วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

อาสาฬหบูชา
 
 

คำว่า อาสาฬาหะ เป็นชื่อของดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่ง เมื่อดวงจันทร์ผ่านกลุ่มดาวอาสาฬหะ เรียกว่าพระจันทร์เสวยอาสาฬหฤกษ์ เป็นระยะที่ตรงกับวันเพ็ญเดือนแปดของไทย จึงใช้เป็นชื่อเดือนที่ ๘ ซึ่งทางล้านนาว่าตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบ ( ในกลุ่มไทลื้อว่า วันเพ็ญเดือนเก้า )

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ

๑ . วันปฐมเทศนา คือวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก จะกล่าวว่าพระธรรมหรือพุทธศาสนา เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือนแปดนี้เอง

๒ . ประกาศธรรมจักร พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรเป็นครั้งแรก ได้ทรงแสดงอริยสัจธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ อันเป็นองค์แห่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

๓ . เกิดปฐมอริยสาวก อริยสาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลกในวันเพ็ญเดือนแปด คือ ท่านโกฎฑัญญะ ผู้ฟังปฐมเทศนาและได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน

๔ . เกิดพระสงฆ์ เมื่อท่านโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว ทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาในวันเพ็ญเดือนแปด พระพุทธองค์ประทานอุปสมบทให้โดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระโกณฑัญญะจึงเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา

๕ . เกิดพระรัตนตรัยขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก เมื่อพระโกณฑัญญะอุปสมบทเป็นพระสงฆ์แล้ว ก็เป็นอันครบองค์ ๓ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัยในวันเพ็ญเดือนแปด

๖ . พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก ชื่อธัมมจักกัปปวัตนสูตร แก่พวกปัญจวัคคีย์ทีป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เมื่อวันเพ็ญเดือนแปด

๗ . พระพุทธเจ้าทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา พุทธมารดา ในวันเพ็ญเดือนแปด ปีระกา ก่อนวันประสูติ ๑๐ เดือน

        
พิธีการในวันอาสาฬหบูชาของล้านนา

วันอาสาฬหบูชาเป็นวัน ก่อนเข้าพรรษาและเป็นวันเริ่มต้นการทำบุญในระหว่างเข้าพรรษา ดังนั้นทางราชการจะถือเป็นวันหยุดราชการ พร้อมทั้งชักชวนให้ประชาชนประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดวาอารามและสถานที่ราชการ เพื่อให้ชาวพุทธได้เห็นความสำคัญและมีโอกาสร่วมทำบุญในวันนี้ สำหรับชาวพุทธทางภาคเหนือ ในตอนเช้าจะไปทำบุญที่วัด มีการทำบุญต่างๆ เช่น ทำบุญไปให้พ่อเกิดแม่เกิด ปู่ ย่า ตา ยาย เทวบุตร เทวดา “ ผีตายเก่าเน่าเมิน ” ( ผู้ที่ตายไปนานแล้ว ) บูชาศาลพระภูมิ ขึ้นท้าวทั้งสี่ ตอนสายมีการทานขันข้าวตามบ้านผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ตอนบ่ายมีการฟังเทศน์ ตอนค่ำจะมีการฟังเทศน์ฟังธรรม ผู้เฒ่าผู้แก่จะไปนอนที่วัด

การบูชาในวันนี้ ควรที่จะได้น้อมจิตใจระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัยที่มีต่อท่านทั้งหลายที่ จะพรรณาให้สมกับคำอธิษฐานที่เราได้กล่าวว่า

พุทธํ สรณํ คจฉามิ ธมมํ สรณํ คจฉามิ สงฆํ สรณํ คจฉามิ ซึ่งแปลว่า ข้าพเจ้าถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง เพื่อที่จะช่วยกันเทิดดำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงเจริญรุ่งเรืองสืบไป ( ดูประกอบที่ ทานขันเข้า )

( สรุปความจาก อินทร์ อินทปัญโญ ประเพณีภาคเหนือ ฉบับดั้งเดิม )