทงขนาดใหญ่ โดยเริ่มกันที่หน้าเทศบาลเมืองเชียงใหม่ไปถึงสะพานนวรัฐ แต่ภายหลังมีการยอมรับและนำไป “ ลอยกระทง ” กันทั่วไป

การจัดทำกระทงหรือแพหยวกกล้วย ให้มีขนาดและรูปร่างตามต้องการ เมื่อจุดธูปเทียนแล้วจึงปล่อยให้ลอยไปตามน้ำ ถ้ากระทงนั้นทำด้วยชิ้นกาบกล้วยขนาดฝ่ามือมีเทียนปักแล้วหรือวางประทีปแล้ว จุดปล่อยให้ลอยตามกันไปเป็นสายก็เรียกว่า กระทงสาย ถ้าทำเป็นแพหยวกกล้วยหรือกระทงใบตองขนาดกว้างประมาณ 1 คืบถึง 1 ศอก ก็อาจมีการประดับด้วยดอกไม้ธูปเทียน และอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อความสวยงามและอาจใส่เงินลงไปด้วย กระทงดังกล่าวนิยมเรียกว่า กระทงหน้อย ส่วนกระทงขนาดใหญ่ซึ่งนิยมจัดเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ โดยเจตนาให้เป็นทานนั้นเรียกว่า สะเพา คือ สำเภา และกระทำขึ้นเพื่อการประกวดนั้นมักตกแต่งเป็นรูปต่าง ๆ และมี “ นางนพมาศ ” เป็นจุดสนใจประจำแต่ละกระทงนิยมเรียกว่ากระทงใหญ่

ตามวิถีล้านนานั้น ในเทศกาลยี่เพงที่ตรงกับเพ็ญเดือนสิบสองนี้ กิจกรรมที่นิยมกระทำคือการตั้งธัมม์หลวง หรือเทสนาธรรมในคัมภีร์ขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะเป็นเวสสันดรชาดกมีการปล่อยว่าวรม หรือว่าวควันคือลูกโป่งกระดาษขนาดใหญ่ที่ใช้ความร้อนจากควันไฟทำให้ลอยขึ้น สู่ฟ้า มีการจุดบอกไฟชนิดต่าง ๆ และโดยเฉพาะมีการตามผางประทีปหรือจุดโคมไฟนี้ ได้มีคัมภีร์ชื่ออานิสงส์ผางประทีปเป็นเครื่องรับรองถึงคตินิยมในการจุด ประทีปโคมไฟ ( ดูเพิ่มที่ อานิสงส์ผางประทีป ตั้งธัมม์หลวง ล่องสะเพา และลอยโขมด )


ลอยกระทงสาย

เมื่อคืนวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี ลำน้ำปิงจะเปี่ยมสองฝั่ง จังหวัดตากก็มีพิธีลอยกระทงเช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ แต่ที่แปลกไปกว่าจังหวัดอื่น ๆ คือ การลอยกระทงสาย เป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน วัดพร้าวเป็นวัดที่มีผู้ร่วมแรงร่วมใจกันมากในเรื่องนี้ กล่าวคือก่อนถึงกำหนดการลอยกระทงสาย จะตระเวนไปขอกะลามะพร้าวตามบ้าน ซึ่งก็มีผู้เต็มใจเก็บสะสมไว้ให้ด้วยแรงศรัทธาเป็นประจำทุกปีแล้วก็รวบรวม ไว้ที่วัดพร้าวมีเป็นจำนวนนับหมื่นแล้วก็นำเอาได้ ( น้ำมันยางที่ได้จากพืชต้นยางนำมาผสมกับขี้เลื่อยเศษไม้เล็ก ๆ ) ปั้นเป็นก้อนใส่ไว้กันกะลาแล้วจุดไฟปล่อยให้ลอยตามลำน้ำสวยงามมาก เป็นที่ประทับใจผู้พบเห็น กระทงสายนี้จะลอยเรื่อยไปตามสายน้ำจนลับตาไป ผู้มีส่วนร่วมและผู้พบเห็นถือว่าจะได้เป็นบุญกุศลตามแรงอธิษฐานทุกประการ

ส่วนในจังหวัดอื่น โดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำใหญ่นั้นก็อาจลอยกระทงสายได้เช่นเดียวกัน เช่น ชาวเชียงใหม่นิยมตัดกาบกล้วยเป็นชิ้นเท่าฝ่ามือแล้วปักเทียนลงบนชิ้นกาบ กล้วยนั้น เมื่อถึงวันลอยกระทงเล็กคือในวันยี่เพง ( อ่าน “ ญี่เปง ” ) คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของภาคกลาง ชาวบ้านริมแม่น้ำปงมักจะนำกระทงสายของตนมาจุดแล้วปล่อยให้ลอยตามน้ำเป็นระยะ ๆ ดูเหมือนเป็นสายโซ่แสงไฟ ( ดูเพิ่มที่ลอยกระทง )