วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/10/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ล้านนาคดี http://lanna.mju.ac.th/ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ "ทุกภาพ ทุกตัวอักษร มอบเป็นวิทยาทานแด่ทุกท่าน"

ดนตรีล้านนา : ดนตรีพื้นเมืองล้านนา

ดนตรี พื้นเมืองล้านนา หรือการบรรเลงเครื่องดนตรีและการขับขานในล้านนานั้นมีบทบาททั้งในการประกอบ พิธีกรรม ประกอบการแสดง และประกอบในกิจกรรมสันทนาการ ซึ่งอาจแยกกล่าวได้ดังนี้

๑. ในการประกอบพิธีกรรม ในแง่พิธีกรรมในล้านนาแล้ว มีพิธีเพียงสองแนวคือ แนวพุทธกับแนวผี คือ พิธีกรรมเชิงพุทธศาสนาและพิธีกรรมเกี่ยวกับผี ซึ่งทั้งสองแนวดังกล่าวดนตรีมีบทบาทเป็นเพียงส่วนประกอบ เช่น ในงานฉลองรื่นเริงหรือในงานศพซึ่งมีพิธีทางพุทธศาสนานั้น พบว่าดนตรีเป็นเพียงส่วนที่ช่วยให้งานคึกคักหนักแน่นขึ้น ซึ่งหากจะไม่มีดนตรีในกิจกรรมนั้นๆ แล้ว กิจกรรมดังกล่าวก็ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ในกิจกรรมเกี่ยวกับผีนั้น ในการบูชาผีหรือแก้บนนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องมีดนตรีประกอบก็ได้ แต่ในการฟ้อนผีนั้นที่ต้องมีดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องก็เพราะมีการฟ้อนรำอัน เป็นส่วนประกอบในพิธีเลี้ยงผีเท่านั้น

๒. ในการประกอบการแสดง ดนตรีจะมีบทบาทสำคัญต่อการแสดงหลายอย่าง ที่เป็นทั้งการแสดงเพื่อประกอบในงานประเพณีหรือเพื่อความบันเทิง ดังจะเห็นได้ว่าการฟ้อนรำหรือการขับซอหรือขับขานนั้น จะต้องมีดนตรีประกอบเสมอ

ประเภทเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนา

เครื่อง ดนตรีล้านนาเป็นเครื่องดนตรีที่ประกอบขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน คือเป็นเครื่องดนตรีที่มีลักษณะเรียบง่ายและประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุในธรรมชาติ หรือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งตัวผู้เล่นเองนั้นนอกจากจะมีความสามารถในการเล่นดนตรีแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักมีความสามารถในการประดิษฐ์เองได้ด้วย เครื่องดนตรีล้านนามีครบทุกประเภทตามวิธีการปฏิบัติที่ทำให้เกิดเสียงดนตรี คือครบทั้ง ๔ ประเภท ได้แก่ เครื่องดีด สี ตีและเป่า ดังต่อไปนี้

ประเภทเครื่องเป่า



เครื่องดนตรีที่ใช้ลมเป่าออกจากปากผ่านเครื่องดนตรีทำให้เกิดสุ้มเสียงต่างๆ ประกอบด้วย ปี่ แนและขลุ่ย ดังนี้
ปี่ คือเครื่องเป่าที่ลำตัวทำด้วยไม้ไผ่และมีลิ้นโลหะที่เมื่อลมเป่าผ่านจะเกิด เสียง ปี่ที่ใช้เป่าประกอบการซอนั้นจะต้องใช้เป็นชุดจำนวน ๓,๔ หรือ ๕ เลา เรียกว่า ปี่ชุม (อ่าน “ ปี่จุม ” ) คือเป็นชุด ตัวปี่ทำด้วยไม้ไผ่ตระกูลไม้รวก ปี่ชุมหนึ่งจะต้องใช้ไม้ไผ่ลำเดียวกันทำ สาเหตุที่ต้องใช้ไม้ไผ่ลำเดียวกันนั้น เพราะขนาดช่วงปล้องและความหนาของเนื้อไม้จะไล่กันได้ระดับดี เมื่อเลือกไม้ไผ่ได้แล้วก็จะตัดเป็นขนาดต่างๆ กันตามลำดับ ปี่แต่ละเลาจะมีปลายด้านหนึ่งตัดโดยอาศัยข้อไม้ปิด อีกปลายหนึ่งเปิดใกล้กับข้อไม้ด้านที่ตัน ด้านปิดนี้เป็นที่ติดลิ้นปี่ซึ่งทำด้วยแผ่นทองเหลืองบางๆ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตรงกลางรีดเป็นรูปตัว V ยาวๆ ถัดจากลิ้นไปทางด้านเปิด ลำตัวปี่มีรูที่เจาะเรียงกันไปเป็นระยะจำนวน ๗ รู ปกติแล้วปี่มีเสียงเบา แต่ถ้าบรรเลงพร้อมกันทั้งชุมหรือทั้งชุดก็จะให้เสียงที่มีพลังหรือน้ำหนัก มากขึ้น

ปี่ของ ทางล้านนาถูกเรียกหลายชื่อว่า ปี่ชุม หรือ ปี่ซอ เพราะใช้ประกอบการขับซอ แต่ชาวล้านนาเองนั้นมักจะเรียกว่าปี่ชุม ชุมนั้นหมายถึง ชุด หรือชุม ปี่ชุมมีทั้งหมด ๕ เลา คือ

๑. ปี่แม่ หรือ ปี่เค้า (อ่าน “ ปี่เก๊า ” ) ทำจากไม้ไผ่ส่วนโคนมีขนาดใหญ่ที่สุดของแต่ละชุม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ ๒ เซนติเมตร ยาวไม่ต่ำกว่า ๗๕ เซนติเมตร ปี่แม่มีเสียงทุ้มต่ำ

๒. ปี่กลาง (อ่าน “ ปี่ก๋าง ” ) มีขนาดรองลงไป ทำจากไม้ไผ่ช่วงที่ถัดจากปี่แม่ลงไป มีความยาวประมาณ ๔ ส่วนใน ๕ ส่วนของปี่แม่ ปี่กลางมีเสียงสูงขึ้นมา

๓. ปี่ก้อย มีขนาดเล็กถัดจากปี่กลางลงไป ทำจากไม้ช่วงที่ถัดจากปี่กลางลงไป มีความยาวประมาณ ๓ ส่วน ใน ๔ ส่วนของปี่กลาง ปี่ก้อยมีเสียงสูงกว่าปี่กลาง

๔. ปี่เล็ก เป็นปี่ที่ทำจากไม้ช่วงที่ถัดจากปี่ก้อยลงไป มีความยาวเป็นครึ่งหนึ่งของปี่กลางและเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๒-๑.๔ เซนติเมตร ปี่เล็กเป็นปี่ที่มีเสียงสูงกว่าปี่ก้อย

๕. ปี่ตัด เป็นปี่ที่มีขนาดเล็กที่สุดของชุม ซึ่งเป็นปี่ที่เพิ่งจะเพิ่มมาภายหลัง ปัจจับันไม่ค่อยนิยมใช้เท่าใดนักเพราะเป็นปี่ที่เป่ายากที่สุดในชุม

ปี่ไม่ นิยมใช้บรรเลงเดี่ยว แต่จะบรรเลงร่วมกับปี่ในชุดเดียวกันตั้งแต่ ๓ เลาขึ้นไปเพื่อประกอบการขับซอ นอกจากนั้นอาจใช้ปี่เพียง ๑ เลา บรรเลงร่วมกับวงดนตรีพื้นเมือง สะล้อ-ซึง ก็ได้

แน เป็นเครื่องเป่าประเภทหนึ่งบางครั้งถูกชาวบ้านเรียกว่า ปี่แน พบว่ามีขายแม้กระทั่งในตลาดของเมืองตาลี มณฑลยูนนาน ประเทศจีน และอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากพม่า ซึ่งมีเครื่องดนตรีประเภทเดียวกันนี้อยู่ด้วย ลิ้นของแนทำด้วยใบลานหรือใบตาล เป็นลิ้นคู่ประกบกันอยู่รอบๆ ท่อโลหะเล็กๆ ท่อนี้เสียงเข้าไปในท่อไม้กลมยาวซึ่งค่อยๆ มีขนาดใหญ่ขึ้น ท่อไม้นี้กลวงตลอดและรูภายในค่อยๆ โตขึ้นตามขนาดของไม้ด้วย รูที่เจาะบนท่อไม้เป็นระยะสำหรับปิดเปิดด้วยนิ้วมือทั้งสองข้าง ซึ่งมีจำนวน ๖ รู ปากลำโพงทำด้วยทองเหลือง ผู้เป่าที่ชำนาญอาจใช้แนทำเสียงให้ได้อารมณ์ต่างๆ หลายชนิด

แน มี ๒ ขนาด คือ แนหลวง หรือแนใหญ่ มารูปร่างลักษณะขนาดและวิธีเล่นเหมือนกับปี่มอญ กับ แนหน้อย หรือแนเล็ก มีขนาดเล็กและระดับเสียงสูงกว่าแนหลวง มีเสียงแหลม และวิธีการเล่นคล้ายปี่ชวา

แนไม่ใช้ บรรเลงเดี่ยว แต่จะเป็นส่วนใหญ่ในวงพาทย์หรือปี่พาทย์ล้านนา ซึ่งจะบรรเลงร่วมกับระนาดและฆ้องวง มีกลองเต่งถิ้งหรือตะโพนมอญ และฉาบเป็นเครื่องจังหวะสำคัญ แนจะเป็นเครื่องดนตรีที่นำวงเสมอ นอกจากนั้นยังใช้บรรเลงร่วมกับวงตึ่งนงในการประกอบการฟ้อนพื้นเมือง ใช้บรรเลงร่วมกับกลองเต่งถิ้งและฉาบ ประกอบการชกมวยโดยบรรเลงเพลงมวยของท้องถิ่น ในปัจจุบันก็ยังนิยมอยู่
ขลุ่ย แต่เดิมเรียกว่า ปี่ถิว เป็นเครื่องเป่าอีกชนิดหนึ่งที่ทำด้วยไม้ไผ่ รูปร่างคล้ายคลึงกับขลุ่ยปัจจุบันแต่ไม่มีลิ้นแบบขลุ่ย คือมีรูและใช้ใบตองอ่อนนาบอย่างที่ใช้มวนบุหรี่เข้าบังรูนั้นให้ลมกระพือ เป็นเสียง ต่อมาเมื่อได้รับอิทธิพลจากภาคกลางแล้วจึงใช้ขลุ่ยแบบภาคกลาง เพราะไม่ต้องกังวลกับการใช้ใบตองนาบมาทำลิ้นอีก นอกจากจะใช้ปี่ถิวเป่าเดี่ยวๆเพื่อความเพลิดเพลินแล้ว ยังใช้เป่าประสมวงสะล้อ-ซึง อีกด้วย


ประเภทเครื่องดีด

เครื่องดนตรีของล้านนาประเภทที่อาศัยการดีดที่สายเพื่อให้เกิดเสียงมีสองอย่าง คือ เพียะ (อ่าน “ เปี๊ยะ ” ) และ ซึง ในโคลงนิราศหริภุญชัย เรียกซึงว่าติ่งเช่นเดียวกับที่ชาวไทใหญ่เรียก

เพียะ เป็นเครื่องดีดจำพวกพิณ จัดเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของล้านนาและปรากฎการกล่าวถึงใน กาพย์ห่อโคลง ของพระศรีมโหสถในสมัยอยุธยาด้วย มีลักษณะคล้ายพิณน้ำเต้าของภาคอีสาน มีผู้เชี่ยวชาญทางดนตรีสันนิษฐานว่าอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากพิณสายเดี่ยวของ อินเดีย เพียะมีกะโหลกซึ่งทำหน้าที่เป็นกล่องเสียง ทำด้วยกะลามะพร้าวผ่าซีกด้านข้างเจาะรูหนึ่งรู คันทวนทำด้วยไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ ๗๐-๙๐ เซนติเมตร ปลายคันทวนมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๐-๑.๕ เซนติเมตร ปลายยอดเป็นรูปโลหะหล่อ ด้านโคนคันทวนมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒-๓ เซนติเมตร มีลูกบิดเสียบอยู่ มีสายไหมหรือเส้นลวดจำนวน ๒-๗ สาย ขึงพาดระหว่างลูกบิดกับหัวเพียะ ขนาดของสายจะเท่ากันทุกสาย ใช้หวายรัดสายเพียะแนบติดกับด้ามเสียก่อนแล้วสอดปลายลอดรูกะโหลกไปผูกกันไว้ ขัดด้วยแท่งไม้เล็กๆ ระหว่างด้ามกับกะโหลกมีท่อนไม้เล็กๆ ยาวประมาณ ๔-๕ เซนติเมตร คั่นอยู่อันหนึ่ง เพื่อแยกด้ามกับกะโหลกให้ห่างกันพอที่จะสอดนิ้วมือเข้าไปจับประคองเพียะใน ขณะบรรเลง

ผู้บรรเลงมักจะถอดเสื้อและอยู่ในลักษณะท่านั่ง หันกะโหลกเพียะครอบตรงผิวเนื้อกลางหน้าอก โดยให้คันเพียะทำมุมกับลำตัวประมาณ ๔๕ องศา ใช้มือซ้ายช้อนรับคันเพียะไว้ในอุ้งมือ ใช้เล็บของนิ้วก้อยดีด มือขวาจะต้องรองรับคันเพียะไว้ด้วยท่อนแขน ใช้เล็บนิ้วก้อย เล็บนิ้วกลางและเล็บนิ้วนางดีดให้เกิดเสียงขัดเสียงสอดแทรก ซึ่งการดีดให้เกิดเสียงจะต้องดีดด้วยวิธีเฉพาะที่เรียกว่า “ พาน ” “ ป๊อก ” และ “ จก ” ส่วนการเลื่อนมือย้ายตำแหน่งให้ได้เสียงตามต้องการเช่นนี้มีศัพท์เฉพาะว่า “ การไหล ” ในขณะเดียวกันก็ใช้ส้นมือ (ส่วนปลายสุดของฝ่ามือ) ข้างขวาไข (ขยับ) ไปมา หรือขยับขึ้นลง เพื่อให้เกิดเสียงและลมที่อัดแน่นอยู่ระหว่างทรวงอกกับกะโหลกเพียระระบายออก มา

เสียงที่เกิดขึ้นจะเป็นเสียงที่กังวานแผ่วเบา อันเป็นเสียงแบบ Over tones หรือ Harmonic (เสียงคู่แปด) ซึ่งเป็นเสียงที่ตรงตามความตั้งใจยาก เสียงนี้จะมีความไพเราะมากเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้บรรเลง เสียงเพียะที่ดีเสมือน เดงพลันเมา (อ่าน “ เดงปันเมา ” ) คือกระดิ่งที่เร่งให้หลงใหล หมายถึงเสียงของเพียะไพเราะจับใจยิ่งนัก

การเล่นเพียะเท่าที่พบนั้นส่วนมากเป็นการเล่นเดี่ยว ไม่ค่อยเล่นประสมวง และไม่นิยมมีการขับร้องประกอบ เนื่องจากเสียงของเพียะไม่ค่อยดังนัก อาจมีการช้อยโคลง (อ่าน “ จ๊อยกะโลง ” ) ประกอบคือขับโคลงเป็นทำนองเสนาะ ส่วนเพลงที่เล่นนั้นสามารถเล่นได้ทุกเพลงเท่าที่เครื่องดนตรีอื่นๆ ในระดับชาวบ้านจะเล่นได้ เช่น เพลง จก ไหล ปุ๋มเป้ง เก้าปุ๋มป่ง ปราสาทไหว ปราสาทกุด เงี้ยว พม่า อื่อ ฯลฯ

ซึงบางท้องถิ่นเรียกว่า ติ่ง มีลักษณะคล้ายกระจับปี่หรือคล้ายพิณหรือซุงของภาคอีสาน หรือคล้ายกีตาร์ขนาดเล็ก ซึงประกอบด้วยกล่องเสียง มีคอยื่นออกไปและขึงสายซึ่งเป็นต้นกำเนิดเสียง จากปลายคอผ่านกลางกล่องเสียงไปยังขอบของกล่องเสียงอีกด้านหนึ่ง อาจใช้ไม้ทั้งท่อนทำซึงทั้งกล่องเสียงและคอโดยเป็นไม้ชิ้นเดียวกัน หรือคนละชิ้นทำแยกส่วนก็ได้ ตัวซึงมักจะใช้ไม้เนื้ออ่อนหรือไม้สักทำทั้งแผ่นเพราะขุดเนื้อไม้ทำเป็น กล่องเสียงได้ง่าย ความหนาของกล่องเสียงขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ที่จะใช้ทำและขนาดของซึงที่ต้อง การ เท่าที่พบโดยทั่วไปหนาประมาณ ๒-๓ นิ้ว คว้านข้างในให้กลวงเป็นรูปวงรี เหลือขอบโดยรอบกับพื้นกล่องเสียงซึ่งไม่หนามากนัก

จากนั้นก็ใช้แผ่นไม้บางๆ ปิดด้านบน เจาะรูบริเวณใกล้ศูนย์กลางค่อนไปทางคอเล็กน้อย ให้มีขนาดกว้างพอสมควรเพื่อให้เสียงผ่านออกมา ส่วนคอจะมีลักษณะเป็นคันยาวยื่นออกมา ถ้าไม่ได้ใช้ไม้ชิ้นเดียวกันกับที่ทำตัวกล่องเสียงแล้ว ส่วนนี้จะนิยมทำด้วยไม้เนื้อแข็ง เพื่อให้ทนทานและเสียงที่ดังออกมาไพเราะ บนคอซึงติดขีดซึ่งเป็นท่อนไม้เล็กๆ เรียกว่า “ ลูกซึง ” หรือ “ นม ” เป็นระยะๆ เรียงกันตามความยาวของคอจนใกล้ถึงตัวกล่องเสียง จำนวนลูกวึงไม่แน่นอนแต่มาตรฐานทั่วไปนิยมติด ๙ อัน มีความถี่ห่างไม่เท่ากัน (คือเว้นระยะตามขอบเขตของเสียงที่เกิดขึ้น) ปลายคอซึงมีลูกบิดเกือบล่างสุดของตัวกล่องเสียงมี ค็อบ (อ่าน “ ก๊อบ ” ) คือ เบาะไม้รองสายที่ขึงจากส่วนล่างสุดขึ้นไปหาลูกบิด

สาย ซึงโดยมากทำด้วยสายห้ามล้อจักรยาน มี ๔ สาย ซึ่งแยกกันเป็น ๒ คู่ การดีดซึงมักใช้เขาสัตว์หรือพลาสติกตัดเป็นชิ้นยาวและบางเป็นเครื่องดีด บริเวณที่ดีดอยู่ใกล้กับรูที่เจาะไว้ มืออีกข้างหนึ่งจับคอซึง และใช้นิ้วกดสายลงให้แนบกับลูกซึงที่ต้องการ


ซึง มี ๓ ขนาด คือซึงเล็ก ซึงกลางและซึงใหญ่ โอกาสเล่นซึงคือใช้บรรเลงร่วมกับวงสะล้อ ใช้บรรเลงร่วมกับปี่ชุมในการขับซอ หรือบรรเลงเดี่ยว เพลงที่เล่นเป็นเพลงพื้นเมืองดั้งเดิมหรือถูกประยุกต์ให้เล่นเพลงลูกทุ่ง นอกจากนี้ยังการนำไปใช้บรรเลงประกอบการแสดงละครพื้นเมืองอีกด้วย

ซึงนับเป็นเครื่องดนตรีที่นักดนตรีเกือบทุกคนสามารถทำขึ้นไว้เล่นเองได้ และเป็นเครื่องดนตรีที่มีขายอย่างแพร่หลายแหล่งที่ทำซึงขายนั้นนอกจากจะเป็น กลุ่มนักดนตรีที่เล่นเป็นอาชีพจะรับทำเมื่อมีคนมาสั่งแล้ว ยังมีวางขายที่ตลาดกลางคืน ถนนช้างคลาน และที่บ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

ประเภทเครื่องสี

ได้แก่ เครื่องสายที่มีคันสี เสียงดนตรีจะเกิดจากการเสียดสีระหว่างสายคันชักกับสายเส้นลวดทองเหลืองที่ ขึงตึงอยู่ เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสีของล้านนา ได้แก่

สะล้อ

สะล้อ อาจเรียกว่า ถะล้อ ธะล้อ หรือ ทะร้อ ซึ่งมีรูปศัพท์เดิมจากภาษาขอมว่า “ ทฺรอ ” ซึ่งภาษาไทยกลางออกเสียงเป็น “ ซอ ” แต่ในโคลงนิราศหริภิญชัยว่า “ ธะล้อ ” เป็นเครื่องสายที่บรรเลงด้วยการใช้คันชักสีลงบนสายที่ขึงผ่านหน้ากล่องเสียง มีรูปร่างใกล้เคียงกับซออู้ แต่ขนาดเล็กกว่า กล่องเสียงของสะล้อทำด้วยกะลามะพร้าว ซึ่งตัดด้านหนึ่งออกไปเหลือประมาณ ๒/๓ ของกะลาทั้งลูก ตรงที่ถูกตัดออกไปนั้น ปิดด้วยไม้เรียบบางๆ ซึ่งเรียกว่า “ ตาดสะล้อ ” คันทวนของสะล้อเป็นไม้กลมทำจากไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ ๖๔ เซนติเมตร เสียบทะลุกล่องเสียง ใกล้ๆ ขอบที่ปิดด้วยตาดปลายคันทวนเสียบลูกบิด ๒ อัน ในลักษณะทแยงเข้าไปในคันทวน มีไว้สำหรับผูกสายสะล้อและตั้งสาย สายนิยมใช้สายโลหะมากกว่าสายเอ็นเหมือนซอด้วงและซออู้ ส่วนมากทำจากลวดสายห้ามล้อรถจักรยาน คันชักสะล้อทำด้วยไม้โค้งงอคล้ายคันศร ขึดด้วยหางม้าหรือสายไนลอนทบไปทบมาหลายสิบทบ ไม่เอาคันชักขัดไว้ระหว่างสายเหมือนกับซออู้และซอด้วง สิ่งที่ใช้เสียดสีกับสายของคันชักเพื่อให้เกิดความฝืดในขณะสี ได้แก่ ยางสนหรือชัน ซึ่งติดไว้บนกะลาตรงจุดที่ใช้สายคันชักสัมผัสให้เกิดเสียง

สะล้อมี ๓ ขนาด ได้แก่

๑. สะล้อเล็ก มี ๒ สาย

๒.สะล้อกลาง มี ๒ สาย

๓.สะล้อใหญ่ มี ๓ สาย มีวิธีการเล่นคล้ายซอ

สามสายแต่ไม่เอาคันชักไว้ระหว่างสาย

สะล้อ ที่นิยมบรรเลงคือสะล้อที่มี ๒ สาย ส่วนสะล้อ ๓ สายไม่ค่อยมีผู้นิยมเล่น เพราะเล่นยากกว่าสะล้อ ๒ สาย นอกจากใช้สะล้อบรรเลงเดี่ยวแล้ว ยังนิยมใช้บรรเลงร่วมกับวงดนตรีพื้นเมืองสะล้อ-ซึง หรือบางแห่งใช้บรรเลงร่วมกับปี่ชุม ประกอบการซอ บทเพลงที่เล่นมักเป็นเพลงพื้นเมืองของล้านนา ผู้ที่ทำสะล้อขายจะเป็นแหล่งเดียวกันกับที่ทำซึงขายและนักดนตรีที่เล่นเป็น ส่วนมากก็จะทำไว้เล่นเองด้วยเหมือนกับซึง

ประเภทเครื่องตี

เรียก ตามกิริยาอาการที่ใช้มือหรือวัตถุตีกระทบกับวัตถุทำให้เกิดเสียง ล้านนามีทั้งเครื่องตีที่ทำด้วยไม้ เช่น เกราะพาทย์ (อ่าน “ ป้าด ” ) คือ ระนาด เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ เช่น ฆ้อง กังสดาล ฉิ่ง สว่า (ฉาบ) และเครื่องตีที่ทำด้วยการขึงหนังสัตว์ให้ตึงเป็นแผ่น ได้แก่ กลอง

กลอง (อ่าน “ ก๋อง ” ) เป็นเครื่องตีให้จังหวะที่มีหลายชนิด หลายขนาดในท้องถิ่นภาคเหนือ มีทั้งประเภทขึ้นหนังหน้าเดียวและประเภทขึ้นหนังสองหน้า ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

๑. กลองหลวง หรือ กลองห้ามมาร รูปลักษณะเป็นกลองยาวคอดกลางปลายบานเป็นลำโพง ยาวประมาณ ๓.๐-๓.๕ เมตร ขนาดหน้ากลองเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๖๐-๘๐ เซนติเมตร ต้องวางบนล้อเกวียน ใช้คนลากหลายคน เวลาตีต้องขึ้นนั่งคร่อมตีหรือยืนอยู่ด้านหน้ากลอง ใช้มือขวาตีโดยมีผ้าพันมือทำเป็นรูปกรวยแหลมให้ผ้าพันมือกระทบหน้ากลอง ใช้ตีเป็นสัญญาณวันพระ ๘ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ ในล้านนามีประเพณีการแข่งขันตีกลองหลวง ซึ่งนิยมกันมากในช่วง พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นต้นมา

๒. กลองแอว หรือ กลองตึ่งนง คำว่า “ แอว ” แปลว่า สะเอว เรียกตามลักษณะกลองที่มีเอวคอดกลาง ส่วนคำว่า “ ตึ่งนง ” เรียกตามลักษณะเลียนเสียงตีกลองและฆ้อง กลองแอวมีรูปทรงแบบเดียวกับกลองหลวงแต่มีขนาดเล็กกว่า คือ ยาวประมาณ ๑๗๕ เซนติเมตร ขนาดหน้ากลองเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ใช้หามหรือใช้ตั้งกับที่ตี ใช้ตีประสมวงกลองแอว และมีประเพณีการแข่งขันการตีกลองแอวเดี่ยวๆ ด้วย

๓. กลองปูเจ่ เป็นกลองก้นยาวแบบของชาวไทใหญ่มีขนาดเล็กกว่ากลองแอว ยาวประมาณ ๑๔๐ เซนติเมตร ขนาดหน้ากลองเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๖ เซนติเมตร ใช้สะพายตีและเล่นประสมวงกลองปูเจ่

๔. กลองสิ้งหม้อง คือ กลองยาวขึ้นหนังหน้าเดียวแบบของภาคกลาง รูปร่างคล้ายกลองปูเจ่ และหน้ากลองมีขนาดเท่าๆ กัน แต่มีรูปทรงสั้นกว่า คือยาวประมาณ ๘๐-๙๐ เซนติเมตร คนตีกลองสามารถใช้สะพายบ่าได้ ใช้ในขบวนแห่ต่างๆ
ประเภทขึ้นหนังสองหน้า ได้แก่

๑. กลองปูชา (อ่าน “ ก๋องปู๋จา ” ) คือกลองบูชา เดิมเรียกว่ากลองนันทเภรี เป็นกลองขึ้นหนังสองหน้าขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กับที่ แต่ใช้ตีหน้าเดียว มีหน้ากว้างประมาณ ๓๐ นิ้ว ขึ้นไป ปกติจะตั้งไว้ที่ศาลาไว้กลอง หรือตั้งไว้ภายในวัดประกอบด้วยกลองขนาดใหญ่ ๑ ใบ ซึ่งมีขนาดหน้ากลองเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เมตร ความยาวของตัวกลองประมาณ ๑.๕ เมตร และกลองขนาดเล็ก เรียกว่า “ กลองแสะ ” หรือ “ ลูกติบ ” อีก ๒-๓ ใบ ซึ่งมีขนาดลดหลั่นกัน กลองปูชาใช้ตีเป็นพุทธบูชาในโอกาสเกี่ยวกับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เช่น วันขึ้นหรือแรม ๗ ค่ำ และ ๑๔ ค่ำ ระหว่างเข้าพรรษา เป็นต้น บางแห่งใช้ตีเป็นสัญญาณบอกเวลาด้วย เวลาตีกลองปูชาจะใช้ผู้ตี ๒ คน คนหนึ่งใช้ไม้ค้อนตี ๒ มือ ตีทั้งกลองใหญ่และกลองเล็ก เป็นทำนองต่างๆ อีกคนหนึ่งใช้ไม้แสะ (ไม้ไผ่ผ่าซีกจักปลาย) ตีขัดจังหวะกลอง ยืนทำนองไปตลอด นอกจากนี้หากเป็นการตีประกวดกัน ก็ยังมีคนตีฆ้อง โหม่ง และฉาบ ประกอบด้วย

๒. กลองสะบัดชัย เป็นกลองที่ดัดแปลงมาจากกลองปูชา (บูชา) ที่มีขนาดเล็กกว่า เพื่อใช้หามนำหน้าขบวนแห่ได้ใช้ตีเพื่อความเป็นสิริมงคลในงานมงคลต่างๆ (ยกเว้นงานอวมงคล) โดยเฉพาะนำขบวนแห่ครัวทาน กลองมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เมตร ด้านข้างหนาประมาณ ๓๐ เซนติเมตร และมีกลองเล็กที่ใช้ตีประกอบอีก ๓ ใบ เรียกว่า “ ลูกตุบ ” โดยผู้ที่ตีจะเป็นคนเดียวกันกับที่ตีกลองสะบัดชัย ต่อมา ครูคำ กาไวย์ แห่งโรงเรียนนาฎศิลป์เชียงใหม่ ได้นำเอากลองรุงรัง คือกลองอย่างกลองสะบัดชัยแต่ไม่มีลูกตุบมาเสนอจนเป็นที่รู้จักกันในนามกลอง สะบัดชัยแทนกลองสะบัดชัยแบบดั้งเดิม

๓. กลองมองเซิง รูปลักษณะคล้ายกลองปูชา แต่มีขนาดเล็กกว่า ขนาดหน้ากลองมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔๕-๖๐ เซนติเมตร ด้านข้างยาวประมาณ ๗๕-๙๐ เซนติเมตร สามารถใช้สะพายตีได้ ปกติจะใช้ตีประกอบวงมองเซิงซึ่งเป็นดนตรีแบบของไทใหญ่ มีฆ้องชุดซึ่งมีขนาดและเสียงไล่ระดับกันมีสว่า (ฉาบ) ตีประกอบ

๔. กลองตะหลดปด
เป็นกลองสองหน้าขนาดเล็กมักนิยมแขวนติดกับกลองหลวงหรือกลองแอว ใช้ตีดัดจังหวะร่วมกับการประสมวงกลองแอวหรือวงตึ่งนง เล่นประกอบการฟ้อนเล็บ หรือฟ้อนเมือง ขนาดหน้ากลองมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๕ -๒๐ เซนติเมตร ตัวกลองยาวประมาณ ๖๐ เซนติเมตร

๕. กลองเต่งถิ้ง หรือ กลองโป่งป้ง เป็นกลองขึ้นหนังสองหน้า มีขาตั้ง ใช้ตีทั้งสองหน้าลักษณะเดียวกับตะโพนไทยและตะโพนมอญ ใช้เล่นประสมวง “ เต่งถิ้ง ” หรือ วง “ พาทย์ ” (วงปี่พาทย์มอญ) และวงสะล้อ-ซึง (ดูเรื่องการประสมวงต่อไป) กลองชนิดนี้มีหลายขนาด มีตั้งแต่ขนาดหน้ากลองเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๐-๔๐ เซนติเมตร และความยาวของตัวกลองตั้งแต่ ๔๕-๖๐ เซนติเมตร ถ้าเป็นขนาดเล็กบางทีก็เรียกว่า “ กลองโป่งป้ง ” หรือ “ กลองตัด ” (ดูเพิ่มที่กลอง)

ลักษณะการประสมวงดนตรีพื้นเมืองล้านนา


การ เล่นดนตรีพื้นเมืองล้านนานั้น สามารถใช้เครื่องดนตรีบรรเลงได้ทั้งเดี่ยวและประสมวง ในยุคก่อนนั้นลักษณะการเล่นทั้งสองประเภทต่างก็มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการพัก ผ่อนหย่อนใจและใช้ประกอบงานต่างๆ ก็มีซึ่งแต่เป็นงานพอย (อ่าน “ ปอย ” ) คืองานฉลองต่างๆ และงานศพเท่านั้น ซึ่งลักษณะการรวมตัวจะเป็นคนที่มีบ้านอยู่ใกล้เคียงกันหรือเป็นคนที่มี ศรัทธาในวัดเดียวกัน ซึ่งจะมีการรวมตัวกันเพื่อจะได้มีวงดนตรีที่เล่นเมื่อมีงานภายในหมู่บ้านของ ตนเอง เมื่อวงใดที่มีความสามารถในการเล่นได้ดีก็จะมีคนมาจ้างให้ไปเล่นตามงานต่างๆ ด้วยซึ่งเป็นผลพลอยได้ มาในสมัยปัจจุบันจุดประสงค์ของการเล่นดนตรีได้แปรไปเป็นแนวอื่นอีก คือ เป็นการเล่นดนตรีเป็นอาชีพตามการว่าจ้างอีกด้วย

ลักษณะการประสมวงของล้านนา มีดังนี้

•  วงสะล้อ-ซึง การประสมวงลักษณะนี้มักจะถูกเรียกว่า วงสะล้อ ซอ ซึง

•  วงปี่ชุม

•  วงแห่กลองแอว

•  วงกลองสะบัดชัย (ไม่มีการประสมวงก็มี)

•  วงกลองมองเซิง

•  วงกลองปูเจ่

•  กลองเต่งถิ้ง หรือพาทย์ค้อง (อ่าน “ ป้าดก๊อง ” )

•  วงดนตรีแห่พื้นเมืองประยุกต์ (เพิ่งประยุกต์ขึ้นมาใหม่ภายหลังนี้)

•  วงดนตรีไทใหญ่

•  วงดนตรีไทใหญ่ประยุกต์

•  วงสะล้อ-ซึง เป็นวงที่มีเสียงจากเครื่องสายเป็นหลัก นิยมใช้เล่นกันตามท้องถิ่น

ภาคเหนือทั่วไป จำนวนเครื่องดนตรีที่ใช้ประสมวงไม่แน่นอนแต่จะมีสะล้อและซึงเป็นหลักเสมอ มีเครื่องดนตรีอื่นๆที่เข้ามาประกอบ เช่น ปี่ก้อยหรือขลุ่ย กลองตัด(ตะโพน) ฉิ่ง ฉาบ ใช้บรรเลงเพลงพื้นบ้านที่ไม่มีการขับร้อง เช่น เพลงปราสาทไหว เพลงล่องแม่ปิง เป็นต้น และสามารถใช้บรรเลงเพลงสมัยใหม่ก็ได้

๒. วงปี่ชุม เป็นวงดนตรีที่ใช้เล่นประกอบการแสดง “ ซอ ” ของภาคเหนือ มีปี่เป็นชุด ซึ่งมี ๓ แบบ คือ ปี่ชุม ๓ ปี่ชุม ๔ และปี่ชุม ๕

ปี่ชุม ๓ หมายถึง การใช้ปี่ ๓ ขนาด เป่าประสานเสียงกัน ได้แก่ ปี่แม่ ปี่กลางและปี่ก้อย

ปี่ชุม ๔ หมายถึง การใช้ปี่ ๔ ขนาด เป่าประสานเสียงกัน ได้แก่ ปี่แม่ ปี่กลาง ปี่ก้อยและปี่ตัด(ปี่เล็ก)

ปี่ ชุม ๕ หมายถึง การใช้ปี่ ๕ ขนาด เป่าประสานเสียงกัน โดยเพิ่มปี่ขนาดเล็กสุดเข้ามาอีกหนึ่งเลา แต่โดยปกติไม่ค่อยนิยมกัน เพราะใช้ปี่ชุม ๓ หรือ ชุม ๔ ก็ได้เสียงประสานกันที่ไพเราะอยู่แล้ว

วงปี่ชุมอาจใช้สะล้อ – ซึง ประสมวงด้วย เพื่อเพิ่มความไพเราะ นอกจากนี้ก็อาจใช้ปี่แม่เลาเดียวกันเล่นประกอบวงสะท้อ-ซึงก็ได้

๓. วงกลองแอว หรือ วงตึ่งนง ประกอบด้วย กลองแอว กลองตะหลดปด ฆ้องอุ้ย ฆ้องโหย้ง ฉาบใหญ่ แนหลวง และแนน้อย นิยมใช้บรรเลงประกอบการฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียนหรือฟ้อนแห่ครัวทานและบรรเลงในขบวนแห่ต่างๆ

๔. วงกลองสะบัดชัย มีลักษณะการบรรเลง ๒ แบบ

แบบ ที่ ๑ คือกลองสะบัดชัย มีกลองใหญ่ ๑ ใบ มีกลองเล็กเรียกว่า “ ลูกตุบ ” อีก ๓ ใบ ใช้ผู้ตีคนเดียว มือซ้ายถือไม้แสะ มือขวาถือไม้ตีที่หุ้มด้วยผ้าพันหลายๆ รอบ ตีสลับกันไปและมีคนตีฆ้องโหม่ง ๑ ใบ ตีประกอบจังหวะ ต่อมามีการเพิ่มเป็นฆ้อง ๒ ใบ และมีฉาบอีก ๑ คู่

แบบ ที่ ๒ เป็นกลองสะบัดชัยแบบครูคำ กาไวย์ ซึ่งมีกลองใหญ่ใบเดียวไม่มี “ ลูกตุบ ” มีคานหาม ใช้ผู้หาม ๒ คน มีคนตีฆ้อง ๒ คน และคนตีฉาบอีก ๑ คน ตีประกอบ การตีกลองต้องให้เข้าจังหวะกับฆ้องและฉาบ เริ่มตีจากจังหวะช้าและเร็วขึ้นตามลำดับ ผู้ตีกลองจะแสดงท่า “ ฟ้อนเชิง ” พลิกแพลงผาดโผนต่างๆ รวมทั้งใช้ศีรษะ ไหล่ ศอก เข่า และเท้า แทนการใช้ไม้ตีอีกด้วย

๕. วงกลองปูเจ่ ประกอบด้วยกลองปูเจ่ ฉาบใหญ่และฆ้องชุด ซึ่งมีขนาดต่างๆ กัน ๓ ใบ มีเสียงได้ระดับกัน วงกลองปูเจ่ เป็นวงดนตรีแบบของชาวไทใหญ่ นิยมใช้บรรเลงประกอบการแห่ครัวทาน ประกอบการฟ้อนดาบ ฟ้อนโต ถ้าเป็นการบรรเลงโดยที่ไม่ได้ใช้ประกอบการแสดงอะไร มักมีลีลาการตีโดยใช้ทั้งศอก เข่า และเท้า พร้อมกับแสดงท่าทางหยอกล้อระหว่างผู้ที่ตีฉาบกับกลอง

๖. วงมองเซิง คำว่า “ มองเซิง ” เป็นภาษาไทใหญ่ แปลงว่าฆ้องชุด ประกอบด้วยฆ้องขนาดต่างๆ ๓ ใบขึ้นไปและฉาบใหญ่ ๑ คู่ วงมองเซิงมีลักษณะการประสมวงและใช้แสดงคล้ายกับวงกลองปูเจ่ แต่ใช้กลองมองเซิงประกอบวงแทนกลองปูเจ่

๗. วงกลองเต่งถิ้ง หรือมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อว่า วงพาทย์ วงพาทย์ค้อง (อ่าน “ ป้าดก๊อง ” ) หรือ วงแห่ (ศพ) เป็นต้น สามารถเปรียบได้กับ “ วงปี่พาทย์มอญ ” แบบของภาคกลางนั่นเอง เครื่องดนตรีประกอบด้วย พาทย์เอก (ระนาดไม้เอก) พาทย์ทุ้ม (ระนาดไม้ทุ้ม) พาทย์เหล็ก (ระนาดเหล็ก) พาทย์ค้อง (ฆ้องวง) กลองเต่งถิ้ง (ตะโพนมอญ) หรือกลองโป่งป้ง กลองตัด (กลองขนาดเล็ก) แนหลวง แนน้อย ฉิ่ง สว่า (ฉาบ) และกรับ นิยมบรรเลงในการชกมวย งานศพ งานทรงเจ้า และในงานฟ้อนผีมด-ผีเมง

๘. วงแห่พื้นเมืองประยุกต์ เป็นวงที่มีการประสมวงแบบวงกลองเต่งถิ้งแต่มีการเพิ่มเครื่องดนตรีสากลเข้า ไป ได้แก่ กีตาร์เบส กลองทอม กลองแจ๊ส บางแห่งอาจมีแซกโซโฟน และนอกจากนี้ยังต้องเพิ่มการใช้เครื่องขยายเสียงเข้าไปด้วย นิยมบรรเลงในงานศพ งานทรงเจ้า และงานฟ้อนผีมด-ผีเมง แต่นิยมบรรเลงต่อจากการบรรเลงโดยวงกลองเต่งถิ้งที่ประสมวงเฉพาะเครื่องดนตรี พื้นเมืองล้วนๆ

ประเภทของบทเพลงพื้นบ้าน

บทเพลงพื้นบ้านของล้านนาก็มีเป็นบทเพลงเก่าแก่ของชาวล้านนาเอง เป็นบทเพลงที่มีนิยมกันมานานดังปรากฏในวรรณคดีโบราณ เพลงพื้นบ้านภาคเหนือจัดแบ่งเพลงตามรูปการแสดงออก โดยคำนึงถึงองค์ประกอบ ๒ อย่าง คือดนตรีและเนื้อร้อง ซึ่งจะแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๓ ประเภท ดังนี้

•  เพลงที่ไม่มีเนื้อร้องหรือเพลงบรรเลง

•  เพลงที่มีเนื้อร้องโดยไม่มีดนตรีประกอบ

•  เพลงผสมหรือเพลงที่มีทั้งเนื้อร้องและดนตรีประกอบ

ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

๑. เพลงที่ไม่มีเนื้อร้องหรือเพลงบรรเลง หมายถึง เพลงที่เกิดจากการบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีล้วนๆ โดยไม่มีการขับร้อง เพลงประเภทนี้มีทั้งการบรรเลงเดี่ยวๆ และการเล่นประสมวง โอกาสในการเล่นดนตรีมีทั้งการเล่นขับกล่อมอารมณ์ในยามว่าง การเล่นดนตรีของชายหนุ่มเวลาไปแอ่วสาวในตอนกลางคืน และการเล่นในงานฉลองรื่นเริงหรือในพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น

เพลง บรรเลงเก่าแก่ของภาคเหนือที่สืบทอดมาแต่โบราณมีอยู่ไม่มากนัก มักจะมีลักษณะเรียบง่าย เป็นทำนองสั้นๆ บรรเลงกลับไปกลับมา นอกจากนั้นก็จะพบว่าชื่อทำนองเพลงเดียวกัน แต่ผู้เล่นอาจจะบรรเลงแตกต่างกันออกไปคนละทางก็ได้ หรือบางทีเพลงเดียวกันแต่ถูกเรียกชื่อต่างกันอันเป็นลักษณะธรรมดาของเพลง พื้นบ้าน เพลงบรรเลงเหล่านี้ ได้แก่ เพลงปราสาทไหว เพลงขงเบ้ง เพลงฤาษีหลงถ้ำ เพลงกุหลาบเชียงใหม่ เพลงล่องแม่ปิง เพลงพม่า เพลงเงี้ยว (ไทใหญ่) เพลงจะปุ เป็นต้น ส่วนการจดบันทึกนั้น แต่เดิมแล้วเพลงล้านนาจะไม่มีการจดบันทึกเป็นตัวโน้ต (เพิ่งมามีภายหลัง) การสืบทอดจะใช้วิธีที่ต้องฟังเพลงบ่อยๆ จนจำทำนองให้ได้ก่อนแล้วจึงไปฝึกทักษะการเล่นเพิ่มเติมทีหลังซึ่งวิธีสืบทอด แบบนี้ก็ยังเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน

เพลง บรรเลงบางเพลงเป็นเพลงที่ใช้ให้จังหวะประกอบในการฟ้อนต่างๆ เช่น เพลงประกอบการฟ้อนแห่ครัวทาน (ฟ้อนเล็บ) ฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ ฟ้อนนางนก (กิงกะหร่า) ฟ้อนผีมด-ผีเมง เป็นต้น

•  เพลงที่มีเนื้อร้องแต่ไม่มีดนตรีประกอบ คือ ลักษณะของการขับร้องเพลงพื้นบ้นที่จดจำ

ทำนอง และเนื้อร้อยสืบทอดกันต่อๆมา ใช้ร้องกันเล่นคือ ช้อย (อ่าน “ จ๊อย ” ) หรือบทขับทำนองเสนาะ ซึ่งเมื่อขับจากเนื้อความที่เป็นคำประพันธ์ประเภทคร่าว-ค่าว (อ่าน “ ค่าว ” ) ก็จะเรียกว่า ช้อย แต่หากขับจากขับจากเนื้อความที่เป็นคำประพันธ์ประเภทโคลง จะเรียกว่า ช้อยโคลง (อ่าน “ จ๊อยกะโลง ” )

ทั้ง การช้อยคร่าวและช้อยโคลงนั้น หากเป็นการขับเพื่อความสนุกสนานอย่างง่ายๆ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีดนตรีประกอบ แต่หากเป็นการขับที่ต้องการแสดงออกถึงความประณีตแล้ว ในการช้อยจากคร่าวนั้น นิยมใช้สะล้อคลอประกอบ แต่หากเป็นการช้อยโคลงแล้ว ถือว่าหากคลอด้วยเพียะ ก็จะสอดคล้องกันได้ดีอย่างยิ่ง

การ ช้อยคร่าว คือลำนำเพลงที่ขับร้อง เป็นการขับร้องเดี่ยว ทอดเสียงยาวตามลีลา โดยมากหนุ่มมักจะขับเวลาไปแอ่วสาวในตอนกลางคืนตามประเพณีโบราณ ซึ่งในปัจจุบันจะหาฟังได้ยาก แต่ก็ยังมีอยู่บ้างตามงานต่างๆ ที่มีการนำซอไปแสดงในงาน โดยช่างซอจะเป็นผู้ขับ มีลักษณะคล้ายการขับเสภาในภาคกลาง ช้อยมีหลายทำนองด้วยกัน คือ

๑) ทำนองโก่งเฮียวบง นิยมช้อยตามงานศพ ทำนองธรรมดา จังหวะช้า แสดงถึงความอาลัย โศกเศร้า

๒) ทำนองม้าย่ำไฟ นิยมช้อยเนื้อความที่ยาวแต่ต้องการเก็บข้อความได้มากๆ แต่เอื้อนไปทางปลาย ทำนองนี้นิยมช้อยเวลาหนุ่มไปแอ่วสาวตอนกลางคืน

๓) ทำนองวิงวอน หรือช้อยเชียงแสน หรือช้อยกะโลง นิยมช้อยในตอนที่ตัวละครถึงบทโศกเศร้าสลด ต้องการให้คนฟังมีความโศกสลดตามไปด้วย นับเป็นทำนองที่ใช้เสียงมากที่สุด หากคนขับเก่งและเสียงเพราะ จะทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความวังเวง

ทำนองทั่วไปของช้อยคือร้องติดต่อกันไป ส่วนดนตรีก็คลอไปเรื่อยๆ

ทั้ง นี้ ในการอ่านคำประพันธ์ประเภทคร่าวหรือคร่าวซอ นั้น เรียกว่าการเล่าคร่าว ซึ่งผู้เล่าหรือผู้อ่านก็จะอ่านเป็นทำนองเสนาะเพื่อให้น่าฟังตามลีลาที่ กำหนด ซึ่งแนวคิดก็ไม่ต่างจากการเทศน์ด้วยลีลาทำนองเสนาะนั่นเอง

การ เล่าคร่าวนั้นจัดเป็นประเพณีอย่างหนึ่งในล้านนายุคก่อน ที่จะจัดหาผู้ที่มีเสียงดีมาเป็นผู้เล่าคร่าวหรืออ่านคำประพันธ์ที่แต่งด้วย ฉันทลักษณ์คร่าวเป็นทำนองเสนาะให้ชาวบ้านฟังทั้งในงานมงคลและงานอวมงคล โดยมากในงานมงคล เช่น บวชนาคหรือขึ้นบ้านใหม่ นิยมเล่าคร่าวในคืนวันสุกดิบ หรือวันที่จัดเตรียมงาน ซึ่งเป็นการสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ผู้มาช่วยงาน ส่วนในงานศพนั้น พบว่ามีการเล่าคร่าวทั้งในช่วงเตรียมปลงศพและหลังปลงศพแล้ว คำประพันธ์ที่นำมาอ่านมักเรียกว่าคร่าวหรือคร่าวซอซึ่งมักจะเป็นเรื่องที่ แต่งขึ้นจากชาดกเรื่องต่างๆ เช่น หงส์หิน เจ้าสุวัตร-นางบัวคำ ก่ำกาดำ อ้ายร้อยขอด ฯลฯ ทั้งนี้ ในการเล่าคร่าวนี้จะไม่มีการเล่นดนตรีประกอบ

๓. เพลงผสมหรือเพลงที่มีทั้งเนื้อร้องและดนตรีประกอบ เพลงประเภทนี้ก็คือ ซอ ซึ่งคำว่า ซอ ในภาษาพื้นบ้านล้านนาหมายถึงเพลงพื้นบ้านที่จัดอยู่ในลักษณะ เพลงปฏิพากย์ คือมีผู้ขับชายหญิงซึ่งเรียกว่า ช่างซอ (อ่าน “ จ้างซอ ” ) ขับโต้ตอบกัน เรียกว่าเป็น คู่ถ้อง (ถ้อง-โต้ตอบกัน) ช่างซอจะต้องได้รับการฝึกฝนอย่างดี มีความเชี่ยวชาญและมีปฏิภาณตลอดจนน้ำเสียงที่ไพเราะ ดนตรีที่ใช้ประกอบซอก็คือวงปี่ชุม แต่ในท้องถิ่นบางแห่ง เช่น ที่จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน จะใช้สะล้อ-ซึง (พิณ) ประกอบ ไม่ใช้ปี่จุม

เนื้อ ร้องในบทซอนั้น จะมีเนื้อหาที่เป็นการกล่าวถึงความรักระหว่างหนุ่มสาว ชมธรรมชาติ กล่าวถึงเรื่องสนุกสนานไปจนถึงเรื่องเพศ และมีทั้งการซอเรื่องนิทานชาดก คำสอนประวัติบุคคลหรือเหตุการณ์ต่างๆ นอกจากนี้ช่างซอยังเลือกสรรเนื้อร้องให้เหมาะสมกับโอกาส เช่น การซอในงานบวชลูกแก้ว หรืองานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น (ดูเพิ่มที่ซอ)

การเปลี่ยนแปลงของดนตรีพื้นเมือง

เมื่อ ยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป ชาวล้านนามีโอกาสรับอิทธิพลจากต่างถิ่นโดยเฉพาะไทยภาคกลาง ทำให้วิถีชีวิตต่างๆ พลอยเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยเฉพาะทางด้านดนตรีแล้วก็นับว่าได้รับผลกระทบส่วนนี้และทำให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงด้วย เช่น

๑. การเปลี่ยนแปลงลักษณะของเครื่องดนตรี

เครื่อง ดนตรีที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ก็คือเครื่องดนตรีที่รู้จักกันดีคือสะล้อและซึง ส่วนเครื่องดนตรีชนิดอื่นนั้นไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก บางอย่างก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย เช่น ปี่ การเปลี่ยนแปลงตัวเครื่องดนตรีนั้นพอจะแบ่งได้สองอย่าง คือการเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำเครื่องดนตรีแต่ดั้งเดิมมาใช้วัสดุอื่นๆ แทน และอีกข้อหนึ่งก็คือการเปลี่ยนรูปร่างสัดส่วนของเครื่องดนตรี มีเครื่องดนตรีล้านนาที่พอจะอธิบายได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้แก่
ซึง เป็นเครื่องดนตรีที่มีการเปลี่ยนแปลงจากของเดิมมากที่สุดในบรรดาเครื่อง ดนตรีพื้นเมือง แต่เดิมนั้นไม้ที่ใช้ทำซึงส่วนมากนิยมที่จะใช้ไม้สัก แต่ต่อมาเนื่องจากไม้สักเป็นไม้ที่มีราคาแพงและห้ามตัด จึงหันมานิยมที่จะใช้ไม้แดงแทนเพราะราคาถูก ส่วนเรื่องคุณสมบัติของไม้แดงก็ใกล้เคียงกันอีกทั้งยังเป็นไม้ที่หาง่ายกว่า ไม้สักอีกด้วย รูปร่างของซึงแต่เดิมนั่นมีขนาดที่ไม่ใหญ่มากเท่าใดนัก ซึงใหญ่ยังมีขนาดเล็กกว่ากีตาร์เสียด้วย แต่ปัจจุบันถูกดัดแปลงให้มีขนาดเท่ากีตาร์ก็มี มีการเสริมแต่งโดยการวาดลวดลาย ลงสี หรือแกะสลัก ตลอดจนการทาชะแล็กบนซึงเพื่อให้สวยงาม ทั้งนี้เพราะซึงมักถูกนำขายไปเป็นเครื่องประดับบ้านแทนที่จะนำไปเล่นดนตรี ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ ของซึงที่ถูกนำวัสดุอื่นๆ ใช้แทนของเดิม ได้แก่ สายซึง ซึ่งแต่เดิมสายซึงนั้นนิยมที่จะใช้สายห้ามล้อจักรยานเท่านั้น แต่ปัจจุบันนิยมที่จะใช้สายกีตาร์แทน ลูกบิดที่ใช้ตั้งสายซึงที่เคยทำจากไม้ ก็เปลี่ยนมาใช้ลูกบิดของกีตาร์แทนเพราะสะดวกกว่าในการตั้งสายซึง ที่ใช้สำหรับดีดซึงจะใช้เขาสัตว์ดีด แต่ปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้วหันมาใช้พลาสติกดีดแทน

สะล้อ รูปร่างของสะล้อโดยทั่วๆไปแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือยังใช้กะลามะพร้าวและไม้สักที่เป็นองค์ประกอบสำคัญทำอยู่ แต่ส่วนมีการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ สายสะล้อแต่เดิมนิยมที่จะใช้สายห้ามล้อจักรยานเท่านั้น ปัจจุบันบางคนหันมาใช้สายกีตาร์แทน สายคันชักก็เช่นกันนิยมที่จะใช้หางม้าหรือไม่ก็ใช้สายไนลอน แต่ปัจจุบันจะนิยมใช้สายไนลอนเกือบทั้งหมด

๒. การประยุกต์วงดนตรีแห่กลองเต่งถิ้งมาเป็นวงดนตรีแห่ประยุกต์

วงแห่กลองเติ่งถิ้งเป็นวงดนตรีปี่พาทย์ของล้านนาใช้เล่นในงานศพ และงานฟ้อนผีมอ-ผีเมง ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ยังเป็นการเปลี่ยนในลักษณะที่ยังคงของเก่าก็ยังมีอยู่ เดิมเครื่องดนตรีประกอบด้วย กลองเต่งถิ้ง กลองตัด แนหลวง แนน้อย พาทย์เอก พาทย์ทุ้ม พาทย์เหล็ก ฆ้องวง ฉิ่ง และสว่า(ฉาบ) เพลงที่เล่นจะเล่นทั้งพื้นเมืองของล้านนาเองและเพลงไทยเดิมของทางภาคกลาง เป็นเวลานานแล้ว จนทำนักดนตรีของล้านนาบางคนเกิดความเข้าใจผิดว่าเพลงที่ตนเองเล่นนั้นเป็น เพลงพื้นเมืองหรือเป็นเพลงไทยเดิมกันแน่ และที่สำคัญที่สุดคือการเรียกชื่อเพลงตามความเข้าใจของตนเอง บางครั้งเพลงเดียวอาจมีหลายชื่อก็ได้

ต่อมามีการนำเพลงลูกทุ่งโดยยังใช้เครื่องดนตรีเท่าที่มีอยู่บรรเลง ปัจจุบันนอกจากจะได้รับอิทธิพลเพลงสมัยใหม่ได้แก่ เพลงลูกทุ่งแล้ว ยังมีเพลงอีกประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ได้แก่ เพลงสตริง ซึ่งก็นำมาบรรเลงด้วยการนำเพลงเหล่านี้มาเล่นทำให้วงดนตรีพื้นเมืองประเภท นี้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสูงมากเพราะเริ่มมีการนำเครื่องดนตรีสากลเข้ามา ประสมวงด้วย ได้แก่ กีตาร์ เบส กลองแจ๊ส (กลองชุด) กลองทอม แทมบูลีน เป็นต้น การประยุกต์เช่นนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนชื่อที่เรียกไปอีกเป็น “ วงดนตรีแห่พื้นเมืองประยุกต์ ”

เท่าที่สำรวจข้อมูลมาได้ทราบว่า วงดนตรีที่มีการประยุกต์เป็นวงแรกคือ “ วงกู่เสือสามัคคี ” โดยมีแนวความคิดว่าถ้านำเครื่องดนตรีสากลมาเล่นด้วยคงดี เพราะขณะนั้นก็มีการนำทำนองเพลงสมัยใหม่มาเล่นบ้างแล้ว จึงคิดว่า ถ้าหากนำมาประสมวงแล้วอาจจะทำให้การเล่นทำนองเพลงสมัยใหม่ไพเราะยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าการประยุกต์ได้เริ่มจากการเล่นในทำนองสมัยใหม่ แต่ยังใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองบรรเลงอยู่ ต่อมาได้มีการเพิ่มเครื่องขยายเสียงและเครื่องดนตรีสากลเข้ามาร่วม(ดูเพิ่ม เติมจากเรื่องที่มีชื่อเครื่องดนตรีต่าง ๆ เช่น กลอง ซึง ปี่ สะล้อ)

(ปรับปรุงจาก ข้อมูลในโครงการข้อสนเทศล้านนาคดีศึกษา โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2531)