ประเพณีล้านนา - แห่ไม้ค้ำสรี (อ่าน “ แห่ไม้ก๊ำสะหลี ”)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

แห่ไม้ค้ำสรี ( อ่าน “ แห่ไม้ก๊ำสะหลี ”)

 

การแห่ไม้ค้ำสรี หรือการแห่ไม้ค้ำต้นโพธิ์ อันหมายถึงพระศรีมหาโพธิ์ เป็นพิธีกรรมที่ขยายจากการที่ปัจเจกชนนำไม้ค้ำที่ตนได้จัดทำขึ้นไปค้ำที่ต้น โพธิ์ ไม้ค้ำดังกล่าวอาจได้มาจากไม้ง่ามที่ใช้ในพิธีสืบชาตาหรือไม้ค้ำที่จัดหา ขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องในการถวายทานในเทศกาลสงกรานต์ การที่ได้นำเอาไม้ค้ำไปค้ำที่ต้นโพธิ์นี้ อาจจัดเป็นสัญลักษณ์หมายความว่าผู้นั้นมีส่วนในการค้ำชูพระพุทธศาสนา พบว่าต้นโพธิ์ที่มีไม้ค้ำมากที่สุด คือต้นโพธิ์ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง

แต่ในบางท้องถิ่นแล้ว แทนที่แต่ละคนจะนำเอาไม้ค้ำไปค้ำต้นโพธิ์ตามประสงค์ของแต่ละคนนั้น เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ ก็จะนัดหมายให้ชาวบ้านร่วมกันไปหาไม้ค้ำซึ่งจะมีขนาดใหญ่แล้วตกแต่งให้งาม จากนั้นจึงทำพิธีแห่ไม้ค้ำนั้นร่วมขบวนกันเพื่อไปถวายวัดและนำไปค้ำต้นโพธิ์ ดังจะเห็นได้จากกรณีของศรัทธาชาวบ้านในอำเภอจอมทองและอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

ประชาชนในถิ่นดังกล่าว นั้นถือว่า เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์แล้ว ทุกคนควรจะทำพิธีสืบชาตาของตนเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่ตนเองได้มีชีวิตอย่าง มีความสุขผ่านพ้นไปอีกหนึ่งปีและเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเองที่จะต้องผจญ โลกอย่างมีความสุขในปีต่อไปอีกด้วย อุปกรณ์ส่วนหนึ่งในพิธีสืบชาตาราศีดังกล่าวคือไม้ที่มีง่ามขนาดต่างๆ สุดแล้วแต่ความพอใจ แต่ขอให้เป็นไม้ที่มีลักษณะเป็นง่ามและเป็นไม้ที่ตัดมาใหม่ๆ แล้ว นำไปเข้าพิธีสืบชาตา เสร็จแล้วจะนำไปตั้งค้ำต้นโพธิ์ที่อยู่ใกล้บ้าน ส่วนมากจะนำไปค้ำต้นโพธิ์ต้นใหญ่ที่มีอยู่ตามวัดต่างๆ ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่นั้น ชาวบ้านนิยมนำไปค้ำต้นโพธิ์ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารและวัดต่างๆ ที่ตนเองและครอบครัวทำบุญเป็นประจำ

ในตอนเริ่มแรกก่อนที่ พิธีการดังกล่าวจะถูกยึดถือปฏิบัติจนกลายมาเป็นประเพณีแห่งไม้ค้ำโพธิ์อย่าง ทุกวันนี้ ประชาชนยังไม่มีความคิดที่จะทำร่วมกัน ต่างคนต่างไปจัดหาและทำพิธีสืบชาตาราศีแล้วนำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์เอง ต่อมาเมื่อได้ทำเป็นประจำทุกๆ ปี นานๆ เข้าพอถึงวันที่ ๑ - ๑๔ เมษายนของทุกปี ประชานก็ได้รวมกันเป็นหมวด เป็นหมู่บ้าน เป็นตำบล เช่น จัดรวมกันเป็นหมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านหลวง หมู่ที่ ๖ ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง เป็นต้น ต่างจัดหาไม้ง่ามที่มีลักษณะดีงามแล้วนำมาตกแต่งด้วยการทาขมิ้น และประดับกระดาษสี จากนั้นจึงนำขึ้นเกวียนแห่ไปทำพิธีค้ำต้นโพธิ์ในวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ในช่วงที่แห่ไปนั้น นอกจาจะมีผู้คนทั้งผู้เฒ่าผู้แก่หนุ่มสาวเข้าขบวนที่แต่งกายงดงามตามประเพณี พื้นเมืองแล้ว ยังมีการละเล่นแบบพื้นเมืองด้วย เช่น การฟ้อนเชิง ( อ่าน ” ฟ้อนเจิง ”) หรือร่ายรำในท่าต่อสู้ ขับเพลงซอเล่นดนตรีพื้นเมืองและแห่เป็นรูปขบวนไป และสองข้างทางที่ขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ง่ามจะมีการรดน้ำดำหัวอวยชัยให้พรกัน สนุกสนานไปด้วย

ต่อมาเมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีนี้ ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ก็ได้รับการปรับปรุงพัฒนาขึ้นตามยุคตามสมัย โดยเฉพาะในด้านการตกแต่งประดับประดาให้เข้าแบบมากขึ้น แทนที่ต่างคนต่างแห่ไปคนละเวลา ก็ได้พัฒนาเป็นการแห่ในเวลาเดียวกัน โดยมีการนัดหมายให้ไปพร้อมกัน ณ จุดใดจุดหนึ่ง แล้วเคลื่อนขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ของแต่ละกลุ่มแห่ไปยังวัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร เป็นรูปขบวนยาวเหยียดมองดูสวยงาม นับว่าเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะให้มั่นคงยิ่งขึ้น ดนตรีที่นำมาแห่นอกจากจะมีดนตรีพื้นเมืองแล้วยังมีดนตรีสากลเข้าร่วม ประยุกต์ด้วยตามกาลสมัย ต่อมาทางราชการได้มองเห็นความสำคัญของประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นอันนี้ใน เรื่องของประเพณีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอจอมทอง และในเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยวจึงได้เชิญชวนหน่วยงาน องค์กร รัฐวิสาหกิจ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนภายในอำเภอจอมทอง ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แต่ละกลุ่มไปดำเนินการประดับตกแต่งขบวนแห่ไม้ ค้ำโพธิ์ให้สวยงาม และจัดให้มีการประกวดและมอบรางวัลให้แก่ขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์เพื่อเป็นการให้ กำลังใจแก่ประชาชนที่ยึดถือประเพณีนี้ด้วย